open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

วิจารณ์ – วิวาท critique of the Economist,

Book of the year podcast, by Mr.Edward Lucas, Senior Editor

On the book, “The Narrow Road to the Deep North” by Richard Flanagan, in his podcast available in iTunes, Mr. Edward Lucas said the Japanese tried to build railway from Taiwan to Burma.

My critique:

Madre de Dios!  Thinking about the bridge across the turbulent South China sea from Taiwan to Mainland China, and thousand of kilometers on land to Burma, the railway must be deadly indeed!

Mr.Edward Lucas, sir, are you really a senior editor at the Economist? Not an impostor? Sans blaque! 

มารดาพระเจ้า! (คำอุทาน ภาษาสเปน) ลองนึกดูถึงสะพานที่จะต้องสร้างข้ามจากเกาะไต้หวัน มาแผ่นดินใหญ่ แล้วเส้นทางที่จะต้องสร้างอีกนับพันกิโลเมตร ไปถึงพม่า  ทางรถไฟสายนั้นต้องมรณะแน่ ๆ เล้ย!

ขอโทษเถอะ คุณเอ็ดเวอร์ด ลูกัส  คุณเป็นบรรณาธิการอาวุโสของ ดิ อีโคโนมิส จริงหรือ? พูดเล่นน่า! (ซ็อง บลาค – คำอุทานภาษาฝรั่งเศส)


Dan Bailé

Chumphon province,
Thailand


April 19, 2016

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

HV 12/12 part 2 การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

อภิปราย – การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันตอน 2

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 12/12                     
--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล

                                                                                                          -- ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ตอน 2
Episode 12 part 2
---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ศ.แซนเดล กล่าวปิดการบรรยายตอนสุดท้ายนี้ ว่า เมื่อเราพบกันประมาณสิบสามสัปดาห์ที่ล่วงมาแล้วนั้น ก็ได้เตือนนักศึกษาไว้ก่อนแล้วว่า  ถ้าเราได้ลองคิดใคร่ครวญสถานการณ์ชีวิตเราเสียใหม่ตามเนื้อหาวิชาปรัชญาการเมืองวิชานี้ เรื่องที่เราคุ้นเคยและคิดว่ารู้ ๆ กันอยู่แล้ว จะกลับกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ และจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ศ.แซนเตลหวังใจว่า เมื่อนักศึกษาได้คิดพิเคราะห์หลักศิลธรรมต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายกันมาตลอดทั้งภาคการศึกษา  จิตใจนักศึกษาคงจะรู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย  ความไม่สบายใจดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองของปัจเจกชน  รวมทั้งเป็นการพัฒนาชีวิตเชิงศิลธรรมของนักศึกษาแต่ละคนด้วย

-------------------------------------------------


ศ.แซนเดล เปิดฉากการบรรยายครั้งสุดท้าย-คือครั้งนี้ ว่า เรามีปริศนาจะต้องไขกันอีกสองข้อ

ข้อที่หนึ่ง. จำเป็นหรือไม่ ที่เราจะต้องหยิบยกเรื่องชีวิตที่ดีขึ้นมาพิจารณา เวลาที่เราคิดคำนึงถึงความยุติธรรม? (good life – หมายถึงชีวิตสังคม หรือชีวิตที่อยู่ในชุมชนการเมือง หรือชีวิตใน political community ชีวิตซึ่งต้องคำนึงถึงขนบธรรมเนียมอันดีงามของส่วนรวม)

คำตอบก็คือ Yes. หมายความว่า ในการคิดคำนึงเรื่องความยุติธรรม เราจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพชีวิตสังคม-บ้านเมือง ด้วย 

ปริศนาข้อที่สอง. การให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่? คำตอบคือ Yes. ศ.แซนเดล เห็นว่าการแสดงเหตุผลเกี่ยวกับความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ศ.แซนเดล เท้าความว่า เพื่อจะตอบคำถามสองคำถามนั้น ในการบรรยายครั้งก่อนท่านจึงได้ยกตัวอย่างเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน ขึ้นมาอภิปราย  แล้วเราก็ได้ฟังความเห็น ทั้งจากผู้ที่แสดงเหตุผลเป็นปฏิปักษ์ ต่อการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน โดยอ้างว่าวัตถุประสงค์หลักหรือธาตุแท้ของการแต่งงาน(telos) อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเป็นไปเพื่อให้กำเนิดทายาท และเพื่อการเลี้ยงดูบุตร

แล้วทางฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแต่งงานเพศเดียวกัน อ้างเหตุผลว่า การแต่งงานระหว่างชาย-หญิง ถึงแม้จะถือกันว่าวัตถุประสงค์หลัก หรือธาตุแท้ของการแต่งงาน(telos) คือการให้กำเนิดบุตรธิดา แต่จริง ๆ แล้วในทางปฏิบัตินั้น เวลาชายหญิงแต่งงานกันอย่างเป็นทางการ  รัฐบาลไม่เห็นวางเงื่อนไขเลยว่า คู่แต่งงานจะให้กำเนิดบุตรได้หรือไม่  คู่แต่งงานที่เป็นหมัน-ก็ได้รับอนุญาตให้แต่งงานอย่างทางการ  หรือคนนอนรอความตายอยู่กับเตียงโรงพยาบาล  เรา(บ้านเมือง)ยังอนุญาตให้แต่งงานอย่างเป็นทางการได้ถ้าเขาประสงค์

ในการอภิปรายของนักศึกษา ปรากฏว่ามีจุดยืนอีกตำแหน่งหนึ่ง ที่ให้เหตุผลว่า เราไม่พึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาตัดสิน  สถาบันการเมืองระดับชาติก็ดี สถาบันกฎหมายของประเทศก็ดี ไม่ควรเข้ามายุ่ง มาพยายามจะหาข้อตกลงเรื่องนี้ให้เป็นหนึ่งเดียว ให้เป็นบรรทัดฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน(the good)  ทั้งนี้เพราะว่า เราอยู่ในสังคมที่มีคนหลายหมู่เหล่า  ผู้คนมีความคิดความเชื่อทางศิลธรรมและศาสนาแตกต่างกัน  เพราะฉะนั้น เราพึงสร้างกฎหมายภายในกรอบของ “สิทธิ”  ให้ปลอดจากข้อแตกต่างเรื่องศิลธรรมและศรัทธาในศาสนาใด ๆ

ศ.แซนเดล ตั้งข้อสังเกตว่า มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งชอบแนวคิดทางสายกลาง แต่ไม่ได้อ้างเหตุผลแห่งความเป็นกลางเพื่อจะเข้าข้างการแต่งงานระหว่างเพศ หรือเพศเดียวกัน  กลับอ้างเหตุผลเพื่อทางเลือกที่สาม คือเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานของคนเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานรูปแบบใด ๆ 

“เหตุใด คุณจึงคิดว่า เป็นการไม่สมควรที่รัฐจะเป็นกลาง ไม่ข้องเกี่ยวกับศิลธรรมศาสนา เวลาที่ต้องพิจารณาปัญหาสังคม อย่างเช่น การแต่งงานเพศเดียวกัน?” ศ.แซนเดล ตั้งคำถามต่อนักศึกษาหญิง ชื่อ แอนเดรีย ผู้เห็นว่ารัฐไม่ควรมายุ่งเกี่ยวเรื่องการแต่งงาน

แอนเดรีย ตอบว่า เธอไม่เชื่อว่า การที่รัฐจะพยายามเป็นกลางจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  เพราะชีวิตสังคมของคน พัวพันลึกซึ้งกับโลกทัศน์ที่ตนมีอยู่(ซึ่งรวมทั้งเรื่องศาสนาด้วย)  และเธอไม่เห็นด้วยกับ อะริสโตเติล ที่เห็นว่า รัฐหรือรัฐบาล มีหน้าที่ ดูแลให้ประชาชน อยู่ด้วยกันโดยมี “ความเข้าใจร่วมกัน” ว่า อะไรผิด อะไรถูก

ศ.แซนเดล เปลี่ยนตัวอย่างจากเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน ไปเป็นเรื่องการทำแท้ง  โดยตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะพิจารณาตัดสินเรื่องการทำแท้ง โดยไม่นำข้อศิลธรรมทางศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้อง?

แอนเดรีย ตอบว่า เธอคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้  คนมีความคิดความเชื่ออันลึกซึ้งที่แตกต่างกัน ว่า ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ เป็นสิ่งมีชีวิต หรือ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต?  ถ้าเธอเชื่อว่า ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิต และย่อมมีสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่  ฉะนี้แล้วก็ยากที่เธอจะวางความเชื่อดังกล่าวลง แล้วหันมาพูดว่าใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป แต่ฉันเห็นว่าทารกในครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิต แอนเดรียสรุปว่า ถ้าเธอคิดเพียงแค่นั้น ก็ไม่ต่างกับพูดว่า “นี่เป็นความเชื่อของฉันนะ  แต่ฉันก็ยังจะยอมให้คุณกระทำสิ่งที่จริง ๆ แล้ว ฉันเห็นว่าเป็นการ ฆาตกรรม

[ หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย : กฎหมายไทย ประมวลแพ่งฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย” และวรรคสอง “ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้  หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”

กรณีกระทำความผิดต่อชีวิต บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เริ่มจากมาตรา 288และ289 มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”  ส่วนมาตรา 289 มีเจ็ดวรรค วรรคที่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องของเรา คือ วรรค (4) “ฆ่า        ผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” กับวรรค (5) “ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย”            ซึ่งน่าจะปรับใช้ได้กับกรณี ฆ่าคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร และกรณีข่มขืน ทำร้ายร่างกาย แล้วโยนร่างที่ยังมีลมหายใจ ทิ้งข้างทางรถไฟในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น  มาตรา 289 กำหนดโทษไว้เพียงสถานเดียว ไม่ใช่สามสถานอย่างมาตรา 288 คือสำหรับมาตรา 289 นี้  “ต้องระวางโทษประหารชีวิต” เท่านั้น ]
         
ศ.แซนเดล ดึงประเด็นกลับมาหาเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน  ซึ่งแอนเดรียเห็นด้วยที่จะให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้  โดยที่เธอเห็นด้วย-หลังจากที่ได้พิจารณาข้อศิลธรรมทางศาสนา(คริสต์)แล้ว— ทั้งนี้ โดยที่เมื่อพิจารณาแล้ว เธอ ไม่เห็นด้วย กับข้อศิลธรรมคาธอลิค ที่เห็นว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นบาป—เมื่อเธอสรุปว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่บาป  เธอจึงมีความเห็นสรุปต่อไปว่า การแต่งงานเพศเดียวกัน ไม่ ผิดศิลธรรมทางศาสนา(คริสต์)

นักศึกษาชายชื่อดาเนียล แสดงความเห็นแย้งกับแอนเดรีย โดยเขาคิดว่า คนเราไม่สามารถแยกประเด็นเชิงศิลธรรมกับประเด็นกฎหมาย ออกจากกันได้  แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เชื่อว่า-ถ้ากฎหมายตราว่าการทำแท้งผิดกฎหมาย การทำแท้งจะหายไปจากสังคม  ตัวเขาเองศรัทธาว่า คนเราต้องมีทางเลือก(pro-choice)  ผู้หญิงพึงมีทางเลือกไว้เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพ คือสามารถทำแท้งได้ถูกกฎหมาย แทนที่จะต้องไปหาหมอเถื่อน  ต่อประเด็นการแต่งงานเพศเดียวกัน ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการจะแต่งงานกับคนเพศเดียวกันก็จริง แต่เขาไม่ต้องการจะห้ามผู้อื่นด้วยการตรากฎหมายขึ้นมา

ศ.แซนเดล เชิญชวนนักศึกษาลองพิจารณา ผลการตัดสินของศาลรัฐแมสซาชูเซตส์ คดีแต่งงานเพศเดียวกัน อันเป็นคดีตัวอย่างที่ขอให้รัฐแมสซาชูเซตส์ ขยายการยอมรับการแต่งงานให้ครอบคลุมถึงการแต่งงานเพศเดียวกันด้วย

โดยที่ความเห็นของศาล ค่อนข้างจะขัดแย้งกันเอง คล้ายกับจุดยืนของนักศึกษาในชั้นเรียนที่มีสองฝ่าย  ศาลเริ่มด้วยความคิดเสรีนิยมของหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ว่า.....

“Many people hold deep-seated religious, moral, and ethical convictions that marriage should be limited to the union of one man and one woman, and that homosexual conduct is immoral.” -Massachusetts Supreme Judicial Court

แปล: “คนจำนวนมาก มีความคิดความเชื่อเรื่องศาสนา ศิลธรรม และจริยธรรม อย่างลึกซึ้งว่าการแต่งงานพึงจำกัดอยู่เพียงการอยู่กินฉันท์สามีภรรยา ระหว่างชายหนึ่งหญิงหนึ่ง  และเห็นว่า ความประพฤติรักร่วมเพศเป็นการผิดศิลธรรม”  -ศาลสูง รัฐเมสซาชูแซทส์ (ผู้เขียนสรุปภาษาไทย – ผิดศิลธรรม ในที่นี้หมายถึง ผิดพระคัมภีร์)

“แต่ก็มีคนอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ศรัทธาในศาสนา ศิลธรรม และจริยธรรม แข็งแรงไม่แพ้แก่กัน แต่กลับเห็นว่า คนเพศเดียวกันก็มีสิทธิที่จะแต่งงานกันได้  และยังเห็นอีกว่า คนรักร่วมเพศพึงได้รับการปฏิบัติเสมอกับคนรักเพศตรงข้าม  ศาลเห็นว่าความคิดทั้งสองแนวนี้ ยังไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจแก่เรา”

“เรื่องสำคัญได้แก่การเคารพต่อ ความเป็นอิสระของบุคคล และเคารพ ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย  ประเด็นสำคัญจึงได้แก่ การที่บุคคลสามารถเลือกคู่-ผู้ที่ตนปรารถนาจะอยู่กินร่วมชีวิต ได้อย่างอิสระ” -ศาลสูงรัฐเมสซาชูแซทส์

จุดนี้ ศ.แซนเดลเน้นว่า สิ่งสำคัญจึงไม่ใช๋ คุณค่าเชิงศิลธรรม ของทางเลือก(คือการแต่งงาน) แต่สิ่งสำคัญคือ สิทธิของบุคคล ที่จะตัดสินใจเลือก—นี่ต่างหากที่เป็นประเด็น ซึ่งประกอบด้วย ความเป็นอิสระ การเลือก และความยินยอม  ศ.แซนเดลชี้ว่า การแสดงเหตุผลอย่างนี้ส่อความเสรีนิยมของศาล  ซึ่งเน้น ความเป็นอิสระของบุคคล(autonomy) สิทธิส่วนบุคคล(right) และความยินยอม(consent)

ศ.แซนเดล กล่าวต่อไปว่า แต่ดูเหมือนศาลจะตระหนักว่า แนวคิดเสรีนิยมซึ่งยึดความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เพื่อที่จะยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกัน  ยังไม่แข็งแรงพอที่จะนำพาการแต่งงานเพศเดียวกัน ไปถึงตำแหน่งนั้น [คือตำแหน่งที่ บุคคลมีอิสระ(autonomy) มีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือก(right) และทั้งสองฝ่ายต่างยินยอม(consent) ]

เพราะ ถ้ารัฏฐะจะเป็นกลางจริง ๆ ในการพิจารณาคุณค่าเชิงศิลธรรมของความสัมพันธ์ส่วนตัวอันสนิทชิดเชื้อระหว่างคน  รัฐบาลก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว ตีตรารับรองสัมพันธภาพแบบนั้น และไม่รับรองความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบนี้ 

ดังนั้น ถ้ารัฐเป็นกลางจริง ๆ ก็ต้องยึดแนวที่ ไมเคิล คินสลีย์ ได้แสดงเหตุผลเสนอให้ภาครัฐยกเลิกการรับรองการแต่งงาน  ซึ่งพูดให้ถูกก็คือ ไม่นำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั่นเอง  คินสลีย์ชี้ว่า เหตุผลที่คนปฏิปักษ์ต่อการแต่งงานเพศเดียวกัน ก็เพราะว่า การที่รัฐรับรองเรื่องนี้ รัฐไปไกลเกินกว่าเรื่องความอดทนต่อความแตกต่าง  แต่เป็นการก้าวเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการตีตรารับรองอย่างเป็นทางการให้ 

ซึ่งการเข้าไปตีตรารับรองอย่างเป็นทางการ นั่นแหละที่ประเด็นแห่งวิวาทะ 

พิจารณาตามแนวอะริสโตเติล ประเด็นการที่รัฐตีตรารับรองการแต่งงานอย่างเป็นทางการ เข้าข่ายเรื่องการแบ่งปันกระจายตำแหน่งหน้าที่ และเกียรติยศ อย่างเหมาะ ภายในสังคม/บ้านเมือง [ the proper distribution of offices and honors  คือ ถือเป็นการยอมรับของบ้านเมือง(ให้เกียรติ) ]  ซึ่งการแต่งงานเพศเดียวกัน ก็จะไม่สามารถผ่านการยอมรับทางสังคม/บ้านเมือง เพียงด้วยอาศัยปรัชญาแนวเสรีนิยมเกี่ยวกับความเป็นกลาง-การไม่รังเกียจเดียดฉันท์-สิทธิส่วนบุคคล เท่านั้น  เพราะว่า ที่เป็นประเด็นข้องใจอยู่ในสายตาสาธารณชน ก็คือ การอยู่กินระหว่างคนเพศเดียวกัน มีคุณค่าทางศิลธรรม สมควรที่จะได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่องและยอมรับ หรือไ่?  มันจะเหมาะกันไหม กับ สถาบันการแต่งงาน ตามที่สังคม/บ้านเมืองนั้น ยึดถือ?

คินสลีย์ จึงเสนอว่า ถ้าอยากจะเป็นกลาง แล้วละก้อ.....

 “ปล่อยให้ศาสนาคริสต์และสถาบันศาสนาอื่น ๆ ประกอบพิธีสมรส  ปล่อยให้ห้างสรรพสินค้า และบ่อนการพนัน มีโอกาสได้ทำพิธีแต่งงาน  และถ้าปรารถนาจะทำ ปล่อยให้คู่สมรสได้ฉลองการร่วมชีวิตตามอัธยาศัย และให้คู่สมรสถือว่า พวกตนได้สมรสกันแล้ว ในกาลที่พวกเขาเห็นควร” -ไมเคิล คินสเลย์

“แล้วถ้า คนสามคนต้องการจะแต่งงานอยู่กินด้วยกัน หรือคนหนึ่งคนต้องการแต่งงานกับตัวเอง แล้วมีคนบางคนมาทำพิธีแต่งงานให้ ก็จงปล่อยพวกเขาให้ทำไปเถิด  ในเมื่อทั้งคุณหรือรัฐบาลของคุณ ไม่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในนั้น คุณจะต้องไปถือสาอะไรด้วยเล่า” -ไมเคิล คินสลีย์

อย่างไรก็ดี จุดยืนของศาลสูงรัฐเมสซาชูเซทส์ ไม่ใช่เช่นนั้น  ศาลฯไม่ใด้บอกให้เลิกธรรมเนียมเรื่องการแต่งงาน และศาลฯก็ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยต่อรัฐว่า รัฐจะต้องไปตีตรารับรองความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบนั้นหรือแบบนี้ทำไม  แต่ศาลฯกลับได้ขยายนิยามการแต่งงานให้กว้างออกไป ให้รวมถึงคู่สมรสเพศเดียวกันไว้ด้วย

ศาลฯยอมรับว่า การแต่งงานไม่ใช่เรื่องเพียงแค่ยอมรับทางเลือก ที่บุคคลได้เลือกแล้วโดยสมัครใจ  แต่ศาลฯเห็นว่า การแต่งงานเป็นเรื่องของการยอมรับทางสังคมและเป็นเกียรติ  ดังที่ ผู้พิพากษามาร์แชล เขียนไว้ว่า  

“ในการแต่งงานทางแพ่งนั้น โดยแท้แล้ว จะมีสามฝ่ายเสมอ คือ คู่แต่งงานสองฝ่าย ที่สมัครใจจะผูกพันกันในทางส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง กับฝ่ายบ้านเมืองเป็นฝ่ายที่สาม เข้ามาร่วมสรรเสริญอุดมการณ์ของการมีคู่ชีวิต อุดมการณ์ที่จะสมัครสมานสนิทชิดเชื้อ ภักดี และครองรักครองเรือนด้วยกัน” -ศาลสูงรัฐเมสซาชูแซทส์

ซึ่งความเห็นของศาล ไปไกลเกินกว่าเรื่องความเป็นกลางแบบเสรีนิยม  เพราะศาลยกย่องสรรเสริญการแต่งงานว่า เป็นสัมพันธภาพที่ทรงเกียรติ สมควรที่จะได้รับการยกย่องในทางบ้านเมือง  แสดงว่า ศาลมิอาจละเลย มองข้าม ประเด็นเรื่องวัตถุประสงค์หรือธาตุแท้(telos)ของการแต่งงานไปได้ 

แต่ผู้พิพากษามาร์แชล เห็นว่า วัตถุประสงค์หรือธาตุแท้ของการแต่งงาน ไม่ใช่เพื่อการให้กำเนิดบุตร  เนื่องจากเวลาคนต่างเพศมาขอให้ทางการรับรองการแต่งงาน หรือขอจดทะเบียนสมรส  ทางการไม่เคยให้คนทั้งคู่พิสูจน์เลยว่า สามารถให้กำเนิดบุตรได้หรือไม่?  ดังนั้น การให้กำเนิดทายาทจึงไม่ใช่ข้อใหญ่ใจความของการสมรส ไม่ใช่วัตถุประสงค์(telos)  คนบางคนนอนรอความตายอยู่กับเตียงโรงพยาบาล ยังอาจขอให้ทางการรับรองการแต่งงานได้

ผู้พิพากษามาร์แชล แสดงเหตุผลประเด็นต่าง ๆ ทำนองเดียวกับที่นักศึกษาได้อภิปรายกันในชั้นเรียน ว่า วัตถุประสงค์ ธาตุแท้ ของการแต่งงานคืออะไร?  แล้วในที่สุดก็สรุปว่า

“การให้กำเนิดบุตรมิใช่วัตถุประสงค์ที่แท้ของการแต่งงาน  แต่ธาตุแท้ของการสมรสคือการผูกพันจะอยู่ร่วมกันอย่างถาวร ของคู่สมรส” -ศาลสูงรัฐเมสซาชูเซ็ทส์

ศ.แซนเดล ได้แสดงความเห็น ณ จุดนี้ว่า สิ่งที่ตนได้กล่าวออกไปแล้ว เกี่ยวกับความเห็นของศาลนั้น ไม่ได้เป็นการยกเหตุผลขึ้นมาแสดงความ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” (for or against)การแต่งงานเพศเดียวกัน  แต่เป็นการแสดงเหตุผล “ไม่เห็นด้วย” ต่อการกล่าวอ้างที่ว่า การพิจารณายอมรับ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการแต่งงานเพศเดียวกัน  สามารถทำได้โดยมีความเป็นกลางเชิงศิลธรรมและศาสนา

(หมายเหตุของผู้เขียนสรุปภาษาไทย – ตรงนี้ผู้เขียนฯเข้าใจว่า ศ.แซนเดล เห็นว่า การพิจารณาเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน ในวัฒนธรรมตะวันตก(คริสเตียน)นั้น ไม่มีใครจะปลอด หรือพ้นจาก ข้อคำนึงทางศาสนาไปได้)

ศ.แซนเดล สาธกยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์ต่อไปว่า ทั้งหมดนั้นท่านต้องการจะชี้ว่า ในการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างดุเดือดในสังคมเรา เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมและสิทธิ  ความพยายามใด ๆ ก็ดีที่จะ “เป็นกลาง” แล้วบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ความยินยอม การเลือก และความเป็นอิสระของบุคคล(ปัจเจกชน)  ความพยายามลักษณะนั้นยังฟังไม่ขึ้น  แม้แต่ศาลเองซึ่งปรารถนาจะธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางเชิงศิลธรรมและศาสนา ก็พบว่า ศาลเองไม่อาจธำรงความเป็นกลาง ในลักษณะที่เพิกเฉยต่อข้อศิลธรรมและคติทางศาสนาได้

ทีนี้ก็มาถึงปริศนาข้อที่สอง  ก็ในเมื่อการแสดงเหตุผล เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในสังคม-บ้านเมือง(the good)  เป็นเรื่องที่จะเลี่ยงเสียมิได้เวลาที่เราอภิปรายเรื่องความยุติธรรมและสิทธิ  เพราะฉะนั้น จะเป็นไปได้ไหมว่า การให้เหตุผลเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในสังคม-บ้านเมือง หมายความว่า เราจะต้องมีหลักการเดียว หรือกฎเดียว หรือความจริงเดียว หรือเงื่อนไขเดียว เพื่อที่เราจะได้มีการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม-บ้านเมือง  ทั้งนี้ โดยที่คราใดที่เกิดการวิวาท ขัดแย้ง ตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับข้อศิลธรรม เราสามารถเสียบปลั้กหลักการเดี่ยวหลักการเดียวนั้น เข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสิน 

ต่อประเด็นนี้ ศ.แซนเดล เห็นว่า ไม่ใช่เช่นนั้น

ทว่า การที่เรามีหลักการเดียว กฎเดียว ความจริงเดียว หรือเงื่อนไขเดียว ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการให้เหตุผลเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง(the good life)  และก็ไม่ใช่วิธีดีที่สุดที่จะให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรม  ขอให้ลองนึกย้อนการอ้างเหตุผล(หรือการอภิปราย)ของเราเกี่ยวความยุติธรรม เกี่ยวกับสิทธิ และเกี่ยวกับชีวิตที่ดี  ลองทบทวนดูว่ากระบวนการแสดงเหตุผลของเราเป็นอย่างไร?  เราก็ได้ผ่านกระบวนการอ้างเหตุผลคล้ายคลึงกับที่ อะริสโตเติล ได้แนะนำไว้  คือ ให้คิดกลับไปกลับมาระหว่าง กรณีเฉพาะเรื่อง กับ กรณีทั่วไป หรือระหว่างกรณีตัวอย่างกับหลักการ  โดยที่หลักการจะคอยให้ความกระจ่าง ให้ความหมายต่อจุดยืนของเราในกรณีเฉพาะเรื่อง/กรณีตัวอย่าง 

วิธีให้เหตุผลเชิงศิลธรรม แบบกลับไปกลับมาเช่นนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  นับย้อนไปได้ถึงยุคเพลโตและอะริสโตเติล  และได้แตกแขนงออกเป็นวิธีให้เหตุผลกลับไปกลับมาเชิงศิลธรรมตามแบบของโสคราติส  ซึ่งต่อมา จอห์น รอลส์ ได้พิทักษ์ปกป้องวิธีการนั้น ด้วยการนำมาใช้คิดหาวิธีของตนเอง เพื่อจะสนับสนุนทฤษฎีความยุติธรรม

ศ.แซนเดล เท้าความถึงวิธีคิดโดยใช้ “ม่านแห่งอวิชชา”(veil of ignorance)ที่นักศึกษาเรียนไปแล้ว  ซึ่ง “ม่านแห่งอวิชชา” ไม่ได้เป็นวิธีคิดวิธีเดียวของรอลส์  รอลส์ยังเสนอวิธีคิดให้เหตุผลเกี่ยวกับความยุติธรรมที่ รอลส์ เรียกว่า วิธี “ดุลยภาพแห่งการคิดคำนึง” (reflective equilibrium)

วิธีดุลยภาพแห่งการคิดคำนึง คือ อย่างไร?

เป็นวิธีพิจารณาปัญหาความยุติธรรม ด้วยการมองกลับไปกลับมาระหว่าง ความเห็นต่อปัญหาเฉพาะเรื่อง กับ หลักการทั่วไป-ที่ทำหน้าที่สาดความกระจ่างเข้าสู่ปริศนาเฉพาะเรื่อง  แล้วไม่หยุดแค่นั้น เพราะว่า เราอาจผิดพลาดได้เมื่อเริ่มต้นคิด  ดังนั้น บางครั้งเราอาจจะต้องทบทวน ขัดเกลา ความเห็นเมื่อแรกคิด โดยอาศัยความสว่างจากหลักการทั่วไป  หรือบางทีเราอาจต้องปรับปรุงหลักการทั่วไปเสียใหม่

ซึ่ง รอลส์ กล่าวไว้เกี่ยวกับหลักการทั่วไป ว่า

          “ระบบการคิดเรื่องความยุติธรรมนั้น เราไม่อาจ
          สรุปเอาได้ ตามข้ออ้างอันประจักษ์แก่ตนเป็นการเฉพาะตัว
          ความสมเหตุสมผลในการให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรม
          จะได้จากหลักฐานและการสนับสนุนนานาประการ
          ซึ่งประกอบกันเข้า รวมเป็นทัศนะอันสอดคล้องต้องกันทั้งระบบ” -จอห์น รอลส์

และต่อมาในหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาชื่อ “ทฤษฎีความยุติธรรม” (the Theory of Justice) รอลส์ เขียนไว้ว่า

          “Moral philosophy is Socratic.
          We may want to change our present
          considered judgments once their
          regulative principles are
          brought to light.” -John Rawls

          “ปรัชญาศิลธรรม เป็นความคิดอย่างโสคราติส
          เมื่อหลักพื้นฐานศิลธรรมเรื่องใด
          ถูกนำมาพิจารณาตัดสินปัญหาเฉพาะกรณี
          เราอาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงคำตัดสินกรณีนั้น ๆ ที่เราได้พิจารณาตัดสินไปแล้ว”

                                                -จอห์น รอลส์

ก็ในเมื่อ รอลส์ยอมรับและเสนอแนวคิดเรื่อง วิธีดุลยภาพแห่งการคิดคำนึง(reflective equilibrium)  ปมประเด็นที่ยังเหลือก็คือ การที่รอลส์ประยุกต์ใช้ วิธีดุลยภาพแห่งการคิดคำนึง  เข้ากับ ปรัชญาเรื่องความยุติธรรม  แต่ไม่ได้ประยุกต์ใช้กับการพิจารณาเรื่องศิลธรรมและชีวิตที่ดี(ชีวิตที่อยู่กันเป็นบ้านเป็นเมือง)  แล้วก็ด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่เราเห็นว่าเขาผูกพันยกย่อง เรื่อง สิทธิ เหนือ เรื่องชีวิตที่ดี  

รอลส์ เชื่อว่า วิธีดุลยภาพแห่งการคิดคำนึง สามารถสร้างความเห็นร่วมกันได้ เกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิ  แต่รอลส์ไม่เชื่อว่า วิธีคิดชนิดนี้จะสร้างความเห็นร่วมกันได้ เมื่อนำมาใช้กับเรื่องชีวิตที่ดี(ชีวิตการเมือง/ชีวิตที่อยู่เป็นบ้านเป็นเมือง) โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้อศิลธรรมและศาสนา ที่จะให้ข้อศิลธรรมนั้นกลายเป็นข้อศิลธรรมอันสมบูรณ์และครอบคลุมทั่วไป 

เหตุที่ทำให้คิดเช่นนั้น ก็เพราะรอลส์เห็นว่า ข้อเท็จจริงชี้ว่าสังคมสมัยใหม่เป็นสังคมพหูพจน์(pluralism)ในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดเรื่องชีวิตที่ดี(หมายถึง ในส่วนที่เกี่ยวกับการบ้านการเมือง)  ซึ่งแม้แต่คนมีสติผู้ที่รู้จักใช้เหตุผลเป็นอย่างดี ก็อาจพบว่า พวกตนไม่อาจตกลงกันได้ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องชีวิตที่ดี เรื่องศิลธรรม และศาสนา  และศ.แซนเดล เห็นว่า รอลส์ น่าจะเข้าใจประเด็นนี้ถูกต้องดีแล้ว

อาจารย์รอลส์ ชี้ต่อไปว่า ในสังคมพหูพจน์(-สังคมแห่งความคิดอ่านหลากหลาย pluralist society) ความแตกต่างของความคิดเกี่ยวกับสังคมบ้านเมืองที่ดี(the good life)ว่าสังคม-บ้านเมืองที่ดีพึงเป็นเช่นไร ตลอดจนปมปริศนาเรื่องศิลธรรมและศาสนา น่าจะถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่ถ้าหากเรายอมรับย่อหน้าบนว่าเป็นจริง  รอลส์ก็เห็นต่อไปว่า ความจริงดังกล่าวใช้ไม่ได้กับเรื่องความยุติธรรม  เนื่องจากในสังคมพหูพจน์(pluralist society)เราตกลงกันไม่ได้เรื่องความยุติธรรม แต่อย่างน้อยข้อขัดแย้งหลายข้อมีเหตุผล  ตามครรลองนี้ คนบางคนเห็นชอบกับทฤษฎีความยุติธรรมแบบเสรีนิยม  คนอีกบางคนนิยมความยุติธรรมที่อิงหลักเสมอภาค หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ในสังคมเรา เรามีความเป็นพหูพจน์เชิงเศรษฐกิจ บางคนนิยมระบบตลาดเสรี ปล่อยอิสระ ตามทฤษฎีเสรีนิยม แต่บางคนพอใจกับหลักเศรษฐกิจที่อ้างเหตุผลเรื่องความเสมอภาค
         
ศ.แซนเดล ตั้งปริศนาปรัชญาว่า หลักการแตกต่างกันหรือ? เวลาที่เราอภิปรายแสดงเหตุผลเกี่ยวกับศิลธรรม กับ เวลาที่เกิดความแตกต่างในการอภิปรายเรื่องความยุติธรรม เรื่องความหมายของเสรีภาพในการพูด หรือเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตัวอย่างที่ดีที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็คือ การเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ  ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ล้วนเป็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับ ความยุติธรรมและสิทธิ ทั้งนั้น

ศ.แซนเดล ตั้งคำถามต่อไปว่า มีอะไรที่แตกต่างกันหรือ? ระหว่างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพพหูพจน์(pluralism)ที่สมเหตุสมผลในกรณีของความยุติธรรมและสิทธิ  กับข้อเท็จจริงอันมีเหตุผลเกี่ยวกับศิลธรรมและศาสนา  ซึ่งศ.แซนเดล เห็นว่าตามหลักการแล้ว สภาพพหูพจน์ที่สมเหตุสมผลในเรื่องความยุติธรรมและสิทธิ  กับความสมเหตุสมผลเรื่องศิลธรรมและศาสนา  ไม่ได้แตกต่างกัน
         
ทั้งนี้ ทั้งสองเรื่อง(เหตุผลเกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิ กับ เหตุผลเกี่ยวกับศิลธรรมและศาสนา)  เวลาที่เราตกลงอะไรกันไม่ได้ เรามีความเห็นต่างกัน ผู้ที่มีความเห็นต่างกันก็อภิปรายแสดงเหตุผล เฉกเช่นที่เราทำกันมาตลอดภาคการศึกษานี้  เราต่างยกเหตุผลขึ้นอ้าง อันเป็นเหตุผลที่กรณีเฉพาะเรื่องแต่ละกรณีกระตุ้นให้เราคิด  แล้วเราก็พัฒนาเหตุผลที่จะนำเราไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง  ขณะเดียวกันเราก็รับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง  บางครั้งเราก็เห็นประจักษ์ว่า เราต้องทบทวนทัศนะของเรา  บางทีเราก็ถูกท้าทาย ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราต้องซ่อมแซม สร้างสรรค์ความเข้มแข็ง/ความแข็งแรง ให้แก่ความคิดความเชื่อ ที่เรายึดถืออยู่เดิม  ทั้งหมดนั้น เป็นลักษณะของการยกเหตุผลขึ้นมากล่าวอ้างกันอย่างยุติธรรม ในการอภิปรายข้อศิลธรรม 

จุดนี้ ศ.แซนเดล เห็นว่าการยกเหตุผลขึ้นมาอ้าง ในการอภิปรายเกี่ยวกับชีวิตที่ดี(good life ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมือง หรือในชุมชนการเมือง) ก็น่าที่จะดำเนินไปในลักษณะเช่นเดียวกันนี้   

ถึงบัดนี้ ก็ยังมีข้อกังวลอยู่อีกข้อหนึ่ง เป็นความกังวลของพวกเสรีนิยม กล่าวคือ ถ้าหากว่าเราเห็นว่าข้อขัดแย้งของเราเกี่ยวกับศิลธรรมและศาสนา พันอยู่ด้วยกันกับความเห็นต่างในเรื่องความยุติธรรม แล้วเราจะอยู่ในสังคมด้วยกันอย่างไร โดยที่สังคมนั้นให้ความเคารพต่อเพื่อนร่วมชาติ ร่วมบ้านร่วมเมือง ที่คิดต่างกับเรา 

ต่อข้อวิตกข้อนี้ ศ.แซนเดล เห็นว่า ปมปัญหาขึ้นอยู่กับว่า แนวคิดเรื่อง “ความเคารพ” เป็นฉันใด  ถ้ามองจากฝ่ายเสรีนิยม “ความเคารพ” ต่อความคิดต่างทางศิลธรรม และความคิดต่างทางศาสนาของเพื่อนร่วมชาติ ร่วมบ้านร่วมเมือง หมายความว่า ให้ “เฉยเสีย” อย่าไปข้องแวะ  จะได้ไม่เป็นปัญหาการเมือง  ทั้งนี้โดยอภิปรายเรื่องการเมืองกันต่อไป แต่ไม่ต้องเอ่ยอ้างอิงศาสนา   

อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดลเห็นต่อไปว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้เป็นวิธีการอยู่ร่วมกันวิธีการเดียว และอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีในอันที่จะเคารพซึ่งกันและกัน  ในขณะที่ความเคารพซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตสังคมประชาธิปไตย 

ศ.แซนเดลเห็นว่า ยังมีวิธีที่จะเคารพซึ่งกันและกัน ในระหว่างเพื่อนร่วมชาติ--แต่คนละลัทธิศาสนา ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีการแรก กล่าวคือไม่ใช้วิธี “เฉยเสีย”  แต่ใช้วิธีร่วมกิจกรรมและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน  โดยที่บางครั้ง อาจจะมีการท้าทายหรือทดสอบกันบ้าง แต่บางทีก็ต้องนิ่งรับฟัง และรู้จักที่จะเรียนรู้จากกันและกัน    

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า แนวหรือนโยบายร่วมกิจกรรมและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การตกลงกันได้  และก็ไม่แน่ว่า แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การ “อภิเชษฐ์” (ศัพท์ร่วมสมัย = appreciate)หลักศิลธรรมและศาสนาของกันและกัน  เพราะเป็นไปได้ว่า การได้เรียนรู้ลัทธิศาสนาอื่นมากขึ้น อาจทำให้เรารู้สึก “อภิเชษฐ์” ศิลธรรมและศาสนานั้น ๆ น้อยลง 

แต่จะกระนั้นก็ดี นโยบายร่วมกิจกรรมอย่างเสรีและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ศ.แซนเดลเห็นว่า น่าจะเป็นวิธีที่พอเพียงและเหมาะสมกับสังคมพหูพจน์  นอกจากนั้นความแตกต่างทางความคิดเชิงศิลธรรมและศาสนา น่าจะเป็นการสะท้อนถึงคุณค่าบางอย่างบางประการที่สุดยอดของมนุษย์  นโยบายร่วมกิจกรรมและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน น่าจะช่วยให้เราทั้งหลายดีขึ้น  และทำให้เราสามารถ “อภิเชษฐ์” สิ่งดีงามและความดีความงาม ที่นานาชีวิตและนานาจิตตัง แสดงออกมา 

ศ.แซนเดล กล่าวปิดการบรรยายตอนสุดท้ายนี้ ว่า เมื่อเราพบกันประมาณสิบสามสัปดาห์ที่ล่วงมาแล้วนั้น ก็ได้เตือนนักศึกษาไว้ก่อนแล้วว่า  ถ้าเราได้ลองคิดใคร่ครวญสถานการณ์ชีวิตเราเสียใหม่ตามเนื้อหาวิชาปรัชญาการเมืองวิชานี้ เรื่องที่เราคุ้นเคยและคิดว่ารู้ ๆ กันอยู่แล้ว จะกลับกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ และจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ศ.แซนเตลหวังใจว่า เมื่อนักศึกษาได้คิดพิเคราะห์หลักศิลธรรมต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายกันมาตลอดทั้งภาคการศึกษา  จิตใจนักศึกษาคงจะรู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย  ความไม่สบายใจดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองของปัจเจกชน  รวมทั้งเป็นการพัฒนาชีวิตเชิงศิลธรรมของนักศึกษาแต่ละคนด้วย

คำปัจฉิมลิขิตของผู้สรุปภาคภาษาไทย รู้สึกปลื้มใจที่ได้ฟังวีดีโอการบรรยายวิชานี้ในยูทูป ซึ่งเวลานี้ กลางปี 2558 มีจำนวนเคาะเข้าชมใกล้หกล้าน  ในฐานะที่มีหลานเรียนหนังสือที่ฮาร์วาร์ด ก็นึกจินตนาการไปว่า เขาน่าจะได้เข้าเรียนวิชานี้ด้วย และนั่งอยู่ในหมู่นักศึกษานับร้อยในห้องบรรยายนั้น  สำหรับตัวเองได้ฟังการบรรยายทางยูทูบเมื่อปี 2552  ฟังจบแล้วก็ตัดสินใจว่า ในเมื่อคำบรรยายชุดนี้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม รัสเซีย ฯลฯ  ตนเองก็จะขอทำเท่าที่ตนเองถนัด และมีปัญญาจะทำ คือ เขียนสรุปเผยแพร่เป็นภาษาไทย 

โครงการนี้ของผู้เขียน เมื่อแรกนึกว่าจะแล้วเสร็จภายในปีเดียว  ครั้นได้ลงมือทำเข้าจริง ๆ กลับเนิ่นนานยืดเยื้อถึงหกปี  ประมาณว่าหมดเวลาไปกับงานนี้กว่าพันชั่วโมง หรืออาจจะสองพันชั่วโมง  อนึ่ง ในช่วงเวลาหกปีนั้น เมืองไทยก็มีพัฒนาการทางการเมืองอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ น่าอัศจรรย์  ผู้เขียนจบโครงการเขียนสรุปในปี 2558  โดยที่ปมปรัชญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องทอนเงินขาด ของ เอมมานูเอล คานต์ หรือเรื่องขลุ่ยที่ดีที่สุด ควรตกเป็นของผู้ใด ของ อะริสโตเติล หรือม่านแห่งอวิชชา ของ จอห์น รอลส์ และประเด็นอื่น ๆ อีกนานาประการ ต่างก็ยังล้วนมีลักษณะเป็นอกาลิโก ใหม่-ทันสมัยเสมอ ไม่ได้เก่าไปตามกาลเวลา  บางประเด็นมนุษย์คิดกันมาตั้งกว่าสองพันปีมาแล้ว เพียงแต่ตัวผู้เขียนฯเอง ไม่ได้รู้มาก่อนเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ในระหว่างทำงานแต่ละตอนนั้น แม้ผู้เขียนสรุปภาษาไทยจะฟังวีดีโอต้นฉบับ กลับไปกลับมานับสิบครั้ง  ถึงกระนั้นข้อผิดพลาดก็อาจยังมีได้ ซึ่งผู้เขียนฯน้อมรับเสมอกับคำท้วงติง ติชม ว่ากล่าว ตลอดจนด่าว่า ที่ท่านผู้อ่านกรุณาแสดงความเห็นมาทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์  คำด่า--ผู้เขียนก็ถือว่าท่านกรุณา ถ้าไม่กรุณาท่านคงไม่ด่า  การตรวจสอบงานชุดนี้ทำได้ง่าย เพราะว่าได้โพสต์ลิงก์วีดีโอคำบรรยายต้นฉบับ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กำกับไว้ด้วยทุก ๆ ตอน เป็นการเชื้อเชิญให้ท่านผู้อ่านที่มีเวลาพอจะสละ และรู้ภาษาอังกฤษ  โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย ปรัชญา และด้านเอกอังกฤษ หรือบุคคลทั่วไป จะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบสร้างสรรค์งาน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ถือได้ว่า เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นที่บล็อก หรือหน้าเฟสบุค ของผู้เขียนฯ หรือของนิตยสาร MBA  ท่านอาจกล่าวถึงไว้ในบล็อคของท่านเอง หรือกาลเทศะอื่น ๆ

ที่สุดนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ร่วมกับผู้เขียนฯ ขอบคุณกองบรรณาธิการนิตยสาร MBA  ที่กรุณาตีพิมพ์เผยแพร่งานชุดนี้ตลอดประมาณสองปีที่ผ่านไป -ขอบคุณครับ และขอบคุณท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน



ปรีชา ทิวะหุต

บ้านนาพญา    
หลังสวน ชุมพร
มิถุนายน 2558



------------------------------------------------------------------------------------------------------



HV 12/12 part 1 การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

อภิปราย - การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 12/12                     
--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล

                                                                                                          -- ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
Episode 12 part 1
---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

นักศึกษาหญิงชื่อ วิคตอเรีย ลุกขึ้นมาอภิปรายว่า รัฐไม่ควรสนับสนุนการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์-คาธอลิค(คือ ตามพระคัมภีร์)  แต่รัฐมีหน้าที่รับรองการอยู่ร่วมกันทางแพ่ง(civil union) หรือการอยู่ร่วมในทางอาณาจักร ไม่ใช่รับรองการอยู่ร่วมกันตามครรลองของพระคัมภีร์  เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันทางแพ่งทุกชนิด รวมทั้งระหว่างคนเพศเดียวกัน รัฐควรจะรับรองให้

                             ------------------------------------------------------

การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
Episode 12 part 1

          ถ้า หลักความยุติธรรมขึ้นอยู่กับ ศิลธรรม-หรือคุณค่าที่ก่อขึ้นจากสิทธิ  แล้วเราจะทำอย่างไร ในเมื่อผู้คนมีความคิดและมีแนวคิดเรื่องความดีหรือคุณค่า(ศิลธรรม)แตกต่างกัน? โดยที่ทุก ๆ คน ต่างก็มีสิทธิเหมือน ๆ กัน  กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธิที่ทุกคนมีอยู่เสมอภาคกันนั้น สามารถที่จะนำไปสู่ ข้อสรุปทางศิลธรรมที่แตกต่างกัน  

          นักศึกษาได้แสดงความเห็นอย่างมีชีวิตชีวา เกี่ยวกับการแต่งงานเพศเดียวกัน ว่าการอยู่กินฉันผัวเมียระหว่างเพศเดียวกัน (กฎหมายไทยเรียก การอยู่กินฉันสามีภริยา  ดูประมวลแพ่งฯ มาตรา 1461) ควรที่จะได้รับการรับรองว่า เป็น การสมรส ตามกฎหมายหรือไม่?

          เราจะสามารถตกลงเรื่องนี้กันได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางศิลธรรมของรักร่วมเพศ หรือของการแต่งงาน จะได้หรือไม่?

          [หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย – ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายไทย ประมวลแพ่งฯ มาตรา 1448 บัญญัติว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว..... ให้สังเกตว่า ตัวบทได้บัญญัติเรื่องการแต่งงานโดยกำหนดเพศมาด้วย ว่า ชายและหญิง ]

          ศ.แซนเดล เปิดการบรรยายตอนสุดท้ายนี้ว่า ครั้งที่แล้วเราได้พูดถึง ตำนานหรือเรื่องราวแห่งความเป็นตัวเป็นตนของคน – the narrative conception of the self  โดยเราได้ทดสอบ ความคิดเรื่องตำนานแห่งตัวตนของคน และแนวคิดเรื่องหนี้ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือหนี้สมาชิกภาพ  อันเป็นหนี้ที่อ้างเหตุผล หรืออ้างความถูกต้อง ที่อยู่นอกเรื่องนิติกรรมสัญญา  อีกนัยหนึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ใช่ผลจากการแสดงเจตนาของบุคคล แต่เป็นหนี้ชนิดพิเศษ

          เราได้อภิปรายกันมาว่า หนี้ประเภทนั้น มีด้วยหรือ? 

          หรือว่า เราจะสามารถตีความได้ว่า หนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ  ก็เกิดจากความยินยอม หรือเกิดจากการต่างตอบแทน หรือเกิดจากหน้าที่อันเป็นสากลของสภาพความเป็นคน  เพราะว่าหนี้ประเภทนี้-อย่างน้อย-ก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนาน-หรือเรื่องราวแห่งความเป็นตัวเป็นตนของคน?

        แล้วก็มีผู้ลุกขึ้นมาอภิปราย ปกป้องความคิดเรื่องความภักดีและชาตินิยม  ซึ่งทำให้แนวความคิดเรื่องความภักดี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และสมาชิกภาพ  ดูเหมือนว่าจะมีพลังทางศิลธรรมขึ้นบ้าง  แล้วในตอนท้าย—เราก็ได้ชมคลิปภาพยนตร์สารคดี ช่วงทศวรรษที่ห้าสิบ เกี่ยวกับชาวใต้ผู้นิยมการแบ่งแยกผิว(southern segregationist)  ตัวแทนคนเหล่านั้นพูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเขา ประวัติศาสตร์ของพวกเขา ตลอดจนการที่เอกลักษณ์และตำนานชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์  แล้วด้วยการอ้างขนบธรรมเนียมและความผูกพันเชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว  พวกเขาก็สรุปว่า เราต้องปกป้องวิถีชีวิตของเรา (หมายถึง ธำรงไว้ซึ่งการแบ่งแยกผิว หรือเห็นว่าการแบ่งแยกผิวเป็นเรื่องที่ดี) 

          ประเด็นนี้—ทำให้เกิดการประท้วงต่อแนวคิดที่ว่า ความเป็นตัวตนของมนุษย์เกิดจากเรื่องราวหรือตำนานในอดีต  คือเกิดปริศนาขึ้นมาถามว่า จริงหรือว่าเป็นเช่นนั้น?  และนั่นคือคำถามที่เราค้างกันไว้ในการบรรยายครั้งก่อน     

          สำหรับครั้งนี้ ศ.แซนเดล ได้ผลักดันการให้เหตุผลต่อไป  โดยกำหนดประเด็นชัดเจนว่า ท่านต้องการหาเหตุผลมาปกป้องแนวคิด เรื่องความเป็นตัวตนของคน-อันกำเนิดขึ้นจากตำนานหรือเรื่องราวในอดีต - the narrative conception of the self  ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเรื่องความเป็นตัวตน ที่เกิดจากการแสดงเจตนา - voluntarist conception of self

          ศ.แซนเดล ปรารถนาจะปกป้องความคิดที่ว่า หนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ-มีจริง และเมื่อหนี้ชนิดนี้มีจริง ก็จะส่งผลเสริมพลังให้กับความยุติธรรมอีกด้วย--ในแง่ที่ว่า การให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรม จะแยกออกไม่ได้จากเรื่อง “ความดี(the good)” อันเนื่องด้วยการมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง หรือในบ้านเมือง

          ศ.แซนเดล ต้องการจำแนกทางพิจารณาเรื่องความดี(-อันเนื่องด้วยการมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง) – หรือ “the good” ออกเป็นสองทาง  แล้วหาเหตุผลสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง เพียงทางเดียว

          แนวคิดเรื่อง ความเป็นตัวตนที่เกิดจากเจตนา  ของคานต์และรอลส์ มีแง่มุมที่น่าเลื่อมใสอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีลักษณะเป็นสากล—กล่าวคือ ไม่เลือกปฏิบัติ  แต่จะปฏิบัติต่อทุกคนเสมอภาคกัน ปราศจากอคติ ปราศจากความเดียดฉันท์  ซึ่งศ.แซนเดลเห็นว่า ลักษณะอันเป็นสากลนี้เป็นเหตุให้บางคนในหมู่พวกเรา พากันเห็นด้วยว่า หนี้สมาชิกภาพอาจจะมีอยู่จริง แต่ถึงอย่างไร ก็จะมี “ศักดิ์” ต่ำกว่าพันธะกรณี(อันเป็นสากล)ที่เรามีต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นพันธะชนิด “ไม่เลือกปฏิบัติ”

          แต่ จริงหรือว่า จะเป็นเช่นนั้น?

          ถ้าหากว่า ความภักดีชนิดปกแผ่ไพศาลของเรา(เป็นสากล) จะต้องมี “ศักดิ์” สูงกว่าความภักดีระดับแคบเฉพาะเจาะจง(หนี้สมาชิกภาพ)  เมื่อนั้น ความแตกต่างระหว่างเพื่อนกับคนแปลกหน้าก็จะหายไป  เยื่อใยความอนาทรที่มีต่อเพื่อน จะมีฐานะเป็น “ความเดียดฉันท์” ชนิดหนึ่งไปโน่นเลย  ศ.แซนเดลตั้งคำถามว่า เราลองจินตนาการดูทีหรือว่า สังคมที่ยึดถือข้อศิลธรรมชนิดนั้น จะเป็นฉันใด? (สังคมที่มิตรสหายกับคนแปลกหน้า มีค่าเสมอกันหมด)

          ประเด็นนี้ ศ.แซนเดล ซึ่งปกติจะไม่อ้างปราชญ์ฝรั่งเศส-ยกเว้นเรื่องปลีกย่อย แต่ตรงนี้ ศ.แซนเดล ยก ม็งเตสกิเออ ขึ้นมาอ้างว่า ม็งเตสกิเออ กล่าวไว้ว่า (ที่เวลาวีดีโอ 5:18)

                   “คนดีจริง ย่อมวิ่งเข้าไปช่วยเหลือคนแปลกหน้า
                   ซึ่งตนไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย
                    ไวเท่ากับที่วิ่งเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนฝูง”

                   “A truly virtuous man would come to
                   the aid of the most distant stranger
                   as quickly as to his own friend.”

                                                Montesquieu

และ ม็งเตสกิเออ ทิ้งท้ายว่า

                   “ถ้าคนเรา เป็นคนดีสมบูรณ์แบบ
                   ก็แปลว่า เขาจะไม่มีเพื่อน”

                   “If men are perfectly virtuous, they
                   wouldn’t have friends.”

                                                --Montesquieu

          [หมายเหตุ – ตรงนี้เรียกเสียงหัวเราะหึ ๆ และรอยยิ้มขำ จากนักศึกษาหลายคน]

          ยากอยู่นะ ที่เราจะจินตนาการเห็นโลกที่เต็มไปด้วย “คนดี” อย่างที่ ม็งเตสกิเออว่าไว้  คือ โลกที่คนไม่มีเพื่อนฝูงมิตรสหาย  มีแต่ “ไมตรีจิต” เป็นจิตสากล รักคนเท่า ๆ กันหมดทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หันไปทางไหน ต่างคนต่างก็แจกยิ้ม ๆ ๆ ๆ ๆ ให้กัน (คล้าย ๆ หมู่บ้านคนสติไม่เต็มเต็ง)  ศ.แซนเดลกล่าวว่า โลกแบบนั้นยากที่จะเป็นจริง  และคงไม่ใช่โลกมนุษย์

          ปรัชญาตะวันตกเห็นว่า ความรักต่อมนุษย์ชาติเป็นความรู้สึกสูงส่ง – noble – แต่ขณะเดียวกัน คนเราก็มีชีวิตส่วนมากอยู่กับความรักภักดีในวงแคบ ๆ  ประเด็นนี้ทำให้ดูเหมือนว่า ศิลธรรมเรื่องการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์(sympathy)ของตะวันตก จะมีขอบเขตจำกัด คือ คนเราจะมีขีดความสามารถเห็นอกเห็นใจได้ ก็เฉพาะแต่คนในแวดวงชุมชนที่เราสังกัดเท่านั้น จะให้เราเห็นใจคนที่สุดขอบฟ้าคงจะยาก (เพราะฉะนั้น ความรักต่อมนุษย์ชาติ จึงเป็นสิ่งสูงลิบ) 

          แต่ที่สำคัญก็คือ เรื่องนี้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า เราเรียนรู้ที่จะรักมวลมนุษย์ชาติในวงกว้าง ก็โดยเรียนไปจากความรู้จักรักภักดีในวงแคบ  

          อนึ่ง ศ.แซนเดลย้ำกับนักศึกษาว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่เราได้อภิปรายกันมา ก็มีฐานะเพียง“ข้อพิจารณา” เท่านั้น ไม่ใช่การฟันธง  ปรัชญาเรื่องศิลธรรม(moral philosophy)ไม่สามารถจะฟันธงเรื่องใด ๆ ได้  จะเสนอ(สอนและอภิปราย)กันได้เฉพาะในแง่ของการเป็น ”ข้อพิจารณา” ข้อหนึ่งเท่านั้น

          สมมติว่า การอ้างเหตุผลว่า มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะรักมนุษย์ชาติ มาจากการรู้จักรักภักดีในวงแคบ ๆ ก่อน สมมติว่านั่นเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง  ทีนี้ล่ะ เราก็จะพบกับข้อกังขาข้อใหญ่เกี่ยวกับความยุติธรรม คือว่า ความยุติธรรมจะผันแปรไปตามสังคมต่าง ๆ  สังคมใดเห็นว่าความยุติธรรมคือฉันใด ความยุติธรรมก็จะต้องเป็นไปฉันนั้น 

          ศ.แซนเดลขอให้นักศึกษา ลองย้อนไปพิจารณาพวกแบ่งแยกผิวทางใต้  คนพวกนั้นเขาอ้างความสำนึกในประวัติศาสตร์ของเขา  แล้วเรารู้สึกนิยมยกย่องคุณสมบัติข้อนี้ของพวกเขาหรือไม่?  คนพวกนั้นเขาประสงค์ที่จะปกป้องอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี และความคิดความอ่านของเขา  ในเมื่อเรายอมรับเรื่องหนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และหนี้สมาชิกภาพ ก็เท่ากับเราผูกพันกับคุณความดีประเภทที่เห็นว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องคล้อยตามธรรมเนียมท้องที่ ซึ่งหมายความว่า เราก็ต้องเห็นด้วยกับพวกคนใต้ที่แบ่งแยกผิว   

          เกี่ยวกับการพิจารณาความยุติธรรม เมื่อผูกเข้ากับคุณงามความดี(the good)—ที่คล้อยตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมนั้น ๆ ยึดถือ  เรามีทางพิจารณาความยุติธรรมเป็นสองทาง ทางหนึ่งเป็นทางสัมพัทธ์--คือขึ้นต่อกันหรือโยงกันอยู่--แนวคิดแบบสัมพัทธ์เห็นว่า สิทธิก็ดี ความยุติธรรมก็ดี จะต้องโยงสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมที่สังคมในขณะนั้นยึดถือว่าดี  และเราต้องไม่นำมาตรฐานจากภายนอก เข้าไปเป็นเครื่องพิจารณาตัดสิน

          ข้อเสียของแนวคิดความยุติธรรมเชิงสัมพัทธ์ ก็คือ ความยุติธรรมจะกลายเป็นผลจากสถานการณ์แวดล้อม  ซึ่งทำให้ความยุติธรรมขาดคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งของความยุติธรรมไป อันได้แก่ ความเที่ยง ความที่ไม่เอนเอียง

          แนวคิดที่สอง ซึ่งความยุติธรรมสามารถที่จะผูก หรือพันเข้ากับคุณงามความดี(ในสังคม-บ้านเมือง)ได้ โดยที่จะไม่ใช่แนวคิดชนิดสัมพัทธ์เหมือนกับแนวแรก  เพราะว่า ตามแนวที่สองนี้หลักยุติธรรมไม่ขึ้นกับค่านิยมที่ครอบสังคมอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง  แต่ว่าความยุติธรรมขึ้นอยู่กับคุณค่าทางศิลธรรม หรือคุณงามความดีบั้นปลาย ที่สิทธิ-สนองรองรับอยู่     

          แนวคิดเรื่องสิทธิ ที่มิใช่แนวคิดเชิงสัมพัทธ์นี้ หมายความว่า ในอุทาหรณ์ที่เราหยิบขึ้นมาสาธก(ศึกษา) สิทธิจะต้องให้เกียรติ เคารพ หรือผลักดันคุณงามความดีที่สำคัญบางอย่างของมนุษย์  วิธีคิดอย่างนี้จะไม่ปล่อยให้สังคม-ชุมชน-บ้านเมือง(community)แต่ละแห่ง นิยามความยุติธรรมกันเอาเอง  

          ศ.แซนเดล เสนอว่าระหว่างแนวคิดสองแนว เพื่อเชื่อมความยุติธรรมเข้ากับคุณงามความดี(ของสังคม-บ้านเมือง) แนวคิดเชิงสัมพัทธ์ ยังบกพร่อง ยังไม่เพียงพอ เพราะปล่อยให้ความยุติธรรมขึ้นอยู่กับว่า สุดแล้วแต่ค่านิยมหลักในสังคมใดจะคิดเห็นอย่างไรในขณะนั้น  แนวคิดเชิงสัมพัทธ์จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่เราได้อย่างเพียงพอ พอที่--เราได้จะตอบ/โต้แย้งกับพวกแบ่งแยกผิวทางภาคใต้ ซึ่งพวกนั้นอ้างวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี มาเป็นเครื่องสนับสนุน

          ในแนวที่สอง  ความยุติธรรมผูกอยู่กับคุณงามความดี  แต่ก็เกิดปัญหาว่า - แล้วอย่างไรจึงเป็นคุณงามดี ที่ว่าดีนั้นคืออย่างไร?  แล้วถ้าในสังคมคนคิดต่างกันเล่า? คุณงามความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สถาบันต่าง ๆ ทางสังคม(สถาบัน หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณี)ที่เป็นสถาบันหลัก ก็จะมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกันในความเข้าใจของคนแต่ละคน  คนแต่ละคนมีความคิดต่างกันว่า ความดีเชิงสังคมความดีใด กับ ความดีเชิงมนุษย์ชนิดใด จะสมควรได้รับการยกย่องให้เกียรติ สรุปแล้ว ที่ว่าดีนั้นคืออย่างไร?   

          เราอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยความหลากหลาย ซึ่งคนมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคุณงามความดี  ด้วยเหตุนี้เองที่เราได้แรงจูงใจอีกแรงหนึ่ง เพื่อพยายามแสวงหาหลักยุติธรรมและสิทธิ ที่ไม่ขึ้นกับผลบั้นปลาย(telos หรือ dominant end) หรือขึ้นกับวัตถุประสงค์ หรือขึ้นกับคุณงามความดีประการใดประการหนึ่งเพียงประการเดียว 

          ปริศนามีว่า แล้วเราจะมีหนทาง ที่จะแสดงเหตุผล เกี่ยวกับคุณงามความดี หรือไม่? 

          แต่ก่อนที่จะหาทางตอบคำถามนั้น ศ.แซนเดลบอกว่า ท่านต้องการตอบคำถามที่ง่ายกว่านั้นสักคำถามหนึ่ง คือคำถามที่ว่า จำเป็นด้วยหรือ ที่เวลาเราอ้างเหตุผลเรื่องความยุติธรรม เราจะต้องอ้างเหตุผลเรื่องคุณงามความดี?  คำตอบของศ.แซนเดล คือ จำเป็น และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
          การให้เหตุผลเกี่ยวกับคุณงามความดี/วัตถุประสงค์/ผลบั้นปลายของสังคม(dominant end) เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราจะพูดถึงความยุติธรรม  ดังนั้น ศ.แซนเดล จึงจะยกกรณี การแต่งงานเพศเดียวกัน ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์

          การแต่งงานเพศเดียวกัน เป็นแนวคิดที่ยังโต้เถียงกันอยู่ในสังคม(อเมริกัน) ทั้งในแง่ศิลธรรมและศาสนา  ประเด็นนี้จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทรงพลัง ที่เราจะได้ลองค้นคิด แสวงหาหลักยุติธรรม และหลักเรื่องสิทธิ ชนิดที่ไม่ต้องอ้างอิงอาศัยสังคมส่วนรวม เป็นตัวคอยพิพากษาตัดสิน  ประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่นี้ ได้แก่ เรื่องการปล่อยปละละเลยเชิงศิลธรรมเกี่ยวกับรักร่วมเพศ กับเรื่องวัตถุประสงค์บั้นปลายของการแต่งงาน ในฐานะสถาบันทางสังคม(คือ telos หรือ dominant end ของการสมรส)

          ศ.แซนเดลเห็นว่า ถ้าเราหาทางออกเรื่องการนิยาม-กำหนดสิทธิมนุษย์ได้ โดยไม่ต้องไปอ้างอิงอาศัยสังคมส่วนรวม มาคอยกำกับข้อพิพาททางศิลธรรมและทางศาสนา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และน่ายินดี

           กรณีการแต่งงานเพศเดียวกัน จึงถูกยกป็นอุทาหรณ์ เพื่อลองคิดกันดูว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะ แยก การพิจารณาเกี่ยวกับ ประเด็นศิลธรรมเรื่องรักร่วมเพศ กับ เรื่องวัตถุประสงค์บั้นปลายของการแต่งงาน  ออกเสียจาก  ประเด็นเรื่อง รัฐควรรับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน

          ศ.แซนเดล เริ่มเปิดการอภิปราย ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วย กับการแต่งงานเพศเดียวกัน โดยที่ฝ่ายนี้เห็นว่า รัฐควรรับรองการแต่งงานเฉพาะระหว่างชายกับหญิง

          นักศึกษาชื่อ มาร์ค ลุกขึ้นอภิปราย คล้อยตามลักษณะการให้เหตุผลแบบ teological reasoning ของ อะริสโตเติล (ซึ่งให้เล็งวัตถุประสงค์ ธรรมชาติ ธาตุแท้ หรือ telos หรือ dominant end ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ว่ามีอยู่เพื่ออะไร เช่น ขลุ่ยที่ดีที่สุด ย่อมมีไว้เพื่อคนเป่าขลุ่ยที่มีฝีมือที่สุด – โปรดกลับไปอ่านบท “พลเมืองที่ดี คือ อย่างไร” episode 10 part 1 – ผู้สรุปภาษาไทย) วัตถุประสงค์ ธรรมชาติ ธาตุแท้ ของการแต่งงานนั้น สำหรับตัวเขาซึ่งเป็นชาวคริสต์และเป็นคาธอลิค ถือว่าวัตถุประสงค์ของกามารมณ์ – the purpose of sex – เป็นไปเพื่อ หนึ่ง.ให้กำเนิดบุตร สอง.ผูกพันชายหญิงไว้ด้วยกันในสถาบันการแต่งงาน(สถาบัน=ธรรมเนียมประเพณี สถาบันการแต่งงาน=ธรรมประเพณีการอยู่กินร่วมกันระหว่างชายหญิง ด้วยการแต่งงาน)  การที่สังคมส่วนรวม-บ้านเมือง รับรองการแต่งงานให้ ก็ด้วยเหตุที่เป็นการแสดงความเคารพต่อ วัตถุประสงค์-ธรรมชาติ-ธาตุแท้ ดังกล่าว

          นักศึกษาชื่อ ไรอัน เห็นด้วยกับ มาร์ค และเห็นเพิ่มเติมว่า แนวคิดเรื่องการแต่งงาน เกี่ยวข้องกับการมีบุตร  ส่วนการที่คนรักร่วมเพศจะอยู่ด้วยกัน นายไรอันบอกว่า เขาไม่ขัดข้อง และยังเห็นว่าสังคมทำผิด ถ้าจะไปตีตราให้การอยู่ร่วมกันฉันผัวเมียของคนเพศเดียวกันเป็นการผิดกฎหมาย  แต่เขาก็เห็นว่า รัฐไม่ควรส่งเสริมการอยู่กินระหว่างคนรักร่วมเพศ ด้วยการรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน

          ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยลุกขึ้นแสดงเหตุผลบ้าง โดยนักศึกษาหญิงชื่อ ฮานา ยกอุทาหรณ์ถามนายมาร์คว่า ถ้าคุณแต่งงานเป็นทางการกับหญิงที่คุณรู้ภายหลังว่า ไม่สามารถจะมีบุตรได้ แล้วการที่คุณยังคงมีเพศสัมพันธ์กับเธอ คุณกำลังทำผิดกฎหมายหรือเปล่า?

          ซึ่งนายมาร์ค ตอบว่า กามารมณ์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เดียวเรื่องให้กำเนิดบุตร เช่น ชายอายุมากอาจแต่งงานกับหญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็ยังได้.....(ตามวัตถุประสงค์ที่สอง. กามารมณ์เป็นเครื่องผูกพันชายหญิง)

          น.ศ.หญิง กล่าวว่า เธอไม่อยากที่จะไม่สุภาพ แต่ขอถามนายมาร์คสักคำ ว่าเคยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง บ้างหรือเปล่า? 

          คำถามนี้เรียกเสียงเฮฮา จากนักศึกษาทั้งห้อง และสร้างความอึกอัก อิหลักอิเหลื่อ แก่นายมาร์ค  ศ.แซนเดล ต้องเข้ามาเป็นคนกลาง แจ้งแก่นายมาร์คว่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนั้น  และปรามน.ศ.หญิงว่า ขอให้เปลี่ยนสรรพนามเป็นบุรุษที่สาม(คือ อย่าพูดตอบโต้กับบุรุษที่สอง-คือ นายมาร์ค) ขอให้เธอตั้งเป็นข้อสังเกต เป็นกรณีทั่วไป-ไม่ใช่เป็นกรณีเฉพาะบุคคล

          น.ศ.หญิง จึงแถลงว่า ตามพระคัมภีร์—biblicly--การสำเร็จความใคร่(masturbation)ผิดศิลธรรม  เพราะว่าเป็นการทิ้งน้ำเชื้อลงกับพื้น ไม่นำไปสู่การกำเนิดทารก หรือเพื่อผูกพันคู่แต่งงานไว้ในการสมรส  เธอจึงมีข้อสงสัยว่า จะมายกเว้นว่าการสำเร็จความใคร่ดัวยตนเองไม่ผิดศิลธรรมได้อย่างไร ก็ในเมื่อกิจกรรมนี้ไม่ก่อกำเนิดบุตร

[หมายเหตุ ของผู้สรุปภาษาไทย – พระคัมภีร์ จารไว้ว่า

          Genesis 38:8-10 – “Then Judah said to Onan, ‘Lie with your brother’s wife and fulfill your duty to her as a brother-in-law to produce offspring for your brother.’ But Onan knew that the offspring would not be his; so whenever he lay with his brother’s wife he spilled his semen on the ground to keep from producing offspring for his brother. What he did was wicked in the Lord’s sight; so he put him to death also.”

          แปลโดยผู้สรุปภาษาไทย – “แล้วยูดาห์บอกแก่โอนันว่า จงหลับนอนกับภรรยาพี่ชายเจ้า แล้วทำหน้าที่ของเจ้าต่อเธอ ในฐานะน้องเขย เพื่อให้กำเนิดทายาทสำหรับพี่ชาย’  แต่โอนันรู้ว่าทายาทนั้นย่อมไม่ใช่บุตรตน  ดังนั้น คราใดที่เขาหลับนอนกับภรรยาพี่ชาย เขาจะทำน้ำอสุจิหกทิ้งกับพื้น เพื่อไม่ให้ก่อกำเนิดทายาทแก่พี่ชาย  พระเจ้าเห็นว่า การกระทำของเขาชั่วร้าย พระเจ้าจึงฆ่าเขาเสีย”

          นักศึกษาหญิง ฮานนา เธออ้างพระคัมภีร์ไบเบิล โดยชี้จุดนี้ คือ เรื่องที่โอนันทิ้งน้ำเชื้อลงกับพื้น Genesis 38:8-10  ซึ่งชาวคริสต์จำนวนมาก จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นสาธกเป็นอุทาหรณ์ เป็นหลักฐาน ว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองผิดศิลธรรม (คือ-ผิดบัญชาหรือเจตนาพระเจ้า)

          อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชาวคริสต์อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วย โดยแสดงเหตุผลว่า โอนันไม่ได้กระทำการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  เพราะเขาประกอบเพศสัมพันธ์ตามปกติกับพี่สะไภ้  เพียงแต่ว่าเมื่อใกล้ถึงจุดสุดยอด(ไคลแม็กซ์)  เขาถอนอวัยวะออกจากช่องคลอด มาหลั่งทิ้งลงกับพื้น  พฤติกรรมเช่นนี้ทางวิชาการเรียกว่า coitus interruptus หรือการขัดจังหวะกิจกรรมเพศสัมพันธ์  ไม่ได้เรียกว่า masturbation หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง–จบหมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย ]


          นายมาร์ค กล่าวว่าสถาบันการแต่งงานนั้น สังคมมีไว้เพื่อสนับสนุนข้อศิลธรรมก็จริงอยู่  แต่มนุษย์เราทุกคน คงไม่สามารถปฏิบัติตนได้สมบูรณ์เต็มตามข้อศิลธรรม (we fall short…..)  เราต่างก็บกพร่อง มากน้อย ในข้อใดข้อหนึ่ง  แต่การพร่องดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นเหตุมายับยั้ง ตัดสิทธิ ไม่ให้คนอ้างเหตุผลสนับสนุนศิลธรรมข้อนั้น
          นักศึกษาหญิงชื่อ วิคตอเรีย ลุกขึ้นมาอภิปรายว่า รัฐไม่ควรสนับสนุนการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์-คาธอลิค(คือ ตามพระคัมภีร์)  แต่รัฐมีหน้าที่รับรองการอยู่ร่วมกันทางแพ่ง(civil union) หรือการอยู่ร่วมในทางอาณาจักร ไม่ใช่รับรองการอยู่ร่วมกันตามครรลองของพระคัมภีร์  เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันทางแพ่งทุกชนิด รวมทั้งระหว่างคนเพศเดียวกัน รัฐควรจะรับรองให้

          [ข้อสังเกตของผู้เขียนสรุปภาษาไทย – ญี่ปุ่นใช้วิธีนี้  เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลางปีพ.ศ.2558 ญี่ปุ่นออกกฏหมายรับรองการอยู่ร่วมกัน ของคนเพศเดียวกัน]

          นักศึกษาหญิงชื่อเซซานน์ อภิปรายว่า รัฐไม่ควรมายุ่งเกี่ยวเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ  การอยู่กินร่วมกันระหว่างชายหญิงก็ดี ชาย-ชายก็ดี หรือหญิง-หญิงก็ดี เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรต้องมาอนุญาต หรือสอดแทรกเข้าไปให้การรับรอง  และการรับรองของรัฐ เธอเห็นว่า ก็ไม่ได้ช่วยผูกพันคู่ชีวิตหรือเป็นการอนุเคราะห์เด็ก(บุตร)แต่ประการใด

          ประเด็นนี้ จะได้อภิปรายกันต่อไป ในการบรรยายตอนที่ 12 ครั้งที่ 2


-------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 12/12 part 1
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 12 เชิญตามลิงก์ครับ