open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

"ท่าน" ขรรค์ชัย บุนปาน บทกวีของท่าน ถูกวิจารณ์

คำโคลง ของท่าน ชื่อ "อก ผาย ไหล่ ผึ่ง"   แดง ใบเล่(ปรีชา ทิวะหุต) วิจารณ์


มีอะไรใหม่หรือ?  มีอะไรใหม่เกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลป์?


ในการวิจารณ์นั้น  ผู้เขียนเชิญชวนท่านผู้อ่านขยายความคำว่า วิจารณ์  ออกไปอีกเล็กน้อยให้เกินกว่า การติชม   โดยเสนอว่า  แม้แต่การตินั้นก็ดี  หากเป็นการวิจารณ์งานศิลป์  ผู้เขียนก็จะพยายามติเพื่อก่อ...หรือถ้าติเพื่อก่อไม่ได้  ก็จะติอย่างขอให้เมตตาปรานีต่อกันและกันทั้งสองฝ่าย  หมายความว่า  จะติแบบที่คนโดนติ  เขาจะยังสามารถแผ่เมตตาให้แก่เราผู้ติได้ต่อไป  ไม่ใช่ประกาศเลิกเผาผีกัน  ทั้งนี้ -- เพราะเราได้พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ซึ่งแปลหยาบ ๆ เป็นภาษาฝรั่งว่ามี compassion  มิใช่สักแต่จะ รู้เขา-รู้เราซึ่งแปลว่าเป็นเรื่องของ game theory หรือยุทธศาสตร์แห่งการได้เสีย  อันเป็นคนละเรื่องกับ compassion  แต่ในที่สุดแห่งที่สุด – การวิจารณ์ก็ไม่ใช่การเขียนเชียร์


ตัวอย่างงานประเภท วาดตามจริง  ชนิดหนึ่ง  รูปกรรมกรโรงถลุงเหล็กใน อดีตสหภาพโซเวียต

ที่ตั้งคำถามว่า มีอะไรใหม่ เกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลป์หรือ? นั้นคืออย่างไร?  แปลว่า  มันต้อง มีอะไรเก่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่ะซี -- ใช่เปล่า?

ในเมืองไทย  ผู้วิจารณ์กับผู้ถูกวิจารณ์ขี้มักจะมีเรื่องกันเสมอ  แทบจะกลายเป็นอนิจจังแห่งความสิ้นหวังทางสังคมของงานศิลปะ  คู่ที่คลาสสิคที่สุดคู่หนึ่ง คงจะไม่พ้นคู่ระหว่างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  กับ  ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์  เมื่อครั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ วิจารณ์นวนิยายเรื่อง ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศดำเกิง  หลังจากนั้นมา ก็ยังมีอีกหลายคู่หลายกรณี  เรื่อยมาจนถึงยุควิจารณ์กันแหลกใกล้เหตุการณ์ตุลาคมอันโด่งดัง  กระทั่งถึงกรณีของนักเขียนผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมายอย่าง เจ๊ทม  ผู้เขียนขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อจริงนามสกุลจริงของเธอ  เพราะไม่อยากจะเปลืองตัว  โปรดอย่าถามเค้นเอาคำตอบว่า  เธอคือใคร? 

โธ่...เธอก็คือ บุคคลที่ท่านผู้อ่านกำลังนึกอยู่ในใจนั่นแหละครับ  ใช่เลย

ผู้เขียนรู้สึกสำนึกบุญคุณ เจ๊ทม(บุคคลที่ท่านผู้อ่าน กำลังนึกถึงอยู่ในใจ)ยิ่งนัก  เธอปลีกตัวจากความวิเวก  สลัดโซ่ตรวนแห่งการ ขี้มักจะมีเรื่องกัน  ระหว่างผู้วิจารณ์กับผู้ที่โดนเขาวิจารณ์  ซึ่งเริ่มตั้งแต่คู่พระองค์จุลฯ กับท่านอากาศฯ (หรืออาจจะก่อนนั้น)  วีรกรรมของเธอก็คือ การที่เธอออกมาอโหสิกรรมให้แก่บรรดานักวิจารณ์ทั้งหลาย  ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ว่านวนิยายของเธอ น้ำเน่า  เพราะที่สุดแล้วหลังจากที่อารมณ์เธอ บ่จอย  และ เส้นเสีย อยู่พักใหญ่  อยู่มาวันหนึ่งเธอก็ประกาศว่า  เธอเห็นคุณของการวิจารณ์  เธอเห็นว่าการวิจารณ์ช่วยให้วรรณศิลป์ก้าวหน้า  ทั้งนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า  จะเป็นเพราะเธอได้ล่วงรู้ว่า  ชีวิตจริง ของผู้ที่กล่าวหาว่างานของเธอ “น้ำเน่า” นั้น  ชีวิตจริงของเขาเหล่านั้น  เน่ายิ่งกว่างานของเธอเสียอีก.....

บ้ะ...เน่าขนาดนั้น? 

เพราะฉะนั้น  ผู้ที่สะดุ้งไหวเกินการณ์ต่อเสียงวิจารณ์อันสมเหตุสมผล  หรือแม้จะวิจารณ์อย่างไร้เหตุผลก็ตาม  อาการสะดุ้งไหวเป็นกุ้งเต้นนั้น  มันส่ออะไร?  อย่าตอบนะว่า – มันส่ออาการขาดความมั่นใจและขาดศรัทธา ต่อการสร้างสรรค์งานของตนเอง

นักวิจารณ์เป็นคนซวย เพราะเราประกาศโต้ง ๆ ว่าเรากำลังวิจารณ์  เราก็เลยถูกเพ่งเล็งจากสังคมคนอ่าน  ขณะที่นักเขียนอื่น ๆ เช่น คอลัมนิสต์ หรือนักหนังสือพิมพ์ หรือผู้เขียนคอมเมนต์ต่าง ๆ เขาไม่ซวยอย่างเรา  เพราะเขาไม่ได้ประกาศว่าเขากำลังวิจารณ์อะไร  ทั้ง ๆ ที่เกือบจะร้อยทั้งร้อยของการแสดงออกด้วยลายลักษณ์อักษร  ล้วนเป็นการวิจารณ์อะไรก็ไม่อะไร กันทั้งนั้นแหละพวก.....

ขอบพระคุณครับ เจ๊ทม  เพราะเจ๊ทมเป็นหนึ่งในดวงใจ ที่ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจเขียนวิจารณ์บทกวี -- บทที่กำลังจะวิจารณ์อยู่ ณ บัดนี้  ซึ่งว่ากันจริง ๆ บทกวีบทนี้ก็ “วิจารณ์” บทกวีบทอื่นที่มาก่อนหน้า  ในบรรณพิภพนั้น -- มันไม่มีลายลักษณ์อักษรใด ที่ปราศจากการอ้างอิงหรือเชื่อมโยงถึงอักขระที่ได้จารกันไว้ก่อนหน้าดอก  ของขี้ ๆ แบบนั้นมันไม่มีหรอก  ยกเว้นคุณคิดภาษาใหม่เอี่ยมอ่องขึ้นมาเขียน มีไวยากรณ์เป็นของตนเองล้วน ๆ ไม่ซ้ำของเก่าเลย



นี่เป็นบทกวีหรือ?  หรือแม้แต่จะเป็นคำโคลง – นี่คือคำโคลงหรือครับ ศรีปราชญ์?

อก  ซบอกสั่นสะท้าน     สยิวสะทก
ผาย     แผ่ผืนแผ่นอก             รับอ้อน 
ไหล่     แบกโลกเข็นครก           เอวคราก
ผึ่ง
      แดดผึ่งลมร้อน            เพิ่งรู้ธุลีเดียว

กวีนิพนธ์บทนี้  พิมพ์โดดเด่น มาแบบเดี่ยว ๆ ด้วน ๆ มิได้เป็นพวก สรรนิพนธ์ หรือบทคัดลอกมาจากเรื่องยาวเรื่องใด  คำโคลงบทนี้พิมพ์เน้น ๆ อยู่ในหน้าแรก ๆ ของนิตยสารแนววัฒนธรรม  ซึ่งท่านผู้อ่านไม่ต้องเกรงไปหรอกว่า อ่านแล้วจะไม่ได้ทราบชื่อจริงนามสกุลจริง  ทั้งชื่อนิตยสาร และนามจริงท่านผู้ประพันธ์บทกวี  เพราะบทวิจารณ์บทนี้เขียนขึ้นโดยยึดหลักว่า  การติชมอย่างมีมารยาทและเป็นประชาธิปไตย(civil and democratic)นั้น  คือ  ติแบบที่คนโดนติ  เขาจะยังสามารถแผ่เมตตาให้แก่เราผู้วิจารณ์ได้อยู่ต่อไป  ไม่ใช่ติจนเขาประกาศเลิกเผาผี   ดังนั้น  จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ผู้เขียนจะกั้ก ชื่อจริงนามสกุลของผู้ที่ถูกวิจารณ์ เอาไว้ตลอดไป   

เนื่องจากผู้เขียนยังอ่อนหัดในการวิจารณ์งานศิลป์ -- พูดความจริงมิใช่ออกตัว  เพราะฉะนั้น  ก็จะขอยกบทกวีที่พอจะเทียบกันได้  ขึ้นมาตั้งไว้เปรียบเทียบอ้างอิง  ทั้งนี้เพื่อประคับประคองบทวิจารณ์อันอ่อนหัด  ให้ดำเนินไปได้จนตลอดรอดฝั่ง  แนวการทำงานลักษณะนี้  ก็ได้อาศัยความคิดมาจากตัวบทกฎหมาย  ตามบทบัญญัติในประมวลแพ่งฯ มาตรา 4 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า  เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป 

            ทำงานวิจัยเล็ก ๆ ทางอินเตอร์เนตแล้วหาไม่พบ! 

จะหาบทกวีนิพนธ์เดี่ยว ๆ สั้น ๆ โดด ๆ ในภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส ที่เขียนไว้เกี่ยวกับ หน้าอกชาย  เพื่อจะอาศัยเทียบ ประคองให้วิจารณ์ไปได้ตลอดรอดฝั่ง  ปรากฏว่าหาไม่พบเลย  อาจจะเป็นไปได้ว่าคำว่า “breast” ในภาษาอังกฤษก็ดี  หรือคำว่า “poitrine” ในภาษาฝรั่งเศสก็ดี  ขี้มักจะหมายถึง ถัน   ดังนั้น  หน้าอกหน้าใจในภาษาของเขา จึงมุ่งหมายถึงทรวงอกสตรีหรือ ปทุมถันไฉไล เป็นหลัก  และเขาก็เลยไม่มีบทกวีพรรณนาสรีระหน้าอกชายประเภท อกผายไหล่ผึ่ง หรือ หน้าท้อง six-pack”  แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเขา  ไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา  เพราะว่าในที่สุด -- เราพบแล้วเราได้พบบทกวี ของกวีเอกท่านหนึ่ง ในยุคร่วมสมัย(แปลว่าไม่เก่านัก)  แต่พบเป็นภาษาสเปน มิใช่อังกฤษหรือฝรั่งเศส  ท่านเขียนบทประพันธ์เกี่ยวข้องกับ อก  ที่หมายถึงหน้าอกชาย  ไม่ใช่หน้าอกหน้าใจของหญิง  จึงพอจะยกมาเทียบเคียงได้ ตามแนวคำแนะนำในกฎหมายมาตรา 4 วรรค 2 ดังกล่าว 

บทกวี  El amor duerme en el pecho del poeta  แปลว่า  รักนั้น...หลับอยู่ในอกของกวี  ของ เฟรดเดริโก  กาเซีย  ลอร์กา  ท่านผู้นิพนธ์เป็นกวีสเปนผู้ถูกสังหารในเมืองกระนาดา  อันเป็นเมืองอนุรักษ์นิยม ในแคว้นอันดาลูเซีย  ในช่วงใกล้เกิดสงครามกลางเมืองสเปน 

El amor duerme en el pecho del poeta

Tú nunca entenderás lo que te quiero
porque duermes en mí y estás dormido.
Yo te oculto llorando, perseguido
por una voz de penetrante acero.

Norma que agita igual carne y lucero
traspasa ya mi pecho dolorido
y las turbias palabras han mordido
las alas de tu espíritu severo.

Grupo de gente salta en los jardines
esperando tu cuerpo y mi agonía
en caballos de luz y verdes crines.
Pero sigue durmiendo, vida mía.
¡Oye mi sangre rota en los violines!
¡Mira que nos acechan todavía!



เธอไม่มีวันจะเข้าใจ  ว่าฉันรักเธอเพียงใด
          รักนั้นหลับอยู่กับฉัน  และยังหลับสนิท
          ฉันซ่อนเสียจากเธอ  น้ำตารินร่ำให้ 
          ดุจโดนบาดด้วยเสียงอันคมปานใบมีด

กฎที่บังคับเสมอกัน  ทั้งเนื้อหนังมังสาและแม้ดาวรุ่ง
          แทงอกฉัน  เจ็บปวด
          แล้วถ้อยคำอันเชือดเฉือน ก็รี่เข้าไปขวิด
ปีกแห่งจิตวิญญาณอันเข้มงวดของเธอ

ฝูงชนโลดเต้นอยู่ในสวน
รอร่างของเธอ  กับความปวดร้าวของฉัน
ที่จะมาบนหลังม้าขนสีเขียว แห่งแสงตะวัน

กระนั้นก็ดี  ชีวิตฉันยังหลับใหล
ได้ยินไหม  เสียงเลือดเสียของฉันไหลอยู่ในไวโอลิน

แต่แล้ว  พวกเขาก็ยังตามเราอยู่ดี

คำแปลภาษาไทย แปลอย่างลำลองโดยผู้เขียนบทความนี้   บทกวีภาษาสเปนบทนี้  มีสี่คำกลอน(สแตนซา)หรือสี่ย่อหน้าเท่านั้น  ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นใหญ่งานใด  แต่มาแบบโดด ๆ เช่นเดียวกับโคลงกระทู้  อกผายไหล่ผึ่ง   ซึ่งก็มาโดด ๆ

ภาพเขียนสไตล์ศิลปะ วาดตามจริง  ที่ยกมาข้างบน  เป็นรูปกรรมกรโรงงานถลุงเหล็กในรัสเซีย สมัยที่ยังใช้ชื่อประเทศว่า สหภาพโซเวียต  ส่วนภาพเขียนจีนที่ยกมาแสดง  วาดตามสไตล์โฆษณาทางการเมือง เฉกเช่นที่เคยนิยมกันในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม  ซึ่งก็สังกัดตระกูล ตามจริง เช่นเดียวกัน  (แต่งานชิ้นนี้  วาดขึ้นใหม่ในยุคที่จีนเปิดประเทศแล้ว  จึงมีเครื่องหมายการค้าเครื่องดื่มโซดาน้ำดำของอเมริกัน ปรากฏอยู่ด้วย) 

ทั้งสองภาพนี้ ยกขึ้นมาทำไม?

ก็ยกขึ้นมาเพื่อการเทียบเคียง  เหมือนกับที่ได้ยกบทกฎหมายขึ้นมาในย่อหน้าก่อน  งานสองชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของงานศิลป์ตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง  ที่จะขอเรียกรวม ๆ เป็นภาษาไทยว่า เขียนตามจริง  หรือ  วาดตามจริง   ไม่ได้เขียนหรือวาดแบบตั้งใจจะให้สวยงามหรือหรูเกินจริง  คล้าย ๆ กับว่า  พูดกันซื่อ ๆ ดีกว่าอย่าตอแหล  -- หรืออะไรประมาณนั้น  ซึ่งงานในรุ่นต้นกำเนิด ก็เกิดมาก่อนที่จะเกิดประเทศสหภาพโซเวียต หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยแฟน ๆ ศิลปะตระกูลนี้เห็นพ้องกันว่า  ศิลปินฝรั่งเศสที่ถือว่าคือบรมครู ผู้ริเริ่มเชิงศิลป์เชิงนี้คือ  กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) ตัวอย่างงานรุ่นแรก ๆ ของท่าน  ท่านวาดรูปคนกำลังทำงานทุบหินและขนหิน  ผู้วิจารณ์ถือเอาตามอำเภอใจ  ผิดถูกไม่ขอรับรอง  ว่าภาพนี้ของ กุสตาฟ กูร์เบต์ คือต้นกำเนิดของงานแนว วาดตามจริง  และ  เขียนตามจริง  แต่ภาพนี้หาชมไม่ได้แล้ว ดูเหมือนว่าจะถูกไฟไหม้ไปในระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  จึงเหลือให้ดูเพียงภาพถ่าย



จะขอยกบทกวีทั้งสองบท  พร้อมกับภาพเขียนในตระกูล วาดตามจริง  กิ่งหนึ่งที่จะขอเรียกว่า วาดตามจริงแบบจีนใหม่  ซึ่งก็เรียกตามความรู้สึกและตามอำเภอใจของผู้วิจารณ์เอง  มิได้อ้างอิงไวยากรณ์ศิลปะไวยากรณ์ใดโดยเคร่งครัด  ขอยกภาพมาเทียบคู่คำโคลงที่กำลังวิจารณ์อีกครั้ง  ให้เห็นทั้งสามชิ้นงานพร้อม ๆ กัน  ดังนี้ครับ






สมัยนี้  เพียงคลิกเดียว  ท่านผู้อ่านที่สนใจภาพศิลปะ ตามจริง สามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ทั่วไปหมด  ทั้งในภาษาไทยและภาษาอื่นที่ท่านถนัด เพียงแค่คลิกเม้าส์  ไม่จำเป็นเลยที่ผู้วิจารณ์จะต้องเสี่ยงผิดเสี่ยงถูก  ก็อปความรู้เหล่านั้นมาเขียน เบิ้ล ไว้ ณ ที่นี้  เพียงแต่จะขอเท้าความสักคำสองคำ  เพื่อปูเรื่องให้เขียนบทความชิ้นนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง  ว่า  เมื่อแรกกำเนิดในฝรั่งเศสก็เรียกกันว่า ตามจริงเฉย ๆ(realism)  ต่อมาพัฒนาแตกกิ่งออกไป กลายเป็น ตามจริงทางสังคม(social realism)  และท้ายสุดเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจในรัสเซียกับในที่อื่น ๆ ก็รับศิลปะแขนงนี้ไปรับใช้แนวของพรรคคอมมิวนิสต์  ตั้งชื่อกันใหม่ว่า ศิลปะตามจริงสังคมนิยม(socialist realism)  บางครั้งสานุศิษย์รุ่นหลังบางรายก็ลุกขึ้นมาประกาศว่า  ฉันเป็นตัวของตัวเอง  ฉันอุบัติขึ้นเอง  ไม่เกี่ยวอะไรกับ ตามจริง ที่เกิดมาก่อนหน้าฉัน  แต่กระนั้นก็เถอะ -- ในความเข้าใจของผู้วิจารณ์เห็นว่า  มะเหงกแหนะครับ  มันเกี่ยวกันหมดแหละ  ขอพูดพาดพิงแต่เพียงนี้เท่านั้น  ก่อนที่จะเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปกันใหญ่

ทั้งนี้ทั้งนั้น และ ทั้งหมดทั้งสิ้น  ผู้วิจารณ์เคารพนับถือมาก เฉพาะภาพตระกูลตามจริงรุ่นแรก ๆ ของฝรั่งเศส  เรื่องนี้ต้องย้ำกันเสียให้ชัดเจน  ซึ่งมีอยู่ภาพหนึ่งที่ทุกวันนี้ตั้งแสดงอยู่ในหอศิลป์ออกเซ่ย์- Musée d'Orsay (http://www.musee-orsay.fr) กรุงปารีส  ชื่อว่าภาพ กำเนิดมนุษย์  ชื่อภาษาฝรั่งเศสต้นตำหรับว่า  “L’Origine du monde”  ของบรมครู Gustave Courbet  ผู้วิจารณ์เคารพนับถือกราบไหว้เป็นพิเศษ  ทั้งภาพนั้นและศิลปินผู้วาดภาพนั้น  และเชื่อสนิทด้วยใจซื่อว่า  หากท่านผู้อ่านมีใจปอง  อยากรู้อยากเห็น  ครั้นท่านได้คลิกเห็นภาพนั้น  ท่านก็จะเกิดความเลื่อมใสไม่แพ้ผู้เขียนบทความนี้  (หรืออาจจะยิ่งไปกว่า...)

บัดนี้  หลังจากไหว้ครูมาอย่างเยิ่นเย้อ ตามประสาคนขาดความมั่นใจในตัวเอง ก็จะขอเริ่มวิจารณ์โคลงกระทู้ อกผายไหล่ผี่ง  ซึ่งวรรคแรกของบาทแรก  ปลุกเร้าคำถามขึ้นมาว่า เมื่อชายหญิงหันหน้าเข้าหากัน  อะไรจะ ซบ กับอะไรได้บ้าง? 

กวีเอกระดับรุ่นพี่ติวเตอร์สมัยอยุธยา  ท่านติวแนวคำตอบไว้แล้ว จึงทุ่นแรงเรา  ไม่ต้องคิดให้เสียเวลา เหนื่อยเปล่า  ท่านบอกว่า

นมแนบนมนิ่มน้อง                  ท้องแนบท้องโอ่ท้อง
อ่อนท้องทรวงสมร ฯ
      

            แต่  งานของกวีระดับติวเตอร์บทนั้น  ใช้กิริยา แนบ ไม่ได้ใช้คำว่า ซบ  

            คำโคลงกล่าวว่า  นมแนบนม ไม่ได้บอกว่า นมซบนม และกล่าวว่า ท้องแนบท้อง ไม่ได้บอกว่า ท้องซบท้อง  เพราะฉะนั้น  ถ้าเราจะเปลี่ยนคำว่าแนบอันเป็นคำเดิมเสีย แล้วหันมาใช้คำว่า “ซบ”  เราก็จะได้คำโคลงใหม่ (ขออภัยติวเตอร์รุ่นเดอะด้วยครับ)  ดังนี้

                                    นมซบนมนิ่มน้อง                             ท้องซบท้องโอ่ท้อง
                   อ่อนท้องทรวงสมร ฯ

            ฟังดู  ก็จะได้อารมณ์แปร่ง ๆ ปะแล่ม ๆ ไปอีกแบบ ?

สำหรับกิริยา ซบ ในโคลง อกผ่ายไหล่ผึ่ง  ของท่านขรรค์ชัย บุนปาน  ซึ่งกำลังวิจารณ์อยู่นี้  ถ้าหากเราจะเปลี่ยนตัวกระทำกิริยา  จากที่ อกเ ป็นตัวทำกิริยา  เปลี่ยนเป็นให้ ใบหน้า กระทำกิริยาดังกล่าวแทน  เราจะเห็นได้ว่าหน้าหรือ ใบหน้า ก็จะกระทำกิริยา ซบ กับสรีระส่วนมากของฝ่ายตรงข้ามได้  ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า  แบบว่าซบแบบเลื่อนลงมาเรื่อย ๆ  ส่วนที่ท่านขรรค์ชัย บุนปาน บอกว่า อกซบอก นี่ไม่ค่อยแน่ใจนะ...ว่าจะทำได้แนบเนียนเท่าใบหน้าหรือเปล่า  ถึงแม้ อกซบอก จะฟังดูเท่ห์หูก็ตาม  แต่ผู้วิจารณ์ก็เพียงตั้งข้อสังเกตเท่านั้น  ว่าไม่ค่อยแน่ใจ  ยังไม่ได้ ติ ว่า  อกกับอกมันจะซบกันได้หรือ  มันน่าจะ “แนบ” กันมากกว่ามั้ง?  

            ซึ่งถ้าจะว่ากันจริง ๆ ผู้ประพันธ์ คือท่านขรรค์ชัย บุนปาน ท่านก็น่าจะให้อกซบ กับ อก ได้อยู่  ทั้งนี้เพื่อเน้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวา  เน้นการออกอาการ และแสดงกิริยาตามจริงเป็น Present Continuous Tense มากขึ้น  กว่าที่จะให้อกแนบอก  ซึ่งออกอาการเป็น Present Simple Tense ธรรมดา

            อีกประการหนึ่ง  ยุคสมัยนี้เป็นยุคมัลติมีเดีย นมแนบนม โน้มนำให้เห็นภาพพจน์ศิลปะแบบที่ทางอัสดงคตเรียกว่า “Still Life” หรือรูปนิ่ง ๆ  ซึ่งในปัจจุบันสามารถนำไปใช้ต่อได้แค่ระดับ “picture post” เท่านั้น  ศิลปะรูปนิ่ง ๆ นี้เป็นศิลปะที่ไม่ได้เน้นภาพเคลื่อนไหวหรือมัลติมีเดียอันมีชีวิตชีวา  เฉกเช่นที่กิริยาซบ โน้มน้าวให้เราเห็น  และชี้ชวนให้เห็นลักษณะการกระทำการของกิริยาซบ ว่า  จะ “แฝงการไหวตัวมีชีวิตชีวาเล็กน้อย”  ไม่ได้บ่งการ นิ่งไม่ไหวติง อย่างกิริยา แนบ

            “สั่นสะท้าน  สยิวสะทก”  หลังจากที่อกซบอกแล้ว  ทีนี้ท่านขรรค์ชัย บุนปาน ก็เกิดการ “สั่นสะท้านสยิวสะทก”  ตามมา  แต่ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าน่าจะออกอาการด้วยกันทั้งสองฝ่ายมากกว่า  กล่าวคือ  ทั้งอกที่เข้ามาซบและอกที่โดนซบ  ต่างก็มีกิริยาและอารมณ์ดังกล่าวด้วยกัน  เราสามารถจินตนาการเห็นภาพเคลื่อนไหวมัลติมีเดียในประเด็นนี้ ได้ไม่ยาก 

            แต่ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกันว่า อกที่โดนซบ  อาจจะออกอาการ สยิวสะทก มากกว่าอกที่เข้ามาซบ  ซึ่งสำหรับการซบลักษณะนี้ ก็น่าที่จะมีการ ซุก ปนอยู่ด้วย  อันจะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ  มิใช่กรรมเดียว -- อย่างที่ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะกำลังเข้าใจอยู่  แต่เป็นการกระทำ ที่มีลำดับแตกออก เป็นสองกรรม(สองการกระทำ)  กล่าวคือ  ซบ = แนบ + ซุก

            ในกรณีที่เราสามารถเข้าใจและจินตนาการไปตามแนวนี้ได้  ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก  ก็จะทำให้เราซาบซึ้งกับคำว่า “สยิวสะทก” ได้ง่ายขึ้น  กล่าวคือ  แนบ ก่อให้เกิดการ สั่นสะท้าน  ส่วน ซุก คือบ่อเกิดโดยตรงของอาการ สยิวสะทก   การที่เราเข้าใจว่ามีกรรมเกิดขึ้นสองกรรม  นำผลมาสองสถาน  จึงน่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตรงประเด็น  และตรงความหมายอันละเอียดอ่อน แบบเครื่องยนต์สองจังหวะ  double actions หรือ  double happiness
ที่บทกวีกำลัง สื่อ ให้เราทราบ ตามจริง(realism)

            ท่านผู้อ่าน อ่านมาจนบัดนี้แล้ว  ยังข้องใจไหมครับว่าอาการ สยิวสะทก  พิจารณา ตามจริง แล้ว  คืออย่างไร? 

            ไม่ได้สู่รู้  แต่ขอแสดงความเห็น – เพื่อจะได้ลุล่วงผลปฏิบัติตามจริงเป็นปฏิเวธ(--ที่เขียนไปนั้น อย่านึกนะว่า ผู้เขียนเข้าใจว่าตนเองกำลังเขียนอะไร)  ขออนุญาตทำความกระจ่างให้เกิดแก่จิตใจท่านผู้อ่าน  แสดงสาธกโวหาร(-แปลว่า ยกตัวอย่างประกอบ)ว่า  สำหรับท่านที่ยังนึกสงสัยอาการ สยิวสะทก  ขอได้โปรดหยิบโทรศัพท์มือถือของท่านขึ้นมา  แล้วปรับเปลี่ยนการตั้งค่าเสียใหม่ดังนี้  การตั้งค่า-ตั้งค่าแบบเสียง-การสั่นเตือน  ในขั้นตอนสุดท้ายของการตั้งค่า ขอให้ท่านเลือกฟังชั่น สั่นเตือน  แล้วลองกดโทรศัพท์วานญาติสนิทมิตรสหาย ให้ช่วยโทรเข้ามาหน่อยเด้ะ  เด๋ว นี้เลย  กะลังลองของอยู่  จบแล้ววางเครื่องโทรศัพท์มือถือบนโต๊ะตรงหน้า  รอสายโทรเข้า..... 

            บัดเดี๋ยวนั้น  มีสัญญาณเรียกเข้ามา แต่เครื่องโทรศัพท์ของท่าน ที่วางอยู่บนโต๊ะตรงหน้าท่าน จะไม่ส่งเสียง   เครื่องโทรศัพท์กลับดิ้นพราด ๆ เล็กน้อย -- แต่ก็ไม่ถึงกับเว่อร์มาก  อยู่กับโต๊ะ  ดิ้นพราด ๆ ไปตามจังหวะของฟังชั่นสั่นเตือน แบบยี่ห้อใครยี่ห้อมัน  เรื่องนี้ไม่ต้องบรรยายขยายความต่อไปอีก  ท่านผู้อ่านก็จะได้ทราบ ตามจริง แล้วว่า อาการแบบนั้นของเครื่องโทรศัพท์มือถือ ก็คืออาการ สยิวสะทก นั่นเอง  ซึ่งก็แสดงว่าขณะที่กำลังอ่าน  ท่านผู้อ่านก็คงจะ กำลังคิดอะไรอยู่ในใจ เหมือนกันนะ  ไม่ใช่ผู้วิจารณ์บ้าอยู่คนเดียว

            “เป็นสิ่งสร้างสรรค์ เอามาก ๆ ใครคิดออกบ้าง? 

            ท่านผู้ประพันธ์ ท่านขรรค์ชัย บุนปาน เป็นคนแรก  เท่าที่ผู้วิจารณ์ทราบ  จึงไม่ต้องมัวถามให้เสียเวลาว่า คิดได้งัย?  เด๋วนี้เลย...ไปเด๋วนี้เลย  ไปจดลิขสิทธิ์คำเอาไว้  เพราะว่า  จะไม่มีบริษัทโทรศัพท์มือถือบริษัทใด จะยอมน้อยหน้าแก่กัน  ธุรกิจนี้เป็น ธุรกิจแห่งการเกินหน้าเกินตา ที่โดดเด่นที่สุดในโลกอยู่แล้ว   ในอนาคตอันไม่ไกล  เมื่อกิจการโทรศัพท์มือถือสร้างสรรค์มากบริษัทหนึ่ง  เปลี่ยนชื่อฟังชั่น สั่นเตือน ไปใช้ชื่อใหม่ว่าฟังชั่น สยิวสะทก ตามคำที่ถูกแจ้งจดลิขสิทธิ์   มือถือค่ายอื่น ๆ จะเป็นซัมซุง โนเกีย โซนี่อิริคสัน ฯลฯ จะนิ่งเฉยอยู่ แล้วปล่อยให้คู่แข่งเกินหน้าเกินตาไปได้งัย  ต่างก็จะพากันไปขอซื้อลิขสิทธิ์คำว่า สยิวสะทก มาใช้บ้าง  แล้วเปลี่ยนการตั้งค่าโทรศัพท์ยี่ห้อตน จากเดิมที่ว่า การตั้งค่า-ตั้งค่าแบบเสียง-การสั่นเตือน  มาเป็นแบบใหม่ทันสมัยและสร้างสรรค์ว่า  การตั้งค่า-ตั้งค่าแบบเสียง-สยิวสะทก   รายการนี้ยิ่งกว่ารวยเละ...เศรษฐกิจจะตกต่ำซบเซาเละตุ้มเป้ะอย่างไรก็ฉุดความรวยเราไว้ไม่อยู่  มันต้องรวยจนเละจนได้  เพราะในห้องประชุมสัมมนาต่าง ๆ ของคนรวย ๆ พิธีกรเธอจะประกาศว่า 
           
            “ท่านผู้เข้าสัมมนาทุกท่าน  โปรดเปลี่ยนการตั้งค่าโทรศัพท์มือถือของท่าน  ไปใช้ฟังชั่น  สยิวสะทก  ด้วยค่ะ 

-ตอนสุดท้าย  ผาย แผ่ผืนแผ่นอก  รับอ้อน

            คำโคลงบาทที่สองนี้  บทประพันธ์กลับหลังหัน  หมุนตัวร้อยแปดสิบองศา  สวนทางกับทิศทางเดิม!  ผู้วิจารณ์มีปัญหาอะไรหรือ?  มีมากเลยครับ  เพราะเริ่มประจักษ์ว่า เป็นไปได้ว่า คำวิจารณ์ที่วิจารณ์ไว้ในตอนก่อน  ผิดพลาดทั้งหมด  หรือ  เหลวไหลทั้งสิ้น

            เหลวไหลเพราะวิพากษ์วิจารณ์บาทแรกไว้เป็นวรรคเป็นเวรว่า  หน้าอกหนึ่งกำลังจะซบเข้ากับอีกหน้าอกหนึ่ง  ทำกิริยาสองจังหวะแบบ double happiness
ทั้งนี้โดยได้วิเคราะห์ศัพท์(deconstruction)คำว่า ซบ ไว้ด้วยว่า ประกอบด้วยกิริยา แนบ + ซุก   ตามสามัญสำนึกและตามประวัติวรรณคดี(นมแนบนมนิ่มน้อง.....) ชวนให้คิดไปว่า ใบหน้าฝ่ายชายคงเข้าไปซุกหน้าอกหญิง  เพราะถ้าปราศจากการ ซุก ก็จะมีการ ซบ ไม่ได้  จะเป็นเพียงแค่การ “แนบ” เฉย ๆ แบบร้อยกรองของโบราณที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง 

            แต่ครั้นได้อ่านบาทสอง  การณ์กลับตาลปัตร  หมุนตัวกลับหลังหัน  กลายเป็นว่าฝ่ายชายกำลังยืนผายปอดอย่างเต็มที่ ด้วยการหายใจลึก(deep breathing)  ทำให้กล้ามเนื้อยึดซี่โครง ขยายตัวยืดกล่องซี่โครงทั้งโครงขยายสุด ๆ  ยังผลให้ผืนอก แผ่พื้นที่กว้างออก  รอให้ฝ่ายหญิงเข้ามาอ้อน  คือแบบว่ารับอะไรไม่รับ  “รับอ้อน”ครับ – รับอ้อน  สำนวนนี้เด็ดขาดมากจริง ๆ  ผายแผ่ผืนแผ่นอก รับอ้อน โคตรสัมผัสในเลย..... ตัว ผ.ผึ่ง เพียบ

             เพราะฉะนั้น  การวิจารณ์ในตอนก่อนเหลวไหลไร้สาระ  รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด  เป็นความอุตริของผู้วิจารณ์เองแท้ ๆ   เพราะว่า – ที่จริงแล้วบทกวีกำลังแจ้งกระจ่างแจ่มแจ๋ว(ตัว จ.จาน เพียบ)ในบาทสองว่า  ฝ่ายชายกำลังยืดอก รอรับการเข้ามาอ้อนจากฝ่ายหญิงต่างหาก  ไม่ใช่กำลังแสดงกิริยาเข้าไปซบ หรือแนบ หรือ ซุกฝ่ายหญิง   

            โดยสามัญสำนึกของการอ่านโคลงกลอน  ลำดับขั้นตอนก่อนหลังของเหตุการณ์ในคำโคลง  กวีอาจสลับลำดับกลับศักราชเสียก็ได้  เพราะนี่คือ ภาษากวี  สมมติว่าเราลองสลับบาทดูเล่น ๆ  ด้วยการยกบาทสองขึ้นไว้เป็นบาทหนึ่ง  โดยไม่ยึดฉันทลักษณ์เป็นเกณฑ์  เราก็จะสามารถอ่านสลับลำดับเหตุการณ์ ได้ความว่า

                                                ผาย  แผ่ผืนแผ่นอก                รับอ้อน
                                                อก  ซบอกสั่นสะท้าน              สยิวสะทก

            OMG!  ได้ เสพ อรรถรสแปลกไปจากเดิม  หรืออย่างน้อยก็ไม่แพ้ของเดิม  เว้นแต่ว่าลำดับการพรรณนาเหตุการณ์ก่อนหลัง  สลับที่กันเท่านั้นเอง  คือ  ผายปอดก่อนแล้วเข้ามาซบทีหลัง  ในขณะที่ตามลำดับเหตุการณ์ในต้นฉบับ  อกจะซบอกสั่นสะท้านสยิวสะทก--กันก่อน  แล้วจึงค่อยยืนผายลม แผ่ผืนแผ่นอกรับอ้อน--กันทีหลัง

            ในขั้นตอนใหม่นี้  ประเด็นแห่งการพิจารณา จึงตกอยู่ที่ลักษณะข้อเท็จจริง  โดยมีข้อใหญ่ใจความขึ้นอยู่กับการตีความการแสดงเจตนา  หลักทั่วไปของการตีความการแสดงเจตนามีว่า “In the interpretation of a declaration of intention, the true intention is to be sought rather than the literal meaning of the words or expressions.” --Section 171, Chapter II: Declaration of Intention, The Civil and Commercial Code of Thailand

            ความหมายสรุปเป็นภาษาไทย คือ  เจตนาแท้จริง  สำคัญกว่าถ้อยคำสำนวน

            ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ฝ่ายชายอยู่เฉย ๆ ไม่ได้โน้มตัวเข้าหาฝ่ายหญิง  เพียงแต่ยืนแผ่ผืนแผ่นอก  มีเจตนาจะรอรับการอ้อนจากหญิงเท่านั้น  โดยที่ฝ่ายชายไม่ได้เข้าไปซุก  ไปซบ  หรือไปแนบฝ่ายหญิง(no movement)  แต่ว่าฝ่ายหญิงต่างหากที่จะเข้ามาอ้อน  เอาอกซบอกฝ่ายชาย  ซึ่งเมื่ออกซบอกแล้ว  ด้านบนก็ต้องใบหน้าซบใบหน้า  หรือแก้มซบแก้ม  ส่วนด้านล่างก็จะเป็นท้องซบท้อง...ประมาณนั้น  (--แม้จะอ้วนลงพุงด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราก็ไม่ว่ากัน)  ถ้าเรายึดเจตนาแห่งการซบของหญิงเป็นเกณฑ์  และถ้า ซบ = แนบ + ซุก  กิริยา ซบ ที่กระทำบนผืนแผ่นอกที่แผ่ขยาย  ยืดแบนออกไปอย่างแผ่นยางอิลาสติค  พิเคราะห์แล้วน่าจะยากอยู่ว่า การซุกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  เพราะว่าหน้าอกชายจะแบน ๆ ราบ ๆ ไม่มีลักษณะเป็นเนินเป็นลอนจะให้ซุก  จึงตีความว่า การแสดงกิริยายืนยืดอกรอรับอ้อน  ขัดกับเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายที่เคลื่อนตัวเข้ามาหา  ซึ่งต้องการจะ ซบ (=แนบ+ซุก )

            ดังนั้นการ ผายแผ่ผืนแผ่นอก จึงเป็นเพียงถ้อยคำสำนวนเปล่า ๆ เท่านั้น  เหมือนกับกังหันลมที่เขาปลดระหัดชักน้ำ  จึงหมุนติ้วฟรี ๆ อยู่ในนาเกลือ  โดยที่ตามจริงแล้วเหตุการณ์ อก ซบอกสั่นสะท้าน สยิวสะทก จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

            แต่ครั้นคิดทบทวนอีกทีก็เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าท่านผู้ประพันธ์ต้องการเพียงเท่านั้น  คือเขียนโคลงให้เหมือนกังหันลมหมุนติ้วฟรี ๆ อยู่ในนาเกลือ  เพราะฉะนั้น อีกทางหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ  ท่านอาจจะต้องการเพียงจะ paraphrase สำนวนเก่าที่ว่า นมแนบนมนิ่มน้อง เท่านั้นเอง  ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น --อย่าคิดมาก  ถึงในขั้นนี้ ก็สุดปัญญาที่ผู้วิจารณ์จะเข้าใจ (--ว่าท่านผู้ประพันธ์ จะไปทางไหนแน่  ต้องการจะแค่จะ paraphrase โคลงสำนวนเก่า  หรือว่าปรารถนาจะแต่งบทประพันธ์ขึ้นมาเป็นตัวของตัวเอง)


            แต่กระนั้นก็ดี  เมื่อได้พิเคราะห์ดูอยู่ครู่ใหญ่  ก็เห็นเงาราง ๆ ของตัวอย่างงานอื่นปรากฏขึ้นมาในมโนนึก (ตามประสาสู่รู้)  ที่พอจะสอดรับได้กับคำโคลงบาทที่สอง  ตัวอย่างงานอื่นชิ้นที่ว่านั้น มาช่วยคลิกนอกกรอบ ขับเคลื่อน ให้เขียนข้อวิจารณ์ได้ต่อไป  งานที่ว่านั้น  เป็นดังนี้   


            “.....จิวยืนอยู่ห่างจากเตานั้นเล็กน้อย  เขานุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเข้ม  ท่อนบนของร่างกายเปล่าเปลือย  ผิวขาวจัดของเขาถูกไอร้อนของน้ำมันที่เดือดพล่านอยู่ในกระทะรมเสียจนขึ้นสีระเรื่อแดง และเหงื่อที่พรั่งผุดออกมาตามขุมขนสะท้อนกับเปลวไฟที่แลบเลียอยู่ขอบกระทะ แลเป็นเงาวับ  เขากำลังใช้ตะหลิวด้ามยามคนกวนชั้นมันหมูที่กำลังถูกเคี่ยวลอยฟ่องอยู่บนกระทะอย่างขะมักเขม้น  สองมือของเขากำอยู่ที่ด้ามตะหลิว  ท่อนแขนที่ค่อย ๆ กวนตะหลิวไปมานั้นเกร็งเล็กน้อย  จนแลเห็นกล้ามเนื้อขึ้นเป็นลอน  เมื่อมองผาดผ่านมายังลำตัวของเขา  หล่อนก็ประจักษ์ถึงความล่ำสันแข็งแรงแผงอก  ล่ำสันแข็งแรง แม้จะไม่กำยำ ผายกว้าง แต่ก็มีมัดกล้ามดูทรงพลัง หน้าท้องราบเรียบบ่งบอกว่า ทำงานออกกำลังอยู่เป็นนิจ....” 
--จาก “กตัญญูพิศวาส” ของ หยก บูรพา
หมายเหตุ—อักษรตัวหนา ผู้วิจารณ์เป็นผู้เน้น

            คงไม่ง่ายเลย  ที่ใครจะอ่านพบ ฉากเคี่ยวน้ำมันหมู ที่ไหนจะชวน เซ็กซี่ six-pack”  ไปกว่าฉากนี้ (อักษรตัวเน้นตัวหนาและขีดเส้นใต้  ผู้วิจารณ์ได้ทำขึ้นเอง  ไม่ได้มีอยู่ในต้นฉบับ)  อันที่จริงในโลกวรรณกรรมทั้งโลก  ไม่ว่างานของชาติภาษาใด  ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน  และแม้เราจะตัดดินแดนตะวันออกกลางทิ้งไปแล้ว (เพราะมีมันหมูเข้ามาเกี่ยว)  โลกวรรณกรรมทั้งโลกก็อาจมีฉากเคี่ยวน้ำมันหมูอยู่เพียงฉากนี้ฉากเดียวเท่านั้น  ซึ่งด้วยการเขียนพรรณนาอันยากที่จะติท่านได้  ตามตัวอย่างดังกล่าว  ชวนให้เราตระหนักขึ้นมาซ้ำสอง ถึงสไตล์การประพันธ์ประเภท ตามจริง (realism)”   ท่านผู้ประพันธ์ได้แสดงกิจกรรมการทำมาหากิน “ตามจริง” ของคน และท่านได้วาดสรีระหน้าอก ตามจริง  ไว้ล้อรับกันได้เลย กับคำโคลง อกผายไหล่ผึ่ง ของท่านขรรค์ชัย บุนปาน โดยท่านบอกว่า 

          “แผงอก ล่ำสันแข็งแรง  แม้จะไม่กำยำ ผายกว้าง  แต่ก็มีมัดกล้ามดูทรงพลัง...”  

            เพราะฉะนั้น  หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้ลองคลิกนอกกรอบ  ขับเคลื่อนดำเนินการสลับบาทคำโคลงเพื่อจะหาความหมาย  หากท่านจะขอยืมแผงอกของ จิว ในเรื่อง กตัญญูพิศวาส มากระทำกิริยา ผาย แผ่ผืนแผ่นอก  รับอ้อน  ก็ไม่น่าจะเป็นการยืมใช้คงรูปประเภท คนละเรื่อง เดียวกัน  น่าจะยังคงเป็นการยืมใช้คงรูปเรื่องเดียวกันอยู่  แต่ คนละคน เดียวกัน เท่านั้น 

            อีกประการหนึ่ง  บทกวีมิได้กำหนดตัวผู้ที่จะมาอ้อนลงไว้อย่างเป็นการแน่นอน  ทว่าเปิดตัวเลือก(option)ที่จะเข้ามาอ้อนไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้หมายหรือคัดเลือก  หรือชี้ตัวแน่นอน  ขณะที่ตามบทประพันธ์ร้อยแก้ว กตัญญูพิศวาส  ผู้ที่ถูกหมายไว้ว่าจะมาอ้อนแผ่นอกเซ็กซี่  และหน้าท้อง six-pack ดังกล่าว  มีตัวตนกำหนดไว้แน่นอน  ดังระบุไว้ในประโยคที่ว่า หล่อน ก็ประจักษ์ถึงความล่ำสันแข็งแรงแผงอก.....”   สรรพนาม หล่อน  บ่งชี้เฉพาะตัวว่าแผงอกของ จิว จะ“รับอ้อน” หญืงนั้นเป็นแน่นอน          

            หวนกลับไปยกบทกวีสเปน  El amor duerme en el pecho del poeta  หรือ  รักนั้น...หลับอยู่ในอกของกวี  ของ เฟรดเดริโก  กาเซีย  ลอร์กา  มาเทียบดู  ตอนหนึ่งที่เขียนว่า

Norma que agita igual carne y lucero
traspasa ya mi pecho dolorido
y las turbias palabras han mordido
las alas de tu espíritu severo.

 กฎที่บังคับเสมอกัน  ทั้งเนื้อหนังมังสาและแม้ดาวรุ่ง
           แทงอกฉัน  เจ็บปวด
           แล้วถ้อยคำอันเชือดเฉือนก็รี่เข้าขวิด
           ปีกแห่งจิตวิญญาณอันเข้มงวดของเธอ

             แม้คำแปลเป็นภาษาไทยของผู้วิจารณ์  จะสูญอรรถรสภาษาสเปนต้นฉบับไปมาก  แต่ก็คงพอจะแย้มให้เห็นได้ว่า บทประพันธ์  “รักนั้น...หลับอยู่ในอกของกวี”  เป็นบทประพันธ์คนละลักษณะลีลา และคนละท่วงทำนอง  กับทั้งบทประพันธ์ “กตัญญูพิศวาส”  และบทประพันธ์  “อกผายไหล่ผึ่ง” 

            เนื่องจาก ลอร์กา ไม่ได้ติดอยู่เพียงภาพภายนอกของแผ่นอก  แต่จินตนาการลึกลงไปถึงในอก  ด้วยการอุปมาอุปมัยว่า อกนั้นถูกแทงด้วยกฎที่บังคับเอากับร่างกายคนและกับดาวรุ่งบนฟ้าอย่างเสมอภาคกัน(เท่า ๆ กัน)  ชวนให้เราเข้าใจว่า ความเจ็บปวดที่เกิดตามมาคงจะลึกซึ้งเอามาก ๆ ทำนอง เจ็บนี้อีกนาน....เจ็บนี้ไม่ลืม ของ เสี่ยพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (--ขออภัยที่พาดพิง)  ถ้าจะนำความเจ็บปวดขนาดนั้นเทียบกับ ความเสียว   ก็น่าจะเกินกว่าความเสียวระดับ สยิวสะทก   อีกนัยหนึ่งจะต้องเสียวเกินฟังชั่นสั่นเตือนของโทรศัพท์มือถือ  อาจจะต้องได้อารมณ์ถึงระดับมือถือระเบิด  และไม่ได้ระเบิดอย่างธรรมดา  แต่ระเบิดเป็นจุลมหาจุล  ประมาณปรมาณูลูกเล็ก ๆ  

            นอกจากนั้น  ทั้งบทประพันธ์ กตัญญูพิศวาส และบทกวี  อกผายไหล่ผึ่ง  ผู้วิจารณ์เห็นว่าน่าจะ ซื่อและตรง  คล้ายภาพเขียนภาพนี้  


แม้ภาพเขียนตระกูลนี้จะ ขาดความลึก  ดังที่ท่านผู้อ่านแลเห็นอยู่กับตาว่า มันราบ ๆ แบน ๆ  แต่ผู้นิยมงานศิลป์ชนิดนี้จะแจงกับเราได้ว่า  สไตล์ของเขาเป็นอย่างนั้นเอง  ใช่ว่าศิลปินคนที่วาดจะไร้ฝีมือ  ศิลปินจีนยุคปัจจุบันผู้วาดภาพข้างบนนั้น  มีผลงานนิยมกันในตลาดงานศิลป์ในประเทศตะวันตกมากพอสมควร  และขายงานได้ราคามิใช่น้อย ๆ  งานบางชิ้นของท่านขายได้เกือบ 20 ล้านบาท  ทุกวันนี้ท่านก็ยังอยู่ในประเทศจีน  ทั้ง ๆ ที่ท่านใช้งานของท่านวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน  พร้อม ๆ กับที่วิจารณ์ทุนนิยมไปด้วย  โดยคัดเอาสิ่งที่เหมือน ๆ กันหรือคล้าย ๆ กันขึ้นมาว่ากล่าว  เพราะว่าในสายตาของท่าน  งานโฆษณาสินค้าในระบบทุนนิยม  ก็ใช้หลักเดียวกันกับการโฆษณาทางการเมืองชนิด ตามจริงแบบสังคมนิยม หรือ socialist realism ที่เฟื่องฟูในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ในประเทศจีน 

อย่างไรก็ดี  แม้ว่ามองผาด ๆ ภาพตระกูลนี้จะขาดความลึก  แต่ผู้ที่ซื้องานของท่านในตลาดตะวันตก  ก็คงจะมีสายตาพิจารณางานศิลป์  โดยที่ไม่ได้คิดนอกกรอบไปจากแนวของอะริสโตเติล  ผู้เป็นบิดาแห่งการวิจารณ์งานศิลป์ทางตะวันตก (ซึ่งทางตะวันออกสมัยใหม่ก็รับหลักการมาใช้)  อะริสโตเติ้ล  เห็นว่า เจตนาของงานศิลป์ไม่ได้มีเท่าที่ทำออกมาให้ตาแลเห็น  แต่ลึกลงไปจะต้องมีอะไรที่สำคัญแฝงอยู่  “The aim of art is to represent not the outward appearance of things, but their inward significance.” – Aristotle

ด้วยประการฉะนี้  เราจึงไม่อาจจะยุติการวิจารณ์คำโคลง อกผายไหล่ผึ่ง ไว้ด้วน ๆ เพียงเท่านี้ได้  จะต้องพิจารณากันต่อไป ด้วยการอ่านบาทที่สาม  โดยจะขออ่านทวนสองบาทแรกไปพร้อม ๆ ด้วย  ว่า

อก      ซบอกสั่นสะท้าน          สยิวสะทก
ผาย     แผ่ผืนแผ่นอก                       รับอ้อน
แล้วต่อด้วยบาทที่สาม  ว่า...
ไหล่     แบกโลกเข็นครก                    เอวคราก

            เอวคราก? (ว๊าย ห่นหลี)  นึกไม่ถึงว่าท่านผู้ประพันธ์จะเล่นมุขนี้  เจตนาจะแกล้งกันเปล่า เนี่ยะ? 

หลังจากที่ท่านเวอร์คอารมณ์ผู้อ่านจนของขึ้น ได้ระดับ สยิวสะทก  กับสองบาทแรกมาแล้ว  กวีนิพนธ์บาทที่สามของท่าน ก็ถีบผู้อ่านตกเตียง  หรือตกแคร่  หรือตกเปลญวน  หรือพลัดตกเถียงนา  กระชากมู้ดสู่โลกแห่งสัจจะนิยมในโหมด Socialist Realism หรือสัจจะสังคมนิยมอย่างแท้จริง  โดยไล่ให้ไปแบกโลกทั้งใบด้วยไหล่ (ปกติต้องแบกด้วยบ่า)  และยังให้เข็นครกอีกนะ - ทำเล่นไป  กิจกรรมสองอย่างนี้ต้องหนักหนาสาหัสน่าดูชม  คงจะไม่เหมือนกับแบกกระสอบข้าวสารลงเรือธรรมดา ๆ  มันคงต้องขนาด ซิซิฟฟุส เข็นครกขึ้นเขา  มิฉะนั้นจะ เอวคราก ได้อย่างไรกัน  OMG! แกล้งกันเปล่าครับ เนี่ยะ?

            โชคดีแท้  อารมณ์ขันของผู้วิจารณ์ยังคงเหลือพออยู่บ้าง  แม้จะริบหรี่  จึงสามารถอ่านบาทที่สี่  อันเป็นบาทสุดท้ายของคำโคลงต่อไปได้ จนจบบท ว่า

                   ผึ่ง      แดดผึ่งลมร้อน            เพิ่งรู้ธุลีเดียว

            ซึ่งบาทสุดท้าย -- เป็นบาทที่เศร้าที่สุดของบทกวีบทนี้ 
What a sadland. Sooo…sad!  เพราะหลังจากที่ เอวคราก มาจากบาทที่สาม  ยังโดนจับไปผึ่งแดดผึ่งลมรวมทั้งผึ่งขี้ฝุ่น (...เพิ่งรู้ธุลีเดียว)  ราวกับตากเนื้อแดดเดียวริมทาง  เพื่อจะย่างขายในร้านจิ้มจุ่ม_เนื้อย่าง_เกาหลี  ริมถนนมิตรภาพ 

สรุปว่า คำโคลงบทนี้  บาทแรกทำท่า Romantic realism บาทที่สองออกไปทาง Erotic realism  บาทที่สามกลายเป็น Socialist Realism(หรืออาจจะเพียงแค่ Social Realism)  ส่วนบาทสุดท้าย เข้าข่ายทรมานรักที่อาจถึงระดับ kinky sex scene

            Le poet est le musicien des mots. ประโยคภาษาฝรั่งเศสประโยคนี้จำมาจากไหนก็ไม่รู้  เนื่องจากเชื่อว่าเป็นคำสัจจ์  จึงจำไว้แต่คำพูด ไม่ได้จำที่มาที่ไป  ประโยคนี้หมายความว่า  กวีคือนักดนตรีแห่งถ้อยคำ  แปลเป็นอังกฤษว่า The poet is the musician of words.

นับได้ว่าท่านผู้ประพันธ์ คือท่านขรรค์ชัย บุนปาน เป็นนักดนตรีที่ปรับเปลี่ยน กระชากอารมณ์ให้ตัดกันได้เฉียบพลันและทันควัน  ท่วงทำนองดนตรีที่ท่านกำลังเล่น (หรือที่ท่านกำลังทำเพลง) ใช่ลำนำพื้น ๆ เจนหูคนที่ไหนกันไม่ธรรมดาเลยนะเนี่ยะ

            หลาย ๆ คน ผู้คิดว่าตัวเองเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่  ก็ขี้มักจะเป็นเสียอย่างนี้  

สรุปบทวิจารณ์

          เมื่อแรกได้อ่านบทร้อยกรอง ผู้วิจารณ์สงสัยอยู่ว่า ท่านผู้ประพันธ์ คุณขรรค์ชัย บุนปาน ท่านน่าจะแยกไม่ออกหรือเปล่า ระหว่าง poetry กับ pornography?

            แต่ครั้นได้อ่านโคลงของท่านอย่างละเอียด  แล้วตีแผ่ แจกแจง แสดงความคิดเห็น อ้างเหตุผล สะท้อนเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ได้ประมาณยี่สิบหน้ากระดาษ – ดังที่เสนอไปแล้วนั้น  ผู้วิจารณ์ก็ไม่นึกสงสัยอีกต่อไป เกี่ยวกับขีดความสามารถเชิงวรรณศิลป์ ของคุณขรรค์ชัย บุนปาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผายแผ่ผืนแผ่นอก  รับอ้อน   นั้น  
ผู้วิจารณ์ลองแต่งเลียนขึ้นมาบ้างว่า
ถ่างถางถ่างถะแหง(แถง)  รับอะไรดีฤๅ

--ก็จนแต้ม ไม่สามารถแต่งต่อไปได้ว่า ถ่าง รับอะไร?  แสดงให้เห็นถึงความไร้ฝีมือของผู้วิจารณ์


            ส่วนที่ว่าจะมีสติปัญญา -- รู้จักใช้เหตุผล จนประจักษ์แจ้งถึงเผ่าพันธุ์ poetry กับ pornography ว่าแตกต่างเป็นคนละพันธุ์กัน  แล้วแสดงออกมาด้วยร้อยกรองเป็นหลักฐานให้พิสูจน์กันได้ ของคุณขรรค์ชัย บุนปาน เล่า – ก็ปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัยอย่างเหี้ยนเต้(เกลี้ยง) เช่นเดียวกัน

              Reason is the enumeration of qualities already known; imagination is the perception of the value of those qualities, both separately and as a whole. Reason respects the differences, and imagination the similitudes of things. Reason is to imagination as the instrument to the agent, as the body to the spirit, as the shadow to the substance.

 Poetry, in a general sense, may be defined to be ―the expression of the imagination…

----คัดจาก  Percy Bysshe Shelley, “In Defense of Poetry”, English Essays: Sidney to Macaulay. The Harvard Classics. 1909–14.


            ขอกลับไปยังคำถามตอนต้นบทวิจารณ์ ที่ว่า “นี่เป็นบทกวีหรือ?  หรือแม้แต่จะเป็นคำโคลง – นี่คือคำโคลงหรือครับ ศรีปราชญ์?” 

วิญญูชนย่อมประจักษ์กันดีว่า  วรรณศิลป์กับตรรกะมีระเบียบวิธีเป็นคนละเผ่าพันธุ์กัน  ซึ่ง “In Defense of Poetry” ก็แยกไว้เช่นเดียวกัน  ในกรณีของเรา-สองเรื่องนี้ผู้วิจารณ์จะนำมาพิจารณามั่ว ๆ ปนกันได้ยาก และไม่ยุติธรรมที่จะใช้เกณฑ์พิจารณาเรื่องหนึ่ง มาใช้พิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง  ภาษากวีมีสิทธิพูดว่า “หมูตัวโตเท่าควาย”   แต่โดยทั่วไปแล้วภาษาตรรกะไม่มีสิทธิจะพูดเช่นนั้น  ทว่าภาษาตรรกะมีสิทธิพูดว่า “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”  ซึ่งสมเหตุสมผล  ส่วนภาษากวีเช่น กวีไฮกุ ก็สามารถที่ใช้โวหารปรับเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ก็ได้ เช่น

“แก่เพราะกินหญ้า บ้า ๆ แล้วยังอยู่นานอีกแน้ะ - ดูเด่ะ” 


ท่านนิรันดรกาลอมตะอภิมหา ขรรค์ชัย บุนปาน  เจ้าของโคลง อกผาย(ลม)ไหล่ผึ่ง นั้น บทประพันธ์ของท่านบทนี้  ถ้าจะใช้ไวยากรณ์ของตรรกะมาเทียบเคียง ก็น่าจะยังยุติธรรมอยู่  ดังนี้ครับ – การอ้างเหตุผลหรือการให้เหตุผล  ที่ถูกต้องตาม รูปแบบ ของการอ้างเหตุผลนิรนัยนั้น  ท่านถือว่าเป็นการอ้างเหตุผลที่ สมเหตุสมผล ภาษาอังกฤษว่า valid

ประเด็นอยู่ที่ “รูปแบบ” ของการใช้เหตุผลชนิดนั้น(ตรรกะนิรนัย)  บทร้อยกรองภาษาไทยก็มี “รูปแบบ” ของคำประพันธ์แต่ละชนิด  เราอาจกล่าวรวม ๆ สรรเสริญ ท่านนิรันดรกาลอมตะอภิมหา ขรรค์ชัย บุนปาน ได้ว่าท่านประพันธ์ถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ  ติอะไรท่านไม่ได้ - ถ้าจะว่ากันโดยรวม

แต่,,,,,ในตรรกะก็ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า  การอ้างเหตุผลแม้จะสมเหตุสมผล คือ ถูกต้องตามรูปแบบ แล้วก็ตาม  ก็ยังมีสิทธิที่จะ “ไม่สมบูรณ์” หรือ unsound ได้  ซึ่งมีข้อพิจารณาที่เราจะไม่ลงรายละเอียด  อย่างไรก็ตาม-ถ้าเราจะเทียบเคียงในครรลองนี้ บทประพันธ์ที่มี “รูปแบบ” ถูกต้องตามฉันทลักษณ์  แต่ในเชิงวรรณศิลป์อาจจะไม่เข้าขั้นเป็น บทกวีนิพนธ์หรือบทร้อยกรอง--ก็ได้  ซึ่งผู้วิจารณ์จะไม่ตัดสินแทนท่านผู้อ่านว่า ข้อเขียนของท่านนิรันดรกาลอมตะอภิมหา ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบทกวีหรือเป่ลา?  ผู้อ่านแต่ละท่านคงจะต้องคิดตัดสินเอาเอง  ตัวใครตัวมัน.....สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ

ทั้งนี้ โดยที่ผู้วิจารณ์ขออนุญาตแบ่งปันสักนิดว่า  โปรดอ่าน “In Defense of Poetry”  เป็นแนวทางประกอบการพิจารณาตัดสิน – ถ้าท่านต้องการแนวคิดเพิ่มเติม  หรือจะศึกษาเอาจากหลักภาษาไทย ของท่านผู้รู้สักท่านก็ได้

            เพราะฉะนั้น จึงยังเหลืออยู่แต่ความข้องใจในชีวิตอนาคตเท่านั้นที่เป็นปัญหา  กล่าวคือ ผู้วิจารณ์ข้องใจอยู่ว่า เมื่อใดหนอจะมีการถ่ายทำโคลงบทนี้ ออกมาเป็นหนังวีดีโอ  ซึ่งผู้วิจารณ์และมิตรสหายหลายคนชอบเสพ(ดู)  หากได้ถ่ายทำเป็นหนังวีดีโอเมื่อไรแล้วละก้อ  ขอร้องไว้ล่วงหน้าเลย (เพราะเราจับทางกันถูกแล้ว) ว่าอย่าได้แสดงเสียเองเป็นอันขาด  หวังว่าคงจะไม่สำคัญตนผิด ๆ เพี้ยน ๆ ไปได้ถึงเพียงนั้น  กรุณาเถอะ--โปรดใช้ผู้แสดงแทน หรือพวกสตันแมน ด้วยเถิด เจ้าประคู้ณณณ.....ประเดี๋ยวจะสยิวสะทก กระดกเด้ง กระเด้า ไปกันใหญ่

            ผู้วิจารณ์ได้ทำความเห็นเป็นที่ยุติ เสนอต่อตนเองว่า  คำโคลงบทนี้พยายามจะพูดระบาย “ความเงี่ยน” อันเก็บกด  มากกว่าที่จะพูดพรรณนา “ความรัก”  – ขออภัย ที่พูดตรงใจนึก 

สุดท้าย  หากคำวิจารณ์ละลาบละล้วง  ไม่สบอารมณ์ท่านผู้ประพันธ์ด้วยประเด็น  หรือโดยประการใด ๆ ก็ดี  ผู้วิจารณ์กราบขออภัย--ผ่านทางสัญญาณดิจิทัล มา ณ ที่นี้ 

อันที่จริงแล้ว การที่งานของท่านจะเป็นที่พอใจ/ไม่พอใจของผู้วิจารณ์  หรือของผู้อ่านท่านอื่นใด  ก็หาสำคัญไม่  เรื่องที่สำคัญก็คือเราพึงสำเหนียก ว่า การที่คน ๆ หนึ่งเขาพยายามจะเขียนบทกวีขึ้นมาบทหนึ่ง แม้จะทุลักทุเลเต็มที เขาคงมีเรื่องสำคัญจะพูด  จะแถลง จะแบ่งปันกับผู้อื่น (ปันกับโลก)เป็นแน่  แต่การที่เขาสื่อกับเราได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง  ก็เนื่องจากปัญหาฝ่ายเราผู้อ่าน  เราพร่องความสามารถที่จะรับ และแปลงสัญญาณได้อย่างถูกต้องครบถ้วนต่างหาก  เราต้องโทษตัวเองไว้ก่อน

แต่อย่างไรก็ดี  ก็มีอยู่เหมือนกันนะ  ที่แก้วกวีบางคนเขียนโคลงโดด ๆ บทเดียวสามารถสื่อผ่านได้กับคนทั้งโลก  ยกตัวอย่างเช่น

" Mangez sur l'herbe
Dépêchez-vous
Un jour ou l'autre
L'herbe mangera sur vous "
                                                                         
                                   -Jacques Prévert  แก้วกวีชาวฝรั่งเศส

"Eat on the grass;
Hurry up,
Sooner or later,
The grass will eat on you."  




หมายเหตุ คำโคลง อกผายไหล่ผึ่ง / ขรรค์ชัย บุนปาน  ตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552  หน้า 12 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น