open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

VillageLife นักเขียนที่ “เลว” คือ อย่างไร?





คอมเมนนี้ แปลจับใจความคำสอนในวีดีโอ 

“เลว” แปลตรงตัวจาก “bad” ซึ่งคำแปลภาษาไทยฟังดูหนักหน่วงไปนิดนึง “bad” ไม่ถึงกับเลวมากมายอะไร น่าจะแปลว่า “ไม่ดี” จะดีกว่า

แต่ถ้าแปลว่า ไม่ดี ผู้เขียนบลอคเห็นว่า จะเบาไปหน่อย ก็เลยเลือกที่จะใช้คำว่า “เลว” ในความหมายว่า “ไม่ดี” ไม่ใช่ในความหมายว่า ชั่วช้า

คำว่า “นักเขียน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนักเขียนรางวัลโนเบล หรือศิลปินแห่งชาติ แต่หมายถึงคนรักการขีดเขียนทุกคน รวมทั้งผู้เขียนบลอคนี้ด้วย และหมายถึงคนรักการขีดเขียนในรูปแบบ ชนิด หรือ genre และสไตล์ต่าง ๆ นานา

ท่านว่า “นักเขียนที่เลว คือ นักเขียนที่ไม่มีอะไรจะเขียน”

“Bad writers have nothing to say.”

คือ นักเขียนที่ตัวเองไม่มีอะไรจะเขียน คอยแต่จะก็อปผู้อื่นอยู่ร่ำไป โดยที่ไม่รู้จักที่จะคิดเองบ้างเลย

เช่น พบเห็นปรากฏการณ์งานขายดีฤดูที่แล้ว ตัวก็จะเขียนอย่างนั้นบ้าง หรือว่าพักนี้เขา ฮิต-อิน-ฟิน กันเรื่องอะไร กูก็จะไปทางนั้นกับเขาบ้าง ครูเล่าว่า หลังจากเรื่อง Boys Don’t Cry ออกมาทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ปรากฏว่าในวงการฮอลลีวูด ทะลักท่วม เอ่อนอง หลากไปด้วยจดหมายเสนองานทำนองคล้าย ๆ กัน อันได้แก่ เรื่องพิสวาสแปลก ๆ ของคนที่อยู่อาศัยในเมืองเล็ก ๆ ในชนบทของสหรัฐอเมริกา

คนรักการขีดเขียนที่เลว – bad writers – หวังยอดขาย มากกว่าที่จะกังวลเรื่องความคิดความอ่าน จินตนาการ หรือศิลปะ

นักเขียนที่เลวแม้จะมีผลงานมาแล้วยี่สิบเรื่อง ครูบอกว่า ใช่ว่าเขาจะมีฝีมือการเขียน – the craft of exposition

เรื่องนี้ – the craft of exposition – เป็นเรื่องสำคัญขั้นต้นที่คนรักการขีดเขียน หรือนักเขียน จะต้องฝึกฝน สร้างสมประสบการณ์

ครูท่านอ่านงานไม่กี่บรรทัดท่านก็สามารถรู้ได้ว่า คนเขียนมีฝีมือในการนำเสนอเรื่อง มากน้อยเพียงใด หรือว่าไม่มีเลย

ท่านบอกต่อไปว่า ผู้ที่มีฝีมือในการนำเสนอเรื่องราว – the craft of exposition – เขาเข้าใจลึกซึ้งถึงฝีมือการนำเสนอเรื่อง เขารู้จักที่จะดึงความสนใจ เรียกร้องความสนใจของผู้อ่านเข้ามาในเรื่องราวที่เขียน โดยไม่ได้ใช้วิธีฉุดกระชากลากถูเข้ามา หรือด่วนนำเข้ามาก่อนเวลาอันควร  แต่จะทำให้ผู้อ่านใจจดใจจ่อกับเรื่องด้วยความอยากรู้อยากเห็น ด้วยจิตใจที่รู้จักเห็นอกเขาอกเรากับเพื่อนมนุษย์

กระบวนการนี้เขาจะเลียบเคียงทำ ทำอ้อม ๆ แลไม่เห็น และผู้อ่านไม่รู้ตัว
เทคนิค หรือ ฝีมือ เรื่องนี้อย่างเดียว ท่านว่าต้องใช้เวลาฝึกฝนนานนับเป็นปี ๆ ไม่ใช่วันสองวัน หรือเดือนสองเดือน

นั่นเป็นเรื่องฝีมือ ต่อไปเป็นเรื่อง ศิลปะ หรือจินตนาการ

ครูสอนว่า เวลาเขาแข่งกีฬาโอลิมปิคบางประเภท เช่น สะเก็ตศิลป์ หรือ ยิมนาสติค จะมีคณะกรรมการผู้ให้คะแนนคอยพิจารณาการแสดงความสามารถของนักกีฬา ครูถามว่า รู้มั้ยกรรมการตัดสินเขาใช้เกณฑ์อะไรมาพิจารณาให้คะแนน กรรมการตัดสินเขา “มองหาอะไร” เพื่อให้คะแนน 1 ถึง 10

ครูบอกว่า กรรมการอาจใช้เกณฑ์ เช่น ตัดสินความรู้สึก อาการผ่อนคลายไม่เกร็งระหว่างการแสดง พิจารณาลักษณะที่ส่อความมั่นใจระหว่างการแสดง ดูความมีสมาธิในการแสดง แล้วอาจพิจารณา “มุมตก” ของใบมีดสะเก็ต ว่าตกลงกับพื้นน้ำแข็งด้วยองศาประมาณเท่าไร เป็นต้น

ฉันใดก็ฉันนั้น การเขียนก็เป็น “การแสดง” ชนิดหนึ่ง หรือเป็น “performance” อย่างหนึ่ง เหมือนกับกีฬาสะเกตน้ำแข็ง หรือ ยิมนาสติค หรือการเต้นรำ ความแม่นยำเที่ยงตรงของประเด็นการเขียน จังหวะจะโคน นี่ก็น่าจะใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินผลงานเขียนได้




การเต้นรำก็เป็นการแสดงออกด้านฝีมือ(craftmanship) เช่นเดียวกับการเขียน และก็อาจเป็นการแสดงออกเชิงศิลปะ(art) ด้วยก็ได้ การเขียนก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านอาจจะไม่มีวันรู้ได้ว่า คนเขียนหนังสือได้แรงบันดาลใจมาจากไหน?  อาจได้จากการชมการเต้นรำประกวดข้างบนนั้น หรือจากการชมภาพเขียน หรือฟังเพลง หรือดูลิเก หรือดูมโนราห์หนังตะลุง หรือฟังมโหรีเพลงบีโธเฟน - ซึ่งท่านว่าขี้มักจะจบแบบสุขนาฏกรรม – happy ending


ครูพูดว่า ฝีมือ หรือ craftsmanship เป็นเรื่องหนึ่งแต่มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักเขียนมีอะไรจะพูดจะเขียนหรือเปล่า? (something to say)

ครูยกตัวอย่างคนมีฝีมือเลอเลิศ แต่ไม่มีอะไรจะพูด ได้แก่นายสตีเวน สปีลเบิร์ก คน ๆ นี้ไม่มีอะไรจะพูด เขามีจิตใจหนังสือการ์ตูน – a comic book mind เขาไม่มีสาระอะไรจะบอกกล่าว

กระนั้นก็ดี ยังมีคนอีกหลายคนที่ต่อสู้ดิ้นรนอยู่กับการสร้างสมฝีมือ โดยที่เขามี passion ที่บางคนแปลว่า หลงใหล บางคนแปลว่า กระสัน เขามี insight เขาเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ มีจินตนาการอันวิเศษถึงโลกทางเลือก คนพวกนี้มีอยู่ในงานเขียนทุกชนิดงาน(any genre)

เห็นมั้ยล่ะว่า การมีฝีมือใช่ว่าจะเป็นหลักประกันว่า นักเขียนจะสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยม

แต่นั่นแหละ ครูสรุปว่า ดูเหมือนคนเราถ้าไร้ฝีมือเสียแล้ว ก็มักจะขาดจินตนาการด้วย ดังนั้น นักเขียนที่เลว(ไร้ฝีมือ) จึงมักจะไม่มีอะไรจะพูดจะเขียนไปพร้อม ๆ กันเป็นธรรมดา (ครูหัวเราะ แต่ผู้เขียนบลอค หัวเราะไม่ออก...)


เดฟ นาพญา

บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น