open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รู้จักจัดลำดับก่อนหลัง

-ข้อคิดจากธุรกิจใหญ่โต ที่คนเล็ก ๆ อย่างเรายืมใช้ได้

ปกิณกะชีวิต
แดง ใบเล่


          ชีวิตเราท่านทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่บ้านนอกคอกนาอย่างผู้เขียน หรืออยู่ในชุมชนเมือง หรือในกรุงอย่างท่านผู้อ่าน  เราต่างเสมอภาคกันหมดด้วยสัญญาณ 3G อันน่ามหัศจรรย์  เราต่างถูกระดมยิงด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งส่วนมากไร้สาระ เป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งวัน  โทรศัพท์มือถือธรรมดาอย่างของผู้เขียน หรือสมาร์ทโฟน(โทรศัพท์ฉลาด)อย่างของท่านผู้อ่าน  จะมีคนหรือองค์กรองค์การยิงข้อความเข้ามาชวนเสียเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใคร่จะมี - อย่างผู้เขียน หรือมีกันคนละมาก ๆ - อย่างท่านผู้อ่าน ตลอดทั้งวัน เดี๋ยวกุ๊งเดี๋ยวกิ๊ง กรุ๊ง ๆ กริ๊ง ๆ

          They want to part you with your money.
          พวกเขา อยากแยกตัวท่าน ออกเสียจากเงินของท่าน

          ชีวิตสำนักงานของท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน กับชีวิตหากินเอาเองตามยถากรรม(แต่มีสิทธิรวย)อย่างผู้เขียนและผู้อ่านอีกบางท่าน  เราต่างก็มีปัญหากับลำดับกิจกรรมแต่ละวัน ว่าในบรรดาสารพัดเรื่องที่เราจะต้องทำนั้น จะทำอะไรก่อนหลังจึงจะดี  เพราะผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็รู้อยู่แก่ใจ ว่าการทำอะไรตามความเคยชินหรือตามตัณหาพาไป ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะได้ใช้เวลานาที ไปในทางที่จะเป็นปรมัตถ์ประโยชน์แก่ตัวเราเอง ทั้งในทางสั้นและในทางยาว



ข้อคิดจาก ไอบีเอ็ม

          คนในธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง คือ ในบริษัทคอมพิวเตอร์ ไอบีเอ็ม  ได้คิดวิธีลำดับความสำคัญของการกระทำขึ้นมาใช้ และใช้อยู่นานหลายปีในกิจการแห่งนั้น กระทั่งมีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาเล่มหนึ่ง และอีกสองสามเล่มในลำดับต่อมา  วิธีการหรือข้อคิดดังกล่าวนั้นแพร่หลายทั่วโลก ไปที่ไหนใคร ๆ ก็มักจะรู้จัก  เราสามารถนำหลักการง่าย ๆ ของเขามาปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวันของเรา สำหรับท่านผู้อ่านที่ทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ก็โปรดถือเสียว่าเป็นการทบทวนแล้วกันครับ

          เพื่อที่จะได้จัดลำดับก่อน/หลัง ให้ถูกต้องคล้องจองในครรลองเดียวกัน ท่านให้แบ่งลักษณะกิจกรรม/การกระทำ ออกเป็นสองลักษณะ คือ สำคัญ กับ เร่งด่วน


          ก่อนจะว่ากันต่อไป เรามาดูอะไรที่เป็นรากฐานกันก่อน  โปรดพิจารณาเส้นและลูกศรปลายเส้น ในภาพข้างล่างนี้

นี่คือรากฐานของการเขียนกราฟ จะมีเส้นสองเส้นตัดกันที่จุด ที่ปลายเส้นทั้งสี่ทิศ มีหัวลูกศร  แปลว่าจุด 0 เป็นจุดดุลยภาพ โดยมีแรงที่มีพลังเท่า ๆ กัน ดึงไปทั้งสี่ทิศ ทำให้จุด 0 อันเป็นจุดตอกหมุดอยู่นิ่งเป็นศูนย์อยู่ได้ ไม่ซวดเซไปทางไหน

          รูปกราฟที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ท่านผู้วาดกราฟได้นำภาคส่วนด้านบน ทางขวามือท่านผู้อ่าน ที่เน้นด้วยเส้นตรงหนา มาใช้สร้างกราฟ ดังนี้


          ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า ที่จริงเป็นเพียงภาคส่วนเดียว ของรูปบน  พลังดึงที่แสดงด้วยเส้นมีลูกศรที่ปลาย บ่งบอกให้เรารู้ถึงพลังดึงทั้งสี่ทิศ อันทำให้จุดศูนย์ (0) เป็นจุดได้ดุลแน่นิ่งอยู่ได้  เพียงแต่ว่าในการเขียนกราฟเราขอนำมาใช้เพียงภาคส่วนเดียว  ปกติท่านตั้งชื่อพลัง ดึงขึ้น ว่าแกน x ส่วนพลัง ดึงไปทางขวามือท่านผู้อ่าน เป็นแกน y


            มีน้องสอนน้อง มีลูกสอนลูก มีหลานสอนหลาน  ว่าปลายแกนตั้งก็ดี ปลายแกนนอนก็ดี เวลาเขียนให้ใส่ลูกศรไว้ด้วย เพื่อเตือนสติเราให้ระลึกสำนึกถึงปรัชญาของกราฟว่า มันมีพลังดึงแฝงอยู่ (ม่ายงั้นตรงจุดที่บรรจบกัน จะเป็นศูนย์ ได้งัย)  ชีวิตนักเรียนในเมืองไทยของผู้เขียน ไม่ได้รับการสั่งสอนให้ใส่ลูกศรที่ปลายแกนกราฟ เมื่อไปเรียนหนังสือที่อเมริกา ก็ไม่มีใครบอกให้ใส่ลูกศรที่ปลายแกนตั้งและแกนนอน เขาวาดเส้นหัวขาดกันทั้งนั้น  ครั้นมาเรียนหนังสือในฝรั่งเศส ครูบอกให้ใส่ลูกศรที่ปลายแกนกราฟ  เวลาครูวาดกราฟหรือเพื่อนนักเรียนฝรั่งเศสเขาวาดกราฟ เขาใส่ลูกศรกันหมดทุกคน  จนผู้เขียนติดนิสัยใส่ลูกศรที่ปลายเส้น และรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นใครวาดกราฟ หัวทู่ ๆ  อย่าลืมว่าหัวลูกศรคือตัวบ่งชี้ถึงพลังแฝงของเส้นกราฟ  ความจริงข้อนี้จะมีประโยชน์ต่อเราในการใช้หรืออ่านกราฟ  ซึ่งจะได้ยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านทราบในลำดับต่อ ๆ ไปในการนำเสนอเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมของท่าน

          กรณีของเรา เราจะตั้งชื่อแกนเสียใหม่ ให้แกนตั้งชื่อว่า เร่งด่วน กับแกนนอนชื่อ สำคัญ  ดังภาพ


          วงกลมสีดำหนึ่งวง คือ กิจกรรมใหญ่น้อยหนึ่งกิจกรรม ของท่านในแต่ละวัน (หรือสัปดาห์หรือเดือน)

          

เรื่องของเรา เป็นเรื่องการจัดลำดับก่อนหลัง


          ภาษาอังกฤษว่า prioritization ทั้งนี้ โดยที่ เร่งด่วน กับ สำคัญ ในเรื่องของเราจะมีนิยามเป็นการเฉพาะ ว่า เร่งด่วน-หมายความว่า จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลอย่างปัจจุบันทันที สำคัญ-หมายความว่า มีคุณค่าสูง หรือมีผลใหญ่โต 

          ในชีวิตจริง ที่ไม่ได้อิงนิยาย ผู้รู้ท่านให้เราจัดกลุ่มกิจกรรมของเรา ออกเป็นสี่กลุ่มโดยยึดความ เร่งด่วน/ไม่เร่งด่วน เป็นปัจจัยนำ ดังนี้

กลุ่มที่ 1. กิจกรรม เร่งด่วน และสำคัญ
กลุ่มที่ 2. กิจกรรม เร่งด่วน แต่ไม่สำคัญ
กลุ่มที่ 3. กิจกรรม ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ
กลุ่มที่ 4. กิจกรรม ไม่เร่งด่วน และไม่สำคัญ

          ถ้าเราสร้างกล่องสี่กล่อง ครอบกิจกรรมในสนามกิจกรรมของเราแต่ละกลุ่ม ให้ตาสามารถแลเห็นได้เป็นกล่อง ๆ  เราก็จะเข้าใจความวุ่นวายในชีวิตประจำวันของเราได้ง่ายขึ้น ดังนี้

         ซึ่งจะเห็นได้ว่า ด้านบน-ประกอบด้วยกล่อง เร่งด่วน สองกล่องเรียงกันอยู่  ส่วนด้านล่าง-ประกอบด้วยกล่อง ไม่เร่งด่วน สองกล่อง  ทั้งนี้ ก็โดยได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มเหนี่ยวหรือเหนี่ยวนำ จากแกนทั้งสองคือแกนตั้ง-ชื่อ เร่งด่วน และแกนนอน-ชื่อ สำคัญ  ดังได้เรียนท่านผู้อ่านแต่ต้นแล้วว่า  “อย่าลืมว่า หัวลูกศรคือตัวบ่งชี้ถึงพลังแฝงของเส้นกราฟ  ความจริงข้อนี้จะมีประโยชน์ต่อเราในการใช้ หรืออ่านกราฟ  ซึ่งจะได้ยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านทราบในลำดับต่อ ๆ ไปในการนำเสนอเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมของท่าน”

          นักพูดปลุกระดมกำลังใจคน และนักฝึกอบรมบางท่าน  ท่านหลงลืมมองข้ามปรัชญาพื้นฐานเรื่องพลังของแกนตั้งและแกนนอน ที่แสดงด้วยแรงดึงที่หัวลูกศรของเส้นกราฟ  ท่านเติบโตมากับการเขียนแกนกราฟชนิดหัวขาดปราศจากลูกศร  ท่านจึงต้องใช้วิธีท่องจำตำแหน่งกล่องแต่ละกล่อง ซึ่งบางครั้งท่านเกิดความจำคลาดเคลื่อน ท่านก็จะวางกล่องกิจกรรมผิด ๆ ถูก ๆ  แต่ถ้าเราเขียนกราฟโดยมีหัวลูกศรอย่างเด็กฝรั่งเศส เราจะไม่ลืมเรื่องพลังโน้มนำของแกนแต่ละแกน  เราไม่ต้องท่องจำตำแหน่งของกล่องกิจกรรม เราจะวางตำแหน่งกล่องถูกต้องเสมอ และกราฟประเภทนี้นิยมใช้กันมาก เช่น ในการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ธุรกิจ ด้วยการแบ่งกลุ่มกิจกรรมภายในธุรกิจออกเป็นสี่กลุ่ม ของบริษัท บอสตัน คอนซัลติง กรุป ก็ใช้กราฟลักษณะเดียวกันนี้ 

          การระบุชื่อหรือหมายเลขกล่องกิจกรรม ที่ถูกต้องสอดคล้องตามพลังของแกน จะเป็นดังต่อไปนี้

          ในอดีต สมัยที่ผู้เขียนเคยทำงานสำนักงาน มีรุ่นพี่ผู้อาวุโสในสำนักงานมาชี้ว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ “สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน” ซึ่งที่จริงหมายถึง ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ หรือกล่องหมายเลข 4 ของเรา  แต่ว่าคุณพี่สลับคำพูด ยกคำว่า “สำคัญ” ขึ้นกล่าวก่อน  คุณพี่เห็นว่าผู้เขียน ซึ่งเวลานั้นมีนายหลายคน ควรทำงานที่คุณพี่แกสั่ง ก่อนงานที่นายคนอื่นสั่งมา  เพราะว่างานที่นายคนอื่นสั่ง “สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน”  ส่วนงานที่คุณพี่แกสั่งให้ทำนั้นคงจะทั้งสำคัญและเร่งด่วน อีกนัยหนึ่ง ที่จริงหมายถึง เร่งด่วน และสำคัญ หรือกล่องหมายเลข 1 ของเรา  แต่คุณพี่สลับคำพูด ยกคำว่า สำคัญ ขึ้นหน้า

          ระวังนะ  อาจารย์ของผู้เขียนท่านสอนให้ยก “เร่งด่วน” หรือ “ไม่เร่งด่วน” ขึ้นนำเสมอ ห้ามยก “สำคัญ” หรือ “ไม่สำคัญ” ขึ้นนำ 

          เพราะปรัขญาของเรื่องนี้ทั้งเรื่อง คือ การพยายามที่จะจัด ลำดับก่อนหลัง (prioritization)ของกิจกรรมที่จะทำ กิจกรรมแต่ละกิจกรรมจึงมีมิติ “เวลา” เข้ามากำกับ เรื่องนี้จึงไม่ใช่การ ชั่งน้ำหนักความสำคัญของกิจกรรม ที่มีมิติ “สำคัญ” เป็นตัวกำกับ โดยที่ในกรณีของเรา คำว่า “สำคัญ” หมายความว่า มีคุณค่าสูง หรือ มีผลใหญ่โต เพราะฉะนั้น การเปลี่ยน คำพูดนำ จากเร่งด่วน/ไม่เร่งด่วน มาใช้คำว่า สำคัญ/ไม่สำคัญ ขึ้นก่อน เป็นการเปลี่ยนมิติเวลามาเป็นมิติคุณค่า จะทำให้ประเด็นในการลำดับก่อนหลัง หรือ prioritization สับสนได้ คือของง่าย ๆ จะกลายเป็นงง  

เร่งด่วน และ สำคัญ คืออย่างไร?


         วิธีทำความเข้าใจกับกลุ่มกิจกรรมทั้งสี่กลุ่ม ขอเริ่มด้วยการยกกิจกรรมในกลุ่มที่หนึ่ง เร่งด่วน และสำคัญ  ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ เร่งด่วนหมายความว่า ต้องการการดูแลในปัจจุบันทันที  ส่วนสำคัญหมายความว่า มีคุณค่าสูง หรือ มีผลใหญ่โต  ตัวอย่างที่ผู้เขียนจะยกขึ้นมาสาธก ได้แก่ ความเร่งด่วนและสำคัญของระบบสรีระมนุษย์ เช่น ระบบขับถ่าย เป็นต้น  

          ปวดท้องอึ นี่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนครับ กล่าวคือ ต้องการการดูแลในปัจจุบันทันที และจะมีผลใหญ่โต(ถ้าไม่ดูแลให้ทันการ) 

          กาละครั้งหนึ่ง เศรษฐีชาวกรุงเทพฯท่านหนึ่งท่านเป็นรุ่นพี่ ท่านเรียกผู้เขียนไปกินกลางวัน ที่ร้านอาหารอิตาเลียนในกรุงเทพฯ  นาน ๆ ผู้เขียนจึงจะได้พบกับท่านสักครั้งหนึ่ง  ท่านชอบอาหารฝรั่ง ผู้เขียนก็เลยมีลาภปากได้กินอาหารฝรั่งไปด้วย  ระหว่างนั่งรับประทานอาหารท่านก็พูดของท่านคนเดียว แบบเดี่ยวไมโครโฟน  หาประเด็นพูดไม่ได้ท่านก็จะเหลือบไปนินทาคนที่นั่งโต๊ะอื่น  ท่านบุ้ยให้ผู้เขียนดู พลางพูดว่า ดูโน่นซิ คนนั้น ..... นั่นหนะ เถ้าแก่ใหญ่เขาโกรธแกแล้ว ไม่ให้เซ็นเช็ค  คนอื่นไม่มีใครรู้ก็นึกว่าเขายังเจ๋ง ทั้ง ๆ ที่เขาเจ๊งแล้ว  พวกบิ๊ก ๆ ทั้งนั้นที่ไปกินกลางวันร้านนั้น ผู้เขียนก็ไม่กล้าหันไปมองตามที่ท่านบุ้ยไป เพราะกลัว..... ได้แต่นั่งฟังท่านเดี่ยวไมโครโฟนไปเรื่อย ๆ โคดเครียดเลย

          ผู้เขียนเป็นโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลาเครียดจัดแล้วจะปวดท้องอึ

          โรคนี้ใช่ว่าผู้เขียนจะเป็นอยู่แต่ผู้เดียว คนอื่นที่เขาเป็นเหมือน ๆ กัน ก็มี  สำหรับผู้เขียนนั้นจะต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันและเครียดจัดมาก จึงจะออกอาการ  แต่ในสถานการณ์ตื่นเต้นดีใจมาก ๆ ก็มีสิทธิเป็นได้เหมือนกัน  เหตุการณ์นี้ไม่เกิดบ่อย นาน ๆ สี่ซ้าห้าปีหรือสิบปีจึงจะเกิดสักครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเมื่อเรียนหนังสืออยู่ในอเมริกา  เพื่อนชาวอเมริกันผัวเมียชวนไปเที่ยวบ้านพ่อแม่เขาที่รัฐโคโลราโด  จากเมืองเดนเวอร์ต้องขับรถขึ้นเขาร็อคกีไปอีกเป็นชั่วโมง ๆ  เมืองเล็ก ๆ บนเขาที่พ่อแม่เขาอยู่ชื่อ คาร์บอนเดล  ใกล้ ๆ กันจะมี สกีรีสอร์ท  พวกเขาจะไปเล่นสกีกันที่นั่นด้วย

          กว่ารถโฟลก์เต่าของเพื่อนจะไปถึง เมืองคาร์บอนเดล เป็นเวลาค่ำคืนดึกดื่นกี่โมงกี่ยามก็ไม่รู้  พ่อแม่เขาเลี้ยงอาหารค่ำเบา ๆ ที่เรียกว่า ซัปเปอร์

          เล่ามาตั้งนาน ใกล้เครียดยังเนี่ยะ?  ใกล้แล้วล่ะ คือที่โต๊ะอาหารค่ำ ปรากฏว่าพ่อลูกเขาทะเลาะกัน  ตัวพ่ออารมณ์เสียมาก ๆ  ผู้เขียนจึงเกิดอาการเครียดจัดกับสถานการณ์นั้น เพราะเคยได้ยินเพื่อนที่กรุงเทพฯที่เขาไปเรียนไฮสกูลในอเมริกา แล้วอยู่บ้านฝรั่ง เล่าว่าฝ่ายเจ้าของบ้านที่ไปอยู่ด้วย ผู้พ่ออารมณ์ร้าย เวลาทะเลาะกันแกชอบฉวยเข้าของขว้างหน้าต่างแตก  บัดนั้น ผู้เขียนเครียดจัดต้องขอตัวฉับพลัน ขอเข้าห้องน้ำฉิบหาย ห้องน้ำดันอยู่ชั้นบน ต้องวิ่งขึ้นกะไดแบบไม่คิดชีวิต ไปหาเอาเองให้เจอ-อีกต่างหาก! OMG!

          พระเจ้าช่วยเกือบไม่ทัน

          แล้วหลายปีต่อมาหลังจากกาละครั้งนั้น ก็มาถึงคราวที่ท่านเศรษฐีเลี้ยงอาหารอิตาเลียน ที่กรุงเทพฯ  ซึ่งเศรษฐีท่านเป็นคนดุมาก อะไรขวางหูขวางตาเป็นไม่ได้เหมือนกัน คือมีอารมณ์แบบฝรั่ง ๆ  หลังจากนั่งฟังท่านเดี่ยวไมโครโฟนทำตาขวาง ๆ อยู่พักหนึ่ง  ผู้เขียนก็ต้องขอตัวฉับพลัน ขอเข้าห้องน้ำแต่เนื่องจากกำลังนั่งกินกันอยู่ ก็ไม่กล้าพูด เปลี่ยนพูดว่า ขอตัวไปโทรศัพท์!

          โห พระเจ้าช่วยเกือบไม่ทัน  พอกลับมา ท่านเศรษฐีซึ่งท่านเป็นคนคมมาก และท่านจะสังเกตลักษณะอาการคนตลอดเวลา  เพราะท่านติดนิสัยกลัวคนจะมาลักเงินของท่าน  ท่านถามผู้เขียนว่า โทรศัพท์อยู่ไหน?  เล่นเอาผู้เขียนเกือบตกเก้าอี้  เพราะโทรศัพท์ไม่มี ตัวเองไม่ได้มีโทรศัพท์ในเวลานั้น  ก็เลยตอบว่า ทำตกหายแล้ว! 

          มีแต่เด็กอนุบาลเท่านั้นที่จะเชื่อ  แต่ท่านเศรษฐีก็ยังอุตส่าห์มีเมตตา คือท่านยิ้มนิดนึง แล้วไม่ซักไซ้ไล่เลียงต่อ ท่านเปลี่ยนไปแหลเรื่องอื่น

          เรื่องความจำเป็นตามธรรมชาติของคนเรา ชนิด เร่งด่วนและสำคัญ ประสบการณ์สุดท้ายเกิดจากความตื่นเต้นเชิงบวก คงจะเล่าละเอียดนักไม่ได้ เพราะว่าเหตุการณ์เพิ่งจะเกิดเมื่อไม่นานมานี้  พูดก็พูดเถอะเป็นการต้องมนต์เสน่ห์ชนิดอยู่สุดปลายมือ  ที่บังเอิญวันหนึ่งโคจรมาเฉียด ชนิดเกือบจะเอื้อมมือถึง...แต่ไม่ถึง  ด้วยลักษณะนั้นเองที่ชวนให้น่าตื่นเต้น จนต้องขอตัวเข้าห้องน้ำฉับพลัน

ความเห็นส่วนตัว

          กิจธุระชนิด “สำคัญ และ เร่งด่วน” ในชีวิตประจำวันและในธุรกิจการงาน หรืองานสำนักงาน ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล  เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาแต่ละกรณี รู้สึกว่าตัวเองเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง กับการที่แต่ละท่านจัดลำดับธุระในชีวิตท่าน  และมิตรสหายของผู้เขียนบางคน เขาก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้างกับการจัดลำดับธุระในชีวิตผู้เขียน  เพราะฉะนั้น เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยแท้เรื่องหนึ่ง  แต่ว่าหลักการของเราทุกคนก็คือ ให้ยกความเร่งด่วน/ไม่เร่งด่วน ขึ้นหน้า  ส่วนเวลาจะพิจารณาว่า สำคัญ/ไม่สำคัญ ให้คิดถึงประเด็นเรื่อง มีคุณค่าสูง หรือ มีผลใหญ่โต เข้ามากระหนาบ    
         
          ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัว ยกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

กลุ่มที่ 1. กิจกรรม เร่งด่วน และสำคัญ เช่น ถังแก๊ซในครัวกำลังมีอุบัติเหตุไฟพวยพุ่งออกมา หนี้บัตรเครดิต-จำนวนที่จะต้องจ่ายขั้นต่ำสิบเปอร์เซ็นต์ ใบแจ้งหนี้ให้ผ่อนบ้านประจำเดือน ค่าไฟฟ้าประปา(ไม่จ่ายเขาจะตัดไฟตัดน้ำ) งานเขียนที่จะต้องส่งตามกำหนดวันพรุ่งนี้ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2. กิจกรรม เร่งด่วน แต่ไม่สำคัญ เช่น อีเมลลูกค้าทั่วไป ข้อความหลังไมค์ในหน้าเฟสบุค สัญญาณบอกว่ามีข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือ เสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงกริ่งประตูรั้ว งานสอนภาษาอังกฤษตามบ้านวันนี้เวลาเช้า(ค่าสอนถูกมาก)

กลุ่มที่ 3. กิจกรรม ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ สำหรับผู้เขียน-และคิดว่าสำหรับท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านด้วย ก็คือกิจกรรมทั้งหลายที่ทำแล้วจะช่วยให้เรามีกินมีใช้  ผู้รู้ท่านบอกว่ากิจกรรมกลุ่มนี้คือกิจกรรมที่เราพึงจัดเวลามาลงไว้ให้มาก ๆ เช่น งานวางแผนการตลาด งานสร้างลูกค้า งานติดต่อสัมพันธ์กับผู้อ่าน งานจัดไฟล์เพื่อส่งไปโพสต์ที่หน้า Ebook ของซีเอ็ด งานโครงการเขียนนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษ งานเขียนต้นฉบับไปลงนิตยสาร งานเขียนบทความเพื่อโพสต์ที่บล็อก การเรียนรู้รอบตัว การพัฒนาตนเอง การเรียนภาษาต่างประเทศ เป็นต้น  ส่วนการออกกำลังกายประจำวัน กับ การทำสมาธิ ผู้เขียนก็จัดไว้ในกลุ่มนี้ด้วย

กลุ่มที่ 4. กิจกรรม ไม่เร่งด่วน และไม่สำคัญ  เช่น การเสียเวลาอยู่กับหน้าจอคอมพ์ นั่งเล่นเนตเรื่อยเปื่อย ไปเดินห้างเรื่อยเปื่อย นั่งตอแหลเรื่อยเปื่อย เป็นต้น


          ในที่สุดแล้ว การคิดคำนึงเพื่อลำดับก่อนหลัง(prioritization) ก็จะนำเรามาสู่การที่เราจะต้องนั่งลงทำบัญชีหางว่าวขึ้นมาดู ว่าจริง ๆ แล้ว แต่ละวันเราทำอะไรบ้าง?  รายชื่อกิจกรรมดังกล่าวทำขึ้น ก็เพื่อที่เราจะได้จัดกิจกรรมลงกล่องตามกลุ่มต่าง ๆ ทั้งสี่กลุ่ม  สำหรับผู้เขียนปรากฏว่า กิจกรรมที่ตัวเองจะต้องทำในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน มีมากกว่าที่นึก  นี่...ถ้าไม่คิดทำเรื่องลำดับความสำคัญ ก็คงไม่ได้ลงมือนั่งนับสิ่งที่ตนต้องทำ และอาจทำให้ตนเองพลาดโอกาสดีในชีวิตไป ด้วยการมั่ว ๆ อยู่ไปวัน ๆ

          เช่น โอกาสดีที่เราจะได้สร้างสัมพันธภาพที่มีคุณค่า มีความหมาย กับคนที่เราพอใจ พิศวาส พิสมัย หรือเพียงชอบพอธรรมดา ๆ  การสร้างสัมพันธ์กับคนด้วยกันไม่ว่าจะรูปแบบใด แม้กระทั่งในเฟสบุค เรียกร้องต้องการเวลาไม่น้อย  สำหรับผู้เขียนได้จัดกิจกรรมนี้ไว้ในกลุ่มที่ 3. ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ  และพยายามดึงเวลาจากกลุ่มที่ 4. ไม่เร่งด่วน และไม่สำคัญ  กับจากกลุ่มที่ 2. เร่งด่วน แต่ไม่สำคัญ  มาใช้เพื่อการนี้

          ผู้เขียนได้ลองวาดกล่องเร่งด่วน/ไม่เร่งด่วน ของตัวเองขึ้นมาดู ได้ผลดังภาพ  จึงขอแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน และถือโอกาสจบข้อเขียนชิ้นนี้ ด้วยภาพนี้


หมายเหตุ -- 

บังเอิญว่า ที่วางอยู่ด้านซ้ายมือท่านผู้อ่าน คือหนังสือ “ทักษิณรัฐ” กรมศิลปากรจัดพิมพ์
พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใด ๆ และไม่ใช่การจัดตั้งรัฏฐะใหม่
ชื่อ “ทักษิณ+รัฐ” ทว่าเป็นหนังสือประมวลเกร็ดประวัติศาสตร์พื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไป

และบังเอิญว่า ขวามือ ด้านบน เป็นภาพถ่ายต้นฉบับ จดหมายที่พระเจ้าปราสาททอง
ส่งถึง เจ้าชายเฟดเดริค เฮนรี ที่ฮอลันดา เมื่อค.ศ. 1633/พ.ศ. ๒๑๗๖ เป็นต้นฉบับ
คำแปลภาษาดัช ณ เวลานั้น ของจดหมายฉบับนั้น ที่ยื่นให้เจ้าชายฯ  เข้าใจว่าจะเก็บรักษาอยู่ใน
หอจดหมายเหตุที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในแผนกที่เก็บเอกสาร
เกี่ยวกับ บริษัท อินเดียตะวันออก(ของดัช)  เหตุที่มาอ่านเอกสารพวกนี้ เพราะว่ากำลัง
เรียนภาษาอินโดเนเซีย มันก็เลยชักนำ ลามมาเรื่อย ๆ  เอ๊ะ หรือว่า เพราะกำลังสนใจประวัติศาสตร์
การติดต่อระหว่างอยุธยากับ บริษัท อินเดียตะวันออก(ของดัช) มันก็เลยชักนำ ลามไปเรื่อย ๆ
กระทั่งต้องเรียนภาษาอินโดเนเซีย  เอ๊ะ หรือว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง?  เอ๊ะ ยังงัย?

เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวกับเรื่อง เร่งด่วน/ไม่เร่งด่วน อย่างไรเนี่ยะ?  เอ๊ะ ยังงัยก็ไม่รู้เหมือนกัน  งง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น