open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

l'esperance, photo: mi cabana, Lacrimosa

l'esperance, เลส เป ร้องซ์, The Hope,
คณะ PCCB, France



rumah saya - mi cabana - my cottage, end of September 2559,
changing seasons: the sky is blue and the ray of the sun golden.




Lacrimosa, Weeping, by Mozart


ตอน 7 ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มหนึ่งและสาม

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มหนึ่งและสาม
The Mixed Regime and the Rule of Law: Aristotle's Politics, I, III


ศ.สมิธ เปิดการบรรยายตอนนี้ว่า การสอนปรัชญาการเมืองอย่างจริงจังนั้น กล่าวกันว่า จะต้องเริ่มด้วย เพลโต ซึ่งท่านก็ได้ดำเนินการบรรยายมาในแนวนั้น  บัดนี้...ถึงเวลาที่จะต้องก้าวต่อไป

และจะว่าด้วยบุตรบุญธรรม หรือทางจิตวิญญาณของ เพลโต อันได้แก่ อริสโตเติล

ตำนานเล่า ชีวิตของอริสโตเติล ว่า: “อริสโตเติล เกิดมา ใช้เวลาทั้งชีวิตครุ่นคิด แล้วเขาก็ตาย”ซึ่งถึงแม้ชีวิตอริสโตเติลจะมีมากกว่านั้น แต่คำกล่าวตามตำนานก็ไม่ได้หนีความจริง  เพราะตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้รู้ชาวตะวันตกก็ถือว่า อริสโตเติลเป็นยอดนักปรัชญา


วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 3/3


ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 3/3
        Philosohpers and Kings, Plato's Republic, V


ตอนสุดท้าย ของการบรรยายเกี่ยวกับหนังสือ สาธารณรัฐ ของเพลโต โดยศ.สมิธ

ประเด็นของเรื่องก็คือ การสร้างรัฐที่ยุติธรรม(ดี) ด้วยการควบคุมความทะยานอยาก(passion)
หรือ กิเลส ซึ่งศ.สมิธ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางหลักอยู่แล้ว ในอารยธรรมตะวันตก

พื้นฐานปรัชญาเพลโตเกี่ยวกับความยุติธรรม(หรือ ความดี) ในหนังสือ สาธารณรัฐ ได้แก่ เรื่องที่ว่า ทำอย่างไร เราจะควบคุมความทะยานอยากได้  อะไดมาตุส ได้เสนอเรื่อง การพิทักษ์ตนเอง(self-guardianship) โดยตั้งข้อปุจฉาว่า เราจะพิทักษ์คุ้มครองตนเอง จากความทะยานอยาก หรือ กิเลส ที่ชอบแส่หา ความอยุติธรรม(ความไม่ดี) ได้อย่างไร?

โสคราติส เรียกความทะยานอยากของคนว่า spiritedness อันได้แก่ ความอยากดัง อยากมีชื่อเสียง หรือ love of distinction สองเรื่องนี้ โสคราติส บอกว่า ทำให้ชายหญิงทั้งหลายมุ่งสู่ชีวิตการเมือง(public life)




ความทะยานอยากดังกล่าว ก่อให้เกิดวีรบุรุษ ก่อให้เกิดการรู้จักเสียสละ ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจเมื่อได้พบกับความอยุติธรรม  แต่ในทำนองเดียวกันนั้น ก็มีส่วนที่จะเกิดความปรารถนาที่จะควบคุมกำกับผู้อื่น หรืออาจนำไปสู่ความเป็นทรชนเผด็จการ  ความทะยานอยากที่ โสคราติส กล่าวถึง หรือ spiritedness หรือที่ต้นฉบับภาษากรีกเรียกว่า thumos นั้น มีลักษณะทวิภาค ผู้นำที่ดีทางการเมือง และทรชนเผด็จการ ต่างล้วนมีคุณสมบัติทั้งสามประการนี้อยู่กับตัว ปัญหาปรัชญาของโสคราติส ก็คือ ทำอย่างไรเราจะประคับประคอง โน้มนำ ให้คุณสมบัตินั้นมีผลรับใช้สังคม/สาธารณชน ในทางที่ดี

โสคราติส ยกตัวอย่าง กรณีของ ลิออนเทียส  เพื่อความชัดแจ้งเรื่องความทะยานอยาก  เรื่องราวมีว่า ลิออนเทียส เดินอยู่ที่ตำบล ไพเรฟ นอกกำแพงเมืองเอเธนส์ แล้วได้เห็นศพวางเรียงรายอยู่ในพื้นที่ ที่เป็นแดนประหาร  เขานึกอยากดูและไม่อยากจะเห็นซากศพเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กัน  แต่ในที่สุดความอยากดูก็ชนะความไม่อยากจะเห็น เขาจึงได้เปิดตาออก

ความอยากดู/ไม่อยากดู เป็นการต่อสู้ภายใน เป็นปฏิปักษ์ที่เข้มข้น  เหมือนเวลาเรา(ชาวอเมริกัน) ขับรถไปบนทางหลวง  แล้วพบอุบัติเหตุเกิดอยู่ข้างหน้า  คนทุกคนก็ชะลอรถลง ชะเง้อชะแง้ อยากเห็นความวิบัติฉิบหาย อยากเห็นเลือด เห็นศพ เห็นคนเจ็บ  ถ้า โสคราติส อยู่ในที่นั้นกับเราด้วย เขาจะเตือนเราว่า อย่าดู อย่าชะลอรถ ให้ขับเรื่อยไปสู่จุดหมายปลายทางของเรา ให้นึกถึงเรื่องส่วนตนดีกว่า อย่าได้จุ้นจ้านไปสู่รู้เรื่องคนอื่นเขา  โสคราติส ให้โอสถมาเยียวยาเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลเข้ามาควบคุมให้เราไม่ตกหลุมกิเลส หรือความอยาก  ให้เรารู้จักดูแลตนเองให้อยู่กับร่องกับรอย  ลักษณะนี้ โสคราติสเรียก ความยุติธรรม(ดี) คือลักษณะที่เหตุผลเขามาควบคุมความอยาก ความกระหาย และกิเลส

ขั้นตอนต่อไปก็คือ เราจะนำความยุติธรรม(ดี) มาปรับใช้กับบ้านเมืองจะได้หรือไม่?  กล่าวคือ นำความยุติธรรมในจิตวิญญาณ มาปรับใช้กับบ้านเมือง จะได้หรือไม่?  ภาษาไทยปนอังกฤษว่า จะแปรรูป justice in the soul มาเป็น political justice (หรือ justice in the polis) จะได้ไหม?

ทั้งนี้ โสคราติส เห็นว่า การสร้างบ้านสร้างเมืองที่ดี (a just city) เขาคิดว่าจะต้องปฏิรูปสามประการคือ

1)   ให้ควบคุมการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จนในที่สุดให้เลิกสิทธิ์ที่จะมีทรัพย์สินส่วนตัว
2)   ให้เลิกสภาพครอบครัว ไม่ต้องมีครอบครัว
3)   ให้ยกนักปรัชญาขึ้นเป็นราชา

ศ.สมิธ ยกรายละเอียดในข้อเสนอของ โสคราติส ที่จะให้มี สหศึกษา  ขึ้นมากล่าว  โดยที่เรื่องสหศึกษาอยู่ในข้อเสนอข้อที่ 2) ให้เลิกระบบการมีครอบครัว โสคราติส เห็นว่า ชายหญิงพึ่งได้รับการศึกษาเหมือน ๆ กัน หลักสูตรเดียวกัน  โดยเขาออกตัวว่า ข้อเสนอนี้ของเขาคงจะเป็นที่ตลกขบขันแก่ เกลาคอน โสคราติส เห็นว่า งานในทางการเมือง ชายหญิงทำได้ดีเท่ากัน  โสคราติส เห็นว่าการเมืองการปกครองไม่เกี่ยวกับเพศ ก็เหมือนกับคนผมดกหรือคนหัวล้าน ต่างก็ทำงานการเมืองได้เหมือนกัน ชายหญิงก็เช่นเดียวกัน  แต่ทั้งนี้ โสคราติส ไม่ได้คิดว่า ชายหญิงจะเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง เพียงแต่ว่า เรื่องบ้านเรื่องเมืองนั้น หญิงชายเสมอภาคกันทุกตำแหน่ง

เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มกันที่การศึกษาอย่างเสมอภาคกัน  ชายหญิงเข้าสู่ระบบการศึกษาหลักสูตรเดียวกัน  ให้แข่งขันกันในยิมเนเซียมที่เป็น สหเพศ  ซึ่งหมายความว่า ทุกคนต้องเปลือยกายแข่งขันกัน  และแก้ผ้าออกกำลังกายด้วยกัน  ตามธรรมเนียมกรีก(เอเธนส์)สมัยนั้น 

ลำดับต่อมา การแต่งงานก็จะเป็นไปเพื่อบ้านเพื่อเมือง(for the sake of the city) ไม่ใช่แต่งงานเพราะรักกัน  คนกลุ่มนี้จะถูกสร้างให้เป็นชนชั้นผู้พิทักษ์รัฐ(guardian class)  ความสัมพันธ์ทางเพศจะเป็นไปเพื่อให้กำเนิดทารกเท่านั้น  ทารกในครรภ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ
ก็ให้ทำแท้งได้

สำหรับสมาชิกชนชั้นผู้พิทักษ์รัฐที่สูงวัย  พ้นวัยเจริญพันธ์มาแล้ว  ก้ายังมีสุขภาพสมบูรณ์ก็ให้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับใครก็ได้ เพื่อความบันเทิงใจ สนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็น a recreation sex  ถือเป็นรางวัลที่ได้ควบคุมตนเองมาตลอดชีวิต  สำหรับสตรีก็จะมีหน้าที่อุ้มท้องเท่านั้น ไม่ต้องเลี้ยงลูก การเลี้ยงดูเยาวชนเป็นหน้าที่ของชุมชน  โดยให้มีโรงเลี้ยงเด็กของชุมชน  และเด็ก ๆ ก็จะต้องไม่รู้ว่าใครคือพ่อแม่ และบิดามารดาก็ไม่รู้จักบุตร  ทั้งนี้เพื่อลบล้าง ความรู้สึก “ของกู”  และเพื่อสร้าง esprit de corps หรือ ความรู้สึกเป็นทีมในระหว่างชนชั้นผู้พิทักษ์สาธารณรัฐ  ให้เกิดการรับรู้ความสุขความทุกข์ของกันและกัน  ทำนองว่า “I will feel your pain.”

อย่างไรก็ดี อริสโตเติล เถียงประเด็นนี้ของ โสคราติส  อริสโตเติลเห็นว่า คนเราจะรักใคร่หวงแหนสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ได้อย่างไรกัน?  ตามธรรมดาคนเราจะรักหวงแหนเฉพาะสิ่งที่เป็นของตนเท่านั้น ไม่ใช่ของสาธารณะ  ตามความเห็นของอริสโตเติลแล้ว  ลักษณะเจ้าของร่วมกัน(หรือ common owned)  ย่อมมีค่าเท่ากับ การไม่แยแสด้วยกัน(หรือ common neglected)

ประเด็นต่อมา โสคราติส ต้องการเสนอวิธีทำสงครามเสียใหม่ โดยให้ชนชั้นผู้พิทักษ์รัฐ ได้รับการอบรมเลี้ยงดู สั่งสอนให้เป็นชาตินักรับ – warrior  เด็ก ๆ จะได้รับการศึกษาเรื่องศิลปะการสงคราม  เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอบรมทั่วไป  และโสคราติส ต้องการให้เด็ก ๆ ได้พบเห็นศึกสงครามจริง ๆ  เขาเสนอว่าให้นำเด็กไปสนามรบ เพื่อไปชมเขารบกัน

ความกล้าหาญชาญชัย – bravery  จะได้รับการตอบแทนด้วยกามรส (erotic reward)  โสคราติส บอกว่า ระหว่างกำลังปฏิบัติภารกิจสงคราม  หากนักรบนึกอยากจะกอดจูบใคร คนผู้นั้นจะปฏิเสธไม่ได้  ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นหญิงหรือว่าชาย

ลำดับต่อมา โสคราติส ตีประเด็นเรื่อง ความยุติธรรม คืออะไร?

โสคราติส เห็นว่า ความยุติธรรมได้แก่สิ่งที่จะสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง สิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเป็นหนึ่งเดียว และทำได้ด้วยการที่แต่ละคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด  คนแต่ละคนมีหน้าที่การงานเพียงงานเดียว อันเป็นงานที่เหมาะกับเขามากที่สุด  เมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนแล้ว  บ้านเมืองก็จะเจริญขึ้นโดยที่ทุกคนจะเจริญขึ้นไปด้วยกัน  ลักษณะต่างคนต่างทำหน้าที่นี้ ปัจจุบันก็คือ การแบ่งงานกันทำ หรือ the division of labour ตามหลักเศรษฐศาสตร์

คำถามมีว่า แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่า “งานหนึ่งเดียวที่เหมาะแก่เรา คือ งานอะไร?”

เพลโต ไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรง ๆ แต่ตอบเลี่ยง ๆ ว่า ที่เขาได้พูดไปนั้น นั่นแหละคือพบแล้ว – นั่นคือ ความยุติธรรมทางการเมือง – political justice ได้แก่ การแบ่งคนออกเป็นสามกลุ่ม

          คนงาน – workers
          คนช่วยงาน – auxiliaries
          ผู้พิทักษ์รัฐ – guardians

เมื่อคนทั้งสามกลุ่มนี้ ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติหน้าที่ของตัว จะเกิดสันติสุข และความสมานฉันท์ขึ้นมาในบ้านเมือง

ส่วนจิตวิญญาณปัจเจกชนประกอบด้วยสามส่วน คือ ความหิวกระหาย(appetite) ความทะยานอยาก(spiritedness) และเหตุผล(reason)  โสคราติส เห็นว่า คนแต่ละคนจะมีส่วนที่เป็นแกนนำ หรือส่วนชี้นำ หรือส่วนสำคัญ อยู่เพียงอย่างเดียว เช่น บางคนอาจมีความหิวกระหาย เป็นส่วนนำ บางคนอาจมีส่วนที่เป็นความทะยานอยาก นำ และบางคนจะมีเหตุผลนำ เป็นต้น

ความยุติธรรมในจิตใจคนจะเกิดเมื่อส่วนที่เป็นเหตุผล เป็นส่วนนำอยู่ในจิตวิญญาณ  ซึ่งสภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่  แต่จะเกิดมีแก่ชนชั้นผู้พิทักษ์รัฐ

จึงเกิดคำถามว่า แล้วรัฐ/บ้านเมือง ที่ยุติธรรมจะเกิดได้อย่างไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีจิตวิญญาณที่ยุติธรรม? – อะไดมาติส ตั้งคำถามนี้  และแสดงความเห็นต่อไปว่า การที่ชนชั้นผู้พิทักษ์รัฐ ต้องรับผิดชอบมากมาย พวกเขาจะเป็นสุขได้อย่างไร ถ้าเขาไม่มีได้รับผลตอบแทน – คือ ไม่ได้รับความสุข ความเพลิดเพลิน ที่คนทั่วไปปรารถนา

โสคราติส ไม่ตอบตรง ๆ แต่ “เลี่ยง” ตอบว่า การสร้างรัฐ/บ้านเมืองที่ยุติธรรม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความสุขส่วนตัว เป็นงานเพื่อส่วนรวม  ความสุขจะเกิดแก่ส่วนรวม ไม่ได้เกิดแก่คนเป็นคน ๆ

คำตอบนี้ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจแก่คนหลายคน  คำถามนั้นจึงยังค้างคา ยังรอคำตอบอยู่ 

ลำดับต่อมา ก็ถึงประเด็นเรื่อง พระราชานักปรัชญา – หรือ philosopher king  ทำไม โสคราติส จึงคิดว่า พระราชานักปรัชญาสำคัญและจำเป็นต่อบ้านเมืองในอุดมคติของเขา?  เรื่องการเมืองกับเรื่องปรัชญาจะปนกันได้หรือ?

โสคราติส ออกตัวอีกว่า การเสนอเรื่องนี้คงทำให้คนหลายคนหัวเราะขบขัน และในเวลาต่อมาผู้ศึกษางานของโสคราติสบางคนก็คิดว่า โสคราติส เสนอเรื่องนี้เป็นเชิงขำขัน  อย่างไรก็ดีนักปรัชญาการเมืองระยะหลัง เช่น โธมัส ฮ็อป กลับเห็นเป็นเรื่องจริงจัง

สำหรับคำถามที่ว่า การเมืองกับปรัชญาจะไปกันหรือ? นั้น ศ.สมิธ กล่าวว่า งานของผู้ปกครองกับงานของนักปราชญ์ต่างกัน  ลองคิดดูว่า โสคราติส จะยอมหรือไม่ ที่จะละวางกิจกรรมเที่ยวเดินตามตลาด เพื่อปุจฉาวิสัชนาข้อปรัชญากับผู้คน แล้วหันมานั่งพิจารณาข้อกฎหมาย หรือทำงานด้านการปกครองที่น่าเหน็ดเหนื่อย? ซึ่งการมีความรู้ความคิดเพียงอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีประสบการณ์ มีความคิดวินิจฉัย และเหตุผลเชิงปฏิบัติ  ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า เพลโตไม่ได้ตระหนักประเด็นเหล่านี้บ้างเลยหรือ? ซึ่ง ศ.สมิธ คิดว่าเพลโตย่อมรู้ข้อนี้ดีอยู่ เพราะฉะนั้น เพลโต คาดหวังการสมัครสมานระหว่าง ปรัชญากับการเมือง อย่างไร? และการเสนอเรื่องพระราชานักปรัชญา เขาต้องการจะพิสูจน์อะไร? ปริศนาเหล่านี้ ศ.สมิธ เห็นว่านักศึกษาต้องลองคิดหาคำตอบดูเอาเอง

ต่อจากนั้น ศ.สมิธ ลองพิจารณาประชาธิปไตยของเพลโต กับของสหรัฐฯ  เพลโตได้เคยจินตนาการไหมว่า ในอนาคตจะมีประชาธิปไตยอย่างประชาธิปไตยสหรัฐฯ ศ.สมิธเชื่อว่า เพลโลโตได้จินนการไว้แล้ว ตัวอย่างก็คือ หนังสือ สาธารณรัฐ เป็นหนังสือปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างมากที่สุด กว่าหนังสือเล่มอื่นใดที่เขียนกันมา  การเสนอเรื่อง พระราชานักปรัชญา นั้น เป็นการปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเอเธนส์  การเสนอเรื่องประชาชนสามหมู่เหล่า(หรือสามชั้นชน) แล้วต่างคนแบ่งงานกันทำ ต่างคนต่างก้มหน้าทำงานของตนไป ก็ปฏิปักษ์ต่อความคิดประชาธิปไตย ที่เชื่อว่า ประชาชนเฉลียวฉลาดพอที่จะมีส่วนร่วมในระบอบการเมืองการปกครอง  เพลโตคิดว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือปกครองโดยคนส่วนใหญ่ คนมีเสรีภาพทุกอย่าง ไร้ขีดจำกัด ทำอะไรได้ตามใจ ซึ่งลักษณะนี้ห่างไกลจากระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน ที่ปกครองตามรัฐธรรมนูญ มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ มีการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราจะพบว่าประชาธิปไตยเอเธนส์ กับประชาธิปไตยวอชิงตัน ต่างกันมาก


-----------------------------------------------------------------------------------------
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล

ตอน  Philosophers and Kings: Plato's Republic V ได้ที่

อ่านบทความชุดเดียวกันนี้ บทอื่นๆ
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html