ลอบสังหาร-ชะตากรรมนักการเมืองสตรีเอเชีย
จันทริกา กุมาระตุงคะ ตอน 1/2
--อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา รอดตาย แต่เสียตาข้างขวา
ปรีชา ทิวะหุต(แดง ใบเล่) ผู้ก็อป-ลอก-และเรียบเรียง
“ซิ อ็อง โป” ที่ปารีส สถาบันศึกษาการเมือง มีชื่อของฝรั่งเศส กับเวลาหลายปีที่นั่น ทำให้ จันทริกา กุมาระตุงคะ คล่องแคล่วทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงหล เธอเป็นนักศึกษาต่างชาติผู้หนึ่ง ที่มีประสบการณ์จริงจัง กับขบวนการนักเรียนนักศึกษา ระหว่างที่ฝรั่งเศส เกิดขบถนักเรียนปี 1968
จบจาก “ซิ อ็อง โป” แล้วเข้าเรียนปริญญาเอก สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยปารีส จันทริกา พักการศึกษาเดินทางกลับลังกา ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ต่อมา ระหว่างที่คุณแม่เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง และกำลังปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ จันทริกา เข้าทำงานการเมืองเต็มตัว คุณพ่อของเธอ นายพันธระไนยเก บางทีเขียนภาษาไทยว่า บันดาราไนเก ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สี่ของลังกา ถูกภิกษุ-คนสิงหล-รูปหนึ่งลอบสังหาร คุณแม่ของเธอ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ คุณแม่ของเธอสร้างประวัติศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก ในส่วนของจันทริกานั้น ประสบการณ์การศึกษาของเธอได้ลบคำสบประมาท ที่พวกกลุ่มคนช่างเกลียด(เฮตเตอร์) เคยกล่าวหาคุณแม่ว่า เป็นเพียงหญิงจากก้นครัว หรือ “คิทเช่น วูแมน” ไม่มีความรู้ความคิดอะไร ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ
คนในตระกูลเก่าแก่นี้ ทำงานการเมืองเกาะลังกา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณหนึ่งในสามของภาคอีสาน มาตั้งแต่สมัยที่เกาะนั้นอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ โดยที่คุณปู่ของเธอ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ให้กับข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษในลังกา และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “Sir” คนตระกูลนี้ นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน อันเป็นนิกายที่ผูกพันอยู่กับประเทศอังกฤษมาตั้งแต่รัชกาลอะลิซาเบธที่หนึ่ง แต่ต่อมา ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง คุณพ่อของเธอได้เปลี่ยนมานับถือพุทธ อันเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในลังกา การเปลี่ยนศาสนาจากคริสต์เป็นพุทธ ของนักการเมืองระดับสูงในลังกานี้ ค่อนข้างจะทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น เราจึงพบคนลังกานับถือพุทธ แต่ใช้ชื่อฝรั่งอยู่ประปราย สรุปว่าคนในตระกูลนี้ สืบทอดอำนาจทางการเมือง ผูกพันกันมาราว ๆ ครึ่งชีวิตของประเทศศรีลังกา นับแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ
การปกครองของอังกฤษ รองรับด้วยระบบราชการงานเมือง ที่เป็นทีมงานคนทมิฬ ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมส่วนน้อย นับถือศาสนาฮินดู ทำหน้าที่บริหารปกครองคนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละเจ็ดสิบห้าในลังกา ที่เป็นคนสิงหลซึ่งนับถือพุทธ อังกฤษได้ใช้สูตรการปกครองคล้าย ๆ กันนี้ในพม่าด้วย คือใช้คนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย เป็นทีมงานให้กับระบบราชการของอาณานิคม ปกครองคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนพม่า
ครั้นได้รับเอกราช คนสิงหลทวงสิทธิ์
คนสิงหลก็ดำเนินการทวงสิทธิ์ ด้วยการเข้าไปแทรกคนทมิฬในระบบราชการและการบริหารแผ่นดิน ให้คนสิงหลเข้าทำแทน กีดกันไม่ให้คนทมิฬเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะฉะนั้น ปมประเด็นปัญหาเรื้อรัง เรื่องความเกลียดชังของคนสิงหลกับคนทมิฬนั้น พูดยากมาก ยากแก่การเยียวยา จะกระนั้นก็ดี บรรดานักการเมืองระดับชาติของศรีลังกา เห็นจะมี จันทริกา เพียงผู้เดียว ที่ดูเหมือนจะเคยจริงใจ ที่จะแก้ไขปัญหานี้
คนสิงหล เป็นชาวอินเดียเหนือ ซึ่งตามภูมิศาสตร์ หมายถึงคนอารยัน หรืออริยกะ ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากเทือกเขาวินธัย อันเป็นทิวเขาที่กั้นกลางชมพูทวีป ชาวอารยันกลุ่มนี้อพยพมาอยู่ในลังกา ตั้งแต่ก่อนยุคอโศกมหาราช จากการศึกษาเรื่องภาษา ประมาณว่าน่าจะมาจากคนลุ่มน้ำสินธุ กระทั่งต่อมา โอรสของอโศกมหาราชได้นำศาสนาพุทธ พันธุ์โพธิ์พุทธคยา และผู้คนจากแคว้นมคธ ในล่มน้ำคงคา มาสมทบ ส่วนคนทมิฬซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ในชมพูทวีปภาคใต้ เหนือขึ้นไปจากเกาะลังกา ที่เป็นรัฐทมิฬนาดูในปัจจุบัน โดยคนทมิฬมาอยู่ในลังกาภายหลังคนสิงหล และแถมต่อมายังมีทมิฬใหม่อีกจำนวนมิใช่น้อย แบบพวกมอญใหม่ในเมืองไทย มาเป็นคนงานภาคเกษตร ระหว่างที่ฮอลันดาและอังกฤษปกครองเกาะลังกา ทมิฬใหม่เหล่านี้เรียกกันว่า “ทมิฬอินเดีย” มีจำนวนประมาณหนึ่งในสามของทมิฬทั้งหมด หรือล้านคนจากคนทมิฬทั้งหมดสามล้านคนในปัจจุบัน ส่วนคนสิงหลปัจจุบันี้มีประมาณสิบห้าล้าน
เมืองไทยกับกรุงลงกา
ผู้คนในเมืองไทยกับคนสิงหลในลังกา คบหาสมาคมกันมานานมาก โดยผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราช สมัยกรุงสุโขทัยนั้น หลายสิ่งหลายอย่างในเมืองสุโขทัย ล้วนแต่ก็อปและตัดปะจากลังกา โดยเฉพาะจากเมืองหลวงที่สองของลังกา ที่รุ่งเรืองเป็นเมืองพุทธ มาก่อนสุโขทัยประมาณสามร้อยกว่าปี ที่เมืองหลวงเก่าของลังกามีคนจากเมืองไทยไปอยู่ และที่กรุงสุโขทัยก็มีคนลังกามาอยู่ ปัจจุบันนี้โปสเตอร์รูปวัดมหาธาตุที่สุโขทัย เราสามารถนำไปหลอกฝรั่งได้ ว่านี่คือ “วัดลังกาดิลก” ในเมืองหลวงเก่า ของประเทศศรีลังกา และโปสเตอร์ภาพวัดลังกาดิลก เราก็สามารถนำไปต้มฝรั่งได้ ว่านี่คือรูป “วัดมหาธาตุ” ที่เมืองสุโขทัย ประเทศไทยแลนด์ ส่วนพระพุทธสิหิงค์นั้น เราก็ทราบกันอยู่ว่า คำว่า สิหิงค์ เพี้ยนมาจากคำว่า สิงหล พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ ชื่อจริงคือ พระพุทธรูป “สิงหล” และหลักศิลาจารึกทั้งหลายสมัยสุโขทัยนั้น ก็คล้ายกับที่เมืองหลวงเก่าของลังกา ซึ่งก็มีธรรมเนียมสร้างหลักศิลาจารึก
ต่อมา เมื่อศาสนาพุทธสิ้นวงศ์ในลังกา กล่าวคือไม่มีพระ มีแต่เณร ก็ได้ดาวน์โหลดพระจากกรุงศรีอยุธยา ไปอินสตอลติดตั้งอุปสมบทพระภิกษุ ต่อวงศ์ สืบศาสนาในลังกา โดยพระภิกษุนับร้อยจากอยุธยา อาศัยเรือของพวกฮอลันดา เดินทางไป เพราะฉะนั้น เรื่องการเดินทางของพระภิกษุกว่าร้อยรูป จากกรุงศรีอยุธยาไปลังกานี้ พวกฮอลันดาบันทึกไว้ละเอียด แถมยังมีบันทึกเรื่องหลังจากนั้นไว้อีกด้วย ศรีลังกายังเก็บรักษาต้นฉบับพระไตรปิฎก ที่พระอุบาลีเถระนำไปจากกรุงศรีอยุธยาไว้ เพราะฉะนั้น ความที่คบกับคนสิงหลมายาวนาน ตั้งยุคสุโขทัยหรืออาจจะก่อนนั้นอีก ทั้งในเมืองไทยปัจจุบัน ก็มีคนไทยเชื้อสายลังกาอยู่ประปราย โดยเฉพาะท่านที่ใช้นามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า “ดิลก” ทั้งหลาย คนไทยก็เลยพลอยชังคนทมิฬไปด้วยอย่างไร้เหตุผล โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนทมิฬคือใคร ไม่รู้จัก ไม่เห็นตัว รู้แต่ว่า “มันเลว” เพราะมันเป็น “ทมิฬหินชาติ” มันเลวเพราะมันเป็นคน “ใจทมิฬ” และมันโหดร้ายเป็น “พฤษภาทมิฬ” เป็นต้น
ตัวอย่างเรื่องนี้ชี้ว่า ขนาดปลายแถวแผ่ว ๆ ที่เมืองไทย ยังเกลียดพวกทมิฬได้ขนาดนี้ แล้วที่หัวแถวในลังกา จะขนาดไหน…ฆ่ากันลูกเดียวครับพี่ พูดกันไม่รู้เรื่องเลย ประเด็นร้อนเรื่องการเมืองกรณีนี้ ศาสนาอิสลามรอดตัวไป เพราะมุสลิมในลังกาท่านรักสันติ ท่านมีศีลาจริยาวัตรเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชุมชนอื่น ๆ ได้สบาย ๆ คนหัวรุนแรงที่ฆ่าแกงกันประจำ คือ คนพุทธ กับ คนฮินดู ทั้ง ๆ ที่คนสองกลุ่มวัฒนธรรมนี้ มีชื่อเสียงโด่งดัง โปรโหมดกันทั่วโลก-ยกเว้นที่ลังกา-นัยว่าเป็นพวกโคตร “อหิงสา” ด้วยกันทั้งสองกลุ่ม
ปมการเมืองในลังกา มีแต่การกล่าวโทษกัน เริ่มจากโทษอังกฤษว่า แบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริง มีพยานหลักฐานเพียบ ต่อมาถึงยุคใหม่ก็โทษกันเอง โดยมีคำพังเพยทางการเมือง ว่า “บิดาของจันทริกา หว่านเมล็ดแห่งความเกลียดชัง คุณแม่ของเธอรดน้ำพรวนดิน แล้วจันทริกาเก็บเกี่ยวผลกรรม”
ทอนเรื่องยาวให้สั้นลง
จันทริกาแต่งงานกับดาราหนังคนดังของลังกา นายวิชัย กุมาระตุงคะ มีบุตรหญิงหนึ่งชายหนึ่ง ปัจจุบันคือแพทย์หญิงยโสธร กับนายสัตวแพทย์วิมุกติ์ เธอกับสามีตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ ศรีลังกามหาชน โดยมีนโยบายประนีประนอมกับขบวนการทมิฬแบ่งแยกดินแดน ที่รู้จักกันสั้น ๆ ว่า “ทมิฬอีแลม” ฝ่ายพวกสิงหลหัวรุนแรงไม่พอใจ และส่งมือปืนมายิงศรีษะสังหารนายวิชัย เมื่อปี 2531 ด้วยปืนอากาผลิตในเมืองจีน ที่หน้าบ้านของเขาเอง ชานกรุงโคโลมโบ มือปืนยิงเขาล้มลง แล้วลงจากมอเตอร์ไซด์ มารัวอากาที่ศีรษะของวิชัย จันทริกาเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับหนึ่งว่า “พอสิ้นเสียงปืน ฉันวิ่งไปเห็นเขานอนจมกองเลือด และศีรษะของเขาหายไป”
จันทริกาหอบลูกทั้งสอง เดินทางลี้ภัยการเมืองออกจากลังกา ชั่วระยะหนึ่ง เธอกลับลังกาเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยลังกาได้ปรับระบบการเมืองจากเดิมที่คล้ายอังกฤษ เป็นระบบใหม่คล้ายกับของฝรั่งเศส มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี อีกสี่ปีต่อมาพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไป เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิง ต่อมาอีกสามเดือนมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี จันทริกา ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงของศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2537 ทั้งนี้โดยเธอให้คุณแม่ของเธอ นางสิริมาโว พันธระไนยเก ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีศรีลังกาและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลังกาใหม่ในปี 2537 นั่นเอง แต่ว่า คุณแม่นายกรัฐมนตรี กับคุณลูกสาวประธานาธิบดี ทำงานไม่ใคร่จะประสานกันนัก จันทริกา พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2548 และไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีได้อีกตามกฎหมาย เพราะเธอดำรงตำแหน่งมาสองสมัยติดต่อกันแล้ว
ทำไม เธอโดนลอบสังหาร
คุณพ่อของเธอก็ดี สามีของเธอก็ดี ต่างถูกฆ่าโดยคนสิงหล ซึ่งเป็นคนกลุ่มเชื้อสายเดียวกันกับจันทริกา แม้จะไม่เชิงว่าจะเป็น “กลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน” สนิทเสียทีเดียว อย่าลืมว่าพวกเธอเพิ่งจะเป็นพุทธ เพียงด้วยการเปลี่ยนศาสนาของคุณพ่อเท่านั้น แต่ตัวเธอถูกลอบสังหารโดยขบวนการคนทมิฬ และมือสังหารเป็นสตรี เช่นเดียวกับเธอ
การลอบสังหารจันทริกา กระทำกันเป็น เรียลลิตี้ ทีวี คือถ่ายทอดสด หลังจากหาเสียงแล้วเสร็จ เธอเดินจากหน้าศาลากลางนครโคโลมโบ เมื่อ 18 ธันวาคม 2542 เธอกำลังเดินไปเกือบจะถึงประตูรถยนต์ที่เปิดรออยู่ และกล้องโทรทัศน์ก็ส่ายตามเธอไป ทันใดนั้น ปรากฏแสงสว่างสีส้มวาบขึ้นมา และภาพต่อมาเป็นภาพของจันทริกา นอนจมอยู่กับพื้นข้าง ๆ รถยนต์
หวังผลทางการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝ่ายที่ลอบสังหารเธอ ใช้มือสังหารที่เป็นสตรีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากมือสังหารไม่สามารถเข้าถึงตัวจันทริกาได้ เพราะโดนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกั้นไว้ จึงต้องระเบิดทำลายตัวเอง ในระยะที่หวังผลได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้ก็คือ จันทริกา เสียตาข้างขวาของเธอ และมีคนตายไปกับระเบิดครั้งนั้นกว่าสามสิบคน ขบวนการทมิฬอีแลมนี้ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นคนฆ่า ราชีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียด้วย
ดังได้กล่าวแล้วว่า จันทริกา น่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองระดับชาติ ที่สังกัดกลุ่มวัฒนธรรมสิงหลเพียงคนเดียว ที่แสดงท่าทีจริงใจ ที่จะประนีประนอมกับขบวนการเรียกร้องอิสรภาพและแบ่งแยกดินแดนทมิฬอีแลม อย่างไรก็ดี หลังจากที่การแสดงท่าทีจริงใจไม่ได้รับการตอบสนอง เธอก็หันไปใช้พระเดชเพียงสถานเดียว ซึ่งเธอก็ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง จากขบวนการทมิฬอีแลม
ณ บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ถ้ามองจากฝ่ายคนสิงหลข้างเดียว ไม่ยอมรับรู้ความเป็นมาของปัญหา ด้านคนทมิฬเสียเลย ทำให้เราตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไมจันทริกาถูกปองร้ายถึงชีวิต?
ลอบสังหาร นักการเมืองสตรีเอเชีย
จันทริกา กุมาระตุงคะ ตอน 2/2
The murder of woman politicians in Asia
อดีตประธานาธิบดี ศรีลังกา
โดนระเบิดพลีชีพ แบบเรียลลิตี้ ทีวี รอดตาย แต่เสียตาข้างขวา
ณ บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ถ้ามองจากฝ่ายคนสิงหลข้างเดียว ไม่ยอมรับรู้ความเป็นมาของปัญหา ด้านคนทมิฬเสียเลย ทำให้เราตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไมจันทริกาถูกปองร้ายถึงชีวิต
แนะนำทมิฬ สองสามคำ
การมองทมิฬ เราก็ต้องเดินถนนพระราม และว่ายน้ำข้ามฟากจากเกาะลังกา ไปมองมาจากประเทศอินเดีย คนทมิฬมีพื้นเพอยู่ทางใต้ของอินเดีย คือ ตั้งแต่เมืองมัทราส หรือเชนไน ลงมา ผู้คนในพื้นที่นี้เคลื่อนไหวยืนยันเอกลักษณ์ของตนเอง มาตั้งแต่อินเดียยังอยู่ใต้อำนาจอังกฤษ เมื่ออินเดียเป็นอิสระแล้ว คนทมิฬก็ได้รณรงค์ขอตั้ง รัฐ “ทมิฬ นาดู” แปลว่า ดินแดนทมิฬ หรือ เมืองทมิฬ ขึ้นเป็นผลสำเร็จเมื่อพ.ศ. 2512 มีพื้นที่ประมาณภาคอีสาน หักด้วยจังหวัดนครราชสีมา คือ 130,000 ตารางกิโลเมตร
ในตำนานและในประวัติศาสตร์ พูดอย่างย่นย่อได้ว่า เรื่องราวของดินแดนภารตะภาคใต้ หรือที่พวกฝรั่งเรียกว่า เซาท์ อินเดีย ก็คือ เรื่องราวของผู้คนและดินแดนทมิฬสำคัญกว่าคนอื่นใดหมด อาณาจักรโบราณของทมิฬ ได้เผยแพร่และตอกย้ำวัฒนธรรมฮินดู สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ อักขระทมิฬมีอิทธิพลเหนี่ยวนำต่อระบบอักษรพม่า เขมร ไทยและลาว รวมทั้งมีอิทธิพลต่อศิลปะการร่ายรำและดนตรีบางส่วน ทมิฬถือว่าตนก็เป็นหนึ่งอยู่ในภารตะ ภาษาทมิฬก็ไม่ได้เป็นสอง รองภาษาสันสกฤตของอินเดียเหนือ เมื่อมีการโปรโหมดภาษาฮินดีเข้ามาในดินแดนทมิฬ ก็เกิดขบวนการต่อต้านภาษาฮินดี ที่สืบจากสันสกฤต และชาวทมิฬนั้นก็รู้สึกไม่โดนใจพี่หลวง กับการใช้สันสกฤตในพิธีกรรม
เรื่องราวชาตินิยมทมิฬ มีมูลกำเนิดเกาะเกี่ยวอยู่กับ ชาตินิยมภาษา เป็นสำคัญ เรื่องชาติพันธุ์และเขตแดน เป็นเรื่องรองลงมา
คนฮินดูในเมืองทมิฬ หรือรัฐ ทมิฬ นาดู ในอินเดีย เคยมีเรื่องกับฮินดูทางเหนือ ให้เราเห็นเป็นตัวอย่างมาก่อน คนทมิฬในอินเดียมองว่าฮินดูทางเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณะพราหมณ์ เป็นตัวแทนของความพยายามที่จะกดขี่คนทมิฬ การใช้ภาษาสันสกฤตในพิธีกรรม ก็ถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะกดขี่คนทมิฬ เพราะว่า ท่องบ่นมนตราภาษาอะไรก็ไม่รู้ คนทมิฬฟังแล้วบ่ฮู้บ่หัน หลักการเรื่องความเป็นเอกและปัจเจกแห่งมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นคน การปลดแอกมนุษย์จากสภาพวรรณะ เกิดขึ้นโดดเด่นเป็นขบวนการลึกและกว้าง ในดินแดนทมิฬ ทั้งนี้โดยไปหยิบค็อนเส็ป จากคัมภีร์โบราณภาษาทมิฬ มาพัฒนาให้ก้าวหน้าทันสมัย
ในอินเดีย คนภาษาทมิฬมีเรื่องกับคนใช้ภาษาฮินดี-สันสกฤต โดยพุ่งเป้าไปที่คนวรรณะพราหมณ์ คนทมิฬก็เป็นฮินดู จะไปแอนตี้ฮินดูได้อย่างไร เขาแอนตี้วรรณะพราหมณ์ ผู้มีหน้าที่ท่องบ่นมนตรา สืบศาสนาด้วยภาษาสันสกฤต การตั้งข้อรังเกียจกันนี้ เป็นเรื่องบาดหมางลึกซึ้งมิใช่น้อย ถึงขนาดเป็นเหตุให้คนวรรณะพราหมณ์ในเขตทมิฬ ต้องอพยพหนีออกจาก ทมิฬ นาดู เป็นจำนวนมาก
ชาตินิยมทมิฬลังกา
แต่ชาตินิยมของคนทมิฬในลังกา กลับเพ่งเป้าต่างกันกับทมิฬในอินเดีย ชาตินิยมทมิฬในลังกา เล็งเป้าเกลียดชังไปที่ทีมงานสอนศาสนาคริสต์โปรเตสแตนต์ ที่แข็งขันทำงาน ระดมเข้ารีตคนลังกา ในลังกายุคอาณานิคม อะรุมุค นาวะลาร์ เป็นผู้นำทมิฬในลังกายุคอาณานิคม ที่พยายามฟื้นฟูศาสนาฮินดู ขึ้นมาต้านทานคณะหมอสอนศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์สองสามนิกายย่อย คือ ที่แห่กันมาเผยแพร่ศาสนาบนเกาะลังกา อย่างเป็นขบวนการใหญ่ ความสำนึกเชิงภาษาและวัฒนธรรมที่เข้มข้นของคนทมิฬในลังกา จึงกันเริ่มตรงนี้ อันเป็นองค์ประกอบปลีกย่อย ที่ต่างไปจากในอินเดีย
ในลังกา ความต่างศาสนา คือพุทธกับพราหมณ์ เข้ามาเสริมพอเป็นสีสัน เพราะคนทมิฬไม่ได้ยึดศาสนาเป็นเกณฑ์แบ่งแยก แต่ให้น้ำหนักกับภาษามากกว่า เช่น ชุมชนมุสลิมในลังกา แต่เดิมใช้ภาษาทมิฬ เพราะพระคัมภีร์แต่ดั้งเดิม ถูกแปลไว้เป็นภาษาทมิฬ เพิ่งจะมามีพระคัมภีร์กุระอ่านภาษาสิงหลเมื่อไม่นานนี้เอง ประกอบกับเพราะต้องค้าขายกับอินเดียใต้ ชุมชนมุสลิมบนเกาะลังกา จึงใช้ภาษาทมิฬได้มาแต่โบราณ ครั้นการเมืองชาตินิยมทมิฬเข้มข้นขึ้น ขบวนการชาตินิยมทมิฬก็พยายามจะตีขลุม เหมาว่าคนมัวร์ในลังกา มัวร์เป็นคำเรียกหมายถึงมุสลิม เป็นคนทมิฬด้วย ชุมชนคนมัวร์ท่านไม่ยอม ท่านมีความภาคภูมิใจต่อบรรพบุรุษของท่าน ซึ่งเป็นพ่อค้าอาหรับ ที่สำคัญก็คือ คนอาหรับมาตั้งรกรากอยู่บนเกาะลังกา ตั้งแต่ก่อนที่ดินแดนอาระเบีย จะเกิดศาสนาอิสลามด้วยซ้ำ ศาสนาอิสลามตามคนมัวร์มาเกาะลังกาทีหลัง ทำนองเดียวกับที่ ศาสนาพุทธก็ตามชุมชนคนสิงหลมาทีหลัง
เหตุอีกเหตุหนึ่งของความแตกแยก ได้แก่กระบวนการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ที่ได้พยายามแบ่งแยกชุมชนต่างวัฒนธรรม ที่เคยอยู่กันมาอย่างกลมเกลียว แม้จะไม่เกลียวกลมกันนัก แต่อย่างน้อย ก็ไม่เคยยกเอาความต่างวัฒนธรรมต่างศาสนา เสี้ยมขึ้นมาเป็นประเด็นการเมือง แต่ว่าในการปกครองอาณานิคมของอังกฤษนั้น เน้นการแบ่งแยก หรือเสี้ยมความแตกต่างของคนใต้ปกครอง ให้โดดเด่นแหลมคม จนกลายเป็นประเด็นแตกแยกทางการเมือง ซึ่งระบอบอาณานิคมของอังกฤษก็เสี้ยมสำเร็จ จนคนทั้งสองกลุ่ม เริ่มรู้สึกผะอืดผะอมต่อกันและกัน กระทั่งในที่สุด ก็นึกสะอิดสะเอียนกันและกัน เป็นปริโยสาน เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้แหละโยม
อเมริกัน สอนวิธีชนะมิตรและจูงใจควาย “ฮาว ทู วิน เฟรนด์ แอนด์ อินฟลูเอนซ์ พีเพิ้ล” แต่อังกฤษจะเชี่ยวชาญ เรื่องการเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน หรือปั่นหัวจิ้งหรีดให้กัดกัน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้เขียนลำเอียงว่าร้าย แต่เพราะว่า การเมืองบนเกาะอังกฤษเอง ซึ่งมีเนื้อที่เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย หรือประมาณสองเท่าเกาะลังกา เขาเป็นกันอย่างนั้นแต่โบร่ำโบราณมา เกาะอังกฤษกับเกาะข้างเคียง ประกอบด้วยคนสี่ก๊ก คือ อังกฤษ สก็อต เวลช์ และไอริช เพราะฉะนั้น ถ้าเกาะลังกาแตกแยกเป็นสองก๊ก ก็จะเข้าสูตรอังกฤษ
กำเนิด ทมิฬอีแลม
แม้ว่า ชื่อขบวนการทมิฬอีแลม จะฟังดูไม่ใคร่จะรื่นหูนักในภาษาไทย อาจเป็นเพราะชวนให้นึกถึงคำกลอน ที่ว่า
“กูเรียกพิม อีกริม มึงขานรับ”
แต่ มีผู้แปลคำเต็มของทมิฬอีแลมในภาษาทมิฬ ไว้ว่าหมายถึง “กองทัพเสือทมิฬ เพื่ออิสรภาพลังกา” โดยคำว่า อีแลม เป็นคำทมิฬ ที่ใช้เรียก เกาะลังกา
กองทัพเสือทมิฬฯ มีผลงานโด่งดัง เช่น ฆ่าประธานาธิบดีคนที่สามของลังกา นายรนสิงห์ เปรมทาส ฆ่านายละลิธ อธุลาธ มูดาลี นักการเมืองน้ำดีคนหนึ่งของลังกา สำเร็จการศึกษากฎหมายจากอ็อกฟอร์ดและฮาร์วาร์ด เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอะ มหาวิทยาลัยอะละหะบัด และมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฆ่านายราชีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย พยายามจะฆ่า นางจันทริกา กุมาระตุงคะ ประธานาธิบดีศรีลังกา และฆ่า ฆ่า ฆ่า ฆ่า ฆ่า ฯลฯ
แต่ทั้งนี้ ก็ฆ่ากันไปฆ่ากันมา ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยที่นโยบายกีดกัน เดียดฉันท์ ใจคอคับแคบ ใจไม่กว้างพอ และตีบตื้น ของรัฐบาลลังกาสิงหลในอดีต มีส่วนสำคัญในการกระพือความแซ่บหลาย แห่งความชิงชังระหว่างกลุ่มวัฒนธรรม ขอยกตัวอย่างเล็ก ๆ เบาะ ๆ เรื่องการศึกษา เช่น รัฐบาลยกเลิกทุนการศึกษาจากอินเดีย ที่เคยให้แก่นักศึกษาทมิฬในลังกาเป็นประเพณีมานาน และให้ยกเลิกการสอบเทียบเอาปริญญา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ของนักศึกษาทมิฬ เป็นต้น
พรรคการเมืองทมิฬในลังกา จึงเริ่มรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น แล้วในทศวรรษที่ 70 รัฐบาลลังกาก็ดำเนินการปราบ และเข่นฆ่าคนทมิฬนับพัน ๆ คน อย่างไม่มีปรานี การรณรงค์สงครามบนเกาะลังกานั้น รู้กันทั่ว ว่าทั้งสองฝ่ายมียุทธศาสตร์การสงคราม ตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์รบแบบ “ปราศจากเชลยศึก” สงครามนี้ไม่มีเชลย มีแต่ซากศพ เช่น ครั้งหนึ่งกองทัพทมิฬอีแลม รบชนะกองพันทหารรัฐบาลหน่วยหนึ่ง ปรากฏว่าจับเชลยศึกไม่ได้สักคนเดียว แต่มีซากศพทหารรัฐบาลในเครื่องแบบ นอนตายเกลื่อนกลาด อยู่กว่าพันศพ เป็นต้น
นอกจากนั้น ก็ยังมีเสี้ยนแผ่นดินที่รัฐบาลสิงหลในอดีต เสี้ยมให้คมขึ้นมาเองอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาคน “ทมิฬใหม่” จากอินเดีย ดังได้กล่าวแล้วว่า คนกลุ่มนี้เจ้านายอาณานิคมขนมาจากอินเดีย มาเป็นกรรมกรเกษตรในลังกา อีกนัยหนึ่ง มาเก็บใบชา ตามไร่ชาบนไหล่เขาใจกลางประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นใบชาที่ดีที่สุด คนอังกฤษเสพติด ติดใจบริโภคกันทั้งบ้านทั้งเมือง ระบือนามว่า “ชา ซีลอน” รัฐบาลลังกาในอดีต ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับคนเหล่านี้ อย่างโง่เขลา แม้ภายหลังจะกลับกระแส ฉลาดขึ้นบ้าง แต่ความฉลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น ไม่สามารถเกลื่อนความไม่ฉลาดและบ้องตื้น มากมายก่อนหน้านั้นได้ เช่น การถอนสัญชาติ บีบบังคับให้คนกลุ่มนี้กลับอินเดีย ฯลฯ ซึ่งในที่สุดก็ปรากฏว่าไม่มีใครกลับ หรือกลับไปคนสองคน ออกกฎหมายมาแล้ว ไม่มีปัญญาจะบังคับใช้กฎหมาย คนกลุ่มนั้นทุกคนที่เคยเป็นพลเมือง ก็เลยกลายเป็นคนเถื่อนอยู่บนเกาะลังกา ต่อมาคนกลุ่มนี้จำนวนมาก ก็เข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของ “ทมิฬอีแลม” อย่างอบอุ่นและกลมกลืน
ผู้นำ ทมิฬอีแลม
กองทัพเสือทมิฬ เพื่ออิสรภาพลังกา นั้น ถ้าเราจะพูดว่า เกิดขึ้นมาจากผลงานประติมากรรมฝีมือของคน ๆ เดียว ก็ไม่น่าจะผิดความจริงไปไกล ยุคที่เถลิงอำนาจสูงสุด ผู้นำคนนั้นของกองทัพเสือทมิฬฯ เคยครองพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของเกาะลังกา หรือประมาณเท่า ๆ กับบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย ใช้ระบบการปกครองของตนเอง แถมยังตั้งเวลาในพื้นที่ ให้ช้ากว่าเวลาประเทศศรีลังกาครึ่งชั่วโมง บุคคลผู้นั้น คือ คุณพัลลภพิลัย ประภาคาร คนรักคุณพัลลภพิลัยเห็นว่า คุณพัลลภพิลัยเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เพื่อปลดแอกคนทมิฬ ให้เป็นอิสระจากการกดขี่ข่มเหงของคนสิงหล คนเกลียดชังหรือพวกเฮตเตอร์ เห็นว่าคุณพัลลภพิลัยเป็นคนบ้าใหญ่บ้าโต โหดเหี้ยมอำมหิต ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์ตาดำ ๆ
เด็กชาย พัลลภพิลัย ประภาคาร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2497 บนคาบสมุทร์เล็ก ๆ ยื่นลงไปในทะเล ชื่อคาบสมุทร์จัฟนา มีเนื้อที่ราวจังหวัดอ่างทอง เป็นแผ่นดินส่วนเหนือสุดของเกาะลังกา พื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ เกี่ยวโยงกับอาณาจักรทมิฬโบราณ พัลลภพิลัย เป็นน้องสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกันรวม 4 คน ถือว่ามาจากครอบครัวคนฮินดูชั้นกลาง บิดาเป็นข้าราชการ ในระบบราชการของรัฐบาลลังกา สมัยเด็ก ๆ พัลลภพิลัยเป็นเด็กขี้อาย ผลการเรียนปานกลาง แต่ชอบอ่านหนังสือ ชื่นชมกับชีวิตจักรพรรดิ์นะโปเลียนของฝรั่งเศส และอะเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีกโบราณ รวมทั้งชื่นชมกับชีวิตนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ที่นิยมใช้ความรุนแรงบางคน ในอินเดีย แต่ไม่ใช่ มหาตมะ คานธี
ในวัยรุ่น น้องพัลลภพิลัย ประภาคาร รู้สึกเจ็บแค้น กับการที่คนทมิฬถูกกีดกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับราชการบ้านเมือง การว่าจ้าง และการศึกษา ทั้งนี้ โดยมีครูผู้หนึ่งที่โรงเรียน คอยให้ท้ายและปลุกระดมเด็ก ๆ ว่า ทางออกของปัญหาคนทมิฬในลังกา มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ การจับอาวุธต่อสู้ เขาออกจากโรงเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง รวมทั้งเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ในที่สุด ก็ได้เข้าไปผูกพันกับขบวนการชาวทมิฬ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2518 อายุได้ 21 ปี ก็พัวพันกับการฆาตกรรมนายกเทศมนตรีเมืองจัฟนา อันเป็นเมืองเอกบนคาบสมุทร์เล็ก ๆ พื้นที่เท่ากับจังหวัดอ่างทองแห่งนั้น ประเด็นนี้ มีส่วนผลักดันให้ชีวิตเขา พลัดไปกับสายน้ำเชี่ยว ที่ไม่มีวันไหลกลับ แต่ด้วยจินตนาการอันบันเจิด กลุ่มนักรบเสือทมิฬกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา ได้กลายพันธุ์เป็น กองทัพเสือทมิฬ เพื่ออิสรภาพลังกา หรือ ทมิฬอีแลม ในลำดับต่อมา ผู้เขย่าโลกทั้งโลกด้วยการแพร่วิธีการก่อการสยองขวัญแบบ ระเบิดมนุษย์พลีชีพ ไปยังกลุ่มผู้ก่อการสยองขวัญ หรือ แทเรอริสต์ ในตะวันออกกลาง วิธีการของเขาจึงมีส่วนเหนี่ยวนำ การขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด ของกลุ่มผู้ก่อการสยองขวัญ แทเรอริสต์ ชาวอาหรับ ลูกน้องเขาฆ่าอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย พ.ศ.2534 อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา พ.ศ.2536 นักการเมืองศรีลังกาอีกหลายคน และพยายามจะฆ่า จันทริกา กุมาระตุงคะ พ.ศ.2542 เดชะบุญเธอรอดตาย
อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ศ. 2537 เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อ ซึ่งปกติเขาจะเป็นคนเข้าถึงยากและลึกลับ เขาเล่าว่า “ชีวิตวัยเด็กของผม ซุกอยู่กับบ้าน ที่เงียบเหงา และว้าเหว่วังเวง”
ผู้นำ ไม่ซับซ้อน แต่ผู้ตาม ล่ะก็ใช่
ผู้สนับสนุน และคนในบังคับ ของทมิฬอีแลม คือใครกัน ถ้าเราจะบอกว่า คือคนทมิฬทั้งหมดบนเกาะลังกา ก็จะเป็นคำตอบที่ รวบรัด สังเขป ตื้นเขิน เกินไป เพราะคนทมิฬในขบวนการของคุณพัลลภพิลัย ชนิดที่รักกันมาก ร่วมหัวจมท้ายอยู่กับขบวนการมายี่สิบปี เป็นเบอร์สองของขบวนการ มีนามแฝง หรือ “nom de guerre” ว่า “พันเอก กรุณา” แต่ในปี 2547 พันเอกกรุณา ก็ผละออกจากขบวนการ แล้วมีส่วนอย่างสำคัญอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ในการชี้ช่องเรื่องการปราบกองทัพทมิฬอีแลม
นามจริงของพันเอกกรุณา คือ คุณวินัยมูรติ มูระลิธร พันเอกกรุณา หรือคุณวินัยมูรติ เป็นผู้นำคนทมิฬในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกา ส่วนคุณพัลลภพิลัย มาจากภาคเหนือ อันเป็นบ้านเกิด และเป็นขุมกำลังสำคัญของผู้นำทมิฬอีแลม
คนทมิฬลังกา มีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน อยู่บนเกาะลังกาประมาณ 2 ล้านคน อีกหนึ่งล้านคนกระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ตามลำดับมากน้อย คือ คานาดา 2 แสนคน อังกฤษ 1.2 แสนคน อินเดีย 1 แสนคน (หมายถึง คนทมิฬลังกา ที่อพยพไปอยู่ในอินเดีย ไม่ใช่คนทมิฬพื้นเดิมของอินเดียในรัฐทมิฬนาดู ซึ่งมีประชากรกว่า 70 ล้านคน) เยอรมันหกหมื่นคน อิตาลีแปดหมื่นคน นอกจากนั้นก็อยู่ใน ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ฯลฯ
คนทมิฬลังกาพลัดถิ่น มีจำนวนถึงหนึ่งในสามของคนทมิฬลังกาทั้งหมด นับว่าไม่น้อย เพราะฉะนั้น การประเมินกำลังอำนาจของทมิฬอีแลม จะมองข้ามคนหนึ่งล้านคนนี้ไม่ได้เลย คนทมิฬพลัดถิ่นมีอำนาจเศรษฐกิจสูงกว่าคนทมิฬในลังกา คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งมี “ส่วย” จะต้องส่งให้กับทมิฬอีแลม เช่น คนทมิฬที่เปิดกิจการค้าขายอยู่ในกรุงลอนดอน เป็นต้น คุณพัลลภพิลัยมีจิตสำนึกเรื่องการเผยแพร่กิจกรรมการตลาด เป็นอย่างดีมาก โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนลังกาพลัดถิ่น ในการรบกับกองกำลังรัฐบาล หน่วยทหารของเขาจะมี “กองกำลังสัจจะ” อันได้แก่ทหารแบกกล้องถ่ายวีดีโอ ประจำอยู่ด้วยเสมอ และในการปะทะกับทหารรัฐบาล หน่วยกองกำลังสัจจะของทมิฬอีแลม มักจะตายเป็นคนแรก คุณพัลลภพิลัย มีห้องสตูดิโอลำดับภาพการรบ เพื่อสร้างเป็นวีดีโอเทป หรือแผ่นซีดี ส่งไปโฆษณากับคนทมิฬพลัดถิ่นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังที่อินเตอร์เนตพัฒนาไปไว ม้วนเทปวีดีโอกับแผ่นซีดีของคุณพัลลภพิลัย กว่าจะเดินทางไปถึงเมืองโตรอนโต ในคานาดา หรือถึงกรุงลอนดอน ฝ่ายตรงข้ามก็โพสต์วีดีโอไปดักหน้าก่อนแล้ว หรือมีวีดีโอเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่างไปจากเรื่องที่คุณพัลลภพิลัยตัดต่อ โดยปกตินั้น สตูดิโอของคุณพัลลภพิลัย จะตัดต่อการรบให้แลดูสวยงาม จะไม่มีภาพซากศพที่น่าเกลียด ฯลฯ
สรุป แต่ไม่เสนอแนะ (เพราะว่า ชอบประวัติศาสตร์ มากกว่าชอบการเมือง)
แม้ว่า รัฐบาลศรีลังกาจะปราบขบถทมิฬอีแลมลงได้ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 แล้วก็ตาม แต่ถ้าเราไปถามคนทมิฬ ในภาคเหนือและภาคอีสานของลังกาทุกวันนี้ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ แม้จะไม่เลือกเข้าข้าง กองทัพเสือทมิฬฯ แล้ว แต่ก็ยังเห็นว่า รัฐบาลกลางของลังกา ไม่ให้ความยุติธรรมต่อคนทมิฬอยู่ดี
ขบวนการทมิฬอีแลม กำเนิดมาดูดีเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ในแง่ที่ว่า ทำท่าจะเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ ทางสังคมและการเมือง ให้คนทมิฬได้รับความยุติธรรม แต่ในที่สุดทมิฬอีแลมเติบใหญ่กลายเป็นคนโรคอ้วน และนายพันลงพุง เช่นเดียวกับตัวคุณพัลลภพิลัย ซึ่งระยะหลังก็ชอบปรากฏตัว(รูปถ่าย ไม่ใช่ปรากฏตัวจริง)ในชุดเครื่องแบบสนาม ของกองทัพทมิฬอีแลม แต่ว่าตัวพองเป็นอึ่งอ่าง แสดงให้เห็นว่า ชีวิตอิ่มหมีพีพัน ไม่เคยออกกำลังกายเลย กองทัพทมิฬอีแลม ก็เหมือนกับท่านผู้นำ คือกลายพันธุ์จากกองกำลังนักสู้ เป็นกองทัพอ้วน ๆ คือ จะมีทั้งทัพเรือและทัพอากาศด้วย ทัพเรือนั้นก็ไปซื้อเรือเร็ว แบบที่เห็นให้บริการนักท่องเที่ยว ตามชายหาดในประเทศไทย มาทาสีพรางเป็นเรือรบ อย่างไรก็ดี ก็เคยมีผลงานน่าทึ่งครั้งสองครั้ง ที่สามารถจมเรือรบของกองทัพเรือลังกาได้ ส่วนกองทัพอากาศก็ไปหาเครื่องบินใบพัดเดียว ชนิดที่คนมีกะตังค์เขาขับเล่นกัน มาทาสีเป็นกองทัพอากาศ บินหย่อนระเบิดตูมตามอยู่ครั้งสองครั้ง ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทำเล่น ๆ เป็น “เหตุการณ์สร้าง”(pseudo-events)เสียมากกว่า อุปกรณ์ของเล่นเหล่านี้ ไม่มีประโยชน์อะไรจริงจัง ต่อการยกระดับชีวิตอนาคต ของคนทมิฬในลังกา เป็นไขมันส่วนเกิน คอยเสริมความบ้าใหญ่บ้าโตของท่านผู้นำ ซึ่งร่างกายพ่วงพี นอนคว่ำหน้านิ่งสนิท วิดพื้นไม่ขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว
สรุปเรื่องร่างกายไปแล้ว หันมาพูดถึงจิตใจบ้าง ข้อสรุปจะได้สมบูรณ์ ในแง่ของจิตใจนั้นยากแท้หยั่งถึง คุณพัลลภพิลัยเคยนับถือศาสนาคริสต์นิกายเมธอดิสต์มา จิตใจคุณพัลลภพิลัย เป็นฮินดูหรือไม่ น่าสงสัยอยู่ ส่วนเรื่องสติปัญญานั้น ระยะเวลากว่ายี่สิบห้าปีที่มีโอกาสได้สร้างผลงานพิสูจน์ตัวเอง ขบวนการทมิฬอีแลมซึ่งยึด คุณพัลลภพิลัย ประภาคาร เป็นแนวเพียงคนเดียว โดยระยะหลัง ๆ ลูกเข้ามาเสริม เช่น ชาร์ล แอนโทนี บุตรชายคนโตที่คุณพัลลภพิลัยมอบหมาย ให้ทำหน้าที่ด้านเทคโนโลยี ก็ไม่แน่ว่าระดับความรู้ความสามารถ จะดีไปกว่าเด็กเล่นคอมพ์ ซึ่งเราสามารถพบได้ทั่วไปตามร้านเกมส์ ในตัวอำเภอรอบนอกทั่วประเทศไทยปัจจุบัน เช่น ในตลาดตัวอำเภอบ้านผู้เขียน เป็นต้น ปีแห่งมรณะของทั้งสองพ่อลูก พ.ศ.2552 นั้น การทำสงครามไซเบอร์ น่าจะต้องการขีดความสามารถ ที่สูงกว่าขีดความสามารถของคุณลูกชาย ยกตัวอย่างเล็ก ๆ เช่น ก่อนหน้านั้น โรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ ของฝรั่งเศส ซึ่งมีคำขวัญโรงเรียนว่า “ศึกษา เพื่อ พิชิต” บรรจุหลักสูตรสงครามไซเบอร์ไว้แล้ว เป็นต้น
ในส่วนสติปัญญาเฉพาะตัวท่านผู้นำเล่า ผู้นำโง่ ๆ จบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยบ่ฮู้บ่หัน เอาวุฒิบัตรมาหลอกต้มคน ก็มีให้เราเห็นกันอยู่ แต่คุณพัลลภพิลัย ท่านออกโรงเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม จึงน่าจะมีโอกาสสูง ที่จะเรียนรู้และฉลาดได้เอง แต่แล้วก็ไม่ปรากฏว่า ท่านได้ศึกษาอะไรเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากอ่านประวัติชีวิตย่อ ๆ ของคนบ้าใหญ่บ้าโตคนสองคน การไร้ซึ่งปัญญาที่อาจสร้างเอาเองได้นี้ เป็นเหตุให้ท่านนำขบวนการที่เกิดมาดูดี ไปสู่อวสานที่ดูไม่จืด องค์กรนั้นรับใช้อัตตาของท่านเพียงผู้เดียว แต่ไม่รับใช้ประชาชนชาวทมิฬบนเกาะลังกา การเป็นผู้นำลังกาทมิฬนั้นคือผู้นำของทมิฬลังกาที่อยู่บนเกาะลังกาสองล้านคน กับทมิฬลังกาในอเมริกาและยุโรปอีกประมาณหนึ่งล้านคน ข้อพิสูจน์แห่งความด้อยปัญญา ก็คือ การสังหาร นายราชีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ขณะที่ท่านผู้นั้นเดินทางมา รัฐทมิฬ นาดู ในอินเดีย เมื่อพ.ศ.2534 ทำให้ประเทศอินเดีย ซึ่งมีพลเมืองทมิฬประมาณ 70 ล้านคน และเคยวางตัวเป็นกลาง เกิดอาการหมางเมิน ต่อขบวนการทมิฬอีแลม
อินเดีย เป็นเพื่อนบ้านและเป็นญาติของศรีลังกา อินเดียมีประวัติเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพอย่างยากยิ่งและยาวนาน เป็นตัวตั้งของสูตรแห่งความสำเร็จเรื่องนี้ เป็นเยี่ยงอย่างแก่ประเทศอื่น เช่น ความสำเร็จในการต่อสู้ของคนดำในอัฟริกาใต้ เป็นต้น ที่ได้ยึดทางแห่งอหิงสาของท่านมหาตมะ ซึ่งทำให้ นายเนลสัน มันเดลลา เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด อันเป็นที่หวงแหนของอินเดีย “ภารตะ รัตนะ”
นอกจากนั้น อินเดียยังเป็นประเทศที่มีแฟนคลับใหญ่มาก คลุมทั่วทุกมุมโลก คุณพัลลภพิลัยถอยไปห่าง ๆ ดีกว่า ถามหน่อย-มีคนมีปัญญาในซอกซอยไหนบนพื้นปฐพี ที่ไม่เคยคิดว่า ตัวเองอยากจะมาเยือนอินเดียสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะฉะนั้น ประเทศต่าง ๆ เกือบสี่สิบประเทศ จึงพากันบันทึกบัญชีดำตามอินเดีย ว่า ขบวนการทมิฬอีแลมของคุณพัลลภพิลัยเป็นขบวนการก่อการสยองขวัญ หรือ แท เรอ ริสต์ ไม่ใช่ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพ
แม้ปัญญาจะหย่อนไปบ้าง แต่คุณพัลลภพิลัย ยังพอมีสติ จะเห็นได้จากเวลาถูกสื่อมวลชนถามถึงกรณีการตายของ ราชีฟ คานธี คุณพัลลภพิลัย จะหลบคำถามและเลื่ยงคำตอบ แกมีสติรู้ตัวว่า รายการนี้ คือความผิดพลาดมหันต์ในส่วนของแกเอง แล้วในที่สุด เมื่อกองทัพศรีลังกาตั้งตัวได้ และตีโต้รุกรบกองทัพทมิฬอีแลมในปี 2552 เพื่อนบ้านทั้งหลาย คือ อินเดีย มาเลเซีย และอินโดเนเซีย ต่างพากันประกาศวางเฉย แถมยังประกาศสำทับ ห้ามทมิฬอีแลมที่แตกทัพ เดินทางเข้ามาในประเทศตน โดยที่อินเดียออกหมายจับตัวท่านผู้นำ คุณพัลลภพิลัย รออยู่ อย่างไรก็ดี มีข่าวลือในมาเลเซียว่า ทมิฬอีแลมตัวกลั่น ๆ คนสองคน เวลานี้ขายโรตีอยู่ในเมืองไทย!
จันทริกา กุมาระตุงคะ อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ผู้รอดชีวิตจากการลอบสังหารของทมิฬอีแลม แบบเรียลลิตี้ ทีวี มีโอกาสได้เห็นความตายเป็นรูปธรรม มรณะจริงมิใช่เสมือนจริง ของ คุณพัลลภพิลัย ประภาคาร ทางโทรทัศน์ เนื่องจากทางการศรีลังกา ต้องการจะให้ประชาชนเห็นกับตา ว่าคุณพัลลภพิลัย ตายแล้วจริง จึงได้นำศพที่ตายสด ๆ ของเขา ใส่เปลสนาม หามมาวางกับพื้น ถ่ายโทรทัศน์แพร่ภาพไปทั่วประเทศ และในยุคที่กล้องโทรทัศน์ดิจิทัล พัฒนามาไกลแล้วเช่นนี้ ผู้ชมโทรทัศน์สามารถแลเห็นรอยกระสุน เจาะกะโหลกเข้าตรงหน้าผากเหนือคิ้วซ้าย เป็นแผลเหวอะหวะ ได้อย่างชัดเจน...
สัพเพสัตตา อะเวรา โหนตุ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ แหละโยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น