open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

One Day Of My Life In Bangkok

ชีวิตฉันหนึ่งว้น...ในกรุงเทพฯ

1) ชื่อบทความชิ้นนี้ตั้งไว้เป็นภาษาอังกฤษ  เพื่อหลอกฝรั่งที่เข้าอินเตอร์เนต ให้นึกอยากอ่าน เพราะความอยากรู้อยากเห็น  โดยเฉพาะฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือเคยอยู่ หรือคิดอยากมาเยือน  ทั้งนี้เพื่อเพิ่มสถิติแวะชม

แต่ผู้อ่านหลักที่ผู้เขียนประสงค์ คงไม่พ้นชาวกรุงทั้งหลาย   ซึ่งหมายถึงใครก็ได้ ที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในกรุงเทพฯวันนี้ และอยู่มาแล้วต่อเนื่องยาวนานพอสมควรเช่น เกินกว่าเจ็ดเดือน เป็นต้น จนพอจะรู้สึกตัวได้แล้วว่า ตนเป็นคนกรุงเทพฯคนหนึ่ง  คนกรุงเทพฯหลายคนอยากรู้ว่า คนอื่นมองเขาอย่างไร เขาขอร้องว่า Please tell me about me.


เดือนสิงหาคมปีนี้ ผู้เขียนมีธุระต้องเดินทางไกลจากบ้านที่ปักษ์ใต้เข้ากรุงเทพฯ  ระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้สละเวลาหนึ่งวันเต็มๆ ตื่นแต่เช้ามืด ออกเดินทางจากที่พักชานกรุง เพื่อไปลอบสังเกตการณ์ความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯในทางสาธารณะ  แล้วนำมานินทา สร้างเป็นวีดีโอคลิปด้วยลายลักษณ์อักษร มิใช่ด้วยภาพเคลื่อนไหว  เสนอท่านผู้อ่านหรือผู้ชม  รายงานเล่าเรื่องชีวิตหนึ่งวันในกรุงเทพฯชิ้นนี้ จึงตั้งใจจะเขียนให้ตัวอักษรเคลื่อนไหวได้ แบบวีดีโอ 

[ยังมีต่อ]


2) เช้าตรู่วันหนึ่งในหน้าฝนวันนี้ อากาศไม่อ้าว สบายเนื้อสบายตัวตามธรรมชาติ  ไม่เย็นฉ่ำเสแสร้ง ปากอย่างใจอย่าง อย่างความเย็นจากเครื่องแอร์  บริเวณสถานีรถไฟศาลายาโล่งโอ่โถงกว้างขวาง  สถานีนี้รถไฟสายใต้จอดทุกขบวน รวมทั้งรถด่วนพิเศษกรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวอร์ธ(ปีนัง)ด้วย  ขณะนี้เวลาเช้า ประมาณ 0700 น.  คนทำงานจำนวนมาก มานั่งและยืนกันเต็มโถงหน้าสถานี  เพื่อรอขึ้นรถชานเมืองสายสุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ  อันเป็นขบวนชานเมืองยอดนิยมด้านตะวันตก  ครั้นได้ยินเสียงหวูดแหลมดังมาแต่ไกล  ผู้คนจึงพากันมายืนอออยู่ชิดริมชานชลา บ้างก็ชูคอชะเง้อชะแง้ มองหัวขบวนที่กำลังตีโค้งเข้าหาสถานี  กะด้วยสายตาว่าจำนวนคนที่รอรถไฟมีหลายร้อยคน ราวกับมีงานคอนเสิร์ทขนาดย่อม  และเป็นเช่นนี้ทุกเช้าวันทำงาน

คนเหล่านั้นแต่ละคนหน้าจริงจัง ท่าทางจะไม่เล่นหัวกับใครทั้งนั้น  แววตาจดจ่อคาดหวังและรอคอย  พวกเขาวางอนาคตช่วงเวลานาทีนี้ไว้กับขบวนรถ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ประกาศแล้วว่า “ขบวน ลด จากสุพรรณ บุลี  ปลายทาง กุงเทพ    กำลังจะเข้าเทียบชานชลา  ผู้รอโดยสารเหล่านั้นอยู่ในชุดเครืองแบบสำนักงานก็มาก ในเครื่องแบบนักเรียนก็มี  สมัยนี้เครื่องแบบลำลองสำหรับใส่ไปทำงาน ตามสำนักงานราชการและห้างร้านเอกชนหลายๆแห่ง เรียบง่ายด้วยกางเกงสีดำ กับเสื้อยืดตามสีที่สำนักงานกำหนด  ผู้เขียนจึงได้เห็นเสื้อยืดหลากสี บนชานชลาสถานีศาลายา ในเช้าวันนี้และเข้าใจว่าวันอื่นๆก็คงหลากสีเหมือนกัน

ผู้โดยสารที่รอขึ้นรถจากสถานีศาลายา จะมีโอกาสได้ที่นั่งบนรถไฟขบวนนี้น้อยมาก พอๆกับโอกาสถูกหางเลข เพราะที่นั่งในรถไฟเต็มมาตั้งแต่บรรดาสถานีก่อนหน้า  ผู้เขียนไม่ได้มารอขบวนยอดนิยมขบวนนี้  จึงไม่ได้ปรับร่างกายให้เกร็งเล็กน้อยในสภาพเตรียมพร้อม สู้หรือหนี เช่นคนอื่นๆ  แต่กลับยืนสังเกตการณ์อย่างสบายๆอยู่บนชานชลาที่สอง  ขณะที่รถสุพรรณบุรี-กรุงเทพฯกำลังเคลื่อนช้าๆเข้าจอดชานชลาที่หนึ่ง  ผู้เขียนยืนเขย่งขามองขึ้นไปดูในตู้โดยสาร ที่กำลังค่อยๆเคลื่อนผ่านหน้าไป เห็นคนนั่งกันเต็มทุกตู้  และมีคนยืนกันหนาตาบางตู้  ไม่มีใครยิ้มกับผู้เขียนเลย  เพราะเรารู้จักกันซะเมื่อไหร่

พอรถจอดสนิท คนลงรถยังไม่ทันจะหมด คนที่แออัดรออยู่บนชานชลา ก็กรูกันขึ้นรถ อย่างกับในเมืองฮ่องกง เพื่อเสี่ยงโชคหาที่นั่ง  ผู้คนที่เคยมีหน้าตาเอาจริงเอาจังเหล่านั้น เปลี่ยนไปเป็นมีแววตาฉายความหวังสดใส  ผู้เขียนเข้าใจว่า พวกเขาคงนึกสนุกกับรายการบันเทิงประจำยามเช้ากันกระมัง  เห็นคนกลุ่มหัวแถวที่ขึ้นรถได้ พากันวิ่งกระจายกำลัง ไปหาที่นั่งในตู้โบกี้  ซึ่งก็แน่นนอนว่า ส่วนมากพวกเขาจะพบกับความผิดหวัง  ที่นั่งมีที่ไหนล่ะ  แต่เขาก็ได้หนุกหนาน  หลังจากนั้นก็เห็นพวกเขาพากันยอมจำนน  เลิกหาที่นั่งว่าง แต่กลับมองหาห่วงที่ราวใต้หลังคา เพื่อจะได้ห่วงว่างยึดไว้เป็นของตัวเองสักห่วง จะได้ห้อยโหนกันต่อไป จนกว่าจะถึงภายในเมืองกรุงเทพฯ

เห็นพวกเขามีสีหน้าหายเครียด ผู้เขียนก็นึกสนุกตามพวกเขาไปด้วย  นึกอยากเสี่ยงขึ้นตู้รถไฟ เพื่อข้ามจากชานชลาที่สองที่กำลังยืนอยู่ ไปชานชลาที่หนึ่งที่อยู่ติดโถงหน้าสถานี  แต่ว่าเพียงเดินไปถึงประตูรถเท่านั้น  ก็ล้มเลิกความตั้งใจ  เพราะฝูงชนฝั่งประตูด้านตรงข้าม ยังคงกรูกันขึ้นรถไม่ขาดสาย  บางทีการคาดคะเนด้วยสายตาเบื้องต้น ว่ามีคนยืนรอรถอยู่นับร้อย อาจจะผิดก็ได้ น่าจะเป็นพันเสียแล้วก็ไม่รู้

ผู้เขียนจึงพลอยยอมจำนนไปอีกคน  ยืนทำตาปริบๆปักหลักรักษาฐานันดรเดิมอยู่หลายนาที จนกว่าคนจะกรูกันขึ้นรถหมด  แล้วรถไฟขบวนนั้นที่มีผู้โดยสารใหม่ขึ้นไปเต็มรถ นับพันคนได้มั้ง ก็เคลื่อนอุ้ยอ้ายออกจากชานชลาสถานี  ฟังเสียงเครืองยนตร์ดีเซลใต้ท้องรถคราง หูฝาดไปเปล่าไม่รู้ ผู้เขียนรู้สึกว่า ได้ยินเสียงเหมือนมันหอบ  เมื่อขบวนรถไฟทำเสียงหอบแฮ่กๆพ้นสถานีไปแล้ว  ผู้เขียนจึงเดินข้ามทางรถไฟ  มายังโถงใหญ่หน้าสถานี ซึ่งบัดนี้โล่งโจ้ง มีคนนั่งอยู่กับเก้าอี้รอรถ ที่จัดเรียงไว้หลายแถว ประมาณว่าเหลือคนอยู่เพียงนับสิบคนเท่านั้น  ผู้เขียนหาที่นั่งเหมาะๆได้ตามใจชอบ จึงเลือกที่นั่งแถวหลังๆ เพื่อรอรถไฟชานเมืองขบวนที่ปรารถนา  ซึ่งแม้จะปรับจริตคิดสักเท่าไร  ก็ไม่ใช่ A Streetcar Named Desire   

ป๋าๆจ่ายมา...เสียงนั้นเปล่งจากปากของ ซีเนียร์ ซิติเซ็น ท่านหนึ่งที่นั่งอยู่ปลายสุดด้ายขวามือของผู้เขียน  ชำเลืองตาไปพินิจดู คะเนว่าอายุกว่าเจ็ดสิบเศษ  ท่านกำลังสนทนากับสหาย ด้วยระดับเดซิเบลที่ได้ยินกันครึ่งห้องโถงหน้าสถานีรถไฟได้มั้ง  ป๋าๆจ่ายมา...จับมือยี่สิบบาท จับแขนยี่สิบ จับแก้มยี่สิบ...

ท่านกำลังบรรยายราคาชิ้นส่วนร่างกาย  และกล่าวต่อไปว่า...จับนี่ยี่สิบ จับนั่นยี่สิบ จับโน่นห้าสิบ  ผู้ฟังครึ่งห้องโถงหน้าสถานีรถ เช่น ผู้เขียน เป็นต้น เงี่ยหูฟังอย่างกระหายและฉงนฉงาย ก็ได้คลายสงสัยกันถ้วนหน้า ว่าท่านกำลังพูดเรื่องอะไรกันแน่  ไก่หลงน่ะ...มันมาหาเราเอง  ฉันไปหามันที่ไหน  สำเนียงพูดเหน่อเสน่ห์ของท่านบ่งชัดว่า ต้องเป็นคนพื้นเพย่านนี้  แล้วท่านก็ทิ้งไพ่ใบโต ระบุชิ้นส่วนร่างกายที่ราคาเกินยี่สิบบาท คือ ราคาห้าสิบบาท  ท่านบอกว่า จับนม ห้าสิบ...

แม้ผู้ที่นั่งฟังและได้ยินคำสนทนาบางคน อาจจะนึกพิลึกอยู่ในใจบ้าง ซึ่งคนแบบนั้นน่าจะมีอยู่บ้างอย่างน้อยก็คนสองคน  แต่ผู้เขียนไม่เห็นมีใครลุกจากที่นั่งหนีไป  ทุกคนยังนั่งอยู่กับที่ ฟังซีเนียร์ ซิติเซ็นท่านนั้นเล่าเรื่อง  ผู้เขียนกลอกตาชำเลืองมอง ซ้ายทีขวาที เห็นแต่ละคน นั่งตีสีหน้าเฉย อยู่ในบรรยากาศยามเช้าในฤดูฝน อันสงบเงียบและเย็นสบาย  แต่ละคนทำหน้าเหมือนกับไม่ได้ยินสรรพสำเนียงใดๆ  ผู้เขียนเข้าใจว่า คงจะเป็นเพราะกำลังเงี่ยหูฟัง อย่างใจจดใจจ่อ  โธ่ เรื่องแบบนี้ ใครจะได้ยินบ่อยๆที่ไหน

คุณป๋า ซีเนียร์ ซิติเซ็น ท่านเข้าใจเล่าเรื่อง  ค่อยๆปูพื้นด้วยการประกาศชิ้นส่วนร่างกายราคาต่ำก่อน คือ ราคายี่สิบบาท  พอเดาว่าผู้ได้ยินได้ฟังชักเบื่อ ท่านก็ขึ้นราคาไปหาชิ้นส่วนร่างกายที่ราคาสูงขึ้นเป็นห้าสิบบาท  แต่ท่านจะใช้เทคนิคหรือศิลปะการเล่าเรื่องแบบใดก็แล้วแต่  เรา-ซึ่งในที่นี้หมายถึงตัวผู้เขียนแต่ผู้เดียว มีปัญหาปรัชญาระดับพื้นฐาน อยากทราบว่า เล่าทำไม  แต่ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะลุกขึ้นจากที่นั่งไปถาม หรือนั่งตะโกนถามได้  ท่านซีเนียร์ซิติเซ็นไม่ได้นั่งเพ้อพูดอยู่คนเดียว แบบที่เราจะพบคนแก่บางคนชอบทำ  หากว่าท่านกำลังเล่าในหมู่พวกของท่าน ที่นั่งบ้างยืนบ้างอยู่ใกล้ตัวท่าน  แต่ท่านแบ่งปันโดยเพิ่มระดับเดซิเบล ให้คนอื่นๆบนชานชลาสถานีได้ยินด้วยว่า ไก่หลงน่ะ...มันมาหาเราเอง  ฉันไปหามันที่ไหน  จับนมห้าสิบ...

ท่านบ่นดังๆว่าเด็กมันอ้อน  อ้อนให้ท่านจับนั่นจับนี่  พร้อมกันนั้นเด็กมันก็ระบุราคาทุกชิ้นส่วน  ต่อมาท่านก็ติเรือทั้งโกลน ท่านบอกว่าพวกนี้ มันปากหวานก้นเปรี้ยว  พูดไม่เป็นคำพูด  ประเดี๋ยวก็ป๋าๆซื้อผ้า(หมายถึงผ้าถุง)ให้หนูหน่อย  ป๋าๆซื้อนั่นหน่อยซื้อนี่หน่อย  ท่านเล่าเสียงดังต่อไปว่า รัศมีการท่องเที่ยวของท่านไกล  วันก่อนท่านไปโคราชมา  ท่านบอกว่าได้ไปกินน้ำพริกปลาร้ามาด้วย  คนที่นั่น มันเห็นคนไทย คนนครปฐมเนี่ยะ โง่  ท่านนินทาคนโคราช  จากนั้นท่านก็เทียบเคียงเด็กทางโคราช กับเด็กทางนครปฐม  แล้วท่านก็แว้งกลับมาเรื่องราคาชิ้นส่วนร่างกายในระดับห้าสิบบาทอีกชิ้นส่วนหนึ่ง  ท่านบอกว่า จับตูดห้าสิบบาท

[ยังมีต่อ]

3) ผู้เขียนรู้สึกฉงน และมีปัญหาปรัชญาระดับพื้นฐาน สงสัยและอยากทราบว่า ท่านซีเนียร์ ซิติเซ็น ซึ่งท่านอาจไม่ได้เล่นเฟสบุค  แล้วท่่าน แบ่งปัน คลิปอนุทินเสียง voice diary clip ของท่าน  ในท่ามกลางห้องโถงสถานีรถไฟศาลายา ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าวันนี้  ด้วยวัตถุประสงค์อะไร  เรื่องนี้นึกเดาเอาได้ร้อยแปดทาง แต่จะเขียนถึงเพียงสองทาง คือ  หนึ่ง.ขี้โม้  สอง.โฆษณาให้คนมาใช้บริการ

อาการขี้โม้ของคนเรา หมายถึงเราทุกคน ไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวกับท่านผู้ที่กำลังอ่านและท่านซีเนียร์ฯคนนั้นเท่านั้น  ผู้รู้ท่านหนึ่งว่าไว้ว่า โม้ หมายถึง พูดเกินจริงและพูดด้วยอาการที่ไม่น่าฟัง  พิเคราะห์ดูตามนี้ โม้ ก็น่าจะเป็นศิลปะประเภท เหนือจริง รูปแบบหนึ่ง  แล้วตามกรณีท่านซีเนียร์ ซิติเซ็น  อะไรจะเกินจริงได้บ้าง  ราคาค่าจับต้องร่างกายส่วนต่างๆ ที่บอกว่ายี่สิบบาท ความจริงอาจจะแค่สิบบาท  หรือที่บอกว่าห้าสิบบาท ราคาจริงอาจจะเพียงยี่สิบห้าบาท  หรือก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่จริงไม่ได้แยกชิ้นขาย  แต่ว่าขายแบบเหมาทั้งตัว

ถ้าเดาตามข้อ สอง.ประกาศโฆษณาให้คนมาใช้บริการ  ก็จะขอวิจารณ์ต่อไปว่า น่าจะป่าวร้องผิดตลาด  ตลาดเช้าเป็นตลาดคนเข้าเมือง ไปทำงานสำนักงาน  คนพวกนี้เขาไม่ซื้อขายบริการ  ตามหน้าสถานีรถไฟชานเมืองกันหรอก  เขาจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทางสื่ออินเตอร์เนต  ดังนั้น ถ้าท่านซีเนียร์ฯ ตั้งใจจะโฆษณาที่สถานี  ท่านต้องประกาศโฆษณานอกชั่วโมงเร่งด่วน  ซึ่งจะเป็นสล็อทเวลาของคนหากินอิสระ ผู้ทำมาหากินกับเวลาที่ยืดหยุ่นได้  ไม่ใช่พวกหากินกับเวลาตายตัว ตามสำนักงาน

ขอสรุปการเดาทั้งสองข้อ ว่า การโม้ก็ดี การโฆษณาเชื้อเชิญให้คนใช้บริการก็ดี  ล้วนมีเป้าประสงค์ตรงกันเด้ะอยู่ประเด็นหนี่ง สั้นๆง่ายๆ คือต้องการจะบอกให้โลกทั้งโลกทราบว่า ถึงแม้ตัวจะเป็นซีเนียร์ ซิติเซ็น แต่ก็ยังเตะปีปดัง-สำนวนนี้ค่อนข้างจะชานเมือง  ถ้าเป็นแถวรัชดาฯสุขุมวิทสีลมสาธร เขาจะบอกว่า “I have a functional penis.”

สักครู่หนึ่งต่อมา ขบวนรถชานเมืองสายสั้น ธนบุรี-ศาลายา ค่อยๆคลานเข้ามาจอดที่ชานชลา  เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศว่า รถที่เข้าเทียบชานชลาขบวนนี้คือรถสาย ทน บุลี ศาลายา  เมื่อจอดสนิทแล้วไม่ได้ดับเครื่องยนต์ คงจะเป็นเพราะรอเวลาวิ่งกลับธนบุรีในประมาณอีกยี่สิบนาทีข้างหน้า  ผู้เขียนจึงลุกจากที่นั่งหน้าสถานี  เดินมาขึ้นรถไฟซึ่งมีอยู่เพียงสองตู้  ตู้ที่สองที่ผู้เขียนขึ้นไปนั้น ทั้งตู้มีคนไม่ถึงสิบคน จึงสามารถเลือกหาที่นั่งได้ตามสบาย  รถขบวนสั้นๆขบวนนี้วิ่งกลับไปกลับมา ระหว่างสถานีศาลายากับสถานีธน บุลี ทั้งวัน 

ครั้นนั่งลงแล้วได้ชั่วครู่ จึงมีสติรู้ตัวว่าคิดผิด  เพราะนั่งอยู่บนชานชลามีลมโชย โอ่โถงเปิดโล่งสบายกว่าในตู้รถไฟ  ซึ่งหนวกหูเสียงครางกระหึ่มของเครื่องดีเซลใต้ท้องรถ  และยังหนวกหูเสียงพัดลมดังแก้กๆๆๆ ระงมอยู่ตลอดเวลา  นั่งฟังอยู่พักหนึ่งก็เครียดปวดท้องเบา ซึ่งถ้าใช้ห้องน้ำที่สถานีจะเสียสามบาท แพงไป  เขาน่าจะทำที่ฉี่ฟรีไว้ด้านนอก ข้างๆห้องน้ำ แบบที่ปั้มน้ำมันนิยมทำ  แต่ถึงอย่างไร สามบาทก็ยังถูกกว่าค่าใช้ห้องน้ำที่สถานีไชยา สุราษฎร์ธานี  ที่นั่นครั้งละห้าบาท และห้องน้ำก็ไม่ได้สะอาดสักเท่าใด  หรือจะเป็นเพราะเสียห้าบาท ก็เลยเกิดความรู้สึกเชิงวิจารณญาณขึ้นมาว่า ห้องน้ำไม่สะอาดสมราคา  ที่ศาลายานี้ ถ้าเราใช้ห้องน้ำบนรถไฟ-จะฟรีครับ  แต่ว่า ตามกฎเขาห้ามใช้ขณะที่รถจอด  ซึ่งผู้เขียนก็ได้ทำผิดกฎไปแล้ว และคงจะทำอีก 

ปู๊นๆ รถไฟเริ่มขยับออกจากศาลายา มุ่งหน้าสู่สถานีธน บุลี  สองข้างทางที่รถไฟแล่นผ่านไป ยังเห็นที่นาอยู่แปลงสองแปลง ต้นข้าวกำลังเขียวขจี เห็นแล้วชื่นใจ  เพราะว่าที่บ้านทางใต้นั้น ผู้เขียนจะต้องนั่งรถไฟจนเข้าเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงจะได้เห็นที่นา  นอกนั้นจะเป็นสวนปาล์มกับสวนยางตลอดทาง  ที่อำเภอบ้านผู้เขียน ทั้งอำเภอหาคนทำนาไม่ได้แล้ว  เมื่อราวๆสิบห้าปีก่อน ที่บ้านยังเก็บพันธุ์ข้าวไร่ พันธ์กู้เมือง ไว้  ข้าวพันธ์นี้ปลูกง่าย เก่งกาจสามารถ ขึ้นแข่งกับวัชชพืช่ได้  เมื่อสิบห้าปีก่อน เพื่อนบ้านยังมาขอข้าวพันธุ์กู้เมืองไปปลูกอยู่เลย  เดี๋ยวนี้เราซื้อข้าวจากภาคกลางหรือภาคอีสานมากิน  โดยคนทางภาคกลางภาคอีสานกินน้ำมันปาล์มจากปาล์มที่เราปลูก  แบบว่าใครถนัดทางไหน ทำทางนั้น 

ที่สถานีบ้านฉิมพลีมีคนขึ้นรถ  เป็นสุภาพสตรีสาววัยยี่สิบปลายหรือสามสิบต้นๆ แต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าสำเร็จ  ผ้าสีม่วงจางๆดูเกือบจะซีด  แต่ไม่ใช่เสื้อผ้าเก่า สีผ้าเป็นอย่างนั้นเอง  มีลายดอกไม้สีขาวดอกโตๆทั่วทั้งผืนผ้า  เธอรวบเอวด้วยเชือกถักเส้นเขื่อง ถักด้วยด้ายหลากสี มีสีเหลือง สีเขียว และสีแสด  เชือกที่รวบเอวเอาไว้นั้น ทำให้เห็นได้ว่าเธอไม่ใช่คนพ่วงพี แต่ก็มิใช่คนผ่ายผอม เป็นคนมีน้ำมีนวล ว่างั้นเถอะ  เธอสวมถุงน่องไนล่อนสีเนื้อ  ช่วงขาที่โผล่พ้นชายผ้าลงไปถึงรองเท้า จึงมีสีเนื้อทอแสงเรื่อๆ เธอสวมรองเท้าหุ้มส้นสีดำ ส้นสูงไม่น่าจะเกินสองเซนติเมตร  เป็นรองเท้าส้นเตี้ยสุภาพของสตรี  

ผิวพรรณของเธอออกไปทางงามขำ  จึงไม่ใช่ผิวพม่า น่าจะเป็นผิวมอญมากกว่า  แต่งหน้าเพียงบางๆ เธอไว้ผมยาวแค่ต้นคอ และเซ็ทไว้อย่างธรรมชาติ  แต่ก็ดูออกว่าฉีดสเปรย์ชนิดแข็ง แสดงว่าต้องเป็นคนผมตรง  เธอมีใบหน้าครุ่นคิด  แต่ไม่ได้บ่งบอกออกอาการประสาทหรืออาการเครียด เธอกำลังคิดคะนึงเฉยๆ  กระเป๋าถือสีน้ำตาลใบโต กับถุงใส่สิ่งของทรงสี่เหลี่ยมใบใหญ่สีดำ วางแนบกายอยู่บนที่นั่ง คงจะใช้ใส่เอกสาร ดูแลก็ยากจะเดาว่าเธอประกอบอาชีพการงานประเภทใด  แต่ผู้เขียนนั่งเสี่ยงเดาสุ่มว่า ถ้าไม่เป็นอัยการผู้ช่วยก็น่าจะเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาหญิง  เพราะรถไฟชานเมืองขบวนนี้แล่นผ่านองค์กรศาลและอัยการขนาดใหญ่โต ตั้งอยู่ริมทางรถไฟ  การเดินทางมาศาลหรือสำนักงานอัยการใหญ่โตแห่งนั้น โดยรถไฟชานเมืองขบวนนี้ จะเป็นการสะดวกมาก  สถานีรถไฟตั้งอยู่ห่างเพียงไม่กี่ก้าว จากหน้าสำนักงานทั้งสองแห่งนั้น...

นั่งลอบพิจารณา ผู้ช่วยอัยการหรือผู้ช่วยผู้พิพากษาหญิงในจินตนาการอยู่เพลินๆ  แล้วรถก็แล่นมาถึงสถานีตลิ่งชัน ที่ได้ปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม.สายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี ซึ่งประมาณว่าอีกเจ็ดปีจึงจะแล้วเสร็จทั้งสาย  ความใหม่ เรียบ แปลกหูแปลกตาของสถานีตลิ่งชันพลิกโฉม  ชวนให้นึกถึงสถานีปลายทางรถไฟฟ้าจากสนามบินลีโอนาโด ดาร์ วินชี นอกกรุงโรม เข้ามายังสถานีปลายทาง แตร์มินิ ในเมือง ทำไมใจมันหวนคิดถึงสถานีนั้นก็ไม่อาจทราบได้  หาเหตุผลไม่เจอ  คงนึกอยากจะไปเที่ยวมั้ง

จากสถานีตลิ่งชันมาสถานี บาง ละ มาด  รถไฟแล่นผ่ากลางชุมชนแออัด หรือจะมองว่าชุมชนแออัดสร้างเกยคร่อมที่รถไฟอยู่ก็ได้  หลังคาที่อยู่อาศัยแทบจะจิ้มเข้ามาในหน้าต่างรถ  ชุมชนแออัดสมัยนี้หลังคาสังกะสีไม่ได้เกลื่อนละลานตาเหมือนแต่ก่อน  เพราะหันมามุงกระเบื้องลอนคู่กันมาก  แต่ที่เป็นสังกะสีขึ้นสนิมก็พอมีให้เห็น หลังคาสังกะสีจะสวยตรงที่สีสนิม  เคยมีเพื่อนสตรีเธอเรียนศิลปากร  เธอจะชอบมองหลังคาสังกะสีขึ้นสนิมตามชุมชนแออัด  ตอนนั้นเคยขึ้นไปมองกันลงมาจากอาคารสูงริมคลองแสนแสบ  ย่านประตูน้ำ มองลงไปยังฝั่งคลองด้านตรงข้าม เขตปทุมวัน  ตอนนั้นมีชุมชนแออัดหลังคาสังกะสีขึ้นสนิมแทบจะทั้งนั้น  เธอบอกว่า-แพ่ๆดูเด่ะ สวยดี เธอพยายามชี้ให้เห็นความงามทั้งในแง่รูปแบบ รูปร่าง รูปทรง และสีสันของหลังคาสังกะสีขึ้นสนิมของชุมชนแออัดแห่งนั้น  ซึ่งผู้เขียนก็ไม่สามารถแลเห็นดีเห็นงามตามเธอได้กระทั่งบัดนี้  แต่ตั้งแต่นั้นมา ไม่รู้งัย เวลาเห็นหลังคาสังกะสีจำนวนมากแออัดกันอยู่ จะนึกถึงเธอเสมอ 

ในที่สุด ผู้เขียนก็มาถึงสถานีรถไฟธน บุลี หลังใหม่  ซึ่งสร้างถอยร่นห่างจากริมแม่น้ำเจ้าพระยามาไกลมาก  ถ้าจะข้ามเรือมาฝั่งกรุงเทพฯ เช่นที่ผู้เขียนตั้งใจไว้  ต้องนั่งรถสองแถวมาที่โรงพยาบาล ศิ หลิ ลาด  เสียค่ารถเจ็ดบาท  จากนั้น ต้องเดินทะลุโรงพยาบาล ศิ หลิ ลาด  มาที่ท่าน้ำ พลาน นก  เพราะท่าน้ำรถไฟเดิมเขาเลิกแล้ว  จากท่า พลาน นก หรือท่าวังหลังซึ่งอยู่ติดกัน ผู้เขียนก็นั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ท่ามหาธาตุ  พอขึ้นเรือแล้วก็เลี้ยวซ้ายทันที เพื่อจะไปท่าพระจันทร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ท่าพระจันทร์ แวะกินเกาเหลาเนื้อเปื่อยร้านมิตรโภชนา ซึ่งกินมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนธรรมศาสตร์  แต่ไม่ได้แวะมากินนานนับปีแล้ว  พบว่าเกาเหลาถ้วยโตขึ้น มีเนื้อมากขึ้น  ส่วนข้าวจานเล็กลงและมีข้าวน้อยลง  เรื่องความแตกต่างของราคาเมื่อนี้กับเมื่อโน้น อย่าพูดดีกว่า ไร้สาระ จะเอาไปเทียบกันได้อย่างไรกัน โลกมันเปลี่ยนไปตั้งเยอะแล้ว  ปัจจุบันราคาสูงกว่าเดิมประมาณสามเท่าตัว

ที่ไม่เปลี่ยนมากมายนัก คือ คอมมอนรูมภายในมหาวิทยาลัย คอมมอนรูมเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับนักศึกษานั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งคุยกัน  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้ถุนคณะศิลปศาสตร์  ในเวลานี้น่าจะเป็นที่สงัดที่สุดในย่านท่าพระจันทร์และย่านพรานนก  วันที่ผู้เขียนไปเยือน บรรยากาศสงบสงัด น่านั่ง ยังเหมือนเมื่อครั้งเรียนหนังสือที่นั่น  มีคนนั่งอยู่แล้วเพียงสามสี่โต๊ะเท่านั้น  ที่แปลกตาไปจากเดิมคือ คนที่นั่งแต่ละโต๊ะ ต่างมีเครื่องคอมพ์ชนิดวางตัก(laptop) หรือที่บางท่านเรียกโน้ตบุค วางอยู่บนโต๊ะแทบทุกโต๊ะ  ผู้เขียนเดินเลือกหาโต๊ะที่ไม่ไกลจากผู้คนเกินไป  พอนั่งลงได้ไม่นาน  ก็มีนักศึกษาหญิงกลุ่มหนึ่ง  พวกเธอเดินมานั่งที่โต๊ะด้านหลังผู้เขียน  แว่วเสียงเดินพูดคุยกันมาจนกระทั่งนั่งลงแล้ว ก็ยังคงสนทนากันต่อเนื่อง  สักพักหนึ่ง เสียงคนหนึ่งก็พูดขึ้นดังฟังชัดว่า “เมื่อคืน ฉันดูหนังโป้มาเธอ  มันทำเสียง ----  ----  ----“  ว่าแล้วเธอก็ทำเสียงประกอบการบรรยาย  ได้ยินกันสักครึ่งห้องคอมมอนรูมได้มั้ง  ผู้เขียนก็นึกในใจว่า โอ พระเจ้า วันนี้ทำไมหูฉัน ช่างโชคดีอะไรอย่างดีอย่างนี้

[ยังมีต่อ...]


4) จากคอมมอนรูม ใต้ถุนคณะศิลปะศาสตร์  ผู้เขียนเดินออกมาผ่านประตูมหาวิทยาลัยด้านท่าพระจันทร์ เพื่อกลับมาท่าเรือมหาธาตุ  ลงเรือข้ามฟากกลับไปโป๊ะพรานนก ซึ่งเป็นท่าเรือด่วน  ผู้เขียนลงเรือด่วนเจ้าพระยา ล่องแม่น้ำ  ระลึกได้เรื่องการเรียกฝั่งน้ำ ฝั่งไหนฝั่งซ้าย ฝั่งไหนฝั่งขวา ว่า ถ้าหันหน้าออกปากน้ำ ฝั่งซ้ายคือกรุงเทพฯ ฝั่งขวาคือธนบุรี  เหมือนกับที่ปารีสซึ่งฝั่งซ้าย หรือ รีฟ โกช  ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่สิงสู่ของพวกปัญญาชนและศิลปิน  ที่ตั้งของ การ์ติเย่ ละแต็ง อันเป็นย่านนักเรียนและมหาวิทยาลัยปารีส-ซอร์บอนน์  ส่วนฝั่งขวาที่เรียกว่า รีฟ ดรัวท นั้น บรรยากาศจะเปลี่ยนไปเป็นพวกหัวเอียงขวา หรืออะไรประมาณนั้น นี่ว่ากันแบบคร่าวๆหยาบๆ  เคยมีรุ่นพี่สตรี เรียนคณะอักษรฯจุฬาฯ เวลานั้นเธอยังไม่ได้ไปฝรั่งเศส ยังฝันๆอยู่  เธอบอกว่าย่านสามย่านของเธอคล้าย การ์ติเย่ ละแต็ง เพราะเป็นย่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัย  ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ขัดคอ แต่ใจนึกสงสัยว่า แม่น้ำแซนน์อยู่ไหนครับเจ๊ ถนนพระรามสี่ รึงัย 



ในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ ฟ้าเหนือลำน้ำครึ้มเมฆฝน บังสุริยาไม่ให้สาดแสงทองส่องหล้าลงมาสู่พื้นปฐพี  การจราจรทางน้ำเบาบาง  เรือด่วนเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นสมัย เสฯทวี ซึ่งเข้าใจว่าเลียนแบบมาจากเรือโดยสารใน แกรนด์ คานาล ที่นครเวนีส  บนเรือด่วนจะขาดนักท่องเที่ยวเสียมิได้  เหมือนกับเรือโดยสารในแกรนด์ คานาล เพราะจะเป็นรายการทัวร์ราคาถูก นักท่องเที่ยวเดินทางเองได้ไม่ต้องซื้อทัวร์  ผู้เขียนเห็นฝรั่งประปราย ปะปนอยู่กับผู้โดยสารทั่วไป ซึ่งนั่งและยืนกันเต็มลำเรือแต่ไม่ถึงกับคนแน่น       

สองฝั่งน้ำ เห็นภาพการก่อสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมตลอดแนว  คนกรุงเทพฯยังผวากับรายการน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  พวกเขาจึงพยายามยกตลิ่งแม่น้ำให้สูงขึ้น ด้วยการสร้างกำแพงเตี้ยๆเป็นเขื่อนสองฝั่งน้ำ  ผู้เขียนภาวนาว่า ขอให้พวกเขากระทำการกั้นน้ำได้สำเร็จ  แต่ริมฝั่งเจ้าพระยา บริเวณใจกลางเมือง ที่เรือด่วนกำลังแล่นผ่านนั้น ไม่มีหรอกที่จะมีช่องว่างให้ใครได้้ฝันว่า พี่ฝันจะสร้างรังรัก สักหนึ่งหลัง ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา อยู่อาศัย  มีแต่ตึกระฟ้าทั้งนั้นเลย  โรงแรมราคาแพงสุดๆ ก็จะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ใครเล่าให้ฟังก็จำไม่ได้ เพราะได้ยินมานานและไม่ได้ใส่ใจนัก จะเท็จจริงอย่างไร ก็ไม่เคยได้ตรวจสอบ  แต่เชื่อว่าถ้าใครอยากตรวจสอบความจริงเรื่องนี้  ไม่น่าจะยาก เนื่องจากเกี่ยวพันกับโรงแรมใหญ่โตราคาห้องแพงระยับในเมืองไทย  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีคนทำงานที่นั่นนับพันคน

เรื่องมีอยู่ว่า  บริษัท ครุปป์ ของเยอรมัน อันเป็นธุรกิจเหล็กกล้า ที่เคยสร้างอาวุธยุทโธปกรช่วยเยอรมันทำสงครามใหญ่มาถึงสามสงคราม  ครั้นยุคสมัยของเรานี้ ปรากฏว่าสิ้นสายสกุลวงศ์  ผู้นำตระกูลคนรองสุดท้ายได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้กับรัฐเยอรมัน  โดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ขอให้ช่วยเลี้ยงลูกซึ่งจะเป็นสกุลคนสุดท้าย จนกว่าจะสิ้นอายุขัยของเขา-เอ๊ย ของเธอ  เขาผู้นั้นต่อมาก็เปลี่ยนเป็น เธอ  รวมทั้งการแต่งเนื้อแต่งตัวก็อยู่ในเพศที่ฝรั่งเรียกว่า ‘drag queen’  เธอคือสายสกุลคนสุดท้ายของสกุลครุปป์  และเธอมาใช้ชีวิตบั้นปลาย อยู่กับห้องพักสุดหรูแพงหูฉี่ ณ สถานวิมานโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนั้้น  เรื่องนี้ทำให้เกิดมรณานุสติ สำนึกปลงว่า โธ่ กิจการเหล็กกล้าใหญ่โตโอ้โฮเบ้อเร่อเบ้อร่าเลย เข้มแข็งขึงขังปึงปัง  เป็นที่คร้ามเกรงของมหาอำนาจอุตสาหกรรมยุคเก่า สัญลักษณ์แห่ง เลือดกับเหล็ก  บทสุดท้ายของตำนาน มาจบลงที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาริเว่อร์ นี่เอง  มิน่าเล่า แม่น้ำสายนี้ถึงได้ชื่อว่า เจ้าพระยา สมนามจริงๆ  จะเป็นประชาธิปไตยกันไปถึงไหนอย่างไร  ก็อย่าเปลี่ยนชื่อแม่น้ำกันนะ-ขอร้อง          

และเมื่อไม่นานนักมานี้  ตาแก่คนหนึ่ง ชาวเมืองบอร์โดส์ เมืองที่ผู้เขียนเคยอยู่หลายปี  แกเป็นคนอารมณ์ดี ชอบกินดีอยู่ดี สูบซิการ์ดีๆ เหล้าไวน์ดีๆ  เวลานั้นท่านผู้นั้นเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย  บ้านพักท่านทูตอยู่แถวๆตรอกโรงภาษีเก่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่ตั้งสถานทูตฝรั่งเศสมา ตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศส ส่งเรือปืนมาลอยจังก้าในแม่น้ำเมื่อร.ศ.112  เช้าๆ ตาแก่คนนั้น แกจะให้ข้าทาสสบริวารซึ่งส่วนมากเป็นลาว เพราะกุ๊กของท่านเป็นลาวทั้งชุด  มาตั้งโต๊ะให้ท่านนั่งรับประทานอาหารเช้า หรือ petit déjeuner ที่สนามหน้าทำเนียบทูต ริมแม่น้ำ เป็นประจำ  เป็นที่น่าอิจฉายิ่งนัก สำหรับคนนั่งเรือหางยาวไปทำงาน ที่กำลังแล่นผ่าน

เรือด่วนเทียบท่าสาธร ผู้เขียนขึ้นจากเรือ แล้วเดินหารถไปสมาคมฝรั่งเศส ที่ถนนสาธรใต้ จุดหมายปลายทางอีกจุดหนึ่ง ของการเดินทางภาคเช้าวันนี้  ที่โต๊ะมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ใต้สถานีรถไฟฟ้าตรงท่าน้ำ  คนที่วินมอร์ไซด์บอกว่า ค่ามอเตอร์ไซด์ไปสมาคมฝรั่งเศส 50 บาท  ผู้เขียนเห็นว่าแพงไป  จึงเดินจากบริเวณนั้น ไปหารถเมล์ที่หัวถนนสาธรตัดกับเจริญกรุง  เห็นรถเมล์เบอร์ 77 ผ่านมา ก็วิ่งขึ้นทันที ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม  ขึ้นไปแล้วกระเป๋ารถเมล์บอกว่า รถคันนี้ไปแค่  ซอยเซ็นต์หลุยส์”  

นามนี้ โดยต้นกำเนิดหมายถึงพระเจ้าหลุยส์ที่เก้าของฝรั่งเศส ยุคสมัยประมาณสุโขทัย  ตายแล้วท่านได้เป็นนักบุญในศาสนาคาธอลิค จึงได้นามใหม่ว่า แซ็งต์ หลุยส์  หรือภาษาอังกฤษว่า เซ็นต์ หลุยส์  ชื่อซอยเซ็นต์หลุยส์เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก  ทางการกทม.ตั้งชื่อซอยไว้เป็้นอีกชื่อหนึ่ง  ซึ่งไม่มีใครสนใจจะเรียก และไม่มีใครจำได้-รวมทั้งท่านผู้้ว่ากทม.ด้วย ก็จำไม่ได้  ชาวบ้านร้านตลาดรวมทั้งมอร์ไซด์แท้กซี่  ต่างรู้จักซอยนี้ในนาม ซอยเซ็นต์หลุยส์  ตามชื่อโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ แต่มิได้หวังผลกำไร ซึ่งตั้งอยู่ที่นั่น  โรงพยาบาลแห่งนั้นมีคำขวัญอันน่าศรัทธา ทำนองว่า มีความกรุณาที่ไหน มีพระเจ้าที่นั่น  ซึ่งเป็นคำขวัญที่ผิดแผก แปลกประหลาด อะไรก็ไม่รู้ คิดได้งัย ช่างแตกต่างไปจากโรงพยาบาลเอกชนโรงอื่นๆ ที่มักจะมีคำขวัญว่า เรารักไตของท่าน  หรือ ความป่วยไข้ของท่าน คือค่าไฟของเรา  หรือ นมโตกับเรา ด้วยการแพทย์ซิลิโคน  หรือ อวัยวะใหญ่และลำตรงสวย ด้วยแพทย์ เป็นต้น 
  
ทางการกทม.น่าจะฉลาดพอ มีมารยาทดี และใจคอไม่คับแคบ รวมทั้งชาวบ้านเขตนั้น ก็น่าจะฉลาดพอ มีมารยาทดี และใจกว้าง  น่าจะรู้จักเห็นแก่การท่องเที่ยว และรู้จักที่จะเห็นแก่มิตรสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ตั้งชื่อ เซ็นต์หลุยส์ ให้เป็นชื่อซอยอย่างเป็นทางการเสียเลย 

...ที่เมืองเบรสต์ ริมฝั่งแอตแลนติค ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส  ซึ่งโกษาปานกับคณะทูตจากราชอาณาจักรสยาม เคยไปขึ้นฝั่งที่นั่น  เขาตั้งชื่อถนนสายหนึ่ง อุทิศเป็นอนุสรณ์มาแต่โบราณ ชื่อว่า รู ดู เซียม หรือ ถนนสยาม

เกี่ยวกับทางการ กรุงเทพมหานคร  ของชาวกรุงเทพฯเขานั้น  เมื่อไม่นานนักมานี้ พวกเขาชาวกทม. ซึ่งนัยว่าเป็นหมู่ชนที่เฉลียวฉลาดที่สุดในประเทศไทย  ได้เลือกอดีตผู้ว่ากทม.ยอดนิยมของพวกเขา  ซึ่งต่อมาท่านผู้นั้นก็เกิดความคิดสร้างสรรค์ คือออกอาการประสาทแดก ระยะ acute แบบว่าแม่งจี้ดขึ้นสมอง  ท่านผู้ว่าฯนอกจากมารยาทจะทราม เท่าที่มนุษย์โตๆคนหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ไม่สั่งสอนเพราะไม่มีปัญญาจะสอน จะเลวได้แล้้ว  วาจาของท่านก็ เหมือนหมาสะบัดขี้้   และกิริยาของท่านก็ไม่ยอมแพ้แก่วาจา  คือ เหมือนหมาสะบัดเยี่ยว   ท่านผู้ว่าของชาวกทม. เกิดความคิดสร้างสรรค์จะบั่น ถนนปรีดีพนมยงค์  ให้สั้นลง  ท่านเป็นอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่ประกอบอาชีพโสเภณีหยำฉ่าเฟอะฟะสุดๆในการเมืองระบอบประชาธิปไตย  ใบหน้าจะมียางอายสักนิดหนึ่งก็ไม่มี พอๆกันผู้เขียนบทความนี้ในบางเวลานั่นเอง โธ่ นึกว่าจะดีกว่าเสียอีก  ซึ่งต่อมาเวรกรรมตามทัน-แบบทันตาเห็น  คนนิยมรักท่านเข้ากระดูกดำเช่นผู้เขียนบทความนี้เป็นต้น  ต่างพากัน ได้เฮ  ตายเสียได้ไวๆ-ช่างน่าเสียใจมากมายอะไรเช่นนั้น  แผ่นดินกทม. สูงขึ้นนิดนึง  กรณีท่านผู้ว่าของชาวกทม.ผู้นั้น เป็นตัวอย่างดีเลิศหนึ่งตัวอย่าง คอยเตือนใจเรา ผู้นิยมระบอบประชาธิปไตยว่า ระบอบประชาฺธิปไตย มีคุณสมบัติดีงามหลายประการ  แต่มีข้อเสียอยู่ข้อหนึ่ง  ตรงที่สามารถหลอมละลายได้ง่าย ในน้ำเงิน

[ยังมีต่อ...]
 

5) เมื่อกระเป๋ารถเมล์บอกผู้เขียนว่า รถเบอร์ 77 ไปแค่ซอยเซ็นต์หลุยส์ ซึ่งชื่อทางการของกทม.เรียกว่าอะไรไม่มีใครรู้  ผู้เขียนจึงลงจากรถตอนรถติด  เพื่อไปรอรถเมล์เบอร์ 17 ตามคำแนะนำของกระเป๋ารถเมล์  ป้ายรถเมล์อยู่ใต้สถานีรถไฟลอยฟ้า ถนนสุรศักดิ์  ยืนรออยู่นานจนเกือบจะเบื่อ  แต่แล้วในที่สุดรถเบอร์ 17 ก็ผ่านมา และได้นำผู้เขียนไปถึงหน้าสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธรใต้ โดยสวัสดิภาพ ค่าตั๋วรถเมล์แปดบาท

สมาคมฝรั่งเศส ยังคงสภาพอาศรมน้อยๆ ซึ่งภายในเขตรั้ว ร่มรื่น บรรยากาศเย็นด้วยต้นไม้ใหญ่  ประกอบกับการจัดแต่งที่มีรสนิยม เป็นธรรมชาติ  เดินผ่านประตูเข้ามาแล้วเกือบลืมเลยว่า เราอยู่บนถนนสาธรธุรกิจ ที่อยูุ่ใกล้กับถนนสีลมธุรกิจ และไม่ไกลจากสุขุมวิทธุรกิจ  สมาคมฝรั่งเศสคือมุมเล็กๆมุมเดียวในย่านนี้ ที่ผู้เขียนไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคุกคามจาก ธุรกิจ” และการ “เซ็งลี้” ทั้งหลายทั้งปวง  พื้นที่สีเขียวผืนน้อยแห่งนี้ วิเวกสงบเย็นยิ่งกว่าคอมมอนรูม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รู้สึกผ่อนคลายสบายใจได้ดีกว่าอยู่ในเขตวัดหลายวัดในกรุงเทพฯ  รวมทั้งวัดที่เคยบวชอยู่หนึ่งพรรษาเต็มๆ 

ผู้เขียนเป็นนักศึกษาคนเดียว ในคณะเศรษฐศาสตร์รุ่นเดียวกันที่มาเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นี่  คือเรียนต่อเนื่องจากเมื่ออยู่ชั้นมัธยม  และผู้เขียนก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง เพราะเป็นเรื่อง “ใช่ที่”  อีกประการหนึ่ง ยุคนั้น คณะเศรษฐศาสตร์ ก็เพิ่งจะเลิกสอนภาษาฝรั่งเศส  ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้อยู่ในความสนใจของใครที่คณะฯ  แต่ก็มีรุ่นพี่ผู้หญิงในคณะฯ ยังค้างวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่คนหนึ่ง  คณะเศรษฐศาสตร์หันมาเน้นภาษาอังกฤษภาษาเดียว  ซึ่งก็น่าจะถูกต้องแล้ัวสำหรับคนหมู่มาก แต่ไม่ใช่ผู้เขียน

เมื่อยังเด็ก ผู้เขียนเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ อัลลิย้อง อันเป็นชื่อย่อของสมาคมฝรั่งเศส ที่นักเรียนนิยมเรียก  ตั้งแต่เมื่อ อัลลิย้อง ยังเป็นเรือนไม้หลังใหญ่  ใต้ถุนตีไม้ระแนงเหมือนกรงไก่  ห้องเรียนของผู้เขียนอยู่บนเรือนไม้ชั้นสอง  ครูคนแรกชื่อเมอร์ซิเออร์ ปาแป็ง เป็นคนมีอายุและหัวล้าน สอนตั้งแต่ อาเบเซเด  จนกระทั่งรู้จักผันคำกิริยา “แว้บ แอ้ต”(verbe Etre)  หรือ verb to be 

เทอมแรกผู้เขียนจะนั่งใจลอยฟังครูพูด เพราะถึงแม้จะตั้งใจฟัง ก็มีค่าเท่ากัน คือฟังไม่รู้เรื่อง  ครั้งหนึ่งกำลังนั่งเหม่อๆ ครูแกหันขวับมาบอกให้ผันคำกิริยา “แว้บ แอ้ต” อันมีชื่อเสียงก้องโลก  ผู้เขียนตกใจตื่นจากภวังค์ ผันคำกิริยาตอบครูท้นที ว่า

                เฉอ ซุย      (= I am.)

พูดได้เท่านั้น แล้วนิ่งเงียบ  ครูแกยืนรอฟังเฉยอยู่  ผู้เขียนนึกว่าตัวเองทำตามที่ครูสั่งแล้ว ก็นั่งนิ่งอยู่  ครูแกเฉยต่อไปอีกไม่ได้ ก็ดุว่าตามประสาครูเสียยาวเฟื้อยเลย ซึ่งจับความได้ว่า เวลาข้าบอกให้เอ็งผันแว้บ(ผันคำกิริยา) เอ็งต้องผันจนครบ คือ ฉัน-เธอ-เขาผู้ชาย-เขาผู้หญิง-เรา-ท่าน-พวกเขาผู้ชาย-พวกเขาผู้หญิง  ไม่ใช่ตอบว่า เฉอ ซุย  แล้วนั่งทำตาลอยเหม่อมองพระจันทร์ =  regarder la lune  วลีนี้ตอนนั้นเข้าใจแล้ว regarder แปลว่ามอง ส่วน la lune แปลว่าพระจันทร์  ครูแกย้ำว่า เอ็งต้องผันให้ครบทุกบุรุษสรรพนาม  แล้วครูก็ผันทบทวนให้ฟังครบถ้วน

                เฌอ ซุย
                ตู เอ
                อิล เล
                แอล เล
                นู ซ็อม
                วู แซ็ท
                อิล ซ็อง
                แอล ซ็อง

ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ มองเมอซิเออ ปาแป็ง ยืนผันแว้บแอ้ตใส่หน้าจนครบทุกบุรุษสรรพนาม  รู้สึกทึ่งในความสามารถของครู ผู้รู้แว้บแอ้ตหมดทุกตัว  พลางนึกในใจว่า “แม่ง โคด เยอะ เลย”  และ กู จะ รอด มั๊ย เนี่ยะ

กิจกรรมการเรียนภาษาฝรั่งเศส ทำมานานตั้งแต่เด็ก...จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ว่าได้  เมื่อจบชั้นมัธยมเข้ามหาวิทยาลัย  ปรากฏว่าปีนั้นธรรมศาสตร์เลิกสอนภาษาฝรั่งเศสในคณะเศรษฐศาสตร์  หันไปเน้นภาษาอังกฤษดังได้กล่าวแล้ว  แต่ผู้เขียนก็ยังหมั่นมาเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ อัลลิย้อง โดยมิได้ทิ้ง  จนภายหลังเมื่อทำงานแล้วก็ยังจัดเวลาเท่าที่สะดวก มาเรียนภาษาที่ อัลลิย้อง  จะว่างเว้นก็เมื่อไปเรียนหนังสือที่อเมริกา  ครั้นกลับมาเมืองไทย ก็กลับมาเรียนภาษาฝรั่งเศสชั้นสูงขึ้นไป...กับหนังสือ กูร์ เดอ ล้องก์ เล่มสองและเล่มสาม  จนเมื่อได้ไปฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็ม เรียนภาษาอย่างเดียว ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยบอร์โดส์-ม็งเตสกิเออ ที่เมืองบอร์โดส์

เพราะฉะนั้น จึงตระหนักในตนเรื่องรากฐานภาษาฝรั่งเศส  พอที่จะมั่นใจตัวเองได้บ้างไม่มากก็น้อย  แต่ใช่ว่าจะดีเลิศ ผู้รู้ภาษาฝรั่งเศสดีกว่าผู้เขียน มีอึดตะปือนัง  เพียงแต่ในส่วนตนนั้น รู้สึกเป็นกันเองกับภาษาฝรั่งเศส รู้สึกว่าภาษาฝรั่งเศสคือส่วนหนึ่งของตัวเรา  ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมเข้ามาสิงร่าง แบบผีเข้าผีออก มิใช่เช่นนั้น  ส่วนภาษาอังกฤษได้ผ่องถ่ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนก่อนภาษาฝรั่งเศส  เพราะเมื่ออยู่ชั้นมัธยมปลายก็อ่าน น.ส.พ.บางกอกโพสต์แล้ว ฟังวิทยุบีบีซีออกแล้ว และอ่านนวนิยายฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาอังกฤษได้แล้ว  ครูผู้ติวไวยากรณ์อังกฤษให้แน่นหนาแข็งแรงพอควร คือ นงเยาว์ กาญจนจารี  ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นเธอสอนภาษาอังกฤษ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล  ขอบคุณครับ--คุณครู ผู้ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับภาษาสเปน เริ่มเรียนเมื่อได้ไปทำงานในประเทศเบลเยี่ยม  เบลเยี่ยมเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนมานานในอดีต  จึงพอมีจุดเชื่อมความสนใจโยงไปได้  ประกอบกับต้องเดินทางจากบรัสเซลส์ ไปคาบสมุทร์ไอบีเรียบ่อยๆ ด้วยธุรกิจของบริษัท  ครั้นกลับมาทำงานในเมืองไทย ก็ไปเรียนภาษาสเปนต่อกับหลักสูตรภาคค่ำ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงาน  เรียนซ้ำๆเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ห้าปี  กระทั่งได้ครอบครองเป็นเจ้าของภาษาสเปนอีกภาษาหนึ่ง-เป็นธรรมดาอยู่เอง  ด้วยเทคโนโลยีบีบอัดข้อมูลก้าวหน้าขึ้น  ทำให้ระยะหลังนี้้โทรทัศน์ เต เล วิ ซิ ย็อน-เอส ปัน โญล ล่า  หรือ เต เว เอ แพร่ภาพผ่านดาวเทียมปัลปา ของอินโดเนเซีย มาถึงเมืองไทย ก็ช่วยเรื่องภาษาได้มาก  เพราะว่าก่อนหน้านั้น เมื่อตกงานมาอยู่ที่บ้านปักษ์ใต้ ก็ได้แต่อาศัยฟังวิทยุ แอ เอ เอ  หรือ ราดิโอ-เอ็ก เต ริ ยอร์ -เด- เอส ปัน ญ่า  กระจายเสียงจากกรุงมาดดริดไปออสเตรเลีย วันละสองชั่วโมง คลื่นข้ามหัวผ่านคาบสมุทร์มลายู ก็เลยรับติด ด้วยการขึงสายอากาศ จากยอดมะพร้าวต้นหนึ่ง ไปยังยอดมะพร้าวอีกต้นหนึ่ง     

ต่อมา เมื่อถึงกาลเวลาเริ่มสนใจโยคะกับสมาธิ  ก็รู้สึกรำคาญใจกับท่าโยคะที่ฝรั่งสอน  เขียนภาษาแขกด้วยอักขระโรมัน แล้วอ่านออกเสียงสำเนียงอเมริกันคือว่า บ้าไปเลย ฟังไม่ได้  อีกอย่างหนึ่ง การที่เราอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วเราไม่รู้ภาษาจีนหรือภาษาแขก ภาษาใดภาษาหนึ่ง ถือว่าเป็นข้อด้อยในจิตวิญญาณ  จึงตัดสินใจเริ่มเรียนภาษาฮินดี และทุกวันนี้ก็ยังเรียนอยู่ตามโอกาส  เมื่อเริ่มเรียน อินเตอร์เนตเกิดและแพร่หลายแล้ว  ตัวช่วยเรียนจึงไม่ใช่วิทยุต่างประเทศ หรือโทรทัศน์ต่างประเทศอีกต่อไปแล้ว  แต่เป็นอินเตอร์เนตแทน  นอกจากจะเรียนฮินดีเป็นทางการกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีอาจารย์ที่ใจดี  ก็เรียนเองทางอินเตอร์เนตกับมหาวิทยาลัยเพนสเตท สหรัฐอเมริกา  โดยเฉพาะการหัดเขียนอักขระเทวะนาครี  เรื่องนี้มิตรสตรีผู้หนึ่งในกรุงเทพฯ เชื้อสายภารตะ เธอบอกว่าเธอเรียนที่โรงเรียนภารตะวิทยา ใกล้เสาชิงช้า ใช้เวลาหัดเขียนหกเดือนก็เขียนเป็น  แต่ผู้เขียนเรียนกับม.รามฯและม.เพนสเตท ใช้เวลาปีครึ่งจึงได้ครบหมดทุกภาคส่วนของระบบอักขระ คือ 1.เทวะนาครีอักษรตัวเต็มทั้งหมด 2.เทวะนาครีอักขระย่อทั้งระบบ 3.เทวะนาครีตัวผสมอันเกิดจาก พยัญชนะซ้อนพยัญชนะ เรียนเฉพาะตัวที่สำคัญและจำเป็น ประมาณ 150 ตัว 4.สัญญลักษณ์ พินทุ จันทรพินทุ อนุสสวาร ฯลฯ  ส่วนพจนานุกรมฮินดี-อังกฤษ ไปซื้อมาจากร้านหนังสืออ็อกส์ฟอร์ด ที่เพิ่งจะมาเปิดใหม่ สดๆร้อนๆในเวลานั้น ในเมืองกัลกัตตา อินเดีย  ไปกับเครื่องบินสายการบิน ตุ๊กแก(Drukair)ของประเทศภูฐาน  สมัยนั้น สายการบินตั๋วถูกของแขก INDIgo ยังไม่เกิด 

เล่าเรื่องเรียนภาษาแบ่งปันประสบการณ์ เพราะเห็นว่า ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัว เรื่องเรียนภาษามากขึ้นกว่าแต่ก่อน  แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นการเล่าเรื่องความรักความชอบความสุขใจ ว่าที่ได้้ทำไปทั้งหมดนั้น ไม่ไ้ด้คิดว่าจะได้เงินได้ทอง ไม่ได้คิดว่าคุ้มไมุ่คุ้ม ไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน  แต่ทำไปเพราะรักชอบ  การเรียนภาษาถ้าใจไม่ชอบก็จะเป็นเรื่องยากยิ่ง น่าเบื่อหน่าย  การที่ใครจะเข้าครอบครองเป็นเจ้าของภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่งได้ ต้องใช้เวลานานปี  สำหรับตัวผู้เขียนและเพื่อนนักเรียนภาษาด้วยกันท่านอื่นๆ  ซึ่งบางท่านรู้ภาษาดีกว่าและมากกว่าผู้เขียนเสียอีก  เข้าใจว่าเซลสมองของพวกเราถูกตีผังมาให้ชอบภาษามนุษย์  เห็นเป็นเื่รื่องวิเศษและน่าอัศจรรย์  นี่ยังไม่ได้เล่าว่า ผู้เขียนเคยเรียนจีนกลางและญี่ปุุ่นด้วย แต่ทิ้งไปเสียก่อน  คิดว่าการที่เรารู้หลายภาษา ทำให้เราใจคอกว้างขวาง เวิ้งฟ้าสีครามของเราสุดหล้าฟ้าเขียว  โสตประสาทฟังเพลงไพเราะมากเพลง  และช่วยให้เราอยู่ในโลกที่นับวันจะแคบเข้าทุกที ได้โดยไม่อึดอัดจนเกินไปนัก

ผู้ที่มีความเห็นต่าง--ซึ่งเป็นคนส่วนมาก พวกเขา/หล่อนไม่เห็นด้วยกับย่อหน้า่ข้างบน  เขา/หล่อนเห็นว่า แมว-cat-chat-gato-บีลีลยัม  ก็คือเสียงที่เปล่งออกมาแม้จะต่างเสียงกันก็จริงอยู่ แต่ก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน ทั้งในภาษาไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส-สเปน-ฮินดี  เป็นการไร้สาระ เสียเวลา น่าเบื่อหน่าย ไม่สร้างสรรค์ ที่จะต้องเรียกชื่อสิ่งเดียวกันนี้ ที่อยู่ในโลกเดียวกัน ซ้ำๆถึงห้าเสียง  ชีิวิตของเขา/หล่อนไม่มีเวลาจะเสีย ให้กับการย่ำอยู่กับที่ด้วยการเรียนซอฟต์แวร์ชนิดนี้ดอก  อนิจจา พวกเขา/หล่อนไม่ได้รู้หรือว่า  ภาษาต่างหากคือต้นกำเนิดของความคิดอ่าน...ไม่ใช่ความคิดความอ่านก่อให้เกิดภาษา  ภาษามีแต่จะชวนให้แตกแขนงกิ่งก้านสาขาความคิดความอ่านออกไป  คนรู้ภาษาเดียวนั่นแหละ ที่น้ำเน่า วนเวียนพายเรือในอ่าง งมอยู่กับเบราเซอร์ชนิดเดียว  ซอยเท้าย่ำอยู่กับที่ จนเลอะเทอะใกล้จะจมปลักควายอยู่แล้ว        

[ยังมีต่อ...]


6) หลังจากเดินชมบริเวณพื้นที่เล็กๆ ภายนอกอาคารอัลลิย้องแล้ว  ก็พุ่งตรงไปโรงอาหาร  จะกินอาหารเช้าแบบฝรั่งเศส ซึ่งสำหรับผู้เขียนก็จะหมายถึงกาแฟดำกับครัวซ็อง หรือไม่ก็จะเป็นขนมปังบาแก็ตผ่าซีกทาเนยที่เรียกว่า แป็ง เบอร์ แต่รายการนี้จะำิมีกินก็เฉพาะตามร้าน กาเฟ่ ในประเทศฝรั่งเศส หรือไม่ก็ต้องทำกินเอง  วันนี้ที่โรงอาหารของสมาคมฝรั่งเศส มีขนมฝรั่งเศสหลากหลายให้เลือก  และแน่นอนว่า-ต้องมี ครัวซ็อง ด้วย


ทุกวันนี้ ร้านเซเว่นที่ตัวอำเภอบ้านผู้เขียน มีสิ่งที่-เรียกว่า ครัวซ็อง ขาย  แต่เนื้อในเป็นมันเยิ้ม  ราวกับปาท่องโก๋เนื้อหนา ดองอยู่ในน้ำมันพืช  แล้วหยิบขึ้นมาสะบัดๆใส่ห่อปลาสติกวางขาย  ไม่ทราบว่า เอาตำหรับครัวซ็็องมาจากตำบลโผวเล้ง เถ่งไฮ่ เตียอัน หรือว่าที่ไหนมาทำ

อยากกินครัวซ็องชนิดที่ผิวนอกกรอบ บาง เนื้อในแห้ง ไม่ใช่หนาเป็นฟองน้ำเฟอะฟะอุ้มน้ำมันเยิ้ม วันนี้ก็ได้กินสมใจ  ส่วนกาแฟดำที่นี่กรุ่นกลิ่นหอมขมๆได้รสชาติ ขมและคม เหมือนรสชาติกาแฟในฝรั่งเศส  กลิ่นขมแกมคมกรุ่นๆชนิดนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดอาการน้ำลายสอได้  ทั้งๆที่ไม่ใช่กลิ่นอาหาร  กาแฟที่ขายทั่วเมืองไทยรสชาติไม่ ขมแบบคม เหมือนกาแฟฝรั่งเศส  แต่กลับมีรสขมทื่อๆ บื้อๆ เข้าป่าหาหน่อไม้ไปเลย หรือไม่ก็ขมแบบขึ้นดอยสะเก็ดไปเก็บเห็ด--ขออภัย

ทราบมาว่า อดีตผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยว ผิง  ซึ่งเคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศส  เมื่อท่านออกไปเยือนยุโรปครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน  ขอกินครัวซ็องก่อนเลย  ถ้าจำไม่ผิด-ได้สั่งไว้ล่วงหน้า กินเป็นอาหารเช้าตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน  สำหรับผู้เขียนเวลาเข้ากรุงเทพฯ  ถ้าวันไหนได้กินครัวซ็องกับกาแฟดำรสชาติ ขมและคม แบบฝรั่งเศส เช่นวันนี้เป็นต้น  เชื่อว่าวันนั้น น่าจะสุขใจได้ตลอดวัน เพราะจะเกิดภูมิต้านทานในอารมณ์  ต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ

แต่ก็เคย หน้าแตก กับครัวซ็องมาครั้งหนึ่ง  ครั้งนั้น ทำงานอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม  เช้าตรู่วันหนึ่ง มีเหตุต้องเดินทางไปนอกกรุงบรัสเซลส์  แวะเข้าร้านกาแฟข้างทาง นั่งเคาน์เตอร์ แล้วสั่งกาแฟร้อนกับครัวซ็อง  คนขายบอกว่า ครัวซ็อง ไม่มีหรอก ที่นี่ไม่ใช่ประเทศฝรั่งเศส!”   

โอ หล่า ล่า...Ô la la.  ประสบการณ์นี้สอนให้รู้ว่า  คนที่ไม่ชอบครัวซ็อง- เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านบางท่าน ก็มีอยู่ในโลกมิใช่น้อยเลย

สำหรับอาหารฝรั่งเศสที่อัลลิย้องวันนี้ ก็ดูน่ากินไปเสียหมด  แต่ว่าเมนูสั้นมากคือทำไม่กี่อย่าง  มีอาหารไทย-จีนไว้ขายเสริมด้วย  ผู้เขียนเลือกกิน นุย  คืออาหารประเภทเส้น ทำจากแป้งข้าวสาลี  วันนี้เขาทำสปาเก็ตตีซอสมะเขือเทศอันแสนจะสามัญ แต่เชื่อว่ารสชาติอาหารสามัญชนิดนี้ ที่นี่ดีกว่าที่ไหนอื่นใดทั้งนั้นในกรุงเทพฯ  กรณียกเว้นอาจจะมีอยู่ แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่า จะยกเว้นที่ไหน ใครรู้บ้าง

ร้านหนังสือฝรั่งเศส ที่อัลลิย้อง จัดร้านดูเพลินตา  หนังสือที่วางไว้เข้าใจว่าเขาคัดสรรมาแล้ว ท่าทางน่าสนใจไปเสียทั้งนั้น  มีหนังสือเล่มโตๆเกี่ยวกับศิลปะอยู่หลายเล่ม  เล่มหนึ่งว่าด้วยภาพเขียนฝาผนังในเมืองไทย  ดูเผินๆภายนอกเห็นว่าเข้าท่าดี  เพราะผู้เขียนเคยมีคล้ายอย่างนั้นอยู่เล่มหนึ่ง ศาสตราจารย์ ฌัง บวสเซลลิเย แห่งสถาบันปลายบูรพาทิศของฝรั่งเศส  ท่านจัดทำขึ้นไว้ แต่บัดนี้ขาดตลาด  แม้หนังสือมือสองก็ยังหาไม่ได้  ผู้เขียนเรียนรู้เรื่องศิลปะไทยจากหนังสือเล่มนั้น มากกว่าจากหนังสือภาษาไทยเล่มใด  ตัวอย่างเช่น ช่วยให้ซาบซึ้งกับผังวัดไชยวัฒนาราม ที่อยุธยา  กับทำให้มีกำลังใจปีนนั่งร้านข้างกำแพงเ่ทวะสถาน ขึ้นไปยืนชมวัดศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู ที่สร้างด้วยผังเดียวกันแต่เป็นเวอร์ชันมหึมา วัดนั้นห้ามคนต่างศาสนาเข้า  ตั้งอยู่ที่เมืองภูพาเนชวาร์ รัฐโอริสสา อินเดีย

คนรู้จักกันคนหนึ่ง ยืมหนังสือเล่มนั้นของผู้เขียนไป แล้วเงียบจ้อย  ครั้นฝากคนไปทวงถาม มันตอบว่าเอาไปไว้บ้านพี่เขยที่ประเทศอังกฤษ  ตอแหลไกลมาก  คนเหี้ยๆแบบนี้ก็มี  แต่อย่าไปว่าเขา เรามันเหี้ยเอง ที่ไม่รู้จักระวังตัว  กระนั้นก็เถอะ แม้จะพยายามทำใจอย่างไร กระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่รู้งัย ยังรู้สึกว่ามันเหี้ยกว่าเราหน่อยนึง-ไอ้ส้นตีัน  คนมันเหี้ยมีเอื้อน ชนิดลงลูกคอสามชั้น เอี้ยยยยยย...ไม่ได้โกรธเกลียดนะ-ชื่นชมครับ  พูดไปแล้วนึกอยากจะด่าซ้ำสักครั้ง  แต่เกรงว่า จะกลายเป็นการทำมากเกินพอดี มันจะไม่งาม และอาจจะไม่น่าฟัง  ก็เลยไม่ได้แช่งซ้ำๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆให้สะใจสักที

ภาวนาขอให้โคด แม่งมาอ่านเว็บ  เจอหน้านี้สักทีเถ้อออ...

ที่จริงคนแบบนี้เคยเจอมาก่อนแล้ว  แต่ว่าเผลอลืมไป  คือเมื่อมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เคยจดลายมือลงสมุด  เรียบเรียงคำสอนที่ครูผู้เก่งกาจได้ติวไวยากรณ์อังกฤษให้  บรรจงเขียนรวมไว้ในสมุดโตๆหนึ่งเล่ม  ครบทุกหัวข้อภาคส่วนของคำพูด parts of speech  อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนชาวกรุงเทพฯเห็นเข้าก็ออกปากขอยืม  ซึ่งเราย่อมให้เพื่อนยืมอยู่แล้ว ไม่เคยหวงข้าวของกับเพื่อนฝูง-คือถูกสอนมา ผิดๆ อย่างนั้น  แต่ว่า แม่งยืมเงียบหาย พอทวงเข้า มันบอกว่า เราทำหายไปแล้วว่ะ   เพื่อนคนนี้ พ่อเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดน้อยใน ฝั่งธนฯ ยังจำได้  ก็นึกอยู่ในใจว่า อ๋อ...คนกรุงเทพฯเขาเป็นกันอย่างนี้เอง 

ภาวนาขอให้โคด แม่งมาอ่านเว็บ เจอหน้านี้สักทีเถ้อออ-ไอ้ส้นตีน

ออกจากสมาคมฝรั่งเศสเวลาประมาณบ่ายต้นๆ  นั่งรถเมล์เบอร์ 17 ไปลงที่ถนนเพลินจิต  ต่อรถเมล์ไปลงสยามสแควร์ จะไปหาหนังสือภาษาอังกฤษเรื่อง The Great Gatsby ที่ร้านหนังสือจุฬาฯ หลังสยามสแควร์  จะเลือกเอาชนิดที่ตัวพิมพ์ใหญ่หน่อย จะได้อ่านสบายตากว่าเวอร์ชันที่มีอยู่แล้ว ที่บ้านปักษ์ใต้

สำหรับนวนิยายอเมริกัน ผู้เขียนจะเลือกอ่าน ตามคำแนะนำของแหล่งที่ตัวเองเชื่อถือในฝรั่งเศส เช่น บัญชีรายชื่อนวนิยายน่าอ่านจำนวนร้อยเล่ม ซึ่ง น.ส.พ. เลอ ม็งด์ จัดทำขึ้น เป็นต้น  The Great Gatsby ของ F. F. Scott Fitzgerald กับ On The Road ของ Jack Kerouac อยู่ในบัญชีนั้นทั้งสองเล่ม  เล่มหลังมีอิทธิพลต่อจิตใจผู้เขียน สมัยเมื่อเรียนหนังสือที่ สหรัฐอเมริกา  คัมภีร์ของหนุ่มสาวอเมริกันทศวรรษฮิปปี้  ซึ่งแม้จะเป็นทศวรรษก่อนหน้าที่ผู้เขียนไปอเมริกา  แต่ก็ได้กลายเป็นเอกสารสำคัญที่ทุกผู้ทุกนาม  ที่ต้องการรู้จักอเมริกาพึงศึกษา  ส่วนเล่มแรกนั้นผู้เขียนคิดว่า ถ้าใครนึกอยากจะอ่านนวนิยายอเมริกันสักเล่มหนึ่งในชีวิต-ก่อนจะตาย  ขอแนะนำให้อ่านเล่มแรก

F. Scott Fitzgerald เป็นนักเขียนอเมริกันที่ชอบมาสิงอยู่ในปารีส รุ่นเดียวกับ เฮมมิ่งเวย์ ในยุคที่สหรัฐฯห้ามขายเหล้า  ส่วน Jack Kerouac เป็นคนอเมริกันเชื่อสายฝรั่งเศส(เฟร็นช์-คาเนเดียน)

ที่จริงหนังสือเหล่านี้ เคาะที่ร้านเนตในตัวอำเภอที่บ้าน  สั่งซื้อจากอะเมซอนดอทคอม ของจะส่งจากสหรัฐฯถึงบ้านหลังเขา  ภายในเวลาสิบวัน น่ามหัศจรรย์  ข้อเสียก็คือไม่แน่ใจว่าเขาจะพิมพ์ตัวอักษรโตอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า  ก็ไหนๆมากรุงเทพฯแล้ว แวะดูที่ร้านหนังสือจุฬาฯ เสียเลยจะดีกว่า  ผู้เขียนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ชั้นล่าง ตามบทสนทนาต่อไปนี้

-ข้าพเจ้า : จะซื้อหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ The Great Gatsby ของ F. Scott Fitzgerald ครับ
-พนักงาน : “เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งเล่มเลยหรือ...
-ข้าพเจ้้า : “ทั้งเล่มครับ
-พนักงาน : “เชิญข้างบน          

ผู้เขียนก็พูดซ้ำ กับพนักงานสตรีชั้นบน  เธอเคาะหาง่วนอยู่กับหน้าจอมอนิเตอร์ครู่หนึ่ง  แล้วเธอก็ผละจากหน้าจอ เดินไปมองหาตามชั้นหนังสือ  สักครู่ใหญ่เธอกลับมาพร้อมกับหนังสือบางๆเล่มหนึ่ง  ยื่นให้ผู้เขียน  ซึ่งเมื่อพลิกดู ผู้เขียนก็แจ้งเธอว่า  อยากได้ฉบับเต็มครับ นี่เป็นฉบับย่อสำหรับนักเรียน  เธอก็บอกว่า ไม่มีหรอก มีฉบับนี้ฉบับเดียว 

อย่างไรก็ดี โอกาสหลังจากนั้น ในวันถัดมาผู้เขียนไปหาพบในร้านเอเชียบุคส์ ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เล่มหนึ่ง  แต่ตัวพิมพ์เป็น small print  ซึ่งไม่ต้องตามวัตถุประสงค์  สรุปว่า เป็นอันไม่ได้หนังสือ

[ยังมีต่อ...]

7) การเรียนภาษาต่างประเทศของข้าพเจ้า และของมิตรสหายที่มีใจรักทางนี้  คงจะเรียนตลอดชีพ  เพราะทุกวันนี้ ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ กับภาษาทุกๆภาษาที่เรียนไปแล้ว  ผู้เขียนมีเกร็ดฝอยเล็กๆเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษอยู่เรื่องหนึ่ง  คือเวลานั้นคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่านคณบดี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนไปไกลแล้ว  และจัดให้มีหลักสูุตรปริญญาตรีเป็นภาษาอังกฤษ  โดยมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์สนับสนุน ว่าจ้างอาจารย์มาจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน  ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสผ่านการคัดเลือก เข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าว ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาอีกประมาณสามสิบคน  นับเป็นรุ่นที่สองของหลักสูตรนั้น 

เกร็ดฝอยก็คือ กลางวันเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่ท่าพระจันทร์  ครั้นกลับบ้าน บังเอิญว่าจังหวะก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯท่านทำอะพาร์ตเมนต์ให้ฝรั่งเช่า และสำรองไว้อยู่เองชุดหนึ่ง  เพราะฉะนั้นเวลากลับบ้าน ผู้เขียนก็จะสมาคมกับพวกอเมริกัน  ที่บ้านได้กลายเป็นโรงเรียนภาษาโรงเรียนใหญ่ เรียนตามวิธีธรรมชาติ  โอกาสชนิดนี้หายากและมิตรสหายคนอื่นไม่มีโอกาสเช่นนี้  ดังนั้นเมื่อไปเรียนหนังสือในสหรัฐฯ  ผู้เขียนก็เข้าใจวิถีชีวิตอเมริกันอยู่บ้างแล้ว  ไม่ต้องเสียเวลาปรับตัวมากที่โน่น  อยู่หอพักที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเพียงเทอมเดียว  ก็ออกหาอะพาร์ตเมนต์เช่าอยู่  หุ้นกันกับเพื่อนอเมริกันอีกสองคน เป็นยิวคนหนึ่งเป็นคาธอลิคอีกคนหนึ่ง  ทั้งคู่อยู่ในสาขาวิชามนุษยศาสตร์(วรรณคดี)  กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับยุโรปศตวรรษที่ 18 คนหนึ่ง  อีกคนหนึ่ง ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกวีอเมริกัน วอลท์ วิทแมน  ในภายหลังคนหนึ่งทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

จะด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ยุโรปศตวรรษที่ 18 ก้องหูมานาน  รวมทั้งนามกวีอเมริกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่ วอล์ท วิทแมน หากรวมถึง เอ็มมิลี ดิคคินสัน หรือ กินสเบิร์ก ก็ไม่แปลกหู  ไม่ถึงกับนึกแปลกใจว่า เอ้ะนี่มันชื่อหุ้นตัวไหนในวอลล์สตรีทวะ หรืออะไรเฉิ่มๆประมาณนั้น  ท้ายที่สุด ก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณในชีวิต ที่ท่านเล็งเห็นคุณของการศึกษา เห็นค่าของภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ  ที่ท่านรักดนตรีไทยและคลาสสิค  ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะหาชีวิตไม่แล้ว แต่เพลงเต่าเห่และซิมโฟนีหมายเลขสี่ ก็ยังเป็นเพื่อนเรา ทั้งในยามมีและยามจน ยามทุกข์และยามสุข ยามง่ายและยามยาก ยามน้ำตาตกและยามหัวเราะ 55555 LOL Thanks folks!

จากร้านหนังสือจุฬาฯ ก็มานั่งกินฟรุตทาร์ท กับกาแฟดำอีกถ้วย ในโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์  ร้านขนมของเขาก็ทำขนมฝรั่งเศสอร่อย  โอ หล่า ล้า...Ô la la. เห็นจะต้องยอมโดยดุษณี ที่จะตกเป็นเหยื่อของกิเลสชนิดหวาน  แล้วค่อยกลับไปเดินเลาะสวน ขึ้นเขาลงห้วย หอบแฮ่กๆ ออกกำลังกายลดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เอาที่บ้านแล้วกัน

ลำดับต่อมา  ขึ้นรถเมล์หน้าสยามสแควร์ ย้อนไปตลาดประตูน้ำ  ซึ่งอยู่ไม่ไกล  นั่งรถเมล์ผ่านหน้าตึกเวิร์ลเทรด ไทม์สแควร์ ของชาวกทม.เขา  พบว่าไทม์สแควร์ของพวกเขา ซึ่งพวกเขาทั้งหลายจะชวนกันมานับถอยหลังไปหาวันขึ้นปีใหม่กันที่นี่ มีสภาพใกล้ตลาดเทศบาล อำเภอรอบนอกเข้าไปทุกที  เมื่อลงรถเมล์ป้ายประตูน้ำ บนถนนราชปรารภ ผู้เขียนเดินขึ้นตึกอินทราตามระเบียบ ซึ่งบัดนี้ตึกนั้นแปรสภาพเป็นโบ้เบ้โดยละม่อม  ขายเสื้อผ้าหลากหลายมากจนซื้อไม่ถูก ก็เลยไม่ซื้อสักตัวเดียว  มันละลานตาท่วมหัวท่วมหู  มึนตื้บ 

อีกประการหนึ่ง เสื้อผ้าที่รับบริจาคมาเมื่อคราวน้ำท่วมครั้งก่อนๆ ก็ยังใช้ไม่หมด  แต่ข้าวสารอาหารแห้งกินหมดแล้ว  ที่บ้านน้ำท่วมปีเว้นปี ก็เลยไม่จำเป็นจะต้องซื้อเสื้อผ้าใช้  ตามละแวกบ้านเป็นกันอย่างนี้หลายคน แต่จะไม่ขอเอ่ยนาม  อย่างไรก็ดี ครั้นมีโอกาสเดินชมตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปบนตึกอินทรา ก็พลันหูตาสว่าง ทันสมัยขึ้นบัดดล-เดี๋ยวนั้น-ทันที  ฉันรู้วาบสว่างขึ้นมาว่า เสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคคราวน้ำท่วมครั้งก่อนๆนั้น  บัดนี้ตกแฟชั่นหมดแล้วทุกตัว  โอ พระเจ้า นึกภาวนา...ปีนี้ขอให้น้ำท่วมหญ่ายยยสักครั้งเติ้ดดด  จะได้มีเสื้อผ้าทันสมัยใส่ แบบชาวกรุงเทพฯเขาบ้าง

หลังจากตีตั๋วสามร้อยบาท  ก็เดินไปยืนเข้าแถวหน้าลิฟต์ขึ้นชั้นชมวิวตึกไบหยกสอง  มีนักท่องเที่ยวหลายชาติหลายภาษาอยู่ในแถว เข้าทำนอง ฝรั่งแขก จีนจามอะแจ แซ่สร้อง   ต่อมาระหว่างที่ตัวลิฟต์กำลังปีนเลียบข้างตึก ขึ้นสู่ชั้นสวรรค์วิมาน  มองลงมาข้างล่างแล้วใจหวิวๆ จะเป็นลม  ต้องยืนหลับตา  ครั้นถึงชั้นชมวิว เขาให้เครื่องดื่มฟรีปลอบใจหนึ่งกระป๋อง แล้วแต่จะเลือก  ผู้เขียนเลือกกินน้ำโทนิค  เพราะไม่ได้กินเครื่องดื่มยินโทนิคมานาน  แต่ไม่ได้นึกอยากกินเหล้า  อยากกินโทนิคเปล่าๆ

บนชั้นชมวิว เขาจัดรถตุ๊กๆตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป มีแผ่นไม้วาดรูปตัวพระตัวนางละครไทย ให้นักท่องเที่ยวเสนอหน้า ผ่านช่องใบหน้าที่เขาเจาะไว้ เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึก  รอบๆชั้นชมวิวมีกล้องส่องทางไกลชนิดหยอดเหรียญ  ผู้เขียนแสร้งทำเป็นยืนถือกระป๋องน้ำโทนิค รอฉกโอกาส เวลานักท่องเที่ยวผละไปจากกล้อง ก็จะถลาเข้าไปสวมแทนทันที เผื่อว่ายังไม่หมดเวลา เราก็จะได้ดูฟรีต่อไปเลย  ลองทำอยู่สองสามครั้ง ปรากฏว่าเขาดูจนตังหมดแล้วทั้งนั้น  ข้าพเจ้าก็เลยต้องชมวิวด้วยตาเปล่า สำนวนฝรั่งเศสพูดว่าด้วย ตา เปลือย หรือ เลอย นู  ดีที่เขาจัดภาพถ่ายวิวแต่ละทิศ พิมพ์แผ่นโต วางประจำไว้ทุกทิศ  พร้อมกับเขียนชี้ไว้บนแผ่นภาพ ว่าสถานที่สำคัญต่างๆในทิศนั้น มีอะไรบ้าง อยู่ตรงไหนในภาพถ่ายนั้น ให้คนที่กำลังยืนชี้ชวนกันชมวิว ไม่ต้องเถียงกันว่าไอ้โน่นมันใช่ไอ้นั่นหรือเปล่า  หรือไอ้นู้นไม่ใช่ไอ้เนี่ยะใช่ไหม

ภาพสรุปเมืองกรุงเทพฯจากยอดตึกไบหยกสอง  เห็นว่า เมืองนี้คือเมืองแท่งคอนกรีต  มีแท่งคอนกรีตสีขาวๆสูงบ้างเตี้ยบ้าง ตั้งอยู่รอบทิศจนสุดสายตาฟากฟ้าสีหม่นๆ  ระหว่างซอกอาคารจะมีทางด่วนสายต่างๆ วนเวียนเลี้ยวลด คดเคี้ยวไปมาเหมือนเขาวงกต  พื้นที่สีเขียวโล่งๆผืนใหญ่สองผืน คือสนามม้าสองสนาม  มองไปทางสนามม้าปทุมวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตึกไบหยก จำได้ว่าชาวกรุงเทพฯผู้หนึ่งเล่าว่า ที่โรงอาหารสนามม้าปทุมวัน พวกผู้ดีตกยากเขาจะชอบไปกินอาหารฝรั่งกันที่นั่น  ผู้เขียนตั้งใจว่ามากรุงเทพฯเที่ยวนี้ จะแวะไปดูบรรยากาศโรงอาหารแห่งนั้น  จะได้นำมาเขียนเล่าท่านผู้อ่าน  ปรากฏว่าจนแล้วจนรอด ทำได้เพียงแค่ขึ้นไปยืนชมวิวสนามม้าปทุมวัน อยู่บนยอดตึกไบหยกเท่านั้น  นี่แหละชีวิต จะหวังอะไรให้สมบูรณ์ไปเสียหมด คงจะไม่ได้้ 

แต่อาจเป็นได้ว่า กลุ่มผู้ดีตกยากไม่ใช่กลุ่มชนที่ผู้เขียนสนใจ  สู้คนรวยใหม่หรือ นูโว ริช ไม่ได้  กล่าวคือพวกผู้ดีตกยากดูแล้วจืดหูจืดตา  ข้างฝ่าย นูโว ริช  มีสีสันตระการตา เสียงดังฟังชัด แปดหลอด แผดสะเทือนแก้วหู ขี้หูระรัวหลุดร่วง-เสียวดี  ส่วนพวกผู้ดีตกยากพูดจาเสียงเบา ต้องเงี่ยหูฟังจึงจะได้ยิน  ถ้าเกิดพูดเสียงดังขึ้นมา ก็จะดังเจื้อยแจ้ว ได้ยินแล้วง่วงนอน  การแต่งเนื้อแต่งตัวก็สู้พวกนูโว ริช ไม่ได้  พวกนูโว ริช เธอจะแต่งตัว แกรนด์ ตลอดเวลา  กูจะแกรนด์ แม่งทุกงาน  ครั้งหนึ่ง ไปดูการมหรสพที่โรงละครแห่งชาติ  ได้พบกับ นูโว ริช ที่รู้จักกันนางหนึ่ง  เธอแถมาแต่ไกล มายังผู้เขียน ซึ่งเพิ่งจะก้าวพ้นธรณีประตูด้านข้างโรงละคร  เยียรบับเส้นใยสังเคราะห์ของเธอ กรุยกรายกวาดทำความสะอาดพื้นห้องโถงโรงละคร มาสักค่อนห้องเห็นจะได้  เข้าใจว่าเธอจะรู้สึกเขินว่าตัวเอง “over-dressed”  พอใกล้เข้ามา เธอก็แผดแปดหลอดแต่หารสอง คนเขาบอก ให้พี่แต่งตัวมาให้แกรนด์เลยนะ วันนี้                        

เวลานั้น ผู้เขียนทำงานอยู่กับธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งบัดนี้เจ๊งไปแล้ว-บ๊ายบาย ได้เอ่ยปากทักเธอว่า โห-พี่ สง่างาม โคดๆเลยครับ
ซึ่งคุณพี่ ก็ลดเสียงลงเหลือครึ่งหลอด แล้วกระซิบกระซาบ ว่า
น้องๆ--พี่ขอโอดีด่วน เงินสดทันใจนะน้อง สองล้าน
ซึ่งผู้เขียนก็ตอบว่ารับปากไม่ได้นะพี่  ผมต้องถามนายก่อน

ชมวิวด้านตรงข้ามกับสนามม้า คือด้านทิศเหนือ  ตามภาพถ่ายนำทางที่เขาวางไว้ บอกว่าสนามบินดอนเมืองอยู่ไกลออกไปนู่นนน...  ผู้เขียนเพ่งสักเท่าไรก็มองไม่เห็นการขึ้นลง ของสายการบินราคาถูกทั้งหลายที่นั่น  หลังจากชมวิวรอบด้าน จนได้เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งจากมุมสูง ให้ได้เทียบกับมุมทางราบที่นั่งเรือด่วนมาเมื่อเช้านี้  จากนั้นผู้เขียนก็มองหาสถานที่อยู่อาศัยหลังหนึ่ง เกี่ยวพันกับชีวิตตนเอง อยู่ไม่ไกลจากตึกนั้น  โชคดีที่มองหาจนพบ  สถานที่ตรงนั้นยังคงสภาพบ้านพักอาศัย  แต่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมาก และดูดีกว่าเดิม  ใครหนอมาเป็นเจ้าของที่ตรงนั้น  เขาไม่รู้และไม่สนใจหรอกว่า เคยมีชีวิตอื่นๆผูกพันกับมันมาก่อน  ก็เหมือนกับเวลาที่เราไปเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหม่ เราก็ไม่สนใจจะรู้เรื่องราวของเจ้าของเดิมมากเกินไป  ผู้เขียนยกโทรศัพท์มือถือ เลือกฟังชันกล้องถ่ายรูป แล้วเล็งลงไปกดแช้ะ  ถ่ายภาพนั้นจากมุมสูงไว้ดู-ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร  ก็รู้ๆอยู่ว่า ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง

มุมมองจากยอดตึกไบหยก เทียบกับครั้งที่เคยขึ้นมาเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว  เห็นว่ากรุงเทพฯพัฒนาทางวัตถุไปมาก น่าจะดีกระมัง  เพราะเมื่อสิบปีที่ก่อน กวาดสายตาจากยอดตึกไบหยก แลเห็นสถานที่ก่อสร้างที่เขาทิ้งงาน จนเหล็กขึ้นสนิม ร้างระเกะระกะรอบทิศ ไม่รู้ว่ากี่แห่งต่อกี่แห่ง นับสิบๆแห่ง หรือจะเป็นร้อยก็ไม่อาจทราบได้  อย่างกับภาพพังทลายของโรงไฟฟ้าเชินโนบิล ที่เขาถ่ายจากดาวเทียม  ใครจะรู้ว่าเพียงประมาณสิบปีให้หลัง  ภาพโครงการทิ้งร้างขึ้นสนิม ปลาสนาการไปไม่อยู่ให้เคืองตาอีกเลย เปลี่ยนเป็นตึกใหม่ทั้งหมด  ดังนั้น ถ้าจะประิเมินเท่าที่มองจากยอดตึกไบหยกวันนี้  คงไม่มีคนตาดีที่ไหน จะไม่รู้สึกว่ากรุงเทพฯฟื้นตัวเร็็ว

อย่างไรก็ดี เมื่อเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ก็อดไม่ได้ที่จะเตือนตนว่า อย่าลืมเรื่อง สิ่งที่เราแลเห็น กับที่เรามองไม่เห็น   ชื่อหนังสือความคิดเศรษฐกิจของ เฟดเดริค บาสเตียต์  ผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส เมื่อกลางศตวรรษที่ 19  หนังสือเล่มนี้นักเศรษฐศาสตร์ดังๆในโลกแองโกลโฟน(คนใช้ภาษาอังกฤษ) น่าจะได้อ่านแล้วทุกคน  บาสเตียต์เขียนให้คนทั่วไปอ่าน จึงเข้าใจง่าย กระจ่าง น่าอ่าน น่าลองคิดตาม  เจตนาจะให้คนเกิดปัญญา”(wisdom)  ไม่ใช่ให้เกิดความรู้”(knowledge)  ผลงานของนักคิดแห่งโลกฟร็องโกโฟน(คนใช้ภาษาฝรั่งเศส)ท่านนี้ ยิ่งทียิ่งดี ยิ่งนานยิ่งทันสมัย

บาสเตียต์  เป็นที่ชื่นชอบของ นายกร.ม.ต. มาร์กาเรต แธทเชอร์ และประธานาธิบดีโรแนลด์ รีแกน  ในอดีตเมื่อ เฮเยก วิพากษ์วิจารณ์เคนส์ ก็อ้างบาสเตียร์ไว้มาก  ส่วนคาร์ล มาร์ก วิจารณ์บาสเตียร์ไว้ใน เดอะ แคปปิตัล  ปัจจุบันองค์กรสื่อ ชื่อ International Policy Network  ตั้งรางวัลบทความดีเด่น ที่เขียนเกี่ยวกับอิสระทางความคิดเศรษฐกิจและสังคม เป็นอนุสรณ์ ชื่อว่า รางวัลบาสเตียต์

เพื่อให้ท่านสองสามท่านที่ติดตามบทความนี้  ซึ่งผู้เขียนเปิดฉากด้วยอุปสงค์อุปทาน ดีมานด์ซัพพลาย เรื่องการตั้งราคาชิ้นส่วนร่างกาย จับแขนยี่สิบ จับแก้มยี่สิบ จับนมห้าสิบ จับตูดห้าสิบ   ดังนั้น ช่วงท้ายก่อนจะจบข้อเขียน ก็อยากจะเห็นท่านสัมผัสความคิดเศรษฐกิจดีๆ ของ บาสเตียต์ โดยตรงสักนิด  จึงแปลย่อหน้าแรกๆ ของงานเรื่อง สิ่งที่เราแลเห็น กับที่เรามองไม่เห็น  เสนอไว้ ณ ที่นี้  พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เล็กลง เพื่อประหยัดเนื้อที่  ถ้าท่านมีเวลาอดทนอ่าน ก็น่าจะได้ข้อคิดเล็กๆไป  ซึ่งวันนี้ทั้งวันท่านอาจจะหาให้เสมอเหมือนไม่ได้ จากที่อื่นๆ

ในโลกเศรษฐกิจแล้วละก้อ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นิสัยชนิดใดชนิดหนึ่ง
ธรรมเนียมปฏิบัติประเำภทใดประเภทหนึ่ง กฎบัตรกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง  ย่อมไม่มีผลเพียงประการหนึ่งประการเดียว  แต่จะมีผลเป็นกระพรวน  แล้วในบรรดาผลทั้งหลาย ก็จะมีแต่ผลประการแรกเท่านั้น ที่จะเห็นทันควัน เป็นปัจจุบัน  อุบัติขึ้นแทบจะทันที กลายเป็นผลที่คู่อยู่กับเหตุึ  และเป็นผลที่เราแลเห็นได้  ส่วนผลประการอื่นๆจะเกิดตามมาในภายหลัง  เวลานี้เรายังมองไม่เห็น  ถ้าเราคาดการได้ ถือว่าเราโชคดี     

ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์เลว กับ นักเศรษฐศาสตร์ดี  คุณสมบัติแตกต่างกันอย่างมหึมา  นักเศรษฐศาสตร์เลวจะยึดเอาแต่ผลที่แลเห็นทันทีเป็นปัจจุบัน  นักเศรษฐศาสตร์ดีจะประมวลผล ทั้งที่แลเห็นทันควัน และที่ยังมองไม่เห็นในระยะแรก ซึ่งจำเป็นต้องพิเคราะห์ประเมินเอา

ที่ว่า คุณสมบัติแตกต่างกันเบ้อเร่อเลยนั้น  เพราะว่า  ตามปกติแล้ว ถ้าผลที่แลเห็นทันทีเป็นผลดีที่น่าปรารถนา  ผลที่จะตามมาภายหลัง มักจะเป็นนรกหมกไหม้  ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เมื่อกลับทางกัน ก็จะยังจริง

ปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้อ่านกันกว้างขวาง กว่าสมัยที่ผู้เขียนเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์-หลายเท่า  ทั้งนี้ เพราะโลกเราประสบปัญหาเศรษฐกิจ ครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก  แต่ละครั้งเข้าใจยากกว่าครั้งก่อนหน้า และเข้าใจยากกว่าวิกฤตน้ำท่วมเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนในวงการสื่อ ซึ่งปัจจุบันอาชีพนี้โดนประดังจากโลกาภิวัตน์ ถูกโดนกระทำ จนกลายเป็นอาชีพที่คอยนำเสนอสิ่งที่ตัวเองก็็ไม่รู้่เรื่อง ต่อประชาชน ไปเรียบร้อยแล้ว  ผู้ประกอบอาชีพอาจทำไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราต้องยกย่องพวกเขาว่า พวกเขาคือ ลิเก  แห่งสหัสวรรษใหม่

ความคิดของท่านผู้ประพันธ์ กระจ่างแจ้ง แบบว่าคนเขียนรู้เรื่องที่ตัวเองเขียน ทำให้ถ่ายทอดจนใครๆก็พลอยรู้เรื่องตามไปด้วย  แต่การที่ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเห็นด้วย  อย่างไรก็ดี ถ้าคนเขียนไม่ค่อยจะประสีประสากับประเด็น เขียนเท่าไรคนอ่านก็จะอ่านไม่รู้เรื่องยกเว้นท่านผู้อ่านซื่อๆ บางท่าน  ท่านผู้อ่านประเภทนั้น อาจจะนึกว่าเรา ขลัง  ก็ได้  ซึ่งก็ดีไปอย่าง เพราะจะช่วยแผ้วถางทางให้แก่ตัวเรา ในอันที่จะสร้างวัตถุมงคลขายต่อไป 

ข้อคิดในหนังสือเศรษฐศาสตร์ของบาสเตียต์ ใช้ทำความเข้าใจชีวิตเศรษฐกิจได้ ทั้งวันนี้และวันหน้า ไม่จำเป็นที่ท่านต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ท่านก็จะอ่านสนุก  คิดดูว่าผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เขียนหนังสือเผยแพร่ความคิดเศรษฐกิจต่อประชาชน  ท่านนึกว่าคนฝรั่งเศสกลางศตวรรษที่ 19 จะฉลาดกว่าท่านละหรือ  เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นนักดนตรีไทย แล้วนึกครึ้มขึ้นมา ว่าชาตินี้กูจะอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์สักเล่มหนึ่ง  ขอแนะนำให้อ่านเล่มนี้

หนังสือเล่มน้อยเล่มนี้ บาสเตียต์เขียนอยู่สามครั้ง  ต้นฉบับแรกสูญหายระหว่างย้ายบ้านจาก ถนน รู เดอ ชัวเซอล rue de Choiseul  ไปอยู่ที่ถนน รู ดัลแจ la rue d'Alger  จึงต้องเขียนขึ้นใหม่ โดยอิงกับร่างคำอภิปรายในรัฐสภา-ในฐานะผู้แทนราษฎร  ต่อมาเขาเห็นว่าต้นฉบับที่สอง อ่านแล้ว โคดเครียด  จึงโยนเข้าเตาไฟ  แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นคำรบสาม อันได้แก่ฉบับที่เราอ่านกันในปัจจุบัน

สักวันหนึ่งเถอะ ถ้ามีโอกาส จะแปลเป็นภาษาไทย โพสต์ให้อ่านกันฟรีๆ ถ่ายทอดตรงจากภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่แปลมาจากที่เขาแปลไว้เป็นภาษาอังกฤษแล้วอีกต่อหนึ่ง  บล็อกนี้ปกติแล้วจะขายสินค้ามือหนึ่ง  ถ้าไม่จำเป็น จะไม่เสนอสินค้ามือสองจากตลาดโรงเกลือ 55555 LOL

[ยังมีต่อ...]

 
8) ช่วงบ่ายมีโอกาสขึ้นรถไฟลอยฟ้า  พบว่าบริเวณสถานีและภายในตู้โดยสาร ประดับด้วยมอนิเตอร์จอแบน ฉายวีดีโอเซ็งลี้ โฆษณาสินค้าและบริการนานาชนิด  ชาวกรุงเทพฯเขาจะเซ็งลี้ฮ้อกันไปถึงไหนเนี่ยะ  รูหูของพวกเขาจะ ขาดข้อมูลเชิงเซ็งลี้ อินโฟเมอเชียล ไม่ได้สักวินาทีหนึ่งเลยหรือ  ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้แอนตี้การเซ็งลี้  เพราะการเซ็งลี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เรามีของราคาถูกใช้  เพียงแต่รู้สึกว่ามันเว่อ ท่วมหัวท่วมหู  เป็นข่าวสารชนิดที่คอยวางยาเบื่อยาเมาด้านการตลาดกับผู้บริโภค  ผลาญทรัพยากรของกิจการไปเปล่าๆ  ไม่ได้ช่วยให้คนรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ น่ารำคาญมาก  เมื่อเร็วๆนี้ที่ กรุงปารีส เขาสอบถามผู้โดยสารรถใต้ดิน ว่าจะให้มีโฆษณาในรถเอาไหม ปรากฏว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่บอกว่า ไม่เอา

อนึ่ง เท่าที่ได้ดูรายการโทรทัศน์กลางวันที่กรุงเทพฯ พบว่าข่าวสารที่จะได้รับเลือกเป็นข่าว จะต้องเข้าข่ายอินโฟเมเชียล  แม้กระทั่งข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ  ถ้าเป็นมะเร็งเต้านม โอ้โฮ--โคดอินโฟเมอเชียลเลย  เพราะว่าโฆษณาเพียบ  คนจะเซ็งลี้กับคนเป็นมะเร็งเต้านมมีเยอะมาก แห่กันมาโฆษณาเหมือนแร้งลง  แต่ถ้าคุณเป็นโรค เจ็บไข่ดัน  โอ้โฮ--ตายฟรีครับ เพราะมันไม่เข้าข่ายอินโฟเมอเชียล  ไม่มีธุรกิจใดๆจะเซ็งลี้กับคน เจ็บไข่ดัน  จะมีบ้างก็จำพวกยาสมุนไพรซึ่งก็ไม่มีแรงจะโฆษณา  คุณจะต้องนั่งปวดอยู่เงียบๆคนเดียว อย่างไร้ข่าวสาร  

ผู้เขียนขึ้นรถไฟลอยฟ้าก่อนชั่วโมงเร่งด่วนเล็กน้อย  คะเนดูในตู้่ที่ขึ้นไปนั้น ผู้โดยสารราวร้อยละสามสิบ รูหูของพวกเขาจุกด้วยหูฟัง  นวัตกรรมเครื่องเล่นเอ็มพีสามสำหรับจุกหูนี้  นับว่าวิเศษสุดสำหรับดิจิทัลเทคโนโลยี  ตัวเองได้กล่าวคำอำลา โยนวอล์คแมนเครื่องสุดท้ายทิ้งลงถังขยะเทศบาล ไปพร้อมกับเทคโนโลยีอะนาลอกเมื่อหลายปีแล้ว ใส่เทปได้ม้วนเดียวและเกะกะ  หันมาพกเอ็มพีสามแทน ซึ่งก็ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน--จ.ป.ฐ.ของชีิวิต  ท.จ.ต.ม.--ที่จะต้องมี ไว้สองเครื่อง  จ.ร.ก.หล.ป.ภ.--จัดรายการหลายประเภท บรรจุไว้ฟังสลับสับเปลี่ยนกัน  ส.ฟ.ด.--สร้างโฟลเดอร์ แยกประเภทรายการ ก.ด.--ก็ได้  ความจุมากกว่าวอล์คแมนอย่างเทียบกันไม่ได้ เช่น ไอพ็อดชัทเติลความจุสี่กิกกะไบต์  นอนฟังได้ทั้งคืนระหว่างเดินทางบนรถไฟหรือรถทัวร์  สารคดีและบันเทิงคดีนานาชนิดดาวน์โหลดได้ฟรีจากอินเตอร์เนต  รวมทั้งเพลงไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และฮินดี ก็ยังกะเอ(เพียบ)  รายการในยูทูบแปลงเป็นเอมพีสามได้แบบออนไลน์  ช่วยเพิ่มปริมาณ ประเภท และชนิดรายการ  ให้กับเราได้อีก กะลุย(เพียบ)  ต่อมา ครั้นโทรศัพท์มือถือมีเอ็มพีสามในตัว  ผู้เขียนจึงสละเครื่องเล่น ป.ด.ห.ค.--ไปได้หนึ่งเครื่อง 

ระหว่างอยู่บนรถไฟลอยฟ้า ลองคิดดูเล่นๆ จะเป็นไปได้ไหม ที่ใครจะจัดรายการสำเร็จรูปประจำวัน รายการเช้า-เย็น ประกอบด้วยเพลง ดนตรี ข้อคิดเพื่อชีวิตที่ดี สารคดีสั้น ข่าวสารบ้านเมืองใกล้ไกลที่กรองแล้ว ไม่ใช่ข่าวตื่นไฟหรือตื่นน้ำ(ท่วม) ฯลฯ เสนออย่างได้สมดุล อ่านด้วยสำเนียงนวลหูชัดเจนน่าฟัง ด้วยภาษาไทยที่ดี

ไม่ใช่พอไก่ขัน ก็ให้นางหมวยออกมาตะเบ็งคอเป็นเอ็น แผดข่าวร้าย เขย่าประสาทคนแต่หัวรุ่ง  ปรุงรสด้วยมุก(มุข)บ้องตื้น  ข่าวยอดนิยมคือข่าว ตื่น เช่น ข่าวมะพร้าวตื่นดก ข่าวยาจกตื่นมี ข่าวอาซิ้มตื่นไฟ ข่าวยายเพ็งตื่นน้ำ ฯลฯ  รายการเอ็มพีสามในฝันของเรา อยู่ที่เราจะไม่คิดว่าชาวกรุงเทพฯทุกคน อยากตื่นขึ้นมาพบกับวิธีเสนอข่าวแบบน้ำเน่ากว่าละคร  เสนออย่างไร้ภูมิหลัง ไม่รู้หัวนอนปลายตีนของข่าว ของเนื้อข่าว และของคนในข่าว  บางกรณี  คนในข่าวได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือนั่งว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว  นักเซ็งลี้ข่าว ยังไม่รายงานให้เราระแคะระคายเลยว่า จริงๆแล้วเขาคือ cunning idiot  คนหนึ่งเท่านั้น

ตัวอย่างรูปธรรม ก็คือการเสนอข่าวกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ.2554  ผู้เขียนมีมิตรที่กรุงเทพฯ เธอเกาะติดกระแสน้ำ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ที่มีวิธีเสนอข่าวน้ำเน่ากว่าละคร และทางน.ส.พ.ชวนประสาทเสียรายวัน  กระทั่งหัวน้ำมาจ่อหน้าหมู่บ้าน เธอก็ยังไม่รู้ตัว เธอเป็นจิตเภทอยู่จนบัดนี้

" Never play cards with a man called Doc. Never eat at a place called Mom's. Never sleep with a woman whose troubles are worse than your own."  --(Nelson Algren)

ผู้เขียนรับข่าวอากาศ รวมทั้งพยากรณ์รายวันล่วงหน้าหนึ่งเดือน สำหรับพื้นที่อำเภอบ้านผู้เขียน จาก www.acuweather.com เท่านั้น  ถ้าไปบ้านญาติ แล้วเขาเปิดโทรทัศน์รายการข่าวน้ำเน่ากว่าละครให้ชม  ก็จะขอความกรุณาให้เขาปิดเสียง  แล้วจะนั่งดูนักแสดงงิ้วข่าว  แสดงละครใบ้ ทำปากพะงาบๆ ประกอบกิริยา กับออกอาการต่างๆให้ชม  ถือเป็นรายการบันเทิงขำขัน ประเภท Pantomime วิกหนึ่งทีเดียว-ไม่เชื่อ ลองทำดูเด่ะ    

รายการเอ็มพีสามสำเร็จรูป อาจจัดเตรียมไว้ให้คนโหลดฟัง เสียค่าโสหุ้ยเล็กน้อย บาทสองบาท ให้อุ่นใจในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน เป็นเพื่อนเดินทางไปทำงานและกลับบ้าน  ลืมแล้วหรือว่า คนกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้รักไม่ได้ชอบงานที่ตนทำ มีจำนวนมิใช่น้อย   

หนังสือพิมพ์โฆษณาย่อยแจกฟรี ตรงทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า  ผู้เขียนเห็นว่าบางรายเขาทำเข้าท่าดี และมีคนถืออ่านมาก  เมื่อเปิดอ่านบทความในหนังสือพิมพ์แจกฟรีฉบับหนึ่ง  เห็นว่าคอลัมนิสต์เขียนน่าอ่าน ไม่หงำเหงือก ดำผุดดำว่ายอยู่ในกะลาน้ำครำ อันได้แก่ภูมิความคิืดเห็นแห่งตน เช่นที่พบเห็นในน.ส.พ.ชวนประสาทเสียรายวันหลายฉบับที่ต้องเสียเงินซื้อ  สาบานได้-ขอให้ฟ้าผ่าตาย วันนั้นข้าพเจ้าไม่เห็นผู้โดยสารสักคนเดียว ที่ถือหนังสือพิมพ์ ชวนประสาทเสียรายวัน แม้แต่สักฉบับเดียว  ขึ้นมาเปิดอ่านบนรถไฟฟ้าตู้ที่ข้าพเจ้านั่ง  อย่างไรก็ดี พบว่าน.ส.พ. ชวนประสาทเสียรายวัน วางอยู่บนโต๊ะแผงขายอาหารตามสั่ง ข้างๆคิวรถตู้ ใกล้ๆสถานีรถไฟฟ้า  ส่วนบนรถไฟฟ้าเขาอ่านน.ส.พ.โฆษณาย่อย แจกฟรี

คิดเอาเองเล่นๆว่า น.ส.พ.โฆษณาย่อย ขนาดกะทัดรัดนั้น น่าจะเหมาะกับชีวิตคนกรุงปัจจุบัน  ถ้าได้ปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกใจชาวกรุงเทพฯ ผู้ทำงานสำนักงานแบบเช้าไปเย็นกลับ  แล้วจะขายเล่มละบาทสองบาทหรือห้าบาท  ก็น่าจะมีคนซื้อ  และน่าจะเป็นแหล่งงานของนักเขียนรุ่นปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งตัวเองด้วย ได้อีกแหล่งหนึ่ง        
 
ในลำดับสุดท้ายของการท่องกรุงเทพฯ  ผู้เขียนนั่งรถไฟลอยฟ้ามาลงที่ สถานี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เพื่อต่อรถเมล์เบอร์515 กลับที่พักชานเมือง แถวตลิ่งชัน  การเดินทางช่วงนี้ต้องผจญภัยกับชั่วโมงเร่ิงด่วนภาคเย็น    

รัฐบาลไทย สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสรณ์การสงครามระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส(รัฐบาลวิชี)  บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิต กรณีพิพาทอินโดจีน ปีพ.ศ.2483  มีผลให้ไทยได้ดินแดนลาวกับเขมรบางส่วนคืนมา  อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ต้องคืนกลับให้ฝรั่งเศสในปี 2488  ส่วนกระดูกคนตายก็ยังคงอยู่ในอนุสาวรีย์ เพราะไม่ทราบว่าจะเอาไปคืนร่าง ได้ที่ไหน 

ภูมิหลังของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ค้นคว้ามาแบบย่นย่อมีว่า  ตอนต้นสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่ฝรั่งเศสย้ายรัฐบาลหนีเยอรมันออกจากกรุงปารีส ไปตั้งอยู่ใจกลางประเทศ ที่เมืองวิชี--ผู้เขียนเคยอยู่ที่เมืองนี้หนึ่งปี--และเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน(คือ ฝรั่งเศสแพ้) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2483 แล้วนั้น 

สองเดือนเศษต่อมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2483  รัฐบาลไทยโดยสถานทูตไทยที่ปารีส  แจ้งให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนบางส่วน ที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสในอดีต  และขอให้ปรับปรุงแนวพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเสียใหม่  รัฐบาลฝรั่งเศสตอบทันควันในวันที่ 17 กันยายน ว่า ฝันไปซะัล่ะ

โกรธ! นายกรัฐมนตรีไทย หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส ระดมกำลังทหารตรึงแนวชายแดนไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส  ในเดือนมกราคม พ.ศ.2484  เกิดการปะทะกันทั้งทางบก ทางอากาศ และกำลังทางเรือ  ทางการไทยเรียกวิกฤตการณ์ว่า สงครามอินโดจีน พ.ศ.2483-2484  ซึ่งเหตุการณ์ปะทะกันครั้งนั้น เมื่อวางลงบนโลกทัศน์อันกว้างขึ้น จะเห็นได้ว่า เป็น 1) สงครามใหญ่สงครามแรกที่เมืองไทยได้ทำ หลังจากว่างเว้นศึกใหญ่มาร้อยกว่าปี  2) สงครามสมัยใหม่ค่อนข้างเต็มรูปครั้งแรก หลังจากที่เมืองไทยใช้เวลาประมาณครึ่งศตวรรษ  ปรับปรุงกองทัพโบราณให้เป็นกองทัพทันสมัย  3) สงครามใหญ่ครั้งเดียว ที่ประเทศไทยทำกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก  เพราะว่าในอดีตนั้น การเผชิญหน้ากับนักล่าอาณานิคม เมืองไทยใช้วิธีการ ทางการทูต เป็นหลัก

ดังนั้น คงจะตื่นเต้นกันเป็นธรรมดา  ผู้อ่านประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คือ หลวงวิจิตรวาทการ  ท่านเป็นตัวอย่างของผู้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง(self-educate หรือ autodidact)  ท่านผู้นี้ไม่ได้เป็นนักเรียนฝรั่งเศส  แต่เคยทำงานเป็นข้าราชการสถานทูตไทย กรุงปารีส อย่างยาวนาน 

สงครามยุติลง--โดยญี่ปุ่นซึ่งร้อนใจมาก ไม่อยากเห็นเรื่องนี้ลุกลามใหญ่โต เป็นคนกลางเจรจาสงบศึก สัญญาสันติภาพไทย-ฝรั่งเศส ลงนามที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484  เวลานั้น กองทัพญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติการลับสุดยอด จะไปโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์  กองเรือญี่ปุ่นแล่นเรืออ้อมไปทางขั้วโลกเหนือ เพื่อเลี่ยงเส้นทางเรือพาณิชย์ เจ็ดเดือนหลังจากนั้น เมื่อ 7 ธันวาคม 2584 ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์  และสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเมื่อ 11 ธันวาคม 2484  ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการ ได้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว 

เพราะฉะนั้น ปี 2484 ตอนต้นปี ไทยวิวาทกับมหาอำนาจตะวันตกคือฝรั่งเศสก่อน  ส่วนญี่ปุ่นซุ่มวางแผนละเอียดและเป็นการลับ  วิวาทกับมหาอำนาจตะวันตกคือสหรัฐอเมริกาทีหลัง-ในช่วงปลายปี  เรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกเกรงขาม และสยดสยองเล็กๆกับประเทศไทย มาตราบจนเท่าทุกวันนี้  เพราะว่า มีสิทธิทำให้ญี่ปุ่นเสียแผนได้ และสงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะพลิกโฉมไป (--พูดเล่น แต่อาจจะจริง)    

ทหารไทยที่เสียชีวิต จารึกชื่ออยู่กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีจำนวนรวม 160 คน  บรรพบุรุษใครบ้าง ลูกหลานก็โปรดเข้าชื่อกันร้องเรียน ขอให้ กทม. กับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงวัฒนธรรม  ท่านได้ขุดอุโมงค์กว้างลอดใต้ผิวการจราจร เข้าไปยังบริเวณลานอนุสาวรีย์  ให้มีช่องทางรับแสงสว่างลงมาในอุโมงค์ คล้ายห้องโถงใต้ปิรามิดกระจกที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์  ภายในอุโมงค์จัดนิทรรศน์การถาวร  แสดงประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมบนคาบสมุทร์อินโดจีนของประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และการเสียดินแดนของไทย  ให้มีคำบรรยายภาษาไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ  แล้วจัดภูมิทัศน์ลานอนุสาวรีย์ชั้้นในเสียใหม่ รื้อรั้วรอบอนุสาวรีย์ทิ้งเสีย  ทั้งนี้เพื่อให้วิญญาณคนตายได้อยู่อย่างสงบ  และเพื่อเปิดตัวอนุสาวรีย์ออกหาญาติมิตรผู้ตาย ออกสู่ประชาชน ออกสู่โลกภายนอก และสู่นานาชาติ(ผ่านนักท่องเที่ยว)

ผู้มาเยือนกรุงเทพฯ ทั้งจากชายแดนทั้งสี่ทิศและจากทั่วโลก  จะได้ศึกษาเรื่องราวการล่าอาณานิคมอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ปรักปรำใคร  อนุสาวรีย์ซึ่งงัยๆก็สร้างขึ้นไว้และตั้งอยู่แล้ว ก็จะได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานอันเป็นโลกาภิวัตน์  ไม่ใช่ยืนเด่ ตั้งโด่ เดียวดาย ดูเศร้าเพราะถูกทอดทิ้ง รูดซิปสนิท ปิดประตูรั้ว เขตหวงห้าม-ห้ามเข้า  ราวกับจะเป็นอนุสาวรีย์เฉพาะพวก“closet nationalism”  งั้นแหละ

ข้อเสนอนี้ มาจากผู้เขียนผู้เป็นคนนอก ไม่ได้มีญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษ ไปร่วมรบสงครามอินโดจีน ไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ และไม่เคยคิดว่าตนเป็นคนกรุงเทพฯ  ผู้เขียนจะเกี่ยวข้องก็ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเท่านั้น  เพราะฉะนั้น หากเป็นการเสนอที่ มิบังควร ก็ขออภัยชาวกรุงเทพฯ ด้วย 

ในสงครามอินโดจีัน  ฝ่ายฝรั่งเศสบาดเจ็บล้มตายนับร้อย สถิติว่าเจ็บและตายรวมกันประมาณ 300 คน  สงครามกับประเทศไทย เมื่อวางบนโลกทัศน์อันกว้างขึ้น ก็เห็นได้ว่าเป็นสัญญาณล่วงหน้า เตือนฝรั่งเศสว่า ยุคอาณานิคมบนคาบสมุทรอินโดจีน ควรจะนับถอยหลังได้แล้ว  และอีกสิบสามปีต่อมา การนับถอยหลังดังกล่าวก็ถอยถึงเลขศูนย์ เมื่อเกิดศึกฝรั่งเศส-ญวน กองทัพฝรั่งเศสยับเยินแก่กองทัพเวียดมินห์ ที่เมืองแถง(เดียนเบียนฟู) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2497  สงครามยุติลงด้วยสนธิสัญญาเจนีวา เจรจากันที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน  เป็นสัญญาระหว่างประเทศที่ไม่มีฝ่ายใดรักษาคำมั่นสัญญา  ต่างฝ่ายต่างเริ่มฉีกสัญญาทิ้ง  ตั้งแต่น้ำหมึกลายเซ็นยังไม่ทันจะแห้ง

มีเกล็ดประวัติศาสตร์ เล่ากันว่า ระหว่างการประชุมสัญญาเจนีวา  นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส ร.ม.ต.ต่างประเทศ สหรัฐฯ กับนายจู เอนไล ร.ม.ต.ต่างประเทศ สาธารณรัฐฯจีน  จ๊ะเอ๋กันเป็นบังเอิญ ในห้องโถงห้องหนึ่ง โดยที่นาย จู เอนไล อยู่ในห้องนั้นก่อนแล้ว  แต่นายดัลเลส พรวดพราดเข้ามาทีหลัง  จู เอนไล กล่่าวคำทักทายและยื่นมือให้นายดัลเลสจับ  ปรากฏว่านายดัลเลส หันหลังขวับ เอามือไพล่หลัง ผลุนผลันเดินออกจากห้องนั้นทันที (เรื่องนี้ ตรวจสอบไม่ยาก เพราะเล่ากันไว้หลายแห่ง)    

ท่านสามารถดูหนังฝรั่งเศส เพื่อเติมสีสันตำนานประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับชีวิตคนฝรั่งเศสและการเมืองในอาณานิคมเวียดนาม ได้จากภาพยนตร์เรื่อง แล็ง โดชีน (L’Indochine)  นำแสดงโดยนางเอกคนสวย แบบขมและคม คัตตารีน เดอเนิฟ กับพระเอกคนหล่อ โอลิวิเย่ มาร์ติเนซ  ชื่อ โอลิวิเย่ แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่าพ่อต้นมะกอก   ภาพยนตร์เรื่องนี้เดินเรื่องเล่าชีวิตอันสุขสบายยุคอาณานิคม จนถึงช่วงคนญวนเริ่มเรียกร้องอิสรภาพ แล้วมาจบลงริมทะเลสาบเลอมัง(ทะเลสาบเจนีวา)ในระหว่างการประชุมสนธิสัญญาเจนีวา  หนังเวอร์ชันพากย์อังกฤษเคยฉายโรงที่กรุงเทพฯ 

ส่วนหนังอีกเรื่องหนึ่งชื่อ ลา มังต์(L’Amant)  หรือ ชู้รัำำก สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ของ มาการิต ดูราส เล่าเรื่องความสัมพันธ์สวาทระหว่างเด็กสาวรุ่นชาวฝรั่งเศส บุตรีข้าราชการอาณานิคมชั้นผู้น้อย(ชาวฝรั่งเศส)  กับเศรษฐีหนุ่มจีนจากย่านโชล็อง คล้ายย่านสำเพ็ง ในไซ่ง่อน  มาการิต ดูราส เป็นนักเขียนที่คนรุ่นใหม่นิยมเธอไม่น้อย เล่ากันว่าชีวิตจริง เธอเคยเป็นโสเภณีอยู่ในไซง่อน  เมื่อผู้เขียนยังเรียนอยู่ในฝรั่งเศส  มีโอกาสได้ชมเธอให้สัมภาษณ์นานนับชั่วโมง ในรายการวรรณกรรมร่วมสมัย อันเป็นรายการโทรทัศน์ยอดนิยม  ผู้เขียนรู้สึกทึ่งกับเธอและรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ชมรายการนั้น  นวนิยายเรื่อง ลา มังต์ ก็อ่านแล้วสองรอบ  แต่ว่าหนัง-สร้างได้ไม่ดีเท่าหนังสือ      

ภาพยนตร์อเมริกันเกี่ยวกับสงครามและเกี่ยวกับคาบสมุทร์อินโดจีน ที่คอหนังเมืองไทยรู้จักทุกคน  มีดาราไทย วิไลวรรณ สวมงอบเดินหาบกระจาดอยู่ในหนังพอให้เห็นแว้บๆ ได้แก่ภาพยนตร์เรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแคว  เล่าเรื่องเชลยศึกชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย และดัช  ที่ญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟสายมรณะชายแดนไทย-พม่า  ดนตรีนำของภาพยนตร์เรื่องนี้ เสมือนจะเป็นเพลงเดิน(march)ของพวกเชลย  ยังเป็นลำนำที่รู้จักกันทั่วไป-ทั่วโลก  อันที่จริงชายแดนด้านนั้นติดกับอาณานิคมอังกฤษ(คือพม่า)  จึงไม่มีอะไรจะเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส  เว้นแต่ว่านวนิยายเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแคว  นักเขียนฝรั่งเศสได้จินตนาการเขียนขึ้น แบบอิงประวัติศาสตร์  แล้วมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษภายหลัง และในที่สุดฮอลลีวูดก็นำไปทำหนัง       

สืบค้นดูพบว่า ลักษณะสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นรูปดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน  ผู้ออกแบบชื่อ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล  ส่วนรูปปั้นทหารและพลเรือนห้าคน ผู้ปั้นเป็นลูกศิษย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  โดยอาจารย์ศิลป์ ควบคุมดูแลการทำงาน

อนุสาวรีย์(ไทยมี)ชัยสมรภูมิ(ต่อฝรั่งเศส)  ชื่อภาษาอังกฤษของอนุสาวรีย์ ที่ประกาศบนรถไฟลอยฟ้า  น่าจะประกาศเสียใหม่ว่า Thai Victory over the French Monument  จะมัวทำคำให้หกตกหล่นกันอยู่ทำไม  จัดแบบเต็มๆไปเลย  เพื่อสร้างความฮือฮาแก่ผู้โดยสารและเพื่อให้เกียรติอนุสาวรีย์ ไม่ต้องกลัวหรอกว่า ฝรั่งเศสเขาจะว่าอะไร ไม่ต้องเกรงใจ  ฝรั่งเศสวิวาทกับคนทั้งโลกอยู่แล้ว  อีกประการหนึ่ง French pride is not easily wounded. ความภาคภูมิของคนฝรั่งเศส ไม่ได้กรอบเป็นข้าวเกรียบ กระเทือนง่ายๆ

ข้อสำคัญอยู่ที่ เมื่อประกาศชื่อเต็มๆจัดหนัก แบบไม่กลัวงานเข้า ว่า

“NEXT STATION Thai Victory over the French Monument 

เกิดมีคนฝรั่งเศสบ้าๆสักคนหนึ่ง มันเถียงขึ้นมา ไหนพิสูจน์ชัยชนะเด้ะ  เราต้องแน่ใจนะว่า จะสามารถพิสูจน์ได้ ว่าเราชนะสงครามครั้งนั้นจริง   

[ยังมีต่อ...เป็นตอนสุดท้าย]



[คำเตือน ตอนสุดท้าย จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม คนใจอ่อน-โปรดยั้งคิดก่อนที่จะอ่าน]


9) ผู้เขียนรอขึ้นรถเมล์เบอร์515 อยู่ที่อนุสาวรีย์ ไทย มีชัยสมรภูมิต่อ ฝรั่งเศส  เพื่อกลับบ้านพักชานเมืองด้านตลิ่งชัน  เวลานั้นอยู่ในช่วงชั่วโมงเร่ิงด่วนภาคเย็นของชาวกรุงเทพฯ  บริเวณรอบๆอนุสาวรีย์ผู้คนคับคั่ง  การจราจรหนาแน่นด้วยยวดยานนานาชนิด  ที่แล่นวนเวียนรอบๆอนุสาวรีย์อย่างน่าเวียนหัว  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือที่รวมรถเมล์มากมายหลายสาย  ทั้งยังมีรถตู้สำหรับเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียง และรถตู้สำหรับเดินทางไปเล่นการพะนัน ที่ชายแดนด้านอดีตประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสด้วย

คนกรุงเทพฯ ที่คับคั่งหน้าสลอน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เหล่านั้น  ถ้าเราลบเค้าความเหนื่อยหรือความหน่ายบนใบหน้าของพวกเขาทิ้ง  แล้วเราตัดสินว่าฝูงชนเหล่านี้หน้าตาเป็นคนฉลาด-ก็จะไม่เชิง หรือจะแลดูเป็นคนโง่ๆ-ก็ไม่ใช่  

คนกรุงเทพฯเคยขึ้นชื่อที่เกาะปีนังสมัยก่อนว่า ตือเซียม   คำๆนี้ส่อเค้าไปทางด้อยในความหมายที่ว่า หลอกต้มง่าย  แต่ไม่ได้แปลว่าจะงี่เ่่ง่าดักดาน ฟื้นฟูไม่ขึ้น ถึงระดับเข้าป่าหาหน่อไม้ หรือระัดับขึ้นดอยไปเก็บเห็ด  แต่ในสายตาของผู้เขียน ณ วันนั้นที่กำลังยืนรอรถเมล์เบอร์515 เห็นว่าเมื่อเรามองผิวเผิน ดูราวกับว่าพวกเขาหน้าตาเป็นกลางๆ  คล้ายๆกับพร้อมที่จะใช้ความกลางๆผสมกับสีสันใดๆก็ได้  แต่อย่างไรก็ดีถ้ามองให้ลึก ณ วันนี้ซึ่งไม่ใช่วันนั้้น  ผู้เขียนก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วว่า ข้อสรุป ณ วันนั้น จะเป็นอย่างนั้นจริง

ผู้คนก็มาก รถเมล์ก็เยอะ ไหลเวียนวนเหมือนกวนกระเษียรสมุทร์เข้ามารับผู้โดยสารหน้าตากลางๆ ที่ชะเง้อชะแง้แลคอยรถเบอร์ของตน นับไม่ถ้วนว่ารถเมล์เข้าป้ายกี่เบอร์  ผู้เขียนไม่สามารถจำเลขมาแทงหวยได้เลย  รถจอดซ้อนคันสองสามแถว เขาทำที่ไว้ให้ซ้อนกันได้ เข้าใจว่าเพื่อระบายคนและระบายรถ  รถเบอร์515 จะจอดอยู่แถวนอก พอเคลื่อนเข้ามาเทียบ ผู้เขียนร่วมกับคนอื่นๆก็พากันกรูขึ้นไป  ขึ้นได้แล้วผู้เขียนกระเสือกกระสนไปยังที่นั่งแถวหลังสุด เพราะเห็นว่างอยู่สองที่ พอนั่งแหมะผู้โดยสารอีกคนก็หย่อนก้นแปะ ลงกับที่นั่งข้างๆ  และแม้เก้าอี้นั่งจะเต็มแล้วภายในอึดใจนั้น  แต่คนก็ยังคงทยอยขึ้นรถ

รถเบอร์515 บรรทุกผู้โดยสารแน่นทั้งคัน  ค่อยๆลากสังขารอุ้ยอ้าย คล้ายคนโรคอ้วนจัด ชนิด morbid หรืออ้วนปางตาย  คลานออกจากป้าย บ่ายหน้าสู่ถนนราชวิถี  ซึ่งมีโรงพยาบาลใหญ่ตั้งอยู่ซ้ายขวาสองโรง  กับมีสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง  และไกลออกไป ก็ยังมีโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ตั้งอยู่อีก 

ใช้เวลานานชั่วกัปชั่วกัลป์ เป็นกัลปาวสาน-ประมาณสองชั่วโมง รถเมล์คันนั้นจึงเดินทางถึงสะพานกรุงธนฯ  ซึ่งธรรมดาน่าจะใช้เวลาสิบนาที  รถติดหนึบหนับอยู่กับถนน  คืบแต่ละคืบเหมือนเหยียบไปบนตังเม  ผู้โดยสารด้านขวามือของผู้เขียน เป็นชายอ้วนๆ อายุประมาณสี่สิบเศษ  ท่าทางคล้ายคนทำงานสำนักงานระดับซีไม่สูง  เขาแสดงอาการฮึดฮัด อึดอัดขัดข้องกับสภาพรถติด  ขยับตัวกระสับกระส่ายอยู่กับที่นั่ง ทำเสียงฮื้ดๆๆ  ส่วนสุภาพสตรีวัยประมาณสี่สิบเช่นเดียวกัน นั่งอยู่ด้านซ้ายผู้เขียน เธอแสดงอาการเบื่อหน่ายชีวิตรถติด ด้วยการขยุกขยิก ก้มลงหยิบของ เข้าๆออกๆ จากถุงใบโตที่เธอตั้งวางอยู่กับเท้า  ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าเข้าใจ และเห็นใจชาวกรุงเทพฯทั้งสองคนนั้น  และเห็นใจตัวเองในเวลานั้น

แต่เนื่องจากข้าพเจ้าฝึกบริหารลมหายใจเป็นกิจวัตร  เช่นเดียวกับเพื่อนเฟสบุคญาติธรรมทั้งหลาย ผู้เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ  เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้  ยัง-ยังครับยังไม่จบ  ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงไม่ออกอาการฮึดฮัด กระสับกระส่าย  แต่ก็ไม่ใช่เก็บกด  หามิได้-กลับนั่งระบายภาวะกดดันเพราะเหตุที่ต้องจำยอม ให้ออกไปกับลมหายใจขาออก  นั่ง ออกกำลังใจ เพราะใจก็ต้องการ ออกกำลังใจ  หายใจช้าๆเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ข้อมูลสรีระบ่งว่าคนเรามีอยู่ราวหกร้อยมัด ผ่อนลมอยู่กับท่านั่งเก้าอี้บนรถเมล์ที่แน่นขนัด  เริ่มกำหนดคลายตั้งแต่การขมวดคิ้วนิ่วหน้า แล้วลงมาคลายกล้ามเนื้อขอบตาและเบ้าตา ลงมาที่แก้ม ที่ใบหู กับหย่อนกรามล่างให้ตกลงมาเล็กน้อย ไม่ขบฟันไว้ ไม่เกร็งไหล่ ไม่แบกบ่า หายใจเข้าช้าๆทางจมูก ระบายออกทางปากที่เผยอเล็กน้อย

แน่ใจได้เลยว่า ถ้าเราต้องใช้ชีวิตประจำวันในกรุงเทพฯ  แล้วเราไม่รู้จักฝึกลมหายใจเพื่อออกกำลังใจ(มิใช่เพื่อบรรลุธรรมวิเศษ)  โอกาสที่ร่างกายจะเครียดไปเปล่าๆกับภาวะรถติด  เมื่อบวกกับเครียดสำนักงาน ก็กลายเป็นเครียดเรื้อรัง  แล้วหันไปกินอาหารประเภท เกลือ+แป้ง+น้ำตาล+ผงชูรส  เพื่อแก้เครียด  แล้วก็เลยพาลขี้เกียจออกกำลังกาย  ในที่สุดก็จะอ้วนปางตาย หรืออ้วนชนิด morbid เหมือนชาวกรุงบางคนบนรถเมล์คันนี้  โรคอ้วนน่ากลัวสำหรับคนรักเสรีภาพ  เพราะจะรบกวนอิสระภาพพื้นฐานในการเคลื่อนไหว  ไม่สะดวกที่จะไปไหนมาไหนด้วยตนเองดังใจปรารถนา  ไ่ม่อาจแบกเป้ไป interface กับประเทศอินเดียได้อีกต่อไป  อย่าลืมว่า-สถานีรถไฟเฮาราห์ ในกัลกัตตา มีชานชลาสามสิบกว่าชานชลา  เมื่อต้องแบกสัมภาระขึ้นลงสะพานลอย ข้ามชานชลาต่างๆเพื่อหาขบวนรถ  ถ้าเราน้ำหนักเกินตัวอ้วนปางตาย มีสิทธิพลาดรถไฟ       

นั่งกำหนดลมหายใจเพื่อออกกำลังใจ(มิใช่เพื่อบรรลุธรรมวิเศษ) เคลิ้มอยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนร้องให้  เอ้ะ หูฉันฝาดไปเปล่า  ใครร้องให้อยู่บนรถเมล์ที่กำลังเคลื่อนที่แบบคืบแล้วจอด-คืบแล้วจอด คันนี้ด้วยเล่า  สตรีวัยยี่สิบปลาย นั่งเก้าอี้แถวหน้าข้าพเจ้า  เธออยู่ในชุดสีเทาดำ มีลายขวางสีขาวหม่น กำลังนั่งสะอึกสะอื้นใส่โทรศัพท์มือถือที่แนบอยู่กับหู  เสียงร้องของเธอแม้จะไม่ถึงกับปล่อยโฮออกมา  แต่ก็ได้ยินกันทั่วบริเวณอันแน่นขนัดนั้น 

ผู้เขียนตื่นจากภวังค์ พลางพิจารณาเธอจากด้านหลัง ผ่านทางเรือนผมสีดำ ย้อมออกเหลื่อมสีส้มอ่อน  นึกสงสัยว่า เธอจะเดินทางมากับสตรีอีกผู้หนึ่ง ซึ่งนั่งติดกับเธอ แต่อยู่ด้านหน้าต่างรถหรือเปล่า  สังเกตอยู่ครู่หนึ่ง ท่ามกลางเสียงร่ำให้ของเจ้าหล่อน  ก็แน่ใจว่ามากันคนละงาน  สองคนนี้เป็นเพียงเพื่อนโดยสารเท่านั้น  ไม่ได้รู้จักกัน  เพราะคนที่นั่งติดหน้าต่าง ไม่หันมามอง พูด หรือปลอบ คนที่กำลังสะอื้นฮักๆเลย  เธอกลับพยายามขยับตัวออกห่าง เบียดตัวเองที่นั่งติดหน้าต่างอยู่แล้ว ให้แนบสนิทจนจะเป็นเนื้อเดียวกับแผ่นเหล็กตัวถังรถ อันเย็นยะเยือก

เป็นครั้งแรกในชีวิตบนรถเมล์ของผู้เขียน ที่ได้พบเหตุการณ์สตรีสาวนั่งร่ำให้  รถเบอร์ 515 ปรับอากาศ  เพราะฉะนั้นจึงสกัดเสียงหนวกหูจากท้องถนนได้มาก  เสียงคนร้องให้แม้จะร้องเบาๆก็ได้ยินชัดเจน  การที่ีมีคนนั่งน้ำตาตกห่างจากเราเพียงแค่คืบ  แต่เราไม่มีทางที่จะรับรู้ แบ่งปันความเศร้าโศกกันได้ เพราะเราเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน  เราคือคนมหานครใหญ่ผู้ไม่ได้รู้จักมักจี่กัน  สตรีสาววัยไล่เลี่ยกันที่นั่งติดกับหล่อน ยังขยับตัวเหมือนอยากจะหนี และผินหน้ามองนอกหน้าต่างรถตลอดเวลา  เธอออกอาการให้รู้้ว่า ไม่ต้องการรับรู้แบ่งปันความทุกข์โศกนั้น  เธอพอใจกับสถานะคนแปลกหน้าของกันและกัน  เธอคือสมาิชิกสมบูรณ์แบบแห่งนาครใหญ่

คนหนุ่มอ้วนๆ ในชุดเสื้อขาวกางเกงดำ ท่าทางจะเป็นนักศึกษา ยืนชิดเก้าอี้ที่สาวเจ้ากำลังนั่งร่ำให้้  แม้เขาจะมีหูฟังเสียบหู แม้ตามองเพดานรถ  แต่เขาจะต้องเห็นอาการสะอึกสะอื้น น้ำตาไหลของหล่อนแน่  ทว่า เขาก็ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รับรู้  เขาพอใจกับสถานะคนนอก  ส่วนผู้เขียนซึ่งนั่งเก้าอี้แถวหลัง ติดด้านหลังหล่อนก็เหมือนกัน คงนั่งตรึงนิ่งอยู่กับที่ โธ่ ใครจะกล้าชะโงกหน้าไปถามว่า คุณร้องให้ด้วยเรื่องอะไร  เพราะฉะนั้น ท่ามกลางฝูงชนห้อมล้อมเรียงชิดติดตัว หล่อนจึงนั่งสะอื้นตามลำพัง เอกา โดดเดี่ยว อ้างว้าง วังเวง... 

อย่างไรก็ดี           นิรนาม ในหมู่มนุษย์
ยังดีกว่า ดังในหมู่เทพ

                             --anonymity in the world of men
          is better than fame in heaven,
                                               
                   -Jack Kerouac, “On the Road”
นวนิยายเล่มนี้ ท่านใดที่  (1)ไม่ขึ้นใจกับภูมิศาสตร์สหรัฐอเมริกา    (2)ไม่คุ้นกับสไตล์ pop writing ของภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน          --ท่านจะอ่านเป็นยานอนหลับได้อย่างขนานเอก - รับรองคุณภาพ


ต่อไปจะขอมองในแง่ร้ายบ้าง  หรือว่าเธอกำลังแสดงละคร  แล้วฝูงชนบนรถเมล์ถูกบังคับโดยปริยายให้อยู่ในสภาพจำยอม ต้องกลายเป็นผู้ชมละครฉากเล็กๆที่เธอกำลังแสดง 

ด้วยวัตถุประสงค์อะไรหรือ  ประเด็นนี้เราก็คงต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณว่า ความประสงค์ของมนุษย์เรา-บางทีไม่ได้เป็น วัตถุ เสมอไป  เธออาจมี จิตประสงค์ ก็ได้  โดยที่ผู้ชมละครของเธอมีทวิภาค(สองวิก)  ผู้ชมดิจิทัลซึ่งอยู่ปลายคลื่นโทรศัพท์มือถือ  กับผู้ชมอะนาลอกที่อยู่บนรถเมล์  จิตประสงค์หลักของเธอเพ่งอยู่กับผู้ชมดิจิทัลด้านปลายคลื่น  ประโยชน์ได้เสียอยู่ทางโน้น  โดยที่ผู้ชมอะนาลอกบนรถเมล์ อันมีผู้เขียนรวมอยู่ด้วย พวกเราทั้งหลายกลายเป็น นักแสดง ไปโดยปริยาย เป็นตัวประกอบอยู่ในฉาก ซึ่งผู้ชมดิจิทัลจะเห็นอยู่ในมโนนึก(นึกเห็น)  อนึ่ง การร้องให้ผ่านระบบโทรคมนาคม  นักการเมืองบูรพาทิศชนิด cunning idiot  นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองชนิดหนึ่ง  ซึ่งประชาชนบางคนผู้เลี่ยนกับละครฉากดังกล่าว  ก็จะนึกรำพึงไปตามครรลองวรรณคดีไทย ที่ว่า   

                             ชะช่าง โศกา น้ำตาเล็ด
                             กูรู้เช่น เห็นเท็จ ทุกสิ่งอัน

-       พระมหามนตรี  “ระเด่นลันได”       
                                                                  
ชีวิตหนึ่งวันของผู้เขียนในกรุงเทพฯ ก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมบทนี้  ขออำลากรุงเทพฯกลับบ้านสวน ที่ยามฟ้าสางตะวันยังเรื่อเหนือทิวเขา ดาวรุ่งยังสุกใส รัตติกาลยังประดับด้วยดาวและเดือน ยามดึกแหงนมองฟ้าสีนิลยังเห็นพระแม่คงคาสวรรค์(ทางช้างเผือก) เห็นกลุ่มดาวที่รู้จักมาแต่เด็ก  และแผ่นดินก็ยังมีคนที่เรารักและมักคุ้น  ครั้นกลับถึงบ้านเรียบร้อย วันหนึ่งมีโอกาสเดินทางไปส่งหลานชาย ซึ่งกำลังเรียนชั้นป.6 ไปติวภาษาอังกฤษกับสาขาสถาบันติว คุ-มอง KUMON ในตัวเมือง(ตัวอำเภอ)  แล้วก็ตระหนักได้ว่า เขาน่าจะโชคดีแล้วที่ยังไม่ต้องไปอยู่กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่  ใครก็ตามที่ใช้เวลาวันเดียวท่องเที่ยวชมเมือง คงจะมีเส้นทางเฉพาะตัวไม่ซ้ำกับผู้ใด  กรุงเทพฯชวนให้ผู้เขียนคิดไปถึงเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง คือ เม็กซิโก ซิตี้  ที่เคยไปเที่ยวมาสองครั้ง  หนึ่งวันในกรุงเทพฯไม่ได้ชวนให้นึกถึง ชิคาโก นิวยอร์ค ปารีส บอร์โดส์ มาดดริด อัมสเตอดัม บรัสเซลส์ ไคโร และกัลกัตตา มากเท่ากับที่นึกถึง เม็กซิโก ซิตี้ 

ทำไมหรือ...

เห็นจะเป็นเพราะว่า ที่สุดแล้วผู้คนตามท้องถนน หน้าตา มีเค้า คล้ายคลึงกันมากกว่าเมืองอื่นๆที่เอ่ยนามมา ไม่ถึงกับเหมือนกันแต่ถ้าจะว่าโดย เค้าหน้า ก็จะไม่ต่างกันมากเท่าเมืองอื่นๆในย่อหน้าบน-นั่นประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งจะเกี่ยวกับภาษาสเปน  ซึ่งแม้จะไม่สนิทติดอยู่ในตัว อย่างภาษาฝรั่งเศสหรืออังกฤษ  แต่ผู้เขียนก็ใช้ภาษาสเปนสนทนาโต้ตอบได้ค่อนข้างฉับพลัน  อะไรจะดีกว่าการรู้ภาษาสเปน เวลาท่องเที่ยวในละตินอเมริกา  ด้วยเหตุนี้ เม็กซิโก ซิตี้ จึงเป็นเมืองใหญ่ที่เวลาเดินตามถนน จะไม่รู้สึกแปลกถิ่นมากมาย  ประสบการณ์ส่วนตัวตอกย้ำความรู้สึก  ครั้งหนึ่งที่สถานีรถไฟชานเมือง กรุงเม็กซิโก ซิตี้(ลา ซิวด้าด เด เม-ฮิ-โก) หญิงวัยกลางคนผู้หนึ่ง  ท่าทางคล้ายคนบ้านนอกเข้ากรุง  เป็นอินเดียแดง  เธอเดินมาถามทางเอากับผู้เขียน เพราะเธอนึกว่าผู้เขียนคือคนที่นั่น  ประสบการณ์นี้มิใช่กรณีเดียว  ยังมีกรณีอื่นซ้ำอีกที่เข้าลักษณะเดียวกัน  ดังนั้น สำหรับผู้เขียน เม็กซิโก ซิตี้้  จึงเป็นเมืองเดียวตามรายชื่อเมืองในย่อหน้าบน ที่เรามีสิทธิถูก คนที่นั่น  เข้าใจว่าเราเป็น คนที่นั่น       

แล้ว ปารีส  ล่ะ...

สำหรับปารีส แม้ชีวิตจะวนเวียนอยู่ในประเทศใช้ภาษาฝรั่งเศสหลายปี และัไปปารีัสมานับสิบๆครั้ง ก็ใช่ว่าจะรู้จักปารีสดี  แต่ถ้าเรารู้ภาษาฝรั่งเศส  ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี และวิถีอันแปลกพิเศษของเขาอยู่บ้าง  พอหอมปากหอมคอ เช่น รู้จักกับ นมหกนมหล่น ในภาพเขียนดัง เสรีภาพชักนำประชาชน  ของ เดอลาครัวส์ เป็นต้น  ปัจจัยจะปรุงเข้าจนอาเพศ เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นกับเรา  คือเราจะไม่เคยนึกเทียบ ปารีส กับ กรุงเทพฯ  เลย  นาทีที่ล้อเครื่องบินแตะสนามบิน ชาร์ล เดอ โกลส์  บัดเดี๋ยวนั้นเราจะต้องเวทย์อันขมัง นะจังงัง หลงใหลได้ปลื้ม ลืมตัวว่าเราเคยรู้จักกับกรุงเทพฯมาก่อน  กทม.จะพลันหายวับลับจากใจ  จึงไม่สามารถเปรียบสองนครนี้ให้ท่านผู้อ่านฟังได้-ขอความเห็นใจด้วย

ถ้ากระนั้น อาจจะพอเปรียบเทียบ แบ่งปันเล่าสู่ำำกันฟังได้กระมัง ว่ามีอะไรที่ เม็กซิโก ซิตี้  ต่างจาก กรุุงเทพฯ  บ้าง  ก็ในเมื่อบอกว่าผู้คนไม่แปลกตา ภาษาไม่แปลกใจ แล้วมีอะไรแปลกแตกต่างบ้างเล่าต่อคำถามนี้ มีคำตอบว่า ต่างกันตรงแบ้คกราวด์เสียงที่หูได้ยินตามท้องถนน  แบ้คกราวด์เสียงในเม็กซิโก ซิตี้ เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯแล้ว จะมีลักษณะเป็นดนตรี  มากกว่ากัน  ทั้งนี้เพราะแบ้คกราวด์เสียงตามท้องถนนในกรุงเทพฯ คือ เสียงเครื่องยนต์  แต่แบ้คกราวด์เสียงในเม็กซิโก ซิตี้ คือ เสียงเพลง  เราพบเพลงและดนตรีได้ง่ายใน เม็กซิโก ซิตี้  และสำเนียงพูดภาษาสเปนก็น่าฟัง เหมือนเสียงคนร้องเพลง            


-จบ-
ขอบคุณมิตรรักนักอ่านทุกท่าน ที่สละเวลาอันมีค่าของท่าน เมตตาเคาะอ่าน


แทรกโฆษณา--มิตรเฟสบุคท่านใด ต้องการให้เขียนอะไร ก็กรุณาบอก  
ถ้าเขียนได้-ก็จะเขียนทุกเรื่องเลยครับ (?!**&!@#!!??=โห ขนาดนั้น? จริ๊ง? จิงโจ้??)
ระบุภาษามาด้วยก็ได้ ว่าจะให้เขียนภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือไทย

เพราะถือว่า งานเขียนโพสต์ในเนต คือการออกกำลังกาย  
เป็นกิจกรรมเล่นๆ เล็กๆ สนุกๆ พริกขี้หนูสวน  เป็นความเพียรของมด
ด้วยจิตประสงค์ เพื่อ.....

 “to make things a little better…..”   
-คำของ เซอร์ วิทยาธร สุราชประสาท ไนปอล
นักเขียนรางวัลโนเบล ปี 2001 ชาวเกาะตรินิแดด เชื้อสายภารตะ

For me, for u, for all of us.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น