open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

HV 12/12 part 1 การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

อภิปราย - การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 12/12                     
--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล

                                                                                                          -- ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
Episode 12 part 1
---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

นักศึกษาหญิงชื่อ วิคตอเรีย ลุกขึ้นมาอภิปรายว่า รัฐไม่ควรสนับสนุนการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์-คาธอลิค(คือ ตามพระคัมภีร์)  แต่รัฐมีหน้าที่รับรองการอยู่ร่วมกันทางแพ่ง(civil union) หรือการอยู่ร่วมในทางอาณาจักร ไม่ใช่รับรองการอยู่ร่วมกันตามครรลองของพระคัมภีร์  เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันทางแพ่งทุกชนิด รวมทั้งระหว่างคนเพศเดียวกัน รัฐควรจะรับรองให้

                             ------------------------------------------------------

การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
Episode 12 part 1

          ถ้า หลักความยุติธรรมขึ้นอยู่กับ ศิลธรรม-หรือคุณค่าที่ก่อขึ้นจากสิทธิ  แล้วเราจะทำอย่างไร ในเมื่อผู้คนมีความคิดและมีแนวคิดเรื่องความดีหรือคุณค่า(ศิลธรรม)แตกต่างกัน? โดยที่ทุก ๆ คน ต่างก็มีสิทธิเหมือน ๆ กัน  กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธิที่ทุกคนมีอยู่เสมอภาคกันนั้น สามารถที่จะนำไปสู่ ข้อสรุปทางศิลธรรมที่แตกต่างกัน  

          นักศึกษาได้แสดงความเห็นอย่างมีชีวิตชีวา เกี่ยวกับการแต่งงานเพศเดียวกัน ว่าการอยู่กินฉันผัวเมียระหว่างเพศเดียวกัน (กฎหมายไทยเรียก การอยู่กินฉันสามีภริยา  ดูประมวลแพ่งฯ มาตรา 1461) ควรที่จะได้รับการรับรองว่า เป็น การสมรส ตามกฎหมายหรือไม่?

          เราจะสามารถตกลงเรื่องนี้กันได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางศิลธรรมของรักร่วมเพศ หรือของการแต่งงาน จะได้หรือไม่?

          [หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย – ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายไทย ประมวลแพ่งฯ มาตรา 1448 บัญญัติว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว..... ให้สังเกตว่า ตัวบทได้บัญญัติเรื่องการแต่งงานโดยกำหนดเพศมาด้วย ว่า ชายและหญิง ]

          ศ.แซนเดล เปิดการบรรยายตอนสุดท้ายนี้ว่า ครั้งที่แล้วเราได้พูดถึง ตำนานหรือเรื่องราวแห่งความเป็นตัวเป็นตนของคน – the narrative conception of the self  โดยเราได้ทดสอบ ความคิดเรื่องตำนานแห่งตัวตนของคน และแนวคิดเรื่องหนี้ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือหนี้สมาชิกภาพ  อันเป็นหนี้ที่อ้างเหตุผล หรืออ้างความถูกต้อง ที่อยู่นอกเรื่องนิติกรรมสัญญา  อีกนัยหนึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ใช่ผลจากการแสดงเจตนาของบุคคล แต่เป็นหนี้ชนิดพิเศษ

          เราได้อภิปรายกันมาว่า หนี้ประเภทนั้น มีด้วยหรือ? 

          หรือว่า เราจะสามารถตีความได้ว่า หนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ  ก็เกิดจากความยินยอม หรือเกิดจากการต่างตอบแทน หรือเกิดจากหน้าที่อันเป็นสากลของสภาพความเป็นคน  เพราะว่าหนี้ประเภทนี้-อย่างน้อย-ก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนาน-หรือเรื่องราวแห่งความเป็นตัวเป็นตนของคน?

        แล้วก็มีผู้ลุกขึ้นมาอภิปราย ปกป้องความคิดเรื่องความภักดีและชาตินิยม  ซึ่งทำให้แนวความคิดเรื่องความภักดี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และสมาชิกภาพ  ดูเหมือนว่าจะมีพลังทางศิลธรรมขึ้นบ้าง  แล้วในตอนท้าย—เราก็ได้ชมคลิปภาพยนตร์สารคดี ช่วงทศวรรษที่ห้าสิบ เกี่ยวกับชาวใต้ผู้นิยมการแบ่งแยกผิว(southern segregationist)  ตัวแทนคนเหล่านั้นพูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเขา ประวัติศาสตร์ของพวกเขา ตลอดจนการที่เอกลักษณ์และตำนานชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์  แล้วด้วยการอ้างขนบธรรมเนียมและความผูกพันเชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว  พวกเขาก็สรุปว่า เราต้องปกป้องวิถีชีวิตของเรา (หมายถึง ธำรงไว้ซึ่งการแบ่งแยกผิว หรือเห็นว่าการแบ่งแยกผิวเป็นเรื่องที่ดี) 

          ประเด็นนี้—ทำให้เกิดการประท้วงต่อแนวคิดที่ว่า ความเป็นตัวตนของมนุษย์เกิดจากเรื่องราวหรือตำนานในอดีต  คือเกิดปริศนาขึ้นมาถามว่า จริงหรือว่าเป็นเช่นนั้น?  และนั่นคือคำถามที่เราค้างกันไว้ในการบรรยายครั้งก่อน     

          สำหรับครั้งนี้ ศ.แซนเดล ได้ผลักดันการให้เหตุผลต่อไป  โดยกำหนดประเด็นชัดเจนว่า ท่านต้องการหาเหตุผลมาปกป้องแนวคิด เรื่องความเป็นตัวตนของคน-อันกำเนิดขึ้นจากตำนานหรือเรื่องราวในอดีต - the narrative conception of the self  ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเรื่องความเป็นตัวตน ที่เกิดจากการแสดงเจตนา - voluntarist conception of self

          ศ.แซนเดล ปรารถนาจะปกป้องความคิดที่ว่า หนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ-มีจริง และเมื่อหนี้ชนิดนี้มีจริง ก็จะส่งผลเสริมพลังให้กับความยุติธรรมอีกด้วย--ในแง่ที่ว่า การให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรม จะแยกออกไม่ได้จากเรื่อง “ความดี(the good)” อันเนื่องด้วยการมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง หรือในบ้านเมือง

          ศ.แซนเดล ต้องการจำแนกทางพิจารณาเรื่องความดี(-อันเนื่องด้วยการมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง) – หรือ “the good” ออกเป็นสองทาง  แล้วหาเหตุผลสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง เพียงทางเดียว

          แนวคิดเรื่อง ความเป็นตัวตนที่เกิดจากเจตนา  ของคานต์และรอลส์ มีแง่มุมที่น่าเลื่อมใสอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีลักษณะเป็นสากล—กล่าวคือ ไม่เลือกปฏิบัติ  แต่จะปฏิบัติต่อทุกคนเสมอภาคกัน ปราศจากอคติ ปราศจากความเดียดฉันท์  ซึ่งศ.แซนเดลเห็นว่า ลักษณะอันเป็นสากลนี้เป็นเหตุให้บางคนในหมู่พวกเรา พากันเห็นด้วยว่า หนี้สมาชิกภาพอาจจะมีอยู่จริง แต่ถึงอย่างไร ก็จะมี “ศักดิ์” ต่ำกว่าพันธะกรณี(อันเป็นสากล)ที่เรามีต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นพันธะชนิด “ไม่เลือกปฏิบัติ”

          แต่ จริงหรือว่า จะเป็นเช่นนั้น?

          ถ้าหากว่า ความภักดีชนิดปกแผ่ไพศาลของเรา(เป็นสากล) จะต้องมี “ศักดิ์” สูงกว่าความภักดีระดับแคบเฉพาะเจาะจง(หนี้สมาชิกภาพ)  เมื่อนั้น ความแตกต่างระหว่างเพื่อนกับคนแปลกหน้าก็จะหายไป  เยื่อใยความอนาทรที่มีต่อเพื่อน จะมีฐานะเป็น “ความเดียดฉันท์” ชนิดหนึ่งไปโน่นเลย  ศ.แซนเดลตั้งคำถามว่า เราลองจินตนาการดูทีหรือว่า สังคมที่ยึดถือข้อศิลธรรมชนิดนั้น จะเป็นฉันใด? (สังคมที่มิตรสหายกับคนแปลกหน้า มีค่าเสมอกันหมด)

          ประเด็นนี้ ศ.แซนเดล ซึ่งปกติจะไม่อ้างปราชญ์ฝรั่งเศส-ยกเว้นเรื่องปลีกย่อย แต่ตรงนี้ ศ.แซนเดล ยก ม็งเตสกิเออ ขึ้นมาอ้างว่า ม็งเตสกิเออ กล่าวไว้ว่า (ที่เวลาวีดีโอ 5:18)

                   “คนดีจริง ย่อมวิ่งเข้าไปช่วยเหลือคนแปลกหน้า
                   ซึ่งตนไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย
                    ไวเท่ากับที่วิ่งเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนฝูง”

                   “A truly virtuous man would come to
                   the aid of the most distant stranger
                   as quickly as to his own friend.”

                                                Montesquieu

และ ม็งเตสกิเออ ทิ้งท้ายว่า

                   “ถ้าคนเรา เป็นคนดีสมบูรณ์แบบ
                   ก็แปลว่า เขาจะไม่มีเพื่อน”

                   “If men are perfectly virtuous, they
                   wouldn’t have friends.”

                                                --Montesquieu

          [หมายเหตุ – ตรงนี้เรียกเสียงหัวเราะหึ ๆ และรอยยิ้มขำ จากนักศึกษาหลายคน]

          ยากอยู่นะ ที่เราจะจินตนาการเห็นโลกที่เต็มไปด้วย “คนดี” อย่างที่ ม็งเตสกิเออว่าไว้  คือ โลกที่คนไม่มีเพื่อนฝูงมิตรสหาย  มีแต่ “ไมตรีจิต” เป็นจิตสากล รักคนเท่า ๆ กันหมดทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หันไปทางไหน ต่างคนต่างก็แจกยิ้ม ๆ ๆ ๆ ๆ ให้กัน (คล้าย ๆ หมู่บ้านคนสติไม่เต็มเต็ง)  ศ.แซนเดลกล่าวว่า โลกแบบนั้นยากที่จะเป็นจริง  และคงไม่ใช่โลกมนุษย์

          ปรัชญาตะวันตกเห็นว่า ความรักต่อมนุษย์ชาติเป็นความรู้สึกสูงส่ง – noble – แต่ขณะเดียวกัน คนเราก็มีชีวิตส่วนมากอยู่กับความรักภักดีในวงแคบ ๆ  ประเด็นนี้ทำให้ดูเหมือนว่า ศิลธรรมเรื่องการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์(sympathy)ของตะวันตก จะมีขอบเขตจำกัด คือ คนเราจะมีขีดความสามารถเห็นอกเห็นใจได้ ก็เฉพาะแต่คนในแวดวงชุมชนที่เราสังกัดเท่านั้น จะให้เราเห็นใจคนที่สุดขอบฟ้าคงจะยาก (เพราะฉะนั้น ความรักต่อมนุษย์ชาติ จึงเป็นสิ่งสูงลิบ) 

          แต่ที่สำคัญก็คือ เรื่องนี้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า เราเรียนรู้ที่จะรักมวลมนุษย์ชาติในวงกว้าง ก็โดยเรียนไปจากความรู้จักรักภักดีในวงแคบ  

          อนึ่ง ศ.แซนเดลย้ำกับนักศึกษาว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่เราได้อภิปรายกันมา ก็มีฐานะเพียง“ข้อพิจารณา” เท่านั้น ไม่ใช่การฟันธง  ปรัชญาเรื่องศิลธรรม(moral philosophy)ไม่สามารถจะฟันธงเรื่องใด ๆ ได้  จะเสนอ(สอนและอภิปราย)กันได้เฉพาะในแง่ของการเป็น ”ข้อพิจารณา” ข้อหนึ่งเท่านั้น

          สมมติว่า การอ้างเหตุผลว่า มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะรักมนุษย์ชาติ มาจากการรู้จักรักภักดีในวงแคบ ๆ ก่อน สมมติว่านั่นเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง  ทีนี้ล่ะ เราก็จะพบกับข้อกังขาข้อใหญ่เกี่ยวกับความยุติธรรม คือว่า ความยุติธรรมจะผันแปรไปตามสังคมต่าง ๆ  สังคมใดเห็นว่าความยุติธรรมคือฉันใด ความยุติธรรมก็จะต้องเป็นไปฉันนั้น 

          ศ.แซนเดลขอให้นักศึกษา ลองย้อนไปพิจารณาพวกแบ่งแยกผิวทางใต้  คนพวกนั้นเขาอ้างความสำนึกในประวัติศาสตร์ของเขา  แล้วเรารู้สึกนิยมยกย่องคุณสมบัติข้อนี้ของพวกเขาหรือไม่?  คนพวกนั้นเขาประสงค์ที่จะปกป้องอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี และความคิดความอ่านของเขา  ในเมื่อเรายอมรับเรื่องหนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และหนี้สมาชิกภาพ ก็เท่ากับเราผูกพันกับคุณความดีประเภทที่เห็นว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องคล้อยตามธรรมเนียมท้องที่ ซึ่งหมายความว่า เราก็ต้องเห็นด้วยกับพวกคนใต้ที่แบ่งแยกผิว   

          เกี่ยวกับการพิจารณาความยุติธรรม เมื่อผูกเข้ากับคุณงามความดี(the good)—ที่คล้อยตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมนั้น ๆ ยึดถือ  เรามีทางพิจารณาความยุติธรรมเป็นสองทาง ทางหนึ่งเป็นทางสัมพัทธ์--คือขึ้นต่อกันหรือโยงกันอยู่--แนวคิดแบบสัมพัทธ์เห็นว่า สิทธิก็ดี ความยุติธรรมก็ดี จะต้องโยงสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมที่สังคมในขณะนั้นยึดถือว่าดี  และเราต้องไม่นำมาตรฐานจากภายนอก เข้าไปเป็นเครื่องพิจารณาตัดสิน

          ข้อเสียของแนวคิดความยุติธรรมเชิงสัมพัทธ์ ก็คือ ความยุติธรรมจะกลายเป็นผลจากสถานการณ์แวดล้อม  ซึ่งทำให้ความยุติธรรมขาดคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งของความยุติธรรมไป อันได้แก่ ความเที่ยง ความที่ไม่เอนเอียง

          แนวคิดที่สอง ซึ่งความยุติธรรมสามารถที่จะผูก หรือพันเข้ากับคุณงามความดี(ในสังคม-บ้านเมือง)ได้ โดยที่จะไม่ใช่แนวคิดชนิดสัมพัทธ์เหมือนกับแนวแรก  เพราะว่า ตามแนวที่สองนี้หลักยุติธรรมไม่ขึ้นกับค่านิยมที่ครอบสังคมอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง  แต่ว่าความยุติธรรมขึ้นอยู่กับคุณค่าทางศิลธรรม หรือคุณงามความดีบั้นปลาย ที่สิทธิ-สนองรองรับอยู่     

          แนวคิดเรื่องสิทธิ ที่มิใช่แนวคิดเชิงสัมพัทธ์นี้ หมายความว่า ในอุทาหรณ์ที่เราหยิบขึ้นมาสาธก(ศึกษา) สิทธิจะต้องให้เกียรติ เคารพ หรือผลักดันคุณงามความดีที่สำคัญบางอย่างของมนุษย์  วิธีคิดอย่างนี้จะไม่ปล่อยให้สังคม-ชุมชน-บ้านเมือง(community)แต่ละแห่ง นิยามความยุติธรรมกันเอาเอง  

          ศ.แซนเดล เสนอว่าระหว่างแนวคิดสองแนว เพื่อเชื่อมความยุติธรรมเข้ากับคุณงามความดี(ของสังคม-บ้านเมือง) แนวคิดเชิงสัมพัทธ์ ยังบกพร่อง ยังไม่เพียงพอ เพราะปล่อยให้ความยุติธรรมขึ้นอยู่กับว่า สุดแล้วแต่ค่านิยมหลักในสังคมใดจะคิดเห็นอย่างไรในขณะนั้น  แนวคิดเชิงสัมพัทธ์จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่เราได้อย่างเพียงพอ พอที่--เราได้จะตอบ/โต้แย้งกับพวกแบ่งแยกผิวทางภาคใต้ ซึ่งพวกนั้นอ้างวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี มาเป็นเครื่องสนับสนุน

          ในแนวที่สอง  ความยุติธรรมผูกอยู่กับคุณงามความดี  แต่ก็เกิดปัญหาว่า - แล้วอย่างไรจึงเป็นคุณงามดี ที่ว่าดีนั้นคืออย่างไร?  แล้วถ้าในสังคมคนคิดต่างกันเล่า? คุณงามความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สถาบันต่าง ๆ ทางสังคม(สถาบัน หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณี)ที่เป็นสถาบันหลัก ก็จะมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกันในความเข้าใจของคนแต่ละคน  คนแต่ละคนมีความคิดต่างกันว่า ความดีเชิงสังคมความดีใด กับ ความดีเชิงมนุษย์ชนิดใด จะสมควรได้รับการยกย่องให้เกียรติ สรุปแล้ว ที่ว่าดีนั้นคืออย่างไร?   

          เราอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยความหลากหลาย ซึ่งคนมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคุณงามความดี  ด้วยเหตุนี้เองที่เราได้แรงจูงใจอีกแรงหนึ่ง เพื่อพยายามแสวงหาหลักยุติธรรมและสิทธิ ที่ไม่ขึ้นกับผลบั้นปลาย(telos หรือ dominant end) หรือขึ้นกับวัตถุประสงค์ หรือขึ้นกับคุณงามความดีประการใดประการหนึ่งเพียงประการเดียว 

          ปริศนามีว่า แล้วเราจะมีหนทาง ที่จะแสดงเหตุผล เกี่ยวกับคุณงามความดี หรือไม่? 

          แต่ก่อนที่จะหาทางตอบคำถามนั้น ศ.แซนเดลบอกว่า ท่านต้องการตอบคำถามที่ง่ายกว่านั้นสักคำถามหนึ่ง คือคำถามที่ว่า จำเป็นด้วยหรือ ที่เวลาเราอ้างเหตุผลเรื่องความยุติธรรม เราจะต้องอ้างเหตุผลเรื่องคุณงามความดี?  คำตอบของศ.แซนเดล คือ จำเป็น และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
          การให้เหตุผลเกี่ยวกับคุณงามความดี/วัตถุประสงค์/ผลบั้นปลายของสังคม(dominant end) เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราจะพูดถึงความยุติธรรม  ดังนั้น ศ.แซนเดล จึงจะยกกรณี การแต่งงานเพศเดียวกัน ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์

          การแต่งงานเพศเดียวกัน เป็นแนวคิดที่ยังโต้เถียงกันอยู่ในสังคม(อเมริกัน) ทั้งในแง่ศิลธรรมและศาสนา  ประเด็นนี้จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทรงพลัง ที่เราจะได้ลองค้นคิด แสวงหาหลักยุติธรรม และหลักเรื่องสิทธิ ชนิดที่ไม่ต้องอ้างอิงอาศัยสังคมส่วนรวม เป็นตัวคอยพิพากษาตัดสิน  ประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่นี้ ได้แก่ เรื่องการปล่อยปละละเลยเชิงศิลธรรมเกี่ยวกับรักร่วมเพศ กับเรื่องวัตถุประสงค์บั้นปลายของการแต่งงาน ในฐานะสถาบันทางสังคม(คือ telos หรือ dominant end ของการสมรส)

          ศ.แซนเดลเห็นว่า ถ้าเราหาทางออกเรื่องการนิยาม-กำหนดสิทธิมนุษย์ได้ โดยไม่ต้องไปอ้างอิงอาศัยสังคมส่วนรวม มาคอยกำกับข้อพิพาททางศิลธรรมและทางศาสนา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และน่ายินดี

           กรณีการแต่งงานเพศเดียวกัน จึงถูกยกป็นอุทาหรณ์ เพื่อลองคิดกันดูว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะ แยก การพิจารณาเกี่ยวกับ ประเด็นศิลธรรมเรื่องรักร่วมเพศ กับ เรื่องวัตถุประสงค์บั้นปลายของการแต่งงาน  ออกเสียจาก  ประเด็นเรื่อง รัฐควรรับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน

          ศ.แซนเดล เริ่มเปิดการอภิปราย ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วย กับการแต่งงานเพศเดียวกัน โดยที่ฝ่ายนี้เห็นว่า รัฐควรรับรองการแต่งงานเฉพาะระหว่างชายกับหญิง

          นักศึกษาชื่อ มาร์ค ลุกขึ้นอภิปราย คล้อยตามลักษณะการให้เหตุผลแบบ teological reasoning ของ อะริสโตเติล (ซึ่งให้เล็งวัตถุประสงค์ ธรรมชาติ ธาตุแท้ หรือ telos หรือ dominant end ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ว่ามีอยู่เพื่ออะไร เช่น ขลุ่ยที่ดีที่สุด ย่อมมีไว้เพื่อคนเป่าขลุ่ยที่มีฝีมือที่สุด – โปรดกลับไปอ่านบท “พลเมืองที่ดี คือ อย่างไร” episode 10 part 1 – ผู้สรุปภาษาไทย) วัตถุประสงค์ ธรรมชาติ ธาตุแท้ ของการแต่งงานนั้น สำหรับตัวเขาซึ่งเป็นชาวคริสต์และเป็นคาธอลิค ถือว่าวัตถุประสงค์ของกามารมณ์ – the purpose of sex – เป็นไปเพื่อ หนึ่ง.ให้กำเนิดบุตร สอง.ผูกพันชายหญิงไว้ด้วยกันในสถาบันการแต่งงาน(สถาบัน=ธรรมเนียมประเพณี สถาบันการแต่งงาน=ธรรมประเพณีการอยู่กินร่วมกันระหว่างชายหญิง ด้วยการแต่งงาน)  การที่สังคมส่วนรวม-บ้านเมือง รับรองการแต่งงานให้ ก็ด้วยเหตุที่เป็นการแสดงความเคารพต่อ วัตถุประสงค์-ธรรมชาติ-ธาตุแท้ ดังกล่าว

          นักศึกษาชื่อ ไรอัน เห็นด้วยกับ มาร์ค และเห็นเพิ่มเติมว่า แนวคิดเรื่องการแต่งงาน เกี่ยวข้องกับการมีบุตร  ส่วนการที่คนรักร่วมเพศจะอยู่ด้วยกัน นายไรอันบอกว่า เขาไม่ขัดข้อง และยังเห็นว่าสังคมทำผิด ถ้าจะไปตีตราให้การอยู่ร่วมกันฉันผัวเมียของคนเพศเดียวกันเป็นการผิดกฎหมาย  แต่เขาก็เห็นว่า รัฐไม่ควรส่งเสริมการอยู่กินระหว่างคนรักร่วมเพศ ด้วยการรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน

          ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยลุกขึ้นแสดงเหตุผลบ้าง โดยนักศึกษาหญิงชื่อ ฮานา ยกอุทาหรณ์ถามนายมาร์คว่า ถ้าคุณแต่งงานเป็นทางการกับหญิงที่คุณรู้ภายหลังว่า ไม่สามารถจะมีบุตรได้ แล้วการที่คุณยังคงมีเพศสัมพันธ์กับเธอ คุณกำลังทำผิดกฎหมายหรือเปล่า?

          ซึ่งนายมาร์ค ตอบว่า กามารมณ์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เดียวเรื่องให้กำเนิดบุตร เช่น ชายอายุมากอาจแต่งงานกับหญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็ยังได้.....(ตามวัตถุประสงค์ที่สอง. กามารมณ์เป็นเครื่องผูกพันชายหญิง)

          น.ศ.หญิง กล่าวว่า เธอไม่อยากที่จะไม่สุภาพ แต่ขอถามนายมาร์คสักคำ ว่าเคยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง บ้างหรือเปล่า? 

          คำถามนี้เรียกเสียงเฮฮา จากนักศึกษาทั้งห้อง และสร้างความอึกอัก อิหลักอิเหลื่อ แก่นายมาร์ค  ศ.แซนเดล ต้องเข้ามาเป็นคนกลาง แจ้งแก่นายมาร์คว่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนั้น  และปรามน.ศ.หญิงว่า ขอให้เปลี่ยนสรรพนามเป็นบุรุษที่สาม(คือ อย่าพูดตอบโต้กับบุรุษที่สอง-คือ นายมาร์ค) ขอให้เธอตั้งเป็นข้อสังเกต เป็นกรณีทั่วไป-ไม่ใช่เป็นกรณีเฉพาะบุคคล

          น.ศ.หญิง จึงแถลงว่า ตามพระคัมภีร์—biblicly--การสำเร็จความใคร่(masturbation)ผิดศิลธรรม  เพราะว่าเป็นการทิ้งน้ำเชื้อลงกับพื้น ไม่นำไปสู่การกำเนิดทารก หรือเพื่อผูกพันคู่แต่งงานไว้ในการสมรส  เธอจึงมีข้อสงสัยว่า จะมายกเว้นว่าการสำเร็จความใคร่ดัวยตนเองไม่ผิดศิลธรรมได้อย่างไร ก็ในเมื่อกิจกรรมนี้ไม่ก่อกำเนิดบุตร

[หมายเหตุ ของผู้สรุปภาษาไทย – พระคัมภีร์ จารไว้ว่า

          Genesis 38:8-10 – “Then Judah said to Onan, ‘Lie with your brother’s wife and fulfill your duty to her as a brother-in-law to produce offspring for your brother.’ But Onan knew that the offspring would not be his; so whenever he lay with his brother’s wife he spilled his semen on the ground to keep from producing offspring for his brother. What he did was wicked in the Lord’s sight; so he put him to death also.”

          แปลโดยผู้สรุปภาษาไทย – “แล้วยูดาห์บอกแก่โอนันว่า จงหลับนอนกับภรรยาพี่ชายเจ้า แล้วทำหน้าที่ของเจ้าต่อเธอ ในฐานะน้องเขย เพื่อให้กำเนิดทายาทสำหรับพี่ชาย’  แต่โอนันรู้ว่าทายาทนั้นย่อมไม่ใช่บุตรตน  ดังนั้น คราใดที่เขาหลับนอนกับภรรยาพี่ชาย เขาจะทำน้ำอสุจิหกทิ้งกับพื้น เพื่อไม่ให้ก่อกำเนิดทายาทแก่พี่ชาย  พระเจ้าเห็นว่า การกระทำของเขาชั่วร้าย พระเจ้าจึงฆ่าเขาเสีย”

          นักศึกษาหญิง ฮานนา เธออ้างพระคัมภีร์ไบเบิล โดยชี้จุดนี้ คือ เรื่องที่โอนันทิ้งน้ำเชื้อลงกับพื้น Genesis 38:8-10  ซึ่งชาวคริสต์จำนวนมาก จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นสาธกเป็นอุทาหรณ์ เป็นหลักฐาน ว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองผิดศิลธรรม (คือ-ผิดบัญชาหรือเจตนาพระเจ้า)

          อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชาวคริสต์อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วย โดยแสดงเหตุผลว่า โอนันไม่ได้กระทำการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  เพราะเขาประกอบเพศสัมพันธ์ตามปกติกับพี่สะไภ้  เพียงแต่ว่าเมื่อใกล้ถึงจุดสุดยอด(ไคลแม็กซ์)  เขาถอนอวัยวะออกจากช่องคลอด มาหลั่งทิ้งลงกับพื้น  พฤติกรรมเช่นนี้ทางวิชาการเรียกว่า coitus interruptus หรือการขัดจังหวะกิจกรรมเพศสัมพันธ์  ไม่ได้เรียกว่า masturbation หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง–จบหมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย ]


          นายมาร์ค กล่าวว่าสถาบันการแต่งงานนั้น สังคมมีไว้เพื่อสนับสนุนข้อศิลธรรมก็จริงอยู่  แต่มนุษย์เราทุกคน คงไม่สามารถปฏิบัติตนได้สมบูรณ์เต็มตามข้อศิลธรรม (we fall short…..)  เราต่างก็บกพร่อง มากน้อย ในข้อใดข้อหนึ่ง  แต่การพร่องดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นเหตุมายับยั้ง ตัดสิทธิ ไม่ให้คนอ้างเหตุผลสนับสนุนศิลธรรมข้อนั้น
          นักศึกษาหญิงชื่อ วิคตอเรีย ลุกขึ้นมาอภิปรายว่า รัฐไม่ควรสนับสนุนการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์-คาธอลิค(คือ ตามพระคัมภีร์)  แต่รัฐมีหน้าที่รับรองการอยู่ร่วมกันทางแพ่ง(civil union) หรือการอยู่ร่วมในทางอาณาจักร ไม่ใช่รับรองการอยู่ร่วมกันตามครรลองของพระคัมภีร์  เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันทางแพ่งทุกชนิด รวมทั้งระหว่างคนเพศเดียวกัน รัฐควรจะรับรองให้

          [ข้อสังเกตของผู้เขียนสรุปภาษาไทย – ญี่ปุ่นใช้วิธีนี้  เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลางปีพ.ศ.2558 ญี่ปุ่นออกกฏหมายรับรองการอยู่ร่วมกัน ของคนเพศเดียวกัน]

          นักศึกษาหญิงชื่อเซซานน์ อภิปรายว่า รัฐไม่ควรมายุ่งเกี่ยวเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ  การอยู่กินร่วมกันระหว่างชายหญิงก็ดี ชาย-ชายก็ดี หรือหญิง-หญิงก็ดี เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรต้องมาอนุญาต หรือสอดแทรกเข้าไปให้การรับรอง  และการรับรองของรัฐ เธอเห็นว่า ก็ไม่ได้ช่วยผูกพันคู่ชีวิตหรือเป็นการอนุเคราะห์เด็ก(บุตร)แต่ประการใด

          ประเด็นนี้ จะได้อภิปรายกันต่อไป ในการบรรยายตอนที่ 12 ครั้งที่ 2


-------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 12/12 part 1
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 12 เชิญตามลิงก์ครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น