- ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล สหรัฐอเมริกา
บทแนะนำ
ปรัชญาการเมือง ถือกันว่า เป็นวิชาสังกัดอยู่ในรัฐศาสตร์
เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ เช่น วิชาการปกครองอเมริกัน(-เป็นวิชาที่มีสอนทั่วไป
ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอเมริกัน – ผู้สรุปภาษาไทย) การเมืองระหว่างประเทศ
เป็นต้น
แต่ถ้ามองอย่างนั้น คือถือว่า ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาย่อยอยู่ในรัฐศาสตร์ ก็อาจจะเป็นทัศนคติที่แคบไป เพราะ ปรัชญาการเมือง
เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ เก่าที่สุดในบรรดาเรื่องรัฐศาสตร์ทั้งหลาย และเป็นพื้นฐานของวิชารัฐศาสตร์
ที่เรียนและสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ปรัชญาการเมือง เช่นที่เราจะว่ากันเป็นลำดับต่อไปนั้น
จะเริ่มด้วยตำราหลักที่สำคัญ อันเป็นตำราโบราณ ผลงานของ เพลโต อะริสโตเติล
มาเคียเวลลี มาร์ก เฮเกล ฮ็อป ท็อควิลล์ นิชช์ เป็นต้น ปรัชญาการเมืองเป็นวิชาสังคมศาสตร์ ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวิชาสังคมศาสตร์ทั้งปวง
การศึกษาตำราเก่าแก่ของนักคิดที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย
จะว่าดีก็ดี จะว่าไม่ดีก็ได้ ที่ว่าไม่ดีก็คือเราอาจจะนึกระย่อท้อถอย
แล้วหมอบราบคาบแก้ว กลายเป็นสาวกของครูรุ่นโบราณ จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง เวลานี้ มีแต่ปรัชญาการเมืองกับรัฐศาสตร์เท่านั้น
ที่ยังศึกษาตำราเก่าแก่
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่อ่านงานของ อะดัม สมิธ กันแล้ว และนักจิตวิทยาก็เลิกอ่านงานของ ฟรอยด์ มีแต่นักรัฐศาสตร์ที่ยังต้องอ่านงานของ
เพลโต อะริสโตเติล ล็อค ฮ็อป มาเคียเวลลี ฯลฯ
เหตุที่ นักรัฐศาสตร์ยังต้องศึกษาตำราโบราณ
ทั้ง ๆ ที่โลกวิวัฒนาการไปจนเกิดโลกาภิวัตน์แล้วก็เพราะตำราเหล่านั้น
ช่วยปูความคิดพื้นฐานอันแข็งแรง เรื่องการบ้านการเมือง ตำราเหล่านั้นตั้งคำถาม เป็นปริศนาที่ยังทันสมัย
ซึ่งแม้คนยุคปัจจุบัน ก็ยังพิศวงกับปัญหาเหล่านั้นกันอยู่ ปริศนาของ เพลโต อะริสโตเติล มาเคียเวลลี ฮ็อป
และท่านอื่น ๆ มีความกระจ่างแจ้ง ชัดเจน
กอปรด้วยความรู้ที่ลึกซึ้งถึงแก่น
ในโลกปัจจุบัน ยังมีคนจำนวนมากผู้ถือว่าตนเป็นสานุศิษย์ของอะริสโตเติล
เป็นศิษย์โธมัส ฮ็อป ศิษย์เอมมานูเอล คานต์ หรือแม้พวกมาร์กซิสต์ ก็ยังอ้างครูบาอาจารย์เก่า
ๆ เหล่านั้น
ความคิดเห็นของบรมครู ไม่ล้าหลัง ยังคงมีลักษณะเป็นปัจจุบัน
ยังมีลมหายใจอยู่กับเรา ในแต่ละวัน
เพราะฉะนั้น ปรัชญาการเมือง จึงไม่ใช่ภาคผนวกของวิชาประวัติศาสตร์ หรือเรื่องย่อยในสาขารัฐศาสตร์ ถ้าผู้ใดสงสัยความสำคัญของปรัชญาการเมือง
ให้ลองอ่านงานของ จอห์น
เมนาร์ด เคนส์ ที่ได้กล่าวไว้ในปี 1935 ว่า
ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาการเมือง ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด ทรงพลังอำนาจ มากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกัน นักปฏิบัติทั้งหลาย ที่นึกทึกทักเอาเองว่า
ตนเองเป็นกรณียกเว้น เพราะตนคิดอะไรเอาเอง ไม่เคยได้รับปัญญาความคิด มาจากใครที่ไหนเลย ที่จริงแล้วคนเหล่านั้น
ก็มักเป็นทาสความคิดของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าบางคน ที่ตายไปแล้ว พวกคนบ้าที่มีอำนาจ ผู้ร้องตะโกนประกาศวาทะบ้าคลั่ง
ก็ล้วนแต่เก็บตกความคิด มาจากนักขีดเขียนงานวิชาการรุ่นเก่าก่อน
เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น
นักคิดนักเขียนปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งยงทั้งหลายในอดีต
ไม่ได้มีชื่อเสียงเพราะได้สร้างผลงานเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ให้คนไปชม และไปชื่นชม
แต่แล้วในที่สุดผลงานก็ยังคงเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์
เหมือนของเก่าที่เก็บอยู่ใน หอศิลป์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ค แต่งานของนักปรัชญาการเมือง ทรงความสำคัญข้ามยุคสมัย
เพราะว่า งานเหล่านั้นได้ช่วยตีกรอบนิยามหลายสิ่งหลายอย่าง ที่นักวิชาการรุ่นหลัง
ได้อาศัยเป็นเครื่องมือ ไว้คอยตีความความเป็นไปต่าง ๆ ในโลก
ศ.สมิธ ยกอุทาหรณ์ว่า
นักคณิตศาสตร์โบราณท่านหนึ่ง เคยพูดว่า โจทย์ทุกข้อ จะมีคำตอบที่ถูกต้อง อยู่เพียงคำตอบเดียว ความคิดเห็นนี้ต่อมาถูกต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวาง ผู้รู้ทั้งหลายส่วนมาก จะไม่เห็นด้วย แต่สำหรับผู้รู้ทั้งหลายด้านปรัชญาการเมือง มักจะมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างลึกซึ้ง
ต่อเรื่องสำคัญ ๆ เช่น ความยุติธรรม สิทธิ และเสรีภาพ เป็นต้น ในปรัชญาการเมือง เราจะกล่าวเป็นที่ยุติว่า
เพลโตว่าอย่างนี้ นิชช์ว่าอย่างนั้น หาได้ไม่
คำตอบสุดท้ายสำหรับปริศนาปรัชญาการเมือง ไม่มี
ก็ด้วยเหตุนี้อย่างไรเล่า ที่ทำให้เรา(นักศึกษาปรัชญาการเมือง)แทรกเข้าไปในวงสนทนาของคนโบราณได้ โดยแรกทีเดียว เราศึกษา อ่าน และฟัง ต่อมา เราก็พิจารณาตัดสินใจว่า อะไรถูก อะไรดี
อะไรผิด
แต่วิธีที่เราจะตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ทำด้วยการยกผู้รู้ขึ้นมาอ้าง
เป็นที่ยุติ ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แต่เราต้องอาศัยความสามารถในการอ้าง(แสดง)เหตุผลของเราเอง เป็นเครื่องมือช่วยคิดตัดสิน
What are these problems? ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า แล้วปัญหา
ปริศนา ที่ปรัชญาการเมืองสนใจ มีอะไรบ้าง?
เนื้อหาของปรัชญาการเมืองคืออะไร?
นักรัฐศาสตร์ต้องการแสวงหาคำตอบให้แก่ปมปริศนาการเมือง ปมใด? ศ.สมิธ กล่าวว่า ถ้าเราจะทำบัญชีหางว่าวขึ้นมา
ประเด็นจะมีมากมาย บัญชียาวมาก ยกตัวอย่างปมสำคัญ ๆ ที่เก่าแก่แต่โบราณ และยังทันสมัยเสมอ
ได้แก่
ความยุติธรรม
คืออย่างไร
จุดหมายของสังคมที่ดี
เป็นไฉน
พลเมือง
ควรได้รับการศึกษา อย่างไร
เราต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง ไปทำไม
แล้วพันธะเรื่องหนี้ของเรา มีขอบเขตหรือไม่ เพียงใด
เกียรติภูมิของมนุษย์
วางอยู่กับอะไร
อิสรภาพ
คุณงามความดี ความรัก มิตรภาพ เป็นอย่างไร
พระเจ้ามีจริงหรือไม่
และพระเจ้าคืออะไร
หน้าที่ของเรา
ในฐานะมนุษย์ และในฐานะพลเมือง มีอะไรบ้าง
ทั้งหมดนั้น คือ ส่วนหนึ่งของข้อปริศนาพื้นฐาน
ในการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง
แต่ก็มีปริศนาเก่าแก่ที่สุด ของปรัชญาการเมือง
อยู่เรื่องหนึ่ง ได้แก่
“What is a regime?” – หรือ “ระบอบการเมืองการปกครอง”
คือ อะไร
เป็นอย่างไร มีกี่ชนิด?
ความพยายามที่จะขบประเด็น “ระบอบการเมืองการปกครอง”
– หรือ “regime”
นี้ ย้อนไปได้ถึงยุค เพลโต ซึ่งหนังสือชื่อ รีปับบลิค ของเขา
ที่จริงแล้วก็จะว่าด้วย “ระบอบการเมืองการปกครอง” หรือ “regime” อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ยุคโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน
เวลาใครคิดเรื่อง ระบอบการเมืองการปกครอง หรือ regime ฉากหลังในกระบวนการคิดคำนึงนั้น เขาต้องการคำตอบ-ต่อคำถามที่ว่า “What
is the best regime?”
ก่อนอื่น ก่อนจะหาคำตอบว่า
ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด คือ อะไร? เรามาดูกันก่อนว่า
ระบอบการเมืองการปกครอง คือ อะไร? ศ.สมิธ
กล่าวว่า ระบอบการเมืองการปกครอง ส่อถึง “รูปแบบ” การปกครอง หรือ รูปแบบการเมือง
ประชาชนถูกปกครองอย่างไร? ตำแหน่งทางการเมือง ถูกจัดสรรไปอย่างไร? เช่น จัดสรรโดยการเลือกตั้ง โดยชาติกำเนิด
โดยคุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ ความสำเร็จในชีวิต
นอกจากนั้นระบอบการเมืองการปกครอง ยังครอบคลุมเรื่อง สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองด้วย
ว่าเป็นอย่างไร?
โดยเฉพาะเจาะจงชี้ชัดลงมา
ระบอบการเมืองการปกครอง(regime)
ยังหมายถึง รูปแบบของรัฐบาล ซึ่งตามความที่เป็นจริงแล้ว โลกการเมืองไม่ได้มีความหลากหลายมากมายอะไรเลย
รูปแบบการเมืองการปกครอง ที่เรียกว่า regime types มีไม่กี่ชนิด
เราจะเห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อนำชนิดหนึ่งมาเทียบเคียงกับชนิดอื่นที่ต่างรูปแบบกัน
หรือตรงข้ามกัน ระบอบการเมืองการปกครองต่างรูปแบบ
มักจะแฝงไว้ด้วยความเป็นปฏิปักษ์กัน
นอกจากนั้น ระบอบการเมืองการปกครอง
ยังมีลักษณะพวกใครพวกมัน(partisan)
เป็นฝักฝ่ายที่แฝงไว้ด้วยความภักดี และแฝงอารมณ์ร่วมต่อพวกเดียวกัน
คล้าย ๆ แฟนทีมกีฬา ใครเป็นแฟนทีมนิวยอร์ค แยงกี ใครแฟนทีมบอสตัน เรดซ็อก หรือความรักสถาบันการศึกษา เช่น ใครศิษย์เยล
เป็นต้น
ความรู้สึกภักดีและมีอารมณ์ร่วมกับพวกเดียวกัน ยังแยกลึกลงไปถึงภายในพรรคการเมืองพรรคเดียวกันด้วย ซึ่งก็มีการแบ่งมุ้ง แบ่งกลุ่ม ออกไปหลายหมู่เหล่า เป้าหมายก็เพื่อชิงชัยเอาอำนาจ เกียรติ
และผลประโยชน์(power, honor, and interest)
ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่ง เฮนรี อะดัม
ตั้งข้อสังเกตอย่างถากถางไว้ว่า การเมืองเป็นการรวมกลุ่มของความเกลียดชัง(organization of
hatred)
ศ.สมิธ เห็นว่าคำกล่าวนั้นมีมูล
แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายความดีงามด้วย ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะผันความไม่พอใจซึ่งกันและกัน
หรือกลุ่มแห่งความเกลียดชัง ออกไปสู่การสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่สังคมร่วมกัน ทำอย่างไรเราจะผันความไม่กินเส้นกัน
ให้กลายเป็นมิตรภาพ? จะทดแทนความขัดแย้งกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี จะได้ไหม?
ประเด็นนี้ มีผู้คิดใคร่ครวญกันมิใช่น้อย แม้กระทั่งในวงกว้างถึงระดับสากล ก็ยังคิดกันว่าเป็นไปได้ไหม ที่เราจะหาสิ่งอื่นมาทดแทน
regime
politics เช่น จะแทนด้วยระบบความยุติธรรมสากล
และกฏหมายระหว่างประเทศ จะเป็นไปได้ไหม?
ศ.สมิธ เห็นว่า หากโลกกลายสภาพเป็นสากลมาก ๆ
อยู่ร่วมกันด้วยกฎหมายโลกและศาลโลก
เมื่อนั้นก็จะไม่มีการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะที่ เกิดมีอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยโครงสร้างและสถาบัน
ของระบอบการเมืองการปกครองในท้องถิ่นพื้นที่นั้น ๆ เอง เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว
แต่ ระบอบการเมืองการปกครองหนึ่ง ๆ(a regime) ก็มีลักษณะกินความมาก กว้างขวางลึกซึ้ง เกินกว่าเรื่องโครงสร้าง และเรื่องสถาบันการเมืองการปกครอง
ระบอบการเมืองการปกครองครอบคลุมลึกซึ้ง จนมีผลถึงวิถีชีวิตของคนทั้งชีวิต
– the entire way of life กินความถึงทั้งเรื่อง ศิลธรรมจรรยา ศาสนปฏิบัติ
นิสัยใจคอ จารีตประเพณี รวมทั้งความรู้สึก และความรู้สึกนึกคิด ทั้งหมดนี้ได้รวมกันเข้า
สร้างคน ให้เป็นคน เฉกเช่นที่เขาเป็นอยู่
ระบอบการเมืองการปกครอง สร้างลักษณะคนให้แตกต่างกันไป
แล้วแต่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่กับระบอบไหน การศึกษาระบอบการเมืองการปกครอง
จึงบ่งชี้ไปถึงลักษณะประจำชาติ ของบรรดาพลเมืองทั้งหลาย ศ.สมิธ ได้ยกตัวอย่าง การศึกษาระบอบการเมืองการปกครองอเมริกัน
ของนักสังเกตการณ์ชาวฝรั่งเศส นายอะเล็กซี เดอ ต็อควิลล์
โดยเขาเริ่มศึกษาแบบแผนที่เป็นทางการก่อน คือ ศึกษาสถาบันการเมืองการปกครองในสหรัฐฯ
ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและเอกสารสำคัญ ซึ่งว่าด้วย การแบ่งแยกอำนาจ การคานอำนาจ อำนาจของรัฐบาลกลาง
และอำนาจรัฐบาลมลรัฐ เป็นต้น หลังจากนั้น
ต็อควิลล์ ก็หันมาศึกษาแบบแผนที่ไม่เป็นทางการ หรือขนบธรรมเนียมอเมริกัน เช่น
กิริยามารยาท และความเคร่งศิลธรรมของอเมริกัน
แนวโน้มของชาวอเมริกันที่จะรวมกลุ่มกันตั้งสมาคม ลักษณะศาสนาปฏิบัติและศิลธรรมแปลก
ๆ ของชาวอเมริกัน ความอ่อนไหวของชาวอเมริกันต่อเรื่องประชาธิปไตย หัวข้อทั้งหลายเหล่านั้น อันว่าด้วยศิลธรรมจรรยา
ภูมิปัญญา ธรรมเนียมปฏิบัติ และประเพณี ได้ร่วมกันสร้างระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย(ในอเมริกา)
– a
democratic regime
ซึ่ง ที่สุดแล้ว เมื่อมองในแง่นี้
จะเห็นว่าระบอบการเมืองการปกครอง จะพรรณนาคุณลักษณะ หรือเหลื่อมสี(tone) ของสังคมหนึ่ง
ๆ ชี้ให้เราเห็นว่า สังคมนั้นบูชาอะไร? (What the society finds
praiseworthy? What it looks up to?) เราจะไม่สามารถเข้าใจระบอบการเมืองการปกครองระบอบใดได้ เว้นไว้แต่ว่า
เราจะเข้าใจว่า ระบอบนั้น บูชาอะไร?
ต่อจากปริศนานี้ ก็มีปริศนาตามมาว่า แล้วระบอบการเมืองการปกครอง
ก่อตั้งกันขึ้นจากอะไร? (How
are regimes founded?) และอะไรที่หนุน แบกรับ เอื้ออำนวย
ให้ระบอบการเมืองการปกครองระบอบหนึ่งคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน นักคิดอย่าง
ต็อควิลล์ เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครอง แฝงอยู่ลึกล้ำในโครงสร้างของประวัติศาสตร์มนุษย์
การก่อตั้งระบอบหนึ่ง ๆ ใช้เวลานานนับร้อยปี
นักคิด
นักปรัชญาการเมืองการปกครอง ท่านอื่น ๆ เช่น เพลโต มาเคียเวลลี รุสโซ
เชื่อว่าระบอบการเมืองการปกครอง สร้างขึ้นได้จากเจตนามนุษย์ ผู้เป็นรัฐบุรุษ
อย่างที่มักเรียกกันว่า “บิดา ผู้ก่อตั้ง” หรือที่ในประวัติศาสตร์อเมริกันจะเรียก “founding fathers” บรรดารัฐบุรุษเหล่านั้น
มาเคียเวลลี ยกตัวอย่าง โรมูลุส โมเสส ไซรัส และศ.สมิธ เห็นว่าสำหรับชาวอเมริกัน
ก็น่าจะเป็น วอชิงตัน เจฟเฟอร์สัน อะดัม เป็นต้น บุคคลเหล่านี้วาดโครงการสร้างคนและสถาปนาสถาบันทางการเมือง
แต่ แฮมิลตัน
ได้ตั้งคำถามปฐมภูมิเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ระบอบการเมืองการปกครอง ถูกสร้างจากการคิดคำนึงด้วยภูมิปัญญามนุษย์
และจากการเลือก(เจตนามนุษย์) หรือว่าเกิดจาก เหตุสุดวิสัย อุบัตเหตุ สถานการณ์
สิ่งแวดล้อม ธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์
ถ้าระบอบการเมืองการปกครอง
อาจสร้างได้จากภูมิปัญญามนุษย์ ผู้เป็นรัฐบุรุษ
ก็มีปริศนาต่อมาว่า แล้วใครคือ รัฐบุรุษ?
ปริศนานี้เป็นคำถามเก่าแก่แต่โบราณอีกคำถามหนึ่ง ซึ่งนักรัฐศาสตร์ยุคปัจจุบัน
ก็ยังถามกันอยู่ แต่ โดยที่
นักรัฐศาสตร์ปัจจุบันมักจะระแวงสงสัยแนวคิดเรื่อง “รัฐบุรุษ” แต่ว่า ตั้งแต่โบราณมา รัฐศาสตร์จะว่าด้วย
“รัฐนาวา”(statecraft) ซึ่งก็ต้องมี
“รัฐบุรุษ”(stateman) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ
ถือหางเสือเรือรัฐนาวา คนโบราณคิดคำนึงกันว่า
เขาผู้นี้พึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
รัฐนาวา
กับพาหนะชนิดอื่น ต่างกันอย่างไร? รัฐบุรุษควรเป็นนักปรัชญา – อย่างที่ เพลโต
ว่าไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเชี่ยวชาญเรื่อง บทกวี คณิตศาสตร์ อภิปรัชญา(=ปรัชญาที่ว่าด้วยความจริงในธรรมชาติ -
metaphysics) หรือจะต้องเป็นอย่างของ อะริสโตเติล คือต้องมีประสบการณ์
มีทักษะอันมีประโยชน์ใช้สอย มีวิจารณญานคิดตัดสินใจ หรือจะต้องมีความโหดเหี้ยม ไม่เกรงกลัวต่อบาป
อย่างที่ มาเคียเวลลี ว่าไว้ จึงจะประคองรัฐนาวาได้ หรือต้องสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ได้
อย่างที่ รุสโซ ว่าไว้ หรือว่า
รัฐฎาธิปัตย์ จะมาจากระบบราชการ คล้าย ๆ พวกซีอีโอ ในธุรกิจ ตามที่ ฮ็อป ยืนยัน
ตำราที่จะอ่านกันในวิชานี้
ได้แก่ เดอะ รีปับบลิก, เดอะ โปลิติค, เดอะ ปรินซ์, เดอะ โซเชียล คอนแทร็ค, เหล่านี้ ล้วนมีความเห็นต่างกัน เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ถือพังงา
หรือถือบังเหียนหรือบริหารรัฐนาวา ณ
บัดนี้ จะเห็นได้ว่า ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาที่มีรูปธรรมเชิงปฏิบัติ
ไม่ได้มุ่งแต่ความคิดความอ่านแต่อย่างเดียว ปรัชญาการเมือง เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา
– advice giving นักปรัชญาการเมืองที่เราศึกษางานของท่าน
ไม่ใช่ฤษีชีไพรอยู่โดดเดี่ยวตามป่าเขา
แต่ต่างล้วนมีชีวิตเชิงปฏิบัติ เช่น เพลโต เคยเดินทางไกล ที่มีอันตราย
ถึงสามครั้งไปเกาะซิชิลี เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาพระราชาที่นั่น อะริสโตเติล ทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ของ
อะเล็กซานเดอมหาราช มาเคียเวลลี
ใช้เวลาในชีวิตหลายปีอยู่กับงานด้านต่างประเทศ ของเจ้าผู้ครองนครฟลอเรนซ์ และต่อมาได้เขียนงานเรื่อง
เดอะ ปรินซ์ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ตระกูลเมดิชิ ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในฟลอเรนซ์ ฮ็อป เป็นติวเตอร์แก่ราชสำนัก
และติดตามพระราชาอังกฤษ ลี้ภัยไปต่างประเทศ
ระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ ล็อค
ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับตระกูลที่ต้องหนีออกนอกประเทศ ข้อหารวมหัวกันจะล้มล้างกษัตริย์อังกฤษ รุซโซ ไม่มีเส้นสายเกี่ยวข้องทางการเมือง
แต่ก็เคยถูกทาบทามให้เขียนรัฐธรรมนูญให้แก่ โปแลนด์และคอร์ซิกา
ส่วน
ต็อควิลล์ เป็นสมาชิกสภาฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาศึกษา “ประชาธิปไตยอเมริกัน”
จะเห็นได้ว่า
นักปรัชญาการเมืองที่เราจะศึกษางานของท่าน
ต่างล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในยุคสมัยของท่าน ไม่มากก็น้อย
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความคิดและประสบการณ์ของท่านทั้งหลายเหล่านั้น
จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความคิดความอ่านของพวกเรา ว่า เราควรปกครองบ้านเมืองกันอย่างไร?
เนื่องจาก
ระบอบการเมืองการปกครอง(regime) มีส่วนในการสร้างอุปนิสัยใจคอ
วิถีชีวิต ของประชาชนพลเมือง ช่วยบ่งบอกให้รู้ถึง ความคิดความเชื่อของพวกเขา ว่า
พวกเขาเชื่อว่าอะไรที่มีส่วนมาช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขา มีคุณค่าน่าดำรงอยู่และดำเนินไป(What
they believe make their lives worth living?)
เพราะฉะนั้น การศึกษาระบอบการเมืองการปกครอง
จึงมีแนวโน้มที่จะนำเรา ก้าวไปสู่เรื่องระบอบการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ ได้รู้เรื่องระบอบการเมืองการปกครองหลาย
ๆ ระบอบ ที่แตกต่างกัน และแต่ละระบอบก็จะมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบอื่นที่ไม่เหมือนตัว
ปริศนาที่ซ่อนอยู่ลึก
ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ก็คือ สรุปแล้วระบอบไหน ดีที่สุด? ซึ่งคำถามนี้เป็นปริศนาพื้นฐานของการศึกษาปรัชญาการเมือง ตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งปัจจุบันและอนาคต(แม้กระทั่ง
ในนิยายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาปรัชญาการเมืองการปกครอง
ในโลกวิทยาศาสตร์นั้น ๆ หรือในยานอวกาศที่กำลังเดินทางข้ามเอกภพ ว่าจะเป็นอย่างไร?
– ผู้เรียบเรียงสรุปภาษาไทย)
สมัยโบราณ
สำหรับระบอบสาธารณรัฐ อะริสโตเติล เชื่อว่า สาธารณรัฐของชนชั้นผู้ลากมากดี เป็นดีที่สุด
(aristocratic republic) ขณะที่ในปัจจุบัน ในสหรัฐฯก็เชื่อว่า
สาธารณรัฐประชาธิปไตย ดีที่สุด (democratic republic) ซึ่งระบอบนี้เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทั่วไป
ไม่จำกัดชั้นชน ได้เข้ามาสวมตำแหน่งทางการเมือง ศ.สมิธ เห็นว่า
ระบอบที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องที่หนีไม่พ้น ได้แก่ ระบอบนั้นย่อมเล็งเห็นคุณค่า
ของคุณสมบัติ/คุณลักษณะบางอย่างบางประการของคน อันเป็นคุณลักษณะที่ระบอบเห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่
ดี เหมาะสม(character traits) เช่น ระบอบประชาธิปไตยเห็นคุณค่าคนสามัญทั่วไป
หรือ common man ส่วนระบอบชนชั้นผู้ลากมากดี ก็จะเห็นคุณค่าของคนที่มีรสนิยมและมีเงิน
บางระบอบอาจเห็นค่าของนักรบ และบางระบอบอาจเห็นค่าของนักบวช เป็นต้น
รัฐศาสตร์หนีไม่พ้นการศึกษาเรื่อง
ระบอบการเมืองการปกครอง “ที่ดี” เปรียบเทียบกับระบอบฯ “ที่เป็นอยู่” อะริสโตเติล แยกคนดีออกเป็น มนุษย์ที่ดี กับ
พลเมืองที่ดี (good human being กับ good
citizen) พลเมืองทีดีของระบอบฯต่างระบอบฯกัน ย่อมไม่เหมือนกัน
ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า พลเมืองที่ดีของประเทศอิหร่านปัจจุบัน
ย่อมผิดกับพลเมืองอเมริกันที่ดีในปัจจุบัน
อะริสโตเติล
เห็นว่า มนุษย์ที่ดี กับ พลเมืองที่ดี แตกต่างกัน
พลเมืองที่ดีขึ้นอยู่ระบอบการเมืองการปกครอง แต่ มนุษย์ที่ดี ถือว่าดีทั่วไป
ดีทุกที่ ไม่จำกัดระบอบฯ ถ้ามนุษย์ที่ดีพอใจกับระบอบฯ ก็ไม่ได้แปลว่า เพราะระบอบนั้นเป็นระบอบฯของเขา
หากว่าเป็นเพราะระบอบนั้นเป็น ระบอบที่ดี
เรื่องนี้ ศ.สมิธ ยกตัวอย่างความเห็นของประธานาธิบดี ลิงคอล์น ที่มีต่อ
นายเฮนรี เคลย์
He loves
his country partly because it was his own country, but mainly because it was a free country.
ซึ่งความเห็นนี้
ศ.สมิธ เชื่อว่าประธานาธิบดีลิงคอล์น มองเห็นความเป็นนักปรัชญาของ นายเคลย์ คือ นายเคลย์ เขาชอบที่จะมีความคิดความอ่าน
อันได้แก่ ความคิดเรื่องความเป็นอิสรเสรี ซึ่งความคิดนี้ ไม่ได้เป็นสมบัติของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
แต่เป็นความคิดที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งอยู่กับสังคมที่ดี ตามลักษณะนี้จึง ดูเหมือนว่า
มนุษย์ที่ดีน่าจะเป็นนักปรัชญา หรืออย่างน้อย ๆ ก็มีลักษณะบางอย่างเป็นปรัชญา แฝงอยู่ในตัวตน
และเขาจะอยู่อาศัยในระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดได้ ดุจจะเหมือนบ้านตัวเอง
ปัญหาก็คือ
ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด ไม่ได้มีรูปธรรมอยู่ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์
ทุกคนรู้ความจริงข้อนี้อยู่ในใจ คือจริง ๆ แล้ว ระบอบที่ดีที่สุดไม่เคยมีปรากฏมาก่อนเลย(It’s never existed.) เพราะฉะนั้น
นักปรัชญาจึงยากที่จะเป็นพลเมืองที่ดี ของระบอบการเมืองการปกครองจริง ๆ ใด ๆ
ได้ นักปรัชญายากที่จะรู้สึกว่าอยู่สบายกับบ้านเมืองใด
ๆ ศ.สมิธ สรุปว่า นักปรัชญาไม่อาจภักดีต่อระบอบใดได้จริง ยกเว้น ระบอบที่ดีที่สุด
ความที่ถ่างอยู่
ระหว่างระบอบที่ดีที่สุด กับ ระบอบที่เป็นอยู่จริง
ทำให้เกิดวิชาปรัชญาการเมืองการปกครอง
สมมติว่าระบอบที่ดีที่สุด เกิดขึ้นมาได้จริง เมื่อนั้น
วิชาปรัชญาการเมืองก็ไร้ประโยชน์ เพราะจะกลายเป็นการพูดจาซ้ำซากกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่แล้ว ปรัชญาการเมืองจะวางอยู่ระหว่าง “the is” กับ “the ought” หรือ “ความที่เป็นจริง” กับ “ความที่ควรจะเป็น” หรืออยู่ระหว่าง “the
actual” กับ “the ideal” หรือ “ปัจจุบัน” กับ “อุดมคติ”
ด้วยประการฉะนี้
การเรียนปรัชญาการเมืองจึงเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่บ้าง ผู้ที่ออกเดินทางแสวงหา
ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด อาจไม่ได้กลับมาเป็น “คนเดิม” แต่จะกลับมาพร้อมกับความภักดีอย่างใหม่
ผิดกับที่เคยมีแต่เดิม อย่างไรก็ดี
คุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการนี้ ก็มีอยู่ไม่น้อย
บรมครูชาวกรีกโบราณ อะริสโตเติล มีคำไพเราะใช้เรียก ความปรารถนาที่จะแสวงหาระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด
นี้ว่า EROS หรือ ความรัก
ศ.สมิธ กล่าวว่า นักศึกษาทั้งหลายอาจไม่ได้คิดมาก่อน ว่าในที่สุด
การศึกษาปรัชญาการเมือง อาจจะเป็นการยกย่องบูชาอย่างสูงที่สุด ต่อ ความรัก
-------------------------------------------------------------------------
Dan Bailé สรุปเป็นภาษาไทย
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี.
สมิธ มหาวิทยาลัยเยล ได้ที่
Introduction to Political Philosophy
บทความ เผยแพร่แล้วใน นิตยสาร MBA ฉบับ Jan-Feb 2016
Introduction to Political Philosophy
บทความ เผยแพร่แล้วใน นิตยสาร MBA ฉบับ Jan-Feb 2016