open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

Village Life: นาที่แม่เคยทำ หายไปแล้วทั้งทุ่ง

หายไปแล้ว ทั้งทุ่ง

เพื่อนคนหนึ่ง บ้านอยู่ชายทุ่งเหมือนผมเวลานี้  พ่อเขาตายตั้งแต่ตัวเองเรียนอยู่ชั้นป.4  เขาช่วยแม่เลี้ยงน้องสี่ห้าคน จนรอดมาได้ ก็ด้วยทุ่งนาที่ท่านเห็นในรูปคราวที่แล้ว


ทุ่งนานั้น ไม่ได้ราบเรียบเสมอกันเหมือนทุ่งข้าวสาลี ทุ่งข้าวโพด ในสหรัฐอเมริกา  ทุ่งบ้านผมไม่ได้อยู่ในรัฐเนบราสกา ไอดาโฮ ไอโอวา ฯลฯ  แต่ในทุ่งจริง ๆ แล้วมีแอ่งน้ำเล็กอยู่ทั่วไป  แต่ท่านจะไม่เห็นในภาพ  แอ่งน้ำเหล่านั้นเมื่อน้ำลดจะกลายเป็นแหล่งดักปลา  ปลาชุมมากในสมัยก่อน  เพื่อนที่พ่อตายได้อาศัยหาปลาที่ชุมในทุ่งนั้น มาเลี้ยงน้อง

แต่เดี๋ยวนี้ พ.ศ.2560 ภาพที่ถ่ายไว้เมือ 2540 ไม่มีสภาพนั้นแล้ว ทุ่งทั้งทุ่งหายไปหมด  ผมไม่ได้เศร้าโศกอะไร ไม่ได้ดีใจเสียใจ  เป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นธรรมดา

ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ทีตำบลบ้านเขาล้าน ผมมีญาติอยู่ที่นั่น อยู่บนเขา  และแม่ก็เคยไปช่วยญาติทำนาที่ตีนเขาล้าน เป็นทุ่งใหญ่ แต่ไม่มีคนอยู่ ผู้คนเขาขึ้นไปอยู่กันบนเขา แต่ทำนาข้างล่าง  ข้างบนเขานั้นบางบ้านก็สานเสื่อกระจูด หรือมัดต้นอ้อเป็นไม้กวาดไว้ขาย

หลายปีก่อน ผมพบเพื่อนชาวสวี ก็ได้ถามเขาว่าทุ่งที่เขาล้านเป็นอย่างไร  เขาตอบว่า "ฉิบหายหมดแล้ว"  หมายความความเป็นทุ่งนาข้าวไม่มีแล้ว กลายเป็นนากุ้งไปหมด

คำว่า ฉิบหาย เป็นการตีค่า หรือให้คุณค่า หรือ value ของคนพูดเอง  นามันฉิบหายไป การใช้ที่ดินเปลี่ยนไปกลายเป็นบ่อกุ้ง  มูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้น  บ่อกุ้งได้ผลผลิตทั้งปี  นาได้แค่ปีละครั้ง  อย่างไรก็ดี ทุ่งนาสำหรับเราก็อดที่จะมีคุณค่าทางอารมณ์ด้วยไม่ได้  มันมี sentimental value ซึ่งคุณค่าทางอารมณ์ก็สำคัญ จะดูหมิ่นไม่ได้  

ทุ่งนาที่บ้านผม ทั้งทุ่งนาพญา และ ทุ่งแม่เล หายไปทั้งทุ่งกลายเป็น สวนยางกับสวนปาล์ม หรือบางทีเรียกป่ายางกับป่าปาล์ม

อย่าว่าแต่คนอื่น นาร้างของผม ผมก็ยกนา "พัฒนาที่ดิน" ทำเป็นสวนมาแล้วถึงสามสวน เชื่อหรือไม่?  แรกทีเดียวยกนาทำสวนเงาะสวนมังคุด ต่อมาทำสวนไม้ยืนต้นปลูกต้นไม้ขาย คือไม้กระถินเทพา จากบอร์เนียว ที่ปลวกไม่กิน  ต่อมาผมรื้อขายไม้และปรับพื้นที่ใหม่ ทำเหมือนคนอื่นเขาทำกัน คือ ปลูกปาล์ม เมื่อ 2552 บัดนี้ มีผลแล้ว

"นาที่แม่กูเคยทำ"  เวลานี้มีอยู่แต่ในความทรงจำ เท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560

Village Life: ทุ่งนา บ้านฉัน


ทุ่งนา ที่บ้านผม

เวลาที่ผมอยู่กรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องโลกร้อน หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป  หรืออากาศวิปริตมาก  ผมเป็นคล้าย ๆ คนอเมริกันปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่อเมริกาโดนพายุถล่มอยู่เนือง ๆ พวกเขาดูเหมือนไม่ค่อยจะเชื่อว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว




ท่านผู้อ่านโปรดชมภาพทุ่งนาบ้านผม  ภาพนี้ผมถ่ายเอง เมื่อพ.ศ.2540  ปัจจุบันนี้ขอบอกว่า ทุ่งนี้ทั้งทุ่ง ขอย้ำนะว่า ทั้งทุ่ง ได้หายไปหมดแล้ว ทุ่งนี้ไม่มีแล้วครับ...สัปดาห์หน้าจะเล่าให้ฟังว่า ได้เกิดอะไรขึ้น

ญาติพี่น้องผม เราก็อยู่กันรอบ ๆ ทุ่งนี้ หรือทุ่งเล็กทุ่งน้อยที่ต่อเนื่องไปจากทุ่งนี้  ตอนเด็ก ๆ เมื่อเรียนชั้นประถามหนึ่ง  ผมเดินเข้ามทุ่งเล็กที่ต่อเนื่องกับทุ่งนี้ไปโรงเรียน  ไปกับญาติผู้พี่ที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดหลังเขา

วันหนึ่ง วันที่ฟ้าฉ่ำฝน เป็นหน้าน้ำ ต้นข้าวในนา ซึ่งเป็นนาดำ สูงไม่ถึงหัวเข่าผู้ใหญ่  ผมเดินอยู่บนคันนา ตามหลังพี่ไปโรงเรียน  งูตัวหนึ่งว่ายน้ำมาในนา มันเลื้อยขึ้นคันนาอย่างว่องไว แล้วกัดนิ้วเท้าก้อยของผม ซึ่งเดินตีนเปล่า  งูกัดเป็นแผลที่นิ้วก้อย เลือดไหล  ผมก็ร้องให้ และเรียกพี่ว่า

          “พี่ ๆ งูขบ” (=งูกัด)

พี่หันขับไปในนา ทางที่งูกำลังว่ายน้ำหนีไป  พลางบอกว่า

          “ไม่เป็นไร งูน้ำ”

แล้วก็ ก้มลงคัดเลือดที่แผลให้ผม


ที่ทุ่งนาผืนนี้ แม่ผมเคยมาทำนา  ในหน้าแล้งฤดูเก็บข้าว – ทางใต้แถวบ้านผมเขาพูดว่า เก็บข้าว เขาไม่พูดว่า เกี่ยวข้าว  เพราะว่าเราไม่ได้ใช้เคียวเกี่ยวข้าว  แต่เราใช้ “แกะ” เก็บข้าว ทีละรวง โปรดชมภาพแกะด้านล่าง



ขอบคุณ - http://www.kontaiclub.com

ในหน้าแล้ง น่าสนุกมาก ต้นข้าวสมัยก่อนสูงท่วมหัวเด็ก  เหง้าของมัน ขุดขึ้นมาทำนกหวีดได้  แต่ต้องผู้ใหญ่ทำให้ เด็ก ๆ ทำไม่เป็น

โตขึ้นหน่อย ผมก็เก็บข้าวเป็น และดำนาเป็น

สมัยต่อมา เมื่อกลายเป็นคนพลัดที่นาคาที่อยู่ ไปอยู่กรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ  เวลากลับมาเยี่ยมบ้านเกิด  พอผมได้เห็นทุ่งนาผืนในภาพนั้น  จิตใจก็จะฮึกเหิม ไม่ขลาดกลัวอะไร  ผมยืนอยู่ที่ชายทุ่ง แล้วบอกตัวเองว่า

          “นานี้ แม่กูเคยทำ”

เพียงนึกได้เท่านั้น กำลังใจจะกลับคืนมา

ผมไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกว่า พวกนักการเมืองระดับชาติ เขาใช้เงินแผ่นดิน เป็นแสน ๆ ล้านหว่าน “ช่วยเหลือชาวนา”  เขาทำกันอย่างไร  ช่วยงัยอ่ะ?


          “ส้นตีน แหนะครับ”

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

Village Life: เคน แอนด์ อะเบล

Village Life:
 เคน แอนด์ อะเบล

วันก่อนผมฟังคนเขาคุยกันในอินเตอร์เนต เรื่อง “เคน แอนด์ อะเบล”  ชื่อหนังสือนิยายชื่อดังของ เจฟฟรี อาชเชอ นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1979 จนบัดนี้ปี 2017 ขายไปแล้ว 33 ล้านเล่ม ใน 35 ภาษา

การได้ฟังคนเขาคุยกันเรื่องแบบนี้ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ – ผมหมายถึงยุคก่อนมีอินเตอร์เนต เป็นเรื่องเหลือเชื่อ  เพื่อนบ้านบางคนในหมู่บ้านชนบทของผม  เขาสงสัยว่า ทำไมผมไม่ฟังเขาคุยมาเป็นปีแล้ว  เพื่อนบ้านคนนี้ผมนั่งฟังแกคุยมานานหลายปี จนผมเบื่อแทบบ้า  จนต้องแกล้งใบ้ เลิกฟังแกคุย และเลิกพูดด้วย  เพราะกลัวว่าแกจะถือเอกสิทธิ  มาคุยให้ผมฟัง

แกไม่สนใจเรื่องของ เคน แอนด์ อะเบล  ไม่สนใจ เจฟฟรี อาชเชอ  และไม่เข้าใจว่าหนังสือเล่มหนึ่ง จะขายได้ 33 ล้านเล่ม ใน 35 ภาษา ได้อย่างไร บ้าเปล่า?

ชื่อ เคน แอนด์ อะเบล ผมฟัง-ที่เขาคุยกันในเนต  ได้ทราบว่านักเขียน เจฟฟรี อาชเชอ ยืมมาจากคัมภีร์ไบเบิล  เป็นชื่อลูกชายของมนุษย์คู่แรกที่พระเจ้าสร้าง  นักเขียนมือทองชาวอังกฤษยืมชื่อมาตั้งชื่อนิยายที่ตนเขียน

คนรุ่นเก่า สูงวัย ในชนบท ไม่ได้มีทางออกในชีวิตมากอย่างคนมีการศึกษารุ่นปัจจุบัน  คนรุ่นเก่าเล่นเนตไม่เป็น แม้แต่โทรศัพท์มือถือ ก็จะใช้รุ่นกด ไม่ใช้รุ่นสัมผัสหน้าจอ  เพราะสัมผัสไม่เป็นและบางคนตาก็ไม่ดี

ผมไม่มีอินเตอเนตที่บ้าน หรือผ่านโทรศัพท์มือถือ  เพราะไม่มีเวลาจะเล่น  แต่จะไปใช้เนตที่ร้านเกมสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง  สนใจรายการใดก็ใช้วิธีโหลดมาฟังหรือชมที่บ้าน  ร้านเนตใกล้สุดอยู่ที่สี่แยกทางหลวงชนบท  ใช้เวลาเดินสี่สิบห้านาทีจากสวนผม

คนแถวบ้านมึนเมาสุรากันมาก คือ เมาแบบครึ้ม ๆ ไม่ใช่เมาหัวราน้ำ  แต่นั่นแหละ คนฝรั่งเศสก็เมา  ตอนเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส คณบดีแกสอนวิชายุทธศาสตร์ธุรกิจช่วงบ่าย  แกหน้าแดงก่ำทุกครั้งที่เข้าชั้นสอน คงจะกินเหล้าก่อนอาหารเที่ยง  เหล้าระหว่างอาหาร  และเหล้าย่อยอาหาร มาครบเครื่อง

ไม่กี่วันมานี้ ฟังคนตอแหลกันทางเนต(ฝรั่ง)  ก็เลยได้ทราบเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า จนกระทั่งก่อนครึ่งแรกของศตวรรษที่สิบแปด อันเป็นศตวรรษดังในยุโรป และศตวรรษดังของอารยธรรมตะวันตก ถือเป็นยุคแสงสว่างทางปัญญา  น้ำดื่มที่สะอาดยังหายากในยุโรป  คนเขาก็กินน้ำเมากัน เช่น คนฝรั่งเศสกินไวน์ คนเยอรมันกินเบียร์ 

ศตวรรษที่สิบแปด เป็นศตวรรษที่คนเมากันทั่วยุโรป...

มิน่าเล่า ศตวรรษนั้นจึงมีนักปราชญ์เยอะ




วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

Village Life: คุณนายกะเปิ้บกะป้าบ

Village Life
คุณนายกะเปิ้บกะป้าบ

เรื่องชีวิตผัวเมีย เป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งแห่งการพูดจา ติฉินนินทา เสวนา กระซิบกระซาบ ทางโซเชียลมีเดีย ของหมู่บ้าน  อันได้แก่ที่ร้านกาแฟ ที่ร้านขายของชำ และร้านขายขนมภาคเช้า

คุณนายกะเปิ้บกะป้าบ แกหายไปจากหมู่บ้านนานปีกว่า  ไปอยู่บ้านผัวใหม่ของแก ซึ่งเป็นสามีคนที่สองหรือสาม บ้านอยู่บนควน(บนเนินเขา)ในอีกหมู่บ้านหนึ่งไกลออกไป  แก่ไปอยู่กับเขาซึ่งเป็นพ่อหม้าย แต่ลูกเต้าโตหมดแล้ว จนมีหลานแล้ว



การจับคู่ของคนมีอายุเป็นเรื่องธรรมดาที่บ้านผม  ไม่ได้แตกต่างจากการจับคู่ของคนหนุ่มสาวมากนัก  เพียงแต่ว่า คนมีอายุจะไม่จัดงานแต่งงานให้เป็นที่เอิกเกริก ยกเว้นนาน ๆ ครั้ง บางคู่เขาจัดงานแต่ง พิธีเหมือนหนุ่มสาวแต่งงาน ซึ่งพวกเขามักจะมีเหตุผลที่ดีพิเศษ ที่จะทำเช่นนั้น

ตัวอย่างเช่น คู่หนึ่ง เขาทั้งคู่เคยเป็นกิ๊กกันมาสมัยหนุ่มสาว หรือวัยรุ่น  แล้วชะตากรรมมาทำให้พลัดพรากจากกัน ฝ่ายชายไปมีเมีย ฝ่ายหญิงแยกไปมีโอกาสเข้ารับราชการในตัวเมือง และทำราชการไต่เต้าจนเกษียณอายุราชการ และอยู่เดี่ยว ๆ กระทั่งเกษียณ

อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญว่าฝ่ายชายก็กำลังเป็นพ่อหม้ายเมียตาย ไม่ใช่พ่อร้างที่เลิกกับเมีย  คนทั้งคู่เขาก็มาแต่งงานกัน จัดงานแต่งงานใหญ่โต ขนาดผู้ว่าราชการจังหวัดยังได้รับเชิญมาในงาน

เนื่องจากฝ่ายหญิงเป็นคนรุ่นน้ารุ่นอาของผู้เขียน และสนิทสนมกัน  ผู้เขียนได้ถามท่านว่า เป็นงัยบ้าง-ชีวิตแต่งงาน ดีไหม?

ท่านตอบว่า ดี-ดี แต่งสิ ดีนะ...

ต่อจากนั้น ผู้สูงวัยแต่จิตใจหนุ่มสาวทั้งคู่ ก็อยู่กินฉันท์ผัวเมียกันมานานนับสิบกว่าปี กระทั่งฝ่ายหญิงตายลงในวัยเจ็ดสิบเศษ ใกล้จะแปดสิบ  ฝ่ายชายก็กลายเป็นพ่อหม้ายคำรบสอง...และเขาก็ไปหาแม่หม้ายผัวตายคนหนึ่ง ได้อยู่กินด้วยกันมาตราบเท่าบัดที่กำลังเขียนนี้

คู่ที่เล่ามานั้น เขาเป็นคนระดับปัญญาชนคนอ่านออกเขียนได้ การศึกษาระดับมัธยมต้นสมัยก่อน ไม่ใช่ ขี้ ๆ  ทั้งคู่อยู่ในขั้นผู้นำหมู่บ้าน พูดอะไรก็รู้เรื่อง เข้าเจ้าเข้านาย(ข้าราชการ)ได้ดี  ส่วนกรณีคุณนายกะเปิ้บกะป้าบของเรานั้น เธออ่านหนังสือออกเพียงบางตัว แต่ว่าเธอมีประสบการณ์ชีวิต เคยมีลูกกับผัวคนแรก ต่อมาทั้งลูกและผัวตายจากไปในต่างกรรมต่างวาระ แกก็มีสามีใหม่ตามประสาแม่หม้ายหลาย ๆ คน เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับที่บ้านผม

การพูดการจาของแก เท่าที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ แกจะพูดจากซักไซ้ไล่เรียง เจาะเอาข้อมูล คล้ายกับที่ทางโรงพยาบาลซักประวัติคนไข้  ทำราวกับว่าคู่สนทนาเป็น “เหยื่อ” ของแก ที่แกจะต้องหาทางขม้ำให้ได้  อย่างน้อยผู้เขียนรู้สึกอย่างนั้น คล้าย ๆ กับว่า ถ้าแกขม้ำไม่ได้ด้วยมนตร์หรือกล ก็จะเอาให้ได้ด้วยคาถา...แกน่ากลัวมากเลย

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่ซักไซ้ไล่เรียงจนรู้ว่าผู้เขียนเลิกใช้เตาแก้สประกอบอาหาร แต่หันมาใช้ไฟฟ้าแทน  แกก็ออกปากยืมถังแก้สปิกนิกของผู้เขียนทันที ที่ช่องเปิด...

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ระวังตัวที่จะไม่สนทนากับคุณนายกะเปิ้บกะป้าบสองต่อสอง แม้ในที่สาธารณะ เพราะผู้เขียนไม่ใช่คนเก่งกาจอะไร เป็นคนขี้กลัว 

ร้อนเพื่อนบ้านสตรีที่นั่งฟังการสนทนาอยู่ด้วย แกทนฟังไม่ใหว หมายถึงทนคุณนายกะเปิ้บกะป้าบไม่ไหว ร้องห้ามผู้เขียนขึ้นมาว่า “อย่าให้ยืม!”

เวลานั้น คุณนายกะเปิ้บกะป้าบ ทะเลากับผัวบนควน(บนเนินเขา) แล้วลงมาอาศัยอยู่กับญาติในหมู่บ้าน  ซึ่งญาติในหมู่บ้านนินทาให้ผู้เขียนฟังว่า ดูเด่ะ ลงมาแล้วจะกะเกณฑ์ให้ญาติพี่น้องข้างล่างนี้ปลูกขนำให้อยู่  โธ่-ญาติเขาสังเวชใจ ถ้าซื้อเสาเรือน อิฐ หิน ปูน ทราย และไม้มาสักกอง แล้วมาขอแรงกัน ยังพอว่า นี่อะไรมีแต่ออกปากตอแหลจะเอาลูกเดียว...

ต่อมาอีก เจ้าของบ้านที่ให้คุณนายอยู่อาศัย ซึ่งเป็นน้องชาย ก็ด่าคุณนายเรื่องกะเปิ้บกะป้าบจะเอาลูกเดียว และไม่ดูตาม้าตาเรือ  เห็นคนเป็นเหยื่อที่จะเขมือบได้เหมือน ๆ กันหมด  เขาด่าว่า อย่าปากไว ดีแต่พูดไชเข้าไป จะเอาแต่ได้ของคนอื่นเขา  

คุณนายกะเปิ้บกะป้าบทนไม่ได้ หรือโดนไล่กลาย ๆ แกก็กลับไปดีกับผัวบนควน ออกไปจากหมู่บ้าน เพราะแม้แต่ญาติตัวก็ยังไม่เล่นด้วย

บ๊ายบาย คุณนายกะเปิ้บกะป้าบ