open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฆ่านางสาวนายกฯ - ไม่บาป? กรณีของ เพนะซีระ ภุทโท (बेनज़ीर भुट्टो)

นางสาวเพนะซีระ ภุทโท बेनज़ीर भुट्टो  ตอน 1/3
เมื่อ นายกรัฐมนตรีหญิง ถึงคิวฆ่า



ก่อนที่เธอ จะถูกสังหาร

นางสาว เพนะซีระ ภุทโท ( बेनज़ीर भुट्टो ) ได้แสดงความจำนง ขอความคุ้มครองเพิ่มขึ้น จากรัฐบาลสองรัฐบาล คือรัฐบาลปากีสถานและรัฐบาลสหรัฐฯ คำร้องขอของเธอ ระบุด้วยว่า เธอต้องการ การคุ้มครองจากกิจการอารักขาบุคคลสำคัญ ของธุรกิจรปภ.ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯบริษัทหนึ่ง หรือกิจการรปภ.ที่มีชื่อเสียงในอังกฤษบริษัทหนึ่ง กิจการใดกิจการหนึ่งก็ได้  ผลปรากฏว่า ทั้งรัฐบาลปากีสถานและรัฐบาลสหรัฐฯ ปฎิเสธคำขอของเธอ

หลังจากที่เธอถูกสังหาร องค์การสหประชาชาติ ได้ดำเนินการสืบสวนคดีอาชญากรรม ตามคำขอของรัฐบาลปากีสถาน โดยมีร.ม.ต.มหาดไทย นายเรมัน มาลิก เป็นเจ้าความคิดต้นเรื่อง สหประชาชาติแต่งตั้ง เอกอัครราชทูตชิลีประจำองค์การสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะ มีอดีตอัยการสูงสุดของอินโดเนเซีย และอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จากประเทศไอร์แลนด์ เป็นสมาชิกในทีมงาน

คณะสืบสวนดังกล่าว รายงานว่า การฆาตกรรม นางสาว เพนะซีระ ภุทโท สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้ามีการรักษาความปลอดภัย อย่างเพียงพอ

และ ยังระบุเน้นอีก ว่า ...แต่การรักษาความปลอดภัย ที่รัฐบาลปากีสถาน จัดอารักขา นางสาวภุทโท นั้น บกพร่องอย่างมาก และไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ธุรกิจ น้ำดำ     

ธุรกิจรปภ. มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ซึ่งนางสาวเพนะซีระ ภุทโท ต้องการให้มาอารักขาเธอ ชื่อว่าธุรกิจ น้ำดำ  แต่ไม่ใช่โซดาน้ำดำ แบบเปปซี่หรือโคคาโคลา หากว่าเป็นชื่อที่เรียกกัน ในวงการรปภ.เอกชนระดับนานาชาติ ซึ่งกิจการนี้ จะเป็นใครเสียอีก ถ้าไม่ใช่หนึ่งในบรรดากิจการรปภ.สามบริษ้ท ที่กองทัพสหรัฐฯใช้บริการมากที่สุด แม้ในขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้-เดือนกันยายน 2554 บริษัทนั้น มีชื่อภาษาอังกฤษ ตรงตามคำภาษาไทย ว่า สำนักงาน แบล็ค วอเตอร์

ปัจจุบัน ใช้ชื่อทางการว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็กอี เซอร์วิส  สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มลรัฐ นอร์ธ คาโรไลนา ผู้ก่อตั้งและบริหารกิจการ เคยทำงานกับซีไอเอ มาก่อน กิจการนี้มีสำนักงานสาขาหลายแห่ง คนเด่นคนดังทั่วโลก เรียกใช้บริการ

เกี่ยวกับการฆาตกรรมนางสาวเพนะซีระ นั้น ในที่สุด นายเรมัน มาลิก รมต.มหาดไทย ปากีสถาน ได้สรุปโดยอ้าง ทฤษฎีสมคบ (conspiracy theory)”  ว่า เราเชื่อว่า การสังหารครั้งนี้ เป็นการสมคบกัน ในระดับนานาชาติ

เพนะซีระ ภุทโท  बेनज़ीर भुट्टो  เธอคือใคร

อาจารย์ติวอาวุโสท่านหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัย อ็อกฟอร์ด ยังจำเธอได้ อาจารย์ติวท่านนี้ เคยให้สัมภาษณ์ บีบีซี ว่า

เพนะซีระ  ใช้รถสปอร์ตยี่ห้อดัง สีเหลืองแตะตา ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดส่งรายงาน เธอมาบอกดิฉันว่า หนูเขียนรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ จารย์ แต่ว่า ทิ้งไว้ในรถสปอร์ตของหนู แล้วใครก็ไม่รู้ มาลักรายงานของหนูไป

ดิฉันก็เลยบอกเธอไป ว่า นี่แนะ เพนะซีระ เธอกำลังพยายามจะพูด ให้ครูเชื่อว่า มีคนมาขโมยรายงานส่งอาจารย์ ที่วางอยู่ในรถ แทนที่จะขโมยรถยนตร์ของเธอ รึงัยจ๊ะ

เรื่องจริงเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า เพนะซีระ  น่าจะเป็นนักการเมืองเต็มร้อย มาตั้งแต่ครั้งเมื่อเธอยังเป็นนักศึกษาสาว

เพนะซีระ ภุทโท หัวนอนปลายตีน

ถ้าเราจะย้อน มองเรื่องราวของปากีสถาน ก่อนได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ เราต้องลบเส้นพรมแดนระหว่างปากีสถาน กับอินเดียปัจจุบัน ทิ้งเสีย แล้วเราจะแลเห็น แผ่นดินชมพูทวีป เป็นผืนเดียวกันทั้งผืน

ในคัมภีร์พระเวท บรรยายภูมิศาสตร์อันเลือนรางยุคดึกดำบรรพ์ไว้ว่า แผ่นดินชมพูทวีปนี้ ก่อนจะถึงลุ่มน้ำสินธุ ( सिन्धु ) แม่น้ำสายหลักของปากีสถานปัจจุบัน  มีแม่น้ำสำคัญอยู่สี่สาย ไล่จากทิศตะวันออกสุด มาตะวันตก คือ แม่น้ำคงคา ถัดมาเป็นแม่น้ำยมุนา ถัดมาคือแม่น้ำสุรัสวดี และถัดมาคือแม่น้ำศุตุทรี(शुतुद्रि) แต่แม่น้ำสุรัสวดี ได้เหือดแห้งหายไปในเขตทะเลทราย เหลือแต่ชื่อ กลายเป็นแม่น้ำปรัมปรา มานานแล้ว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ดาวเทียม ถ่ายภาพด้วยกล้องอินฟาเรดทะลุชั้นดิน พบรอยของร่องน้ำดึกดำบรรพ์ชัดเจน พาดจากตีนเขาหิมาลัยลงใต้ ในตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ นักโบราณคดีที่ อิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ตั้งข้อสันนิษฐาน ว่า นั่นคือแม่น้ำสุรัสวดี  ตามที่ว่าไว้ในคัมภีร์

แต่ แม่น้ำที่น่ามหัศจรรย์อีกสายหนึ่ง ก็คือ สินธุ  ซึ่งเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ที่สุด เท่าที่พบกันในชมพูทวิป รุ่งเรืองมาตั้งแต่ก่อนเกิดศาสนาพราหมณ์ คำว่า สินธุ ในภาษาสันสกฤต ได้เพี้ยนผ่านภาษาตะวันตก เช่น ภาษากรีกโบราณ และ ภาษาอังกฤษ จนกลายมาเป็นคำยืมที่ บริทิศ ราช  ใช้เรียกแผ่นดินชมพูทวีปทั้งผืน ว่า อินเดีย  และทั่วโลก ยกเว้นอินเดียเอง ก็เรียกตาม ๆ กันมา จนเท่าทุกวันนี้

คนอินเดีย ไม่ได้เรียกประเทศอินเดียว่า อินเดีย  แต่เรียกประเทศตนว่า ภารตะ  คำคุณศัพท์ว่า Indian  เขาก็ไม่ได้ใช้กัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับอินเดีย เขาใช้คำว่า ภารัติยะ  แทน เช่น ภารัติยะ นาวา เสนา = กองทัพเรืออินเดีย  หรือ ภารัติยะ วายุ เสนา = กองทัพอากาศอินเดีย หรือ ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน = ศูนย์การแพทย์แห่งอินเดีย เป็นต้น

ส่วนพวกอินเดียแดงในอเมริกันนั้น ทางอินเดียเขาก็เรียกตรง ๆ ว่า อเมริกัน อินเดียน  หรือ อินเดียน เฉย ๆ เขียนตรงตามเสียงว่า इन्डियन्स = อินีฑะยะนะสะ  พยายามหน่อยครับ พยายามอ่านเร็ว ๆ แบบแขก แล้วมันจะกลายเป็น อินเดียนส์ ซึ่งจะหมายถึงอินเดียแดงในอเมริกา และไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้อง พาดพิง ถึงคนอินเดียในชมพูทวีป เลย

แม่น้ำสินธุ เป็นลำน้ำตามธรรมชาติ ที่เคยทำหน้าที่เหนือธรรมชาติ คือได้กลายเป็นเครื่องกีดขวางทางจิตใจ ทำให้กองทัพกรีกของอะเล็กซานเดอร์มหาราช เกิดอาการถอดใจ ท้อถอย  ระย่อที่จะข้ามแม่น้ำใหญ่สายนี้ เพื่อจะลุยลึกเข้ามาในชมพูทวีป

อนึ่ง ตำนานเล่าว่า จันทระคุปตะ  ในวัยเด็กน้อย ได้มาพบเห็นกองทัพกรีกอันอลังการ ของอะเล็กซานเดอร์ ที่ริมฝั่งน้ำสินธุ และประทับใจยิ่งนัก และต่อมา จันทระคุปตะ ในวัยเติบใหญ่ ก็ได้สร้างมหาอาณาจักรแรก ที่กว้างใหญ่ครอบคลุม แทบจะทั่วทั้งแผ่นดินอินเดียกับปากีสถานปัจจุบัน

แม่น้ำคงคา คือลำน้ำสำคัญทางศาสนา แต่สินธุ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมือง

ทุกวันนี้ กลุ่มชนในลุ่มน้ำสินธุ เรียกกันว่า ชาวสินธี ภาษาที่ใช้ ก็เรียกว่าภาษาสินธี อยู่อาศัยในแคว้นใหญ่ในประเทศปากีสถาน ชื่อแคว้นสินธ์  มีปริมณฑลเป็นใจกลางประเทศ ครอบคลุมลุ่มน้ำสินธุตอนกลางและตอนล่าง มีเมืองสำคัญ คือ เมืองการาจี ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศ ชาวสินธี ในปากีสถาน นับถือศาสนาอิสลาม ชาวสินธี ในเขตอินเดีย นับถือฮินดู ภาษาสินธีในปากีสถาน เขียนด้วยอักขระเปอร์เซีย-อาระบิค (คือ อาระบิคกลายพันธ์) ภาษาสินธีในอินเดียนั้น ทางการเขาสั่งมาว่า เรามาร่วมด้วยช่วยกัน คิดใหม่ทำใหม่ มาเขียนด้วยอักขระเทวะนาครี จะดีกว่า แต่ชาวสินธีทั้งหลายในอินเดีย ก็หานิยมไม่

ปัจจุบันนี้ ชาวสินธ์ในปากีฯ มีจำนวนประมาณเท่า ๆ กับคนปาทานในปากีฯ ซึ่งไม่ใช่เสียงส่วนมากในปากีฯ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ในปากีฯ คือ ชาวปันจาบี ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่อยู่อาศัยทางด้านอิสานของประเทศ  ต่อมาปากีสถานก็ได้ย้ายเมืองหลวง จากเมืองการาจีในแคว้นสินธ์ ไปอยู่ทางอิสาน ใกล้ชิดกับพวกปันจาบี ที่เมืองอิสลามาบัด เปรียบเสมือนว่า เมืองไทยย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่อุดรธานี ฉะนั้น

ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ บางทีเราจะรู้สึกคุ้นกับปากีสถาน มากกว่า อินเดียด้วยซ้ำ เพราะว่า ปากีฯเป็นประเทศมุสลิมประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เราคุ้นกับคนปาทาน และประการสุดท้าย อาหารมุสลิมในกรุงเทพฯ หรือบางทีเราก็เรียกกันติดปาก เป็นภาษาปาก แม้จะผิดไวยากรณ์ของภาษาเขียน ว่า อาหาร อิสลาม ท่านผู้รู้บอกว่า อาหารอิสลามในเมืองไทยได้รับอิทธิพล จากอาหารปากีสถาน เป็นหลัก   

ปากีสถาน มีความมหัศจรรย์ไปอีกแบบ ก็คือผู้คนในปากีฯ ผสมผสานหลายเผ่าพันธ์ คล้าย ๆ กับผู้คนในเมืองไทย คนจากเมืองไทยที่ไปเรียนหนังสือที่ปากีฯ ประจักษ์แจ้งความจริงข้อนี้ กันทุกคน ซึ่งก็แสดงได้ชัดเจนจากครอบครัวของ นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  ที่มีเทือกเถาเหล่ากอดั้งเดิม มาจากแคว้นสินธ์ จากตระกูลเจ้าของที่ดินเก่าแก่ มีเชื้อสายราชปุท ซึ่งก็เป็นกลุ่มชนกลุ่มสำคัญ ในชมพูทวีปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในรัฐราชสถานของอินเดีย ที่ต่อแดนกับปากีฯ

ความเป็น ราชปุท  มีความหมายมิใช่น้อย คนเผ่าพันธุ์นี้ขึ้นชื่อว่า เป็นนักรบมาแต่โบราณ ไล่ย้อนเรื่องราวเล่าขาน ขึ้นไปได้ถึงยุคคัมภีร์พระเวท เรื่อยมานับพันปีจนถึงยุค บริทิศ ราช กองทัพอังกฤษในอินเดีย ระดมพลมาจากพวกราชปุท คนอินเดียระดับนายทหารใน the British Indian Army จะเป็นพวกราชปุทกันมาก และแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ เราสามารถชี้ตัวกันได้เลย ว่า นายทหารของ กองทัพอินเดีย (भारतीय सशस्त्र सेनाएं = ภารัติยะ สะศาสตรา เสนา ) ในปัจจุบัน จะเป็นคนเชื้อสายราชปุท มิใช่น้อยเลย   

คำว่า ราชปุท เพี้ยนมาจากคำสันสกฤตว่า ราชบุตร  หรือ บุตรของราชา ทั้งนี้ ชาวราชปุทถือตนว่า เป็นคนวรรณะกษัตริย์ ( क्षत्रिय वर्ण  = กษัตริยะ วะระณะ ) เราอาจกล่าวโดยสังเขป ได้ว่า ชาวราชปุท คือกลุ่มคนวรรณะกษัตริย์ ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน กลุ่มใหญ่ที่สุดในอินเดียปัจจุบัน ก็ว่าได้

คุณปู่ทวดของ เพนะซีระ เป็นคนราชปุทมุสลิม ที่เลื่อมใสความก้าวหน้าของตะวันตก และได้ส่งบุตรชาย คือคุณปู่ของเพนะซีระ ไปเรียนที่อังกฤษ ซึ่งต่อมา คุณปู่ก็ได้เข้าทำงานกับระบบราชการอาณานิคม จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์ ได้ภรรยาเป็นฮินดู ที่เปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามก่อนแต่งงาน ถัดมาถึงชั้นคุณพ่อของเพนะซีระ อันได้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานาธิบดีปากีสถาน นายซุลฟีคาร์ อาลี ภุทโท ซึ่งคนไทยจะคุ้นกับชื่อท่านผู้นี้ ผู้ริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ของปากีฯ นายซุลฟีคาร์ อาลี ภุทโท ได้รับการศึกษาเต็มรูปแบบตะวันตก ผ่านการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยคาลิฟฟอร์เนีย ที่เบิร์คเลย์ และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ที่อังกฤษ  

ครั้นล่วงถึงรุ่น เพนะซีระ เธอใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกในบ้าน รองมาคือภาษาอูรดู อันเป็นภาษากลางของปากีสถาน แต่ก็น่าแปลก ที่แม้จะสืบเชื้อสายชาวสินธ์ และเกิดในแคว้นสินธ์ แต่เธอพูดภาษาสินธีไม่ได้ และแม้แต่ภาษาอูรดูของเธอ ก็พูดไม่ใคร่จะชัด และผิดไวยากรณ์บ่อย ๆ คล้าย ๆ เป็นคนไทย แต่พูดภาษาไทยสำเนียงอังกฤษ ฉะนั้น

คุณแม่ของ เพนะซีระ มาจากตระกูลพ่อค้าชาวอิหร่านเชื้อสาย กุรทิ  ภาษาอังกฤษเขียนว่า “Kurds” ซึ่งมาตั้งหลักแหล่งค้าขายในเมืองการาจี ในแคว้นสินธุ์ในปากีสถาน ชาวกูรทิดั้งเดิม และแม้ปัจจุบัน มีถิ่นฐานอยู่ที่ตะวันออกกลาง ในปริมณฑลที่เรียกว่า กุรทิสตาน - क़ुर्दिस्तान  ซึ่งคาบเกี่ยว คร่อมอยู่ระหว่างประเทศตุรกีภาคใต้ ประเทศอิรัคภาคตะวันออก และอิหร่านภาคตะวันตก

เหตุที่ค้นคว้าเขียนภูมิหลังยืดยาว ก็เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า แม้คนในเมืองไทย จะรู้สึกคุ้นกับปากีฯ แต่พวกเราบางคน รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง ก็ขี้มักจะนึกว่า คนปากีฯก็คือคนปาทาน ซึ่งยังเป็นความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนไปสักหน่อย เพราะจริง ๆ แล้วประเทศปากีสถาน ในแง่ของความคละเคล้าของผู้คน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะ เป็น พหูพจน์ มาก ๆ     

เวทีการเมือง ของเพนะซีระ

เพนะซีระ ผ่านการเรียนจากโรงเรียนคอนแวนต์ ทั้งในการาจีและที่เมืองราวัลปินดี เมืองใหญ่ติดกับอิสลามาบัด ที่เธอถูกสังหาร  ต่อมา หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เธอก็ได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ในอังกฤษ 

ที่อ็อกฟอร์ด เธอมีเกียรติประวัติ ดำรงตำแหน่งประธานชมรมคนแรก ที่เป็นสตรีเอเชีย ของ  อ็อกฟอร์ด ยูเนี่ยน  ซึ่งเป็นสมาคมอภิปรายโต้วาที ที่มีเกียรติสูง ทั้งในประเทศอังกฤษและในโลกของอดีตอาณานิคมอังกฤษทั้งหลาย สมกับที่เธอได้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาแรกมาจากที่บ้าน แต่ชมรมนี้ ไม่ใช่ชมรมโต้วาที แบบ จำอวด+กึ่งตลกคาเฟ่+ปนลิเกท้ายตลาด+แทรกหมอลำ+ออกงิ้ว+แกมลิเกฮูลู+ผสมหนังตลุง+เจือสมละครลิง+นางสาวกรรณิการ์ ธรรมเกสร  แบบที่ผมเคยเป็นสมาชิกนะครับ  คือว่า ก็ไม่ได้มีชมรมใครดีกว่าใคร เพียงแต่ว่า เป็นชมรมคนละสไตล์กัน ถ้า นางสาวเพนะซีระ สมัครเป็นสมาชิกชมรมผม เธอสอบตกแน่นอน

การดำรงตำแหน่ง ประธานชมรม อ็อกฟอร์ด ยูเนี่ยน ปี 2519 น่าจะถือได้ว่า เป็นการขึ้นเวทีโรงเรียนการเมือง ครั้งสำคัญของ นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  





นางสาว เพนะซีระ ภุทโท बेनज़ीर भुट्टो  ตอน 2/3
เมื่อนายกรัฐมนตรีหญิง  ถึงคิวถูกฆ่า--เธอตายในรถกันกระสุน


ज़ुल्फ़िकार अली भुट्टो (ซุละฟิการ์ อะลี ภุทโท) --ภุทโทผู้พ่อ

เรา ในฐานะชาวต่างชาติ ยากที่จะเห็นภาพ ของ นางสาว เพนะซีระ บนเวทีการเมืองได้เต็มรูป  ถ้าเราไม่ได้เห็นเค้าร่างของคุณพ่อเธอ นาย ซุละฟิการ์ อะลี ภุทโท  ผู้เขียนเห็นว่า ท่านผู้นี้เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งยงคนหนึ่ง ในดินแดนเอเชียใต้ ยุคหลังอาณานิคม ซึ่งหมายรวม 4 ประเทศ คือ ปากีสถาน อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา ยากที่จะพบทางเดินชีวิตการเมือง ของนักการเมืองชมพูทวีปผู้ใด จะโชกโชน เข้มข้น มีสีสัน มีเนื้อหาสาระ มีความสำเร็จและมีความล้มเหลว มากไปกว่าท่านผู้นี้ ซึ่งในที่สุด ก็ได้สังเวยชีวิตเซ่นเวทีการเมืองปากีสถาน

สมมติว่า ในจิตใจของเรา เราไม่ได้แบ่งชมพูทวีปเป็นสี่ประเทศ แต่แลเห็นเป็นแผ่นดินผืนเดียว ทั้งนี้ เพื่อจะเทียบกับเมืองจีน ดังนี้แล้ว ตัวตนของ ซุละฟิการ์ อะลี ภุทโท นั้น น่าจะเทียบได้โดยเลา ๆ กับอดีตนายกรัฐมนตรี จู เอนไล ของจีน กล่าวคือ ทั้งสองท่าน ต่างก็มีบทบาทกว้างลึก บนแผ่นดินท่าน แต่ขณะเดียวกัน ทั้งสองท่าน ต่างก็มีเกียรติภูมิสง่างาม เป็นที่เคารพนับถือ บนเวทีการเมืองนานาชาติ ในยุคสมัยของท่าน

นาย เฮนรี คิสซิงเกอร์ อดีตร.ม.ต.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ผู้มีความเห็นต่าง เรื่องการเมืองโลก กับ ภุทโทผู้พ่อ แต่เฮนรี คิสซิงเกอร์ ก็ยกย่องภุทโทผู้พ่อ ว่า เป็นคนเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง มีเสน่ห์ และมีความคิดความอ่านระดับโลก

เป็นเด็กเบิร์คเลย์

หลังจากเรียนจบปีที่สอง ที่มหาวิทยาลัย เซาเทอร์น แคลิฟอร์เนีย ซุละฟิการ์ อะลี ก็โอนหน่วยกิต ขอเข้าเรียนต่อปริญญาตรีช่วงปลาย ชั้นมหาวิทยาลัยปีสามกับปีสี่ กับมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์คเลย์ อันเป็นสถาบันขึ้นชื่อในสมัยนั้น ว่า มีความคิดความอ่านก้าวหน้ายิ่งนัก ท่านสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์ ที่นั่น เมื่อปี 2493  

เราอาจจะสนใจประวัติศาสตร์สมัยใหม่ น้อยไปสักนิด ถ้าเราคิดว่า สปิริตเบิร์คเลย์ตายสนิทแล้ว เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ เกิดการสังหารหมู่ที่นอร์เวย์ ท่านที่ติดตามข่าว และสนใจประวัติศาสตร์ ย่อมทราบได้จากเนื้อข่าว ว่า ฆาตกรชาวนอร์เวย์ผู้นั้น รับมรดกความคิดเชิงขบถกิ่งหนึ่ง ไปจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ในแวดวงสปิริตเบิร์คเล่ย์ ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ อดีตอาจารย์ที่เบิร์คเลย์ท่านนั้น ติดคุกตามคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ชนิดห้ามฎีกาเด็ดขาด อยู่ในคุกขังลืมของกรมราชทัณฑ์ สหรัฐฯ (the Federal Bureau of Prisons) -จะไม่ขอลงรายละเอียด

แต่สปิริตเบิร์คเลย์เป็นเรื่องเชิงบวก มากกว่าที่จะเป็นเชิงลบ การทบทวนกระแสความคิดความอ่านแบบตะวันตกเสียใหม่ ซึ่งเบิร์คเลย์เป็นแหล่งกระตุ้น มีส่วนสร้างสรรค์สังคมอเมริกันและโลก ในระยะต่อ ๆ มา  อย่างชนิดที่ไม่มีวิญญูชนใด จะปฎิเสธได้ 

ครูบาอาจารย์ของผู้เขียน ผู้กระตุ้นความคิดความอ่าน ในระยะของการเติบโตทางจิตใจ ซึ่งรวมทั้งเรื่องการมองประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดี ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กเบิร์คเลย์ ทั้งนั้น  วิชาบางวิชาที่นำมาเรียนมาสอนกัน ก็ ก็อป จากเบิร์คเลย์ จะไม่ขอลงรายละเอียด ความจริงข้อนี้ ผู้เขียนเพิ่งจะรู้ เมื่อไม่นานมานี้เอง

แล้วมาเรียนต่อ ที่อ็อกฟอร์ด

จากเบิร์คเลย์ ซุละฟิการ์ อะลี ก็เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย อ็อกฟอร์ด ในประเทศอังกฤษ ตามประเพณีปฏิบัติของคนชั้นผู้นำทั้งหลาย ในประเทศอดีตอาณานิคมอังกฤษ ที่จะต้องมาเรียนกันที่มหาวิทยาลัย อ็อก-บริดจ์ สถาบันใดสถาบันหนึ่ง มิฉะนั้น จะไม่มีสิทธิเป็นผู้เป็นคน ซ้ำร้าย บางทีอาจจะถือว่า จะเป็นได้ก็แต่ วัวควาย

แต่ ท่านที่ผ่านสถาบันนั้นมาแล้ว ที่ยังเป็น ควาย  ก็มี ไม่ได้วิเศษวิสาโสไปเสียทั้งหมด เนื่องจากท่านเป็นกรณียกเว้น สุดที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด จะขูดความเป็นควายทิ้งเสียได้ บางครั้ง ท่านผู้อ่านและผู้เขียน ก็ต้องยอมรับความจริงกันนะ ว่า ต่อให้อ็อกฟอร์ดก็เถอะ ยังต้องยอมจำนนต่อควาย  ถ้าเจอกับ ควายจริง  เช่น ตัวผู้เขียนในบางอารมณ์ เป็นต้น

ที่อ็อกฟอร์ด ซุละฟิการ์ อะลี ภุทโท จบปริญญาตรีและโท ทางกฎหมาย แล้วแถมด้วยปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ ท่านฝึกทนายและฝึกงานกฎหมายเมื่อปี 2496 กับสถาบัน ลิงคอล์น อินน์ สำนักเดียวกันกับที่รัฐบุรุษอาวุโสของปากีฯ คือ มูฮัมหมัด อะลี จินนาห์ เคยผ่านมาก่อน ท่านแต่งงานครั้งที่สอง กับคุณแม่ของ เพนะซีระ ระหว่างที่กำลังเป็นนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัย อ็อกฟอร์ด  ครั้นสำเร็จการศึกษา กลับมาปากีฯ ท่านก็มาเป็นครูสอนกฎหมาย และทำงานทนาย ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินที่ดินของตระกูล อยู่ที่นครการาจี   

ขึ้นเวทีการเมือง ตั้งแต่อายุยังน้อย

นับแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ท่านก็ขึ้นมาโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองของปากีฯ เริ่มจากได้รับแต่งตั้ง เป็นสมาชิกอาวุโสน้อยสุด ในคณะผู้แทนปากีฯในสหประชาชาติ ในปีรุ่งขึ้นก็ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลของ ประธานาธิบดี จอมพล มะฮามัท อะยูบ ขาน(महामद अयूब खान) ผู้ก่อการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ แล้วได้ตั้งให้ ภุทโทผู้พ่อ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด ทำงานเข้ากันได้ดีกับ จอมพล อะยูบ ขาน กลายเป็นคนโปรด ได้ผ่านงานรัฐมนตรีหลายกระทรวง มีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ และอำนาจวาสนาบารมีทางการเมือง อย่างมหาศาล  ผ่านงานยาก ๆ หลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น เจรจาสัญญาปันน้ำแม่น้ำสินธุกับอินเดีย ตลอดจน เจรจาสำรวจแหล่งน้ำมัน ร่วมกับสหภาพโซเวียต เป็นต้น

สิบปีให้หลัง ท่านก็มี ประสบการณ์ทางการเมือง บวกกับ ความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง  บวกกับ แหล่งทรัพยากร  พอที่จะตั้งพรรคการเมือง และได้ตั้งพรรค पाकिस्तान के राष्ट्रपति (ปากีสตาน เกะ ราษทระปาตี =พรรคแห่งชาติปากีสถาน) ชื่อย่ออังกฤษว่า พรรค PPT มีผู้แปลชื่อพรรคในภาษาอังกฤษ ว่า พรรคประชาชนปากีสถาน ผู้เขียนขอเรียกตามชื่อต้นตอดั้งเดิม ว่า พรรคแห่งชาติปากีฯ แล้วกัน แรกเริ่มก็มีฐานที่มั่น อยู่ในแคว้นสินธ์ ต่อมาก็ขยายแผ่ออกไปในปันจาบ และรัฐอื่น ๆ กลายเป็นพรรคการเมืองพรรคสำคัญของปากีสถาน มาจนบัดนี้

พรรคแห่งชาติปากีฯ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งประธานฯพรรค จวบกระทั่งถึงวันที่ท่านถูกประหารชีวิต มีคำขวัญที่น่าสนใจ ว่า อิสลาม คือศาสนาของเรา ประชาธิปไตย คือ การเมืองของเรา สังคมนิยม คือเศรษฐกิจของเรา  นางสาว เพนะซีระ ภุทโท ก็ได้อาศัยบุญญาบารมี ของพรรคการเมืองพรรคนี้ สนับสนุนเธอ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ในประเทศที่นับถืออิสลาม เป็นศาสนาหลัก



เล่าย่อ ๆ

ย่อเรื่องยืดยาว และมากมายก่ายกอง ให้เหลือนิดเดียว ว่าในที่สุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2520  หลังจากเกิดภาวะวุ่นวายในสังคม บิดาของเพนะซีระ ก็ถูกนายพล महामद ज़िया-उल-हक มะฮามัท ซิยา-อุล-ฮัก  หรือที่เมืองไทยรู้จักท่านผู้นี้ในนาม ว่า เสธฯเซียะ นายพลปากีสถานผู้โด่งดังมาจาก ภารกิจในตะวันออกกลาง ได้ทำรัฐประหารแบบไม่เสียเลือดเนื้อ ขับนายภุทโท ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพ้นเวทีการเมืองที่ท่านคร่ำหวอด มาครบยี่สิบปีพอดี

แล้วในปีรุ่งขึ้น เดือนกันยายน 2521 วิถีการเมืองของคุณพ่อของเพนะซีระ ก็แทบจะเรียกได้ว่า ถูกปิดสนิท เมื่อ เสธฯเซียะ สถาปนาตนเองสวมตำแหน่ง पाकिस्तान के प्रधान मन्त्री = ปากิสตาน ประธาน มนตรี = ประธานาธิบดี ปากีสถาน แล้วก็ส่งคุณพ่อของเพนะซีระ ขึ้นศาลทหาร ข้อหาฆาตกรรมนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจากแคว้นปันจาบ ศาลทหารตัดสินประหารชีวิต  แม้ผู้นำต่างประเทศหลายประเทศ จะส่งฎีกามาขอชีวิตคุณพ่อของเพนะซีระ  แต่ว่า เสธฯเซียะ ก็ไม่เว้นชีวิตให้ คงให้ตายตกไปตามกัน ตามคำพิพากษา คุณพ่อของเพนะซีระ ถูกแขวนคอ เมื่อปี 2522  ส่วนคุณแม่ก็ถูกกักบริเวณอยู่ระยะหนึ่ง 

อีกสิบปีต่อมา ในปี 2531 เสธฯเซียะกับคณะรัฐมนตรีบางส่วน รวมทั้งทูตอเมริกันประจำปากีสถาน ก็นัดกันไปตายกับเครื่องบิน ที่พลัดตกเวหา ลงมายู่ยี่กระจัดกระจาย กระจุยอยู่กับพื้นพสุธาในรัฐปันจาบ ซึ่งเวลานี้ อาจมีเด็กชั้นประถมในปากีฯ ไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังเชื่อว่าเหตุการณ์เครื่องบินตก ตายหมู่ทางการเมือง ครั้งนั้น เป็นอุบัติเหตุแท้จริง       

วาระของ เพนะซีระ บ้าง

เพนะซีระ แต่งงานกับท่านประธานาธิบดีปากีสถานคนปัจจุบัน นายซาร์ดารี ก่อนเสธฯเซียะเกิดอุบัติเหตุตาย หนึ่งปี  และปีเดียวกับที่เสธฯบ๊ายบาย ไปกับคณะรัฐมนตรีบางส่วน รวมทั้งทูตอเมริกันในพ.ศ. 2531 นั้น นางสาว เพนะซีระ ที่อายุได้ 35 ปี ก็ได้เป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ในประเทศที่คนส่วนมากนับถืออิสลาม  ในรอบแรกนี้ เธอดำรงตำแหน่ง นางสาว-นายกรัฐมนตรี-หญิง  อยู่ได้ยี่สิบเดือน ก่อนที่จะถูกอำนาจประธานาธิดี ถอดเธอออกจากตำแหน่ง ปี 2533 ในข้อหาคอรัปชัน

เธอสร้างประวัติศาสตร์เพิ่มเติม  ด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในโลก ที่ให้กำเนิดบุตร ระหว่างดำรงตำแหน่ง ซึ่งก็ยังไม่มีผู้ใดมาต่อท้าย บันทึกเกียรติยศรายการนี้ ของเธอ...

ถอดได้ถอดไป ถึงปี 2536 เธอก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น นางสาว-นายกรัฐมนตรี-หญิง อีกครั้งหนึ่ง  ครั้นอีกสามปีต่อมา ในปี 2539 ประธานาธิบดีปากีฯ ซึ่งมาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวกับเธอแท้ ๆ ก็ถอดเธอออกจากตำแหน่งอีกครั้ง ในข้อหาคอรัปชันเหมือนกับครั้งที่แล้ว  เมื่อถูกถอดครั้งหลังนี้ เธอถอดใจ และก็สมัครใจเนรเทศตัวเอง ออกไปอยู่ต่างประเทศที่ ดูไบ  และต่อมาก็ไปอยู่ที่ ลอนดอน

กลับจาก ดูไบ และ ลอนดอน

หายหน้าหายตา ไปจากหนังสือพิมพ์รายวันหน้าหนึ่ง ร่วมสิบปี จนถึงปี 2550 เธอได้เจรจากับทางการปากีสถานในเวลานั้น ด้วยการสนับสนุนจากอังกฤษและอเมริกัน จนได้รับอภัยโทษจาก ประธาน-มนตรี ฯพณฯ ปะระเวซ มุศระรัฟ (परवेज़ मुशर्रफ़ ) โดยมีข้อตกลงกันว่า จะมีการปันอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในปากีฯ ในเดือนมกราคม 2551

เพนะซีระ เดินทางถึงปากีฯ ตุลาคม 2550 กลับมาทำหน้าที่คล้าย ๆ กับเป็นหัวหน้ากลุ่มฝ่ายค้าน และเตรียมการรณรงค์ทางการเมือง เพื่อการเลือกตั้งเดือนมกราคมปีรุ่งขึ้น
แต่ทันทีที่เท้าแตะพื้นแผ่นดินบ้านเกิด ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะดี ซึ่งรองรับการเจรจาปรองดองทางการเมืองก่อนหน้านี้ ที่ดูเหมือนจะสมานฉันท์ก็พลันเป็นไงก็ไม่ทราบ กลับพลิกโผรสชาติ กลายเป็นเปรี้ยวทันที

วันที่ 27 ธันวาคม 2550 นางสาว เพนะซีระ ภุทโท ถูกฆ่าตาย ก่อนการเลือกตั้งเพียงสองสัปดาห์  ในขณะที่เธอกำลังอยู่ระหว่างรณรงค์หาเสียง ในนามพรรคแห่งชาติปากีฯ ที่เมืองราวัลปินดี อันเป็นเมืองใหญ่ลำดับสามของปากีฯ ตั้งอยู่ในรัฐปันจาบ และเป็นเมืองที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพปากีฯ เมืองนี้อยู่ติดกับเมืองหลวง คือ กรุงอิสลามาบัด หรือพูดให้ถูก กรุงอิสลามาบัด ตั้งอยู่ที่ชานเมืองราวัลปินดีน่าจะถูกกว่า คล้าย ๆ กับว่า ถ้าเมืองไทยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตัวเมืองอุบลก็คือราวัลปินดี ส่วนอิสลามาบัดก็คือเมืองฝั่งตรงข้ามที่จะต้อง ข้ามฝั่งวาริน มา นั่นเอง

ทางด้านเมืองราวัลปินดี นี้ ถูกจารึกไว้กับการเมืองปากีฯ ในฐานะคล้ายกับจะเป็น คิลลิง ฟิลด์ หรือ แดนประหาร  สำหรับนักการเมืองระดับ ดัง ๆ เช่น

          -ปี 2494 นายกรัฐมนตรีคนแรก ของปากีฯ นายลิอะกาท อะลี ขาน ถูกลอบสังหาร
           ที่เมืองนี้

          -ปี 2522 อดีตนายกรัฐมนตรี ซุละฟิการ์ อะลี ภุทโท ถูกประหารชีวิต
           ด้วยการแขวนคอ ที่นี่

          -ปี 2550 อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาว เพนะซีระ ภุทโท ถูกลอบสังหาร ที่นี่

          -ปี 2552 เกิดเหตุลอบสังหาร นายพลคนดังคนหนึ่ง ที่นี่

เธอกลับมาตาย แท้ ๆ

-      ตุลาคม 2550 นางสาว เพนะซีระ ภุทโท เดินทางกลับถึงปากีสถาน ลงเครื่องบินที่เมืองการาจี เมืองหลวงเก่าของปากีฯ ตั้งอยู่ในแคว้นสินธ์ อันเป็นดินแดนฐานเสียงของตระกูลภุทโท ขบวนต้อนรับเธอ จัดกันเป็นขบวนใหญ่ เพื่อแห่แหนรอบเมือง และขบวนดังกล่าวถูกระเบิดโจมตีสองครั้ง แต่ นางสาว เพนะซีระ ปลอดภัย มีคนตาย 150 คน ในเหตุการณ์นั้น

คล้าย ๆ กับว่า นักการเมืองดังที่เคยอยู่ ดูไบและลอนดอน แบบเดียวกับนางสาว เพนะซีระ เดินทางกลับมาลงเครื่องบินที่ สนามบินอุบลราชธานี

-      พฤศจิกายน เธอยื่นใบสมัครผู้แทนราษฎร สำหรับเขตเลือกตั้งเมืองลัคร์นา ในแคว้นสินธ์ อันเป็นแดนฐานเสียง

-      ปลายเดือนพฤศจิกายน ประธาน-มนตรี ฯพณฯ ปะระเวซ มุศระรัฟ (परवेज़ मुशर्रफ़ ) ประกาศว่า จะยกเลิกคำประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 16 มกราคม 2551
-      นางสาว เพนะซีระ ประกาศนโยบายหาเสียงของพรรคแห่งชาติปากีฯของเธอ ว่า จะมีแนวเน้น แบบ 5 อีคือ Employment, Education, Energy, Environment, Equality

-      ธันวาคม วันที่ 4 เพนะซีระ พบปะกับ นายนาวาซ ชารีฟ นักธุรกิจเหล็กกล้าในปากีฯ เคยเป็น หัวหน้าฝ่ายค้าน เมื่อครั้งที่เธอเป็นรัฐบาล และก็ถูกเนรเทศไปอยู่ซาอุดิอาระเบียเกือบสิบปี ทั้งคู่ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ว่า ขอให้ ฯพณฯ ปะระเวซ โปรดรักษาคำพูดด้วย

-      ธันวาคม วันที่ 8  มือปืนสามคน บุกรุกเข้าไปในสำนักงาน พรรคแห่งชาติปากีฯ ที่แคว้นบะลูจิสตาน ภูมิภาคปากีฯตะวันตก ยิงเจ้าหน้าที่พรรคแห่งชาติฯ ของเพนะซีระ ตายไป 3 คน

-      ธันวาคม วันที่ 27 ยามเย็นตะวันรอน เพนะซีระ เสร็จสิ้นการปราศรัยในสวนสาธารณะกลางเมืองราวัลปินดี เทียบได้ประมาณ สวนลุมพินีในกรุงเทพฯ

-      เธอลงจากโปเดียมที่ปราศรัย เดินไปขึ้นรถหาเสียงของเธอ เป็น โตโยตา แลนด์ ครุยเซอ กันกระสุน หลังคาเจาะเพดาน เปิดหลังคาให้โผล่ตัวขึ้นไปได้ ซึ่งเพนะซีระ ก็ได้โผล่ขึ้นไปโบกไม้โบกมือ กับประชาชนผู้สนับสนุนเธอ ระหว่างที่ขบวนรถของเธอ กำลังเคลื่อนจะออกจากสวนสาธารณะ ทางประตูสวนด้านหลัง เทียบกับสวนลุมได้ประมาณ ว่า จะออกทางประตูถนนวิทยุ
  
-      เมื่อรถกันกระสุนของเธอ กำลังพ้นประตูสวนสาธารณะ เธอถูกยิงจากด้านหลัง เข้าที่ท้ายทอย กระสุนทะลุกระโหลกศีรษะไปออกด้านขมับ เธอโดนกระสุนเข้าบริเวณแผ่นหลังด้วย  เธอทรุดตัวกลับลงมาพับภายในตัวรถ เลือดสด ๆ ทะลักออกจากปากแผล ทั้งสองแผล

-      มือปืนที่ยิงเธอจากด้านหลัง กดระเบิดฆ่าตัวตาย คร่าชีวิตผู้คน พากันตายตามไปด้วย 24 คน

-      นางสาว เพนะซีระ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ของนครราวัลปินดี

แพทย์ประกาศว่า นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  เสียชีวิต เวลา 18.16 น.

 

 

 

 

 


นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  बेनज़ीर भुट्टो  ตอน 3/3
นายกรัฐมนตรีหญิง ถึงคิวสังหาร-จริงหรือว่า มรณะกาลของเธอ ถูกนับถอยหลัง...มาแล้วล่วงหน้า? 

การค้นคว้า เรียบเรียง นำเสนอ เรื่องการสังหารนายกรัฐมนตรีหญิง ในแดนชมพูทวีป เริ่มจากที่ลังกามาอินเดียและมาปากีสถานนั้น ลำนำข้อมูลหลากหลายที่ไหลผ่านสายตา ล้วนบ่งชัดว่า กรณีการตายของ นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  เป็นเรื่องลึกลับที่สุด  กอรปด้วยปมประเด็นที่น่าฉงนสนเท่ห์ที่สุด ขณะที่ ทั้งอาชญากรรมและอาชญากร ของสองกรณีก่อนหน้านี้ คือกรณีของ นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ  และ นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี  ต่างล้วนแจ่มกระจ่าง เข้าใจได้ไม่ยาก ผู้คนทั้งหลายสามารถปิดคดีภายในจิตใจของตนลงได้ แต่กรณีฆาตกรรม นางสาวเพนะซีระ  คนจำนวนมากทั้งในปากีฯและนอกปากีฯ  ยังไม่สามารถปิดคดีนี้ภายในจิตใจของตน ลงได้ง่าย ๆ เลย

ใครฆ่าเธอ?

ยังไม่มีผู้ใด สามารถตอบปริศนาข้อนี้ได้กระจ่างแจ้ง  ทำให้เราหายเคลือบแคลงลงได้  ถ้าท่านผู้อ่านลงมือค้นคว้า ศึกษาด้วยตัวของท่านเอง ท่านก็จะพบกับรายงานมรณกรรมที่เป็นรายงานทางการสองสำนวน ทั้งของรัฐบาลปากีสถานและขององค์การสหประชาชาติ  นอกจากนี้ ยังมีนักสืบเชลยศักดิ์อีกมากมาย ที่สืบค้นและนำเสนอเรื่องฆาตกรรมดังกล่าว  ผู้เขียนลองค้นหนังสือที่มีนาม เพนะซีระ ภุทโท ในอะเมซอน ดอทคอม เมื่อกลางเดือนกันยนยน 2554 พบว่า มีอยู่ถึงประมาณ 850 เล่ม  ครั้นเคาะชื่อเธอในกูเกิล ปรากฏว่า นามของเธอปรากฏอยู่ถึงประมาณ 9,650,000 (เก้าล้าน หกแสน ห้าหมื่น) หน้าเว็บ

แล้วจะให้เล่าแบบไหน?  ในยุคที่แม้แต่ยาจกวนิพกอย่างผู้เขียน ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูล และสามารถสอบทานข้อมูล ได้ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าแต่ก่อนอย่างชนิดที่ประมานมิได้  วิญญูชนทุกคนก็คงต้องถ่ายทอด เล่าเรื่องการเมืองกรณีนี้ อย่างยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเล่าอย่างเป็นกลางแก่ทุกผู้ทุกนามที่เกี่ยวข้อง  ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างนั้น 

ตัวฆาตกรเอง ก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ เพื่อจะเขียนบันทึกความทรงจำ  เขาตายไปกับระเบิดพลีชีพ  ผู้ถูกปองร้ายหมายขวัญก็เสียชีวิตแล้ว  แต่ผู้เขียนขอสารภาพกับท่านผู้อ่าน ว่า กรณีของ นางสาว เพนะซีระ เขียนยากกว่าสองกรณีที่ผ่านมา  แต่ก็จะขอโอกาสจากท่าน ได้ลองทำดูแล้วกันครับ  ด้วยการเสนออย่างย่นย่อ คล้ายกับจะลำดับเหตุการณ์ ซึ่งท่านก็ต้องอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะในที่สุด ผู้เขียนจะไม่สรุป ชี้ไปที่ใครเป็นการเฉพาะเจาะจง

ว่ากัน เป็นลำดับ...

  1. ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่ง กล่าวว่า มรณกรรมของ นางสาว เพนะซีระ ถูกนับถอยหลัง มาตั้งแต่วันที่เธอ ตัดสินใจบินจาก ดูไบ กลับปากีฯ เช่น นักการทูตอังกฤษผู้หนึ่ง ได้แสดงความเห็น ว่า เปรียบเสมือน ปูนแดง ได้ถูกป้ายไว้กับศีรษะเธอแล้ว

  1. เพื่อนรักของเธอ นายปีเตอร์ กาลเบรียธ บุตรชายของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์ เคนเนธ กาลเบรียธ ได้เตือนเธอ ว่า เธออย่ากลับไปเลย เธอเคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้งแล้ว นี่เธอกำลังจะทำอะไร เธอจะกลับไปทำไม 

  1. ปีเตอร์ เป็นเพื่อนเธอ มาตั้งแต่เธออายุสิบหก เพิ่งจะเข้าเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วยกัน  แถมยังมาเรียนที่ อ็อกฟอร์ด ด้วยกันอีก ปีเตอร์ ซึ่งต่อมารับราชการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเคยเป็นทูตสหรัฐฯ แถวยุโรปตะวันออกเฉียงใต้(แหลมบอลข่าน) เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยทำงานกับรัฐสภาอเมริกัน เคยทำงานกับองค์การสหประชาชาติ และได้รับภารกิจในรัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งใหม่ของประเทศติมอร์ตะวันออก เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเจรจาให้ นางสาว เพนะซีระ พ้นจากเงื้อมมือของ เสธฯเซียะ และได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ มาครั้งหนึ่ง

  1. แต่แล้วในที่สุด เธอก็เดินทางจากวอชิงตัน ผ่านลอนดอน ก่อนจะแวะดูไบ แล้วบินจากที่นั่นเข้าปากีฯ  ที่ลอนดอน นางสาว เพนะซีระ กล่าวแก่นักหนังสือพิมพ์สตรีชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ว่า เธอรู้ซึ้งถึงความเสี่ยง อันเกิดจากการตัดสินใจครั้งนี้  ดิฉันทราบดีว่า มีคนปองร้าย จะฆ่าดิฉัน และทำให้ระบอบประชาธิปไตยในปากีสถานสั่นคลอน  แต่ด้วยศรัทธาต่อองค์อัลเลาะห์ และด้วยความเคารพต่อประชาชนปากีสถาน  ดิฉันเชื่อมั่นว่า สมาชิกพรรคจะป้องกันดิฉันได้   

ที่ ดูไบ...

  1. ที่ ดูไบ เธอแวะกล่าวคำอำลาบุตรสาวสองคน ผู้อยู่อาศัยที่นั่น และที่ ดูไบ นั่นเอง ในวันที่ 16 ตุลาคม 2550 หน่วยงานสืบราชการลับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ  ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้มากล่าวเตือนเธอ ถึงแผนการ ที่จะมีผู้สังหารเธอในปากีสถาน 

  1. เมื่อได้ทราบความลับข้อนี้  เธอร่างหนังสือไปถึง นายพล ปะระเวซ มุศระรัฟ ประธาน-มนตรี แห่งปากีสถานทันที  โดยหนังสือฉบับนั้น เธอได้ระบุชื่อผู้ต้องสงสัย ซึ่งเธอคิดว่า กำลังวางแผนจะเอาชีวิตเธอ  มีอยู่สามคน คือ 1) นาย อิลาฮิ ประธานมนตรี แคว้นปันจาบ 2) นายพล ฮามิด คูล นายทหารเกษียณอายุ ผู้เคยดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ -ในสังกัดฝ่ายกลาโหม มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า ISI  และ 3) นายพล ชาห์ อดีตหัวหน้ากรมประมวลข่าวกลาง(IB)

  1. แต่จะกระนั้นก็ดี เธอก็ไม่เปลี่ยนใจที่จะกลับปากีฯ  เธอกล่าวกับผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่ง ว่า      เวลาแห่งชีวิตถูกลิขิตมา  และเวลาความตาย ก็ถูกลิขิตมาด้วยเหมือนกัน      

  1. ที่สนามบินการาจี  นางสาว เพนะซีระ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  ฝูงชนจำนวนมากมารอรับเธอ เรียงรายทั้งสองฟากฝั่งถนน  เธอโบกมือรับกับประชาชน อยู่บนหลังคารถบัสที่จัดมาพิเศษ ในเวลานาทีนั้น เพนะซีระ กลับกลายเป็นคนละคน ใบหน้าของเธออิ่มเอิบ มีชีวิตชีวา ช่างแตกต่างจากใบหน้าของ นางสาว เพนะซีระ ในร่างของผู้มีชีวิตเนรเทศ ระเหเร่ร่อน ผู้พยายามจะกระเดือกไอศกรีมลงคออย่างยากลำบาก  ชีวิตผ่านไปวัน ๆ ด้วยการอ่านหนังสือประเภท how-to สาระน้อย  นักข่าวสตรีชาติอังกฤษ ผู้ติดตามรายงานข่าวเพนะซีระมานานปี และอยู่บนรถบัสคันนั้นด้วย ได้บันทึกไว้ว่า ฉันเห็นใบหน้าอันเปี่ยมสุขของเธอ  เมื่อโบกมือกับประชาชน อยู่บนบัสคันนั้น ซึ่งฉันโดยสารไปด้วย  แล้วฉันก็เข้าใจทันทีว่า ทำไมเธอต้องกลับมา...   

  1. แต่ว่า หน่วยรักษาความปลอดภัยของเธอเริ่มวิตก  เพราะว่า อุปกรณ์กวนสัญญาณเพื่อป้องกันการกดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ “jammer” ที่รัฐบาลปากีฯ สัญญาจะส่งมาเป็นส่วนหนึ่งของการอารักขาเธอ ไม่ได้มาตามที่ตกลงกันไว้

  1.  รถบัสจัดพิเศษคันนั้น เคลื่อนไปกับขบวน นานหลายชั่วโมง กระทั่งห้าทุ่มเศษ ๆ ขบวนต้อนรับเธอ ก็เจอระเบิดลูกแรก โดยมีระเบิดลูกที่สอง ตามมาติด ๆ มีกำลังแรงกว่าลูกแรก

  1. ตามด้วย ความเงียบสงัด วังเวงอยู่ชั่วอึดใจ หลังจากนั้นก็เป็นเสียงคนร้อง เสียงไซเรน พร้อมกับชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเศษเนื้อ และผิวหนังมนุษย์ที่ไหม้เกรียม ปลิวว่อนไปทั่วบริเวณ  มีคนตายร่วม 150 คน

  1.  คืนนั้น นางสาว เพนะซีระ ส่งอีเมลไปหา นาย มาร์ค ซีเกล สหายของเธอที่กรุงวอชิงตัน ความว่า จะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นกับฉัน  แต่ถ้ามี เธอรู้ไว้ด้วยนะ ว่า    มุศระรัฟ เป็นผู้รับผิดชอบ...  

  1.  ท่านทูต ฮุสเซน ฮากกานี ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยงาน เพนะซีระ และปัจจุบันเป็นทูตปากีฯ ประจำกรุงวอชิงตันฯ เล่าว่า หลังเหตุการณ์นั้น เธอได้โทรศัพท์หา ฯพณฯ มุศระรัฟ ซึ่งได้กล่าวแก่เธอ ว่า ฉันบอกเธอแล้วว่า อย่ากลับมา จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ และจะบอกให้ ฉันจะคุ้มครองเธอ ก็ต่อเมื่อเธอดีกับฉัน เท่านั้น 

  1.  สัญญาณไม่สู้จะดี ปรากฏว่าหลังจากเหตุการณ์โจมตีขบวนแห่ เพนะซีระ ในวันที่เธอลงจากเครื่องบินผ่านไปแล้ว ปรากฏว่า ชุดคุ้มครองบุคคลสำคัญ ที่จัดมาดูแลความปลอดภัยของเธอ ถูกลดจำนวนลง รวมทั้งลดเครื่องมือและอุปกรณ์ด้วย แถมเธอยังได้รับการตักเตือนจากทางการ ว่า อย่าเดินทางในรถติดฟิล์มกรองแสงทึบ นะ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย
  2. วันที่ 27 ธันวาคม 2550 เธอถูกยิงจากด้านหลัง เข้าที่ท้ายทอย กระสุนทะลุกระโหลกศีรษะไปออกด้านขมับ เธอโดนกระสุนเข้าบริเวณแผ่นหลังด้วย  เธอทรุดตัวกลับลงมาพับภายในตัวรถกันกระสุน โตโยตา แลนด์ครุยเซอร์ เลือดสด ๆ ทะลักออกจากปากแผล ทั้งสองแผล นางสาว เพนะซีระ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ของนครราวัลปินดี  แพทย์ประกาศว่า นางสาว เพนะซีระ ภุทโท  เสียชีวิต เวลา 18.16 น.

น่าประหลาด

  1. น่าประหลาด ประการที่ 1)เพียงไม่กี่นาที คือ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ที่ เพนะซีระ ถูกลอบสังหาร ทางการได้ส่งรถดับเพลิง มาฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเท่ากับล้างพยานหลักฐาน ที่อาจตกหล่นอยู่ในบริเวณนั้น  ผู้กำกับ สน.ราวัลปินดี กล่าวว่า คนใกล้ชิดของ ฯพณฯ มุศระรัฟ โทรศัพท์มาสั่งการให้รีบล้าง เพราะเกรงว่า พรุ่งนี้ แร้งอาจบินมาจิกกิน ชิ้นส่วนเศษเนื้อมนุษย์

  1.  กรณีฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างบริเวณเกิดเหตุทันที ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ช่างตรงข้าม กับเมื่อมีเหตุลอบสังหาร ฯพณฯ มุศระรัฟ สองครั้ง ในเมืองราวัลปินดีเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าในสองครั้งนั้น สถานที่เกิดเหตุถูกขึงเชือกกั้นบริเวณ ไว้ค้นหาหลักฐาน นานหลายสัปดาห์

  1.  ระหว่างที่กำลังเกิดความวุ่นวายภายในประเทศ  ประการที่ 2)ทางการรุกรี้รุกรน ประกาศสาเหตุการตาย และประกาศชื่อฆาตกร ภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง โฆษกกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ประกาศว่าโรงพยาบาลรายงานว่า นางสาว เพนะซีระ ตายด้วยสาเหตุศีรษะฟาดกับขอบเพดานรถยนต์ เมื่อเธอมุดหลบแรงระเบิดลงมาในตัวรถ  โฆษกกล่าวเสริมว่า ไม่มีรอยกระสุน ลูกกระสุน หรือเศษชิ้นส่วนโลหะใด ๆ ที่บาดแผล   และแจ้งแก่สื่อมวลชนว่า หน่วยงานสืบราชการลับ ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้ากลุ่มตาลีบัน สาขาปากีฯ นาย ไบตุลละห์ เมห์ซุด  แจ้งว่าเขาสั่งฆ่า เพนะซีระ เอง  พร้อมกันนั้น โฆษกก็แจกชี้ท พิมพ์คำพูดของ นาย เมห์ซุด กับสื่อมวลชน  แต่ไม่ได้แจกคลิปเสียงโทรศัพท์

  1.  หนึ่งสัปดาห์ถัดมา สื่อมวลชนต่างประเทศจากอังกฤษและสหรัฐฯ  ได้รับเชิญจากสถานทูตประเทศตน ไปรับแจ้งจากสถานทูตว่า หน่วยสืบราชการลับ Her Majesty's Secret Service ของอังกฤษ กับหน่วยสืบราชการลับ CIA  ของสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า คำพูดที่พิมพ์ในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ซึ่งสื่อมวลชนได้รับแจก  จากโฆษกกระทรวงมหาดไทยปากีฯ นั้น เป็นความจริง  เชื่อได้ว่า ตาลีบันโดยนาย เมห์ซุด เป็นผู้สังหารนางสาวเพนะซีระ

  1.  เกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีตหัวหน้าทีมกีฬาคริกเก็ต ผู้ผันชีวิตมาเป็นนักการเมือง นาย อิมราน ข่าน กล่าวว่าเขาไม่เชื่อ เรื่องที่สถานทูตทั้งสอง และกระทรวงมหาดไทยปากีฯแจ้งต่อสื่อมวลชน แม้แต่นิดเดียว  เขากล่าวว่า หลังเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางการแจ้งว่า ได้ถอดเทปคำพูดของหัวหน้าตาลีบัน นายเมห์ซุด ซึ่งกำลังหัวเราะร่า พูดว่า เนี่ยะ ดูเด่ะ ผมนั่งอยู่นี่งัย ทำงานดีมากพรรคพวก พรุ่งนี้เช้าผมจะรับประทานอาหารเช้าให้อร่อยเลย  ขอโทษเถอะ ละครน้ำเน่า เปล่าเนี่ยะ  นายเมห์ซุด กำลังโดนไล่ล่าจากทุกทิศ และกำลังหนีหัวซุกหัวซุน  เขาจะมีเวลาและอารมณ์ นั่งพูดบ้า ๆ อย่างนั้นหรือ นี่เป็นความเห็นของนาย อิมราน ข่าน นักการเมืองปากีฯ  

  1.  ไม่นานต่อมา โฆษกของกลุ่มตาลีบันในปากีฯ นายมาอูลวี โอมาร์ ได้ออกมาแถลงการณ์ ในนามของท่านหัวหน้าฯ นายเมห์ซุด ว่า  ผมขอปฏิเสธเรื่องนี้ ตาลีบันไม่ได้ฆ่าเพนะซีระ  คุณรู้ไหมว่าชนเผ่าคนกลุ่มน้อยอย่างพวกเรา  เรามีหลักศิลธรรมจรรยาประจำเผ่า  เราไม่ฆ่าผู้หญิง

  1.  ผู้สื่อข่าวสตรีชาวอังกฤษ ที่ทำหน้าที่รายงานเรื่องราวอัลกออิดะห์และตาลีบัน มานานปี และใกล้ชิดกับเพนะซีระ เล่าไว้ทางสื่อมวลชนอังกฤษว่า  แม้แต่ครั้งเดียวก็ไม่เคยประสบว่า อัลกออิดะห์และตาลีบัน จะไม่ประกาศรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ตนเป็นผู้ลงมือทำ  หมายความว่า ถ้าเขาทำ เขาจะประกาศรับว่าเขาทำ  เขาไม่ตอแหล

  1.  ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ผู้สื่อข่าวสตรีรายดังกล่าวเล่าว่า เพนะซีระ ได้เล่าให้เธอฟังว่า หลังจากเหตุการณ์ระเบิดขบวนต้อนรับที่นครการาจี หัวหน้าตาลีบัน ในปากีฯ นายเมห์ซุด ได้ส่งสารลับสั้น ๆ มาถึง เพนะซีระ เตือนเธอว่า ฉันไม่ใช่ศัตรูของเธอ จำไว้นะ เธอต้องมีดวงตาสว่าง มองให้ออกว่า ใครคือศัตรู       

นายเมห์ซุด หัวหน้าตาลีบันในปากีฯ ถูกอเมริกันฆ่าตายแล้วทั้งครอบครัว  ส่วนเรื่องราวการฆาตกรรม นางสาวนายกหญิงคนแรก ของประเทศปากีสถาน ยังไม่สามารถยุติลงได้  ความเห็นใหม่ ๆ จากแหล่งใหม่ และมีสไตล์การเล่าแบบใหม่ ยังคงทะยอยออกมาเผยแพร่  ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเคาะดูรายการหนังสือเล่มใหม่ ๆ ได้จากอะเมซอนดอทคอม แต่ในกรณีของเรา ผู้เขียนจะขอหยุดการเล่าเรื่องไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ ที่ท่านติดตามอ่าน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น