open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

Chicago 3 ความเครียดของชีวิต ชิคาโก

Chicago 3. 

ความเครียดของชีวิต ชิคาโก

 

ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกยิงตาย พ.ศ. ๒๕๐๖ ระหว่างนั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ในขบวนรถผู้นำประเทศที่มีอำนาจที่สุดในโลก เพียงแต่ว่าเป็นรถเปิดประทุน

เวลานั้น ผมยังเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่ รร.เทพศิรินทร์ กทม. อีกห้าปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๑ ระหว่างเรียนธรรมศาสตร์ ผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนโดยสันติ ยึดถือแนวอหิงสา ตามแบบมหาตมะ คานธี คือสาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็ถูกยิงตาย

ท่านผู้นี้เคยเดินมาอินเดีย แม้ไม่เคยได้พบมหาตมะ แต่ก็เคารพนิยมรักในวิธีการต่อสู้อย่างอหิงสาของท่านมหาตมะ เรื่องของมหาตมะ คานธี เรียนรู้จากหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ ในชั้นมัธยมปลาย รร.เทพศิรินทร์

สองเหตุการณ์นั้น ทำให้ผมตระหนักว่า อเมริกาเป็นประเทศที่นิยมใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาการเมืองและสังคม  และผมก็เคยได้ยินเรื่องโจร อัลกาโปน ในชิคาโก เมืองที่เต็มไปด้วยแก๊งนักเลงอันธพาล (ตามความเข้าใจของผม เวลานั้น)

จบปริญญาตรีแล้ว ผมสอบได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผลการเรียนของผมค่อนข้างโอเค คือสอบไล่จบชั้นปีที่สี่ ได้ลำดับที่หนึ่งในแผนกที่เรียน ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดังนั้น การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องที่ไม่เครียดสำหรับผม ต่อมา เจ้าหน้าที่ทางการแจ้งว่า มหาวิทยาลัยชิคาโก รับผมเป็นนักศึกษา

ดีใจก็ดีใจ กลัวก็กลัว ตายห่า...อุทานกับตัวเอง ถ้ากูไม่ตายงวดนี้ จะตายมื้อไหนวะเนี่ยะ? กลางปี ๒๕๑๔ ผมออกเดินทางไปชิคาโก ผมเอาตั๋วเครื่องบินที่เขาให้มา ไปแตกซอยย่อย แวะกลางทางเปลี่ยนและต่อเครื่องบิน แม่งไปเรื่อย ๆ ให้ไปถึงชิคาโกช้าที่สุด โดยผมแวะพักฮ่องกง แล้วแวะพักโตเกียว แล้วแวะพักฮอนโนลูลู ฮาวาย แล้วถึงบินเข้า ซาน ฟรานซิสโก แล้วจากนั้น ค่อยบินข้ามทวีปอเมริกาเหนือ.....

ทอนเรื่องยาวให้สั้นเข้า เอาเป็นว่า ผมไปถึงชิคาโกแล้วกัน เข้าพักที่หอพักอินเตอร์แนชั่นแนล เฮาส์ เนื่องจากผมมีประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษ มาจากในประเทศไทย เพราะฉะนั้น อยู่หอพักเทอมเดียวก็เบื่อชีวิตชาวหอ จึงดูประกาศในนสพ.มหาวิทยาลัย หาห้องเช่าอยู่นอกหอดีกว่า จะได้รู้จักชาวอเมริกัน ดีขึ้น

แล้วผมก็ได้พักในอะพาร์ตเมน ของนายโจ นักศึกษารุ่นพี่กว่าผมสิบปี กำลังทำปริญญาเอกสาขาวรรณคดี อะพาร์ตเมนนั้นมีสามห้องนอน ก็มีนายเดวิดอยู่ห้องหนึ่ง เขาทำปริญญาเอกเรื่องเกี่ยวกับ วอลท์ วิทแมน กวีชาวอเมริกัน นายโจทำวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับยุโรปศตวรรษที่สิบแปด นายโจรับผิดชอบอะพาร์ทเมนต่อเจ้าของตัวจริง เราจ่ายค่าเช่าห้องผ่านนายโจ เราตกลงกันว่า มื้อเย็นเราจะทำอาหารร่วมกันรับประทาน วันละหนึ่งมื้อ

ฟังดูน่าสนุกนะครับ อ้อ นายโจเป็นคนยิว นายเดวิดนับถือศาสนาคาธอลิค ส่วนผมนับถือพุทธ สองคนนั้นเขาอายุมากกว่าผม เขามีแฟนแล้ว แต่แฟนอยู่ต่างรัฐกัน ส่วนผมยังโสดครับโสด - แต่ก็ไม่เชิง ผมมีเพื่อนสตรีอยู่ในรัฐชายทะเล ฝั่งตะวันออกของสหรัฐ คบกันมาจากเมืองไทย่

เมืองชิคาโกสอนให้ผม รู้จักระแวดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ละวัน ทุก ๆ วัน เวลาเดินถนนแม้ในแคมปัส ก็ต้องพยายามมีสติรู้ตัวว่า ใครเดินข้างหน้าเรา ใครเดินตามหลังเรามา และใครเดินข้างซ้ายข้างขวา อะพาร์ตเม้นอยู่ไม่ไกลจากห้องสมุดกลาง – ห้องสมุด รีเจน สไตน์

ห้องสมุดปิดดึก เวลาใกล้สอบและระหว่างเทศกาลสอบ จะเปิด ๒๔ ชั่วโมง และจะมีรถตู้ ทำหน้าที่มินิบัส คอยรับส่งน.ศ. จากห้องสมุดกลางและห้องสมุดอื่น ๆ ไปส่งตามหอพักต่าง ๆ

ผมไม่ได้ใช้บริการฟรีดังกล่าวนั้น เพราะที่พักอยู่ไม่ไกลจากห้องสมุด เดินเอาสะดวกดีแล้วครับ 

แต่ครั้งหนึ่ง ราวสองทุ่มเศษในฤดูหนาว ผมเดินจากห้องสมุดกลับอะพาร์ตเม้นที่พัก หน้าหนาวทางซีกโลกเหนือนั้น บ่ายสี่หรือห้าโมงเย็นก็ค่ำแล้ว บนทางเท้าข้างถนนกลับบ้าน  มีคนกำลังเดินสวนมากลุ่มหนึ่ง มืด ๆ อยางนั้นมองหน้าไม่เห็นกันหรอกครับ แถมแต่ละคนก็สวมเสื้อกันหนาวชนิดมีฮูดหรือผ้าคลุมหัว สติผมเริ่มทำงาน เตือนตัวเองว่ามีกลุ่มคน ท่าทางเป็นพวกวัยรุ่นชาวสลัมชิคาโกด้านใต้ ดูลักษณะการเดินและแว่วสำเนียงพูดคุย กำลังเดินสวนทางใกล้เข้ามา.....

พอใกล้เกือบประชิดตัว คนหนึ่งที่เดินมาใกล้ตัวผมที่สุด พลันก็สวนกำปั้น ต่อยท้องผม ตาผมไวพอ เพราะมีสติ เห็นการเคลื่อนไหวของกำปั้นและท่อนแขน ผมก็แขม่วท้องและกระตุกถอยหนี เป็นมวยครับเป็นมวย...ไม่ได้รับความเจ็บปวดอะไร

และผม ก็ไม่โวยวาย ไม่ด่าทอ หรือแสดงอาการต่อสู้ หรืออาฆาตมาดร้าย ยังคงประพฤติตัวปกติ เดินกลับบ้าน แบบว่า เย็นครับเย็น cool….เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่พอได้มาคิดทบทวนภายหลัง ยังเสียวใส้ไม่หายจนบัดนี้ ถ้าแทนที่จะเป็นกำปั้น แต่เป็นมีดสั้น ล่ะ?

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น