แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ประสบการณ์และข้อมูลการเรียนภาษา
ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อมิตรสหาย
ที่กำลังเรียนภาษาอินโดฯ หรือภาษาอื่น ๆ
ผ่านไปอีก 15 บท รวมกับที่เรียนไปแล้ว 35 บท เป็น 50 บท เริ่มเรียน ธันวาคมปีที่แล้ว (2557)
ถึงบัดนี้ - ธันวาคม 2558
เวลาผ่านไปแล้วหนึ่งปีเต็ม
ๆ
ยังเหลือบทเรียนตามหลักสูตรอีก
90 บท ในระยะหลังนี้
การเรียนยากขึ้น ไม่สามารถเรียนได้สัปดาห์ละบทเหมือนเมื่อรายงานครั้งแรก ต้องใช้เวลาประมาณบทละสองสัปดาห์ หรือกว่านั้น เพราะฉะนั้น คงต้องใช้เวลาเรียนอีกราว 180
สัปดาห์ หรือประมาณอีกสามปีครึ่ง จะจบหลักสูตร ประมาณปี 2562
อย่างไรก็ดี
นี่เป็นประสบการณ์ของคนไม่มีพรสวรรค์เรื่องการเรียนภาษา มีแต่ “พรแสวง” คือมุมานะลูกเดียว
สำหรับผู้ที่ถนัดเรื่องนี้
คงไม่ต้องใช้เวลานานอย่างผู้เขียน
เพลง - อินโดเนเซีย รายา
ศิลปิน - เฟลิเป วัลเดส(ฝรั่ง พูดอินโดฯได้)
เวลานี้ รู้ศัพท์แล้วประมาณ
500 คำ(ตามทฤษฎี) และตามทฤษฎีท่านว่า
จะต้องรู้ศัพท์ราว ๆ 1,500 – 2,000 คำ จึงจะใช้ภาษาได้ในระดับพื้น ๆ ก็แปลว่า หนทางยังอีกยาวไกล.....คิดเป็นคำ ก็จะนานถึงพันคำหรืออีกสองปีเต็ม
ถือว่าเพิ่งจะเริ่มหัดเดินได้ไม่เท่าไรเลย
บทเรียนช่วงที่เพิ่งผ่านไปแล้วนี้
นอกจากจะได้ขยายวงคำศัพท์ เช่น ก็อมปอรฺ – เตา เกอบุน – สวน เจินเดอลา
– หน้าต่าง และชอบสุด รูมาหฺ กิตา – บ้านเรา เป็นต้น ได้เรียนถ้อยคำสำนวน หรือ usages ต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน เช่น เบอรับปะ ฮารฺกานยา
– ราคาเท่าไร มาฮัล – แพง บารู – ใหม่ (เพราะฉะนั้น โกตา บารู
เมืองหลวงของ รัฐกลันตัน ในมาเลเซีย
จึงแปลว่า เมืองใหม่ นานมาแล้วมีเพื่อนคนหนึ่ง
ไปเที่ยวมาเลเซียด้วยกัน เรียกเมือง โกตา บารู ว่า “กัวเตมาลา” มึน!) และสำนวนการใช้ภาษา เช่น บุหงา อินี่ บุหงา
อะปา? ดอกไม้นี้ ดอกไม้อะไร? ตลอดจน รูมะห์ อีตู้ รูมะห์ สิยับปะ? บ้านนั้น บ้านของใคร? เป็นต้น
เรียนไวยากรณ์เพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ เหตุที่ภาษาอินโดเนเซีย ไม่มี Verb
to be ประโยคที่นักภาษาเรียกว่า ประโยครูปสมการ(equational
sentence) ซีกซ้ายเท่ากับซีกขวา เช่น “เขา เป็น ครู” โดยที่ ซีกซ้าย “เขา” คือ หัวข้อเรื่อง
และซีกขวา “ครู” คือ ภาคขยาย
ภาษาอินโดฯจะพูดว่า “เขา ครู” โดยไม่มีกิริยา เป็น-อยู่-คือ หรือ Verb
to be มากั้นกลาง หรือจะนำภาคขยายขึ้นก่อนก็ได้ แล้วค่อยตามด้วยหัวข้อเรื่อง
โดยพูดว่า “ครู เขา” คนอินโดฯก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า
เขาเป็น ครู สำหรับประโยครูปสมการนี้
เราสามารถกลับซ้ายกลับขวาได้เสมอ โดยที่ความหมายยังคงเดิม
แต่ ถ้าจะพูดอย่างหลัง ต้องมีเทคนิคเล็กน้อย
คือครูบอกว่า เราต้องหยุดระยะนิดนึง “ครู-เว้นระยะอึดใจหนึ่ง-เขา”
สำหรับกรณีแรก
ที่พูดว่า “เขา ครู” นั้น หากต้องการความชัดเจนขึ้น ท่านให้ใช้คำว่า “อิ ตู้” เข้ามาเสริมหลังคำว่า
เขา โดยพูดว่า “เขา อิตู้ ครู” หรือพูดว่า
กรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ “บางกอก อิตู้ เบอะซารฺ” คำว่า อิตู้ ปกติเมื่อทำหน้าที่ตามไวยากรณ์(grammatical
function) หมายความว่า นั่น นั้น โน่น แต่เมื่อมาทำหน้าที่แสดงความหมาย(semantic
function) ก็จะไม่มีความหมายอะไร
เป็นเพียงคำมาช่วยคั่น ระหว่าง “หัวข้อ” กับ “ภาคขยาย”
ในประโยคชนิดที่เป็นประโยคสมการ
ถ้าจะพยายามทำความเข้าใจตามคนพูดไทย ผู้เขียนเข้าใจเอาเอง ไม่รับรองความถูกต้อง
คือเข้าใจว่า จะคล้าย ๆ กับคำว่า “เนี่ยะ”
เช่น เขา เนี่ยะ ครู หรือ กรุงเทพฯ
เนี่ยะ ใหญ่
นั่นคือบทบาทของ
“อิตู้” ที่เป็น grammatical function และที่เป็น semantic
function ครูท่านแหย็ม ๆ
มาให้เรารู้เรื่องนี้เพื่อเตือนว่า อย่าได้นำไวยากรณ์อังกฤษเข้ามาจับภาษาอินโดฯเด็ดขาด ลึก ๆ ลงไปแล้ว มันคนละเรื่องคนละราวกัน และภาษาอินโดฯไม่ได้ง่ายอย่างที่นึก
เล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวช่วยเรียน คือ แอป ANKIDroid ที่จริงตัวช่วยตัวนี้ก็คือ
FLASH CARD หรือบัตรคำศัพท์ ที่นักเรียนภาษาทั้งหลายคุ้น ๆ
กันอยู่ แต่ว่า เป็นบัตรคำศัพท์ที่พัฒนาไปไกล
ประกอบด้วย features หลายอย่างที่จะช่วยความจำ มิตรสหายผู้ที่ใหม่กับเรื่องนี้
คงต้องใช้เวลาศึกษาคุณลักษณะต่าง ๆ ของแอป เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพิ่มเติม - สำหรับนักเรียนกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าแอปนี้
น่าจะใช้ช่วยจำ มาตราได้ด้วย เพราะเห็นนักเรียนกฎหมายหลายคน
ใช้ FLASH CARD ช่วยจำมาตรา
ที่ผ่านมา
แอปตัวช่วยเรียนอีกตัวหนึ่ง คือ กูเกิ้ล ทรานสเลเตอร์ ปรากฎว่าผู้เขียนไม่ค่อยได้ใช้ เพราะว่า ใช้วิธีเปิดดิคแบบดั้งเดิมสะดวกกว่า ดิคที่ใช้อยู่เป็นพจนานุกรมเบื้องต้น สำหรับคนเริ่มเรียน
ชื่อ Pocket Indonesian Dictionary ของ Tuttle สั่งซื้อจาก อะเมซอนดอทคอม จำนวนคำ 15,000 คำ
เพลงที่ชอบในระยะนี้ คือเพลง
เบิงกาวัน โซโล (แม่น้ำโซโล บนเกาะชวา) กับเพลง ไรว้น ปูโล กะละปา (=เสน่ห์อินโดเนเซีย แปลตรงตัวว่า เสน่ห์หมู่เกาะต้นมะพร้าว) และเพลง อินโดเนเซีย รายา
(เพลงชาติอินโดฯ) ส่วนละครโทรทัศน์
ซึ่งน่าสนุกและมีมากมาย ภาษาอินโดฯ เรียก “sinetron” อยู่ในยูทูบเพียบ
ก็หัดดูเมื่อมีโอกาส เพื่อหัดฟังภาษา-ซึ่งรู้เพียงคำสองคำ
กับหัดดูนิสัยใจคอตัวละคร -- เท่าที่จะเดาได้ ละคร ซิเนตร็อน มักจะแสดงแบบเว่อร์ ๆ
อีกนัยหนึ่ง “over act” เพราะฉะนั้น ดูไม่ยาก แม้จะยังไม่รู้ภาษาก็ตาม.....
--ขอบคุณ ที่ติดตาม
(มิตรสหาย facebooker/facebooky ทั้งหลาย กำลังถูกยืมตัวมาช่วยทำหน้าที่ผู้ปกครองนักเรียน
โดยไม่รู้ตัว)
รายงานเผยแพร่ เมื่อ 1 ธันวาคม 2558
แล้วจะรายงานต่อไป เป็นระยะ ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น