open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตอน 1/3 Another day of my life in Bangkok, two years later.

อีกวันหนึ่งของฉันในกรุงเทพฯ - สองปีต่อมา

--แดง ใบเล่

ตอน 1/3

เมื่อสองปีก่อน ผู้เขียนเดินทางไปกรุงเทพฯ และได้เขียนบันทึกปิดไว้ที่บล็อก ชื่อบทความว่า “One day of my life in Bangkok”โดยที่เนื้อหาเขียนเป็นภาษาไทย  บัดนี้ สองปีล่วงแล้ว ก็ได้เดินทางจากกระท่อม(หรือกาบานา –cabaña – ที่จริงอ่านว่า กาบานญ่า)ริมห้วยในชนบททางภาคใต้ ขึ้นมากรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง และเขียนบันทึกฉบับนี้ ใช้ชื่อว่า“Another day of my life in Bangkok, two years later” ความเรียงสองเรื่องนี้เป็นอิสระจากกัน ไม่จำเป็นจะต้องอ่านต่อเนื่องกัน

มาคราวนี้การเดินทางภายในกรุงเทพฯของผู้เขียนสะดวกขึ้นกว่าครั้งก่อนมาก  เนื่องจากสถานีรถไฟฟ้า สถานีบางหว้า เปิดให้บริการแล้ว  จากบ้านพักผู้เขียนแถวพุทธมณฑล ไม่ต้องถ่อสังขารไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อจะขึ้นรถไฟลอยฟ้าเหมือนเก่าอีกแล้ว  เพราะสถานีรถไฟลอยฟ้าได้ขยับเข้ามาใกล้ขึ้น  เดินทางจากบ้านพักไปแค่บางหว้า ผู้เขียนก็สามารถไปไหนต่อไหนได้สุดเหนือใต้ออกตกของกรุงเทพฯ ด้วยระบบรถไฟลอยฟ้ากับรถใต้ดิน


สำหรับจิตใจของคนเดินทาง กรณีนี้ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งไป เม็กซิโก ซิตี ครั้งแรก ที่เขามีรถใต้ดินเพียงสองสาย  แต่เมื่อไปครั้งล่าสุดเขามีถึงสิบสามสาย – จะไปจุดไหนก็ได้ดังใจ  แม้พัฒนาการของการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ จะยังไม่กระโดดไปไกลถึงขั้นนั้น  แต่ก็นับว่าน่าประทับใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เขียน ซึ่งมากรุงเทพฯครั้งนี้มีธุระแต่ละที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟลอยฟ้าและสถานีรถใต้ดิน

เริ่มแรก.....ตื่นแต่เช้ามืด ออกมาขึ้นรถแอร์เบอร์ 515 ปลายทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ผ่านสถานีขนส่งสายใต้มาแล้วก็เตรียมตัวลงที่หน้าสถานีตำรวจ สน.ตลิ่งชัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทางถนนราชพฤกษ์ เดินข้ามสะพานลอยไปรอรถร้อนเบอร์ 89 ที่มาจากสวนผัก เป็นรถเมล์สายสวนผัก-เทคนิค(วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ) ซึ่งมาตามถนนบรมราชชนนี แล้วจะเลี้ยวเข้าถนนราชพฤกษ์ บ่ายหน้าไปถนนเพชรเกษม รถเมล์เบอร์นี้จะผ่านสถานีรถไฟลอยฟ้า -- สถานีบางหว้า

แต่ไหนแต่ไรมา ผู้เขียนไม่เคยสนใจเลยว่า บางหว้า อยู่ที่ไหน เคยแต่ได้ยินชื่อว่า บางหว้า ๆ ๆ จึงคะเนเอาว่า สถานีบางหว้า คงจะอยู่กลางทางบนถนนราชพฤกษ์ ไม่ได้นึกว่า ที่จริงสถานีบางหว้า คร่อมอยู่เหนือถนนเพชรเกษม  ถ้ามาจากนครปฐม บางหว้าจะอยู่เลยบางแคมาไม่ไกล ถ้าเดินทางออกไปจากท่าพระ บางหว้าก็จะอยู่ก่อนถึงบางแค  ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนทราบข้อมูลนี้เพราะไปพบมาเอง รู้สึกดีใจเหมือนได้แก้ว 

จากสถานีบางหว้า ผู้เขียนใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้า โดยใช้บัตรใบเดิมที่ซื้อไว้ตั้งแต่มากรุงเทพฯเมื่อสองปีก่อน บัตรมีอายุความห้าปี  เพื่อให้แน่ใจก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ขายตั๋วว่า จะเติมเงินห้าสิบบาทลงในบัตรได้ไหม นึกว่าเหมือนมือถือ เพราะกับมือถือ ผู้เขียนเติมเงินเพียงครั้งละยี่สิบหรือสามสิบบาทเท่านั้น แต่ว่าใช้โปรโมชันส่งข้อความ  เจ้าหน้าที่ตอบว่าห้าสิบบาทเติมไม่ได้ ต้องเติมอย่างน้อยหนึ่งร้อยบาท ซึ่งผู้เขียนก็ตอบตกลงเพราะไม่คิดว่าการเดินทางของเรา ณ บัดนั้น จะมีอ็อปชั่นอื่นที่ดีกว่านี้

สถานีรถไฟลอยฟ้าบางหว้า ปูพื้นด้วยหินแกรนิตอันเป็นวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงทนทาน เป็นที่ชื่นชอบของวิศวกรก่อสร้างหลาย ๆ คน รวมทั้งสหายของผู้เขียน วิศวกรชาวฝรั่งเศส ทำงานอยู่กับบริษัทก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ชื่อบริษัทบูอิค บริษัทนี้มีงานทั้งที่เขมรและที่เมืองไทย  ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าวัสดุก่อสร้างชนิดนี้ ถูกนำมาใช้มากตามสถานีรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน  ในอดีตนั้น เคยมีหินแกรนิตมีชื่อเสียงอยู่ก้อนหนึ่ง ถูกขนมาจากจังหวัดตาก นำมาแกะสลักเป็นธรรมจักร ตั้งอยู่ที่พุทธมณฑล
สำหรับชีวิตคน ๆ หนึ่งที่ทัศนียภาพรอบตัว มองเห็นแต่ภูเขาหินปูนในภาคใต้ของประเทศไทย  ต้องนั่งรถไฟแล่นเลียบเขาสง อันเป็นภูเขาหินปูนยาวนับสิบกิโลเมตร ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประจำไม่เว้นแต่ละเดือน—หินแกรนิตจึงเป็นของแปลก ให้ความรู้สึกประหลาด  

ความโอ่โถงทันสมัยของสถานีรถไฟลอยฟ้าบางหว้า ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่ายุคใหม่จริง ๆ ชนิดนานาชาติหรือนานาภาษา ได้มาถึงชานเมืองฝั่งธนฯของเราแล้ว  ที่ว่าฝั่งธนฯของเรา-ผู้เขียนหมายความถึงคนฝั่งธนฯรุ่นหลัง ๆ ไม่ได้คิดถึงคนฝั่งธนฯรุ่นดั้งเดิม ซึ่งพวกเขาจะอยู่กันตามริมฝั่งคลอง เช่น คลองบางหลวง คลองภาษีเจริญ คลองฯลฯ  คนฝั่งธนฯรุ่นใหม่เช่นผู้เขียนเป็นต้นเรามากับถนน-ไม่ได้มากับคลอง ถนนแรกที่นำพวกเรามาฝั่งธนฯคือถนนเพชรเกษม และต่อมาคือถนนบรมราชชนนีซึ่งเดิมชื่อถนนปิ่นเกล้า-นครไชยศรี 

ขณะกำลังเดินอยู่บนสถานี บรรยายกาศอันโอ่โถงของสถานีทำให้เคลิ้ม ๆ ไปว่า ไม่ได้เดินอยู่ที่ธนบุรี  นึกว่ากำลังเดินอยู่ที่สถานีรถไฟ ซานตา ฆุสตา ซึ่งสร้างใหม่รองรับขบวนรถด่วนพิเศษ--รถไฟความเร็วสูง Alta Velocidad Española อัลตา เวลโดซิดาด เอสปันโญลล่า ที่เมืองเซวิล ในแคว้นอัลดาลูเซีย ทางใต้ประเทศสเปนหรืออาจนึกว่าเดินอยู่ที่สถานีชานเมือง กรุงเม็กซิโก ซิตี ก็ได้ หรืออยู่ที่สถานีรถไฟลอยฟ้า กรุงนิวเดลลี อินเดีย ก็ได้ หรือที่ไหนสักแห่งในเยอรมัน ก็ได้ หรืออาจจะเป็นชานเมืองฮ่องกง ก็ได้อีก  ถ้าพิศดูสถานที่เพียงผาด ๆ ความโอ่โถงทันสมัยของสถานีขนส่งมวลชน บางหว้า อาจจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ในเมืองใหญ่ในโลกสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนบุรี

โลกสมัยเก่า - สถานีขนส่งมวลชน หมายถึงสถานีรถไฟสไตล์ยุโรปและอเมริกา  เขาสร้างกันเหมือนเทวาลัยหรือโบสถ์วิหาร  มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างความขลัง ให้แก่เทคโนลียีสมัยใหม่ในสมัยนั้น อันได้แก่เครื่องจักรไอน้ำ  แต่บางท่านเห็นว่า การที่สถานีรถไฟยุโรปรุ่นโบราณ ใหญ่โตโอ่โถง อาจเป็นด้วยเหตุที่ว่ารถจักรไอน้ำมีเขม่าควันคลุ้งและมีทั้งไอน้ำที่พวยพุ่งออกมา หลังคาก็ต้องสูงใหญ่โอ่โถง มิฉะนั้น ทั้งเขม่าควันถ่านหินอันเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำบนหัวรถจักร และไอน้ำจะคลุ้งไปหมดทั้งสถานี จนผู้โดยสารเดินหาขบวนรถไม่เจอ ก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นเป็นเรื่องของอดีตศตวรรษ

แต่ในศตวรรษนี้ รถไฟลอยฟ้าในเมืองชิคาโก ที่เรียกกันว่า “ดิ แอล”ยังคงสภาพบุร่ำบุราณเหมือนในศตวรรษเก่า  ทั้ง ๆ ที่ตู้โดยสารอาจสร้างขึ้นมาใหม่  แต่ก็ยังเป็นตู้สั้น ๆเพราะถูกจำกัดด้วยสภาพของรางที่ต้องหักมุมเลี้ยวอยู่ตามซอกตึกสูงกลางเมืองชิคาโก--เป็นมุมแคบ ทำตู้ยาวมากไม่ได้ ต้องอาศัยต่อตู้สั้น ๆ เข้าด้วยกันหลาย ๆ ตู้  ดูไกล ๆ เหมือนรถไฟเด็กเล่น  รถลอยฟ้าในชิคาโกที่ผู้เขียนเคยใช้บริการสมัยเรียนหนังสือที่นั่น และระยะหลัง ๆ เมื่อแวะไปเที่ยว ทุกอย่างก็ยังดูเก่า ๆ โกโรโกโสเหมือนเดิม  ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ อาจเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่

อีกประการหนึ่ง สหรัฐฯเป็นประเทศที่ไม่เน้นการขนส่งมวลชน สภาพการขนส่งมวลชนของสหรัฐฯ จึงล้าหลังยุโรปประมาณร้อยปีเห็นจะได้  สหรัฐฯเพิ่งจะมาตื่นตัวเรื่องนี้ ในระยะหลัง ๆ นี้เอง เริ่มด้วยการก่อสร้างระบบรถไฟใต้ดินในกรุงวอชิงตัน เมื่อประมาณสักสามสิบกว่าปีที่แล้ว  ส่วนระบบรถใต้ดินในชิคาโกยังคงไดโนเสาร์มากแม้กระทั่งในวันนี้  ล้าหลังรถใต้ดินในกรุงเทพฯเยอะเลย  สถานีมืดสลัว มีแต่พื้นซีเมนต์เก่า ๆ จะหาหินแกรนิตขัดมันสักแผ่นก็ไม่มี  แล้วเมื่อไม่กี่วันมานี้ ปรากฏว่าคนขับรถซึ่งเป็นผู้หญิง เธอนั่งหลับใน ขับรถซึ่งสุดปลายทางที่สนามบินนานาชาติ โอแฮร์ อินเตอร์แนชันแนล แอร์ปอร์ต ของนครชิคาโก เสยรถทั้งขบวนเข้าในสถานีที่สนามบิน  ผู้เขียนไม่ได้ฟังข่าวละเอียด แต่คงจะมีคนหัวร้างข้างแตกกันมั่งแหละ

ที่นิวยอร์ค สถานีแกรนด์ เซ็นทรัล สเตชัน เป็นศูนย์รวมรถไฟชานเมือง  ห้องโถงอันมีหลังคาสูงโอ่โถงของสถานีนั้น เคยเป็นฉากหนังอเมริกันหลายเรื่อง  ยังคงสภาพดั้งเดิม เป็นเทวาลัยแห่งการขนส่งมวลชนทางรถไฟ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ผู้เขียนได้ไปใช้บริการนั่งรถไฟชานเมืองออกไปเที่ยวในรัฐคอนเนคติคัต ด้านที่อยู่ติดกับนิวยอร์ค  พบว่าห้องโถงสถานียูเนียน สเตชัน ยังดูโบราณเหมือนเดิม เพียงแต่มี “ศูนย์อาหาร” เล็ก ๆ ขายอาหารกินไม่ถูกปากสักอย่าง เพิ่มเข้ามา  สู้ศูนย์อาหารที่หัวลำโพงไม่ได้  ส่วนสถานีรถไฟเพ็นสเตชันในนิวยอร์คเป็นสถานีสำหรับรถไฟทางไกล ครั้งล่าสุดที่ผู้เขียนไปเยือน สถานีได้รับการปรับปรุงใหม่ น่าตื่นเต้นกว่าเดิม  ข้อมูลตารางเวลารถแอมแทรค(การรถไฟแห่งอเมริกา) วางไว้ให้หยิบฟรี บรรยากาศในห้องโถงชวนให้เดินทาง ไม่เครียด ไม่อึมครึม

มากรุงเทพฯเที่ยวนี้ ผู้เขียนมีธุระที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาฯ ซึ่งจะต้องไปต่อรถใต้ดินที่ สถานีศาลาแดง คือลงจากรถไฟลอยฟ้าที่สถานีศาลาแดง  แล้วเดินไปตามทางเดินลอยฟ้า เชื่อมต่อไปมุดลงสถานีรถไฟใต้ดินที่อยู่บริเวณไม่ไกลกัน –แต่อยู่ใต้ดิน และมีชื่อสถานีของตัวเองเรียกชื่อว่า สถานีสีลม  แรก ๆ ฟังแล้วงงชิบเป๋งเลย สงสัยว่าทำไมเขาไม่ตั้งชื่อเดียวกันไปเลย

ผู้โดยสารรถไฟลอยฟ้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเมื่อสองปีก่อน คราวก่อน-ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คนจำนวนมากในรถไฟลอยฟ้า มีหูฟังเสียบหู มากรุงเทพฯเที่ยวนี้พบว่าผู้โดยสารแม้จะยังมีหูฟังเสียบหูอยู่ก็ตาม แต่ดูจะน้อยกว่าเมื่อสองปีก่อน เพราะครั้งนี้ คนจำนวนมากง่วนอยู่กับการนั่งงมมองหน้าจอเล็กที่ถืออยู่กับมือ  พลางใช้นิ้วขีดไปมาบนหน้าจอนั้น  ซึ่งก็สุดที่จะเดาว่าเขานั่งดูอะไรกัน  แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีความสุขกับการขีดนิ้วไปบนจอ  พอพวกเขาแต่ละคนขึ้นรถมาและหาที่นั่งได้ เขาก็จะเอาจอขึ้นมาถือ พลางนั่งใช้นิ้วขีดไปมากับหน้าจอ ไม่สนใจใยดีสิ่งแวดล้อม  แต่ละคนก็ดูจะมีความพอใจกับหน้าจอของตน เป็นโลกส่วนตัว จอใครจอมัน

ในตู้รถไฟท้องถิ่นที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนโดยสารไปธุระที่อำเภอใกล้เคียงอยู่เป็นประจำนั้น ก็มีคนนั่งขีดหน้าจอกันประปราย  เพราะฉะนั้น ภาพคนนั่งงมอยู่กับหน้าจอจึงไม่ใช่ภาพใหม่ที่ไม่เคยเห็น  ที่แปลกก็คือบนรถไฟลอยฟ้า คนพวกนี้มีเยอะ ได้เห็นคนนั่งหรือยืนงมอยู่กับหน้าจอเล็กเท่าฝ่ามือ อยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก  คล้าย ๆ กับว่าเขาจะไปงานเดียวกัน หรือว่าอย่างไร

ภายในตู้โดยสารรถไฟลอยฟ้า มีโฆษณาบ้าคลั่ง  ที่จริงเขาโฆษณาบ้าคลั่งกันทั่วกรุงเทพฯ  จอโฆษณาเล็ก ๆ ที่ตรึงติดอยู่ใกล้เพดานรถ พยายามจะขายทั้งสินค้าและบริการนานาชนิด ตั้งแต่อาหารไปจนถึงบริการโทรศัพท์มือถือ  ที่กรุงปารีส เมื่อไม่กี่ปีมานี้เขาถามผู้โดยสารรถใต้ดินว่า จะให้มีโฆษณาสินค้าในรถจะเอาไหม ผู้โดยสารชาวปารีสส่วนใหญ่ลงคะแนนว่า “ไม่เอา”

ผู้เขียนมีความรู้สึกตามที่ตาเห็นว่า จอโฆษณาในตู้รถไฟลอยฟ้าไม่ได้เสนอข่าวสารอะไรที่จะมีสาระเป็นประโยชน์แก่ผู้คนสักกี่มากน้อย  ตลอดเวลาที่ได้โดยสารรถไฟฟ้าระหว่างเดินทางอยู่ในกรุงเทพฯเที่ยวนี้ เห็นโฆษณาที่น่าดูและมีรสนิยมถูกใจ--อยู่ชิ้นเดียว คือ โฆษณาของ ปิแอร์ กาแด็ง เห็นอยู่บนรถไฟลอยฟ้าที่แล่นไปแบริ่ง นอกนั้นมีความรู้สึกว่า ชิ้นงานโฆษณาทั้งหลายล้วนเป็นสวะขยะทั้งนั้นขออภัยชาวกรุงเทพฯทุกท่านด้วยครับ มันรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆไม่ได้เสแสร้ง  เรื่องนี้พิสูจน์กันได้ ใครไม่เชื่อก็ลองขึ้นรถ ชมโฆษณาชิ้นนั้นของเขาดูแล้วกัน

แต่ก็มีอะไรที่น่าดูน่าชม อยู่อย่างหนึ่งบนรถไฟลอยฟ้า คือ การแต่งกายของสตรีวัยสาวทั้งหลาย  ผู้เขียนพบว่า สาว ๆ ชาวกรุงเธอนุ่งกางเกงในขึ้นรถกันมาก  เป็นกางเกงในชนิดมีขาเหลื่อมลงมาปิดต้นขานิดหนึ่ง  โชว์ท่อนขาทั้งท่อนเปล่าเปลือย  ทำให้นึกถึงเพลง ๆ หนึ่งที่ได้ยินบ่อย ๆ ที่ต่างจังหวัด เขาร้องว่า “ขาขาว ๆ ก็พอไหว  แต่บางคนขาลาย ไม่เอาไหนเลย”   ขาลายไม่ลายเปล่า บางคนขาลายตันอ้วนเหมือนขาหมูฉีดสารเร่งเนื้อแดง  เธอโชว์ท่อนไขมันต้นขาอ้วน ๆ เหมือนท่อนซุงไขมันกระเพื่อมแนบสนิทชิดกัน  ท่อนขาตอนบนของเธอที่อวบอูมมันหมูและน้ำมันปาล์มจากของทอดนานาชนิด แนบชิดติดกันจนไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีช่องว่าง พอที่แสงจะส่องลอดผ่านได้เลย –ขาคนอะไรช่างใจดำ  แบบนี้ต้องหั่นไปทอดdeep fry 

ที่สถานีสยามสแควร์ ผู้เขียนพบสาวชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง เข้าใจว่าเป็นชาวฮ่องกง เธอนุ่งกางเกงในชนิดที่ว่านั่น เป็นกางเกงในสตรีที่สวยที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยได้พบเห็น แต่ท่านผู้อ่านบางท่านผู้แก่ประสบการณ์ อาจจะเคยพบเห็นสวยกว่าที่ผู้เขียนผู้มีประสบการณ์น้อยก็เป็นได้  กางเกงในของเธอผู้นั้นมีพื้นสีนวลจางระบายด้วยลายดอกไม้คล้ายดอกไม้ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน  สีดอกไม้แต่ละดอกกลมกลืนกับสีพื้นกางเกงในของเธอ  แต่ว่ากลีบและเกสรของดอกไม้แต่ละดอก จะมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย-นิดเดียว-ไม่เว่อ เน้นสีอย่างกับไม่ได้เจตนา สร้างสีสันเด่นขึ้นพองาม  โดยที่มีดอกไม้ดอกโตกว่าเพื่อน แปะอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์บนกางเกงในพอดีเป้ะเลย  โต ๆ กันแล้ว ท่านผู้อ่านคงไม่มาบังคับให้ผู้เขียนต้องเขียนละเอียดนะว่า มันแปะอยู่ตรงไหน?  มันก็แปะอยู่ในตำแหน่งที่ท่านผู้อ่านผู้เจริญ กำลังนึกเดาอยู่ในใจนั่นแหละครับ–เด้ะเลย  

นอกจากจะนุ่งกางเกงในขึ้นรถไฟฟ้ากันมาก หลากหลายสีสัน โดยที่สาวอ้วนจะนุ่งกางเกงในสีดำกันมาก  นอกจากนั้นสาวชาวกรุงยังนุ่งกระโปรงสั้น ๆ ยาวกว่าแฟชั่นกางเกงในเล็กน้อย– สักสองเซ็นติเมตร หรือไม่ถึง  กระโปรงสไตล์นี้เป็นเหตุให้ผู้เขียนได้มีบุญตา กล่าวคือ ทำให้ได้ประสบพบเห็น ด้วยสายตาธรรมดา ประเภทที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสายตาชนิด “ล้วงลูก” หรือ “เจาะลึก” 
ที่ระดับถนน ทางขึ้นสถานีรถไฟลอยฟ้าแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งขายของสิ่งละอันพันละน้อย ใกล้บันไดทางขึ้นสถานี สาวหนึ่งนั่งอยู่บนยกพื้น สูงระดับสายตาคนเดิน  เวลานั้นผู้เขียนกำลังจะเดินขึ้นหรือว่าเพิ่งจะเดินลงมาจากบนสถานีก็จำไม่ได้แล้ว มันเบลออ่ะ  แต่ว่า--โดยไม่ได้เจตนา สายตากราดกวาดไปยังยกพื้นที่สาวคนนั้นนั่งอยู่ เธอนุ่งกระโปรงสั้นสีน้ำตาลอ่อน ใส่เสื้อลายเรียบร้อยพื้นสีขาวนวล เข้ากันได้กับสีกระโปรง 

เธอไม่อ้วน ไม่อวบด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่คนผอมก็แล้วกัน คนหุ่นพอดี ๆ มีเนื้อมีหนัง  เรียวขาเปล่าเปลือยของเธอที่ห้อยลงมาจากยกพื้นที่เธอนั่งอยู่นั้น จึงไม่ใช่ขาหมู  แต่เป็นขางาม ๆ คู่หนึ่งของคน  เธอกำลังเพลินเพลินกับการสนทนากับเพื่อนเธอนั่งกระดิกเท้าเล็กน้อย  เนื่องจากเธอคนสวยนุ่งกระโปรงแฟชั่นสั้น ๆ  ผู้เขียนจึงสามารถมองเรียวขา จนเลยหัวเข่าทั้งคู่ ขึ้นไปเห็นต้นขาได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือโดยไม่ต้องตั้งใจเพ่งพิศแต่ประการใด  มันเห็นเองอ่ะ

ต้นขาของเธอปราศจากไขมันส่วนเกิน –surplus fat จึงกลมกลึงและดูดีใคร ๆ ก็สามารถแลเห็นความดูดีนั้นได้ เพราะเธอไม่ได้นั่งขาชิดกัน แต่นั่งขาแยกกัน  โอ อะไรจะดูดีกว่านี้คงจะมีอยู่หรอก แต่ว่าที่เห็นอยู่นี้ก็ไม่เลวแล้ว

ที่สุดแห่งที่สุดก็คือ ตรงที่สุดของคู่ขาคู่นั้น  ผู้เขียน– ผู้ซึ่งบริสุทธิ์ใจ อินโนเซ้นต์และไม่ได้เจตนา –เหลือบตาแลเข้าไปเห็นกางกางในตัวจริง  ที่ไม่ใช่แฟชั่นกางเกงในอย่างที่ได้เห็นบนรถไฟฟ้า และพบว่า โอ้โฮเบ้อเร่อเลย เธอนุ่งกางเกงในตัวจริงเสียงจริงตัวเบ้อเร่อเลย  สีขาวผุดผ่อง.....เบ้อเร่อเลย ตัวเบ้อเร่อเลย แต่ก็ไม่ได้เห็นอะไรมากไปกว่านั้น  นับว่าเป็นกางเกงในตัวแรกและตัวเดียว - ที่ได้พบเห็นในทางสาธารณะ ตลอดการเดินทางมากรุงเทพฯครั้งนี้

เรื่องจริงเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถึงแม้ว่าสตรีสาวชาวกรุงเทพฯจะนุ่งกระโปรงแค่คืบ  แต่พวกเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ในเวลาที่เธอจะลุกจะนั่ง  พวกเธอสมควรได้รับรางวัลกุลสตรียอดเยี่ยมระดับนานาชาติ  เพราะผู้เขียนมีโอกาสได้เห็นกางเกงในของพวกเธอ เพียงตัวเดียวเอง

แต่สตรีที่สมควรได้รับรางวัลชนิด อุแม่เจ้าเห็นอยู่คนหนึ่ง--เธอแต่งตัวมิดชิดที่สุด นุ่งกระโปรงยาวธรรมดา ไม่ได้นุ่งกระโปรงแค่คืบสไตล์กางเกงในเหมือนคนอื่น ๆ  เธออยู่กับที่นั่งตรงข้ามผู้เขียน  บนรถไฟลอยฟ้า ประมาณระหว่างสถานีสุรศักดิ์-ศาลาแดง-ราชดำริ ทันใดนั้น เธอควักชุดเครื่องแต่งหน้าออกจากกระเป๋าสะพายใบโต  ไม่ใช่ตลับแป้งฟัฟแบบที่สตรีทั่วไปพกกัน  แต่เป็นชุดอุปกรณ์  เธอไม่ได้เพียงฟัฟใบหน้า ทว่าควักอุปกรณ์ทำขนตาให้งอน ออกมาดัดแผงขนตา ซึ่งคนตาถั่วก็ดูรู้ว่าเป็นของปลอมทั้งแผง  เธอควักพู่กันสำหรับวาดเน้นขอบริมฝีปาก ออกมาแต่งริมฝีปาก ฯลฯ  กิริยาแต่งหน้าทั้งหมดนั้น เธอทำราวกับว่ากำลังอยู่ในห้องแต่งตัว หรือ budoir ส่วนตัวที่บ้าน  ทำราวกับว่าตู้โดยสารรถไฟลอยฟ้าทั้งตู้คือ budoir ส่วนตัวของเธอ  อ้าว.....แล้วเพื่อนผู้โดยสารที่นั่งกันหน้าสลอนและที่ยืนกันอยู่ออกเต็ม คือ ตัวอะไร?

สังคมฝรั่งเศสโบราณ ท่านผู้รู้เล่ากันว่าพวกไฮโซมีความรู้สึกตัดขาดจากพวกโลโซโดยเด็ดขาด  แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกไฮโซเห็นว่าพวกโลโซเป็นเดรัจฉาน – มิใช่เช่นนั้น  เพราะว่าตามคติความเชื่อของเขายุคกระโน้น ถือว่าคนทุกคนพระเจ้าก็สร้างมาด้วยกัน  เพียงแต่เขาเห็นว่าเรา(โลโซ)เป็นคน ๆ ละประเภทกันโดยเด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น ในห้องแต่งตัว อาจมีคนรับใช้ผู้ชายปัดกวาดเช็ดถูอยู่ก็ได้  โดยที่ท่านหญิงเจ้าของปราสาทอาจแก้ผ้าต่อหน้าคนรับใช้ผู้ชายได้หน้าตาเฉย เพราะไม่คิดว่าเขาจะเป็นมนุษย์ประเภทเดียวกับตน เหมือนลิงคนละพันธุ์  ถือว่าต่างคนต่างปราศจากความรู้สึกรู้เสียวหรือสยิวต่อกันและกัน  เหมือนกับที่เราแก้ผ้าเดินโทงอยู่ในห้องต่อหน้าสุนัขของเรา – ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เป็นประมาณนั้น

สตรีคนที่นั่งแต่งหน้าด้วยอุปกรณ์ครบเครื่องอยู่บนรถบีทีเอส เธอนึกว่าเพื่อนผู้โดยสารทั้งตู้นั้น เป็นต้นห้องของเธอรึเปล่า?ทำไมเธอถึงสำคัญตนผิด และมีความคิดแบบฝรั่งเศสโบราณ ได้ขนาดนั้น?หรือว่าเธอไม่ได้คิดอย่างนั้น-แต่คิดอย่างอื่น อยากรู้จัง-ว่าเธอคิดอย่างไร

การอยากรู้ว่าใครคิดอย่างไร เป็นธรรมดาของนักเขียน ไม่ใช่เพราะเราสอดเสือก สู่รู้ แต่เพราะว่า นักภาษาศาสตร์ชื่อดังท่านหนึ่ง ที่ MIT-Massachusette Institute of Technology บอกว่า(และผมเชื่อ)ภาษามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการ “สื่อ” ซึ่งกันและกัน แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความคิด หรือถ่ายทอดสิ่งที่มนุษย์คิด  เพราะฉะนั้น ภาษาจึงทำหน้าที่เพื่อการ “สื่อ” ที่เลว สู้การสื่อด้วยการยักคิ้วหลิ่วตา หรือการแสดงทางกายอย่างอื่นไม่ได้  เพราะฉะนั้น คนที่จะใช้ภาษาเพื่อการ “สื่อ” ให้ได้ดีพอสมควาร จึงต้องฝึก ต้องเรียน ต้องเพียร และต้องพยายาม  เพราะว่าโดยธรรมชาติ ภาษาไม่ได้กำเนิดมาเพื่อทำหน้าที่ “สื่อ” ดังกล่าวแล้ว

ผู้เขียนลองกวาดสายตามองไปรอบด้าน อยากรู้ว่าจะมีใครอีกไหมที่ลอบมองเธอ อย่างที่ผู้เขียนกำลังมอง  ห่างออกไปสักวาเห็นจะได้ สตรีสาวผู้หนึ่ง ในวัยใกล้เคียงกับเธอผู้เป็นเจ้าของปราสาทตู้รถไฟลอยฟ้า สตรีผู้นั้นเป็นผู้โดยสารยืน  เธอยืนมองคนสวยที่กำลังนั่งแต่งตัว  ด้วยใบหน้าบอกความรู้สึก “ไม่ชอบ”(dislike)และ ไม่เห็นด้วย” (disapproved)

ผู้เขียนสลักสายตาอยู่กับใบหน้าของเธอผู้กำลังยืนมอง พลางภาวนาว่า ขอให้หันมาสบตากันสักครั้งหนึ่งเถิด  เทพผู้อภิบาลรถไฟลอยฟ้าดลใจ ทำให้เธอผู้ยืนมอง ละสายตาเบือนมาทางผู้เขียน เราสบตากันครั้งหนึ่ง—และอมยิ้มให้กัน เรารู้กัน  ผู้เขียนส่ายหน้าเล็กน้อยส่อว่าไม่เห็นด้วยเหมือนกันนะ ทำให้อมยิ้มของเธอกลายเป็นอมยิ้มที่ระบายทั่วทั้งใบหน้า ยืนยันว่าเธอก็ไม่เห็นด้วย  

ผู้เขียนแน่ใจว่า เราจะไม่พบเห็นภาพเช่นนั้นบนรถขนส่งมวลชนในปารีส หรือเม็กซิโก ซิตี หรือวอชิงตัน ดีซี หรือชิคาโก หรือที่แมดดริด หรือในฮ่องกง

ใหน ๆ ก็ไหน ๆ ไหน ๆ ก็มาแล้ว และไม่ได้รีบร้อนไปไหน  ผู้เขียนลงจากรถไฟลอยฟ้าที่สถานีชุมทางสยามสแควร์ เพื่อลงไปเดินเที่ยวสยามสแควร์นึกอยากกินอาหารฝรั่งรสชาติแบบกวางตุ้ง ที่ภัตตาคารไฮไลท์อันเก่าแก่ในสยามสแควร์  พบว่า ร้านหายไปแล้ว  มีป้ายเขียนบอกว่าย้ายขึ้นไปอยู่บนชั้นสามของตึกนั้น  ครั้นผู้เขียนเดินขึ้นไปตามที่ป้ายบอก ปรากฏว่ายังไม่มีคนมาทำงาน ยังเช้าเกินไป มีแต่คนทำความสะอาด  ผู้เขียนถือวิสาสะเดินเข้าไปดูเมนูอาหาร ที่วางอยู่กับโต๊ะตัวหนึ่ง  ยังดีที่ได้เห็นเมนูของดั้งเดิมซึ่งเมื่อสองปีก่อนยังได้กิน  ไม่ได้ก็ดีเหมือนกันที่ไม่ต้องเสียเงินและไม่ต้องเติมไขมันเข้ามาในร่างกาย

จึงเดินแก้เกี้ยว แก้ความที่ผิดหวัง ด้วยการเร่เข้าไปในล็อบบี โรงแรมโนโวเทล สั่งกาแฟร้อนมากินแก้วหนึ่ง  ชื่นใจกับรสชาติที่เหมือน หรือคล้ายมาก กับกาแฟที่กินตามริมถนนในปารีสแตกต่างจากสารพัดรสกาแฟสด ที่พบตามปั้มน้ำมันทางภาคใต้  ขณะนั้นเวลาประมาณสิบโมงเช้า.....บนยกพื้นสำหรับนักดนตรีในล็อบบีโรงแรมยังร้างว่างเปล่า  เมื่อก่อนเคยมาฟังคุณสายสุนีย์(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นภาดา) นักร้องดังผู้หนึ่ง ร้องเพลง  ครั้งหนึ่ง-ตามมารยาทของนักร้องที่จะทักทายแฟน ๆ พอหอมปากหอมคอ เธอร้องถามผู้เขียน ลงมาจากบนยกพื้นเวทีว่า “.....เป็นนักวิจัย หรือคะ”– ดูเด่ะ บ้านักร้องขนาดไหน ตั้งนานแล้ว ยังจำได้เลย

และหลังจากครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่กล้าไปนั่งเจ๋ออยู่แถวหน้า ๆ อีก...

พี่ชายผู้เขียนมันบ้านักร้องกว่าผู้เขียน แต่นั่นแหละเราฟังเพลงคนละรสนิยมกัน  ยกเว้นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเราต่างก็ฟังกันมาจากบ้านสมัยเด็ก ๆ ที่รสนิยมเหลื่อมซ้ำกันอยู่ เพลงลูกทุ่งที่มันชอบ ผู้เขียนฟังได้ และเพลงที่ผู้เขียนชอบ มันก็ชอบ  น้องสาวก็ชอบเพลงลูกทุ่งหลายเพลง เช่น เพลงมนตร์รักลูกทุ่ง มันก็ชอบและร้องได้ ทั้ง ๆ ที่ร้องยาก  ต่อมากรมทางฯตัดถนนผ่านชนบทใกล้บ้าน น้องสาวมันก็เลยมีผัวไปตั้งแต่อายุไม่ถึงยี่สิบดี  วิศวกรสร้างทางซึ่งเป็นคนเมืองเพชร มาขอไป  ตอนที่เขาส่งเถ้าแก่มาขอ มันหนีขึ้นไปอยู่บนปลายหว้า(ปลายกิ่งต้นหว้า)  ต่อมาผัวมันก็เอาไปส่งเรียน จนภายหลังก็ได้ทำงานมีหน้ามีตา.....อยู่ไม่ไกลจากชายทะเลแห่งหนึ่งเราทุกคน – เรารักที่จะมีชีวิตอยู่ไม่ไกลจากชายทะเลเกินไป  ถ้าอยู่ที่ปารีส เราก็จะคิดถึงแต่ บูโลนญ์-ซูร์-แมร์

โนโวเทลนี่ เขาหากินกับตลาดท่องเที่ยวในเมืองไทยได้เจริญรุ่งเรือง  มากรุงเทพฯเที่ยวนี้ก็ได้เห็นโนโวเทลแห่งใหม่ที่ปากซอยร่วมฤดี ด้านถนนเพลินจิต  บริษัทนี้ “เป็นแปลก” คือเขามีประธานกรรมการคู่กันสองคน คือ เขามี “co-chairman”  หรือตำแหน่ง “ประธานร่วม”  อันเป็นตำแหน่งงานที่ผู้เขียนอยากได้ แต่เนื่องจากธุรกิจในเมืองไทยเขามีแต่ตำแหน่ง “ท่านประธานฯ” เพียงคนเดียว เขาไม่มีตำแหน่ง ประธานร่วม หรือ co-chairmanก็เลยยังไม่รู้ที่จะไปสมัครงานที่ไหน  ทั้ง ๆ ที่วิสัยทัศน์สำหรับตำแหน่ง co-chaiman ผู้เขียนก็ได้เตรียมไว้พร้อมตั้งนานแล้ว—เวรกรรมแท้ ๆ

วันหลังจากวันนั้น--เมื่อมีโอกาสไปนั่งกินกาแฟ ที่ลอบบีโนโวเทล-ปากซอยร่วมฤดี  ไปถึงที่นั่นเวลายังเช้าอยู่มาก มีธุระแถวนั้นในช่วงเช้า เพราะว่ากลัวรถติดก็เลยออกเดินทางจากที่พักแถวพุทธมณฑลแต่เช้ามืด  มานั่งรอเวลาอยู่ที่นั่น  ผู้เขียนนั่งอยู่ตั้งนาน กะจะกินกาแฟสักแก้ว  พนักงานที่เคาน์เตอร์เครื่องดื่มยังทำงานเตรียมเคาน์เตอร์ง่วนอยู่  ผู้เขียนจึงถือโอกาสนั่งทำสมาธิ นะโม-พองหนอ นะโม-ยุบหนอ สายตากวาดไปทั่วบริเวณให้มีสติรับรู้สิ่งแวดล้อม ตามสไตล์ของ Eckhart Tolle – สนใจโปรดเคาะชมเขาที่ยูทูบ มีเพียบครับ แล้วพิจารณาออกไปนอกโรงแรมด้านถนนเพลินจิต บริเวณนั้นเขาทำเป็นที่ขายอาหารและเครื่องดื่มชนิดกลางแจ้งชนิดมีหลังคาคลุม แม้จะอยู่นอกโรงแรมแต่ก็ต่อเนื่องกับมุมขายเครื่องดื่มของลอบบี ดุจจะเป็นเทอเรสของโรงแรมที่ยื่นออกไปจากล็อบบีฉะนั้น ผู้เขียนเห็นคนเอเชีย เดาว่าจะเป็นญี่ปุ่นนั่งอยู่คนสองคน เขาสูบบุหรี่กันทั้งสองคน

เวลาผ่านไปนาน ผู้เขียนก็ยังไม่มีโอกาสได้กินกาแฟตามที่ตั้งใจ  บัดนั้น หัวหน้างานซึ่งเป็นคนหนุ่มฝรั่ง รูปพรรณสันฐานเดาว่าเป็นฝรั่งเศส อายุประมาณยี่สิบเศษ เข้ามาเดินตรวจความเรียบร้อยบริเวณลอบบีที่ผู้เขียนนั่งอยู่  เมื่อเข้ามาใกล้—ผู้เขียนก็ยิงคำทักทาย แก้เซ็ง ไปก่อนเลยว่า

          “Bonjour.”

ซึ่งหัวหน้างานผู้นั้นชะงักเล็กน้อย ก่อนจะตอบกลับทันทีว่า

          “Bonjour.”

ถึงแม้ลายลักษณ์อักษรจะเหมือนกันเด้ะ  แต่คนฝรั่งเศสเขามีสำเนียงการพูด ที่ทำให้ “บ็องชู” คำแรก กับ “บ็องชู” คำหลัง มีดนตรีคนละคีย์กัน ซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ แม้ภาษาไทยจะมีเสียงวรรณยุกต์ตั้งห้าเสียงก็ตาม (แต่ภาษาใต้ มีเสียงวรรณยุกต์เจ็ดหรือแปดเสียง)

ภาษาจีนกลาง-พูดทีละคำ ภาษาอังกฤษ-พูดทีละวลี ภาษาฝรั่งเศส-พูดทีละประโยค ส่วนภาษาสเปน-เขาจะพูดกันทีละพารากราฟ  ผู้เขียนได้ตอบกลับทันควันหนึ่งประโยค ว่า

          “แต่ว่า ยังไม่เห็นมีใครมาถามผมเลยว่า ผมจะต้องการดื่มอะไร”

ไม่ต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสกันหรอก แค่รู้ภาษาไทยก็ทราบแล้วว่านี่เป็นการฟ้อง และร้องเรียน  ได้ผล--แต่ก่อนที่จะเล็งเห็นผล ต้องเข้าใจจิตวิทยาของคนฝรั่งเศสเสียก่อนนะว่า  เขาไม่ชอบให้ใครมาสั่ง หรือใช้ให้เขาทำงาน  เขาจึงตอบกลับทันทีว่า

          “แล้วผมจะบอกให้เขามาดูแลคุณ”

เท่ากับกำลังพูดให้รู้ว่า เขาไม่มีหน้าที่รับคำสั่งนะ  ฟ้องหรือร้องเรียนละก็ได้  แต่จะให้เขาถามผมว่าผมต้องการดื่มอะไร เขาจะไม่มีวันถามเด็ดขาด  เว้นจังหวะสองสามวิ(นาที)เขาส่งประโยคประนีประนอม ประเภทพยายามซ่อมแซมบทสนทนา หรือ repare สถานการณ์ ว่า

          “คุณพูดภาษาฝรั่งเศสเก่งมาก”

ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่ยอมให้มีการ repare สถานการณ์ง่าย ๆ ขนาดนั้น  ไม่ยอมให้ตีกิน ยังอยากมีเรื่องอยู่ ซึ่งก็แสดงด้วยประโยคยิงกลับ ที่ว่า

          “คุณก็เช่นเดียวกัน”

Wow, งง! เป็นงง การแสดงออกบนใบหน้า ที่เป็น non-verbal expression ตามที่ได้ศึกษามาจากรายการเรื่องนี้ในยูทูบ เข้าตำราเป้ะเลย  คือ facial expression บ่งว่า “เป็นงง”  คนต่างชาติมาชมคนฝรั่งเศสว่า พูดภาษาฝรั่งเศสเก่ง!ทำให้คนฝรั่งเศสเป็นงง-เพราะผิดตำรา  เขาจึงรัวคำถามแบบยิงปืนกล  ถามผมว่า เคยอยู่ฝรั่งเศสหรือ ไปเรียนหรือไปทำงาน หรืออย่างไร  ซึ่งผมก็ตอบว่าไปเรียน ที่บอร์โดส์  ที่จริงเคยทำงานแถวนั้นด้วย แต่เราไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลส่วนตัวครบถ้วนแก่ใคร

คนฝรั่งเศสเขามีความแตกต่างกันตามภูมิภาค--ซึ่งเขาภูมิใจ  ผู้เขียนถามว่า เขามาจากภูมิภาคไหนของฝรั่งเศส เขาตอบว่า มาจากนอร์มังดี  ซึ่งผู้เขียนก็รับทราบแสดงความนับถือชื่นชม  นอร์มังดีมีมากกว่าเนยกามังแบร์ ซึ่งหลายคนชอบกิน-รวมทั้งผู้เขียนด้วย และหาซื้อง่ายตามห้างในเมืองไทย—รวมทั้งที่สุราษฎร์ธานี  นอร์มังดีมีความหมายเยอะกว่าการเป็นที่ยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตรระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้วนี่เอง –ไม่นานเลย  และเป็นมากกว่าแคว้นของ พระเจ้ากิโยม เลอ ก็อง-เค-ร็อง หรือที่พวกอังกฤษรู้จักในนามของ พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต – วิลเลียม เดอะ ค็องเคอเรอ  ผู้ยกทัพไปยึดครองอังกฤษเมื่อปี 1066 – ศักราชที่เด็กนักเรียนอังกฤษทุกคนจำขึ้นใจ  และได้ปกครองอังกฤษนับร้อยปี ทิ้งมรดกคำฝรั่งเศสประมาณสองหมื่นคำ ไว้ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน ในฐานะเป็นภาษาของผู้ปกครอง เช่น ศัพท์เกี่ยวกับกฎหมาย การปกครอง การครัว เป็นต้น

เช่น พวกไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายซึ่งเป็นคนอังกฤษ จะเลี้ยง “วัว” ภาษาอังกฤษเรียกว่า cow  แต่พอกลายเป็นเนื้อวัวพร้อมทำอาหาร เข้ามาอยู่ในครัวของผู้ปกครอง ก็จะกลายเป็น beef ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส หรือพวกไพร่ทั้งหลายจะเลี้ยงหมู ภาษาอังกฤษเรียกว่า pig แต่พอกลายเป็นเนื้อหมูอยู่ในครัว ก็จะกลายเป็น pork ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น

จะคล้าย ๆ กับเมื่อผู้เขียนแรกมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯสมัยยังเด็ก หรือเปล่าก็ไม่ทราบ  ที่บ้านยังเลี้ยงควายไว้ทำนากันอยู่ นาน ๆ เมื่อมีงานหรือหน้าเทศกาลจึงจะมีการล้มว้วล้มควายมาทำกิน  ดังนั้น ที่กรุงเทพฯเมื่อผู้เขียนกลับจากโรงเรียน ผู้ปกครองที่กรุงเทพฯถามว่า ไปโรงเรียนวันนี้กินอะไร  ผู้เขียนก็ตอบว่า “แกงควาย”  ซึ่งก็เป็นที่ตลกขบขับสำหรับพวกคนกรุงเทพฯ เขาช่วยแก้ไขให้ว่า ให้พูดว่า “แกงเนื้อ” ไม่ใช่ “แกงควาย”  

ทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกว่า คนกรุงเทพฯนี่เป็นคนแปลก ๆ พูดจาไม่ค่อยจะมีเหตุผลและไม่อยู่กับร่องกับรอย เช่น เอาควายมาแกงแท้ ๆ ไพล่ไปพูดว่า “แกงเนื้อ”  ทำไมไม่บอกมาล่ะว่าแกงเนื้ออะไร แกงควาย ก็พูดมาตรง ๆ เด่ะการพูดจาไม่มีเหตุผลของคนกรุงเทพฯยังมีตัวอย่างอีกเยอะ เช่น ที่บ้านพูดว่า แกงขี้ปลา -คนกรุงเทพฯบอก แกงไตปลา  ที่บ้านพูดว่า ต้มกล้วย–คนกรุงเทพฯบอก ข้าวต้มมัด  ที่บ้านพูดว่า หนมค่อม–คนกรุงเทพฯบอก ขนมใส่ใส้  ที่บ้านพูดว่า หนมโค–คนกรุงเทพฯบอก ขนมต้ม  ที่บ้านพูดว่า หนมขี้มัน–คนกรุงเทพฯบอกว่า ขนมส้นตีนอะไรของมึงวะ กูไม่รู้จัก เป็นต้น

เกี่ยวกับเวลาก็เหมือนกัน คนกรุงเทพฯเขานัดว่า ให้มาแต่เช้ามืด คิดแบบหัวหมอหรือศีรษะแพทย์ ไม่รู้ว่าเขาจะให้มาตอนเช้าหรือตอนค่ำกันแน่  แต่ที่บ้าน--เราจะนัดกันว่า ให้มาแต่หัวรุ่ง–เข้าใจง่ายจะตาย คือว่าตอนรุ่งสางไง แบบว่ายังไม่แจ้งดีไง คือว่ายังเป็นส่วนหัวของมันไง

สรุปก็แล้วกันว่า ในที่สุดผู้เขียนก็ได้กินกาแฟรสชาติฝรั่งเศสแก้วที่สองในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเที่ยวนี้


จบตอน 1/3 Another day of my life in Bangkok, two years later.
[ยังมีต่อ.....] [post Oct 29, 2557]
--------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น