open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฆ่านายกฯหญิง-ไม่บาป กรณีของ อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี

สังหารโหด นักการเมืองสตรีเอเชีย
(อินทิรา ตอน 1/3 อึ้งกิมกี่)
The murder of woman politicians in Asia กรณีของ
इंदिरा प्रियदर्शिनी गांधी  - อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี 


อึ้งกิมกี่  ถึงแก่อึ้งกิมกี่  

เมื่อรู้ว่าลูกสาว จะแต่งงานกับแขกปาร์ซีค่อนข้างจะโนเนมผู้หนึ่ง ชวาหระลาล เนห์รู ซึ่งเป็นนักการเมืองชั้นแนวหน้า กำลังรุ่ง ผู้เคลื่อนไหวด้วยวิธีอหิงสา เพื่ออิสรภาพอินเดียอยู่ในเวลานั้น จึงได้ติดต่อกับครูใหญ่ของท่าน คือ มหาตมะ คานธี นามสกุลซ้ำกันกับฝ่ายผู้จะมาเป็นเจ้าบ่าว แต่มิได้เป็นเครือญาติกันแต่ประการใด ขอให้ช่วยที ให้สองคนนี้เปลี่ยนใจ แต่ว่า โอ ศิวะนารายณ์ ไม่มีใครช่วยได้

การแต่งงานกับ ฟิโรช ชาฮังคีร์ คานธี แขกปาร์ซีที่มาตั้งรกรากในเมืองอะละหะบัด เมืองภูมิลำเนาของเนห์รู อันเป็นตระกูลพราหมณ์ อาจจะพอเทียบได้คล้ายกับตระกูลพราหมณ์เมืองพัทลุง หรือนครศรีธรรมราช หรือถ้าในกรุงเทพฯ ก็อาจเทียบได้กับสกุล มกรานนท์ อะไรประมาณนั้น ผิดพลาดขออภัย ผู้เป็นบิดาย่อมยากจะยอมรับได้ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ฮึดฮัดแข็งขืน อย่างออกหน้าออกตาครั้งแรกของ อินทิรา ปริยัทรศินี เนห์รู  

นาม ปริยัทรศินีนั้น ระพินทร์นาถ ฐากูร(रबिन्द्रनाथ ठाकुर) เอกกวีแห่งเบงกอล ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติอินเดีย และเป็นคนเอเชียคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี เป็นผู้ตั้งชื่อให้ ปริยะ = งาม น่านิยม ต้องตาต้องใจ ทรศินี = พิศ มอง แลดู  

ตำบลประยาค อะละหะบัด บ้านเกิด

เมืองอะละหะบัด บ้านของตระกูลเนห์รู เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งเมืองหนึ่งในศาสนาฮินดู ที่รวมของแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ น่าขนลุกขนพองสามสาย คือ คงคา ยมุนา และสรัสวดี โดยที่แม่น้ำสรัสวดีนั้น เป็นแม่น้ำในคัมภีร์ แม่น้ำตามตำนานปรัมปรา ไหลอยู่ใต้ดิน ไม่มีใครมองเห็น ได้ยินแต่ชื่อ แม่น้ำลึกลับแต่ว่าแจ้งอยู่ในความนับถือศรัทธาสายนี้ ไหลขึ้นจากใต้พื้นพสุธา มาบรรจบกับพระแม่คงคาและยมุนา ที่ตำบล ประยาค( प्रयाग ) ชื่อเดิมภาษาสันสกฤตของอะละหะบัด

เพราะฉะนั้น จึงมีฤกษ์สำหรับลงไปอาบน้ำที่ประยาค ฤกษ์นี้คำนวณจากการโคจรของดาวพฤหัส(बृहस्पति) ตามโหราศาสตร์ฮินดู โดยที่ฤกษ์ดีมาก ๆ จะตกทุก 3 ปี 6 ปี 12 ปี และ 144 ปี โดยเฉพาะฤกษ์ 144 ปีที่เรียกว่าฤกษ์ มหากุมภ์  ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ออว์ซัมที่สุด ต้องจาริกมาแสวงบุญ ฉลองที่อะละหะบัดเท่านั้น ส่วนฤกษ์รอง ๆ ลงไป สามารถฉลองกันได้ตามแหล่งอื่นอีกสามแห่งในภารตะแลนด์ ฤกษ์ครบรอบ 144 ปี มหากุมภ์  ครั้งล่าสุดเร็ว ๆ นี้คือเมื่อ พ.ศ. 2544 มีคนมาชุมนุมกันกว่า 60 ล้านคน ตำบล ประยาค ต่อมาได้กลายเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่บุร่ำบุราณ คู่กับพาราณสี เคารพนับถือกันว่าเป็นที่ ๆ หยดหนึ่งน้ำมนตร์ จากหม้อน้ำ(กุมภ์ = कुम्भ)ของพระพรหมณ์ เมื่อคราวสร้างโลก หยดลงมาต้องพื้นปฐพี

ขณะที่พระพุทธเจ้าสอนว่า นิพพาน ทำให้คนดับสูญไม่เกิดอีกต่อไป แต่พราหมณ์บอกว่าการได้อาบน้ำ ในฤกษ์มหากุมภ์ ที่ประยาค สามารถล้างบาปทำให้คนดับสูญได้ โดยที่วงจรการเวียนว่ายตายเกิด จะลัดวงจรสะบั้นลง ไมใครโปรเซสเซอร์ไหม้ตายสนิท ไม่ต้องเกิดมารับใช้กรรม ไม่ว่ารวยหรือจน ให้เป็นที่ทุกข์ทรมานกันอีกต่อไป แต่จะได้รับการอัพเกรด ให้ไปจุติในแดนสวรรค์ เป็นโปรโมชันเพียงอ็อปชันเดียว ส่วนอ็อปชันนรก กับอ็อปชันเวียนว่ายตายเกิด หามีไม่(อย่าอ่านว่า หาไม่มี นะ เพราะมันผวนได้ครับ)

แม้แต่การลอยอังคารบุคคลสำคัญระดับชาติ ในยุคอินเดียประชาธิปไตย เช่น มหาตมะ คานธี เป็นต้น เขาก็มาลอยอังคารท่านกันที่นี่ ฤกษ์อาบน้ำชำระบาปที่ประยาคนี้ นักการเมืองอินเดียสมัยก่อนชอบมาก เพราะได้โอกาสที่จะพบมหาชนนับล้าน ๆ คนในคราวเดียว

อินทิรา ปริยัทรศินี เนห์รู

อินทิรา ปริยัทรศินี เนห์รู ชาตะ พ.ศ. 2460  มรณะ พ.ศ. 2527 สิริรวมอายุ 67 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย รอบแรกระหว่าง พ.ศ. 2509-2520 และรอบหลังระหว่าง พ.ศ. 2523-2527 ชีวิตวัยเด็กของเธอ อยู่ในแวดวงผู้นำ ผู้เป็นนักสู้ ผู้สร้างประวัติศาสตร์อินเดียยุคใหม่ ชวาหระลาล เนห์รู ผู้บิดา ดูแลเรื่องการศึกษาของเธออย่างดี ระหว่างที่ถูกจำคุก ก็มีจดหมายมาสั่งสอนลูก เธอได้รับการศึกษาขั้นต้น ที่เมืองปูเณ รัฐมหาราษฎร์ เมืองนี้ตั้งอยู่บนที่ราบสูง อากาศอ่อนโยนเมื่อเทียบกับอะละหะบัดบ้านเกิด ผู้เขียนเคยเดินทางไปอะละหะบัด และได้เขียนเล่าอากาศอันโหดร้าย(โคตรร้อน)ของอะละหะบัด ไว้ในบทความอื่นแล้ว

ต่อมา เธอก็ได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเปิด ของระพินทร์นาถ ฐากูร สอนในห้องเรียนธรรมชาติ ที่สันตินิเคตัน ในรัฐเบงกอลตะวันตก เธอผ่านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และที่สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมเธอจึงพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดี

เมื่อกลับมาอินเดีย เธอก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคคองเกรส และต่อสู้อย่างอหิงสาเพื่ออิสรภาพอินเดีย เธอถูกจำคุกหกเดือนในพ.ศ. 2485  ครั้น ชวาหระลาล เนห์รู คุณพ่อของเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ อินทิรา ปริยัทรศินี ปฎิบัติหน้าที่เสมือนผู้ช่วย หรือเลขานุการ อย่างไม่เป็นทางการ ให้กับนายกรัฐมนตรี เนห์รู

บนเวทีโลก

ภาพทางการเมืองของเธอ เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดบนเวทีการเมืองโลก เมื่อเธอติดตามบิดา ไปประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-อัฟริกา(ประเทศไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด)ในยุคสงครามเย็น ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดเนเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2498 

เมืองบันดุงนั้น ผู้เขียนเคยนั่งรถตู้ จากจาการ์ตา ไปเที่ยวครั้งหนึ่ง ใช้เวลาเดินทางเกือบสามชั่วโมง ภูมิอากาศไม่น่าจะแตกต่างจากเมืองปูเณ ในอินเดีย มากนัก ปัจจุบันนี้ สถานที่ประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-อัฟริกา หอประชุม บันดุง เมอร์เดคาในเมืองบันดุง ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี ในฐานะพิพิธภัณฑ์

การประชุมบันดุงโด่งดัง ด้วยเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ สหรัฐฯกับไต้หวัน พยายามจะลอบสังหารนายกรัฐมนตรี จู เอน ไล ของจีน ระหว่างที่ท่านผู้นั้นเดินทางไปประชุม แต่ล้มเหลว และที่ประชุมบันดุงก็ได้ยืนยันหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จีนกับอินเดียเห็นพ้องร่วมกันที่นั่น อันได้แก่ หลักปัญจศิล  และหลังจากการประชุมที่บันดุงเสร็จสิ้นลง สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก มากขึ้นเป็นลำดับ

เก้าปีหลังจากไปเปิดตัวบนเวทีดัง ที่บันดุง อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี จึงได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยหลังจากที่นายกรัฐมนตรี เนห์รู ถึงแก่กรรม เธอก็ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีอินเดีย ซึ่งมีสิทธิแต่งตั้งวุฒิสมาชิกได้จำนวนหนึ่ง ให้เป็นสมาชิกในสภาสูง หรือวุฒิสภาของอินเดีย ที่เรียกว่า ราชย สภา ( राज्य सभा ) และเธอก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงข่าวสารและการแพร่ภาพแพร่เสียง ในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ลาล พหาทูร ศาสตรี เมื่อพ.ศ. 2507

นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย

ครั้น นายกรมต. ศาสตรี ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2509 อินทิรา คานธี แม้จะช่วยงานบิดามานาน มีชื่อเสียงเด่นบนเวทีการเมือง แต่ก็ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองจริงจัง และไม่มีวี่แวว ว่า จะอยู่ในฐานะผู้ที่จะสืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น ผู้ที่มีขีดความสามารถพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย มีอยู่สองสามคน เช่น โมรารจี เทไส เป็นต้น แต่เพราะความที่เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวภารตะ ประกอบกับผลงานการต่อสู้เพื่ออิสรภาพอินเดียยุคอังกฤษปกครอง หรือยุค บริทิศ ราช ( ब्रिटिश राज) ทำให้เธอเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคคองเกรส โดยเฉพาะท่านประธานพรรคฯ นักการเมืองคร่ำหวอดมาจากแดนทมิฬ นาดู นายกัมราช (कामराज) ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็น คิง เมคเกอร์ ในยุคนั้น ผู้เล็งเห็นว่า อินทิรา น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ชั่วคราว ได้ดี สำหรับช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนทางการเมืองของอินเดีย ที่กำลังผลัดใบจากผู้นำรุ่นเก่า นักต่อสู้สมัยอังกฤษปกครอง ไปสู่หน้าใหม่อีกหน้าหนึ่งของอินเดีย ประกอบกับความมีชื่อเสียงของเธอ ก็จะช่วยพรรคคองเกรสได้ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง

ทุกคนคาดผิดหมด เมื่อได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วไม่นาน เธอก็ทำให้ โมรารจี เทไส นักการเมืองดาวเด่นรุ่นใหม่ ต้องกระเด็นออกไปจากคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2512 และเธอก็ไม่ได้พอใจ กับการเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ของยุคแห่งการปรับเปลี่ยน เธอต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงและถาวร ซึ่งเธอก็ทำสำเร็จ ด้วยการอยู่ในตำแหน่งช่วงแรกถึง 11 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2509-2520 และรอบหลังอีก 4 ปี พ.ศ. 2523-2527

อินทิรา ปริยัทรศินี  ได้สร้างยุคสมัยของเธอเอง อย่างที่ไม่มีใครในอินเดีย หรือนานาชาติยุคสมัยนั้น จะคาดเดาได้ถูก

เธอทำได้อย่างไรหนอ...


สังหารโหด นักการเมืองสตรีเอเชีย
(อินทิรา ตอน 2/3 การเมืองระหว่างเป็นนายกฯ รอบแรก 2509-2520)
The murder of woman politicians in Asia กรณีของ
इंदिरा प्रियदर्शिनी  - นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี


ตัดภาพให้ชัดขึ้น

เพื่อตัดให้ภาพ คุณอินทิรา ปริยัทรศินี เด่นขึ้น บุคคลที่เราน่าจะยกขึ้นมาเทียบน่าได้แก่ นาย मोरारजी देसाई หรือนายโมรา รชี เทสาย ต่อไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า นายโมรา  ส่วนคุณอินทิรานั้น เพื่อให้ทันสมัย ก้าวหน้า และสร้างสรรค์ จะใช้คำนำหน้านามเธอเสียใหม่ เป็น นางสาว อินทิรา  เพราะว่า ในโลกตะวันตก ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านก็ทราบกันดีโดยทั่วว่า เขาจะเรียกสตรีว่า นางสาว  ไว้ก่อน เว้นแต่ว่าเจ้าตัว จะบอกกล่าวให้ทราบชัดเจนว่า โปรดเรียกฉันว่า นาง  ยิ่งในภาคธุรกิจของสหรัฐฯด้วยแล้ว การไปเรียกสตรีในธุรกิจว่า นางนั่นนางนี่ นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังอาจทำให้การเจรจาธุรกิจล้มเหลว ได้ด้วย

โอม ภะคะวัน(=พระผู้เป็นเจ้า หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้า) ส่งข้ามาเกิดแล้ว ทำไมต้องให้นายโมรา มาเกิดด้วย

ถ้าผู้เขียนเป็น นางสาว อินทิรา ผู้เขียนจะนึกอย่างนั้น นายโมรา อายุแก่กว่า นางสาว อินทิรา ประมาณยี่สิบปี เขาเป็นชาวคุชราต เช่นเดียวกับมหาตมะ คานธี และเป็นสานุศิษย์ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งของท่านมหาตมะ ตลอดระยะเวลาประมาณเกือบยี่สิบปี ที่เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ เขามีผลงานติดตะรางทางการเมือง และผลงานต่อสู้เพื่ออิสรภาพอินเดียหลายอย่าง อีกทั้งยังมีประสบการณ์การเมือง จากเขตคุชราต ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษปกครอง ซึ่งในเวลานั้นนายโมรา เป็นแกนนำทางการเมือง ของพรรคคองเกรสเขตคุชราต ครั้นถึงปี พ.ศ. 2480 อันเป็นปีที่ นางสาว อินทิรา เข้าเรียนที่อ็อกฟอร์ด นายโมรา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐบอมเบย์(คล้าย ๆ สมาชิกสภาจังหวัด) และได้รับแต่งตั้งเป็น รมต. มหาดไทย ของรัฐบอมเบย์ ก่อนหน้านั้น เขาก็เคยดำรงตำแหน่ง รมต. กระทรวงคลัง ของรัฐบอมเบย์ มาก่อน

ช่วงทศวรรษที่ 50 ระหว่างที่ นางสาว อินทิรา ช่วยงานบิดาผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ข้างฝ่ายนายโมรา ก็มีโอกาสสะสมประสบการณ์ทางการเมือง เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยตำแหน่ง หัวหน้าคณะมนตรีแห่งรัฐบอมเบย์  คล้าย ๆ กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขตการปกครองท้องถิ่น ซึ่งระบอบการปกครองส่วนภูมิภาค แบบที่มีคณะมนตรีแห่งรัฐ กับมีหัวหน้าคณะมนตรี เป็นมรดกจากสมัยอาณานิคมอังกฤษ ระบอบการปกครองรูปแบบนี้ อังกฤษก็นำมาใช้ในมลายูด้วย โดยเฉพาะในเขตที่ไม่มีสุลต่าน

ช่วงทศวรรษที่ 50 หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษใหม่ ๆ นั้น การเมืองอินเดียเข้มข้นเรื่องการเรียกร้อง ขอปักปันดินแดนเสียใหม่ตามภาษาถิ่น เพราะเขตปกครองเดิม ที่รับมาจากระบอบอังกฤษ ปันแดนไม่สอดคล้องตามภาษา ระยะนั้น มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ค่อนข้างรุนแรงขอแบ่งรัฐบอมเบย์ ออกเป็นสองรัฐ คือ รัฐที่พูดภาษาคุชราต กับรัฐพูดภาษามหาราธี นายโมรา ในฐานะหัวหน้าคณะมนตรีรัฐบอมเบย์เวลานั้น คล้าย ๆ นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐ ใช้ความรุนแรงปราบพวกที่เรียกร้อง คนตายไปร้อยกว่าคน ปัจจุบัน มีอนุสาวรีย์ระลึกถึงคนเหล่านั้น อยู่ในเมืองบอมเบย์(มุมไบ) เหตุการณ์ครั้งนั้น มีส่วนเขย่าฐานะรัฐบาลกลางที่เดลีด้วย แต่จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่อาจจะทราบได้ ที่นายกรัฐมนตรี เนห์รู ไม่ค่อยจะชอบหน้า นายโมรา หรือจะเป็นเพราะนายโมรา โดดเด่นขึ้นทุกที บนเวทีการเมืองของพรรคคองเกรส ก็ไม่รู้เหมือนกัน

สำหรับท่านผู้อ่าน ที่สงสัยว่า ทำไมไม่มีบท จูบ ในภาพยนตร์อินเดีย ก็โปรดทราบไว้ด้วยว่า นายโมรา เป็นคนเสนอกฎหมาย มีเซ็น(ห้ามจูบ)ในหนังเอาไว้ นายโมรา อนุรักษ์นิยมเชิงวัฒนธรรม แต่เอียงข้างทุนนิยมเสรีในเชิงเศรษฐกิจ ผิดกับสมาชิกพรรคคองเกรส สายนางสาวอินทิรา ที่ค่อนข้างใจกว้างเชิงวัฒนธรรม แต่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

นางสาว อินทิรา เจอคู่แข่งโดยตรง

เมื่อนายเนห์รู ตาย นายโมรา แข่งขันพอเป็นพิธีกับนายศาสตรี เพื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อินเดีย แต่ครั้นนายศาสตรี ถึงแก่กรรม ด้วยอาการตัวเขียวตาย เมื่อปี พ.ศ. 2509 ระหว่างไปประชุมสันติภาพ ที่เมืองทัชเคนท์ รัฐอุซเบ็ค ประเทศสหภาพโซเวียต (ซึ่งปัจจุบันนี้ จะมีคนไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังไม่ยอมเชื่อว่า นายศาสตรีตัวเขียวตาย เพราะโดนยาพิษ) นายโมรา กระโดดลงเวทีแข่งกับนางสาวอินทิรา เพื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 169 ต่อ 351

นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี ไม่ใช่คนซื่อบื้อทางการเมือง แม้จะไม่ชอบหน้านายโมรา เช่นเดียวกับบิดาของเธอ แต่รัฐบาลเธอหลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2510 ก็มีนายโมรา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมต. ว่าการกระทรวงการคลัง กระทั่งเกิดการแตกแยกถึงที่สุด ในพรรคคองเกรส นางสาวอินทิรา จึงปลดนายโมรา จากตำแหน่งรองนายกฯ และรมต. คลัง เมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้วเธอก็ไม่พึ่งเสียงสนับสนุนจากพรรคคองเกรส มุ้งนายโมรา ที่มีแนวทางทุนนิยมเสรีและอนุรักษ์นิยม อีกต่อไป เธอบริหารประเทศโดยอาศัยเสียงสนับสนุน จากมุ้งสังคมนิยมในพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นมุ้งใหญ่ กับเสียงจากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย และในปี 2512 นั้นเอง ที่นางสาวอินทิรา ปฏิบัตินโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยม ด้วยการยึดกิจการธนาคารพาณิชย์ มาเป็นของรัฐ  

พรรคคองเกรสแห่งอินเดีย กลายพันธุ์ในยุค นางสาว อินทิรา

" भारतीय राष्ट्रीय कांग्रेस " อ่านว่า "ภารัติยะ ราษทริยะ กังเครส" คือชื่อ พรรคคองเกรสแห่งชาติภารตะ เพื่อให้อ่านง่ายจะขอเรียกว่า พรรคคองเกรส สั้น ๆ แล้วกันครับ

แต่เดิม ภารัติยะ ราษทริยะ กังเครส เป็นชื่อกระบวนการทางการเมืองขบวนใหญ่ เพื่ออิสรภาพอินเดีย ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2428  ครั้นได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ก็ปรับฐานะขบวนการเป็นพรรคการเมือง โดยมีตระกูลเนห์รู-คานธี เป็นผู้นำในพรรค

ครั้นเกิดความร้าวฉาน อย่างยากจะปรองดอง ระหว่างกลุ่มนางสาวอินทิรา กับกลุ่มนายโมรา ครั้นกลุ่มนางสาวอินทิรา แตกกอไปเป็นพรรคคองเกรสใหม่ พรรคคองเกรสของกลุ่มนางสาวอินทิรา ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าเป็นพรรคคองเกรสของแท้ หรือรู้จักในชื่อเล่นว่า พรรคคองเกรส(ไอ) ส่วนพรรคคองเกรส สายนายโมรา ซึ่งเป็นกอเดิม ต้องเลี่ยงไปใช้ชื่อว่า พรรคคองเกรส (โอ) คำว่า โอ ย่อมาจาก โอลด์ หรือคองเกรสดั้งเดิม ในที่ประชุมใหญ่พรรคคองเกรสปี พ.ศ. 2512 ปีที่เกิดการแบ่งแยกพรรค โดยมีปีกซ้ายเป็นฝ่ายนางสาวอินทิรา กับปีกขวาเป็นฝ่ายนายโมรา สมาชิกที่ประชุม 446 คนจากทั้งหมด 705 คน เลือกที่จะ เฮ ไปอยู่ข้าง นางสาวอินทิรา

ดังคาด ผลการเลือกตั้งในอีกสองปีถัดมา คือปี พ.ศ. 2514 ปรากฏว่า พรรคคองเกรส สายนางสาวอินทิรา ได้คะแนน 44 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือที่อินเดียเรียกว่า लोक सभा  (=โลก สภา ) คำว่า โลก  ในภาษาฮินดีแปลว่า ผู้คน พลเมือง ประชาชน สมาชิกพรรคคองเกรส สายนายโมรา ได้เสียงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในโลกสภา และนางสาวอินทิราก็ไม่ได้อาศัยคะแนนเสียง สายนายโมรา เพื่อปกครองประเทศอีกต่อไป ดังได้กล่าวแล้ว

พรรคการเมืองเก่าแก่ของอินเดีย และถือกันว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งในโลก นับจากบัดนี้อายุกว่า 125 ปีแล้ว ยังคงวิวัฒนาการต่อมา กล่าวคือ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2520 พรรคคองเกรส(โอ) หรือคองเกรสเดิม สายนายโมรา รวมตัวกันกับพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่เวลานี้เรารู้จักกันดี ในนามว่า พรรคประชาชน หรือ जनता पार्टी  อ่านว่า ชะนะตะ ปาร์ที  พรรคชะนะตะ กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้หนุนนายโมรา เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 2520-2522 เป็นนายกอินเดียคนแรก ที่ไม่ได้สังกัดพรรคคองเกรส ต่อมา พรรคชะนะตะใช้ชื่อใหม่เต็มยศ เมื่อปี พ.ศ. 2523 ว่า भारतीय जनता पार्टी หรือ ภารัติยะ ชะนะตะ ปาร์ที  สื่อมวลชนมักจะเรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษ รู้จักกันทั่วโลกว่า พรรค BJP

ผลงานรัฐบาล นางสาวอินทิรา รอบแรก พ.ศ. 2509-2520

จะมาดูถูกลูกผู้หญิงตัวเล็ก ๆ กันไม่ได้ นักการเมืองอินเดีย ผู้คร่ำหวอดเวทีท่านหนึ่ง จะไม่ขอออกนาม เรียกนางสาวอินทิราลับหลัง เมื่อเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ ๆ ปี 2510 ว่า คุงคิ คุดิยะ แปลว่า ยัย ตุ๊กตาโง่

ปรากฏว่าสี่ปีหลังจากนั้น พ.ศ. 2514 เมื่อเธอนำทัพอินเดีย มีชัยสงครามต่อปากีสถาน ปลดปล่อยบังคลาเทศเป็นอิสระ ผู้คนพาแสร้ซร้อง สรรเสริญเธอดุจจะเทพเจ้าสตรี ที่สถิตบนสวรรค์พิมานฮินดู ซึ่งมีสตรี ชั้นเทพ สามองค์เรียกว่าไตรเทวี  อันประกอบด้วย ลักษมีเทวี ปาระวะตี(อุมาเทวี) และพระสุรัสวดี ชายาของพระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหมณ์ ตามลำดับ

เธอได้รับการยกย่อง ดุจจะเป็นอวตารของเทพปาระวะตี ซึ่งเป็นเทพสตรีที่ฮ็อทที่สุดในไตรเทวี ในอินเดียปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนนั่งรถตุ๊ก ๆ จากชายฝั่งแม่น้ำคงคา มาสถานีรถไฟพาราณสี สังเกตเห็นรูปเทพสตรีองค์หนึ่ง เก่าและซีด แปะอยู่บริเวณกระจกหน้ารถ ก็ถามคนขับว่า อุมาเทวีหรือ คนขับตุ๊ก ๆ ตอบว่า ปาระวะตี

เพื่อความมั่นคงระยะยาวของอินเดีย กับเพื่อต้านทานการคุกคามจากประเทศจีนกับปากีสถาน นางสาวอินทิรา ยังได้สั่งลุย โครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อต่อยอดขั้นตอนสุดท้ายสร้างอาวุธ เป็นโครงการลับสุดยอด มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมประมาณ 50 กว่าคนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหล ส่วนการสร้างลูกระเบิดนิวเคลียร์นั้น นางสาวอินทิรา เป็นคนสั่งสร้างเอง โดยใช้วิธีสั่งด้วยวาจา ไปยังศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ภะภา เมืองบอมเบย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2515

โครงการสร้างลูกระเบิด มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ  แต่ตั้งชื่อลูกระเบิดว่าพระสังขจาย คล้าย ๆ กับจะเป็นการตอบโต้ทางจิตวิทยา ต่อประเทศจีน เพราะภิกษุรูปนี้โด่งดังอยู่ในธรรมเนียมจีน นักวิทยาศาสตร์อินเดียยังมีความคิดสร้างสรรค์สุด ๆ (ทะลึ่ง) ได้กำหนดวันทดลองระเบิดปรมาณู พระสังขจาย ให้ตรงกับวัน วิสาขะ( वैशाख ) อันเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา โดยที่ตามปฏิทินสากลในปีนั้น ฤกษ์วิสาขะบูชา ในอินเดีย ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2517 และวันนี้คือ วันกำหนดทดลองระเบิดปรมาณู ลูกแรกของอินเดีย จำง่ายครับ น่าจะเป็นศักราชที่จำง่ายอีกศักราชหนึ่ง ในประวัติศาสตร์อินเดียยุคใหม่ ศักราชแรกที่จำง่ายคือ วันก่อตั้งบริษัท เดอะ อีส อินเดีย คอมปะนี  ในรัชกาลอะลิซาเบธที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง เฟิร์ม ที่เย็นจัดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1600 หรือ วันสิ้นปีแรก ของคริสต์ศตวรรษที่ 17

ต่อมา อินเดียก็ได้ประกาศให้ วันที่ 11 พฤษภาคม ตามปฏิทินสากลเป็น วันเทคโนโลยีแห่งชาติ  เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธก็ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ระเบิดปรมาณูและไฮเทค ในอินเดียโดยไม่ได้เจตนา ด้วยประการฉะนี้ แหละโยม

ระเบิดนิวเคลียร์พระสังขจาย ทดลองในทะเลทรายธาระ ผู้เขียนเคยเดินทางผ่านไปในทะเลทรายธาระ เพื่อจะขอเฉียดเมืองโปขรัน อันเป็นเมืองทหาร ห่างจากชายแดนปากีสถานประมาณ 130 กิโลเมตร และเป็นที่ทดลองระเบิดปรมาณู ซึ่งก็สามารถผ่านไปได้โดยฉลุย ผิดกับเมื่อครั้งไปสอดแนม(พูดเล่น-แต่ไปมาจริง)ในรัฐโอริสสา ที่เมืองชายทะเล ด้านอ่าวเบงกอล ซึ่งใช้เป็นที่ทดลองยิงจรวดอัคนี โดยทางการอินเดียจะนำขีปนาวุธอัคนี ออกจากคลังแสง มายิงทดสอบสมรรถนะ สองปีต่อหนึ่งลูก ปรากฏว่าผู้เขียนโดนเช็คพาสปอร์ตที่นั่นนานนับชั่วโมง

ต่อมา เมื่ออินเดียสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์แห่งที่สอง โดยสร้างไว้คนละมุมประเทศ กับศูนย์แรกที่บอมเบย์(มุมไบ) ศูนย์ที่สองสร้างใกล้เมืองมัทราส(เชนไน) ชายฝั่งอ่าวเบงกอล ศูนย์ที่สองนี้ เน้นการวิจัยและวิศวกรรมขั้นสูง เกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู และเป็นที่สำหรับสร้างเตาปฏิกรณ์ของอินเดียเองด้วย ศูนย์ดังกล่าว อินเดียตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ นางสาวอินทิรา ว่า इन्दिरा गांधी परमाणु अनुसंधान केन्द्र อ่านว่า อินทิรา คานธี ปรมาณู อนุสันธาน เกนทระ  แปลว่า ศูนย์วิจัยปรมาณู อินทิรา คานธี

นิวเคลียร์  ภาษาไทยกับภาษาฮินดี ใช้คำตรงกันว่า ปรมาณู ( परमाणु ) เหมือนกันเด๊ะ ส่วนที่ว่า ใครจะก็อปใครนั้น คนไทยกับคนแขกต้องทะเลาะกันเอง นะครับ กรณีนี้ผู้เขียนขอออกตัวว่า เป็นคนละตินอเมริกา ผมไม่เกี่ยว(-พูดเล่น)

ผลงานสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ตราบเท่าทุกวันนี้ นางสาวอินทิรา ยังครองใจคนยากคนจน เหตุมีว่า เมื่อเธอเป็นนายกได้สองปี อินเดียเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างโหด ข้าวยากหมากแพง เกิดภาวะเศรษฐกิจยากเย็นเข็ญใจ มากมายหลายหย่อมหญ้า กล่าวคือ คนอดอาหารตาย เหตุการณ์นี้ ทำให้ฝันร้ายจากอดีตสมัยอังกฤษปกครอง กลับมาหลอนอินเดียอีกครั้ง กล่าวคือในอดีต เมื่อพ.ศ. 2486 สมัย บริทิศ ราช  ตรงกับรัชกาลที่ 8 ในประเทศไทย อินเดียเคยขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ ครั้งนั้น มีคนตายไปประมาณ 4 ล้านคน แต่ว่าที่จริงแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์ดินแดนภารตะ มีบันทึกเรื่องข้าวยากหมากแพงมาโดยตลอด เช่น ในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น สำหรับข้าวยากหมากแพงยุคใหม่ ในยุคของนางสาวอินทิรานั้น บริทิศ ราช  ไม่อยู่ให้ด่าแล้ว กลับบ้านกันหมดแล้ว ภารตะแลนด์ปกครองตนเอง ได้รับอิสรภาพแล้ว โทษใครไม่ได้แล้ว

ด้วยจิตสำนึกเฉกเช่นนี้ นางสาวอินทิรา จึงได้ผลักดันปรับปรุงภาคเกษตรแบบเน้น ๆ ที่เรียกกันภายหลังว่า การปฏิวัติเขียว กล่าวคือ ส่งเสริมพันธ์ข้าวสาลีพันธุ์ใหม่(เอามาทำ โรตี)ที่ให้ผลผลิตสูง ปรับปรุงแหล่งน้ำ ซึ่งส่วนมากใช้น้ำใต้ดิน ไม่ได้สร้างระบบคลองชลประทานแบบในเมืองไทย และส่งเสริมการใช้ปุ๋ย เพื่อให้อินเดีย ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ ทำไร่นาขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยมีที่ทำกิน ต่ำกว่าครอบครัวละ 5 ไร่ ให้สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จ จากที่เคยต้องสั่งอาหารเข้าประเทศ อินเดียพลิกแผ่นดิน กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร ความสำเร็จเรื่องนี้เป็นเหตุหนึ่ง แต่มิใช่เหตุเดียว ที่ทำให้นางสาวอินทิรา อยู่ได้นาน ปัจจุบันนี้ อินเดียผลิตอ้อยเป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิล ผลิตข้าวสาลีเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน แต่ส่งออกข้าวสาลี มากกว่า จีนสามเท่าตัว และการส่งออกข้าวเจ้า ก็เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศไทย เป็นต้น

การเร่งรัดพัฒนาชนบท และส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้แก่อินเดีย ในส่วนที่เกี่ยวกับการเงินและสินเชื่อนั้น ก็ได้ชักนำไปสู่การตั้ง ธนาคาร ธกส. ของอินเดีย โดย พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524  ซึ่งก็เกิดขึ้นในยุครัฐบาล นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี สินเชื่อเกษตรในอินเดีย วิวัฒนาการในรายละเอียดเรื่อยมา กระทั่งเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว พ.ศ. 2541 รัฐบาลอินเดีย สร้างความฮือฮา ประเภทที่ชาวไร่ชาวนา ได้เฮ ด้วยการริเริ่มโครงการคิดใหม่ทำใหม่ และคิดนอกกรอบ ชื่อ किसान क्रेडिट कार्ड อ่านว่า  กิสาน เกรฑิท การฺฑ  แปลตรงตัวเป็นภาษาไทย = โครงการ บัตรเครดิต เกษตรกร  วาว ออซัม!



สังหารโหด นักการเมืองสตรีเอเชีย
(นางสาวอินทิรา ตอน 3/3 ถ้าคนดี มิได้ช้ำ ระยำยับ -สุนทรภู่)
women politicians in Asia murdered
กรณี इंदिरा प्रियदर्शिनी  - นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี  

คุณงามความดี

นักการเมืองบางคน ก็มีคุณงามความดี ไม่ได้เลวไปเสียทั้งหมด หรือเลวทั้งตัว นักเขียนผู้หนึ่ง ผู้เขียนชีวประวัติชีวิต นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี  กล่าวไว้ว่า ถ้าแม้นบัญชีหางว่าว แสดงข้อเสียของอินทิรา จะยืดยาว แต่บัญชีบันทึกข้อดีของเธอ อันกอปรด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าพิศวง ยาวกว่านั้นอีก... ซึ่งคนอินเดียรุ่นใหม่ จะเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ กันเป็นส่วนมาก

คืนหนึ่ง ใต้แสงจันทร์เสี้ยวเล็กบาง ผู้เขียนกับมิตรอีกสองคน พากันลอยเรือลำน้อย ตะคุ่ม ๆ ไปในความมืดมิดและเงียบเชียบ ของแม่น้ำคงคา เพื่อไปจอดเรือกลางน้ำ ตรงหน้าท่าน้ำแห่งหนึ่ง โดยผูกเรือโยงเข้ากับหมู่เรือใหญ่น้อยลำอื่น ๆ ที่ลอยกันเป็นตับ ใต้ฟ้าคืนเดือนมืด รอชมพิธีบูชา ร่ายรำคบเพลิง ที่จัดขึ้นบริเวณชายฝั่ง พระจันทร์เสี้ยวเล็ก ๆ ค้างอยู่บนฟ้าสีดำ ชวนให้นึกถึงเครื่องหมาย จันทระพินทุ  รูปพระจันทร์เสี้ยว ที่เขียนไว้บนอักขระเทวะนาครี โดยเฉพาะตามคำยืม ที่ดาวน์โหลดตรงจากสันสกฤต มิตรชาวภารตะเล่าว่า สมัยเด็ก ๆ ครูจะดุเสมอ เรื่องลืมเขียนเครื่องหมายจันทระพินทุ   นี้ 

ขากลับขึ้นจากเรือแล้ว ก็เดินไปตามซอกซอย อันหรุบหรู่ ริบหรี่แสงไฟ ในย่านชุมชนแออัดของเมืองพาราณสี  บัดนั้น ก็ได้ยินเสียงผู้คน เดินโห่ร้อง ก้องมาจากทางแยกตรงหน้า จึงหลบเข้าข้างทาง เพื่อหลีกหัวขบวนที่กำลังนำฝูงชน เดินร้องเข้าจังหวะมาในความสลัว ใต้แสงไฟมัวซัวริมทาง มองเห็นคนในขบวน แต่งกายแลดูขะมุกขะมอม ตามประสาอินเดีย ส่วนมากจะเป็นพวกวัยรุ่น ถือป้ายที่ทำขึ้นตามมีตามเกิด ชูป้ายพลางตะโกนข้อความพร้อมเพรียงกัน ทำให้ผู้เขียนทราบว่า เป็นขบวนของ ยุวชนพรรคคองเกรส ออฟ อินเดีย ไม่ใช่อันธพาลที่ไหน

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผู้หนึ่ง ในค่ำวันนั้น เอ่ยนาม อินทิรา ปริยัทรศินี และพรรคคองเกรส กับผู้เขียนด้วยความชื่นชม และแม้ในความริบหรี่ของแสงไฟ ผู้เขียนคิดว่า ยังจำหน้า น้ำเสียง และแววตาของเขาได้ พรรคคองเกรส ออฟ อินเดีย และอินทิรา ปริยัทรศีนี ที่เคยซบเซาเฉาลงระยะหนึ่ง บัดนั้น ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นประทีป นำทางการเมืองอินเดีย ต่อไป

ก็ในยุคสมัยที่อินทิรา นำพรรคคองเกรสอยู่ มิใช่หรือ ที่อินเดียได้กลายเป็น ขุมกำลังแรงงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันดับสามของโลก ได้กลายเป็นอำนาจทางทหารอันดับห้าของโลก ได้กลายเป็นสมาชิกลำดับที่หก ในสโมสรนิวเคลียร์โลก ได้กลายเป็นชาติที่เจ็ด ซึ่งส่งยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และได้กลายเป็นอำนาจอุตสาหกรรมลำดับสิบ 

คุณงามความดีของ อินทิรา ปริยัทรศินี ที่สถิตอยู่ในความทรงจำคนอินเดียนั้น อาจสรุปเพื่อท่านผู้อ่าน ผู้อยู่ห่างไกลจังหวะชีพจรภารตะ ให้ได้ทราบพอสังเขปว่า เธอมีความดีประเด็นใหญ่ ๆ อยู่สองประการ คือ ประการที่หนึ่ง อินทิรา ปริยัทรศินี ยืนหยัดเข้มแข็งมั่นคง กับบูรณภาพแห่งดินแดน กับเอกภาพ ตลอดจนกับเกียรติภูมิของอินเดียเสมอ เธอไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวกับเรื่องเหล่านี้ และประการที่สอง ด้วยน้ำใจกว้างดุจมหาสีทันดร เธอปันใจให้กับคนจนของอินเดีย 

ถ้าคนดี มิได้ช้ำ ระยำยับ
-สุภาษิตสอนหญืง ของ สุนทรภู่

นับถอยหลัง ประมาณสิบปีจากที่กำลังเขียนอยู่นี้ มีคดีไม่ธรรมดาคดีหนึ่ง เกี่ยวข้องกับสตรี เกิดขึ้นในประเทศไทย และศาลได้ตัดสินถึงที่สุด ในช่วงเวลาประมาณ ๆ กันนั้น ก็เกิดคดีลักษณะเดียวกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน เกิดขึ้นที่อินเดีย ศาลอินเดียได้ตัดสินในระยะใกล้ ๆ กับศาลไทย ผู้เขียนจำรายละเอียดคำตัดสินไม่ได้ แต่ผู้กระทำผิดทั้งที่เป็นคนแขกในประเทศอินเดีย และคนไทยในประเทศไทย ถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

คดีแปลก ๆ แบบนี้ เราสามารถค้นข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยาก ถ้าสนใจจริง ทั้งในระบบข้อมูลศาลอินเดีย และในระบบข้อมูลศาลไทย แต่ผู้เขียนอ่านเรื่องทั้งสองเรื่อง จากน.ส.พ.ไทย และน.ส.พ.อินเดีย

เหตุแห่งคดี เกิดในตู้รถไฟชั้นหนึ่ง แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน บนรถไฟไทยและรถไฟอินเดีย ซึ่งการเดินทางชั้นหนึ่งนี้ ถือว่าเป็นชั้นสูง หนาว และโดดเดี่ยว ผู้โดยสารสตรีคนหนึ่ง เดินทางโดยลำพัง เธอถูกพนักงานประจำตู้รถไฟชั้นหนึ่งข่มขืน เป็นเรื่องลักษณะเดียวกัน ทั้งในรถไฟไทยและบนรถไฟอินเดีย แต่คนละกรณีกัน ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวกัน

กฎหมายทุกประเทศ เกี่ยวกับเรื่องการกระทำผิดทางเพศ โดยทั่วไปแล้วก็จะมาจากแหล่งใกล้เคียงกัน ใช้หลักเดียวกันบางหลัก แต่อาจมีข้อแตกต่าง ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องนี้หลักหนึ่ง แต่มิใช่หลักเดียว คือ หลักกฎหมายเรื่องการ ละเมิด ที่ภาษากฎหมายภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Tort Law”

ทั้งอินเดียที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายจารีตประเพณี แบบอังกฤษ) และไทยที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ (กฎหมายที่มีประมวลฯ แบบฝรั่งเศส) ต่างก็เรียนปรัชญากฎหมาย ละเมิด แบบตะวันตก จากสำนักนักปรัชญาฝรั่ง ยุคสว่างทางปัญญา ในศตวรรษที่ 18 ด้วยกัน ทั้งนี้โดยที่ การอ้างเหตุผล แก้คำกล่าวหาเรื่องละเมิด มีหลักวางรูปคดีอยู่หลักหนึ่ง แต่มิใช่หลักเดียว ว่าจะต้องแก้กันด้วย หลัก ยินยอม

ในกฎหมายไทยนั้น คำว่า ยินยอม มีใช้อยู่ในหลายมาตรา ในประมวลกฎหมายอาญา

หลักเรื่องความ ยินยอม นี้ ที่จริงก็เป็นหลักใหญ่หลักหนึ่ง ในระบบความยุติธรรมที่ใช้กันในโลกปัจจุบัน ทั้งในตะวันตก ในอินเดีย และไทย โดยไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดทางเพศ เท่านั้น

ทั้งเรื่องความยุติธรรมทางการมุ้งและการเมือง นั้น จ้าวแห่งปรัชญาความยุติธรรม บนพื้นฐานของความยินยอม เราอาจศึกษาได้จาก จอห์น ล็อค  อย่างไรก็ดี ความยินยอมเรื่องความผิดทางเพศ เราจะรู้สึกคุ้นหู รู้สึกว่าชัดเจนใกล้ตัว มากกว่าเรื่องความยินยอมในทางการเมือง และเราก็รู้จักสำนวนอังกฤษภาษากฎหมาย ที่ว่าด้วยกิจกรรมถูกต้องตามกฎหมายชนิดหนึ่ง ที่บอกว่าเป็นการกระทำ ระหว่างผู้ใหญ่ที่ยินยอม หรือ consenting adults ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะหมายถึงกิจกรรมเรื่องเพศ

กรณี ความยินยอม ในทางการเมืองที่มีชื่อเสียงกรณีหนึ่ง ได้แก่การที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ และเป็นนักปรัชญาการเมืองอเมริกัน นายแซมมวล อะดัมส์ รณรงค์ให้คนปฏิปักษ์ต่อการที่อังกฤษเก็บภาษีจากดินแดนอาณานิคมอเมริกัน โดยไม่ได้รับ ความยินยอม จากคนในอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การประกาศอิสรภาพอเมริกันในที่สุด  

ก็ในเมื่อหลักความยุติธรรม บนพื้นฐานของความยินยอม ที่จริงแล้วท่านใช้กับการเมืองด้วย คำถามที่เราน่าจะถาม จึงได้แก่คำถามที่ว่า อินทิรา ปริยัทรศินี ได้กระทำการใดในระดับ ระยำยับ ที่สังคมอินเดียไม่ให้ ความยินยอม หรือ?

เรื่องที่อินทิรา กระทำชำเรา ต่ออินเดีย : 1) เธอปรามาส ระบอบประชาธิปไดยของอินเดีย

ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก พ.ศ. 2509-2520 นางสาวอินทิรา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อหนีคดีคอรัปชันและความวุ่นวายในสังคม ท่ามกลางการท้วงติงคัดค้าน ติฉินนินทา เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยเธออาศัยอำนาจ จากกลุ่มมาตราเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉิน(มาตรา 352-359) ในรัฐธรรมนูญอินเดีย อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ยืดยาวที่สุดในโลก มี 444 มาตรา ใช้คำประมาณ 120,000 คำ แล้วบริหารประเทศแบบ เผด็จการคือ ด้วยการสั่งการของฝ่ายบริหาร ที่ผู้ใดแม้แต่สื่อมวลชน จะท้วงติงคัดค้านไม่ได้ ซึ่งโดยแท้จริงก็คือบริหารโดยลำพัง และตามอำเภอใจเธอเอง ภาษาเทคนิคเรียกว่า  rule by decree

ขออนุญาตท่านผู้อ่าน ลงรายละเอียดสักสองสามคำ ในทางเทคนิคนั้น นายกรัฐมนตรีอินเดีย ไม่มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจนี้เป็นอำนาจประธานาธิบดี แต่ว่าคนชงเรื่องคือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีของเรานี้ ประธานาธิบดี ฟารุคดิน อาลี อาเหม็ด จะเป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามคำเสนอแนะ เป็นลายลักษณ์อักษร ของนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี

สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประชาธิปไตยอินเดีย ก่อนหน้านี้ เคยประกาศใช้มาแล้วสองครั้ง คือ พ.ศ. 2505 เมื่อเกิดสงครามชายแดนกับจีน และพ.ศ. 2514 ระหว่างสงครามกับปากีสถาน ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สาม แต่ครั้งนี้มีประเด็นที่แปลกพิสดาร ไปจากสองครั้งก่อน
ผู้เขียนเห็นว่าความแปลกที่ว่านั้น ได้นำไปสู่ความเกลียดชังนางสาวอินทิรา ตั้งแต่บัดนั้นจนเท่าบัดนี้ ทั้งในหมู่ปัญญาชนอินเดีย และในหมู่ผู้ที่ไม่ได้เป็นปัญญาชน แต่ใช้สติปัญญาในการอ้างเหตุผลยกขึ้นแย้งกัน เช่น อัยการสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย เป็นต้น นอกจากนั้น คนในคณะรัฐบาลเองบางคน ก็ไม่เห็นด้วย เช่น รัฐมนตรี กระทรวงข่าวสารและการแพร่ภาพแพร่เสียง คือ นายอินทร์ กุมาร คุชราล ซึ่งประกาศลาออกจาตำแหน่ง เป็นการประท้วง เป็นต้น

แต่ตัวอย่างที่ยกมานั้น ในความเห็นของผู้เขียน ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับที่เธอถูกต่อต้านอย่างเปิดเผย จากขบวนการทางการเมือง ที่จะมองข้ามไม่ได้ขบวนการหนึ่งในอินเดีย อันได้แก่ ขบวนการ  राष्ट्रीय स्वयंसेवक संघ = ราษทริยะ สวยัมเสวะกะ สังฆะ = สมาคมจิตอาสาแห่งชาติ  ซึ่งนักสังเกตการณ์ความเป็นไปในอินเดีย มักเห็นพ้องกันว่าเป็น ขบวนการชาตินิยมฮินดูขวาจัด จะเรียกว่า ฮินดู ฟันดาเมนทัลลิสต์ แบบที่พวกฝรั่งชอบเรียกก็ได้ หรือจะบอกว่าเกือบ ๆ จะเทียบได้เป็น นาซี ของอินเดียก็อาจจะได้อีก และสมาชิกขบวนการนี้ ก็เคยเป็นผู้สังหาร มหาตมะ คานธี เพราะฉะนั้น อินทิรา เธอสร้างได้สร้าง “haters” ขึ้นเป็นปริมาณมาก หลายหมู่เหล่า ในคราวเดียว

ความพิศดาร ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ แปลกกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างไร

มนตราศักดิ์สิทธิ์มนตร์หนึ่ง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดียหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียด แต่ว่ามาตรา 21 ในหมวด 3 ประกันสิทธิในชีวิต ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Right to life” เอาไว้

แต่ ในคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีรายละเอียดทางเทคนิคบางแง่มุมที่ถือได้ว่า แม้สิทธิในชีวิต คนอินเดียก็จะไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองอีกต่อไป การจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลนับพันคน  รวมทั้งอดีตนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ ตลอดจนวิธีปฎิบัติต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น รัฐบาลอินทิรา คานธี กระทำการที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พร้อมที่จะฉกฉวย “Right to life” ของคนอินเดียมาย่ำยีตามอำเภอใจ ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนหน้านี้ ไม่เคยที่จะล่วงละเมิดสิทธิกัน ถึงขั้นนี้

ด้วยประการฉะนี้ เราก็อาจถือได้ว่า นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี ก็ เอวัง หรือตายไปแล้วครึ่งตัว เพราะไม่เชื่อโอวาท สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่ ที่กล่าวว่า

อย่าเอาผิด มาเป็นชอบ ประกอบใจ
จงอยู่ใน โอวาท ญาติวงศ์

 -สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่


เรื่องที่อินทิรา กระทำชำเรา ต่ออินเดีย : 2) เธอลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย ที่เธอไม่เคารพนับถือ

ซึ่งกรณีเช่นนี้นั้น สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่ เตือนไว้ว่า

คนผู้นั้น ครั้นตาย วายชีวาตม์
คงไม่คลาด แคล้วนรก ตกถลา
ไม่เห็นเดือน เห็นตะวัน พระจันทรา
ทรมา หมกไหม้ ในไฟฟอน

ชีวิตลูกผู้หญิงคนหนึ่งของอินทิรา ทรมา หมกไหม้  มาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2523 เมื่อลูกชายคนเล็ก ซึ่งเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนชื่อ นายสันชัย คานธี ขับเครื่องบินเล็ก บินผาดโผน โฉบไปโฉบมา เหนือน่านฟ้ากรุงเดลลี คล้าย ๆ กับจะฉลองโอกาสที่มารดา ได้กลับมานั่งบัลลังก์นายกฯอีกครั้งหนึ่ง แล้วเครื่องบินลำนั้นตีลังกา พลัดตกลงมายู่ยี่ ยับอยู่กับพื้น นายสันชัยตาย เครื่องบินตกใกล้ย่าน จาณะกะยะปุรี(चाणक्यपुरी) ซึ่งเป็นย่านสถานทูตในกรุงเดลลี  สถานทูตไทยก็อยู่ที่นั่น ปีนั้นเป็นปีแรก ที่คุณแม่เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ระหว่างพ.ศ. 2523-2527 คุณลูกชายตาย เมื่อคุณแม่อายุ 63 ปี

อินทิรา หมายมั่นปั้นมือกับลูกชายคนเล็กมาก สันชัยไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาสำเร็จการศึกษามัธยมปลายในเดลลี ช่วยงานการเมืองของมารดา มาตั้งแต่มารดาเป็นนายกฯสมัยแรก โดยเฉพาะในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คาบเกี่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2518-2520 รวมเวลา 19 เดือน อันเป็นเดือนแห่งฝันร้ายของประชาธิปไตยอินเดีย ความจุ้นจ้านวุ่นวายของสันชัย ขึ้นชื่อลือชา และยังอยู่ในความทรงจำอย่างน่ารังเกียจ ของวงการการเมืองอินเดียส่วนมาก ในเวลานั้นทุกคนทราบว่า สันชัย ถูกกำหนดตัวให้รับทอดอำนาจวาสนาบารมี ของอินทิราสืบไป แต่ขณะเดียวกันบางคนก็เห็นว่า สันชัยคือ มือคอรัปชัน ของคุณแม่ เช่น กรณีการประมูลงานหลวงโครงการใหญ่ ที่มีลับลมคม บางโครงการ เป็นต้น ครั้งหนึ่ง ร.ม.ต. มหาดไทยอินเดีย ในรัฐบาลนายกฯ โมรา เคยออกหมายจับทั้งสันชัยและอินทิรา โดยที่น.ส.พ. ตีพิมพ์ว่า กรณีของสันชัยนั้น มีรายงานข้อหาฆาตกรรมด้วย

เมื่อสันชัยตายแบบปัจจุบันทันด่วน อินทิราก็เลยกลายเป็นคนเสียศูนย์ ไม่มีอู่ใด ๆ จะตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้เธอได้ เป็นไปได้ไหมว่า ความสูญเสียหนักหนาสาหัส ในชีวิตส่วนตัวของนักการเมืองระดับชาติ มีส่วนทำให้คุณภาพการตัดสินใจราชการงานเมือง พลอยด้อยคุณภาพไปด้วย แล้วก็ด้วยสภาพจิตที่ว้าเหว่ เดียวดาย และเครียดจัด(=โคตรเซ็ง)นั้นเอง ที่อินทิรา ได้เข้ารับงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย รอบที่สอง

ที่ย่านพาหุรัดในกรุงเทพฯ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าอินเดียเอ็มโปเรี่ยม มีวัดแขกเด่นเป็นสง่า เป็นวัดในศาสนาซิกข์ ซึ่งเป็นวัดคนละศาสนากัน กับวัดแขกสีลมอันเป็นวัดฮินดู คนซิกข์มีหลักแหล่งสำคัญ อยู่ในรัฐปันจาบ ทางเหนือของอินเดียต่อแดนกับปากีสถาน รัฐนี้มีพลเมืองซิกข์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และในทางปฏิบัติชาวซิกข์ในรัฐปันจาบ เคยเป็นหัวหอกนำร่องการปฏิวัติเขียวของอินเดีย อมฤตสาร์ คือเมืองสำคัญของรัฐปันจาบและของคนซิกข์ เพราะเป็นที่ตั้งวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาซิกข์ เป็นกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญหลายหลัง ศูนย์รวมจิตใจซิกข์ทั้งปวง ชื่อวัดในภาษาปันจาบี แปลว่า เทวาลัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  ซึ่งเน้นให้เห็นถึง การนับถือ พระเจ้าองค์เดียว ของชาวซิกข์ ทั่วโลกรู้จักวัดนั้นกันทั่วไปว่า วัดสุวรรณ หรือ วัดทองแห่งอมฤตสาร์

ในเวลานั้น เกิดวิกฤตและเหตุการณ์รุนแรงขึ้นที่ อมฤตสาร์ คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นที่นั่น สมัย บริทิศ ราช  เมื่อพ.ศ. 2462 ตรงกับรัชกาลที่ 6 ครั้งกระโน้นทหาร กองทัพอินเดียของอังกฤษthe British Indian Army  สั่ง ยิงทิ้ง หรือ shoot-to-kill คนอินเดียที่ชุมนุมที่สวนสาธารณะ เมืองอมฤตสาร์ ไปประมาณหนึ่งพันคน

แต่ กรณีของวิกฤตเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2527 ยุคนางสาวอินทิราเป็นนายกฯ รอบหลังนี้ กองกำลังที่เข้าปราบปราม ผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ ซึ่งเข้าไปยึด เทวาลัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเมืองอมฤตสาร์ ได้แก่ ภารัติยะ สะศาสตรา เสนา भारतीय सशस्त्र सेनाएं  หรือ กองทัพอินเดีย  ไม่ใช่ the British Indian Army อีกต่อไป แบบว่ากองทัพบังล้วน ๆ ไม่มีฝรั่งปน มาฆ่าบังกันเอง

ปฎิบัติการณ์ ดาวสีน้ำเงิน ब्ल्यू स्टार  คือ ชื่อรหัสปฏิบัติการณ์ลุยวัดทอง ด้วยอาวุธหนัก ประกอบด้วยรถถัง 6 คัน รถหุ้มเกราะ และสารพัดสรรพาวุธ ของกองทัพอินเดีย โดยการสั่งการจากนางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี นับได้ว่า เป็นปฏิบัติการรบที่มีชัยในสนามรบสุดหรู แต่พ่ายแพ้ภินท์พัง ยู่ยี่ ย่อยยับ ยอบแยบ ดูไม่จืดในทางการเมือง ชาวซิกข์ทั่วโลกลุกขึ้นมาประท้วง และนายทหารชาวซิกข์หลายคน ก็ประท้วงด้วยการลาออก จากกองทัพอินเดีย ฯลฯ

ฆ่าตัวตายชัด ๆ แต่เธอมีสติรู้ตัวดี ผู้สนใจศึกษาประวัติขีวิตอินทิราหลายราย เห็นพ้องกันว่า อินทิรา ปริยัทรศินี รู้ตัวดีว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอ เป็นการตัดสินใจระดับ ถึงฆาต

สวรรค์ลงโทษอินทิรา

ในที่ชุมนุมทางการเมือง ค่ำวันก่อนวันที่เธอจะถูกปลิดชีพ เหมือนกับจะสังหรณ์ใจ เธอกล่าวต่อที่ประชุมว่า

          ฉันทำใจได้แล้ว หากว่าชีวิตฉันจะต้องพลี เพื่อรับใช้ประเทศชาติ
           วันที่ฉันตาย เลือดทุกหยดของฉัน จะเติมพลังให้แก่อินเดีย

เช้าวันรุ่งขึ้น เธอมีนัดให้สัมภาษณ์ ปีเตอร์ อูสตินอฟ ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังสร้างสารคดีเกี่ยวกับอินเดีย เธอกำลังเดินจะออกจาก จวนที่พำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 1 ถนนซัฟทระชุค(सफदरजंग )  และทันใดนั้น...

เวลา 09.20 น. นายเบ-อัน ซิงห์ พนักงานรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชาวซิกข์ ชักปืนพกลูกโม่ .38 ออกมายิงเข้าที่ท้องของนางสาวอินทิรา สามนัด เธอล้มทรุดลงกับพื้น รปภ.ชาวซิกข์อีกคนหนึ่ง นายสัทวัน ซิงข์ ใช้ปืนยาวอัตโนมัติยี่ห้อ สะเต็น สาดกระสุน 30 นัดใส่ตัวเธอ    

อินทิรา ถูกส่งตัวไปยัง สถาบันการแพทย์ที่ดีที่สุดของอินเดีย ที่ "  भारतीय आयुर्विज्ञान संस्थान "    ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน  ทีมแพทย์ผ่าตัดเอาหัวกระสุนจำนวน 16 ลูก ออกจากตัว เธอมีแผลกระสุน เจาะทะลุร่างกายไม่ต่ำกว่า 19 แผล

เวลา 10.50 น. อินทิรา ถึงแก่ความตาย 

รปภ.ชาวซิกข์สองคนที่ฆ่าเธอ ยอมจำนนในที่เกิดเหตุ นายเบ-อัน ซิงห์ ถูกคุมตัวเข้าไปในห้องพักพนักงานรักษาความปลอดภัยทันที  และบัดดลต่อมา เสียงปืนลั่นขึ้นในห้องนั้น นายเบ-อัน ซิงห์ ถูกยิงตายในห้องนั้น ตามรายงานระบุว่า เขาพยายามจะแย่งปืนจากเพื่อนรปภ.
ส่วนนายสัทวัน ซิงข์ และผู้ร่วมก่ออาชญากรรมอีกนายหนึ่งชื่อ เคหะ ซิงข์ ถูกศาลพิพากษาตัดสินประหารชีวิต และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเรือนจำ กรุงเดลลี

เวลา 11.00 น. สถานีวิทยุ ออล อินเดีย ราดิโอ กระจายเสียงทั่วประเทศ รายงานข่าวนายกรัฐมนตรี อินทิรา ถูกคนชิกข์ฆ่าตาย

เวลา 16.00 น. นายราชีฟ คานธี บินกลับจากรัฐเบงกอลตะวันตก และเดินทางไปเคารพศพมารดา ซึ่งยังเก็บรักษาอยู่ที่ ศูนย์การแพทย์ ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน  

เวลา 17.30 น. ขบวนรถประธานาธิบดีอินเดีย นาย เซล ซิงห์ ซึ่งเป็นคนซิกข์ กลับมาจากไปราชการต่างประเทศ ปรับขบวนจากสนามบิน ตรงไปยัง ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน  เมื่อเข้าใกล้ศูนย์การแพทย์ ม็อบกลุ่มหนึ่งเข้าขัดขวางขบวนรถประธานาธิบดี เซล ซิงห์

ค่ำวันนั้น และตลอดคืนนั้น ม็อบแอนตี้ซิกข์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นม็อบจัดตั้ง และรับทรัพย์จากนักการเมืองพรรคคองเกรส(ไอ) คนเหล่านั้นจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก ขยายตัวออกจาก ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน

เวลา 09.00 น. เช้าวันรุ่งขึ้น คนซิกข์คนแรกในกรุงเดลลี ถูกม็อบแอนตี้ซิกข์ ฆ่าตาย

ความวุ่นวายดำเนินต่อไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในกรุงเดลลี และในอินเดียภาคเหนือ ข้อมูลทางการระบุว่า มีคนซิกข์ถูกฆ่า 2,700 คน แต่องค์การเอกชนและสื่อมวลชน รายงานจำนวนคนตาย ไว้ระหว่าง 10,000 17,000 คน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีนั้น พิธีเผาศพอินทิรา คานธี จัดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้กับอนุสรณ์สถาน ราช ฆาท राज घाट ที่ระลึกถึงมหาตมะ คานธี

และ เพื่อเราจะได้รู้จักอินทิรา เพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย ขอคัดคำพูดแสดงความคิดเห็นในบางโอกาสของเธอ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ครับ

ชีวิตครอบครัวนักการเมืองอย่างฉัน  ฉันเป็นคล้าย โจน ออฟ อาร์ค  คือว่าฉันถูกเผาทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอไม่ได้เป็นนักการเมืองแท้จริง เธอตอบโต้ว่า ฉันเป็นนักการเมืองเต็มตัว ในแง่ที่ว่า ฉันปรารถนาจะเห็นอินเดีย มีรูปลักษณ์อันเฉพาะและชัดเจน คือ อินเดียที่ปราศจากความยากจนข้นแค้น อินเดียที่ไร้ความอยุติธรรม อินเดียที่ปลอดจากการครอบงำของต่างชาติ
ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอเป็นนายกรัฐมนตรี รับมอบฉันทะ แต่ ไร้ภารกิจ ภาษาอังกฤษเขาวิจารณ์ว่า เธอเป็นนายกที่มี “mandate” แต่ปราศจาก “mission” เธอตอบโต้ว่า คุณคิดว่า การที่จะดูแลรักษาประเทศอย่างอินเดีย ให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างปรองดองพอสมควร เป็นเรื่องง่ายหรือ คุณบอกว่ารัฐบาลฉัน ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชน ฉันขอถามสักคำ คุณเคยเห็นรัฐบาลไหนในโลก รักษาคำมั่นสัญญาได้มากเท่าฉันหรือ
ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอได้เปรียบนักการเมืองคนอื่น เพราะเธอเป็นลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรี เธอมีความเห็นตอบกลับ ว่า ตำแหน่งฐานะคนในสังคม ทุก ๆ ตำแหน่งฐานะ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับฉันข้อดีก็คือ ฉันได้รับการศึกษาที่คุณพ่อดูแลให้ และมีคุณพ่ออบรมสั่งสอนโดยตรง นอกจากนั้น ฉันก็มีโอกาสได้พบปะ กับคนที่มีความสามารถสูงทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่นักการเมือง แต่ฉันได้พบนักเขียน ศิลปิน บุคคลที่น่าทึ่งในสาขาต่าง ๆ แต่จะกระนั้นก็ดี ในวงการเมืองแล้ว คุณก็ต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพื่อยืนยันและยืนหยัดว่า คุณไม่ใช่สักแต่ได้ดีเพราะความเป็นลูกอดีตนายก แต่คุณ เป็นคนที่มีคุณค่า ในตัวของคุณเอง

และเธอกล่าวเติมว่า แล้วก็ ในฐานะลูกผู้หญิงคนหนึ่ง คุณก็ต้องทำงานหนักกว่าผู้ชายสองเท่า
หากข้อเขียนนี้ ละลาบละล้วงจ้วงจาบไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว และต่อผู้ที่รักท่าน ขอตั้งจิตอธิษฐานให้ดวงวิญญาณของ อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี  อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ที่โลกยากจะลืม ประสบสุขในสัมปรายภพ เทอญ


หมายเหตุ - ทหารรปภ. ที่ฆ่าอินทิรา คานธี ได้รับการสรรเสริญและยกย่องเป็น "ผู้พลีชีพเพื่อศาสนาซิกข์" ในชุมชนชาวซิกข์ที่อินเดียและที่อื่น จึงเป็นเหตุแห่งชื่อบทความนี้ว่า "ฆ่านายกฯหญิง-ไม่บาป"

ลำดับต่อท้าย เป็นคำชี้แจง เกี่ยวกับการใช้ภาษา

1) คำชี้แจง การเรียกชื่อกฎหมายอินเดีย ในข้อเขียนว่า พ.ร.บ.

กฎหมายอินเดียผู้เขียนใช้คำไทยอย่างย่อ เรียกว่า พ.ร.บ. ซึ่งในเมืองไทยคำย่อนี้ หมายถึง กฎหมายทั้งปวงที่ผ่านสภาฯ ออกมา และพระเจ้าอยู่หัวลงพระนามแล้ว

ง่าย ๆ เลยอย่าปวดหัว กลับไปอ่าน พระราชบัญญัติฉบับแรก ที่ออกมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 2 วัน คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕  ในมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า  สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้น เมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้

เพราะฉะนั้น ตามความเข้าใจของผู้เขียน ก็เห็นว่าการที่รัฐบาล ออกกฎหมาย ใด ๆ ก็ดี ในทางภาษากฎหมายท่านใช้คำว่า ออกพระราชบัญญัติ ดังความในมาตรา 8 นั้น

ส่วน กฎหมายที่ผ่านสภาฯ อินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Act” ผู้เขียนก็เรียกเป็นภาษาไทยว่า พ.ร.บ. เพื่อให้เนื้อความตรงตามภาษากฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524 (ของอินเดีย) ผู้เขียนก็แปลมาจากชื่อภาษาอังกฤษของกฎหมายอินเดียฉบับนั้น ที่ว่า the National Bank for Agriculture and Rural Development Act 1981 

โดยที่ ผู้เขียนแปลคำว่า act = พ.ร.บ. ซึ่งก็ไม่ได้คิดเองทำเอง หรือนึกทึกทักเอาเอง ตามอำเภอใจ แต่แปลตามครรลองของการเรียกชื่อกฎหมายไทย ที่ว่ามาในย่อหน้าต้น และตามอาจารย์กฎหมายหลาย ๆ ท่าน

ระบบกฎหมายอินเดียทุกวันนี้ รับมรดกมาจาก บริทิศ ราช  หรือระบอบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และกระบวนการยุติธรรมของอินเดีย ก็ถ่ายสำเนาจากอังกฤษ แต่ก็มีการปรับเนื้อหาเพื่ออินเดียเป็นการเฉพาะตัวอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น แม้อินเดียจะไม่ได้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย เช่นประเทศฝรั่งเศส สเปน ละตินอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นพิเศษอยู่ว่า อินเดียมี ประมวลกฎหมายอาญา  ไว้ใช้ (แต่ประมวลแพ่ง หามีไม่) 

ประมวลกฎหมายอาญาฉบับดังกล่าว บริทิศ ราช  สร้างขึ้นไว้ เพื่ออาณานิคมอินเดียโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้ในประเทศอังกฤษ แต่ต่อมา-และตราบจนเท่าทุกวันนี้ ประมวลกฎหมายอาญาฉบับนั้น ก็ยังเป็นพื้นฐานของกฎหมายอาญา ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย สิงห์คโปร์ และบรูไน

โดยชื่อแล้ว พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524  ของอินเดีย ก็พอจะเทียบได้ตรงกับ พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนก็ได้ประหยัดขั้นตอน ไม่ได้ใช้คำว่า พระราชบัญญัติ ให้ยืดยาวกับกฎหมายอินเดีย แต่ใช้คำย่อเรียกกฎหมายแขกว่า พ.ร.บ.นั่น พ.ร.บ. นี่

สรุปว่าตั้งแต่ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คำย่อว่า พ.ร.บ. ในประเทศไทยใช้หมายถึงกฎหมายทั่วไป ที่ผ่านสภาฯออกมา โปรดกลับไปอ่าน-อีกครั้ง -พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕  มาตรา 8  

แต่ ดังได้สาธกแล้วว่า กฎหมายอินเดียที่ ไม่ได้ ผ่านสภาฯออกมาก็มี เช่น ประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย เป็นต้น ซึ่งรับมรดกหน้าตาเฉยมาจาก บริทิศ ราช  และท่านแขกก็ไม่ได้เรียกกฎหมายฉบับนั้น ว่า “Act” และทางผู้เขียนก็ไม่ได้ดัดจริตเรียกว่า พ.ร.บ. แต่แขกท่านเรียกว่า “Code”  ซึ่งทางผู้เขียนก็เรียกตามท่านว่า ประมวลกฎหมาย ซึ่งชื่อตรงกับประมวลกฎหมายอาญา ของไทย แต่ถ้าเราจะศึกษาให้ละเอียด ศักดิ์ ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย ในระบบกฎหมายอินเดีย กับ ศักดิ์ ของประมวลกฎหมายอาญาไทย ในระบบกฎหมายไทย มีศักดิ์ไม่ตรงกันทีเดียวนัก ซึ่งจะขอละเว้นไม่ลงรายละเอียด

ในสมัยโบราณ สมัยอยุธยาหรือก่อนนั้น คำที่พอเทียบได้กับ พ.ร.บ. คือคำว่า พระไอยการ เช่น พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ถ้าจะเรียกขานเทียบเป็นภาษาปัจจุบัน ก็จะประมาณเรียกได้ตามสำนวนภาษาทุกวันนี้ว่า พ.ร.บ.ตำแหน่งนาพลเรือน หรือ พระไอยการลักษณรับฟ้อง ก็น่าจะเรียกพอสัณฐานประมาณได้ว่า พ.ร.บ.ลักษณรับฟ้อง เป็นต้น 

ที่ยกตัวอย่างมานั้น ก็เพื่อจะอภิปรายในเชิงการใช้ภาษาไทยและแขก ระหว่างหมู่มิตรสหายท่านผู้อ่านทั้งหลายว่า การเปรียบเทียบระบบกฎหมายโดยเนื้อหาก็ โคตรยุ่ง  ผู้เขียนไม่ต้องการทำเรื่องที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว ให้ แม่ง ยากขึ้นไปอีกสำหรับตัวเอง และสำหรับท่านผู้อ่าน ถ้าเป็นกฎหมายอินเดีย แล้วแขกเรียกว่า Act เราก็เรียกเสียง่าย ๆ ว่า พ.ร.บ. แล้วกัน-ความหมายจะได้ตรงกัน

2) คำชี้แจงการใช้คำว่า ราช

ข้อ 2) นี้ก็ต่อเนื่องกันกับข้อ 1) นั่นเอง คือว่าในเมืองไทยเนี่ยะ เมืองแขกไม่เกี่ยวนะครับ เฉพาะในเมืองไทยเนี่ยะ บางทีในเชิงรัฐศาสตร์ เราท่านบางคนก็เห็นว่า ถ้าประเทศใดไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กฎหมายประเทศนั้น เราก็ไม่น่าจะเรียกว่า พ.ร.บ. เพราะในคำเต็มของ พ.ร.บ. มีคำว่า ราช อยู่ด้วย เราคิดว่า ราช หมายความเกี่ยวพันถึงพระมหากษัตริย์ เท่านั้น

ผู้เขียนไม่กล้าฟันธงว่า ความเห็นชนิดนั้น ผิด!  เพราะการแสดงออกรุนแรงจะกลายเป็นโรตีจิ้มน้ำพริกรสแซ่บ ไป แต่ผู้เขียนมีความเห็นอย่างกลาง ๆ ด้วยการอ้างเหตุผล(อากิวแม้น) ดังต่อไปนี้

ขอความกรุณาว่า โปรดเปิดพจนานุกรม “The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary” ควบคู่ไปด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการอ่าน และทำความเข้าใจเนื้อความต่อไปนี้ แต่ถ้าไม่มีดิคชันนารีฉบับนั้น-ก็ไม่เป็นไรครับ จะพยายามเขียนให้ผู้ไม่มีพจนานุกรม พออ่านเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ว่า ท่านจะขาดพยานหลักฐาน ที่จะเห็นกับตา อยู่ตรงหน้าเท่านั้น

คำว่า ราช ภาษาฮินดีนั้น(-พจนานุกรม หน้า 859) แม้จะเกี่ยวข้องกับ ราชา โดยตรง แต่ตาม The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary ความหมายหลักอย่างพื้นฐาน จะหมายถึง ผู้ปกครอง กับ การปกครอง กับหมายถึง บ้านเมือง ด้วย เพราะฉะนั้น อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับบ้านเมืองและการปกครอง ก็เข้าข่ายใช้คำว่า ราช ได้หมด (-พจนานุกรม หน้า 860-861)

ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่ชื่อประเทศอินเดีย อย่างเป็นทางการ ยังมีคำว่า ราช ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คืออินเดียมีชื่อเต็มว่า ภารัติยะ คณะราชยะ= भारत गणराज्य  ซึ่งแปล เรียกกันในภาษาไทยว่า สาธารณรัฐอินเดีย

ที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็เพื่อจะอ้างเหตุผล(อากิวเม้น)ว่า แม้แต่ประเทศสาธารณรัฐเช่นอินเดีย ก็ยังใช้คำว่า ราช เรียกชื่อประเทศ และ The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary ท่านอธิบายคำนี้ไว้กว้างขวาง อย่างชนิดที่น่าจะถูกต้องดีแล้ว ถ้าไม่ถูกไม่ต้อง ก็ไม่ทราบว่าจะไปพึ่งใคร เพราะนักภาษาทั้งหลายก็เห็นว่า เป็นพจนานุกรมฮินดี-อังกฤษที่วิเศษที่สุด เท่าที่มีใช้กันอยู่เวลานี้

ว่า คำว่า ราช นอกจากจะหมายถึง ราชา แล้ว ก็ยังมีความหมายเกี่ยวกับ ผู้ปกครอง การปกครอง และบ้านเมือง เป็นต้น

คำว่า ราชการย์ แม้ไม่พบบ่อยในภาคปฏิบัติ แต่ก็มีความหมายตรงกับคำไทย ว่า ราชการ คือหมายถึง public administration พจนานุกรมฉบับนั้น ก็ได้ยกตัวอย่าง อธิบายไว้เหมือนกัน

ในบทความที่ได้เขียนไปนั้น ก็มีคำว่า

บริทิศ ราช = ब्रिटिश राज  ซึ่งหมายถึง ระบอบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียอยู่ในอดีต ก็มีคำว่า ราช อยู่

และมีคำว่า
ราชยะ สภา = राज्य सभा  ซึ่งหมายถึงวุฒิสภาของอินเดีย

และมีคำว่า
ราช ฆาท = राज घाट  ซึ่งที่จริง มีความหมายตามตัวอักษร ว่า ท่าน้ำของผู้ปกครอง คล้าย ๆ กับ ท่าราชวรดิษฐ์ อะไรประมาณนั้น แต่ในทางปฏิบัติใช้เรียกบริเวณอนุสรณ์สถาน สำหรับนักการเมืองระดับสูง หรือบุคคลสำคัญระดับชาติ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา กรุงเดลลี

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนก็เลยไม่อยากทำให้ ท่านผู้อ่านและตัวเอง สับสนโดยไม่จำเป็น ยังคงแปลภาษากฎหมายคำว่า “Act” เป็นภาษาไทยว่า พ.ร.บ. แม้จะเป็นกฎหมายอินเดีย สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ก็ตาม

ขออภัย ที่ชี้แจงยืดยาว และยินดีรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย โปรดแสดงความเห็นของท่าน ในช่อง คอมเม้นต์ ถัดไปนี้-ขอบคุณ ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น