วิชาปรัชญาการเมือง
ศ.สตีเวน บี.
สมิธ
มหาวิทยาลัย
เยล
Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย
พลเมือง ตามแบบ ของโสคราติส ตอน 1
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
เปิดฉากการบรรยายวิชาปรัชญาการเมือง – Political Philosophy ด้วยการอ้าง
เพลโต ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโสคราติส ชื่อ Apology ศ.สมิธ
กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบทเรียนปูพื้นฐานเบื้องต้น ที่ท่านเห็นว่าดีที่สุด
สำหรับการเรียนเรื่องปรัชญาการเมือง
ทำไมถึงเห็นว่าดีที่สุด ท่านมีเหตุผลสองประการ
คือ
1)
โสคราติส ผู้เป็นปรมาจารย์
ผู้ก่อตั้งวิชาปรัชญาการเมืองและรัฐศาสตร์ ได้แสดงเหตุผลอธิบายตนเอง และชี้แจงถึงความชอบ(ธรรม)ของวิถีชีวิตที่ตนได้ดำเนินมา
ต่อหน้าสหายผู้เสมอกันด้วยศักดิ์และด้วยคุณสมบัติ(his peer)
ผู้ทำหน้าที่คณะลูกขุน นอกจากนั้น
หนังสือเล่มนี้ยังเล่าเรื่องที่โสคราติส กล่าวในฟอรัมสาธารณะ ถึงประโยชน์ของปรัชญา
ที่มีต่อชีวิตการเมือง
2)
หนังสือ Apology ยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของปรัชญาการเมือง
ที่มีต่อผู้ทรงอำนาจการเมือง หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่าง ปรัชญาการเมือง
กับ อำนาจทางการเมือง นอกจากนั้นหนังสือ Apology
ใช่แต่จะไต่สวนใครคนใดคนหนึ่ง
แต่จะไต่สวนความคิดเห็นเชิงปรัชญาด้วย
จะเห็นได้ว่า ปรัชญาการเมือง กับ อำนาจการเมือง มักจะเผชิญหน้ากัน และเผชิญหน้ากันมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ
ดังจะเห็นได้ว่า
อำนาจการเมืองของรัฐเอเธนส์ กล่าวหา โสคราติส สองกระทง ว่า 1) ชักนำเด็กให้เสีย(corrupting
the youth) ด้วยการยุแยงตะแคงบอนให้เด็กไม่นับถือเทพยดา 2) ลบหลู่เทพยดาที่ชาวเอเธนส์เคารพนับถือ(impiety towards gods) ด้วยการไม่ยอมรับเทพยดาที่ชาวเมืองยอมรับ
และพยายามจะเสนอเทพยดาองค์ใหม่ พูดง่าย ๆ
ว่า โสคราติส ถูกกล่าวหาว่า ทรยศต่อชาติ
ซึ่งเป็นโทษขั้นสูงในยุคนั้น คือ ต้องตาย
ศ.สมิธ
เห็นว่า ไม่มีหนังสือเล่มอื่น นอกจาก Apology ที่ชวนให้เราคิดคำนึงเรื่องความขัดแย้ง
ที่ดำรงอยู่ระหว่าง อิสระของจิตที่คิด กับ ชีวิตการเมือง สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้ากันไม่ได้เลยหรือ?
ปริศนานี้คือเนื้อหาของ Apology
นับได้กว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้วมา
คือ ตลอดศตวรรษที่สิบเก้า หนังสือ Apology ถูกอ้างอิงเป็นตำราแห่งการต่อต้านทางการเมือง เป็นอาวุธของ ปัจเจกชน ไว้สู้กับ คนหมู่มาก
ศ.สมิธใช้คำว่า individual vs mob ทั้งนี้โดย นักเสรีนิยมผู้มีชื่อเสียง นายจอห์น สจวต มิลล์
เขียนไว้ในบทความขนาดยาวที่โด่งดังเรื่อง On Liberty ว่า
“Mankind
can hardly be too often reminded
that
there was once a man named Socrates
between
whom and the legal authoriy of his time
there
took place a memorable collision.”
“มนุษยชาติ
ถูกย้ำเตือนเท่าไรก็ไม่พอ
ว่ากาลครั้งหนึ่ง
เคยมีชายผู้หนึ่ง นามว่า โสคราติส
โดยที่ระหว่างตัวเขา
กับทางการบ้านเมืองในยุคเขา
เคยเกิดการปะทะกันครั้งหนึ่ง
ซึ่งถูกจารึกไว้ในความทรงจำ”
เพราะฉะนั้น
ในยุคกว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้วมา โสคราติส
จึงถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแห่งเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก
และวีรบุรุษแห่งการต่อต้านอำนาจการเมือง
ชื่อของเขาถูกยกขึ้นหัวแถว ตามมาด้วยพระเยซูเจ้า,
กาลิเลโอ, เซอร์ โธมัส มัวร์, เฮนรี
เดวิด ธอโร, มหาตมะ คานธี, และ มาร์ติน
ลูเธอร์ คิง เป็นต้น
ศ.สมิธ
เห็นว่า นักศึกษาควรถามตัวเองว่า การอ่าน อะโปโลจี ออกไปในแนวนั้น
เป็นเจตนาของผู้ประพันธ์ คือ เพลโต หรือไม่? (เพลโต เขียน อะโปโลจี เล่าเรื่องของ
โสคราติส) เพราะจริง ๆ แล้ว โสคราติส
ไม่เคยพูดสนับสนุนเรื่องเสรีภาพในการพูดแบบไร้ขอบเขต ประเด็นอันเป็นข้อสรุปของ โสคราติส (ผู้สรุปภาษาไทย
- ซึ่งทราบกันขึ้นใจ ในหมู่ผู้สนใจศึกษาปรัชญาการเมืองตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกเองหรือชาวตะวันออก
หรือชาวอื่น ๆ) ว่า
The
examined life is alone worth living.
ชีวิตที่ใคร่ครวญแล้วเท่านั้น
ที่มีค่าควร แก่การดำรงอยู่
ซึ่งหมายความว่า
ผู้ที่ใคร่ครวญ พิจารณาความคิดความอ่านตนเองอยู่เป็นนิจ ทำความคิดให้แจ่มกระจ่าง
กำจัดความขัดแย้งในจิตใจ ขจัดความมืดมนอนธกาล ความสับสน ความลักลั่น
ไม่สอดคล้องต้องกัน ออกจากจิตใจ
จะมีแต่บุคคลเช่นนี้เท่านั้น ที่จะมีชีวิตอันมีคุณค่า บุคคลอื่นนอกจากนี้หามีชีวิตที่มีค่าไม่ แนวคิดเช่นนี้ ศ.สมิธ เห็นว่า น่าจะเป็นทางของคนผู้แสวงหาอย่างปัจเจก
หาทางทำตนเองให้สมบูรณ์แบบ – self perfection มากกว่าที่จะเป็น บุคคลผู้เสนอหลักการเรื่องเสรีภาพในการพูด
หรือเสรีภาพในการแสดงออก
กระนั้นก็ดี
อะโปโลจี ก็มีการเมืองแทรก แฝงอยู่ลึก ๆ คือ เป็นการวิวาทกัน ระหว่าง โสคราติส กับ
ผู้ที่กล่าวหาเขา ในประเด็นที่ว่า ใคร ผู้ใด คือผู้มีสิทธิให้การศึกษาอบรม
กุลบุตรผู้จะเป็นพลเมืองเอเธนส์ และเป็นผู้นำชาวเอเธนส์ในวันข้างหน้า
ใครมีสิทธิสอน
ใครมีสิทธิให้การศึกษา ซึ่งปัญหานี้ลึกลงไปคือ ปัญหาที่ว่าใครพึงเป็นผู้ปกครอง
พึงเป็นผู้นำ นั่นเอง ศ.สมิธ
กล่าวย้ำกับนักศึกษาว่า อย่าลืมว่าผู้ที่กล่าวหา โสคราติส และไต่สวนเขา
ก็คืออำนาจการเมืองในเอเธนส์ – ที่เป็นประชาธิปไตย (ผู้สรุปภาษาไทย –
ค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ทราบว่า การไต่สวนในศาล มีผู้มาไต่สวน โสคราติส
ประมาณห้าร้อยคน) ศ.สมิธ เห็นว่า บทบันทึกใน
อะโปโลจี ของ เพลโต จึงเป็นบันทึกการต่อสู้ระหว่าง ปัจเจกชนคนหนึ่ง คือ
โสคราติส กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย(เอเธนส์) การไต่สวนครั้งนั้น จะว่าเป็นการไต่สวน
โสคราติส ก็ถูกอยู่ แต่อีกแง่หนึ่ง
ระบอบประชาธิปไตยก็ถูกไต่สวนไปพร้อม ๆ กันด้วย
โลกเรานี้
พ้นจากประชาธิปไตยเอเธนส์ แล้วก็ว่างเว้นมาสองพันปี จึงเกิดประชาธิปไตยอเมริกัน
เป็นประชาธิปไตยที่สอง และฝรั่งเศสเป็นที่สาม หนังสือบันทึกการที่ประชาธิปไตยแรก ถูกไต่สวน
จึงยังน่าอ่านอยู่จนทุกวันนี้
เป็นอีกมุขหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนั้นน่าสนใจศึกษา
ปีที่
โสคราติส ถูกไต่สวนคือปี 399
ก่อนคริสตกาล ก่อนหน้านั้น ในปี 404 เอเธนส์แพ้สงครามเปโลโปเนเซียน(The
Peloponnesian War) ที่ทำกับสปาตา และถูกปกครองอยู่หนึ่งปีโดยกลุ่มบุคคลที่สปาตาเชิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยกลับคืนสู่เอเธนส์แล้ว
เมื่อเกิดการไต่สวน โสคราติส
อะริสโตฟานี(Aristophanes) ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อโสคราติส ได้สร้างละครขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ “ม่านเมฆ”(The
Clouds) เล่นในปี 423 ก่อนคริสตกาล
เพื่อโจมตีโสคราติส ใจความสำคัญว่า โสคราติส สอนให้ตัวละครเอก รู้จักหาเหตุผลข้าง
ๆ คู ๆ เพื่อหาทางทุบตีบิดาของตนเอง
ทำไม
ประชาธิปไตยแรกในโลก ที่เสรีที่สุด มีสังคมที่เปิดกว้าง จึงพิพากษาประหารชีวิต
บุคคลผู้พูดถึงอวิชชา(ความไม่รู้)ของตนเองอย่างเปิดเผย และประกาศว่า ไม่เห็นแก่อะไร มากเท่าคุณงามความดี
และความเป็นมนุษย์ที่เป็นเลิศ
การวิวาทครั้งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์
ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแรกของโลก โดยมีคดีไต่สวน โสคราติส
เป็นเครื่องแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของการวิวาท
ศ.สมิธ สรุปว่า เป็นการวิวาทที่คุกรุ่นมานาน
ระหว่างฝ่ายปรัชญา กับ ฝ่ายกวี
โดยที่ฝ่ายปรัชญาเป็นฝ่ายหัวใหม่ ส่วนฝ่ายกวีเป็นฝ่ายหัวเก่า
กลุ่มที่นักประวัติศาสตร์ขนานนามว่า
กลุ่มกวี นั้น หมายถึงพวกที่ยึดถือ มหากาพย์ของโฮเมอร์ เป็นคัมภีร์ คล้าย ๆ
พระคัมภีร์ไบเบิลในปัจจุบัน
สมัยกรีกโบราณคนกลุ่มนี้บูชาวัฒนธรรมนักรบ ว่าเป็นสิ่งที่สร้างกรีก(คือ
เอเธนส์)ขึ้นมาให้เจริญรุ่งเรือง
คุณสมบัติอันดีงามของมนุษย์เป็นคุณสมบัติแบบนักรบ
บูชาเทพยดาฟ้าดินว่ามาบันดาลใจให้พวกตนมีความสำเร็จในชีวิต
ในมหากาพย์ของโฮเมอร์เล่าเรื่องเทพยดาเหล่านั้น ว่ามีอิทธิฤทธิ์ มากมายมหาศาล
เกินมนุษย์
ส่วนกลุ่มโสคราติส
และศิษยานุศิษย์ มองโลกต่างไปจากกลุ่มกวีหรือกลุ่มหัวเก่า
โสคราติสไม่ต้องการสร้างพลเมืองกรีกในสไตล์นักรบ แต่ต้องการสร้างพลเมืองที่พูดจากันด้วยเหตุผล
หรือรบกันด้วยวาทะ(verbal
combat) การอ้างเหตุผล หรือ
argument คือ อาวุธของกลุ่มโสคราติส ซึ่งในมหากาพย์ไม่มีการอ้างเหตุผล(ไม่มี argument) มีแต่เรื่องเล่าอันน่าพิศวงและชวนติดตาม
และมีฐานะเป็นตำนานอันศักดิ์สิทธิ์
การเรียนคือการท่องโศลก
การเรียนไม่ใช่การคิดอ่านแสดงเหตุผลเพื่อค้นหาความจริง
ศ.สมิธ
โยงเรื่องโบราณมายังสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน ทำนองว่า
สังคมทุกสังคมดำเนินไปด้วยระบบปฏิบัติการบางอย่างบางประการ ที่เป็น “ความเชื่อ”
หรือ “ศรัทธา” ศ.สมิธ
ยกตัวอย่างจารีตแห่งชาติอเมริกัน ที่จารไว้ในคำประกาศอิสรภาพ ว่า
“We
hold these Truths to be self-evidence, that all Men are created equal, that
they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among
these are Life, Liberty, and the Pursuit of Happiness— “
“เราศรัทธาว่า
สัจจะ ต่อไปนี้ชัดแจ้งอยู่ในตัว กล่าวคือมนุษย์ถูกสร้างมาเสมอภาคกัน
พระผู้สร้างได้ประทานสิทธิบางอย่างอันจะพรากจากมนุษย์ไม่ได้ เช่น สิทธิในชีวิต
สิทธิเสรีภาพ และสิทธิที่จะแสวงสุข—“
ศ.สมิธ
ตั้งคำถามว่า มีใครเคยหาเหตุผล หรือแสดงเหตุผล(argument)เพื่อยืนยันว่าข้อความเหล่านั้นเป็นความจริง คาถานี้ถูกสอนเด็กอเมริกันตั้งแต่วัยเยาว์
คนอเมริกันส่วนใหญ่ยึดถือคำประกาศดังกล่าวนี้ ดุจคาถาหรือความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์
โดยปราศจากการตั้งคำถาม
หากผู้ใดสงสัยหรือคลางแคลงใจแล้วแสดงออกมา ผู้นั้นอาจถูกมองว่า ดูหมิ่นชาติอเมริกัน
เข้าข่าย civic impiety ทำนองเดียวกับพวกที่นำธงชาติอเมริกันมาเผากลางถนน
จุดอ่อนของความเชื่อ
หรือศรัทธา ก็คือ จะถูกคุกคามได้ด้วยเหตุปัจจัย สองแหล่ง
1)
ความไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา
จึงปฏิเสธไม่ยอมรับนับถือ เพราะว่า ไม่ชอบ
2)
ถูกคุกคามได้จาก ปรัชญา
ซึ่งเป็นอันตรายคนละรูปแบบกัน กับความไม่เชื่อถือ ไม่นับถือ ไม่ศรัทธา แต่ปรัชญาต้องการหาเหตุผลมาสนับสนุน หรือปฏิเสธ
ความเชื่อถือศรัทธาดังกล่าว ปรัชญาต้องการทดแทน
ศรัทธาทางแพ่ง(civic
faith) ด้วย ความรู้ที่กอปรด้วยเหตุผล(rational knowledge)
โสคราติส
เข้าข่ายกรณีทั้งหนึ่งและสอง ในคำให้การระหว่างการไต่สวน โสคราติส
แจ้งต่อที่ประชุมผู้มีอำนาจในเอเธนส์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาล ว่าเขาไม่ได้สนใจ
“ศรัทธาทางแพ่ง” ของคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทรงอำนาจในเอเธนส์ คำให้การของเขาส่อถึงความแปลกแยก(alienation)ของเขาต่อความเชื่อถือศรัทธาทางการเมืองของเอเธนส์ ท่านผู้อ่านฟังคำพูดของ โสคราติส เองจะดีกว่า เขาให้การตอนหนึ่ง ว่าตนนั้น
สนใจแต่เรื่อง.....
This
calling to do nothing but persuade you both young and older not to care for bodyand
money, but how your soul will be in the best possible condition.
ข้าพเจ้ามุ่งมั่นโน้มน้าว
พวกท่านทั้งหลาย ทั้งหนุ่มและแก่ ว่าอย่าหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเนื้อหนังมังสากับเงินทอง แต่ให้พิจารณาว่า
ทำอย่างไรจิตวิญญาณของตนจะอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
โสคราติส
แถลงต่อศาลว่า ก็เพราะความเพียรเพื่อให้มีจิตวิญญาณที่ดี จึงทำให้ตนไม่สะสมทรัพย์สินเงินทอง
ยอมมีชีวิตอย่างลำบากยากจน และไม่สนใจ หันหลังให้ กับเรื่องการบ้านการเมือง
มุ่งแต่จะแสวงหาคุณงามความดีในเชิงส่วนตัว(private virtue) ท่านผู้อ่านฟังคำพูดของ โสคราติส
เองจะดีกว่า เขาสรุปไว้ที่ท้ายสุดของคำบรรยายของ ศ.สมิธ ว่า
If
someone who really fight for justice is going to preserve himself even for a
short time, it is necessary for him to lead a private rather than a public
life.
ถ้าผู้ใดก็ตาม
ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ปรารถนาจะถนอมรักษาตัวตนเอาไว้ แม้เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ
เขาผู้นั้นจำเป็นจะต้องดำเนินชีวิตไปในทางส่วนตัว มากกว่าที่จะมีชีวิตในทางสาธารณะ
ศ.สมิธ
ตั้งคำถามนักศึกษา ตอนจบคำบรรยายตอนนี้ว่า การที่ โสคราติส กล่าวว่า
เพื่อที่จะต่อสู้แสวงหาความยุติธรรม เขาจำเป็นต้องหันหลังให้ต่อชีวิตสาธารณะ
และมุ่งดำเนินชีวิตส่วนตัวถ่ายเดียว
ปราชญ์ผู้นี้กำลังบอกอะไรกับเรา?
แล้วพลเมืองรุ่นใหม่ แบบใหม่ ที่ท่านต้องการให้เกิดมีขึ้นกับนครเอเธนส์
จะต้องมุ่งหา คุณธรรมความดีส่วนตัว และต้องทำจิตวิญญาณให้อยู่ในสภาพดีที่สุด
ทั้งหมดนั้น คือ อะไร? และอย่างไร?
-----------------------------------------------------------------------------------
Dan Bailé สรุปเป็นภาษาไทย
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล ได้ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น