open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตอน 3/3 Another day of my life in Bangkok, two years later.

อีกวันหนึ่งของฉันในกรุงเทพฯ สองปีต่อมา

--แดง ใบเล่

[ตอน 3/3]

ผู้เขียนเชื่อว่า คนเราทุกคนต่างมีความรู้สึกผูกพันกับสถานที่บางแห่ง เพราะเราเคยมีประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้น  เรื่องนี้น่าจะเป็นความรู้สึกของสากลโลก ไม่ใช่จำเพาะแต่ผู้เขียน  เราทุกคนอนุรักษ์ความทรงจำอันงดงามเกี่ยวกับสถานที่ ๆ ตนเคยได้รับความอภิรมย์ด้วยอายตนะทั้งหก ซึ่งรวมถึงความรู้สึกสุขใจด้วย 

แต่ในฐานะเด็กต่างจังหวัด ผู้เขียนย่อมมีประสบการณ์กับสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ในลักษณะที่ไม่ซ้ำรอยกับประสบการณ์ของคนที่เกิดมาและเติบโตอยู่ในกรุงเทพฯเอง  เพราะว่าผู้เขียนจะพกพาความทรงจำที่ฝังใจจากชนบท มาคอยวัดเทียบเคียงกับสิ่งที่ตนได้พบ-ประสบ-เห็นในเมืองกรุงเสมอ ทั้งเรื่องดีและเรื่องเลว

สมาคมฝรั่งเศส-กรุงเทพฯ  เป็นสถานที่พิเศษ ซึ่งผู้เขียนจะหาที่ ๆ บ้านชนบทมาเทียบไม่ได้  เพราะว่า สมาคมฝรั่งเศสไม่ใช่โรงเรียนและไม่ใช่วัดหรือสุเหร่า  ทว่าเป็นสถานที่ในอีกมิติหนึ่ง เป็นระนาบใหม่ซึ่งผู้เขียนไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงไม่มีประสบการณ์เดิมมาให้เทียบเคียง 


วงญาติโกโหติกาของผู้เขียนนั้นเป็นคนรักการศึกษา  ดังนั้น เราจึงมีคนที่สำเร็จปริญญาเอกคนแรกในจังหวัด  เรามีสมาชิกเป็นนักเรียนเก่าสหรัฐฯและนักเรียนเก่าญี่ปุ่น  แต่เราไม่มีนักเรียนฝรั่งเศส.....ตามสิ่งแวดล้อมวัยเด็กของผู้เขียน สมาคมฝรั่งเศส-กรุงเทพฯจึงเปรียบเสมือนประตูสู่โลกกว้าง และสู่โอกาสแห่งความแตกต่างอันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นหนทางที่เราจะได้แสดงตนว่าเราเป็นเรา--คิดตามประสาเด็ก

อันที่จริง อาจมีเหตุผลอื่นที่น่าจะสำคัญกว่าเหตุผลเพื่อความแตกต่างทางสังคมในย่อหน้าก่อน  กล่าวคือครั้นได้เรียน ก็เกิดนึกรักภาษาฝรั่งเศสขึ้นมา  อาจจะเป็นเพราะว่าภาษาฝรั่งเศสอันเป็นภาษาตระกูลละติน อันแตกต่างจากภาษาอังกฤษและภาษาไทย  องค์ประกอบของภาษาทุกภาษามีเสียง มีดนตรี มีวิธีการพูดจา มีอารมณ์ ฯลฯ  นักภาษาศาสตร์หรือพวก linguists เขาน่าจะบอกท่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้ดี  ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องเหล่านั้น  ผู้เขียนจึงคล้ายกับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องไสยศาสตร์ แต่ “โดนของ”

สีสันของภาษา จะให้เราเกิดความรู้สึกว่านี่แหละ-ใช่เลย กับภาษาใหม่ที่เราเรียน  ซึ่งเมื่อผู้เขียนแรกรู้จักภาษาฝรั่งเศส ผู้เขียนก็เกิดความรู้สึกว่า นี่แหละ-ใช่เลย  ความรู้สึกดังกล่าวนั้นยากเกินขีดความสามารถของผู้เขียน ที่จะถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ว่ามันคืออะไร นี่ไม่ได้เสแสร้งถ่อมตัวนะ  คือจะพูดได้แต่ว่า ใช่เลย...

เหตุผลรองลงมาอีก เป็นเหตุผลเฉพาะตัว กล่าวคือเวลานั้นผู้เขียนได้พื้นฐานภาษาอังกฤษพอสมควรแล้ว  ขอบคุณครูนงเยาว์ กาญจนจารี และอาจารย์เกริก มังคละพฤกษ์ ที่ได้ปูพื้นฐานไวยากรณ์อังกฤษให้  จนพอที่เราจะศึกษา ฝึกฝน และฝึกใช้ต่อมาได้ด้วยตนเอง คือครูติดปีกให้เราแล้ว เหลือแต่ว่าเราจะต้องฝึกบิน อันเป็นกิจกรรมที่เราต้องทำด้วยตนเอง ไม่มีแม่นกตัวไหนมาบินแทนลูกนกได้

ดังนั้น ระหว่างเป็นนักเรียนมัธยม ผู้เขียนจึงเดินทางมาสมาคมฝรั่งเศส ที่ถนนสาธรใต้ เพื่อรู้จักกับภาษาใหม่ ตั้งแต่เมื่ออาคารสมาคมฯยังเป็นเรือนไม้เก่าแก่ ชั้นล่างตีระแนง ห้องเรียนของผู้เขียนอยู่บนเรือนใหญ่หลังนั้น  เริ่มเรียนกับครูชาวฝรั่งเศสชื่อ เมอร์ซิเออร์ ปาแป็ง  เรื่องนี้เคยเล่าไว้ในงานเขียนชิ้นอื่นแล้ว แต่ก็ยังจะดึงดันเล่าอีก โดยไม่เกรงใจว่าผู้อ่านแฟนเก่าจะหาว่าพูดซ้ำซาก เพราะว่าคนเรา - เราก็ต้องคบแฟนใหม่บ้างเหมือนกัน เพราะว่าคนเรา - เราจำเป็นต้อง re-invent ourselves ปรุงตัวตนขึ้นใหม่  เรื่องที่จะเล่าซ้ำก็คือเรื่องโดนครูดุ เมื่อแรกเรียนภาษาฝรั่งเศส โดยครูสั่งให้ผันคำกิริยา “เป็น อยู่ คือ” หรือ être

ซึ่งจะต้องผันตอบครูให้ครบทุกบุรุษสรรพนาม แต่ผู้เขียนผันตอบเฉพาะสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง คือ “ฉันเป็น” แล้วก็นั่งเฉย  ครูจึงบอกว่าเวลาเขาให้ผันคำกิริยา ต้องผันจนครบทุกบุรุษสรรพนาม ไม่ใช่ผันแต่สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง  แล้วนั่งทำตาลอยดูดวงจันทร์.....

โห จำแม่นเลย  ระหว่างที่กำลังเขียนอยู่นี้ก็นึกระลึกชาติขึ้นมาว่า ตอนเด็ก ๆ เราคงเป็นเด็กใจลอยหรือเด็กน่าหมั่นใส้มาก หรือทั้งสองอย่าง  แต่ก็รู้สึกตั้งแต่บัดนั้นว่า คนฝรั่งเศสเป็นคนเจ้าสำบัดสำนวน และชอบพูดจาเสียดสีคน  อีกนับสิบปีต่อมา-เมื่อไปอยู่ฝรั่งเศสจึงมีประสบการณ์ว่า บทสนทนาของคนฝรั่งเศส เขาจะจิกทึ้งซึ่งกันและกันเป็นการกีฬาแห่งชาติ  เขาจะรู้สึก “มัน” กับการพูดคุยแบบนั้น  สำหรับคนอังกฤษซึ่งนิยมใช้ภาษาแบบไร้อารมณ์ การพูดจาถากถาง กระแนะกระแหน เหน็บแนม เสียดสี ประชดประชัน จิกกัดกันและกัน  คนอังกฤษเขาไม่คุ้นเคย  ใครสามารถทำได้ดีเขาเห็นว่าเป็นศิลปะอันสูงส่ง  แต่สำหรับพวกเราผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือพวกฟร็องโกโฟน-francophone  นั่นคือลมหายใจของเราด้วยซ้ำไป  ถึงแม้คนอังกฤษจะนินทาเราว่า  “Sarcasm is the lowest form of wit.”  เราก็ไม่สนหรอก เพราะเราเป็นเรา  เราเข้าใจดีว่าเขาพูดจากจิตใจที่ริษยา 

ว่าไปแล้ว คนไทยก็กลัวคนฝรั่งเศสในแง่นี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่ในวัฒนธรรมไทยมีครบหมดทั้ง ถากถาง กระแนะกระแหน เหน็บแนม เสียดสี ประชดประชัน  แต่ว่าการพูดจาสไตล์เหล่านั้นมักจะใช้เมื่ออารมณ์บ่จอย  แต่ว่าคนฝรั่งเศสใช้ sarcasme – ภาษาฝรั่งเศสจะมีตัว e ด้วย ไม่ได้สะกดผิด – เป็นลมหายใจปกติของเขา ไม่ใช่งัดออกมาใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษแบบคนไทย

กูเกิลเสิร์ชเป็นพยานได้ว่า คำว่า sarcasm หรือ sarcasme นั้น นิยามในภาษาฝรั่งเศสจะชัดเจนกว่านิยามที่เป็นภาษาอังกฤษ  และนิยามในภาษาฝรั่งเศสมีสั้น ๆ เพียงแค่สองประโยคเท่านั้น แต่ก็ได้ใจความถูกต้องครบถ้วน คือ

À l'inverse de l'ironie, qui consiste à dire le contraire de ce que l'on pense en faisant comprendre que l'on pense le contraire de ce que l'on dit, le sarcasme est plus difficile à déceler. En effet, être sarcastique c'est dire le contraire de ce que l'on pense, sans montrer qu'on pense le contraire de ce que l'on dit.

และนี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภาษาฝรั่งเศส  คือเป็นภาษาที่กระจ่าง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และ “เสถียร” ยากที่จะสั่นคลอนง่อนแง่น หรือเพี้ยนเป็นอื่น -- กูเกิลเสิร์ชเป็นพยาน

ในการสนทนานั้น ขณะที่คนอังกฤษจะรอให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดจบเสียก่อน ตนจึงจะพูดขึ้นบ้าง  เราเห็นว่าการสนทนาแบบนั้นน่าเบื่อ  เราไม่เคยรอให้ใครพูดจบ เราจะพูดทับเสียงแม่งเลย  เคยมีการศึกษาสถิติว่า ถ้าผู้หญิงอังกฤษพูดได้นาทีละร้อยคำ ชายอังกฤษจะพูดได้แค่ห้าสิบคำเท่านั้น  แต่พวกเราผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสหรือพวกฟร็องโกโฟน ชายหญิงรัวกันนาทีละร้อยคำเท่า ๆ กัน ไม่มีใครแพ้ใคร

ในโลกตะวันตก ไม่มีใครทำอาหารเป็น นอกจากเราเท่านั้นที่รู้จักการครัว  หญิงชายทำอาหารเป็นหมดและรู้จักกิน  ถ้าคุณต้มไข่กินฟองหนึ่ง แบบนี้ไม่ได้แปลว่าคุณรู้จักการครัวหรือ la cuisine  แต่ถ้าคุณทำไข่ลูกเขยกิน แปลว่าคุณรู้จักการครัว  หรือคุณทอดปลาทูกินตัวหนึ่ง ก็จะพูดไม่ได้ว่าคุณรู้จักการครัว  เว้นแต่ว่าคุณทำปลาทูทอดเครื่องเหลืองอร่ามอย่างที่คนใต้ชอบทำ นั่นจึงจะเป็นการครัว 

เศรษฐีเมืองไทยคนหนึ่ง เป็นเจ้าของโรงแรมในทำเลทองแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเป็นเจ้าของร้านอาหารฝรั่งด้วย  แกไปจ้างพ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งมาจากบอร์โดส์ เมืองที่ผู้เขียนไปเรียนหนังสือ  วันหนึ่งแกขอให้พ่อครัวคนนั้นทำสะเต๊กให้แกกิน  พ่อครัวโกรธมาก  เพราะอะไร? เพราะว่า อาหารฮิตของพวกอังกฤษอเมริกันที่เรียกว่า สะเต๊กเนี่ยะ  มันไม่ได้มีการครัวส้นตีนอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย  มันคล้ายกับต้มไข่กินหรือทำไข่ดาวฟองหนึ่ง  คนฝรั่งเศสระดับเชฟ หรือระดับกุ๊ก หรือระดับพ่อครัว  เขาไม่ทำกันหรอก  ถ้าจะกินเนื้อคนฝรั่งเศสเขาทำ “เบิฟ บูกีนญ็อง”  เป็นอย่างน้อย  คือพะแนงเนื้อแบบฝรั่งเศสที่เขาพะแนงกับสาระพัดเครื่องเทศและไวน์แดง หรือทำเนื้อห่อเนยขึ้นราสีน้ำเงิน หรือ ฯลฯ

เวลาเห็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งเดินมาแต่ไกล  คนอังกฤษผู้ขึ้นชื่อว่ารักสัตว์อาจมองว่า ดูสิมันน่าเอ็นดู  แต่สำหรับพวกเราชาวฟร็องโกโฟน แรกที่เราเห็นมันเดินมา เราจะเริ่มคิดในใจก่อนเลยว่า กินได้เปล่าวะไอ้ตัวนี้  อะไรที่กินได้เรากินทั้งนั้น เช่น หอยทาก กบ ตับไตใส้พุง สมองหมูสมองวัว รวมทั้งกีบตีนหมู ฯลฯ  แต่เราไม่ได้กินแบบคนจีนนะ คนจีนเขากินแปลก ๆ เพราะไม่มีอะไรจะกิน  เราอยู่ในภูมิภาคยุโรปส่วนที่พืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  ที่เรากินอะไรแปลก ๆ เพราะเราเบื่ออาหารนานาชนิดที่เรามีดาษดื่น คือเราต้องการชีวิตที่มีมากมิติ  ท่านจะเห็นว่าปรัชญาครัวจีนกับปรัชญาครัวฝรั่งเศสเป็นคนละปรัชญากัน  ครัวจีนพยายามทำของที่กินไม่ได้-ให้กินได้  แต่ครัวฝรั่งเศสจะทำของที่ไม่น่าจะกินได้-ให้กินดี และมีสไตล์

เรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว—ไม่ต้องห่วง  เราเป็นกลุ่มชนเดียวในโลกที่มี Sense of Style –รู้จักมั๊ยล่ะ “ความสำนึกในลีลา” ?  ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง  ก็จริงอยู่  แต่คนไม่ใช่ไก่นะพี่ ไก่มันแต่งตัวมาอย่างไรตั้งแต่เกิด ก็จะแต่งอยู่อย่างนั้นกระทั่งตาย  คนจะต้องมี Sense of Style เข้าใจเปล่า?  โกโก ชาเนล(ผู้ล่วงลับไปแล้ว) เคยนินทา อีฟ แซ็งต์โลร็อง(ผู้ล่วงลับไปแล้วเช่นเดียวกัน)ว่า ดูซิดู อีฟ แซ็งต์โลร็อง เดี๋ยวนี้รสนิยมการออกแบบเสื้อผ้าของเขา ดีวันดีคืน  ยิ่งเขาก็อปปี้งานของฉันมากเท่าไร  รสนิยมของเขาก็จะดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ซ้ำร้าย ยังเคยนินทา อีฟ แซ็งต์โลร็อง ลับหลังว่า โฮโมเซ็กฌ่วลเนี่ยะ เขาจะติดตามผู้หญิงไปทั่วทุกแห่ง ผู้หญิงไปไหนเขาก็จะตามไปที่นั่น...ยกเว้นตอนขึ้นเตียงเท่านั้นแหละ

ชาวบ้านที่บ้านนอกคนหนึ่ง นินทาเพื่อนบ้านชื่อ ฟร็องซัว ว่า  ฟร็องซัวมันร้ายมากรู้เปล่า  วันก่อนงูพิษตัวหนึ่งกัดฟร็องซัว ปรากฏว่า งูพิษตาย

ผู้เขียนเรียนภาษาที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธรใต้ กระทั่งเขารื้อเรือนไม้ทิ้งและปลูกตึกสามชั้นขึ้นมา  แบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ทำการของสถานทูต  โดยที่อาคารสถานทูตที่เป็นอาคารหลัก ยังคงอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตรอกกัปตันบุช เหมือนสมัยที่ฝรั่งเศสส่งเรือปืนเข้ามาขู่และยั่วยุประเทศไทย(สยาม)ในอดีต

อาคารใหม่มีหอประชุมใหญ่ มีห้องสมุด มีร้านหนังสือ มีโรงอาหาร ครบเครื่อง  หลังจากไปอเมริกากลับมาแล้ว  ผู้เขียนยังคงใช้เวลาเมื่อสะดวก ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสขั้นสูงขึ้น ที่อาคารสมาคมฝรั่งเศสหลังใหม่บนถนนสาธรใต้อีกสองสามปี  รวมเวลาที่เรียนภาษาที่นั่น แม้จะไม่ต่อเนื่อง ว่างเว้นไปบ้างเช่นไปทำงานต่างจังหวัด(ทำงานเหมืองแร่ที่จังหวัดเลย)  นับรวมเวลาเรียนภาษาได้หกปีโดยประมาณ

แล้วอยู่มาวันหนึ่ง.....ความฝันก็กลายเป็นจริง  คือวันที่ได้เดินทางไปเรียนหนังสือในประเทศฝรั่งเศส  และต่อมาก็ได้ทำงานในประเทศเบลเยี่ยมซึ่งก็ใช้ภาษาฝรั่งเศส  ได้ไปเบลเยี่ยมด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า ธุรกิจจากประเทศไทยที่มีสำนักงานอยู่ที่นั่น เขาต้องการคนไทยที่อ่านบัญชีภาษาฝรั่งเศสออก  ผู้เขียนอ่านบัญชีภาษาฝรั่งเศสได้ เพราะเคยเรียนบริหารธุรกิจที่ฝรั่งเศส

การบัญชีฝรั่งเศสแตกต่างจากบัญชีอังกฤษ-อเมริกัน-ไทยอยู่บ้าง  ขณะที่บัญชีอังกฤษ-อเมริกัน-ไทย งบดุลแยกเป็นสองซีก ซีกซ้ายมือของเราเรียกว่า สินทรัพย์  ซีกขวามือของเราคือ หนี้สินและทุน  ทั้งนี้โดยจะเรียงสินทรัพย์จากอ่อนไปแข็ง คือจากเงินสดและลูกหนี้การค้า ไปหาสินทรัพย์ถาวร 

แต่ระบบบัญชีฝรั่งเศสเรียกงบดุลซีกซ้ายว่า “อั้คตี้ฟ" เขียนว่า Actif  ส่วนซีกขวาเรียกว่า “ป้าสซี้ฟ” เขียนว่า Passif  ที่สำคัญคือระบบบัญชีฝรั่งเศส(และเบลเยี่ยม)จะเรียงทรัพย์สิน จากแข็งไปอ่อน คือจากสินทรัพย์ถาวรไปหาลูกหนี้การค้าและเงินสด  ในขั้นสุดท้ายการทำบัญชีประจำงวด อังกฤษ-อเมริกัน-ไทย จะปิดงบกำไรขาดทุน แล้วยกยอดไป งบดุล  แต่ของฝรั่งเศสปิดสองจังหวะ ก่อนถึงบัญชีกำไรขาดทุน เขาจะมีบัญชีระบบปฏิบัติการก่อน ปิดตรงนั้นแล้วยกยอดมาทำงบกำไรขาดทุน แล้วถึงจะไปงบดุล  เรื่องนี้เล่ามาพอเป็นกระสาย เพราะแฟน ๆ ที่อยู่ในวงการธุรกิจมีหลายคน และเพื่อให้ท่านผู้อ่านอีกหลาย ๆ ท่าน เห็นความยุ่งยากของชีวิตแบบฝรั่งเศส-เล็ก ๆ น้อย ๆ  เรื่องพวกนี้อาจจะยังไม่มีใครเล่าให้ท่านฟัง ถ้าฟังซ้ำก็ขออภัยด้วยครับ

ระบบการวัดผลการเรียนก็ผิดกัน มาตรฐานการวัดผลของฝรั่งเศสตั้งแต่ประถมจนจบปริญญา แต่ละวิชามีคะแนนเต็มยี่สิบคะแนน  ถ้าสอบได้คะแนนสิบ-ถือว่าผ่าน  เขาไม่ได้ใช้ระบบคะแนนเต็มร้อย  ระบบนี้เข้าใจว่าใช้มาตั้งแต่สมัยนะโปเลียน  ซึ่งได้วางมาตรฐานการศึกษาภาคบังคับเอาไว้  นะโปเลียนต้องการจะรู้ว่า วันนี้ เวลาเท่านี้ เด็กทั่วประเทศฝรั่งเศสกำลังเรียนวิชาอะไร

ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสเน้นข้อสอบอัตนัย  เพราะฉะนั้น เมื่อผู้เขียนสอบวิชายุทธศาสตร์ธุรกิจ อาจารย์ออกข้อสอบเพียงข้อเดียว  ให้ตอบสี่ชั่วโมง  ข้อสอบถามว่า “ทำไม กำไรจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ”

การรู้จักเขียนเรียงความ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาในระบบฝรั่งเศส

และอย่าลืมว่า ประเทศฝรั่งเศสสอนวิชาปรัชญาในหลักสูตรชั้นมัธยมปลาย  การสอบไล่ชั้นมัธยมปลายที่เรียกว่า “สอบบั้ค” ซึ่งย่อมาจาก “บั้ค กา โล เร อา” นั้นใช้ข้อสอบกระทรวงฯ  สอบพร้อมกันทั่วประเทศฝรั่งเศส  โดยที่วิชาแรกที่สอบคือ วิชาปรัชญา  นักเรียนจะต้องตอบปริศนาปรัชญาด้วยการเขียนเรียงความแสดงเหตุผลตอบคำถาม  การทดสอบของเขาไม่ได้ต้องการ “คำตอบที่ถูกต้อง”  เขาต้องการพิจารณาและประเมินการให้เหตุผล  ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจได้คะแนนดีก็ได้ ถ้าคุณตอบว่า กำไรเป็นเรื่องไร้สาระในการดำเนินธุรกิจ ถ้าคุณสามารถแสดงเหตุผลได้น่าเชื่อถือ 

บางท่านอาจนึกสงสัยตะหงิด  อยากทราบว่าข้อสอบวิชาปรัชญา ในการสอบไล่ชั้นมัธยมปลาย ของเด็กฝรั่งเศส  เขาถามอะไรกัน?  ผู้เขียนได้ค้นตัวอย่างข้อสอบ ที่เคยเป็นข้อสอบจริงเมื่อไม่นานมานี้ มาให้ท่านเห็นแนว ดังนี้
  •          ถ้าปราศจากรัฐ เราจะมีเสรีภาพมากขึ้นหรือไม่?
  •         เราเป็นนักโทษ ที่ถูกอดีตจองจำคุมขังเอาไว้ หรือเปล่า?
  •          พัฒนาการด้านเทคโนโลยี คุกคามเสรีภาพของเราหรือไม่?
  •       ภาษา ทรยศต่อความคิดอ่านใช่ไหม?

หากว่าตัวอย่างข้อสอบสี่ข้อข้างบน ยังไม่จุใจ ลองพิจารณาอีกสองข้อต่อไปนี้
  •    มนุษย์ถูกสาป ให้ต้องสร้างมายาภาพเกี่ยวกับตัวเองหรือเปล่า?
  • จำเป็นด้วยหรือว่า งานศิลปะจะต้องน่าอภิรมย์?

    ภาพ นักเรียนฝรั่งเศส กำลังทำข้อสอบ วิชาปรัชญา ในการสอบไล่ชั้นมัธยมปลาย
                 ปีพ.ศ. 2556 / ค.ศ. 2013      ภาพจากสถานีวิทยุ ยุโรปเอิง














คนฝรั่งเศสก็เหมือนกับคนอินเดีย คนจีน คนพม่า คนไทย  เราจะบอกว่าเป็นตุ๊กตาปลาสติคเหมือน ๆ กันไปทุกคนดังที่เล่ามาในสองหน้าข้างบน คงจะไม่ถูก  ในระดับตัวบุคคล-คนฝรั่งเศสแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป  แต่เท่าที่นินทาคนฝรั่งเศสให้ท่านฟังมาสองหน้ากระดาษ  ได้สร้างภาพร่างหยาบ ๆ ให้ท่านผู้อ่านพอเห็นเลา ๆ ว่าคนในวัฒนธรรมฝรั่งเศสน่าจะเป็นอย่างไร-ซึ่งจะหมายถึงของแท้นะ ไม่ใช่พวกทำซ้ำ ทำเทียม เลียนแบบ หรือเมด อิน ฮ่องกง  หรือไปชุบมา-ซึ่งมีสิทธิลอกได้ เพราะว่าทองทาหรือจะคงทน  เรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ได้มีใครดีกว่าใคร  ถ้าแค่ชุบมาก็ลอกได้ทั้งนั้น  แต่ถ้าเป็นของแท้ก็ขี้มักจะรู้จัก หรือเข้าใจข้อความต่อไปนี้

พระคาดินาล ริชเชลลิเยอ อดีตอัครมหาอำมาตย์-อีกนัยหนึ่งนายกรัฐมนตรี ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม เคยพูดทำนองว่า “มึงลองเขียนอะไรก็ได้ มาให้กูอ่านสักสองสามบันทัดเด่ะ  แล้วเดี๋ยวกูจะหาเรื่องให้มึงติดตะรางให้ได้เลย—คอยดู”

ถึงแม้ท่านผู้อ่านจะไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส แต่ท่านก็คงจะเดาถูกว่า ผู้เขียนแปลมาแบบเว่อ ๆ แหงเลย 

ต้นฉบับคำพูดในภาษาฝรั่ง คือ

« Donnez-moi deux lignes de la main d'un homme, et j'y trouverai de quoi suffire à sa condamnation. »

ซึ่งท่านผู้อ่านที่รู้ภาษาฝรั่งเศส ผู้มีจิตเมตตาหรือเพียงแค่มีใจเป็นธรรม ก็คงให้อภัยผู้เขียน เพราะจะเห็นชัดว่า  ผู้เขียนไม่ได้แปลบิดเบือน ทำให้ใจความผิดเพี้ยนในสาระสำคัญแต่ประการใดเลย


ดังนั้น สำหรับผู้เขียน สมาคมฝรั่งเศส-ถนนสาธรใต้ จึงไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชา หรือร้านติวภาษา  ของรุ่นพี่มหิดล หรืออะไรทำนองนั้น  ที่นั่นจะมีหอประชุมฉายหนังดีจากฝรั่งเศสตามฤดูกาล ฝึกให้เราดูหนังฝรั่งเศสเป็น อันเป็นหนังสไตล์ที่ผิดจากหนังอเมริกัน  ที่นั่นจัดนิทรรศการศิลปะทั้งของศิลปินไทยและศิลปินชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในประเทศไทย ที่นั่นมีเพลงและดนตรี มีร้านอาหารที่มีทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งเศส ฯลฯ สถานที่แห่งนั้นจึงเป็นเสมือนประตูสู่โลกอีกโลกหนึ่ง เป็นสถานที่พิเศษในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้เขียนหาที่เทียบที่บ้านชนบทไม่ได้

ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียน  แม้เพียงผิวเผินก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ได้พบคนที่ไม่เหมือนเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนกลางวัน  แต่ก็ไม่มีโอกาสจะได้สนิทสนม เพราะว่าหลังเลิกเรียนประมาณสองทุ่ม แต่ละคนก็รีบเผ่นกลับบ้าน  ไม่มีใครเป็นคุณหนู ทุกคนนั่งรถเมล์กลับบ้านเอง  สำหรับผู้เขียนกว่าจะถึงบ้านก็ราวสามทุ่ม เพื่อนคนหนึ่งบ้านอยู่ฝั่งธนฯ ไม่รู้ว่าเขาถึงบ้านกี่ทุ่ม  รุ่งเช้าเราก็ต้องตื่นไปโรงเรียนตามปกติ

เท่าที่จำได้ มีเพื่อนที่ทักทายพูดคุยกันอยู่สามคน ล้วนอยู่กันคนละโรงเรียน  คนหนึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ - คนฝั่งธนฯ  คนนี้ในภายหลังรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ประจำสถานทูตไทยหลายประเทศ และมีบทบาทในวิกฤตการณ์ทางการทูตระยะหลังหลายครั้ง  อีกคนหนึ่งแม้จะไม่ใช่คนใต้ เป็น “เด็กเต้บ”(เด็กกรุงเทพ) แต่บรรพบุรุษมาจากปักษ์ใต้-นามสกุลมันบอก ต่อมาเมื่อเติบใหญ่เขาทำงานในวงการธุรกิจการเงิน  และอีกคนหนึ่งเป็นเด็กใต้ ซึ่งผู้เขียนก็นึกประหลาดใจว่า เขาเดินทางจากปักษ์ใต้มาถึงที่นั่นได้อย่างไร  อย่าลืมว่าสมัยนั้นปักษ์ใต้อยู่ไกลมากกว่าปัจจุบัน  และเขาก็คงสงสัยเช่นเดียวกันว่า ผู้เขียนเดินทางจากปักษ์ใต้มากับเรือเดินทะเลลำใด แล้วเลี้ยวเข้าคลองสาธร  มาถึงสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธร  เพื่อนคนนี้พบกันเพียงแค่ที่สมาคมฯเท่านั้น ภายหลังเขาหายสาบสูญ ไม่ทราบว่าเขาทำอะไรอยู่ที่ไหน  มองแง่ดีว่าเขาอาจไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ เพราะผู้เขียนมีเพื่อนสมัยเด็ก ที่เวลานี้เขาทำสวนผักอยู่ในเม็กซิโก  ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งก็คือผู้เขียน คือ แดง ใบเล่งัย-จำไม่ได้หรือ เป็นนักเขียนงัย--ก็ที่กะลังเขียนเรื่องนี้อยู่งัย

ย่ำค่ำ เมื่อเลิกเรียน ผู้เขียนจะเดินเลียบคลองสาธรไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนพระรามสี่  บางทีก็จะมีรุ่นพี่ที่เป็นนิสิตจุฬาฯ เดินคู่ไปกับแฟน ซึ่งพวกเขาก็จะไม่สนใจเด็กนักเรียนอย่างเรา  ช่วงเวลาเดินเลียบคลองสาธรยามหัวค่ำ คือเวลาแห่งการคิดฝัน  สมัยนั้นรถรายังน้อย  ในหน้าหนาวเวลาสองทุ่มเศษอากาศเย็น.....ชวนให้ฝันไปได้ไกล เช่น ฝันถึงม็งมาร์ต หรือโน้ตเตรอะดาม เดอ ปารีส์หรือถนนช็องเอลีเซ หรือแม่น้ำแซนส์ หรือท้องพระโรงกระจกในพระราชวังแวร์ซายน์ที่โกษาปานเคยไปถวายสาร หรือมณฑลโปรว้องซ์ หรือเซซานน์ หรือชายทะเลบูโลนญ์ซูร์แมร์ เป็นต้น

สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธรใต้ ได้เปิดเส้นทางอันยาวไกลให้ผู้เขียนได้เลือกเดิน  สู่โลกของคนพูดภาษาฝรั่งเศส หรือลา ฟร็องโกโฟนีla francophonie  จนในที่สุดผู้เขียนก็ถือว่าตนเองเป็นพลโลกที่พูดฝรั่งเศสด้วยผู้หนึ่ง คือเป็น “ฟร็องโกโฟน”  กับเขาด้วย เช่น ระหว่างการเดินทางไปต่างแดน  ถ้าได้พบคนพูดฝรั่งเศสไม่ว่าจะมาจากดินแดนใด ๆ ผู้เขียนก็ชอบที่จะพูดภาษาฝรั่งเศสกับเขา  กระทั่งเมื่อไปปักกิ่งครั้งแรก ก็ยังเลือกใช้มัคคุเทศจีนที่พูดฝรั่งเศสได้

ภาษาฝรั่งเศสทำให้กล้าก้าวไปเรียนภาษาสเปน ได้รู้จักวัฒนธรรมสเปน ได้ไปสเปน โปรตุเกส และเม็กซิโกด้วยตนเองหลายครั้ง เพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อการทำงาน ได้รู้จักวรรณคดีสเปนเรื่อง ลาซาริโย่ เด โตเมส  ทำให้รักเมืองซาลามังก้าในสเปน และด้วยประวัติความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-เม็กซิโก ก็ทำให้รักเมืองปวยบลาในเม็กซิโก

ที่สุดแห่งที่สุด ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาสเปน ทำให้ภาษาอังกฤษของผู้เขียนดีขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าได้คำศัพท์ใหม่ ๆ มาฟรี ๆ  และปัจจุบันนี้ภาษาฝรั่งเศสยิ่งมีที่ใช้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  กับได้ใช้ทุกวัน เพราะเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารถึงกันทั่วโลก ภาษาฝรั่งเศสเป็นช่องทางสอบทานข้อมูล เช่น เรื่องที่คุณทักษิณ(ไม่ทราบนามสกุล)ใช้ตลับแป้งผู้หญิงผัดหน้ากับที่แกชอบทาลิปสติคนั้น ผู้เขียนทราบจากแหล่งข่าวฝรั่งเศส--ซึ่งเขามองคนลึกซึ้ง  ภาษาฝรั่งเศสทำให้โลกอินเตอร์เนตไม่น่าเบื่อหน่าย โดยเฉพาะรายการพ็อดคาสต์สุขนาฏกรรม(comedy)ผู้เขียนเห็นว่า ยากจะหารายการชนิดเดียวกันในภาษาอังกฤษมาสู้ได้  เพราะคนในโลกแองโกลโฟน-anglophone– คนพูดอังกฤษ – ที่สร้างรายการประเภทนี้ ซึ่งเป็นคนช่วงอายุประมาณสิบสี่ถึงสามสิบสี่ปี ค่อนข้างจะทำรายการแบบ“บ้องตื้น”   วัฒนธรรมฝรั่งเศสสอนคนหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ สอนไม่ให้เราเป็นคนบ้องตื้น และจะไม่คิดว่าการบ้องตื้นคือน่ารัก  การแสดงออกที่บ้องตื้นอยู่ได้เฉพาะบนเวทีขำขันเท่านั้น ไม่ใช่ในชีวิตจริง

อันที่จริง ท่วงทำนองการใช้ภาษาไทยกับการใช้ภาษาฝรั่งเศส มีอะไรคล้ายกันอยู่บางอย่าง  แต่ จะขออ้อมไปภาษาจีนก่อนนะว่า ภาษาจีนคำผวนไม่มี  แต่ภาษาฝรั่งเศสผวนได้ ทว่าไม่ได้ง่ายและทุกคนสามารถทำได้อย่างในภาษาไทย  ต้องเป็นผู้ชำนาญจึงจะทำได้ และเล่นเรื่องนี้ไม่สนุกเท่าในภาษาไทย  ส่วนเรื่อง sarcasm  เราจะเห็นว่าชาติใหญ่ในเอเชียคือ อินเดียและจีน  เขาไม่มีประเพณีการใช้ภาษาสไตล์นี้ เช่นที่เราพบเห็นในภาษาฝรั่งเศสและในภาษาไทย  ประเด็นที่ผู้เขียนกำลังแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในย่อหน้านี้ ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญมาก และหวั่นใจว่า อาจจะยังไม่มีใครแบ่งปันเรื่องนี้กับท่านมาก่อน  ซินแสหรือครูผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ให้ผู้เขียนได้ฉุกคิด ท่านเป็นซินแสหรือกูรูหรือคุรุชาวแขก เชื้อสายอินเดีย  จะขอบันทึกชื่อครูไว้ด้วยความเคารพว่า ท่านชื่อนี้ครับ  अर्नब चंदा

คนแขก(อินเดีย)ก็ดี คนจีนก็ดี  เนื่องจากพวกเขาขาดจิตสำนึกเรื่อง sarcasm  เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดอะไรที่ sarcastic กับเขา  เขาจะบอกว่า เราพูดโกหก  ซึ่งอาจทำให้เราไม่พอใจเขาก็ได้  ทั้ง ๆ ที่ จริง ๆ แล้วเราต้องนึกให้อภัย  เพราะว่าในวัฒนธรรมของเขานั้น เขาขาด sarcastic sense  หรืออาจจะมีอยู่เพียงบาง ๆ แต่ว่าไม่พัฒนา  พวกหัวใจบาง ๆ ทั้งหลายสังกัดกลุ่มนี้หมด  คำพระท่านว่า ไม่เจริญ เช่นเจริญภาวนา แปลว่าพัฒนาภาวนาให้ดียิ่งขึ้น  หรือเจริญสมาธิ แปลว่าพัฒนาสมาธิให้สูงขึ้นอีก เป็นต้น  คนแขกกับคนจีนด้อยพัฒนาในเรื่องการเสียดสี ส่อเสียด ถากถาง เหน็บแนม กระแนะกระแหน ประชดประชัน กระทบกระเทียบ เปรียบเปรย  นี่เราว่ากันถึงรูปแบบการใช้ภาษาตระกูลใหญ่ ที่อาจจะพอประมาณได้ว่าเป็นตระกูล sarcasm

ยกตัวอย่างเช่น “คุณวิกรมเนี่ยะ ท่าทางน่าจะได้เป็นผู้นำทางการเมือง ของชาติใดชาติหนึ่ง  แต่คงจะไม่ใช่ชาติหน้า นะครับ”  ประโยคนี้ได้รับการออกแบบมาให้เป็นประโยค sarcastic ที่สมบูรณ์แบบ ตามนิยามภาษาฝรั่งเศสที่ได้ยกมาอ้างแล้วข้างต้น  ไม่ว่าเราจะประเมินและตัดสินด้วยมิติหรือในระนาบใด รับรองไม่พลาด  ซึ่งคนในวัฒนธรรมจีนหรือแม้แต่ในวัฒนธรรมแขกบางคนอาจจะเถียงว่า  คุณอ้างถึงชาติหน้าได้อย่างไรกัน ชาติหน้านั้นแปลว่าคุณวิกรมแกต้องตายไปเสียก่อน ถ้าหากตายแล้วคุณวิกรมแกไม่ได้เกิดเป็นคน แต่เกิดเป็นหมูหมาปลาไก่ แกจะเป็นผู้นำทางการเมืองระดับชาติได้อย่างไร คุณเนี่ยะ-พูดจาไม่มีเหตุผล  คุณพูดโกหก ฯลฯ  

อาจารย์  अर्नब चंदा  ผู้ที่ผมเคารพนับถือเป็นอาจารย์เรื่องนี้  ท่านว่าไว้ว่า

.....other parts of the world like India or China, they don't have sarcasm. They even don't know what it is. Have you ever tried to explain sarcasm to someone who doesn't know what it is?  You sound like a fucking idiot!

ซึ่งก็เท่ากับว่า ท่านได้เตือนไว้แล้วว่า เรื่อง sarcastic เนี่ยะ  ถ้าใครไม่ get  แล้วเขามาขอให้เราอธิบาย  เราอย่าได้เที่ยวแส่อธิบายเพื่อให้เขา get ให้ได้  เพราะถ้าท่านทำเช่นนั้น You'll sound like a fucking idiot.

ทุกครั้งที่มากรุงเทพฯ ผู้เขียนถือเป็นความจำเป็นทางจิตวิญญาณ ที่จะต้องเดินทางไปเยือนสมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธรใต้ เพื่อไปกินครัวซ็องสักชิ้นกับกาแฟร้อนสักแก้ว  ตลอดจนเพื่อดูว่าเขามีกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น 

ดังนั้น มากรุงเทพฯเที่ยวนี้ พอลงรถเมล์ที่ถนนสาธร ใกล้ที่ทำการสมาคมฯ ครั้นพบว่า “สมาคมฝรั่งเศส ปิดตาย  สมาคมฝรั่งเศส-ถนนสาธรใต้  หาไม่แล้ว--จึงตกใจ

โห.....ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง

เป็นไปได้อย่างไรกัน  ยืนงงอยู่ครู่หนึ่งในความตระหนกที่น่าหดหู่  แต่ในที่สุด - ก็ทราบจากคนแถวนั้นว่า แม้สมาคมฝรั่งเศส-ถนนสาธรใต้ ปิดแล้ว  แต่ว่าเขาย้ายไปเปิดใหม่อยู่ใกล้สวนลุมฯ กลายเป็น สมาคมฝรั่งเศส-ลุมพินี

ตามหาครัวซ็องกับกาแฟร้อนกันต่อไป...ผู้เขียนนั่งรถเมล์ไปทางถนนวิทยุ กระเป๋ารถเมล์บอกให้ลงหน้าสถานทูตญี่ปุ่น  เขาบอกว่าสมาคมฯอยู่ไม่ไกล  เมื่อลงจากรถแล้วก็ยืนใช้สายตามองไปโดยรอบปริมณฑล  แลไม่เห็นอาคารสมาคมฯ เห็นแต่ตึกสถานทูตญี่ปุ่น  เอ๊ะยังงัย ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
                                                                                                              
เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านบางท่านพลอยเศร้าโศกสิ้นหวังไปด้วย  จะขอสรุปแล้วกันว่า ในที่สุดก็หาเจอ  อยู่ลึกเข้าไปไกลจากถนนวิทยุ  แต่มีรถกระป๋องบริการคล้ายกับที่ศาลแพ่งจัดไว้รอรับคนอยู่ที่สถานีรถใต้ดินลาดพร้าว  สมาคมฝรั่งเศสได้จัดรถตุ๊ก ๆ ที่ปรับปรุงอย่างดีไว้บริการฟรี รับคนจากริมถนนวิทยุ เข้าไปส่งที่ตัวอาคารสมาคมฯซึ่งอยู่ไกล โดดเดี่ยว และเปลี่ยว

อย่างไรก็ดี อาคารสมาคมหลังใหม่ออกแบบอย่างทันสมัยโดยสถาปนิกฝรั่งเศส ให้สนองความต้องการด้านกิจกรรมของสมาคม และของผู้มาใช้สมาคม ทั้งเพื่อการเรียน การพบปะ การประชุม การจัดนิทรรศการ ฯลฯ เช่น ในระยะนั้นกำลังจะจัดนิทรรศการภาพการ์ตูนของ สเตฟาน เปเรย์ นักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศสที่วาดการ์ตูนประจำอยู่กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เดอะเนชั่น เป็นต้น  แต่ผู้เขียนมีเวลาจำกัดไม่อาจจะรอชมได้  ส่วนสถานที่นอกอาคารด้านที่ต่อเนื่องติดกับคอฟฟีช็อป จัดเป็นเทอเรสเพื่อการนั่งพักผ่อนหรือพบปะ

ครั้นได้เห็นบรรยากาศของสถานที่ทันทีที่ลงจากรถตุ๊ก ๆ ก็รู้ว่า นี่คือ อัลลิย้อง ฟร็องแซส หรือสมาคมฝรั่งเศส แน่ ๆ นักเรียนไทยสมัยที่ผู้เขียนเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส จะเรียกชื่อสมาคมฯสั้น ๆ ว่า “อัลลิย้อง”  เช่น วันนี้ไปอัลลิย้องหรือเปล่า  เสาร์นี้ไปดูหนังที่อัลลิย้องกันไหม เป็นต้น

จะอย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้ว – ในแง่รูปธรรมนั้น สมาคมฝรั่งเศส-ถนนสาธรใต้  หรือ“อัลลิย้อง”  ที่ตัวเองคุ้นเคย รู้จัก ผูกพัน  สถานที่พิเศษในกรุงเทพฯที่ประทับใจแต่วัยเยาว์ ได้หายไปจากกรุงเทพฯและหายไปจากชีวิตผู้เขียนตลอดกาล  จะเหลืออยู่ก็เฉพาะในความทรงจำ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ภาษาฝรั่งเศสจะหายไปจากตัวผู้เขียน  ผู้เขียนจะยังคงท่องโลกฟร็องโกโฟนีผ่านทางอินเตอร์เนตได้ทั่วทุกแห่งหน  รวมทั้งที่ร้านอินเตอร์เนตใกล้หมู่บ้านที่ปักษ์ใต้  ส่วนในอนาคต การเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯครั้งต่อ ๆ ไป  ผู้เขียนก็จะตรงไปกินคร้วซ็องต์สักชิ้นกับกินกาแฟร้อนสักแก้ว ที่สมาคมฝรั่งเศส-ลุมพินี ซึ่งก็ได้แวะไปทำความรู้จักมาแล้วในการเดินทางครั้งนี้ – สวัสดีครับ และขอบคุณที่อ่าน


จบบริบูรณ์

---------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น