open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ฆาตกรรม กับ บทกวี -ตอนหนึ่ง

-ข้อเขียนนี้ ไม่มีให้ท่านอ่านที่ไหน ทั่วทั้งจักรวาลอินเตอร์เนต
มีที่นี่(ที่บลอกนี้)ที่เดียว ณ 14 มิถุนายน 2556
-และไม่สงวนสิทธิ์

                                                                   เดฟ นาพญา -ผู้เขียน


          ตามประมวลกฎหมายอาญา บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  และท่านได้นิยามการกระทำโดยเจตนาไว้ด้วย ว่า เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และขณะเดียวกันผู้กระทำก็ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น เช่น ฆ่าคนตายโดยมีเจตนากระทำการฆ่าคน และประสงค์ให้เขาตาย เป็นต้น   

          ในภาษาไทยนั้น คำว่า เจตนา เป็นคำใหญ่โตลึกซึ้งและกว้างขวาง  ปรากฎอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะเรื่องกฎหมาย เช่น อยู่ในเนื้อเพลงสมัยใหม่ว่า ไม่ได้เจตนา-ไม่ได้เจตนา  เป็นต้น  และใช้อยู่ในคำขอโทษขอโพยกับการกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อมิตรสหายในชีวิตประจำวัน  นอกจากนั้้น ผู้เขียนยังมีรุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่า ซึ่งท่านเป็นนักอักษรศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ท่านชื่อ เจตนา นาควัชระ 

ความสำคัญของคำว่า เจตนา ในภาษาไทยน่าจะมาจากพุทธภาษิตที่ว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม  ซึ่งเป็นการสรุปตัดตอนจากพุุทธพจน์ที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม  เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมกระทำกรรมโดยทางกาย วาจา ใจ

          ลึกลงไปอีก ในพระอภิธรรมก็สอนทำนองว่า ส่วนเล็ก ๆ ที่ประกอบกันเข้าประหนึ่งเป็นอะตอมของสภาวะแห่งจิตมนุษย์ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง  ท่านเรียกว่า เจตสิก

          เพราะฉะนั้น การที่หลักกฎหมายข้อนี้ กลายเป็นประเด็นค่อนข้างจะสากล กล่าวคือ มีวิญญูชน-ไม่ใช่พวกขี้ ๆ ผู้เคารพนับถือหลักกฎหมายอาญาหลักนี้กว่าครึ่งค่อนโลก  หมายถึงโลกของวิญญูชนไม่ใช่โลกของ-พวกขี้ ๆ  การที่หลักกฎหมายเกิดมาตรงเข้าพอดีกับหลักหนึ่งในศาสนา(พุทธ)—แต่ผู้เขียนเดาว่า แม้ในศาสนาอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนไม่มีความรู้  แต่เดาว่าก็น่าจะมีหลักการทำนองนี้ฝังอยู่เหมือนกัน  จึงเป็นเหตุมีส่วนช่วยให้หลัก กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา  อันเป็นหลักกฎหมายขื่อแปบ้านเมือง(มรดกโรมัน) ไม่ใช่หลักศาสนาใด ๆ ได้กลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ข้ามชาติศาสนา ทะเล มหาสมุทร์ ห้วยหนองคลองบึง แผ่นฟ้าและผีสางเทวดา

          ส่วนผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ฯลฯ  กฎหมายบัญญัติศัพท์เรียกผู้นั้นว่า ผู้ใช้ให้กระทำความผิด  ต้องระวางโทษเต็มร้อยตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เช่นเดียวกับตัวฆาตกรเอง  เราจะขอละเรื่อง ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ไว้เพียงเท่านี้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องของเราอันได้แก่ ฆาตกรรม กับ บทกวี

          บทกวี  เป็น กรรม หรือการกระทำชนิดหนึ่ง  ที่กระทำลงโดยเจตนาแล้วปรากฏผลสุดท้ายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

          นักวิจารณ์วรรณคดีท่านหนึ่ง นามว่า อานันทะ กุมาระสวามี ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การฆาตกรรมอย่างเชี่ยวชาญ กับ การเขียนบทกวีที่เชี่ยวชาญ ว่าเหมือนกันในแง่ศิลปะ จะแตกต่างกันเฉพาะประเด็นข้อศิลธรรม เท่านั้้น  กล่าวคือ ฆาตกรรมผิดศิลธรรม ส่วนบทกลอนไม่ผิดศิลธรรม

          ทั้งนี้ เพราะว่าทั้งสองเรื่องนี้ ถ้าได้กระทำลงตามเจตนาและบรรลุผล  ท่าน-หมายถึง อานันทะ กุมาระสวามี ถือว่าได้กระทำอย่างมีศิลปะ  โดยที่ อย่างมีศิลปะ หรืออย่างไม่มีศิลปะ  วัดกันด้วยผลของการกระทำว่า จะตรงตามเจตนาที่ตั้งไว้หรือไม่ 
         
          เช่น เมื่อได้ตั้งเจตนา หรือวางแผน เพื่อกระทำการฆาตกรรมอำพราง แล้วกระทำลงบรรลุผลตามแผน การฆาตกรรมนั้นมีศิลปะ  เช่นเดียวกับตั้งใจจะเขียนบทกวีพรรณนาความงาม แล้วเขียนได้สำเร็จ บทกวีบทนั้นก็มีศิลปะ  แต่ถ้าเขียนแล้วไม่สามารถพรรณนาให้งามได้ บทกวีบทนั้นก็ไร้ศิลปะ  หรือฆาตกรรมอำพรางที่อำพรางเอาไว้ไม่อยู่ ก็ถือว่าไร้ศิลปะ  เจตนาจึงเป็นตัวตั้งสำคัญ--ทั้งสำหรับการฆาตกรรมและการเขียนกลอน

          อานันทะ กุมาระสวามี  กล่าวว่า วิธีที่เราจะตั้งคำถามเอากับบทกวี หรืองานศิลป์ใด ๆ ก็ดี มีได้สองทาง คือ
          1) ศิลปิน บรรลุถึงเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้หรือไม่ 
          2) งานศิลป์ชิ้นนั้น สมควรจะถููกสร้างสรรค์ขึ้นมาหรือเปล่า  หรือว่าเมื่อสร้างขึ้นสำเร็จแล้วยังจะสมควรเก็บรักษาไว้หรือไม่
          อานันทะ กุมาระสวามี เห็นว่าคำถามที่สอง ไม่ใช่คำถามเชิงศิลปะ  แต่เป็นคำถามเชิงศิลธรรม ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรควร  คำถามเชิงศิลป์คือคำถามข้อหนึ่งเท่านั้น 

ดังนั้น ตามหลักของท่านว่าการพิจารณาตัดสินงานศิลป์ตามข้อสอง เป็นการพิเคราะห์เชิงศิลธรรม ไม่ใช่เชิง ศิลปะ  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างต่อไปว่า การตัดสินใจระเบิดทำลายพระพุทธรูปสลักหินที่หน้าผาในอัฟกานิสถาน ของพวกตะลีบัน ก็ดี  การลบทำลายอักขระอาระบิคอันงดงามศักดิ์สิทธิ์จากพระคัมภีร์อัลกุระอ่าน ของพวกคริสเตียนในสเปน หลังจากไล่แขกมัวร์พ้นคาบสมุทร์ไอบีเรีย เพื่อแปลงสุเหร่ามาเป็นโบสถ์คริสต์ ก็ดี  การทุบทำลายเทวรูปพระพรหมณ์ที่หน้าโรงแรมไฮแอท ก็ดี ล้วนกระทำลงด้วยข้อพิจารณาตัดสินเชิง ศิลธรรม  ไม่ใช่เชิงศิลปะ

          ผู้วิจารณ์วรรณกรรมเช่นตัวผู้เขียนเองในบางครั้ง และแม้ท่านผู้อ่านที่ยืนชมงานศิลป์อยู่เงียบ ๆ คิดอ่านติชมอยู่ในใจ ในมโนนึก  แต่ไม่ได้เขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เราต่างก็อยู่ในฐานะผู้วิจารณ์งานศิลป์เช่นเดียวกัน เราต่างกำลังเป็นผู้พิพากษา ผู้พยายามจะประเมินค้นหาเจตนาของเจ้าของงาน ว่าเขามีเจตนาอะไร  เหมือนกับที่นักกฎหมายหาทางกำหนดรู้เจตนาของพินัยกรรม ของนิติกรรมสัญญา หรือของรัฐธรรมนูญ หรือของผู้ประกอบฆาตกรรม

          แต่ผลงานศิลป์ชิ้นนั้น ไม่ใช่งานจากผีมือของเราสักนิด  ผู้พิพากษาไม่ได้เป็นผู้ทำอาชญากรรมด้วยตนเอง  แต่มีหน้าที่ต้องพยายามจะรู้ เจตนา ของฆาตกร  เป็นที่รู้กันนะว่า ศิลปินนี่แหละตัวดี  อำพรางเจตนาที่แท้จริงของตัวเองกันเก่ง ๆ ทั้งนั้น  อาจจะเก่ิงกว่าฆาตกรที่กระทำฆาตกรรมอำพราง บางคดีก็เป็นไ้ด้

          ผู้รู้ท่านหนึ่งถามเราว่า ใครจะสามารถรู้เจตนาของ จอห์น สไตเบ็ค ได้บ้างว่า  เขียนนวนิยายเรื่อง เดอะ เกรพ ออฟ วราธ ด้วยเจตนาอะไร?  ต้องการเพียงเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากของครอบครัวหนึ่ง ที่จำต้องพรากจากบ้านในรัฐโอคลาโฮมา หรือว่าต้องการแสดงใ้ห้ผู้อ่านได้ทราบภาวะคับแค้นทางเศรษฐกิจ หรือว่านวนิยายเรื่องนั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ให้คล้อยตามปรัชญาการเมืองบางอย่าง

          หรือว่า ไม่ได้เกี่ยวกับทั้งสามประเด็นนั้นเลย?      


         
เดฟ นาพญา (ปรีชา ทิวะหุต) ผู้เขียน  ไม่สงวนสิทธิ์ข้อเขียนในเวอร์ชันดิจิทัล  โพสต์ไว้ที่ www.pricha123.blogspot.com ,
email: pricha123@yahoo.com                           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น