open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สรุปเป็นภาษาไทย หนังสือ Golden Passport วิจารณ์รร.บริหารธุรกิจ ฮาร์วาร์ด


 

หนังสือ “the Golden Passport”  หนาประมาณ 600 หน้า
By Duff McDonald
ปรีชา ทิวะหุต  ย่อสั้น 20 หน้า
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วย จิตวิญญาณบานแผนกหนึ่ง ของประเทศและประชาชนชาวอเมริกัน ในแง่มุมที่เรามักจะมองข้ามไป เพราะเราเพียงแต่รับรู้กันมาว่า ประเทศนี้เป็นประเทศ “พ่อค้า”  แล้วเราก็ไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้งไปกว่าการยอมรับอย่างฉาบฉวย ดังกล่าวนั้น

หนังสือเล่มนี้ ขุดค้นและหยิบยกจิตวิญญาณอเมริกันขึ้นมาตีแผ่ เล่าเป็นประวัติศาสตร์ โดยอาศัยความเพียรและวิวัฒนาการในการพยายามก่อตั้ง “โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด” เป็นตัวอย่าง เป็นเนื้อหา และเป็นประเด็นชูโรง

-------------------------------------------------------------------------------------
หนังสือพิมพ์ นิว ยอร์ค ไทม์ เขียนไว้ในปี 1978 หรือประมาณยี่สิบปีก่อนว่า วุฒิบัตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ(MBA)จาก โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด(HBS) เปรียบดุจหนังสือเดินทางแผ่นทอง ไปสู่ชีวิตที่มั่งคั่งสมบูรณ์

แต่ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในระยะหลัง ๆ นี้ สื่อมวลชนสหรัฐกล่าวหาว่า โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ดเป็นตัวการสั่งสอนอบรมผู้บริหาร ให้มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเกือบทำให้เศรษฐกิจโลกล่มจม


นายเคซี เจอรัล บัณฑิตผิวหมึกของโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ออกมาให้สัตยาบันกับสังคมในวันรับปริญญาว่า โรงเรียนยังซื่อตรงต่อเจตนารมณ์แรกเริ่มที่ว่า “จะให้การศึกษาและอบรมผู้นำ ที่จะสร้างความแตกต่างในเชิงบวกขึ้นมาในโลก” เขาและเพื่อน ๆ สองสามคน ปฏิเสธรายได้ปีละ 175,000 ดอลลาร์ ออกมาตั้งกิจการที่ไม่หวังผลกำไร ชื่อ “MBA Across America” มีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวเอ็มบีเอ หันมาทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ(ต่อสังคม) และมีภารกิจชัดเจน ทั่วสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นายเคซี เจอรัล เห็นว่าโรงเรียนทำดีแล้ว ที่

“ฝึกสอนให้คนรู้จักเผชิญกับสถานการณ์คับขัน คลุมเครือ ไม่แน่นอน โดยมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ต้องเสี่ยงกับผลที่คาดเดายาก มีกำหนดเวลาจวนแจ ทั้งนี้โดยให้รู้จักหาทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุด หวังผลได้ดีที่สุด และทรงพลัง”

แต่ เขาติงว่า คนที่มีขีดความสามารถชนิดนี้ อาจใช้ทักษะของได้สองทางพร้อม ๆ กัน คือ สร้างบริษัทที่ใหญ่ยิ่ง พร้อม ๆ กับทำลายล้างโลกไปในตัว

ยกตัวอย่างเช่น นายโรเบิร์ต แมคนามารา อดีตรมต.กลาโหมยุคสงครามเวียดนาม ผู้เป็นศิษย์เก่า ซึ่งหลังจากที่เขาปรับปรุงกิจการบริษัทรถยนต์ ฟอร์ด มอเตอร์ สำเร็จอย่างดีแล้ว เขาก็มาสร้างความวิบัติฉิบหายอย่างใหญ่โต ในเวียดนาม

โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ถูกกล่าวหาว่า ไม่ได้ใส่ใจที่จะอบรมนักศึกษาด้านศิลธรรมจรรยาของการบริหารธุรกิจ โรงเรียนล้มเหลวที่จะศึกษาธรรมชาติของสังคมทุนนิยม และบทบาทที่พึงมี ของกิจการธุรกิจในสังคมนั้น

และยังถูกกล่าวหาว่า หน้าเงิน มึนเมากับเงินตรา ไม่เคยที่จะตั้งคำถามสำคัญว่า ระบบทุนนิยมจะสามารถปรับปรุงสังคมในระยะยาวได้หรือ? เวลานี้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมสหรัฐ มีสูงกว่ายุคสมัยใด ๆ และปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ(ปัญหาโลกร้อน)ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากโรงเรียนเลย

นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสผู้เดียว นายโธมัส พิคเก็ต ทำงานเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่ากคณาจารย์ของโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ดทั้งโรงเรียน มีปัญหาสองเรื่องที่โรงเรียนสร้างขึ้นและไม่ช่วยแก้ไข คือ การสร้างความเป็นปฏิปักษ์ไร้สาระระหว่างธุรกิจกับรัฐบาล และปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการผลิต องค์การสหประชาชาติประเมินเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ถ้าเรานำประเด็น ขยะ-ต่อ-คุณค่า(ที่สร้างขึ้น) เขามาพิจารณาด้วย กล่าวคือ คุณสร้างสิ่งของคุณค่าเท่าไร แล้วสร้างขยะเท่าไร ถ้าคุณต้องจัดการขยะให้โลกสะอาดเหมือนก่อนคุณทำการผลิต จะไม่มีกิจการอุตสาหกรรมใดในโลก ที่จะมีกำไรแท้จริง  เพราะฉะนั้น ลัทธิทุนนิยมเพื่อผู้ถือหุ้นที่มุ่งกำไรอย่างเดียว จึงดำเนินไปด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมไปพลาง เท่ากับเจริญอยู่ได้ด้วยการบริโภคอนาคต(living off the future)  สหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นท่อน้ำโสโครก “ที่มีกำไร” (a profitable gutter)

แล้วโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด จะช่วยแก้ปัญหานี้ไหม? 

บริหารธุรกิจบัณฑิตจากโรงเรียนเริ่มหลั่งไหลกันไปที่ ซิลิก็อน วาลเลย์ เดาซิว่าบริษัทใหญ่ที่นั่น เช่น อะเมซ็อน แอพเปิล เฟสบุค และกูเกิล บริษัทไหนบริหารโดยพวกเอ็มบีเอ?  คำตอบ คือ  อะเมซ็อน ครับ เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก แต่มีสภาพไม่ต่างจากห้างวอล มาร์ท ของอินเตอร์เนต บริษัทนี้ปฏิบัติต่อลูกจ้างเลวกว่าเพื่อน  บรรยากาศของอะเมซ็อนให้ความรู้สึกของวันวาน ไม่ใช่วันพรุ่งนี้

เรื่องที่เราควรยกย่องโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด  ว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นมา คือ

1)   รับนึกศึกษาที่ผ่านปริญญาตรีมาก่อน
2)   หลักสูตรเน้นการบริหารทั่วไป ไม่ได้เน้นเฉพาะทาง
3)   หัวใจของการเรียนการสอน อยู่ที่ กรณีศึกษา(case study)
4)   สร้างฐานข้อมูลและวิเคราะห์อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
5)   มีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารที่กำลังทำงาน และมีประสบการณ์แล้ว

โรงเรียนสอนเรื่องการค้าการขายมีมาก่อนในยุโรป เช่น ในเยอรมัน โปรตุเกส และฝรั่งเศส  ในสหรัฐมีหลักสูตรเกี่ยวกับการค้าขาย สอนในระดับปริญญาตรีสี่ห้าแห่งในปี 1900(2443)  แต่ข้อเท็จจริงทางสังคมปรากฏว่า ธุรกิจมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก  คนใหญ่คนโตในธุรกิจเข้ามามีบทบาทแทนที่นักพูดชื่อดัง รัฐบุรุษ นักกฎหมาย และคนในศาสนจักร  คนเหล่านั้นกำลังเสียพื้นที่เชิงสังคมให้แก่ พ่อค้าใหญ่ ประธานกิจการรถไฟ นักอุตสาหกรรม และนายธนาคาร  อาชีพแบบใหม่เหล่านี้ทรงอิทธิพลเข้ามาควบคุมรัฐบาล สังคม การศึกษา และสื่อสิ่งพิมพ์ แม้กระทั่งศาสนจักรก็ยังถูกครอบด้วยชนชั้นนักธุรกิจ

ปี 1865(2408) สหรัฐมีทางรถไฟ 53,000 ไมล์        ถึงปี 1900(2443) มี 193,000 ไมล์
ปี 1870(2413) ผลผลิตเหล็กกล้ามี 72,000 ตัน       ตอนปลายทศวรรษ ผลิตได้ 11.2 ล้านตัน
ปี 1865(2408) มีโรงงานทั่วประเทศ 140,000 โรง   ถึงปี 1900 มี 512,000 โรง

ก่อนหน้านั้น โรงงานใหญ่ในนิวอิงแลนด์จ้างคนทำงานเป็นเรือนร้อย  ครั้นในทศวรรษที่ 1900s บริษัท รถยนต์ฟอร์ด มีคนงาน 15,000 คน  เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าว ทำให้สหรัฐแปรสภาพจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมภายในชั่วอายุคน  เมื่อบริษัทมีขนาดมหึมา ก็ต้องซอยออกเป็นหน่วยย่อยจำนวนมากหน่วย แต่ละหน่วยย่อยก็ต้องการคนมากำกับดูแล  ผู้จัดการอาชีพ หรือมืออาชีพ(professional) ที่ไม่ใช่เจ้าของกิจการ แต่จะว่าเป็นคนงานลูกจ้างก็ไม่เชิง  คนกลุ่มนี้เข้ามานั่งในตำแหน่งมีอำนาจ โดยไม่ได้เป็นเจ้าของ

ยกตัวอย่าง ในสังคมเกษตรในสหรัฐก่อนหน้านั้น ปี 1850  สำมะโนประชากรสหรัฐปีนั้นระบุว่า มีคนประกอบอาชีพกินเงินเดือนเป็นผู้ควบคุมดูแลทาส 18,859 คน  นับว่าเป็นกลุ่ม “มืออาชีพ”(ไม่ได้เป็นเจ้าของทาส) จำนวนใหญ่ที่สุดในโลกเวลานั้นก็ว่าได้

ได้เวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะต้องสร้างคนป้อนตลาด “มืออาชีพ” ให้แก่สหรัฐ  อธิการบดี อีเลียต คิดจะตั้งโรงเรียนอย่าง Ecole Libre des Science Politique ในปารีส  ต่อมาความคิดนั้นได้กลายพันธุ์เป็นบัณฑิตวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์และการค้า  แล้วกลายรูปต่อมาในปี 1906 เป็น โรงเรียนธุรกิจรัฐและเอกชน  แต่ยังอยู่ในความคิด ยังไม่เป็นรูปธรรม

วันที่ 30 มีนาคม 1908 คณะกรรมการมหาวิทยาลัยลงมติตั้งโรงเรียน และให้ใช้ชื่อว่า  บัณฑิตวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบริหารธุรกิจ(the Harvard Graduate School of Business)  และวุฒิบัตรนามว่า “ปริญญาโทบริหารธุรกิจ”(MBA)

เอดวิน เกย์ ถูกเลือกมาเป็นคณบดีคนแรก  เขาเป็นศาสตราจารย์หนุ่ม รักษาการคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์  เขาเพิ่งเดินทางกลับจากไปศึกษาปริญญาเอกในยุโรป  ได้รับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เมื่อปี 1902  ในยุคนั้นผู้มีฐานะดีนิยมส่งลูกไปเรียนในยุโรป  เอดวิน เกย์ ถูกส่งไปเรียนในเยอรมันตั้งแต่ชั้นมัธยม  เขาเป็นคณบดีโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด อยู่ประมาณสิบปี ระหว่าง 1908-1919  เขาเป็นผู้วางรากฐานหลายสิ่งหลายอย่างให้แก่โรงเรียน  เขาต้องการยกระดับภูมิปัญญานักศึกษาให้ได้ระดับเดียวกับโรงเรียนอาชีพแขนงเดิม เช่น โรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนกฎหมาย  เอดวิน เกย์ นิยามธุรกิจว่า “กิจกรรมเพื่อผลิตของขึ้นมาขายอย่างมีกำไร – และมีคุณธรรม”

อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปในเวลานั้น แพทย์และนักกฎหมาย ได้รับความเคารพจากสังคม  แต่นักธุรกิจสหรัฐถูกสังคมมองอย่างดูแคลน  แต่ ฮาร์วาร์ด คิดว่าจะเข้าแก้ปัญหานี้ให้อเมริกา

ครั้นตั้งโรงเรียนแล้ว ปัญหาตามมาคือ จะสอนอะไร?  ในระยะแรกนั้น ตามหลักสูตรสองปีของโรงเรียน ปีแรกนักศึกษาต้องเรียนวิชาบังคับสามวิชา คือ บัญชี กฎหมายพาณิชย์ และเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร  บวกกับวิชาเลือกหนึ่งวิชา  วิชาอื่น ๆ ที่สอนได้แก่ องค์กรอุตสาหกรรม การเงินการธนาคาร การขนส่ง(ส่วนมากเน้นรถไฟ) การประกันภัย และรัฐวิสาหกิจ 

เนื่องจาก คณบดี เอดวิน เกย์ ต้องการยกระดับภูมิปัญญานักศึกษาของโรงเรียน ให้ได้ระดับโรงเรียนวิชาชีพอื่น ๆ (โรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนกฎหมาย) เขาจึงเน้นความเป็น “วิทยาศาสตร์”  เขาเชื่อว่า ธุรกิจมันมี “ศาสตร์” ของมันแฝงอยู่  เวลานั้นนักศึกษาจะต้องเลือกเรียนภาษาต่างประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือสเปน

วิธีการเรียนการสอน เลียนแบบโรงเรียนกฎหมาย คือ ใช้วิธี “กรณีศึกษา”(case study)  ซึ่งโรงเรียนกฎหมายก็ได้รับอิทธิพลเยอรมัน มาอีกทอดหนึ่ง

โลกยุคนั้น เห่อวิทยาศาสตร์ คิดว่าวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาให้มนุษย์ได้ทุกอย่าง เฟรดเดริค เทเลอร์ ถูกเชิญมาสอนการบริหารอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เขาสอนที่นั่นระหว่าง 1908-1914  ในอีกหลายปีภายหลัง วิธีการของ เทเลอร์ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จริงหรือ?  หนังสือโด่งดังของเขาชื่อ The Principles of Scientific Management  ซึ่งระยะต่อมามีผู้วิจารณ์ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นแค่การบวกเลข กับใช้นาฬิกาจับเวลาเป็นเครื่องมือ  ดาวตลก ชาร์ลี แชปปลิน ได้แรงบันดาลใจมาสร้างหนังเรื่อง Modern Times  ที่โรงพยาบาลในคืนวันที่เขาตาย  นางพยาบาลได้ยินเสียง เฟรดเดริค เทเลอร์ ตั้งเวลานาฬิกาของเขา  ครั้นช่วงตีสี่ครึ่ง เธอกลับไปดูเขา พบว่าเขาตายแล้ว พร้อมกับกำนาฬิกาอยู่ในมือ

นักอุดมการณ์ คณบดี วัลเลส เบรท ดันแฮม

ถ้าเราจะเชื่อตาม อีเมอร์สัน ที่เคยพูดว่า สถาบันคือเงาอันทอดยาวของบุคคล สำหรับโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด(ร.บ.ฮ.) เงาดังกล่าวคือเงาของ วัลเลส เบรท ดันแฮม คณบดีคนที่สอง ผู้มาแทนที่ เอดวิน เกย์

บิดาเป็นทันตแพทย์ทำงานอยู่ในชนบทของรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ จึงไม่ใช่คนร่ำรวย ดันแฮม เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเดินทางไป-กลับ จากบ้านมาเมืองบอสตัน ระยะทาง 80 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าหอพัก เขาตั้งใจเรียนจบในสามปี-เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ต่อมา เขากู้เงินเรียนวิชากฎหมาย เมื่อสำเร็จการศึกษาก็เข้าทำงานกับสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในบอสตัน เขาก้าวหน้าด้วยดี ในที่สุดได้เข้ารับตำแหน่งคณบดี โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด(ร.บ.ฮ.) เมื่อ 7 ตุลาคม 1919

ปีรุ่งขึ้น 1920 สิ้นสุดยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งแรก เศรษฐกิจอเมริกันซบเซา คนว่างงานมาก อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง และแรงงานวุ่นวาย  ผู้คนพากันกล่าวหาวงการธุรกิจว่าทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ความมั่งคั่งไปกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อย ธุรกิจมีอำนาจมากขึ้น ทำท่าเหมือนจะคุกคามประชาธิปไตยอเมริกัน

สหรัฐ จัดตั้งธนาคารชาติ – the Federal Reserve  และจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นครั้งแรก พิทักษ์คุ้มครองผู้บริโภคด้วยการตั้ง คณะกรรมอาหารและยา ฯลฯ ออกกฎหมายแอนตีทรัสต์ การทำธุรกิจไม่ได้ง่านเหมือนเมื่อก่อน หลายคนหันมามอง ร.บ.ฮ. เป็นที่พึ่ง

ถึงปี 1924 ร.บ.ฮ.ใช้วิธีเรียน/สอนโดยใช้วิธี “กรณีศึกษา” เพิ่มขึ้นหลายวิชา  โรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วประเทศหันมาลอกเลียนแบบฮาร์วาร์ด ร.บ.ฮ.เขียนกรณีศึกษา เกี่ยวกับบริษัท   จีอี แต่มาก็เขียนกรณีศึกษา บริษัท เอทีแอนด์ที ฯลฯ  ระหว่างที่ ดันแฮม เป็นคณบดีสองทศวรรษ ใช้งบประมาณเพื่อการเขียนกรณีศึกษาไป 2 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปี 1979 ปีเดียว งบประมาณเพื่อการนี้ 6 ล้านดอลลาร์  คณบดี ดันแฮม มีนโยบายสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใจกว้างขึ้น เป็นมืออาชีพ(คือรับจ้างบริหาร)ที่มีเกียรติ มีคุณค่า มีสำนึกในความเป็นผู้นำ คล้าย ๆ พวกศักดินาฝรั่งยุคโบราณ

ดันแฮม ทำโครงการสร้างอาคารสถาที่ให้แก่ ร.บ.ฮ. ซึ่งในเวลานั้นไม่มีสถาที่ของตัวเอง ต้องอาศัยเรียน/สอนกันตามอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หอพักก็น่าอึดอัด ดันแฮม มาสร้างวิทยาเขตใหม่ ริมแม่น้ำชาร์ลฝั่งตรงข้ามกับวิทยาเขตเดิมของฮาร์วาร์ด มหาเศรษฐีอเมริกันยุคนั้นพากันบริจาคเงินให้ เช่น จอร์จ เอฟ เบเคอร์ ซึ่งบุตรชายเป็นนักเรียนฮาร์วาร์ดรุ่นเดียวกับ ดันแฮม

ชาวฮาร์วาร์ดที่สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้แก่โรงเรียนมีมาก ที่มีชื่อทางฉ้อฉลมีน้อย ส่วนผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับฉ้อฉลไปพร้อม ๆ กัน มีคนเดียว คือ อาจารย์ “ดอคเตอร์” เอลตัน มาโย

เกิดที่เมืองอะดิเลด ออสเตรเลีย ปี 1880 บุตรของวิศวกรช่างกล เข้าเรียนและสอบตกจากโรงเรียนแพทย์สามโรงคือ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยอะดิเลด มหาวิทยาลัยเอดินบะระ และโรงเรียนแพทย์เซนต์ จอร์จ ฮอสปิตัล กรุงลอนดอน กระทั่งอายุใกล้สามสิบจึงสำเร็จปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอะดิเลด

เขาสอนวิชาปรัชญาช่วงสั้น ๆ ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ต่อมาเขาเสนอตัวปรึกษาด้านจิตเวช แก่ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งถ้าทำเพียงเท่านั้นคงไม่ดัง ต่อมาเขาตั้งตนเป็นทั้งผู้บำบัดโรคจิต และนักทฤษฎีสังคม

เขาเห็นว่า คนงานต้องต่อสู้ดิ้นรนทางจิตใจเพื่อแสวงหาคุณค่าชีวิต พวกเขาต้องทำงานซ้ำซากที่ไม่มีความหมายอะไร ในสหรัฐปี 1919 คนงานราวสี่ล้านคนนัดหยุดงาน เดือนมิถุนายนปีนั้น ผู้ก่อการร้ายวางระเบิดแปดลูกให้ระเบิดพร้อมกันตามเมืองใหญ่แปดเมือง แถมยังมีอีกสองสามลูกที่ถูกส่งไปยังมหาเศรษฐีเช่น เจ พี มอร์แกน และ จอห์น ดี ร้อคกีเฟลเลอร์

เกิดตื่นตระหนก “ภัยแดง” กันทั่วสหรัฐ ระหว่าง 1919-1920 หวั่นวิตกว่า ภัยแดง กำลังคุกคามเพื่อจะล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองอเมริกัน

เอลตัน มาโย พิจารณาวิกฤตอเมริกันแล้วสรุปว่า ความวุ่นวายของแรงงานเปรียบได้กับโรคจิตของทหารผ่านศึกที่เขาเคยบำบัดรักษา(โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพ) ไม่ใช่มีสาเหตุจากค่าแรงต่ำ  หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี แต่ว่าแรงงานเหล่านั้นเป็นโรคจิตที่อาจรักษาให้หายได้ คิดได้ดังนั้น “ดอกเตอร์” เอลตัน มาโย ก็ลงเรือจากออสเตรเลียมาขึ้นบกที่ซาน ฟรานซิสโก ด้วยความคิดอย่างใหญ่โตว่า ถ้าเขาเยียวยาอาการป่วยทางจิตของคนงานได้ เขาก็จะสามารถกู้อารยธรรมตะวันตกให้พ้นภัยได้

โรงงานทอผ้า คอนติเนนตัล มิล ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประสบปัญหาเรื่องอัตราหมุนเวียนของคนงาน(ลาออก)สูง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ มาโย ให้คำแนะนำว่า ให้หยุดพักงานให้ถี่ขึ้น เพื่อผ่อนคลายความน่าเบื่อหน้าย ผลปรากฏว่า ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์  ชื่อเสียงของ มาโย โด่งดังแต่นั้นมา

ที่ ร.บ.ฮ. หลังจากอาจารย์ เทเลอร์ เจ้าตำหรับการบริหารอย่างเป็นวิทยาศาสตร์(ใช้นาฬิกาจับเวลา กับการบวกเลข) ตายไปแล้ว  คณบดี ดันแฮม ก็กระหายทฤษฎีบริหารอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เพราะทฤษฎีของเทเลอร์ล้าหลังแล้ว ความสติเฟื่องของมาโย ตรงกับความต้องการของคณบดี ดันแฮม พอดี  มาโย ได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัยอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 1926

มาโย พบกับคู่หู ซึ่งเป็นแพทย์จริง ๆ สอนที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ทั้งคู่ช่วยกันตั้งห้องทดลอง ชื่อ “ห้องแลบความเหนื่อยล้า”(Fatigue Laboratory) ที่ใต้ตึกมอร์แกน ฮอล ด้วยเงินทุนจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์

ชีวิตที่ ร.บ.ฮ. ของ มาโย สุโขสโมสรกว่าใคร ๆ เขามีงานสอนเพียงครั้งคราว อาจารย์หลาย ๆ คนไม่ชอบหน้ามาโย อย่างไรก็ดี ในปี 1933 เขาเขียนหนังสือขายดีชื่อ “ปัญหาสังคมอุตสาหกรรม” และปี 1941 เขาขึ้นหน้าปกนิตยสารฟอร์จูน

ถ้าจะสรุปผลงานของ คณบดี ดันแฮม ระหว่าง 1920-1929 ก็จะสรุปได้ดังนี้

1)   ประกาศชัดเจนว่า วิธีที่จะเรียนจะสอนกันที่ ร.บ.ฮ. คือ “กรณีศึกษา”
2)   ปรับทิศทางการเรียนการสอน จากที่เน้นอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุสาหกรรมการทำไม้ มาเป็นการเรียนการสอนตามหลักวิชา เช่น การผลิต การตลาด การเงิน การบัญชี สถิติธุรกิจ
3)   ปรับหลักสูตรเป็นแปดวิชาหลัก คือ บัญชี การธนาคารและการเงิน สถิติธุรกิจ การค้าต่างประเทศ การบริหารอุตสาหกรรม การทำไม้ การตลาด และการขนส่ง
4)   ระบุชัดว่า นักศึกษาจะไม่ถูกสอนเฉพาะเรื่องธุรกิจ แต่จะเรียนเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ด้วย

ถูกยิงจากกราบเรือ(แปลว่า โดนวิจารณ์อย่างหนัก)

นักวิจารณ์สังคมชื่อดัง นายอับบราฮัม เฟลกเนอร์ ผู้ที่นอกจากจะเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ แล้วเขายังเป็นกรรมการมูลนิธิในเครือร็อคกีเฟลเลอร์ เขาใช้เวลาปี 1930 ทั้งปีวิพากษ์วิจารณ์การอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา

บุคคลผู้นี้ มีความเห็นที่มีผู้นิยมฟังกันมาก เขาจุดประกายให้มีการปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ในสหรัฐและแคนาดา เขามีส่วนริเริ่มจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นสูง(the Institute of Advanced Study) ที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน ซึ่งในภายหลัง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และ จอน วอน  นิวแมน เป็นหนึ่งในคณาจารย์

คำวิจารณ์ของเขาสรุปได้ว่า การพยายามตั้งโรงเรียนอาชีพ(professional school) กันใหญ่ในมหาวิทยาลัย ยกเว้นโรงเรียนแพทย์กับโรงเรียนกฎหมาย สร้างความเสียหายให้แก่เจตนาของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างสรรค์ความก้าวหน้าทางวิชาการ เขาชี้ลงตรงจุดที่ว่า สิ่งที่สังคมไม่จำเป็นจะต้องมีก็คือ โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด

เขาบอกว่า ธุรกิจไม่จำเป็นจะต้องมีปัญญาชนอยู่ในองค์กร ธุรกิจต้องการคนฉลาดแกมโกง ขยันขันแข็ง เจตนาขององค์กรธุรกิจคือมุ่งหวังประโยชน์ใส่ตน ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรลึกซึ้ง  ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยจะหาทางลัดด้านประสบการณ์ เพื่อสร้างนักโฆษณา พนักงานขาย และคนรับใช้ให้แก่วงการธุรกิจธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และกิจการคมนาคม เป็นเรื่องไร้สาระ

เขาวิจารณ์ว่าหลักสูตรการเรียนการสอน ปราศจากพื้นฐานทางวิชาการ โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ไม่เคยยกประเด็นจริยธรรมหรือปัญหาสังคมขึ้นพิจารณา เรื่องนี้เป็นบาปและบาปนั้นยังคงอยู่จนตราบทุกวันนี้

วิกฤตการเศรษฐกิจปี 1929 เป็นเรื่องไม่คาดฝัน แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปีรุ่งขึ้น 1930 ทั้งประธานาธิบดี ฮูเวอร์ และคณบดี ดันแฮม ยังไม่เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเวลานั้นจะน่าวิตก แต่ถึงปี 1933 แผ่นดินที่ทุกคนยืนอยู่อย่างมั่นคงก็แยกออก เกิดธรณีสูบ สามเดือนแรกของปีนั้น ธนาคารล้มลงนับพันแห่ง และเงินฝากหายไปจากระบบ 500 ล้านดอลลาร์  ทำให้ประธานาธิบดี รูสเวลท์ ต้องประกาศหยุดงานธนาคารทั่วประเทศ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นกำเนิดของสำนวน ของประธานาธิบดีรูสเวลท์ ที่ว่า “The only thing we have to fear is fear itself.”

แต่ร.บ.ฮ. ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น กลัวอย่างเดียว คือกลัวประธานาธิบดีรูสเวลท์ เพราะอะไร? เนื่องจากว่า ประธานาธิบดีได้ประณามบรรดานายธนาคาร นักธุรกิจทั้งหลายอย่างไม่ไว้หน้า ว่าล้มเหลว โง่ดื้อ ไร้ความสามารถ  รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง(ช่วยเหลือ)โลกธุรกิจที่กำลังโดนธรณีสูบ โดยออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายอุ้มชูธนาคาร 9 มีนาคม 1933 กฎหมายเกี่ยวกับเงินกู้ซื้อบ้าน 13 มิถุนายน 1933 และกฎหมายการธนาคารพาณิชย์ 13 มิถุนายน 1933

รัฐบาลสหรัฐกำลังเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจ ที่ถือกันว่าเป็นแดนสงวนของเอกชน และในเดือนมิถุนายนอีกเช่นเดียวกัน ที่ออกกฎหมายฟื้นฟูอุตสาหกรรมแห่งชาติ(The National Industrial Act)  รัฐบาลยังลงทุนโดยตรงด้านการผลิตพลังงาน ด้วยโครงการลุ่มน้ำเทนเนสซี (the Tennessee Valey Authority) ในเดือนพฤษภาคม

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่คณบดี ดันแฮม คาดไม่ถึง และไม่เห็นล่วงหน้า ได้สร้างความบอบช้ำทางการเงินให้แก่โรงเรียน เช่น รายได้ค่าเล่าเรียนลดลง รายได้จากหอพักลดลง รายได้จากกองทุนเงินบริจาคลดลง เงินบริจาครายใหม่-ไม่มี  แต่เครือข่ายมิตรและผู้อุปถัมภ์ ได้ช่วยพยุงโรงเรียนไว้ไม่ให้ล่มจม สามารถลอยคอพ้นน้ำได้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เครือข่ายดังกล่าวคณบดี ดันแฮม คิดสร้างขึ้นไว้ชื่อ Associates of the Harvard Business School

เชสเตอร์ เบอร์นาร์ด ถูกเชิญเขามาช่วยงานโรงเรียน เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ เอที แอนด์ที เขียนหนังสือ “The Function of the Executive” ซึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบ ถือเสมือนว่าเป็นคัมภีร์ด้านการบริหารจัดการ ความคิดด้านการบริหารไม่ต่างจาก มาโย คือคิดว่า ปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการอยู่ที่จิตใจของคนงาน จุดเด่นของการบริหารจัดการของเขาได้แก่ การกำกับความคุม(management control) ซึ่งต่อมาได้นำวิชาการควบคุมงบประมาณ มาสอน และได้มอบชีวิตใหม่ให้แก่วิชาบัญชีที่แต่เดิมเป็นการเก็บข้อมูลอดีต เพื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรของรัฐ เพื่อผู้ตรวจสอบบัญชี และนายธนาคาร  ร.บ.ฮ.เสนอแนวคิดว่า Discounted Cash Flow(DCF) มีคุณค่าเหนือ IRR – Internal Rate of Return

อาจารย์คนดังอีกคนหนึ่งของ ร.บ.ฮ. คือ จอร์จ โดริโอ ที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับโรงเรียนตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนเป็นอาจารย์  รวมเวลาทั้งสิ้นสี่ศตวรรษ

จอร์จ โดริโอ เป็นคนฝรั่งเศส จบมัธยมปลายจากปารีส  บิดาเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อตั้งบริษัทรถยนต์ เปอโยต์ เข้าศึกษาที่ ร.บ.ฮ. เมื่อปี 1921 จบแล้วทำงานกับธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง ต่อมาได้ตำแหน่งอาจารย์/นักวิจัยที่ร.บ.ฮ. ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ปี 1929

ในระหว่างสงคราม(โลกครั้งที่สอง)เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ ช่วยกองทัพจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย เส้นสายช่วยให้เขาได้พบกับประธานาธิบดี รูสเวลท์ และได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 1940

โดริโอ มีบทบาทสำคัญเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมอเมริกัน  ช่วยปรับอุตสาหกรรมรถยนต์ให้สนองความต้องการของกองทัพระหว่างสงครามได้ดี เช่น ปรับโรงงานรถยนต์เป็นโรงงานรถรบ เป็นต้น ปี 1942 เขารับตำแหน่งผู้อำนายการในหน่วยงานส่งกำลังบำรุงของกองทัพ  ในช่วงที่เยอรมันฮึดสู้ก่อนจะจบสงคราม เกิดศึกสำคัญคือ Battle of the Bulge ปรากฏว่าการส่งกำลังบำรุงของกองทัพสหรัฐ “จัดหนัก” เต็มที่ ไม่มีขาดตกบกพร่อง มีส่วนช่วยให้อเมริกันชนะสงคราม  โดริโอ ได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวาในกองทัพสหรัฐ

เขามีส่วนริเริ่ม กิจการและกิจกรรม “เงินร่วมลงทุน” (venture capital) ในรุ่นแรก ๆ และเขามีส่วนเริ่มก่อตั้งโรงเรียนบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส – INSEAD ปี 1959

โดแนล เดวิด เป็นคณบดีต่อจาก ดันแฮม และเป็นคณบดีคนที่สามของ ร.บ.ฮ. เขาเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนและมีประสบการณ์ธุรกิจ(กิจการของเพื่อน ร.บ.ฮ.) เขามีมุมมองที่ต่างจาก ดันแฮม มีลักษณะอนุรักษ์นิยมกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของรัฐบาลในภาคเอกชน ในขณะที่ ดันแฮม คิดว่า “นักธุรกิจ น่าจะรู้ดีกว่านี้”  แต่ โดแนล เดวิด กลับคิดว่า “นักธุรกิจ รู้ดีอยู่แล้ว”

ปี 1942 เดวิด เริ่มโครงการ “หล่อดอกยาง”(retread)  ร่วมมืกับธุรกิจและสำนักงานการศึกษาของรัฐบาล สร้างโครงการให้การศึกษาอบรมแก่ผู้บริหารที่ติดกับดักอยู่กับกิจการโรงงานยุทโธปกรณ์ ให้มาเรียนรู้กันใหม่เป็นเวลาสี่เดือน เพื่อจะได้กลับเข้าทำงานกับธุรกิจหลังสงคราม คนพวกนี้อายุระหว่างสามสิบ ถึงห้าสิบปี โครงการนี้เปรียบได้กับการสอนลูกเล่นใหม่ ๆ ให้กับสุนัขแก่(some old dogs really can be taught new tricks)

ประนีประนอมกับคนงานชั่วครู่

ร.บ.ฮ. ทดลองให้ทุนคนงานกรรมกรมาเรียนที่โรงเรียน ตามโครงการ Trade Union Fellowship Program ปี 1942 ผู้นำกรรมกรรุ่นแรกจำนวนสิบสามคน มาจากกิจการรถไฟ ช่างไฟ และกรรมกรหญิงจากกิจการโรงงานทอผ้า เข้ามาเรียนที่ ร.บ.ฮ. โดยมีวิชาบังคับสามวิชา คือ การวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจ สหภาพแรงงาน-ปัญหาและนโยบาย ปัญหามนุษย์ในองค์กร กับวิชาเลือกจำนวนหนึ่ง  สำหรับนักเรียนนั้นฝ่ายสหภาพแรงงานเป็นฝ่ายเลือกส่งมา
ในลำดับต่อมา โครงการถูกขยายออกสู่นานาชาติ รับนักเรียนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กระทรวงแรงงานสหรัฐ และองคืการเอไอดี ซึ่งเป็นองค์การบังหน้าของซีไอเอ คัดเลือกส่งมาในช่วงสงครามเย็น



บัณฑิตรุ่นเงินทองไหลมาเทมา

ในธุรกิจ จังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ปี 1949 ศรัทธาต่อการบริหารจัดการธุรกิจอเมริกันกำลังแรงสุด เศรษฐกิจหลังสงครามบูมอย่างไม่เคยมีมาก่อน บัณฑิตรุ่นนั้นเริ่มเข้าสู่วงการอาชีพยามรุ่งอรุณแห่งความมั่งคั่ง  นักปรัชญาโรมันผู้หนึ่งเคยนิยามไว้ว่า โชคดีจะมาถึง เมื่อความพร้อมได้พบกับโอกาส

ผิดกับบัณฑิตรุ่นรุ่นทศวรรษ 1980s ที่ในปี 1985 ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ พากันตบเท้าเข้าทำงานกับวอล สตรีท  แต่บัณฑิตรุ่น 1949 เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำงานกับ วอล สตรีท ส่วนมากจะทำงานในวงการการตลาด ทั้งนี้เพราะสาขาการตลาดกำลังขยายตัวแบบนาทีต่อนาที อุตสาหกรรมโฆษณาเคยมียอดขาย 650 ล้านดอลลาร์ในปี 1948  แต่กลับบูมขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อม ๆ กับการบูมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค  และอุตสาหกรรมโฆษณามียอดขาย 12 พันล้านในปี 1960

ความรู้สึกนึกคิดช่วงต้นสงครามเย็นมีว่า การแอนตี้ธุรกิจเป็นการแอนตี้อเมริกา  ครั้นโรคกลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมองระบาดในอเมริกา คณะกรรมการในสภาคองเกรส ว่าด้วยการกระทำอันมิใช่วิสัยอเมริกัน(Un-American Activities) ซึ่งเป็นคณะกรรมการปราบคอมมิวนิสต์ เปิดอภิปรายเกี่ยวกับการแทรกแซงบ่อนทำลายของฮอลลีวูด ในปี 1947  ซึ่งในการเข้าไปปราบคอมมิวนิสต์ในฮอลลีวูดมีแนวทางที่เปิดเผย เป็นการแน่นอน ว่าเพ่งเล็งไม่ต้องการให้มีการสร้างภาพยนตร์แสดงภาพลบของคนรวย นายธนาคาร ธุรกิจขนาดใหญ่ และนักอุตสาหกรรม  จะสร้างหนังให้คนกลุ่มนี้เป็นคนเลว ไม่ได้

ผู้ทรงอำนาจ

ในปี 1956 หนังสือ The Power Elite ของ นักสังคมวิทยา ซี ไรท์ มิลล์ ออกมาเปิดเผยว่า ใครบ้างมีอำนาจอยู่ในอเมริกาในทศวรรษ 1950s  ว่าด้วยผู้ทรงอำนาจในวงการ ธุรกิจ ทหาร การเมือง และพวกคนดังดาวสัมคม(celebrity)

หนังสือเล่มนั้นวิจารณ์ว่า  ข้ออ้างที่ว่าคนอเมริกันนับล้านถือหุ้นในกิจการบริษัทธุรกิจต่าง ๆ เป็นการสรุปขี้ทางผิด เพราะว่าตามสถิติชาวอเมริกันจำนวน 6.5 ล้านคนมีหุ้นตามกิจการต่าง ๆ แต่ มิลล์ ชี้ว่า เงินปันผล 42 เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจสหรัฐ ตกอยู่ในมือของคนจำนวนหนึ่งในสิบของหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ของคนเหล่านั้น

ชนชั้นผู้ทรงอำนาจชนชั้นใหม่ ได้แก่ “ผู้บริหารอาชีพ”  คนพวกนี้ไม่ใช่เจ้าของกิจการ  แต่เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการ  ร.บ.ฮ.เป็นแหล่งนำในการสร้างคนกลุ่มนี้  เส้นสายของผู้มีอำนาจต้องมีโยงใยในกรุงวอชิงตัน เช่น นายโฮวเวอร์ด มอร์เก็น บัณฑิตรุ่น 1933 ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการกิจการ พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค-และผงซักฟอก ขนาดอภิมหามหึมาของสหรัฐอเมริกาและโลก  อาจารย์ ร.บ.ฮ. ผู้อุปถัมภ์ของเขาต่อมาได้เป็น รมต.กลาโหม ยุคประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์  ดังนั้น ในยุคสงครามเย็นเวลาชุมนุมศิษย์เก่า ร.บ.ฮ. จะชุมนุมกันที่รีสอร์ท เนื้อที่ 15,000 ไร่(หกพันเอเคอร์) ในรัฐเวสต์ เวอจิเนีย  ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมสภาคองเกรส อย่างลับ ๆ ในระหว่างสงครามเย็น

ผลสำเร็จของโรงเรียน ทำให้เกิดความรู้สึกหยิ่งผยอง บัณฑิตจากโรงเรียนนึกกระหยิ่มว่า ตนเองมีความสามารถที่จะบริหารงานได้ทุกอย่าง ไม่เลือกบุคคล สถานที่ และกาลเวลา  คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าความเป็นผู้นำเป็นคุณสมบัติที่ก่อกำเนิดขึ้น แต่บัณฑิตโรงเรียนคิดว่า ตนเองมีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว  ความสำคัยตนผิดชนิดนี้ จะนำพาเศรษฐกิจอเมริกันไปสู่ทางตัน

มือที่มองไม่เห็น

มาร์วิน โบวเวอร์ ศิษย์เก่า ร.บ.ฮ. ผู้ได้กลายเป็นตำนานของธุรกิจอเมริกัน  เขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคคินซี (กิจการที่ปรึกษาธุรกิจ) ได้นำกิจการแห่งนั้นสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก  เริ่มแรก โบวเวอร์ สำเร็จการศึกษากฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด  แล้วมาเรียน ร.บ.ฮ. ทีหลัง  เขาเป็นคนที่สองที่มีวุฒิบัตรสองปริญญา  คนอื่น ๆ อาจบริจาคเงินให้ ร.บ.ฮ. แต่ถ้าเทียบอำนาจอิทธิพลแล้วไม่มีใครมาเสมอ โบวเวอร์

บริษัท แมคคินซี ว่าจ้างบัณฑิต ร.บ.ฮ. มากกว่ากิจการอื่นใดตลอดประวัติศาสตร์ของโรงเรียน  และยังคงดำรงฐานะนั้นตราบเท่าทุกวันนี้  ในปี 2010 มีนักศึกษาเก่าผู้หนึ่งล้วงข้อมูลบริษัท แมคคินซี ออกมาเปิดเผย  พบว่า มีบัณฑิต ร.บ.ฮ. ทำงานอยู่กับ แมคคินซี ถึงประมาณ 500 คน ขณะที่ โกลด์แมน ซาช กูเกิล และไมโครซอฟต์ มีบัณฑิตร.บ.ฮ.น้อยกว่า แห่งละ 300 คน  โบวเวอร์ เป็นผู้พิทักษ์วิธีการเรียนการสอนด้วย “กรณีศึกษา” ของโรงเรียนในยามที่วิธีนี้ถูกโจมตี

อุตสาหกรรมที่ปรึกษาธุรกิจ ร่วมมือกับร.บ.ฮ. มาแต่เริ่มต้น เป็นคู่หูที่เข้ากันได้ดีเลิศ  ที่ร.บ.ฮ. นักศึกษาเรียนกันโดยวิธีกรณีศึกษา  ซึ่งศึกษาความเป็นไปในธุรกิจจากระยะไกล  นักศึกษาได้รับการสั่งสอนว่า แม้จากระยะไกลพวกตนก็ยังอาจสามารถรู้จักกิจการได้ลึกซึ้งปานนั้น  เรื่องนี้ก็เป็นแนวเดียวกับกิจกรรมที่ปรึกษาธุรกิจ  แต่บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจได้เปรียบนักศึกษาตรงที่มีโอกาสได้ไปเยือนกิจการธุรกิจที่ตนรับงานปรึกษาอยู่ แม้งานส่วนมากจะทำอยู่ในระยะไกลก็ตาม

ช่วงปลายทศวรรษ 1970s แมคคินซี มีคู่แข่งสำคัญสองราย คือ บริษัท บอสตัน คอนซัลติง กรุป กับ เบน คอนซัลติง ทั้งสองบริษัทนี้แข่งกันแย่งว่าจ้างบัณฑิตจาก ร.บ.ฮ. และให้ผลตอบแทนสูงกว่า ที่จะได้รับจาก แมคคินซี นอกจากนั้นในเวลานั้น แนวคิดเรื่อง “เส้นประสบการณ์” และ growth-share matrix ของ บอสตัน คอนซัลติง กรุป กำลังเซ็กซี่สุด ๆ  แมคคินซี ถูกวาดภาพให้เป็นที่ปรึกษาที่เป็นชายชรา เป็นที่ปรึกษาธุรกิจในประวัติศาสตร์
กรณีของผู้ชำนัญพิเศษ

โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด(ร.บ.ฮ.) ในระยะแรก เริ่มต้นด้วยความทะเยอทะยานนึกว่าจะค้นหา “ศาสตร์แห่งการบริหาร” แล้วก็ได้พบกับ ไสยศาสตร์ ที่ชื่อว่า ลัทธิเทเลอร์(Taylorism)  ต่อมาก็พบกับไสยศาสตร์เชิงสังคม ของ เอลตัน มาโย และเชสเตอร์ เบอร์นาร์ด ดังนั้น ราวกลางศตวรรณ โรงเรียนจึงเลิกค้นหาศาสตร์ หรือ “วิทยาศาสตร์ของธุรกิจ”  เพราะได้เรียนรู้จากการเรียนการสอนด้วยวิธีกรณีศึกษา ว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ ทางธุรกิจ จะมีเงื่อนไขเป็นเรื่อง “เฉพาะกรณี”(context-specific)



การเผยแพร่ลัทธิ

วันที่ 5 มิถุนายน 1947 นายพล จอร์จ มาร์แชล ประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปหลังสงคราม ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “แผนมาร์แชล”(The Marshall Plan) เขากล่าวว่า แผนการนี้ไม่ได้เจตนาจะปฏิปักษ์ต่อลัทธิการเมืองใด ๆ แต่ต้องการต่อต้านความหิวโหย ความยากจน ความล้าหลัง และความวุ่นวายในสังคม

ร.บ.ฮ. มีส่วนร่วมในแผนมาร์แชล ผ่านหน่วยงานรัฐบาลอเมริกันที่เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านเทคนิค ซึ่งนำผู้จัดการชาวยุโรป คนงาน นักศึกษา และวิศวกร มายังสหรัฐ เพื่อเรียนรู้ของจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการ  เมื่อแผนมาร์แชล สิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 1951 คนยุโรปรวมหกพันคนผ่านการศึกษาอบรมและดูงานตามกระบวนการถ่ายทอดอุดมการณ์ธุรกิจอเมริกัน

แต่ ร.บ.ฮ.ไม่อาจเข้าครองพื้นที่ได้สองพื้นที่ คือ เยอรมัน กับ ญี่ปุ่น

กรณีเยอรมันนั้น มีวิธีมองธุรกิจต่างจากอเมริกัน เยอรมันมองธุรกิจเหมือนสิ่งมีชีวิต ขณะที่อเมริกันเห็นว่าเป็นเครื่องพิมพ์ธนบัตร ดำรงอยู่ได้ด้วยการปั่นเงินให้แก่ผู้ถือหุ้น  เมื่อใดที่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องการ ก็สามารถทิ้งธุรกิจนั้น ๆ เสียได้  ทางฝ่ายญี่ปุ่น เน้นความสำคัญของการว่าจ้างตลอดชีวิต การฝึกอบรมพนักงานอยู่ในกรอบของแนวคิดเรื่องการว่าจ้างตลอดชีวิต  เพราะฉะนั้น ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องใช้บริการของพวกบริหารธุรกิจบัณฑิต (เอ็ม บี เอ)

ร.บ.ฮ. เริ่มสอนวิชาประวัติศาสตร์ธุรกิจอย่างจริงจังในปี 1927 แต่วิชานี้มารุ่งเรืองในปี 1970 ด้วยผลงานของศาสตราจารย์ อัลเฟรด แชนเลอ ปัจจุบัน ร.บ.ฮ.มีวารสาร Business History Review  การเรียนประวัติศาสตร์ธุรกิจก็เหมือนการเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไป คือ การได้เรียนรู้ความผิดพลาดของผู้อื่น ย่อม “ถูกกว่า” (ที่เราจะโดนซะเอง)

มีอำนาจอิทธิพลสูง

อำนาจอิทธิพลเป็นเรื่องวัดกันยาก โดยเฉพาะเมื่ออำนาจอิทธิพลนั้น ผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว  ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต(หน้า 261) ว่าเมื่อองค์กรใดขึ้นถึงจุดสูงสุด ผลงานก็ดี บุคคลก็ดี ขององค์กรนั้นแม้จะหน่อมแน้มน่าสงสาร ก็อาจถูกติดป้ายว่า “ทรงอิทธิพล”

ในทศวรรษที่ 1960s  ร.บ.ฮ.ทรงอิทธิพลสูงสุดในวงการปริญญาโทบริหารธุรกิจทั่วโลกก็ว่าได้  หลังจากนั้น ร.บ.ฮ. ก็มีคู่แข่งหลายราย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะว่าร.บ.ฮ.ไม่มีอะไรใหม่ที่จะพูด

มีคำถามว่า การเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษา เหมาะไหมที่จะเรียนเรื่องยุทธศาสตร์ธุรกิจ(หรือ การวางแผนระยะยาว) ผู้วิจารณ์รายหนึ่งถามว่า นักศึกษาที่อ่านสรุปเรื่องของกิจการหนึ่ง ๆ แต่ไม่เคยได้พบเห็นผลิตภัณฑ์ ไม่เคยรู้จักลูกค้า ไม่เคยดูงานที่โรงงาน จะรู้จักตั้งคำถามเชิงยุทธศาสตร์ของกิจการนั้น ได้อย่างไร?

คุณอยู่ในธุรกิจอะไร-จริง ๆ แล้ว? บทความที่มีชื่อเสียงของศาสตราจารย์ เทด เลอวิต ฟังดูซื่อ ๆ แต่ก็เป็นการเสนอความคิดว่า กิจการทั้งหลายพึงนิยามตนเองตามคติมุมมองของลูกค้า ไม่ใช่ตามคติของผลิตภัณฑ์ เช่น กิจการรถไฟอยู่ในธุรกิจขนส่ง บริษัทกลั่นน้ำมันอยู่ในธุรกิจพลังงาน เป็นต้น  หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ลูกค้าไม่ได้ต้องการดอกสว่านครึ่งนิ้ว แต่เขาต้องการเจาะรูลึกครึ่งนี้วต่างหาก  บทความชิ้นนั้นตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด แล้วแพร่หลายอย่างยิ่ง ธุรกิจกว่า 1,000 แห่งสั่งซื้อสำเนาจำนวน 35,000 สำเนา

ในปี 1963 เคนเนท แอนดรู เสนอเรื่อง SWOT analysis (Strength, Weakness, Opportunities, Theats) เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งการเรียนการสอนยุทธศาสตร์ธุรกิจที่ ร.บ.ฮ. ก็อิงตามแนวของ แอนดรู

บัณฑิต ร.บ.ฮ. ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือ โรเบิร์ต แมคนามารา ซึ่งชาวอเมริกันจำเขาได้ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ที่สร้างความบ้าคลั่งและวิบัติฉิบหายในเวียดนาม  ทหารอเมริกันตายในสงครามไร้สาระครั้งนั้น 58,000 คน

แมคนามารา เป็นนักธุรกิจพันธุ์ใหม่ ที่คุ้นเคยกับงบการเงิน มากกว่าพิมพ์เขียว(งานวิศวกรรม)

เมื่อ แมคนามารา ออกจากบรษัท รถยนต์ฟอร์ด ไปรับงานกลาโหม (ผู้ช่วยรัฐมนตรี)  และต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีในช่วงสงครามเวียดนาม  เขาได้พบกับนายพลเวสต์มอร์แลน ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร AMP(Advanced Management Program)ที่ ร.บ.ฮ.มาก่อน  สองคนนี้พูดกันเข้าใจ มีผู้กล่าวว่า นายพลเวสมอร์แลน เป็นนักธุรกิจสวมเครื่องแบบ ผู้มองสงครามเวียดนามเป็นแบบฝึกหัดด้านการบริหารจัดการ

นายพลผิวดำ คอลลิน เพาเวล มียศพันเอกระหว่างสงครามเวียดนาม เขาเล่าว่า ตามสายตาของเขา มองไม่เห็นว่าจะชนะสงครามได้อย่างไร ด้วยวิธีบริหารการสงครามเหมือนบริหารธุรกิจ ของ รัฐมนตรี โรเบิร์ต แมคนามารา เขากล่าวว่า จะชนะสงครามได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่พวกเวียดกง เขาไม่เคยตัว มองไม่เห็น ไม่รู้อยู่ไหน?

การสงครามไม่ได้มีอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน(ROI) ชัดเจนอย่างธุรกิจ กำไรของสงครามมีเท่าไรไม่มีใครรู้  และสงครามเป็นกิจกรรม “มิได้หวังผลกำไร”(non-profit)  ขวัญกำลังใจและความกล้าหาญ วัดกันยาก  โรเบิร์ต แมคนามารา ไม่อาจเข้าใจได้ว่า พวกเวียดนามเหนือ จะไม่ประพฤติตามระบบเหตุผลที่ตนเข้าใจ

ประมาณปลายทศวรรษ 1970s ผลงานวิจัยออกมาชี้ว่า ปัญหาของบัณฑิตปริญญาโทบริหารธุรกิจ มีหลายประการ คือ

1)   ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
2)   ขาดทักษาในการสื่อความ
3)   มุ่งเน้นการวิเคราะห์ มากกว่าการปฏิบัติงาน
4)   ตั้งความหวังสูงเกินไป เมื่อสำเร็จการศึกษา




เราผลิตผู้นำ ได้ด้วยหรือ?

ศาสตราจารย์ อับบราฮัม เซลนิค นักจิตวิทยาและนักวิเคราะห์จิต เขียนบทความลงวารสารบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ปี 1947 ว่า “ผุ้จัดการ กับ ผู้นำ ต่างกันหรือไม่?”(Managers and Leaders: Are They Different?)

บทความชิ้นนั้นมาทันเวลาพอดี เวลานั้นชนชั้นผู้จัดการของอเมริกากำลังอนุรักษ์นิยม เน้นความสามารถและการกำกับควบคุม  แต่ละเลย มองข้าม เรื่องแรงจูงใจ วิสัยทัศน์ และความรักสิ่งที่ทำ  พูดง่าย ๆ ว่า อเมริกา “ถูกจัดการอย่างหนัก” แต่ “ไร้ทิศทาง”

ร.บ.ฮ. พยายามจะสร้างคนให้เป็นทั้งสองแนว คือ เป็นผู้จัดการ และเป็นผู้นำ  แต่ดูเหมือนว่า ได้เวลาแล้วที่โรงเรียนจะต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่งเพียงทางเดียว

ความเป็นผู้นำ สอนกันได้เหมือนวิชาบัญชี หรือ? เราลองมาพิจารณาพันธกิจของโรงเรียนวิชาชีพโรงเรียนต่าง ๆ ดู ดังต่อไปนี้

โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด
          “ให้การศึกษาแก่ผู้นำ ผู้ที่จะพัฒนาความยุติธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม”

โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด
“สร้างสรรค์และบำรุงรักษา กลุ่มคนที่ดีที่สุด ผู้ผูกพันตนอยู่กับความเป็นผู้นำต้านการบรรเทาทุกข์ที่เกิดจากโรคภัย”

โรงเรียนเทววิทยาฮาร์วาร์ด
“ให้การศึกษาแก่หญิงชาย เพื่อคนเหล่านั้นได้บริการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ในฐานะผู้นำด้านชีวิตและความอ่านทางศาสนา”

โรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ เคนเนดี
          “พันธสัญญาของเรา คือ ฝึกอบรมผู้นำทางสาธารณะที่มีความสว่างทางปัญญา”

โรงเรียนฝึกหัดครูฮาร์วาร์ด
          “เพื่อเตรียมผู้นำด้านการศึกษา และเพื่อก่อกำเนิดความรู้”

ศูนย์สร้างสรรค์ผู้นำสาธารณะฮาร์วาร์ด(Harvard University’s Center for Public Leadership) วางบัญชีปัจจัยสำคัญของผู้นำสาธารณะ ไว้เจ็ดประการ
          1) คุณสมบัติส่วนตัว
          2) มนุษย์สัมพันธ์      
          3) เข้าใจองค์กร
          4) เป็นระเบียบมีระบบ
          5) พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า
          6) เข้าใจบริษัท และสิ่งแวดล้อม
          7) มีทฤษฎีและหลักการ

บางท่านอาจเห็นว่า เจ็ดประการข้างต้น มากเกินไป  ลองพิจารณาปัจจัยแห่งความเป็นผู้นำ ของอาจารย์อีกท่านหนึ่ง มีเพียงสามประการ ดังนี้

1)   รู้จักจัดการตัวเอง
2)   รู้จักจัดการเครือข่ายของตน
3)   รู้จักจัดการทีมงาน

สำหรับท่านที่ต้องการสูตรสำเร็จที่ชัดเจนมากขึ้น อาจลองดูปัจจัยห้าประการ ของอีกอาจารย์หนึ่ง ดังนี้
1)   วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม
2)   สร้างยุทธศาสตร์แห่งชัยชนะ
3)   ปฏิบัติตามแผนอย่างยอดเยี่ยม
4)   ประเมินผลสำเร็จ
5)   สร้างสรรค์เพื่ออนาคต

ปัจจัยแห่งความเป็นผู้นำของทุกอาจารย์ที่เสนอมาข้างต้น ล้วนแล้วแต่ “ขี้ ๆ” ทั้งนั้น  ถ้าใครอยากเข้าใจประเด็นขี้ ๆ ให้ดีขึ้น โปรดอ่านหนังสือ “ความเป็นผู้นำแบบ ขี้ ๆ” (Leadership BS) ของ ศาสตราจารย์ เจฟฟรี เพ็บเฟอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

โดนโจมตีกราบเรือครั้งที่สอง

อธิการบดี ของมหาวิทยาลัย เดเรค บ็อค เป็นอธิการบดีอยู่ประมาณยี่สิบปี ระหว่าง ปี 1971-1991 ไม่ใคร่พอใจ ร.บ.ฮ.  เขาเกิดในครอบครัวฐานะดีในเพนซิลเวเนีย จบปริญญาตรีจาก สแตนฟอร์ด แล้วจบกฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด  เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ นาย อันโตนิน สกาเลีย

เขาวิจารณ์ ร.บ.ฮ. ว่า การสอนความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ผ่าน  การสอนการบริหารรัฐกิจกับกิจการไม่หวังผลกำไร ไม่ผ่าน  และวิจารณ์การเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษา ว่า ไม่ใช่วิธีที่ดีในการถ่ายทอดหลักการและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล

หนังสือพิมพ์วอล สตรีท พิมพ์บทความ โจมตีร.บ.ฮ. ฉบับ 19 มกราคม 1979 โดยพาดหัวว่า ถึงคนบางคนที่โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด  การตอแหลได้กลายเป็นวิชา ๆ หนึ่งไปแล้ว  อธิการบดี กับคณบดี(ร.บ.ฮ.) ออกมาแสดงวิวาทะ กันอย่างเปิดเผยทางสื่อมวลชน  ต่อมา คณบดี ได้ลาออกไปด้วยแรงกดดัน

ทศวรรษที่ 1970s เป็นช่วงสิบปีที่วุ่นวายและอลเวงสำหรับชนชั้นผู้บริหารจัดการในสหรัฐ และที่ร.บ.ฮ. ต้นทศวรรษชนชั้นนี้รุ่งเรืองสูงสุด ครั้นปลายทศวรรษกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมถอย  ความเชื่อมั่นในตนเองตกต่ำลง เหตุร้ายแรงถาโถมเข้ามาแทบจะทันควันในทศวรรษ 1970s  เช่น สงครามเวียดนามยังคงลากยาวต่อไปจนดูเหมือนจะไม่มีจุดจบ  เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ตามด้วยเงินเฟ้อที่คุมไม่ได้ อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเฉียบพลัน สหรัฐต้องผละออกจากมาตรฐานทองคำ ปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ลอยตัว และค่าเงินตกต่ำ การลงทุนภายในประเทศหยุดชะงัก โรงงานและเครื่องมืออุปกรณ์สหรัฐอายุเก่ายี่สิบปี  เก่ากว่าโรงงานและอุปกรณ์ของญี่ปุ่นสองเท่าตัว...ฯลฯ

ถึงปี 1980 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งในโลก แซงหน้าสหรัฐ 

ชนชั้นบริหารในสหรัฐที่เคยอวดอ้างว่า เป็นผู้นำความอยู่ดีกินดีมาให้ บัดนี้ ไม่รู้ที่จะชี้นิ้วป้ายความผิดไปกล่าวโทษผู้ใด จำนวนนิ้วมีไม่พอ ต้องชี้นิ้วไปที่ภาพของตัวเอง ที่ปรากฏอยู่ในกระจกเงา  ธุรกิจสหรัฐเพลิดเพลินอยู่กับการวิเคราะห์ตัวเลข จนลืมเห็นค่าของประสบการณ์จริง มุ่งจะเอากำไรระยะสั้น ละเลยเพิกเฉยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันระยะยาว

วิธีการที่นิยมใช้คำนวณ คุณค่าของการเรียนที่ ร.บ.ฮ. หรือที่โรงเรียนบริหารธุรกิจใด ๆ ก็ดี กระทำโดย นำค่าเฉลี่ยของเงินเดือนเริ่มต้น ของบัณฑิตรุ่นนั้นตั้ง หารด้วยค่าเล่าเรียนต่อปี เช่น ในปี 1929 เงินเดือน(เฉลี่ย)เดือนแรกของบัณฑิตรุ่นนั้น เท่ากับ 1,820 ดอลลาร์  ได้สัดส่วนออกมา(ผลลัพธ์)เท่ากับ 3.64  สัดส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดหลาย ๆ ปีที่ผ่านไปต่อจากปีนั้น โดยมีค่าสูงสุดเท่ากับ 7.0 ในปี 1969

ครั้นถึงปี 1974 กลับลดลงเหลือ 4.89 ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะค่าเฉลี่ยเงินเดือนลดลง  แต่เป็นเพราะค่าเล่าเรียนพุ่งสูงขึ้นมาก

ความสำนึกทางสังคมมีลักษณะบ่อนทำลาย

ในปี 1970 หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ค ไทม์ ตีพิมพ์บทความของนักเศรษฐศาสตร์ มิลตัน ฟริดแมน หัวข้อว่า “ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ คือ หาทางเพิ่มกำไร”  ประเด็นนี้เบิกทางไปสู่แนวคิดเรื่องทุนนิยมเพื่อผู้ถือหุ้น  ซึ่งก็ตรงกับความคิดของคณาจารย์ ร.บ.ฮ. ส่วนมาก

ฟริดแมน ได้พรรณนาแนวคิดที่ว่าผู้บริหารเป็น “ตัวแทน” ของผู้ถือหุ้น  “ในระบบธุรกิจเสรี บนรากฐานของทรัพย์สินส่วนตัว ผู้บริหารธุรกิจมีฐานะเป็นลูกจ้างของเจ้าของกิจการ  มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อนายจ้าง  มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องดำเนินธุรกิจไปตามความปรารถนาของเจ้าของกิจการ  ซึ่งโดยทั่วไปก็คือ หาเงิน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยสอดคล้องต้องตามกฎพื้นฐานของสังคม ทั้งที่เป็นตัวบทกฎหมาย และที่เป็นส่วนหนึ่งในขนบธรรมเนียมเชิงจริยธรรม... กุญแจความคิดก็คือ ในฐานะผู้บริหารธุรกิจ ผู้จัดการคือตัวแทน(agent) ของปัจเจกชนผู้เป็นเจ้าของกิจการ....มีหน้าที่รับผิดชอบต่อคนเหล่านั้น”

อย่างไรก็ดี จอห์น แมคคี ผู้ก่อตั้งกิจการ Whole Foods อาจจะไม่เห็นด้วยกับฟริดแมน

ฟริดแมน ชนะการอภิปรายเฉกเช่นที่นักพูดพึงจะได้ชัยชนะ  ทั้งนี้โดยใช้โวหารการวางกรอบประเด็นอภิปราย แต่ไม่ใช่ด้วยการอ้างเหตุผลตามหลักตรรกะหลังจากที่ปัญหาถูกตีกรอบมาแล้ว

ข้ออ้าง(premise) ที่ฟริดแมนเป็นคนวางมา ได้แก่ โดยพื้นฐานแล้วต้องแลกกันระหว่าง ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กับ ผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวาม(หมายถึง ลูกค้า ลูกจ้าง ชุมชน เป็นต้น)

ผู้ที่แสดงเหตุผลคัดค้านฟริดแมน ถ้าจะฉลาดกว่านั้น ตัองโจมตีตั้งแต่พื้นฐาน กล่าวคือต้องตั้งคำถามว่า มีข้อพิสูจน์หรือว่าโดยพื้นฐานแล้ว จะต้องแลกกันระหว่างสองผลประโยชน์สองฝ่ายนั้น มีข้อพิสูจน์อะไร ที่เป็นหลักฐานว่า การมุ่งผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นสถานเดียว ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์ มากกว่า (ที่จะไม่มุ่งประโยชน์ผู้ถือหุ้นสถานเดียว)

ทฤษฎี “ตัวการ-ตัวแทน”principal – agent theory)

ลองพิจารณากรณีต่อไปนี้ – ถ้าผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น คือ ให้เลิกกิจการนี้เสีย ชำระหนี้สิน แล้วคืนเงินที่เหลือให้แก่ผู้ถือหุ้น  กรรมการผู้จัดการจะทำไหม?

คำตอบคือไม่ทำ แต่ ฟริดแมนสอนว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะก่อกำไรสูงสุด  เจนเซน ก้าวเข้ามาหาทางให้ผู้บริหารต้องปฏิบัติเช่นนั้น(ขายและเลิกบริษัทไปเลย) เขาเห็นว่าผู้บริหารหละหลวม และเราตรวจสอบเขาไม่ได้

ปี 1994 เจนเซน เขียนบทความร่วมกับ เม็คลิง ยกตัวอย่าง จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ขึ้นมากล่าว  ชอว์เคยถามนางละครคนหนึ่งว่า คุณจะนอนกับผมไหม ถ้าผมจ่ายหนึ่งล้านดอลลาร์  เธอตอบตกลง ชอว์ถามใหม่ว่า แล้วถ้าผมจ่ายสิบดอลลาร์ล่ะ  เธอได้ยินแล้วโกรธมาก  ตอบชอว์อย่างฉุนจัดว่า คุณคิดว่าฉันเป็นใคร ชอว์ตอบว่า เรื่องนั้นเราตกลงกันแล้ว(คือ คิดว่าเธอคือโสเภณี) ผมเพียงแต่พยายามจะตั้งราคายุติธรรมเท่านั้นเอง

ผู้เขียนบทความสรุปว่า เราต่างเป็นโสเภณี เพราะว่า ปัจเจกชนล้วนยินยอมสละได้แทนจะทุกอย่าง รวมทั้งชื่อเสียง หรือศิลธรรม ขอให้ได้ผลตอบแทนด้วยสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นจำนวนมากพอ

สิ่งที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับทฤษฎีตัวการ-ตัวแทน ก็คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารได้แก่ ราคาหุ้น  แรงจูงใจในการทำงานของผู้บริหารได้แก่ ราคาหุ้นในตลาด  แรงจูงใจในการทำงานของผู้บริหารก็จะเอียงไปข้างหนึ่ง(skewed) ผลได้ระยะยาวถูกมองข้าม หันมาเน้นผลระยะสั้นอย่างเดียว  ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต แคปแพลน สร้าง Balanced Scored Card ขึ้นมาเพื่อเตือนว่า ผลงานของผู้บริหารไม่ได้อยู่ราคาหุ้นเพียงประการเดียว

ธุรกิจบัณฑิตจาก ร.บ.ฮ. ถูกสอนมาให้เป็นทหารรับจ้าง เขาไม่ถามว่าสงครามนี้มีคุณค่าไหม?  นี่คือความถูกต้องแล้วหรือ?  มีเหตุอันยุติธรรม หรือเปล่า?  และฉันเชื่อในคุณค่าเหล่านั้นหรือไม่?

ชั้นเรียนของเด็กอนุบาล

ลักษณะการเรียนที่ ร.บ.ฮ. นอกจากจะยึดกรณีศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว  ยังมีการแบ่ง “ตอน” – section  ของนักเรียน ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง  ตอนหนึ่ง(หรือ กลุ่มหนึ่ง)มี 70 คน จะเรียนด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ปรึกษาหารือปัญหาการเรียนด้วยกันตลอดทั้งปี(ปีหนึ่ง)  สำหรับนักศึกษาส่วนมาก พวกเขาจะไม่เคยเรียนร่วมกับเพื่อนกลุ่มเดียวเลย หลังจากชั้นอนุบาล

การแบ่ง “ตอน”  หรือที่เรียกว่า section system นี้ ทำให้นักเรียนในตอนเดียวกันสนิทสนมกัน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์เชิงสัมคม ในอนาคต
ไมเคิล ปอร์เตอร์

อาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของ ร.บ.ฮ. คือ ไมเคิล ปอร์เตอร์ ไม่แต่เท่านั้น เขายังเป็นครูสอนเรื่องธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์การเรียนการสอนเกี่ยวกับธุรกิจ

เป็นคนมุมานะอย่างยิ่ง ทะเยอทะยานใฝดีล้นเหลือ เป็นดาราฟุตบอลและเบสบอลระดับชาติเมื่ออยู่ในชั้นมัธยม จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมช่างกลและอวกาศ จากปรินสตัน อาจารย์ที่ปรินสตันแนะนำให้เขามาเรียนที่ ร.บ.ฮ.  ครั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ ร.บ.ฮ.แล้ว เขายังไปเรียนปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ระหว่างเรียนเศรษฐศาสตร์ เขามุ่งความสนใจไปที่เรื่อง “องค์กรอุตสาหกรรม”(IO – Industrial Organization) วิชานี้ระบุว่า กำไรส่วนเกิน – excess profit เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างของอุตสาหกรรม  ปอร์เตอร์จับประเด็นตรงนี้ แล้วพัฒนาต่อไปว่า การวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ ควรเริ่มในระดับอุตสาหกรรมโดยรวม ไม่ใช่เริ่มจากกิจการใดกิจการหนึ่ง

ทั้งนี้ เพราะตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การแข่งขันสมบูรณ์นำไปสู่ผลตอบแทนต่ำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะวางแผนหากำไรปริมาณมาก(excess profit) เราต้องดูว่าจุดอ่อนด้านการแข่งขันอยู่ที่ไหน  พลังแห่งการแข่งขันที่อ่อนแอที่สุดอยู่ที่ไหน

ในการแสวงหาดังกล่าว  ปอร์เตอร์พัฒนาความคิดเรื่อง “พลังห้าประการ” (Five Forces)
          1) อำนาจต่อรองของผู้สนอง(suppliers)
          2) อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ
          3) การแข่งขันกันระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในปัจจุบัน
          4) การคุกคามของกิจการหน้าใหม่ในตลาด
          5) การคุกคามจากผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ (substitute products)

เขาเสนอแนะว่า แนวทางยุทธศาสตร์ธุรกิจ มีสามแนว
1)   เป็นผู้นำด้านต้นทุน(คือ ต้นทุนต่ำ)
2)   ความแตกต่าง หรือความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์
3)   ความชำนาญพิเศษด้านการตลาด (คือ เชี่ยวชาญช่องทางการตลาดเป็นการเฉพาะช่องทาง
หนังสือยุทธศาสตร์ธุรกิจ ของ ปอร์เตอร์ ออกมาในปี 1985 ชื่อ Comparative Advantage

ตลอดอายุหนึ่งร้อยปีเศษ ร.บ.ฮ.ยังคิดไม่ออกว่าจะแทรกเรื่องจริยธรรมไว้ในหลักสูตรได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะว่าวิชาที่เรียนและสอนกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่การงาน แต่จริยธรรมศิลธรรม เป็นเรื่องปรัชญา

เรากำลังพูดอะไรกัน เวลาเราพูดว่า “จริยธรรมทางธุรกิจ”
โดยส่วนมาก อาจแบ่งได้เป็น
1)   ข้อห้าม หรือ สิ่งที่ไม่พึงทำ ที่ครอบคลุมตลอดทุกเรื่องที่ผิดกฎหมาย การฉ้อฉล การติดสินบน การรวมหัวกันตั้งราคา การกีดกันเรื่องแรงงาน และยังรวมเรื่องสีเทา ๆ เช่น การหลอกลวงเชิงบัญชี การไม่เปิดเผยข้อมูลพอเพียง หรือหลอกขายของ
2)   ข้อควรทำ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความครบถ้วนสมบูรณ์ในการสื่อสารภายใน การแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างเที่ยงธรรม การดูแลให้สถานที่ทำงานปลอดภัย
3)   เกี่ยวกับประเด็นที่กว้างที่สุด ประกอบด้วยปัญหาที่ต้องอภิปรายกัน ไม่ได้มีข้อยุติง่ายๆ เช่น การกระจายรายได้อย่างเสมอภาค คือ อะไร? ผู้จัดการควรมีผลตอบแทนเท่าไร? เหตุผลทีผ่านและยอมรับกันได้ในการปลดคนงาน คือ อย่างไร? กิจการธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อชุมชนที่ตนตั้งอยู่ แค่ไหนเพียงใด?

จอห์น เคนเนธ กาลเบรียธ ตั้งข้อสังเกตวิจารณ์พวกอนุรักษ์นิยมอเมริกันว่า “พวกอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ ผูกพันกับข้อปรัชญาเก่าแก่โบราณของมนุษย์ คือ พวกเขาแสวงหาความชอบธรรมสูงสุด ให้กับ ความเห็นแก่ตัว”  ระหว่างปี 1975-1985 บริษัทที่ติดอันดับ ฟอร์จุน 500 บริษัท มีอยู่สองในสามถูกพิพากษาว่า เกี่ยวขัองกับคดีอาชญากรรมร้ายแรง  รวมทั้งการรวมหัวกันกำหนดราคา และการทิ้งขยะอันตรายอย่างผิดกฎหมาย

เคซี เจรัล นักศึกษาที่เป็นตัวแทน กล่าวปราศรัยวันรับปริญญาปี 2014 พูดว่า “วิชาการรายงานและควบคุมทางการเงิน” ที่ ร.บ.ฮ. ที่จริงน่าตั้งชื่อว่า “วิชา-ทำอย่างไรจะได้ไม่ติดตะราง”

ปี 1992 ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต แคปแพลน ร่วมกับที่ปรึกษาธุรกิจ นายเดวิด นอร์ตัน เขียนบทความลงวารสารธุรกิจฮาร์วาร์ด เรื่อง “The Balanced Scorecard: Measures that Drive Performance”  ประเด็นของสะกอร์การ์ด ก็คือ การเรียกร้องให้นำเอามาตรการนอกเหนือจากการเงิน มาใช้เป็นแรงจูงใจ เป็นเครื่องวัด และประเมินผลดำเนินงานของธุรกิจ

การที่โรงเรียนบริหารธุรกิจ จับประเด็นการวัดผลการดำเนินงานต่างรูปแบบขึ้นมาอภิปราย ถือว่าสถาบันนี้เป็นสถาบันเดียวในโลกปัจจุบัน ที่พยายามจะตอบคำถามที่เผชิญหน้าชาติพันธุ์มนุษย์อยู่วันนี้ คือ
          “จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้กิจกรรมของมนุษย์ ยั่งยืน?”

แต่ว่า การบริหารแบบอเมริกัน ยังคงมีลักษณะดังนี้ (หน้า 449)

“มุ่งเน้นแต่เฉพาะลักษณะนามธรรมของตัวเลขบัญชี  แล้วต่างพากันเชื่อสนิทว่า ผลการดำเนินงานในระยะยาว สามารถพยากรณ์ได้ด้วยการปฏิบัติจัดการตัวเลขบัญชี  ผู้จัดการ...มองข้ามขั้นตอนการแต่งตัวเลขบัญชีว่า จะสามารถยังผลร้ายต่อความจริงอันเป็นรูปธรรม  ขั้นตอนดังกล่าวรวมถึง การเอาคนออกจากงาน การลดผลตอบแทนคนงาน การโอนย้ายงานไปยังภูมิภาคที่ค่าแรงต่ำ บังคับคู่ค้าให้ลดราคา กดดันชุมชนให้ลดภาษี ละเมิดระเบียบความปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมาก...พวกเขายังไม่สนใจสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่คอยเสนอสนองวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจ  พวกเขาละเลยการปฏิบัติจัดการของเสียที่ธุรกิจทำให้เกิด... ในที่สุด ก็จบลงด้วยการก่อวิกฤตทางการเงิน บั่นทอนปกติสุขของชีวิตมนุษย์  สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลร้ายต่อสังคมอเมริกันตลอดสี่สิบปีที่แล้วมา  และจะเป็นภัยยิ่งขึ้นในอนาคต”


โรงพิมพ์ธนบัตร

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา กิจการที่ปรึกษาธุรกิจเป็นแหล่งงานอันดับแรกของธุรกิจบัณฑิตจาก ร.บ.ฮ.  รองลงมาคือ วอล สตรีท ทั้งสองแหล่งนี้มีเงินเป็นเครื่องล่อใจบัณฑิต  ตอนครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เคยเป็นที่ทำงานยอดนิยม เพราะเป้นส่วนหนึ่งของตำนานที่คนอเมริกันเห็นว่า  “เป็นศักดิ์ศรี”  ในฐานะที่อเมริกันเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลกอุตสาหกรรม และบัณฑิตบริหารธุรกิจเข้าใจว่าการได้บริหารกิจการขนาดใหญ่ ต้องใช้พลังสมองมาก

ในทศวรรษที่ 1980s โลกเปลี่ยนไป แหล่งเงิน(เดือน)ดี ๆ ย้ายไปอยู่ที่ธนาคารเพื่อการลงทุน (หากินใน วอล สตรีท) ส่วนการที่จะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาหากิน วอลสตรีท นั้น ต้องอาศัย “เส้นสาย” ที่เหนียวมาก ๆ จึงไม่เคยมีบริษัทใหม่ที่มีบทบาทจริงจัง สามารถเกิดขึ้นมาหากินในวงนี้ได้นับแต่ปี 1932

กระนั้นก็ดี ศิษย์ ร.บ.ฮ. โดยอาศัยเส้นสายที่ ร.บ.ฮ. มีไว้ให้ นอกจากจะเข้าไปทำงานอาชีพ(รับจ้าง)กับกิจการในวอล สตรีท แล้ว ที่สามารถเข้าไปสร้างธุรกิจอยู่ในนั้น ก็พอมี เช่น Blackstone Group ของศิษย์เก่า ร.บ.ฮ. นายสตีเฟน ชวอซแมน  เขาสรรเสริญการเรียนที่ ร.บ.ฮ. ทั้งเรื่องการแบ่งนักเรียนเป็น “ตอน”(section) และการใช้วิธีกรณีศึกษา

ระยะหลังนี้ ผู้วิจารณ์ ร.บ.ฮ. อย่างแหลมคมได้แก่ เฮนรี มินสเบิร์ก  ผู้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย แมคกิล ประเทศคานาดา  และวารสาร ร.บ.ฮ. ก็ใจกว้างตีพิมพ์บทวิจารณ์ของเขา ในปี 1990 เขาเขียนเรื่อง “งานของผู้บริหาร – นิทานพื้นบ้าน หรือว่า ข้อเท็จจริง”  ปี 1996 เขาเขียนบทความวิจารณ์อีก  กระทั่งเขามีชื่อเสียงด้วยบทความวิจารณ์ ร.บ.ฮ. และวิจารณ์การเรียนการสอนปริญญาโทบริหารธุรกิจ โดยทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เขากล่าวว่า เรานำคนหนุ่มสาวที่ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจ แล้วให้เรียนกรณีศึกษา  นักศึกษาเล่นเกมเป็นผู้บริหารสูงสุด  ของกิจการในกรณีศึกษา อันเป็นกิจการที่ตนไม่ได้รู้อะไรจริง

นักศึกษาอ่านกรณีศึกษาจำนวน 20 หน้ามาเมื่อคืน รุ่งเช้ามาเข้าชั้นเรียน  เฮนรี มินสเบิร์ก สรุปว่าโรงเรียนบริหารธุรกิจ ร.บ.ฮ. สอนเรื่องโป้ปดมดเท็จ  ฝึกอบรมให้คนออกมานั่งในสำนักงานแล้วมองว่ากิจการที่ว่าจ้างตนเป็น “กรณีศึกษา”  เขาลงความเห็นว่า ยิ่ง ร.บ.ฮ. ประสบความสำเร็จมากเท่าไร ธุรกิจก็จะยิ่งวินาศฉิบหายมากขึ้นเท่านั้น

          Before you solve the problem,
          You have to find the problem,
          And establish what is problematic.”

          “ก่อนที่คุณจะไขปริศนา
          คุณต้องหาให้พบเสียก่อนว่า ปัญหานั้นคืออะไร
          และอะไร ที่เป็นปมประเด็น”

มินสเบิร์ก เคยให้สัมภาษณ์ นิวยอร์ค ไทม์ เมื่อ 2012 ว่า บัณฑิตร.บ.ฮ. เป็นภัยคุกคามสังคม  และเขาพูดว่า การเรียนกรณีศึกษา ที่แต่ละคน พ่นกันฟุ้งฝอย เกี่ยวกับเรื่องที่ตนเองรู้เพียงเลา ๆ นั้น นั่นไม่ใช่การศึกษา (…that is not education)

วิจารณ์มาแล้ว ทางออกเป็นอย่างไร?  เขาเสนอ ร.บ.ฮ. ว่า

1)   เลิกดูหมิ่นชุมชน อันเป็นบริบทที่องค์การอาศัยอยู่ ให้มองคนเป็นคน และไม่ไล่คนออกจากงานเป็นจำนวนมาก ๆ เพียงเพราะธุรกิจไม่บรรลุเป้าหมายตัวเลขการดำเนินงาน แต่ยังคงมีกำไรดีอยู่
2)   เลิกจ่ายผลตอบแทนผู้บริหารสูงสุด มากมายอย่างน่าเกลียด ผู้บริหารสูงสุดที่ได้รับผลตอบแทนถึง 400 หรือ 500 เท่าของคนงานสามัญ  เขาไม่ใช่ผู้นำ เขาเป็นนักขูดรีดปล้นสะดม
3)   หยุดสอนเรื่องปัจเจกชนผู้นำ ราวกับว่าผู้บริหารสูงสุดเป็นวีรบุรุษ  เขาไม่ใช่วีรบุรุษ เขาเป็นเพียงผู้มีศักดิ์สูงสุดในกิจการธุรกิจ ที่ประกอบด้วยคนหลายโหล หลายร้อย หรือหลายพันคน
4)   เลิกตอแหลบอกคนหนุ่มสาวอายุยี่สิบสามปีว่า พวกเขาคือผู้นำอเมริกา  ซึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  พวกเขาเป็นแค่ “คนอายุยี่สิบสาม”  การบริหารจัดการไม่ได้เป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง การบริหารจัดการไม่ใช่วิทยาศาสตร์  มินสเบิร์ก เขียนในวารสาร ร.บ.ฮ. ปี 2009 ว่า  คุณไม่อาจเรียนเรื่องการบริหารจัดการ เหมือนกับเรียนการผ่าตัด หรือเรียนวิศวกรรม  การบริหารจัดการเป็นการปฏิบัติ คุณเรียนการบริหารจัดการด้วยการลงมือปฏิบัติการบริหารจัดการ  ซึ่งประสบการณ์มีความสำคัญสูงสุด

น่าละอาย – เจฟ สกิลลิง และกรณีบริษัท เอ็นรอน

ศิษย์เก่า ร.บ.ฮ. ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ แม็คคินซี มากว่าสองทศวรรษ แล้วเมื่อสบโอกาส ก็ขึ้นนั่งตำแหน่งสูงสุดในกิจการของลูกค้า คือ บริษัท พลังงาน ENRON

โดยย่นย่อ เขาทำอะไรบ้างกับ เอ็นรอน

1)   หันเหทิศทางการประกอบอาชีพของบริษัท ซึ่งเป็นกิจการสร้างโรงไฟฟ้า  ผันไปทำกิจกรรมอื่น เช่น การเจรจาต่อรอง การอำนวยการทางการเงิน การล็อบบี(วิ่งเต้นทางการเมือง) และ เล่นหุ้น(trading)
2)   ปล่อยให้ความปากไว พล่อย ๆ ขึ้นหน้า ภายใต้การนำของ สกิลลิง ความมั่นใจช่วยแต่งให้น่าเชื่อถือ – แม้ว่า จะไม่น่านับถือ  เขาเรียนเรื่องนี้จาก ร.บ.ฮ. ก่อนที่ เอ็นรอน จะเจ๊ง  หุ้นของเอ็นรอนซื้อขายกัน 60 เท่าของรายได้(60 times earnings)  ในขณะที่เวลานั้น เอ็นรอนมีสภาพเสมือนธนาคาร ๆ หนึ่ง แต่หุ้นธนาคารซื้อขายกันที่ 10-15 เท่าของรายได้  การปากไวรายวันช่วยรักษาค่าหุ้นไว้ระดับสูง
3)   เขาปล่อยตัวเตลิดไปกับการทำวิศวกรรมทางการเงิน(financial engineering) โดยเฉพาะ กับรายการนอกงบดุล  ซึ่งทำให้กิจการมีหนี้สินล้นพ้นตัว
4)   ศิษย์ ร.บ.ฮ. คิดว่าตนสามารถบริหารได้ทุกอย่าง พวกเขาเป็นผู้จัดการทั่วไป-เป็นอันดับแรก และเป็นผู้ชำนัญพิเศษ-เป็นอันดับสอง  สกิลลิง เข้าใจผิดคิดว่าความสำเร็จลอกเลียนกันได้  ถ่ายโอนจากอุตสาหกรรมหนึ่ง หรือจากบริษัทหนึ่ง ไปยังที่อื่น ๆ ได้  การที่บริษัทแกสธรรมชาติบริษัทหนึ่ง(เอ็นรอน)ประสบความสำเร็จในวงการพลังงานที่กำลังถูกยกเลิกกฎและระเบียบ ไม่ได้หมายความว่า ประสบการณ์นั้น จะนำไปใช้ได้ทุกที่

ในที่สุด ด้วยการฉ้อฉลด้านบัญชีอย่างมโหฬาร เอ็นรอน ก็วิบัติฉิบหาย สกิลลิง ถูกพิพากษาจำคุกรัฐบาลกลาง(federal prison) ยี่สิบสามปี

(ปี 2000 บริษัท เอ็นรอน มีคู่มือจริยธรรม – code of ethics หนาถึง หกสิบสี่ หน้า)

เจฟ สกิลลิง เมื่อครั้งยังเป็นซีอีโอ ของ เอ็นรอน พูดถึง ร.บ.ฮ. ว่า

“โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด ไม่ได้สอนการบัญชี หรือการเงิน แต่สอนว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ”

ศิลปะขั้นสูง แห่งความหลงตัว

ตลอดหนึ่งศตวรรษของชีวิต ร.บ.ฮ. ความสำเร็จที่มีมาและคงอยู่ เกิดจากศิลปะแห่งการหมุนลูกข่าง กล่าวคือ ร.บ.ฮ. มีขีดความสามารถเหลือเชื่อ เสนอตัวต่อโลกว่า ข้าคือยาวิเศษที่จะแก้โรค ที่ข้าเองเป็นเหตุ  เช่น โรเบิร์ต แคปแพลน เป็นยาแก้โรค ไมเคิล เจนเซน  ส่วน ไมเคิล ปอร์เตอร์ คือยาแก้โรคความไม่เสมอภาคอันเกิดจากการยึดถือเรื่องคุณค่า(ราคา)ที่ก่อให้เกิดแก่ผู้ถือหุ้น หรือลัทธิทุนนิยมเพื่อผู้ถือหุ้น  ครั้น เจฟ สกิลลิง ยึดคำสอน ร.บ.ฮ. ไปไกลสุดกู่ ร.บ.ฮ. ก็บอกว่า กรณีเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก  เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงินปี 2007-09  ร.บ.ฮ. ก็มีลูกแก้ให้อีก....

ผลตอบแทนสูงลิบ ต่อซีอีโอ อเมริกัน

ร.บ.ฮ. รายงานในปี 2014 ว่า คนอเมริกันพาเข้าใจผิดคิดว่า ซีอีโอ ได้ผลตอบแทนมากกว่าคนงาน 30 ต่อ 1  อันที่จริงซีอีโอ อเมริกันได้รับผลตอบแทน มากกว่าคนงาน 354 ต่อ 1 ต่างหาก

คนอเมริกันนึกว่า สัดส่วนการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสหรัฐ  คือ 20 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวอเมริกัน เป็นเจ้าของ ครอบครอง ความมั่งคั่งประมาณ 59 เปอร์เซ็นต์ ของความร่ำรวยในสหรัฐ  แต่ความเป็นจริง ถือครองอยู่ถึง 84 เปอร์เซ็นต์

โธมัส พิคเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศส  เขียนหนังสือขายดีปี 2014 ชื่อ “Capital in the Twenty-First Century”  บุคคลผู้นี้เป็นที่นับถือกันว่า เชี่ยวชาญเรื่องความไม่เสมอภาค  ไม่ใช่ในเชิง “ควรแก้ไข อย่างไรดี”  แต่เขาเสนอข้อมูลในเชิง “นี่คือ ข้อเท็จจริง”

ปี 2015 อาจารย์มหาวิทยาลัย คอร์แนล ซูซาน เม็ตเล่อร์ ตั้งคำถามว่า ประเทศที่เป็นเจ้าแห่งความเสมอภาค ประเทศที่ทุ่มสุดเอวเพื่อความเสมอภาค  เหตุไฉนจึงได้ไม่เสมอภาคกันได้มากมายถึงเพียงนั้น(นับแต่ ทศวรรษที่ 1970s)

เมื่อสำนักข่าวเอพี ทำการสำรวจปี 2007 เกี่ยวกับผลตอบแทนผู้บริหาร  พบว่า ผลตอบแทนผู้บริหารอเมริกันขึ้นลงโดยไม่เกี่ยวกับทิศทางราคาหุ้น หรือกำไรของบริษัท  ปัจจุบัน ผลตอบแทนผู้บริหารสูงสุดอยู่ที่ระดับ 400 เท่าของพนักงานทั่วไป

สรุปว่า ซีอีโอ ได้รับผลตอบแทน เพียงเพราะเช้าขึ้นมา เขาตื่นเดินทางไปเข้าสำนักงาน เท่านั้นเอง

คนรุ่นใหม่ – รุ่นต่อไป
Amy Cuddy   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม ที่ร.บ.ฮ. เธอพูดที่ เทด ทอล์ค ปี 2012 เรื่อง Your Body Language Shapes Who You Are  มีคนคลิกชมสูงอันดับสองของ โลกเทด ทอล์ค คือ 30 ล้านครั้ง
หัวใจของรายการ – ภาษากายของคุณ ไม่เพียงสะท้อนว่าคุณรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองอย่างไรในวันนี้  แต่ยังบ่งบอกถึงคุณในวันพรุ่งนี้ด้วย  ภาษากายของคุณมีอิทธิพลต่อจิตใจคุณ และต่อการตอบสนองของผู้อื่น(ต่อคุณ)
อาจารย์ คัดดี วิจัยออกมาว่า “ฟอร์มที่ทรงอำนาจ”(power posing)  เมื่อคุณแสดงฟอร์มที่ทรงอำนาจ  มันจะช่วยเพิ่ม testosterone (โฮโมนชนิดหนึ่ง)  ลดทอน cortisol (โฮโมนอีกชนิดหนึ่ง  ที่ทำให้คนเครียด)
สรุปว่า การวางฟอร์ม(ท่าทาง)ของคุณนั้น  คุณอาจทำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น แต่รู้ไหมว่า ฟอร์มนั้นคุณกำลังสื่อสารกับตัวคุณเองด้วย  แนวทางของอาจารย์ คัดดี สอดคล้องกับ ทางของ ร.บ.ฮ.  เพราะว่า เหตุที่ ร.บ.ฮ. ยึดมั่นกับการณีศึกษา ก็เพราะเข้าใจว่า การบริหารคือ “การแสดงละคร”  และโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด เป็นโรงเรียนสอน “โวหาร”  บัณฑิตที่สำเร็จออกมา นอกจากจะรู้จักคิดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว  ยังรู้จักวิธีเดิน วิธีพูด – เพื่อการบริหารจัดการ (อีกนัยหนึ่ง รู้จักร้อง รู้จักรำ)
ถ้าใครสักคน ศึกษาหลักสูตรอย่างเป็นทางการของ ร.บ.ฮ. แปลว่า คน ๆ คนนั้นเข้าใจผิดถนัด กำลังหลงทาง  ธุรกิจเป็นการแสดงลิเก (หรือ ละครคาบูกิ) มากกว่าที่จะแสดงด้วยผังองค์กร  ประสบการณ์จากโรงเรียนบริหารธุรกิจ ร.บ.ฮ. เป็นประสบการณ์ด้านการละคร(a theatrical experience)

ศาสตราจารย์ ภารตะ อานันทะ (Bharat Anand)  ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ธุรกิจ และศาสตราจารย์ ยุ้งเม่ แซ่มุน (Youngme Moon) ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานโครงการเอ็มบีเอ ได้รับรางวัลต้านการสอนดีเด่น มากมายหลายรางวัล

ศาสตราจารย์ Linda Hill เจ้าของหนังสือปี 2014 เรื่อง Collective Genius: The Art and Practice of Leading Innovation ซึ่งสะท้อนถึงความยากจนทางปัญญา(the paucity of scholarship)  และยังส่อความอุดมสมบูรณ์ ไร้เทียมทัน ด้านความบัดซบไร้สาระของผู้นำอุตสาหกรรม(ธุรกิจ)ปัจจุบัน

นิติน เนาวห์เรีย (เชื้อสายอินเดีย) คณบดีคนปัจจุบัน เขียนหนังสือปี 1992 ชื่อ Network and Organizations: Structure, Form, and Action  เสนอเรื่องหญ้าปากคอก ที่ดูเสมือนเพียบสติปัญญา (intelligent – sounding obviousness)

ศรีกันต์ ดาทาร์ (เชื้อสายอินเดีย) อาจารย์สายจริยธรรมธุรกิจ ผู้ถูกเสนอชื่อแข่งกับ  นิติน เนาวห์เรีย เพื่อตำแหน่งคณบดี  แต่แพ้  เขาวิจารณ์และเสนอปรับปรุงหลักสูตร ร.บ.ฮ. ว่า
-      ทัศนคติเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ล้าหลัง – แต่ร.บ.ฮ. ยังคงดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนความคิด
-      ความพยายามจะพัฒนาความเป็นผู้นำ ล้มเหลว
-      ขอบเขตการตลาด และโมเดลการตลาด สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง
-      บัณฑิต ขาดความสามารถที่คิดพิจารณ์อย่างมีเหตุผล
-      นักศึกษา ขาดวิสัยทัศน์โลกาภิวัตน์
ดาทาร์ เกิดในอินเดีย ได้ปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก Indian Institute of Management  เมืองอาห์เหม็ดดาบัด  และได้รับปริญญาโทสองใบ กับปริญญาเอก จากสแตนฟอร์ด

สรุป พวกที่ถือหาง สแตนฟอร์ด วิจารณ์ ร.บ.ฮ. ว่า
          “ถ้าคุณ อยากให้คุณปู่ของคุณชื่นชม  จงไปเรียนโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด
          แต่ถ้าคุณ ต้องการจะให้หลานนึกนิยมยกย่อง  ให้ไปเรียนที่ สแตนฟอร์ด”




ปรีชา ทิวะหุต
นาพญา หลังสวน
ชุมพร
เมษายน 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น