open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำไม โรเบสปิแยร์ คิดสร้างศาสนาใหม่ล่าสุด ขึ้นมาในโลก

ตอน 1

ล่าสุดในโลก หมายถึงโลกในเวลานั้น  ทั้งๆที่การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นเอง  ก็เป็นผลมาจากแนวความคิดยุคแสงสว่างทางปัญญา  ซึ่งกินระยะเวลาโดยประมาณ ตลอดศตวรรษที่ 18 และก่อนหน้านั้นเล็กน้อย  โดยที่นักปราชญ์ยุคนั้นเห็นว่า  พระผู้เป็นเจ้าตายแล้ว

มีเรื่องเล่ากันว่า  นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้หนึ่ง  ตื่นแต่หัวรุ่ง  แล้วตามตะเกียงเดินไปตลาด  แกส่องหาอะไรก็ไม่รู้อยู่ที่ตลาด  ชาวบ้านร้านตลาดร้องถามว่า  ลุงๆ ลุงกะลังหาอะไรอ่ะ  แกก็ตอบว่า หาพระเจ้า พระเจ้าอยู่ไหนก็ไม่รู้  พ่อค้าแม่ขายในตลาดก็บอกว่า  อย่าหาอยู่เลย  พระเจ้าตายแล้ว  ประโยคนี้กลายเป็นประโยคดังแห่งยุค  ในยุคถัดมาจนเมื่อศตวรรษที่แล้ว(ศต.20) คนก็ยังหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างกันทั่วไป ในแวดวงการแสดงความคิดเห็นเชิงปรัชญา(ตะวันตก)


เป็นการยากมากมาย  สำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาในบริบทลัทธิเถรวาท ของศาสนาพุทธ  แม้จะนับถือมากน้อยหรือไม่นับถือเลย ก็ไม่สำคัญ  สำคัญอยู่ที่มีชีวิตอยู่กับบริบทนี้ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  การที่จะทำความเข้าใจกับลัทธิโรมันคาธอลิคของศาสนาคริสต์  ซึ่งครอบงำฝรั่งเศสอยู่นานนับพันปี จนถึงยุคแสงสว่างทางปัญญา  ยากมากครับ ที่ท่านหรือข้าพเจ้า จะเข้าใจเขาได้เกินกว่าระดับฉาบๆฉวยๆ ผิวๆเผินๆ งูๆปลาๆ

ตั้งแต่เมื่อกรุงโรมเปลี่ยนศาสนา จากศาสนาเทพมากมายคล้ายฮินดู  หันมายอมรับนับถือศาสนาคริสต์และพระเจ้าองค์เดียวคล้ายอิสลาม  ตราบจนกระทั่งกรุงโรมแตกแก่อนารยชน  และตลอดแผ่นดินยุโรปยุคกลาง  จวบจนยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา-หรือเรอแนสซ็องซ์  เรื่อยมาถึงยุคแสงสว่างทางปัญญา-หรือ ดิ เอ็นไลท์เมนต์  ซึ่งจบลงด้วยการปฏิวัติอเมริกัน ในดินแดนอาณานิคมอังกฤษ บนทวีปอเมริกาเหนือ  และการปฏิวัติฝรั่งเศสในยุโรป  ภาวะครอบงำของคริสต์ศาสนาโรมันคาธอลิค  แทรกซึมอยู่ทุกหย่อมหญ้า  ในอณูอากาศที่คนหายใจ ในตัวบทกฎหมาย และในการเมืองการปกครอง ของประเทศฝรั่งเศส    

ท่านผู้รู้ชี้ว่า  ถ้าเราลอง “ถอดพระเจ้า”  ออกเสียจากการพิจารณาของเรา  เราจะไม่มีวันเข้าใจชีวิต สังคม กฎหมาย การเมือง และศิลปะ ของยุโรปยุคกลางได้เลย  เราจะไม่เข้าใจหรอกว่า ภาพเขียนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า เขาวาดขึ้นมาทำไม เพื่ออะไร และอย่างไรจึงได้แสดงออกมาอย่างนั้น  โบสถ์วิหารศาลาการเปรียญ สถาปัตย์กรรมต่างๆ ทำไมถึงมีรูปแบบเช่นนั้น  ถ้าเราไม่อาศัยพระเจ้ามาประกอบความคิด  เราจะไม่เข้าใจหรอกว่า ทำไมผู้คนในยุโรปยุคกลาง จึงเดินทางนับพันกิโลเมตร ข้ามเทือกเขาปิเรเน ที่ชายแดนฝรั่งเศสต่อกับสเปน  บนเส้นทางเดินเท้าที่ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกยุโรปปัจจุบัน  ที่ขนานนามว่า “เส้นทางแสวงบุญ ไปมหาวิหาร ซานติเอโก เด ก็อมโปสเตลลา”  ซึ่งผู้คนจากทั่วยุโรป ใช้เส้นทางเดินเท้าจากทางใต้ของฝรั่งเศส ไปยังมหาวิหาร ซานติอาโก เด ก็อมโปสเตลลา ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน  เราจะไม่มีวันจะเข้าใจอะไร เกี่ยวกับเรื่องราวในยุโรปยุคกลาง ถ้าเรา “ถอดพระเจ้า”  ออกจากใจ

ถ้าที่กล่าวมานี้ยังไม่ชัดเจนพอ  ขอได้โปรดใช้จินตนาการสักเล็กน้อย  นึกเสียว่าตัวเองเป็นมนุษย์อนาคต  ในเวลาอีกสองสามร้อยปีข้างหน้า  สมมติว่าเวลานั้น ท่านกำลังศึกษาประวัติศาสตร์โลกยุคต้นสหัสวรรษที่สาม(ต้นพันปีที่สาม ในคริสต์ศาสนา)  คือ ณ เวลานี้  ถ้ามนุษย์อนาคตผู้นั้น ซึ่งก็คือตัวท่านผู้อ่านเอง ที่กำลังนึกจินตนาการไปจากเวลาปัจจุบัน  ถ้าหากว่า ท่านมนุษย์อนาคต “ถอดเงินตรา”  ออกเสียจากใจ ท่านก็จะไม่มีวันเข้าใจชีวิต สังคม การเมือง ศิลปะ ฯลฯ ของโลกยุคปัจจุบันนี้ ได้เลย

ในโลกยุคต้นสหัสวรรษที่สาม คือระยะเวลานี้ แม้จะเกิดวิกฤตเงินๆทองๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชั่วชีวิตของเราท่านทั้งหลาย  แต่เราจะพูดจาดูถูกเงินไม่ได้นะ  หรือแม้จะพูดทำนองเฉียดๆเข้าไป “ด้อยค่า” เงินตราลง ก็ไม่ได้  เช่น จะพูดว่าอะไรดีน้อออ...เช่น สมมติแล้วกัน สมมติว่า พูดว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”  เพียงเท่านั้นแหละ โอ้โฮ ดูไม่จืดเลย  เพราะเงินมันจะโกรธ โมโหโกรธา “สำแดงกำลัง”  ลุกขึ้นมาเผาบ้านเผาเมือง เข้าให้

ฉันใดก็ฉันนั้น  พระเจ้าในยุโรปยุคกลาง  ทรงอิทธิพลไม่แพ้เงินในยุคสมัยนี้  สำนวนที่ว่า “เงินตรา คือ พระเจ้า”  คงไม่ใช่สำนวนที่เกิดขึ้นมา แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยดอก

อนึ่ง แนวทางการเทียบเคียง เงิน-ในศตวรรษนี้ กับพระเจ้า-ในยุโรปยุคกลาง  ก็ไม่ใช่ความคิดต้นกำเนิดไปจากผู้เขียน  แต่ผู้เขียนลอกจากท่านผู้เป็นต้นคิด คือ คณบดี คณะวรรณคดีฝรั่งเศสและอิตาเลียน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา  และไม่ใช่คณบดีคนที่อยู่ในตำแหน่ง เมื่อศตวรรษที่แล้วซะเมื่อไร  ท่านคือ คณบดี คนปัจจุบัน  

[ยังมีต่อ...ครับ]

ตอน 2

ลัทธิคอธอลิคเวอร์ชันเก่า ครอบงำสังคมฝรั่งเศสอย่างไร

ฝรั่งเศส น่าจะเป็นดินแดนนอกภารตะเพียงแห่งเดียว ที่มีกฎหมายแบ่งชนชั้นวรรณะให้เห็นกันชัดเจนไม่เคลือบแฝงอ้อมค้อม  โดยที่ชั้นของชนจะปรากฏเป็นฐานันดรสามฐานันดร  ขณะที่ในภารตะมีวรรณะสี่วรรณะ  ทั้งนี้ทั้งนั้น เราว่ากันโดยประมาณ

ที่อื่นๆก็มีการลำดับชั้นชนในสังคม  เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสังเกตพบในหมู่มนุษย์ ลิง ค่าง บ่าง ชะนี  ตลอดจนเสือ สิงห์ กระทิง แต่อาจจะยกเว้นแรด  นอกจากนั้นแมลงอย่างเช่น ผึ้ง ก็มีการแบ่งชั้นชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกือบจะเหมือนวรรณะในอินเดีย  การแบ่งชั้นชนของอินเดียโบราณและฝรั่งเศสยุคกลาง  ล้วนมีพื้นฐานมาจากคัมภีร์ศาสนา  เหมือนกันทั้งสองแห่ง

สำหรับในฝรั่งเศส ชนชั้นอันดับหนึ่ง คือ นักบวช ถือเป็นพวกฐานันดรที่หนึ่ง ซึ่งมีสิทธิเก็บภาษีจากพืชผลที่คนทำได้ และมีรายได้จำนวนมากจากค่าเช่าที่ดิน ทั้งในเมืองและชนบท  เพราะองค์กรศาสนาเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในฝรั่งเศส  นักบวชไม่ต้องเสียภาษี  ลำดับสอง คือ พวกผู้ดีแปดสาแหรก เป็นฐานันดรที่สอง ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี มีสิทธิถือมีดดาบ มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินทำกิน  แต่มีพันธะต้องสละชีพ คือ รับราชการทหาร ห้ามไม่ให้ไปประกอบอาชีพอื่น  ลำดับล่างสุดได้แก่ ฐานันดรที่สาม คือพวกที่ไม่ใช่สองพวกแรก  เนื่องจากยังเป็นสังคมเกษตร พวกฐานันดรที่สามส่วนใหญ่ อยู่อาศัยในชนบท  ฐานันดรที่สามที่อยู่ในเมืองก็มี และจะประกอบอาชีพสารพัด ตั้งแต่ขายแรงงานจนถึงพวกนายธนาคาร  เพราะฉะนั้น ฐานันดรที่สามในเมือง ที่ร่ำรวยมากๆก็มี  แต่ส่วนใหญ่แล้วฐานันดรที่สาม จะได้แก่ พวกโคกระบือมากกว่าที่จะเป็นพวกสลัมด็อก  มีหน้าที่ทำไร่ไถนา ปลูกผักปลูกหญ้า หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน  ถ้าจะเปรียบกับปัจจุบันก็คือ หน้าสู้จอคอมพ์  ระกำลำบาก เป็นกรรมกรในห้องแอร์หรือในไร่นา  ชีวิตจะไม่มีอ็อปชันอื่นให้กับพวกเขา-ซึ่งที่จริงก็หมายถึงพวกเรานั่นเอง  ทั้งนี้เพราะว่า ถูกไล่ออกมาจากสวรรค์ คือ สวนอีเดน  ดังนั้น พวกเขา-ซึ่งหมายถึงพวกเรา จะต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ผัวหาบเมียคอน กันต่อไป  เพื่อว่า เมื่อตายแล้ว อาจจะได้ไปสู่ดินแดนพระเจ้า อีกนัยหนึ่ง สวรรค์ที่เห็นรำไรอยู่ข้างหน้า...

อนิจจาเอ๋ย น่าสงสาร พวกเขา-ซึ่งใครว่าจะไม่ใช่พวกเรา เป็นมนุษย์ผู้ตกอยู่ในห้วงหุบเหว ระหว่างสวรรค์สองสวรรค์ คือ สวรรค์ที่จากมา(สวนอีเดน) กับ สวรรค์ที่กำลังบ่ายหน้าจะไป(ดินแดนของพระเจ้า)  แต่ถ้าเขายังไม่เชื่อฟังพระเจ้าอยู่อีก เช่น เป็นคนขี้ลัก ชอบไปลักแอปเปิล หรือชอบลักทุเรียนกับลองกองสวนเพื่อนมากิน  ชีวิตข้างหน้าเขาอาจเจอกับอ็อปชันนรก  ทั้งนี้โดย แซ็ง ปิแยร์ (เซ็นต์ ปีเตอร์) จะทรงวินิจฉัยตัดสินในขั้นสุดท้าย   

ดังนั้น เมื่อ วอลแตร์ ปราชญ์แห่งยุคแสงสว่างทางปัญญา กล่าวว่า ความสุขของคนอยู่กับกาลปัจจุบัน  คำพูดอันฟังดูรื่นหู แสนจะสามัญธรรมดาสำหรับคนเราทุกวันนี้  ทว่าในสมัยโน้นถ้อยคำนี้คือวาจาอันอุบาทว์  เปล่งออกมาจากปากของคนอัปรีย์จัญไรแท้ๆเลย  เภทภัยอัปมงคลทั้งหลายจะรุมกินกลาหัวเขาแน่นอน  ชัวร์

อะไรจะรุนแรงขนาดนั้น  ไม่ได้-ไม่ได้ อุตริพูดออกมาได้อย่างไรว่า มนุษย์สามารถมีความสุขอยู่ได้กับกาลปัจจุบัน  เป็นไปไม่ได้-ไม่ได้  ก็ในเมื่อพวกเขาถูกพระเจ้าไล่ออกจากสวรรค์(สวนอีเดน)  พวกเขาซึ่งก็คือพวกเรา จะต้องยากลำบากแสนสาหัส  กว่าที่เขาจะได้กินเหงื่อจะต้องผุดที่หน้าผาก  อย่างนี้จึงจะถูก นอกนั้นผิดหมด ไม่ถูกซะอย่าง  ต่อเมื่อเชื่อฟังพระเจ้าดอก  จึงจะได้พบกับความสุข คือ ได้ไปสู่ดินแดนของพระเจ้า เมื่อเขา(คือเรา)ตายแล้ว

อันที่จริง การท้าทายพระเจ้าเริ่มมาก่อนศตวรรษที่ 18  สะสมมาตกผลึกในศตวรรษนั้น  เริ่มจากทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่ กาลิเลโอ หันกล้องส่องทางไกล  ซึ่งเขาสร้างกันไว้สำหรับดูเรือเดินทะเล ที่แล่นจากขอบฟ้าเข้ามายังท่าเรือ  ว่านั่นเรือกูใช่เปล่า  หรือส่องดูสาวอาบน้ำที่ฝั่งแม่น้ำด้านตรงข้าม หรืออะไรในพิกัดนั้น  แต่กาลิเลโอสัปดนมากเลย อุตริมนุษย์ ดันหันกล้องส่องขึ้นดูบนฟ้า  โอ้โฮ อะไรก็ไม่รู้ รูเบ้อเร่อเลย  พระเจ้าหรือคนของพระเจ้าว่าไว้ผิดหมด  ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลกซะหน่อย  และบนดวงจันทร์ก็มีภูเขาด้วย  ความรู้อันเกิดจากการสังเกตวัตถุบนฟากฟ้า ล้วนแต่ขัดกับที่สอนกันไว้ในคัมภีร์รวมทั้งในบทคำสอนที่นักบุญดังๆท่านว่าไว้  กาลิเลโอ ถูกศาสนจักรลงโทษจำคุก 

อีกกรณีหนึ่ง เล่ากันว่า เรอเน เดส์การ์ต นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศส  ผู้ที่นัยว่าจะเป็นเจ้าของสำนวน ฉันคิด ฉันจึง เป็น-อยู่-คือ  (I think, therefore I am.)  ท่านผู้นี้พัฒนาแนวความคิด แยกส่วนจิตวิญญาณออกเสียจากร่างกายมนุษย์  เขาว่ากันว่า ท่านไม่อยากมีเรื่องกับพระเจ้า และท่านก็ยังจำกรณีของ กาลิเลโอ ได้อยู่  ครั้นแยกส่วนที่เป็นจิตวิญญาณออกเสียจากร่างกายคนแล้ว  เดส์การ์ต ก็ยกจิตวิญญาณถวายพระเจ้าไป  เพราะฉะนั้น เวลาท่านพูดเรื่องมนุษย์ ท่านก็พูดถึงคนในส่วนที่เป็นเนื้อหนังมังสา(รวมทั้งสมอง)  ส่วนจิตวิญญาณท่านว่าท่านไม่ได้แตะต้อง เพราะเป็นเรื่องของพระเจ้า

แนวคิดแยกจิตกายออกจากกันของ เดส์การ์ต นี้ มีอิทธิพลพอสมควร สังเกตได้จากการวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนปัจจุบัน(=แผนตะวันตก)  ที่จะวิเคราะห์อาการร่างกายของคนอย่างเดียว  และบำบัดรักษากันไปตามอาการของกาย  เพราะได้รับการสั่งสอนอบรมมาเรื่องกายเป็นหลัก  ถึงแม้ระยะหลังจะเริ่มปรับความคิดไปบ้าง  แต่แนวทางใหญ่ยังคงยึดกายเป็นสำคัญ  ไม่เชื่อลองเดินไปดูตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(เดิมเรียก อนามัยตำบล)  ดูซิว่า มีแผนกเกี่ยวกับจิตวิญญาณบ้างหรือไม่

คนของพระเจ้า ที่ครอบงำสังคมฝรั่งเศสอยู่นั้น  นานๆเข้าก็ชักมีความประพฤติปฏิบัติ  ที่หาเรื่องให้พระเจ้า  เช่น มีการคอรัปชันบาปบุญ เป็นต้น  ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องศาสนาดีพอที่จะใช้ศัพท์แสงได้ถูกต้อง  แต่มีเค้าทำนองนี้ครับ  ผู้ที่ละเมิดโองการของพระเจ้า กระทำการอันเป็นผิดเป็นบาป  ถ้านำเงินไปให้นักบวช  นักบวชก็จะแก้บาปให้ อะไรประมาณนั้น  ซึ่งเรื่องนี้ปฏิบัติกันเกร่อ  ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกระทำงุบงิบ  เป็นการคอรัปชันอย่างเป็นระบบและเปิดเผย  เป็นที่เอือมระอาและสร้างความเสื่อมศรัทธาในหมู่ชน

เท่าที่พรรณนามาหลายย่อหน้าข้างบน  ก็มีเจตนาเสนอแง่มุมของอิทธิพลครอบงำของศาสนาคาธอลิคเวอร์ชันเก่า ต่อสังคมฝรั่งเศสอย่างย่นย่อ  ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะทำสำเร็จหรือไม่  อย่างไรก็ดี เพื่อพักอารมณ์ก่อนที่จะว่ากันต่อไป  โปรดอ่านข้อความ คำคัด ต่อไปนี้

...สำหรับความรู้สึกของข้าพเจ้า  ปารีสเป็นนครที่งามตระการตาน่าสนใจที่สุด  ข้าพเจ้าชอบความงาม  ชอบชาวฝรั่งเศส  และชอบปีศาจของกรุงปารีส  ถ้าจะต้องการรู้จักนครนี้จริง ๆ แล้ว  ท่านจะต้องรู้พงศาวดารและอักษรศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ที่ได้สร้างสมกันมาแล้วเสียก่อน  ดังนั้น เมื่อจะเดินไปไหน ก็ไม่เปลี่ยวเปล่าอยู่คนเดียว  เดินไปตามถนนรูย์ซางเตอนอเร ซึ่งเป็นที่อยู่ของดางต็อง  และเป็นที่ ที่โรเบสปิแยร์ ปิดประกาศทำการฆ่าคนด้วยเครื่องกิโยตินอยู่นับพัน...

ผู้เขียน ไม่กล้าตั้งคำถามอะไรเอ่ย เอากับท่านผู้อ่านหรอกว่า  คำคัดดังกล่าวมาจากหนังสือชื่ออะไร  เพราะเกรงว่าท่านผู้อ่านทั้งหลาย จะตอบถูกเป็นเสียงเดียวกันว่าคัดมาจาก ละครแห่งชีวิต  ของ ม.จ.อากาศดำเกิง

ถ้าเราจะถือว่า การปิดประกาศของโรเบสปิแยร์ และเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นเรื่องประจักษ์ตาอยู่บนผิวน้ำ  การวิวาทกับศาสนาและบุคลากรในศาสนา  ก็จะเป็นคลื่นใต้น้ำ ที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง  สถาบันแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้ แต่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดหรือเคมบริดจ์  ได้วิจัยเรื่องหนังสือโป้ที่ระบาดหนักในศตวรรษที่ 18 ในประเทศฝรั่งเศส  แล้วพบว่า ตัวละครเอกในเอกสารเหล่านั้น แทบจะร้อยทั้งร้อย ล้วนเป็นนักบวชทั้งสิ้น  ข้อมูลนี้ผู้เขียนคิดว่า ท่านผู้อ่านที่ต้องการทราบรายละเอียด ใช้เวลาสืบค้นไม่นานก็จะพบ และเป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ซึ่งก็จะเป็นการสะดวกแก่ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ 

ประเด็นเรื่องความสว่างทางอารมณ์ ของผู้คนในศตวรรษที่ 18 นั้น  ควบคู่แบบพันกันมาเหมือนเถาแตง กับความสว่างทางปัญญา  เพียงแต่ว่ารัฐศาสตร์การเมือง ท่านจะไม่พูดเรื่องความสว่างทางอารมณ์ 

และเคยมีการวิจัยเนื้อหาการอ่านของคนฝรั่งเศสศตวรรษที่ 18  เข้าใจว่า มหาวิทยาลัยอเมริกันได้ทำไว้  ถ้าไม่ใช่มหาวิทยาล้ยเยล ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟฟอร์เนีย ที่เบิร์คเลย์  เพราะทั้งสองแหล่งนี้สะสมเอกสารประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ไว้เป็นเอกกว่าใครในอเมริกา  โดยเฉพาะที่เบิร์คเลย์ ได้สะสมเอกสารต้นฉบับอันเนื่องด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศส ชนิดที่หาอ่านที่ฝรั่งเศสไม่ได้  เอกสารชุดนั้นชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งหนีตายจากการปฏิวัติ ได้ขนไปกับตัว ต่อมาเอกสารชุดนั้นก็ตกทอดอยู่ในอเมริกา  แล้วในที่สุด มหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ ได้ซื้อไว้ทั้งชุด  งานวิจัยของอเมริกันระบุว่า คนฝรั่งเศสรุ่นศตวรรษที่ 18 ที่เป็นคนอ่านหนังสือ พากันอ่านหนังสือเรทอาร์เรทเอ็กซ์ทั้งหลาย ไม่แพ้งานปรัชญาการเมือง  และเรียกหนังสือลามกอนาจารนั้นว่า หนังสือปรัชญา  เช่นเดียวกับงานของ วอลแตร์ ดิเดโร ฯลฯ   

ความสว่างทางอารมณ์หมายความว่าอย่างไร  โดยรูปธรรมจะแปลว่า คนเราสามารถมีความรู้สึกเพลิดเพลินกับเพศรสได้ โดยไม่เป็นผิดเป็นบาป  ซึ่งแต่เดิมนั้นลัทธิศาสนาบัญชาไว้ว่า กิจกรรมทางเพศจะถูกครรลองคลองธรรม ต่อเมื่อทำไปเพื่อให้กำเนิดบุตร  เพราะฉะนั้น คำว่า enjoy sex คือคำของนรกชัดๆ  ชัวร์

หนังสืออนาจาร-ใช้คำตามที่เขาชอบใช้กัน  ถ้าจะพูดให้เข้ากับทางของเรา จะเรียกว่าหนังสือสว่างอารมณ์  เหตุหนึ่งที่เป็นอนาจาร ไม่ใช่เพราะมีข้อเขียนและภาพประกอบ (สมัยก่อน เข้าใจว่าจะเป็นภาพแกะไม้หรือแกะโลหะ แล้วพิมพ์) เร้าอารมณ์เพศโดยเฉพาะ  แต่ อนาจาร เพราะกิจกรรมทางเพศที่หนังสือเหล่านั้นนำเสนอ  ไม่มีตัวละครใดมีเจตนาจะทำตามคัมภีร์ คือ เพื่อกำเนิดบุตรธิดา  แต่ทำกันไปเพลินๆอย่างนั้นเอง   

และก็น่าประหลาดอยู่อย่าง ที่คนสมัยนั้น เรียกหนังสือชนิดอ่านแบบถือมือเดียว(one hand read) นี้ ว่า หนังสือปรัชญา เช่นเดียวกับงานของ วอลแตร์ ดิเดโร ฯลฯ  แต่กระนั้นก็ตาม นักปรัชญา นักคิด นักเขียน ชาวฝรั่งเศส เช่น วอลแตร์ ก็จะมีงานเขียนแนว สว่างอารมณ์  ทิ้งไว้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี  จนแทบจะกลายเป็นจารีตปฏิบัติ ของนักปรัชญาฝรั่งเศสหรือนักเขียนดังๆ ที่จะต้องเขียนหนังสือโป้ทิ้งไว้สักเล่มสองเล่ม 

เกี่ยวกับประเด็นนี้  ครั้นผู้เขียนคิดตลบไปตลบมาหลายๆตลบ ก็พบความสว่างทางปัญญาเกี่ยวกับหนังสือสว่างในอารมณ์ ว่าการที่คนโบราณท่านจัดเข้าไว้เป็นประเภท ปรัชญา เช่นเดียวกันนั้น ไม่น่าแปลกประหลาดอะไร  เพราะทางตะวันออกโดยเฉพาะที่อินเดีย ตำรากามสูตร (कामसूत्र)  ของ
วาสยายนะ( वात्स्यायन) ก็ดี  ตำราและคัมภีร์ที่เข้าข่าย กามศาสตร์
( कामशास्त्र )ทั้งหลาย ก็ดี  คนสมัยปัจจุบันนี้ และเดาๆเอาว่าคนโบราณก็เช่นเดียวกัน(อาจเดาผิด)  ส่วนมากก็จะ อ่านเอาปรัชญา กันทั้งนั้น  อ่านเอาอารมณ์เห็นจะไม่ไหวหรอกครับ  เพราะว่า อ่านแล้วมันจะง่วงนอนเสียก่อน...

[ยังมีต่อครับ]

ตอน 3

พิฆาตคาธอลิคกันอย่างไรบ้าง
-ระหว่างปฏิวัติฝรั่งเศส

ครอบงำแผ่นดินที่เป็นประเทศฝรั่งเศสปัจจุบันมานาน กว่าหนึ่งสหัสวรรษ(1 พันกว่าปี)  ศาสนาคาธอลิคเวอร์ชันเก่าถึงกาลอับเฉา เนื่องจากความประพฤติของคนในศาสนาเอง ที่สร้างความเสื่อมศรัทธา  ตลอดจนผู้คนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามต่อคำสอนหลักๆของศาสนาคาธอลิค  กระทั่งเกิดการแอนตี้ศาสนปฏิบัติอย่างกว้างขวางในหมู่คนทุกฐานันดร รวมทั้งมีการเผยแพร่เอกสารอนาจาร ที่มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นบุคลากรในศาสนาคาธอลิคโดยตรง

นักปราชญ์ยุคแสงสว่างทางปัญญา เช่น วอลแตร์ ดิเดโรต์ และม็งเตสกิเออ เห็นว่าศาสนาคาธอลิคก่อความแตกแยกในสังคม สร้างความมืดมนอนธกาล เป็นไสยศาสตร์ที่ไร้เหตุผล ส่งเสริมความโง่เง่า ไม่สอนให้คนรู้จักคิด  และไร้ความอดทนต่อความแตกต่างทางความคิด  

นักปฏิวัติผู้หนึ่ง  ท่านเคาต์ มิราโบ ซึ่งเป็นคนระดับอำมาตย์ รู้จักหาเงินง่ายๆใช้ และขี้หลี ในที่สุดก็ตายด้วยโรคบุรุษ(ซิฟิลิส)  แต่ท่านได้รับเลือกเป็นตัวแทนฐานันดรที่สาม(พวกโคกระบือและสลัมด็อก) มาประชุมสภาฐานันดรในปี 1789  ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เอง เพราะว่าผู้แทนฐานันดรที่สามที่เป็นโคกระบือแท้ๆหามีไม่  เนื่องจากโคกระบือแท้ท่านมัวแต่เข้าป่าหาหน่อไม้  หรือไม่ท่านก็ไปเก็บเห็ด  ตัวผู้แทนจึงเป็นคนพอมีการศึกษา อ่านหนังสือแตก ปลาแดกปลาร้าปลาเจ่าน้ำบูดูไม่รู้จัก และ ”แหล็กม่ายล๊าย-มายล่าย” เช่นประมาณ ตัวผู้เขียนเอง เป็นต้น (แต่ว่า ปลาเจ่ากับน้ำบูดู รู้จักและรับประทานได้-ชอบครับ ส่วนน้ำพริกปลาร้า-ยกให้โรเบสปิแยร์ไปละกัน ขอเป็นน้ำชุบ=น้ำพริกกะปิ แทน)  ท่านเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “déchristianiser” = “ลบล้างศาสนาคริสต์  ท่านผู้นั้นกล่าวว่า พวกท่านจะไม่บรรลุผลสำเร็จอะไรเลย  ถ้าพวกท่านไม่ลบล้างศาสนาคริสต์ ออกเสียจากการปฏิวัติ  « Vous n'arriverez à rien si vous ne déchristianisez la Révolution. »

การพิฆาตศาสนาคาธอลิคในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส  มีผลยั่งยืนและคงทนมาจนทุกวันนี้  ระหว่างเป็นนักเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ผู้เขียนมีมิตรชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวเกษตรกร อยู่ในถิ่นที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม  เมื่อไปพักที่บ้านชนบทของเขา  พบว่า ที่ชนบทแห่งนั้นวันอาทิตย์คนก็ยังไปโบสถ์ ตรึม!  ผู้เขียนก็ได้ไปโบสถ์ในเมืองเล็กๆ อันเป็นอำเภอบ้านเกิดของเพื่อน  คุณพ่อคุณแม่ของเขาอยู่ที่นั่น  กรณีของครอบครัวเพื่อนผู้เขียนนี้ เป็นกรณีส่วนน้อยในฝรั่งเศสยุคใหม่     

คนฝรั่งเศสปัจจุบันนั้น  โดยส่วนมาก ลึกๆถ้าเราถามเขาได้ และเขาไม่ตำหนิเอา  เขาจะบอกว่า เขาอยู่ในวัฒนธรรมคาธอลิค แต่เขา มิได้ ปฏิบัติศาสนา  คล้ายๆกับพวกปัญญาชนคนอเมริกันปัจจุบัน เฉพาะพวกปัญญาชนเท่านั้นนะครับ  ที่เขาจะทำท่าดัดจริตเชิดจมูกนึกว่าเท่(ซึ่งบางทีก็เท่จริง) เผยวาจา ว่า I don’t do religion.”  

ยกขึ้นมาเทียบเคียง ก็เพื่อจะสรุปตัดกันให้เห็นว่าเกี่ยวกับศาสนาแล้ว คนฝรั่งเศสส่วนมาก ในเวลานี้ มีทัศนะคติคล้ายพวกปัญญาชนคนอเมริกัน ส่วนน้อย ในขณะนี้

ปฏิบัติการแอนตี้ศาสนาคาธอลิคอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ  เริ่มที่ปารีส เมื่อประธานอบต.ปารีส ชื่อนายโชแมตต์ ซึ่งมีผลงานการเมืองลึกซึ้งยาวนาน รวมทั้งเคยไปร่วมรบสงครามอิสรภาพอเมริกันมาก่อน ได้ออกประกาศฉบับแล้วฉบับเล่า หลังเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม 1792 (วันยึดวังตุยเลอรี)  อันเป็นวันสำคัญอันดับสองในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสรองจาก 14 กรกฎาคม 1789 (วันทำลายคุกบาสตีย์)  ประกาศของนายโชแมตต์ล้วนเป็นประกาศที่ปฏิปักษ์ต่อศาสนาคาธอลิค อย่างชัดเจนและเป็นทางการ เช่น ห้ามบาดหลวงในเครื่องแต่งกายตามจารีตศาสนา ออกมาเดินเพ่นพ่านนอกศาสนสถาน  ห้ามจัดงานหรือกระบวนแห่แหนอันเนื่องด้วยศาสนาในที่สาธารณะ  ให้ยึดทองเหลืองตามวัดวาอารามที่ปารีส นำมาใช้ในราชการสงคราม (เช่น เอามาหลอมแล้วหล่อปืนใหญ่)  เพราะฝรั่งเศสกำลังมีสงครามกับออสเตรีย ที่ยกทัพมาช่วยหลุยส์ที่ 16 และมารี อังตัวแนตต์

ต่อมา เมื่อนายโชแมตต์ ในฐานะผู้ตรวจการ สภานิติบัญญัติ เดินทางไปตรวจการที่จังหวัดโกต-ดอร์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ผู้นำท้องถิ่นที่นั่นก็ออกประกาศ ดังนี้ ห้ามทำกิจกรรมทางศาสนานอกศาสนสถาน  บังคับให้บาดหลวงที่กินเงินเดือนรัฐบาลที่นั่น แต่งงานมีครอบครัว  ห้ามมีเครื่องหมายทางศาสนาในขบวนแห่ศพ(เช่น เดินถือไม้กางเขน เป็นต้น)  ที่โด่งดังเป็นพิเศษ ได้แก่คำสั่งให้เขียนข้อความ ประกาศไว้หน้าสุสานทั้งหลายว่า “ความตาย คือ การนอนหลับนิรันดร์”  « La mort est un éternel sommeil »

ครั้นไปทำหน้าที่ผู้ตรวจการ สภานิติบัญญัติ ที่เมืองลิย็อง  นายโชแมตต์ ก็ได้ปฏิบัติการแอนตี้ศาสนาคาธอลิคต่อไป ด้วยการจัดขบวนแห่รำลึกถึงความตายของนักปฏิวัติชื่อดังชาวลิย็อง โดยจัดให้พวกโคกระบือผู้หนึ่ง แต่งกายเลียนแบบพระราชาคณะคาธอลิค  สวมหมวกยอดแหลมแบบที่เราเห็นในพิธีสำคัญ พร้อมกับถือคฑาเครื่องสูง  เดินนำหน้าลาตัวหนึ่ง เป็นลาจริงๆ ที่นำมาแต่งตัวเลียนแบบพระสันตปาปา  สวมหมวกยอดแหลม ที่คอห้อยถ้วยที่ใช้ในพิธีศาสนา ที่หางผูกพระคัมภีร์ไบเบิลมาเล่มหนึ่ง  และในงานเดียวกันที่ลิย็อง  ผู้ตรวจการ สภานิติบัญญัติอีกผู้หนึ่ง ด้วยความร่วมมือจากกองทัพปฏิวัติ  พากันไปปล้นเอาของมีค่าในโบสถ์ และสั่งปิดโบสถ์คาธอลิคหลายแห่งที่ลิย็อง 

เหตุการณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง ในความพยายามที่จะลบล้างความทรงจำ เกี่ยวกับศาสนาคาธอลิคออกเสียจากความจำของชาวฝรั่งเศส  ได้แก่การที่คณะปฏิวัติเปลี่ยนปฏิทิน จากปฏิทินเกรกอเรียนอันเป็นปฏิทินสากลที่เรารู้จักกันทุกวันนี้  เป็นปฏิทินที่คิดขึ้นใหม่ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส  ซึ่งอิงอยู่กับระบบเมตริก  เรียกชื่อว่า ปฏิทินการปฏิวัติฝรั่งเศส (calendrier révolutionnaire français)

ปฏิทินใหม่ประกาศใช้ตามพ.ร.ก.(กฤษฎีกา)ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 1793  ประกาศว่าจะยกเลิกยุคแห่งความงี่เง่า หันมาใช้ปฏิทินใหม่เพื่อ ยุคของคนฝรั่งเศส  โดยกำหนดให้วันที่ 22 กันยายน 1792 ที่ผ่านมา เป็นปีที่หนึ่งแห่งสาธารณรัฐที่หนึ่งของฝรั่งเศส (วันที่ 22 กันยายน เป็นวันที่ผ่านมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 1789)

ตามปฏิทินใหม่ แบ่งเดือนออกเป็นสามส่วนๆละสิบวัน ชื่อเดือนตั้งชื่อใหม่หมด สัปดาห์ซึ่งมี 10 วันตามระบบเมตริกเรียกว่า เด กาด  วันแต่ละวันมีชื่อใหม่เช่น วันแรกของแต่ละสัปดาห์(เด กาด)ชื่อว่า วัน ปริ มิ ดี  วันที่สองเรียกว่า ดู โอ ดี  วันที่สามเรียก ตริ ดี เป็นต้น

ชื่อเดือน ถ้าเป็นเดือนในฤดูร้อนจะลงท้ายด้วย อิ โดร์ เช่น เดือนแตมิโดร์ (เทียบของเดิม = 19 กรกฎา-17 สิงหา)  ถ้าเป็นเดือนในฤดูใบไม้ร่วงจะลงท้ายด้วย อาล เช่น เดือนฟลอเร-อาล (เทียบของเดิม = 20 เมษายน 19 พฤษภาคม)  เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ตามปฏิทินใหม่นี้ วันสำคัญทางศาสนาคาธอลิค เช่น วันคริสมาสต์ วันอีสเตอร์ ฯลฯ จะไม่มีปรากฏ  ฝรั่งเศสใช้ปฏิทินนี้เป็นเวลา 14 ปี มายกเลิกสมัย นะโปเลียน ให้หันกลับไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียนตามเดิม  อย่างไรก็ดี ประกาศ คำสั่ง และเอกสารระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสตลอดทั้ง 14 ปีนั้น  ล้วนใช้วันเดือนปีตามปฏิทินแห่งการปฏิวัติทั้งสิ้น  ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเอกสารต้นฉบับ จะต้องเรียนรู้ที่จะเทียบศักราชให้ถูกต้อง

เนื่องจากเราไม่ได้กำลังช่วยกันทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้  เพียงแต่ต้องการเขียนเล่นๆเพื่ออ่านกันเล่นๆสักสี่ซ้าห้าหน้าเท่านั้นเอง  ก็จะขอสรุปละกัลลล...ว่า ศาสนาคาธอลิคถูกกระทำอะไรและอย่างไรบ้าง ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส
  • นักบวชถูกฆ่า เช่น การสังหารหมู่บาทหลวงและชี ด้วยการล่ามไว้ด้วยกันเป็นพวง แล้วต้อนขึ้นเรือท้องแบน  และนำเรือไปเจาะให้จมกลางแม่น้ำลัวร์ ที่หน้าเมืองนังต์  ทั้งนี้ด้วยการสั่งการของผู้ตรวจการรัฐสภา นายฌัง-บัปติสต์ การิเย (Jean-Baptiste Carrier)  โดยมีผู้ช่วยภาคปฏิบัติเป็นคนที่เคยอยู่ในธุรกิจค้าทาส  ที่ไปจับคนอัฟริกันร้อยเป็นพวง แล้วใส่เรือไปขายในทวีปอเมริกา  การถ่วงน้ำกระทำหลายครั้ง(ประมาณ 7-11 ครั้ง) คุณฌัง-บัปติสต์ การิเย เรียกการกระทำนี้ว่า การอาบอบนวดแห่งชาติ (national bath) เหยื่อของการถ่วงน้ำประมาณว่า มีราว 5,000 คน
·        เนรเทศบาทหลวงที่ไม่ยอมสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อการปฏิวัติ  โดยเนรเทศไปยังดินแดนกิยานา อันเป็นดินแดนฝรั่งเศสในอเมริกาใต้(จังหวัดกุยแยน ของฝรั่งเศสปัจจุบัน อยู่ติดทิศเหนือประเทศบราซิล)  และไปยังเกาะนูแวล กาลิโดนี ดินแดนฝรั่งเศสในปาซิฟิคตอนล่าง อยู่ทางตะวันออกนอกฝั่งออสเตรเลีย  ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ  La Nouvelle-Calédonie ของฝรั่งเศสปัจจุบัน 
·        บาทหลวงและนักบวช ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อการปฏิวัติ ถูกบังคับให้แต่งงานมีครอบครัว
·        ประกาศขายธรณีสงฆ์ และปิดโบสถ์จำนวนมากทั่วประเทศฝรั่งเศส
·        อบต.ปารีส สั่งปิดโบสถ์ทั้งหมดในปารีส เมื่อ 23 พฤศจิกายน 1793  
·        ให้นำระฆังโบสถ์ มาหลอมเพื่อนำไปทำปืนใหญ่ สู้ศึกออสเตรีย ตามพ.ร.ก. 26 มกราคม 1794
·        ให้เผาพระคัมภีร์ และหนังสือศาสนา
·        ให้ยกเลิกวันนักขัตฤกษ์ทางศาสนา
·        ยกเลิกปฏิทินเกรกอเรียน สร้างปฏิทินแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมาใช้แทน ซึ่งหมายความว่า วันอาทิตย์ อันเป็นวันของพระเจ้า จะไม่มีปรากฏในปฏิทินอีกต่อไป
·        ให้ทำลายรูปเคารพ
·        ให้หลอมเครื่องเงิน ที่ใช้ในพิธีศาสนา
·        ให้ถือวันนักขัตฤกษ์ทางแพ่ง แทนวันนักขัตฤกษ์ทางศาสนา
·        ส่งเสริมศาสนาใหม่ ลัทธิบูชาเหตุผล
·        ส่งเสริมศาสนาใหม่ ลัทธิบูชาตัวตนยิ่งใหญ่

สรุปเป็นรูปธรรมคร่าวๆได้ว่า  ในช่วงประมาณสิบปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส  บาทหลวงจำนวนประมาณ 20,000 คน ถูกบังคับให้ละสมณเพศ  อีกประมาณ 6,000 ถึง 9,000 คนถูกบังคับให้แต่งงานมีครอบครัว  นักบวชประมาณ 30,000 คน หนีออกนอกประเทศฝรั่งเศส  และนักบวชที่ถูกสังหารมีนับพันคน  เช่น สังหารด้วยการยิงทิ้งหมู่ หรือมัดเข้าด้วยกันแล้วจับใส่เรือท้องแบนเจาะเรือให้จมลงในแม่น้ำลัวร์ เป็นต้น

แล้วในท่ามกลางความดุเดือดเลือดพล่าน ร้อนระอุของการปฏิวัติ โรเบสปิแยร์  ก็เสนอความคิดเรื่องศาสนาใหม่  มีเจตนาจะให้เป็นศาสนาประจำประเทศฝรั่งเศสโฉมหน้าใหม่ต่อไป  เรียกว่า “ลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่”  Culte de l'Être suprême หรือ the Supreme Being (ภาษาฝรั่งเศสใช้อักษรตัวใหญ่ที่ E  ส่วน s ใช้อักษรตัวเล็ก  แต่ในภาษาอังกฤษจะเขียนอักขระตัวใหญ่ ทั้ง S และ B  เพราะว่าไวยากรณ์สองภาษานี้ ไม่เหมือนกัน)

[ยังมีต่อครับ]

ตอน 4

กว่าเงิน จะแทนพระเจ้าได้...อย่างไร้รอยตะเข็บ

กว่าที่เงิน จะสามารถทดแทนพระเจ้าได้ เกือบสมบูรณ์แบบและแทบไร้รอยตะเข็บ  ต้องการเวลาสักระยะหนึ่ง เช่นประมาณ 200 ปีเศษ เป็นต้น  เพราะฉะนั้น นักปฏิวัติในการปฏิวัติฝรั่งเศสผู้กำลังห้ำหั่นพิฆาตพระเจ้า จึงจำเป็นต้องหาสิ่งใหม่หรือเทพเจ้าใหม่ มาทดแทนพระเจ้าองค์เดิม 

ความจำเป็นดังกล่าวนี้ เข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ  เพราะไม่ปรากฏว่ามีใครไปบังคับให้นักปฏิวัติหาสิ่งใหม่หรือพระเจ้าองค์ใหม่  และนักปฏิวัติเหล่านั้น ก็ไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากนายทุนนายเงินคนใดมา เพื่อให้หาสิ่งใหม่หรือพระเจ้าองค์ใหม่ แบบที่      เลนิน รับทรัพย์จากพวกเยอรมันไปก่อการปฏิวัติรัสเซีย 

ความเห็นของผู้เขียนคิดว่า  เนื่องจากเข้าใจกันแทบจะทุกฝ่ายในฝรั่งเศสเวลานั้น  อันเนื่องจากปรัชญาของ เดส์การ์ต ซึ่งแยกมนุษย์ออกเป็นกายกับจิตวิญญาณ ว่าพระเจ้าเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มิใช่กายมนุษย์  แต่มนุษย์จะสมบูรณ์ได้ก็ต้องประกอบด้วยทั้งสองภาค  นักปฏิวัติระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงรู้สึกว่า เมื่อลบล้างศาสนาคาธอลิคเสียจากจิตวิญญาณมนษย์  ก็จำเป็นต้องหาบางสิ่งบางอย่างมาใส่ไว้ในภาคส่วนที่เป็นจิตวิญญาณของคน  เพื่อให้การปฏิวัติดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ 

ความคิดเรื่องนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางไฟบัลลัยกัลป์ ที่กำลังเผาไหม้สังคมฝรั่งเศสในเวลา  และก็ไม่ได้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของ โรเบสปิแยร์ แต่เพียงผู้เดียว เพราะมีผู้เสนอพระเจ้าองค์ใหม่ประกวดประขันกันอยู่ ไม่ได้มีเฉพาะแต่ “แลต ซุปแปร็ม” (l’Être suprême) หรือ “ซุปปรีม บีอิ้ง” (Supreme Being) หรือลัทธิ “ตัวตนยิ่งใหญ่” ที่ โรเบสปิแยร์ ส่งเข้าประกวดเพียงรายเดียว

ลัทธิสำคัญที่เกิดก่อน “ตัวตนยิ่งใหญ่” ของ โรเบสปิแยร์ ได้แก่ ลัทธิเหตุผล ของ ฌาค เอแบร์ และของนักแอนตี้ศาสนา นายโชแมตต์ ดังเรารู้จักผลงานของเขาแล้วหลายๆเรื่อง เช่น การผูกร้อยบาทหลวงและแม่ชีเข้าด้วยกันเป็นพวง แล้วนำขึ้นเรือไม่ถ่วงน้ำกลางแม่น้ำลัวร์ หน้าเมืองนังต์ เป็นต้น  ทำหยั่งกะถ่วงแม่นาคในคลองพระโขนง  ต่างกันตรงที่ถ่วงแม่นาค ตามที่ดูในหนัง เณรจิ่วทำพอ“เป็นพิธี”  ท่านร่ายคาถาเรียกวิญญาณมาใส่หม้อปักเฉลวถ่วงน้ำ  แต่กรณีของนายโชแมตต์ ท่านเล่นนำบาทหลวงและแม่ชีที่เป็นคนจริงๆมาถ่วงน้ำ จัดหนักแบบสดๆ  หม้อไหกะลาแตก ไม่ต้อง

ซึ่งในการถ่วงน้ำครั้งแรก  นักบวชสามคนโชคดีแก้เชือกหลุด แล้วว่ายน้ำจนรอดชีวิต  บังเอิญว่าเรือรบฝรั่งเศสชื่อเรือ L'Imposant  มาลอยเรืออยู่ในแม่น้ำลัวร์  กะลาสีเรือได้ช่วยชีวิตคนทั้งสาม ให้อาหารและให้ผ้าห่ม  แต่ต่อมากัปตันเรือนายลาฟลูรี สั่งการให้นำคนทั้งสามไปส่งตัวกับทางการคณะปฏิวัติประจำเมืองนังต์  ซึ่งทางการคณะปฏิวัติรับตัวไว้  และได้นำคนทั้งสามไปผูกร้อยเข้ากับนักบวชพวงใหม่ ที่ถูกนำไปถ่วงน้ำในค่ำคืนถัดมา  คนทั้งสามจมหายไปพร้อมกับพวงใหม่นี้ และไม่มีใครทราบเรื่องราวอีกเลย

อนึ่ง ก่อนที่จะถูกท่านผู้อ่านบางท่าน นึกตำหนิว่าเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ไม่เห็นมีคติเตือนใจอะไรสักนิด  ก็จะใช้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจจากประวัติศาสตร์เสียเลย  เพื่อเตือนสติให้เรารู้ว่า ความซวยมีจริง และคนซวยก็เช่นเดียวกับความซวย-คือ มีจริง   

นักปฏิวัติสายนายฌาค-เรอเน เอแบร์ และนายโชแมตต์ ซึ่งอยู่คนละมุ้งกับ โรเบสปิแยร์  เสนอความเชื่อใหม่ที่ปฏิเสธพระเจ้าและเทพเจ้า อิงแนวปรัชญาของ ดิเดโร เรื่องแนวทางธรรมชาติ โดยเสนอลัทธิเหตุผลเข้ามาแทนการนับถือศาสนาคาธอลิค  ผู้เขียนจะพยายามสรุปเขียนเท่าที่สติปัญญาจะอำนวย ตามที่ค้นคว้าได้ -เพราะว่า ได้นำแม่ชีกับบาทหลวงไปถ่วงน้ำมากะมือตัวเองซะเมื่อไหร่ ค้นที่เขาว่าไว้มาเล่าต่อทั้งนั้น  ลัทธิเหตุผลท่านว่า มนุษย์จะดีสมบูรณ์ได้ด้วย สัจจะและ เสรีภาพ  ทั้งนี้โดยมี เหตุผล เป็นทางผ่านให้เข้าถึงทั้งสัจจะและเสรีภาพนั้น  และท่านเห็นว่า คนมีเหตุผลจะเป็นพลเมืองในอุดมคติ ของประเทศฝรั่งเศสโฉมหน้าใหม่ ซึ่งผู้เขียนอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ  เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านบางท่าน

อย่างไรก็ดี นายฌาค-เรอเน เอแบร์ มีสไตล์การพูดปราศรัยทางการเมือง  แบบพูดคำด่าคำ  อีกนัยหนึ่ง “วาจาเหมือนหมาสะบัดขี้”   จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจมวลชนประเภทสลัมด็อก แต่ก็ไม่ใช่ถูกใจไปเสียหมดทุกคน

ตรงนี้ ขอแทรก แบบฝึกหัด สำหรับท่านผู้อ่าน  สมมติว่า 1) ถ้าท่านจะต้องอธิบายว่า คนมีเหตุผลคือคนเช่นไร  2) โดยให้พูดแค่สองประโยค ถามว่าท่านจะพูดอย่างไรดี [--เฉลยในอีกสี่ย่อหน้าถัดไป ครับ]

การที่จะให้คนทั่วไป เช่น ตัวผู้เขียนเอง เป็นต้น ซึ่งตลอดชีวิตมัวแต่เข้าป่าหาหน่อไม้ หรือไม่ก็ไปเก็บเห็ด หรือคุ้ยหาของดีๆอยู่ตามกองขยะในเมือง  การที่จะเข้าใจลัทธิเหตุผลได้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เพราะฉะนั้น ม็อบของลัทธิเหตุผล  จึงมีการแสดงออกที่ไม่ใคร่จะสมเหตุสมผล เช่น ปลุกระดมกันไปบุกปล้นเอาทรัพย์สินของมีค่าตามโบสถ์ต่างๆ เป็นต้น  การปฏิบัติตามลัทธิเหตุผลนอกจากปล้นวัดแล้ว ก็มีการจัดขบวนแห่แหน คล้ายๆมีงานคานาวาล อันเป็นประเพณีที่หาเหตุผลไม่เจอ มาตั้งแต่ยุคกลาง เพื่อเฉลิมฉลองวีรชนแห่งการปฏิวัติ แทนการฉลองนักบุญในศาสนาคาธอลิค  โบสถ์แซ็งต์ปอล-แซ็งต์หลุยส์ ในปารีส ถูกแปลงมาใช้งานเป็นศาสนสถานสำหรับลัทธินี้  แล้วในที่สุดโดยไม่สมเหตุสมผล ก็จัดให้สาวงามนักแสดง มาแต่งตัวเป็น เทพแห่งเหตุผล  แล้วให้คนสักการะบูชา  และต่อมาก็จัดงานใหญ่จัดขึ้นในโบสถ์โนตเตรอะดาม ซึ่งก็ได้ไล่นักบวชคาธอลิค ออกไปเสียจากวัด  แล้วแปลงชื่อโบสถ์นั้นเรียกเสียใหม่ว่า เทวาลัยแห่งเหตุผล  ซึ่งก็ไม่วายจะต้องอ้างเทพ-อย่างไร้เหตุผล      

ปฏิบัติการปล้นวัดแพร่สะพัดเป็นไฟลามทุ่ง ออกจากปารีสสู่เขตชนบท  เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำสนุกมือสำหรับม็อบ เข้าใจง่าย ทำแล้วรวยเล็กๆเหมือนถูกหวย ได้ของที่ระลึกติดไม้ติดมือ  สานุศิษย์ของลัทธิเหตุผล ซึ่งเป็นม็อบของนายเอแบร์และพลพรรค พากันปล้นสะดมศาสนสถานตามอำเภอใจทั่วประเทศฝรั่งเศส  และกระทำการบัดสีบัดเถลิงกับบาดหลวงและชีหลายๆแห่ง  การกระทำดังกล่าวนี้ทำให้ โรเบสปิแยร์ ผู้ซึ่งยังเชื่อเรื่องพระเจ้า ไม่พอใจ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขออนุญาตท่านผู้อ่าน ให้ความยุติธรรมในการเขียน ต่อบรรดาท่านนักปฏิวัติ ผู้เสนอลัทธิเหตุผลสักเล็กน้อย  ว่าท่านก็พยายามอธิบายด้วยเหตุด้วยผล  ว่า “สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องพร่ำพูดกับประชาชน โดยไม่เหน็ดเหนื่อยก็คือ เสรีภาพก็ดี เหตุผลก็ดี สัจจะก็ดี  เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม  แต่ไม่ใช่เทวดา นามธรรมกับเทวดาไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะ อย่าสับสน  หรือพูดให้ถูก สิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว”  คำพูดของท่านผู้นำลัทธิเหตุผลท่านหนึ่ง ดังได้ยกมานี้  น่าจะส่อว่า ท่านคงจะพูดกับมวลชน เช่น ตัวผู้เขียนเอง เป็นต้น ไม่ใคร่จะรู้เรื่อง... เพราะมวลชนในยุคนั้น มักจะเข้าใจว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นนามธรรม ย่อมเป็นเทพ

[ เฉลย : คนมีเหตุผลไม่จำเป็นจะต้อง เชื่อ ว่าสองบวกสองเท่ากับสี่      แต่คนมีเหตุผลจะต้อง เข้าใจ ว่าทำไมสองบวกสองเท่ากับสี่ ]


พูดรู้เรื่องไม่รู้เรื่องไม่สำคัญ  โรเบสปิแยร์ กำลังมีอิทธิฤทธิ์สุดๆในเวลานั้น  เทียบได้กับว่าเป็นทั้งประธานาธิบดี ประธานสภา และนายกรัฐมนตรี อยู่ในตัวคนเดียว  พูดง่ายๆ “เผด็จการทรราชย์ร้อยเปอร์เซ็นต์-และเต็มใบ” มีความเห็นว่า การการรณรงค์ลบล้างศาสนาคาธอลิค เสมอด้วยการกระทำเป็น“ปฏิปักษ์ปฏิวัติ”(contre-révolutionaire) จึงส่งนายฌาค เรอเน เอแบร์ กับพลพรรค ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง  เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบ “ศิลปะแห่งการตัดอย่างดี”(the Art of Fine Cut)  คือให้เอาไปตัดหัวด้วยกิโยติน เมื่อวันที่ 4 เดือนแยมินาล ปีปฏิวัติที่สอง(=24 มีนาคม 1794) เพราะหมั่นใส้

แต่เนื่องจากแกนนำทางการเมืองในมุ้งที่นายฌาค เรอเน เอแบร์ กับนายโชแมตต์สังกัดอยู่ มีจำนวนมาก  ตัดหัววันเดียวไม่เสร็จ  ต้องแบ่งเป็นสองชุด  ชุดแรกประกอบด้วยนายฌาค เรอเน เอแบร์ ตัวหัวหน้ากับพลพรรคจำนวนหนึ่ง  เอาไปตัดหัววันที่ 24 มีนาคม 1794  อีกสองสามวันต่อมา ก็ตัดหัวชุดที่สอง มีนายโชแมตต์ เป็นหัวหน้าทีม ที่โดนตัดหัว  หลังจากตัดหัว นายเอแบร์ นายโชแมตต์และพลพรรคเรียบร้อยแล้ว  อีกไม่กี่วันต่อมาในเดือนเมษายน 1794  โชคดีที่ โรเบสปิแยร์ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์เสมอ พบทางออกแนวคิด “ศาสนาแห่งชาติ” ในเวอร์ชันของท่านเองเรียกว่า “ลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่”  แต่โชคไม่ดีที่ ทางออกด้านจิตวิญญาณทางนี้ ก็เป็นทางตัน ไม่แพ้ทางออกที่นายเอแบร์ผู้หัวหลุดจากบ่าไปแล้ว ได้เคยเสนอไว้    

ผู้เขียนเพียรค้นงานต้นฉบับเกี่ยวกับเรื่อง ตัวตนยิ่งโหญ่  ของ โรเบสปิแยร์ เอง ที่ชัดเจนก็พบอยู่สองที่เท่านั้น  คือ 1) อยู่ในคำปราศัยของ โรเบสปิแยร์ ในงานเฉลิมฉลองตัวตนยิ่งใหญ่ จัดขึ้นที่บริเวณที่ตั้งหอไอเฟลในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1794  กับ 2) ปรากฏอยู่ในพ.ร.ก.เกี่ยวกับศาสนาแห่งชาติศาสนาใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1794  จะขอคัดมาโชว์ฟอร์ม เพื่อให้ฟอร์มการเขียนดูดี สักสองมาตราเท่านั้น-พร้อมคำแปลภาษาไทย

 - I. Le peuple français reconnaît l’existence de l’Être suprême et l’immortalité de l’âme.
- II. Il reconnaît que le culte digne de l’Être suprême est la pratique des devoirs de l’homme.

        มาตรา หนึ่ง.  ประชาชนชาวฝรั่งเศสยอมรับนับถือการมีอยู่ของตัวตนยิ่งใหญ่  และยอมรับนับถือว่าวิญญาณเป็นสิ่งไม่ตาย
        มาตรา สอง.  ประชาชนชาวฝรั่งเศส ยอมรับนับถือว่าการปฏิบัติศาสนาตัวตนยิ่งใหญ่ เป็นหน้าที่ของมนุษย์

สำหรับรายละเอียดของคำปราศัยตาม 1) นั้น  จะได้เสนอให้แจ้งในลำดับต่อไป  พร้อมกับโชว์ฟอร์มเสนอต้นฉบับคำปราศัยดังกล่าวนั้นด้วย เพื่อให้ฟอร์มการเขียนดูดี...

สำหรับตอนนี้ จะปิดการเขียนว่า ย้อนไปเพียงประมาณร้อยปีก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสคือเมื่อปี 1687  หรือ325 ปีนับย้อนจากปี 2012 นี้  เวลานั้นหลุยส์ที่ 14 เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส  ยุคนั้นฝรั่งเศสยังวางฟอร์มมั่นใจในพระเจ้า  การเมืองกับพระเจ้าคลุกกันไปทุกที่แยกไม่ออก  การปกครองไม่ได้แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร  ดังจะเห็นได้จากเอกสารคู่สัญญาฉบับภาษาไทย ระหว่างฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรสยาม เอกสารภาษาไทยฉบับนั้น หลุยส์ที่ 14 ลงนามพร้อมกับอัครมหาเสนาบดีคนดัง โคลแบร์  มีใจความว่า ฝรั่งเศสมีเสรีภาพที่จะทำมาร์เกตติ้ง จัดอีเวนต์ ทำโปรโมชัน ตลอดจนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำไดเร็คเซลล์ จัดรายการลดแลกแจกแถม  รวมทั้งโฆษณาส่งข้อความเข้ามือถือ และส่งสะแปมเข้าอีเมล ชักชวนให้ราษฎรไทยเข้ารีตนับถือศาสนาคอธอลิค... 

หากท่านผู้อ่านขี้สงสัยบางท่านรู้สึกคลางแคลงใจ สงสัยว่าผู้เขียน เขียนย่อหน้าบนแบบเว่อๆเปล่า อำท่านหรือไม่  ท่านก็สามารถพิสูจน์และตรวจสอบได้  ด้วยการเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส-ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับท่านผู้อ่านส่วนมาก  เอกสารฉบับนั้นเขียนกันที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี แล้วส่งไปลงนามกันที่แวร์ซายย์  อาจจะเป็น “เอกสารภาษาไทย” เพียงฉบับเดียวที่หลุยส์ที่ 14 ลงนาม  เวลานี้ต้นฉบับยังเก็บรักษาไว้ และรอการพิสูจน์จากท่านผู้อ่านผู้ขี้สงสัย อยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส       


[ยังมีต่อครับ]    


ตอน 5
ท่านผู้อ่าน เริ่มเลื่อมใสศาสนาแห่งชาติ ของโรเบสปิแยร์ กันบ้างแล้วแหงเลย...

ขอจัดเพิ่ม เสนอพ.ร.ก.ศาสนาแห่งชาติ ของ โรเบสปิแยร์  ต่ออีกสักสองสามมาตรา...


III. Il met au premier rang de ces devoirs de détester la mauvaise foi et la tyrannie, de punir les tyrans et les traîtres, de secourir les malheureux, de respecter les faibles, de défendre les opprimés, de faire aux autres tout le bien qu'on peut, et de n'être injuste envers personne.
มาตรา สาม. คนฝรั่งเศสสำนึกเป็นหน้าที่อันดับหนึ่ง ที่จะเกลียดชังอาการปากอย่างใจอย่างและทรราชย์  ที่จะลงโทษทรราชย์และผู้ทรยศ  ที่จะช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก  ที่จะเคารพผู้อ่อนแอ  ที่จะปกป้องผู้ถูกกดขี่  ที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดีที่สุดเท่าที่ตนอาจทำได้  และที่จะไม่อยุติธรรมต่อผู้ใด

IV. Il sera institué des fêtes pour rappeler l'homme à la pensée de la Divinité et à la dignité de son être.
มาตรา สี่. ก่อตั้งเทศกาลต่างๆขึ้น เพื่อเตือนให้คนสำนึกถึงเทพผู้เป็นใหญ่  และระลึกถึงเกียรติภูมิแห่งตน

V. Elles emprunteront leurs noms des événements glorieux de notre Révolution, des vertus les plus chères et les plus utiles à l'homme, des plus grands bienfaits de la nature.
มาตรา ห้า. เทศกาลทั้งหลายตั้งชื่อตามเหตุการณ์อันรุ่งโรจน์ระหว่างการปฏิวัติ  ตามคุณงามความดีอันเป็นทีรักยิ่ง ที่มีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์  และตามคุณานุคุณยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

มาตราต่อๆมาได้ขยายความเรื่อง เหตุการณ์อันรุ่งโรจน์ ก็ดี  คุณงามความดีอันเป็นที่รักยิ่ง ที่มีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์ ก็ดี  และ คุณานุคุณยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ก็ดี มีการบัญญัติไว้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ซึ่งจะระลึกถึงและฉลอง กันในวันที่สิบ (เด กา ดี – decadi – ตามปฏิทินปฏิวัติ คือวันสุดท้ายของสัปดาห์ตามระบบเมตริก เทียบคล้ายวันอาทิตย์ ตามปฏิทินเกรกอเรียน) จะขอคัดลอกมาครบถ้วนทั้งหมดทุกวัน แบบจัดเต็มๆ ดังนี้ครับ
A l'Etre suprême et à la Nature. Au Genre humain. Au Peuple français. Aux bienfaiteurs de l'humanité. Aux Martyrs de la liberté. A la Liberté et à l'Egalité. A la République. A la liberté du monde. A l'amour de la patrie. A la haine des tyrans et des traîtres. A la Vérité. A la Justice. A la Pudeur. A la Gloire et à l'Immortalité. A l'Amitié. A la Frugalité. Au Courage. A la Bonne Foi. A l'Héroïsme. Au Désintéressement. Au Stoïcisme. A l'Amour. A la Foi conjugale. A l'Amour paternel. A la Tendresse maternelle. A la Piété filiale. A l'Enfance. A la Jeunesse. A l'Age viril. A la Vieillesse. Au Malheur. A l'Agriculture. A l'Industrie. A nos Aïeux. A la Postérité. Au Bonheur.
·        ตัวตนยิ่งใหญ่ และธรรมชาติ
·        มนุษยชาติ
·        ประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ปวง
·        มนุษย์ผู้ประกอบคุณงามความดี
·        วีรชนแห่งเสรีภาพ
·        เสรีภาพ และ ความเสมอภาค
·        สาธารณรัฐ
·        เสรีภาพในโลก
·        ความรักชาติยิ่งชีพ
·        ความเกลียดชังทรราชย์และคนทรยศ
·        สัจจะ
·        ความยุติธรรม
·        ความรู้จักละอายแก่ใจ
·        เกียรติภูมิและความเป็นอมตะ
·        มิตรภาพ
·        ความมัธยัสถ์
·        ความกล้าหาญ
·        ความจริงใจ
·        วีรกรรม
·        การไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน
·        ศิลธรรมจรรยา
·        ความสมบูรณ์แบบ
·        ความรักความเมตตา
·        การอยู่กินฉันท์สามีภรรยา
·        ความรักของบิดา
·        ความอ่อนโยนของมารดา
·        ความรักบิดรมารดา
·        วัยเยาว์
·        วัยรุ่น
·        วัยหนุ่มสาว
·        วัยชรา
·        ความทุกข์
·        เกษตรกรรม
·        อุตสาหกรรม
·        บรรพบุรุษ
·        ความรุ่งเรือง
·        ความสุข

พ.ร.ก.ศาสนาแห่งชาติฉบับนี้ มี 15 มาตราเท่านั้น  ท่านผู้อ่านได้ศึกษา “แบบเรียงมาตรา” ไปแล้ว 5 มาตรา ยังเหลืออีก 10 มาตรา  ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน  คงจะเริ่มเลื่อมใสศาสนาแห่งชาติ ของโรเบสปิแยร์ กันบ้างแล้วแหงเลย...
ท่านที่เลื่อมใสแล้ว  คงไม่ถือเป็นการลบหลู่ศาสนาของท่านนะครับ ถ้าผู้เขียนจะขอวิจารณ์ห้ามาตราแรกสักเล็กน้อย พอหอมปากหอมคอ แบบเรียงมาตรา  ด้วยถ้อยคำและอาการอันสุภาพ  ไม่ได้ไปก็อปๆลอกๆมาจากไหน เป็นความคิดสร้างสรรค์ส่วนตัว แต่ไม่สงวนสิทธิ์ ใครจะนำไปพูดต่อ หรือทำเป็นของตัวท่านเอง หรือปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้  ตามใจท่าน-มิใช่ตามใจฉัน

วิจารณ์-อภิปราย Article Premier หรือ มาตรา หนึ่ง. ประชาชนชาวฝรั่งเศสยอมรับนับถือการมีอยู่ของตัวตนยิ่งใหญ่  และยอมรับนับถือว่าวิญญาณเป็นสิ่งไม่ตาย” 
เรื่องนี้ น่าจะเป็นการแอบอ้างประชาชน  เพราะว่าประชาชนในกลุ่มของนายเอแบร์-ผู้หัวหลุดจากบ่าไปแล้ว ยอมรับนับถือเช่นนั้นที่ไหนกัน  เขาเป็นพวก “อะเทพ” พวกเขาเคารพนับถือเหตุผลต่างหาก  นอกจากนั้นสภาฯก็มาจากผู้เลือกตั้งไม่ถึง 10% ของประชากรฝรั่งเศสในเวลานั้น  และเป็นเพศชายเท่านั้น  สตรีฝรั่งเศสเพิ่งจะมามีสิทธิเลือกตั้งในระยะหลังนี้เอง-หลังสตรีไทยเสียอีก 
อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ยังไม่เลื่อมใส  และที่เลื่อมใสแล้ว  น่าจะมีเหตุผลมาอภิปรายประเด็นนี้กันได้อย่างกว้างขวาง-ถ้าท่านปรารถนา ด้วยการแสดงความเห็นใน comment ท้ายบทความ
ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว ที่ผู้เขียนจะยกมาเทียบเคียงเพราะคุ้นเคยกว่าศาสนาพระเจ้าองค์เดียวอื่นๆ ได้แก่ อิสลาม  ผู้เขียนเคารพต่อความคิดอิสลามของท่านผู้รู้อิสลามิกนามว่า นูร์โชลิช มาดยิด  ท่านเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยปารามาดินา กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย รวมเจ็ดปีกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อ 2005/พ.ศ.2548  เป็นศิษย์เก่า The University of Chicago  ศึกษากับอาจารย์ผู้รู้จากปากีสถานชื่อ ฟาสลูร์ รามัน มาลิค ความเห็นที่เป็นหัวใจเกี่ยวศาสนาพระเจ้าองค์เดียวของท่าน(นูร์โชลิช มาดยิด)  สรุปได้ดังนี้ “องค์อัลเลาะห์ยิ่งใหญ่เกินไป กว่าที่ใครจะนำท่านมารับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมือง”   

วิจารณ์-อภิปราย มาตรา สอง.  “ประชาชนชาวฝรั่งเศส ยอมรับนับถือว่าการปฏิบัติศาสนาตัวตนยิ่งใหญ่ เป็นหน้าที่ของมนุษย์”
        ขอวิจารณ์สั้นๆว่า  มั่วและอำ

วิจารณ์-อภิปราย มาตรา สาม. คนฝรั่งเศสสำนึกเป็นหน้าที่อันดับหนึ่ง ที่จะเกลียดชังอาการปากอย่างใจอย่างและทรราชย์  ที่จะลงโทษทรราชย์และผู้ทรยศ  ที่จะช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก  ที่จะเคารพผู้อ่อนแอ  ที่จะปกป้องผู้ถูกกดขี่  ที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดีที่สุดเท่าที่ตนอาจทำได้  และที่จะไม่อยุติธรรมต่อผู้ใด

คำว่า โมแวส ฟัว(mauvaise foi) –ปากอย่างใจอย่าง-ในมาตรา สาม ตามพ.ร.ก.ศาสนาแห่งชาติของโรเบสปิแยร์  ถ้าแปลตรงตัวตามตัวอักษรเป็นภาษาอังกฤษ มักจะผิดความหมาย  คำแปลตรงตัวก็คือ bad faith  หรือถ้าใช้เป็นสำนวนก็จะว่า in bad faith ซึ่งผู้ใช้ภาษาอังกฤษไม่นิยมพูด  แต่คนฝรั่งเศสนิยมสำนวนนี้  คนอังกฤษเขาจะพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า in good faith ผู้เขียนมีเพื่อนชาวอังกฤษประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในเมืองไทย  คบกันมาห้าหกปี ไม่เคยได้ยินเขาพูดสำนวน in bad faith เลย  แต่ถ้าได้คบนานปีกว่านั้นอาจจะได้ยินก็ได้ ใครจะรู้

สองร้อยปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส โมแวส ฟัว กลายเป็นคำดังระดับจัดหนักขึ้นมา  ก้าวออกจากแวดวงภาษาชาวบ้าน เปิดตัวสู่สนามปรัชญาโอลิมปิค  เพราะว่าได้กลายกุญแจ อยู่ในปรัชญาเอ็กซิสเต็นเชียลลิสม์ ของ ฌัง-ปอล ซาร์ต  ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่า คนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเมื่อมาศึกษาข้อปรัชญาแนวนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกับคำๆนี้ให้ดี

คนไทยที่ดัดจริต หรือไม่ได้ดัดจริตแต่จำเป็น ต้องเรียนเรื่องฝรั่งเศสโดยผ่านทางภาษาอังกฤษ ก็จะมีปัญหากับคำๆนี้เหมือนคนทั้งหลายที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก  แต่ถ้าเรียนเรื่องฝรั่งเศสด้วยภาษาฝรั่งเศส แล้วทำความเข้าใจตรงจากฝรั่งเศส ก็ไม่น่าจะมีอุปสรรค  คำๆนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า ดัดจริต หรือเสแสร้ง หรือไม่จริงใจ หรือปากอย่างใจอย่าง  เป็นประมาณนั้นครับ  ซึ่งท่านผู้อ่านย่อมเห็นประจักษ์แล้วว่า คำแปลไม่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า in bad faith สักนิด

แต่ว่า--ช้าก่อน การดัดจริต เสแสร้ง ไม่จริงใจ ปากอย่างใจอย่าง ทางปรัชญาท่านไม่ได้หมายความว่า จะเป็นความประพฤติที่ เลว หรือที่ ชั่ว เสมอไป  เพราะคนเราอาจประพฤติเช่นนั้น เพื่อคุณงามความดีใหญ่หลวงก็ได้ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกแถวกลุ่มหนึ่ง จะมาทำวิสามัญฆาตกรรมพ่อแม่เรา  พวกเขามาถามเราว่า พ่อแม่อยู่บ้านเปล่า  เราก็ย่อม ดัดจริต เสแสร้ง ไม่จริงใจ ปากอย่างใจอย่าง  ตอบเขาไปว่า ไม่อยู่หรอก

อาการปากอย่างใจอย่างในทางการเมือง  เป็นอาการที่เราจะพบเห็นทั่วไป คล้ายๆการ “คอรัปชัน” ของนักการเมือง หรือภาษาไทยเดิมเรียกว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง – ซึ่งเป็นคำที่ไพเราะ ได้ใจความ และกินใจ  ตัวอย่างปากอย่างใจอย่างที่ดังระดับโลกเมื่อเร็วๆนี้ ได้แก่กรณีของสมาชิกสภาคองเกรสอเมริกัน นายมาร์ค โฟลลีย์ จากรัฐฟลอริดา ผู้มีบทบาทเด่นในสภาฯเรื่องการเอาโทษกับผู้ละเมิดทางเพศกับเด็ก อนาจารเกี่ยวกับเด็ก ท่านเสนอกฎหมายให้เว็บไซด์ที่ส่อไปทางนี้ เป็นเว็บไซด์ผิดกฎหมาย ฯลฯ  แบบว่าท่านรักเด็กและพิทักษ์เด็กแบบสุดๆ จัดเต็ม จัดหนัก ถ้ายังไม่พอ-จัดเพิ่ม

ต่อมาความแตก พบว่า เอาเข้าจริง ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ตัวท่านเองนั่นแหละตัวดี ท่านจีบเด็ก(ชาย)เดินเอกสารในสภาฯ  และต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาคองเกรส ตามคำขอร้องของผู้นำพรรครีพับบลิกันเมื่อ 29 กันยายน 2006  ปีรุ่งขึ้น 2007 ปรากฏว่า ท่านก็เปิดตัวออกนอกตู้(out of the closet)ใช้ชีวิตเกย์แบบเต็มพวง ไม่ระวังตัวแบบกุมเป้าแจอีกต่อไป และมีกิ๊กชายอย่างเปิดเผย

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ชอบโรเบสปิแยร์ เราก็อาจนึกเดาอาการปากอย่างใจอย่างของโรเบสปิแยร์ ตามมาตราสาม ได้ว่า ทรราชย์ จะเป็นใคร-ถ้าไม่ใช่โรเบสปิแยร์  ผู้ทรยศ คือผู้ใด-ถ้าไม่ใช่โรเบสปิแยร์


วิจารณ์-อภิปราย มาตรา สี่. ก่อตั้งเทศกาลต่างๆขึ้น เพื่อเตือนให้คนสำนึกถึงเทพผู้เป็นใหญ่  และระลึกถึงเกียรติภูมิแห่งตน
และ มาตรา ห้า.  เทศกาลทั้งหลายตั้งชื่อตามเหตุการณ์อันรุ่งโรจน์ระหว่างการปฏิวัติ  ตามคุณงามความดีอันเป็นทีรักยิ่ง ที่มีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์  และตามคุณานุคุณยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
ตอนที่ โรเบสปิแยร์ เสนอลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่ เขาอายุประมาณ 36 ปี  ไม่ทราบเหมือนกันว่า จะเทียบคนยุคนั้นกับคนยุคนี้อย่างไรดี  เขามีประสบการณ์เป็นนักกฎหมายที่เมืองอาราส บ้านเกิด มาแล้วประมาณ 12 ปี  และเคยทำคดีดังระดับชาติมาแล้วหนึ่งคดี คือ คดีสายล่อฟ้า 
มาตราสี่และห้า เป็นการลอกเลียนฟอร์มของศาสนาคาธอลิค โดยคนที่รู้เรื่องศาสนานั้นผิวเผินเช่นผู้เขียนและผู้อ่านบางท่าน ก็อาจเดาไปเช่นนั้นโดยไม่พลาดมากนัก  การเติมเนื้อหาลงไปในฟอร์มดั้งเดิม  คือ วันนักขัตฤกษ์ต่างๆ  เช่น วันเทศกาลตัวตนยิ่งใหญ่และธรรมชาติ วันเสรีภาพในโลก วันความเกลียดชังทรราชย์และคนทรยศ วันความจริงใจ วันวัยรุ่น วันความสุข ฯลฯ เหล่านี้ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านประกอบมาตราสี่และห้าแล้ว  เห็นว่า “โดน”กับท่าน  โดยที่ท่านสามารถแสดงเหตุผลสนับสนุนได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็น่าจะแสดงว่า ท่านเลื่อมใสแล้ว
ซึ่งยังเป็นเรื่องเกินสติปัญญาของข้าน้อย เพราะจะผิดจะถูกอย่างไรข้าพเจ้าก็เป็นศิษย์ของ กาลามสูตร 
1.    อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
2.    อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
3.    อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
4.    อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
5.    อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
6.    อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
7.    อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8.    อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9.    อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

“ความคิดสร้างสรรค์” ของนักการเมืองรวมทั้งการตลาดและนักโฆษณาบางคนนั้น  บางทีก็ด้อยค่าเสียเหลือเกิน คำว่า "ความคิดสร้างสรรค์" นี้ถูก devalued อย่างมาก  จนทุกวันนี้มีค่าเท่ากับ เป็นการแสดงออกซึ่งอาการประสาทแดก ชนิด acute ที่อยู่ๆ 'แม่งจี้ดดด...ขึ้นสมอง   

[ยังมีต่อ-เป็นตอนสุดท้าย]

ตอน 6

ไม่ใช่กรรมตามสนองอย่างแน่นอนเป็นไปไม่ได้

วันที่ 27 กรกฎาคม 1794 ใบมีดกิโยตินอันคมกริบ ที่เพิ่มน้ำหนักถ่วงด้วยแท่งตะกั่วอยู่เหนือใบมีด  นวัตกรรมใหม่ของนายแพทย์โจเซฟ-อินญาส กิโยติน  เลื่อนหล่นจากแล่ง แล่นฉิวลงมาตัดหัวโรเบสปิแยร์ขาดกระเด็น ตกลงมาในเข่งรองรับหัวที่ขาดแล้ว ตั้งอยู่ด้านล่างช่องหน้าต่างกิโยติน(ช่องที่ตัดหัว)  ศีรษะโรเบสปิแยร์รวมอยู่กับหัวคนอื่นๆ ส่วนร่างผีหัวขาดของเขา ก็ถูกโยนไว้บนเกวียนบรรทุกศพ ที่จะขนศพหัวขาดจากการประหารครั้งนี้ ไปทิ้งในหลุมศพรวม ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร   นี่คงจะไม่ใช่เพราะกรรมตามสนองอย่างแน่นอน-เป็นไปไม่ได้  เพราะว่า ศาสนาแห่งชาติของโรเบสปิแยร์ ไม่เคยสอนหลักธรรมเรื่องเวรกรรมไว้ซะหน่อย

ผู้เขียนบทความนี้ยังโชคดี  ที่แม้จะไม่ยอมเข้ารีต นับถือศาสนาใหม่ของโรเบสปิแยร์ แต่หัวก็ไม่ได้หลุดจากบ่า  เพราะไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งเต็มไปด้วยสายลับ การรายงานเท็จ  และการแฮ็คเว็บไซด์ ฯลฯ  เพียงแค่เราคิดอิจฉาริษยาเพื่อนบ้าน ที่เพิ่งจะซื้อรถกระบะมิตซูคันใหม่มา แล้วเราแกล้งไปให้ข่าวกับกองกำลังปฏิวัติว่า เพื่อนบ้านเรา “ไม่มีใจนิยมคณะปฏิวัติ” “ชอบติฉินนินทาโรเบสปิแยร์”  เพียงเท่านี้เราก็มีสิทธิลัดคิวจอง เดินฉลุยเข้าเครื่องกิโยติน และได้สัมผัสกับ the art of fine cut…ศิลปะแห่งการตัดอย่างงาม

แล้วหลักธรรมอะไรเล่า ที่ศาสนาแห่งชาติของโรเบสปิแยร์ สอนไว้...  ถึงแม้ว่า   “ตัวตนยิ่งใหญ่” จะยิ่งใหญ่อย่างไรก็ไม่สามารถคุ้มหัวโรเบสปิแยร์ได้  เราก็ยังอยากทราบว่าศาสนาตัวตนยิ่งใหญ่สอนอะไร  เพราะเราเป็นคนไม่รู้งัย อยากรู้อยากเห็นไปซะหมด

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจกันก่อนนะว่า โรเบสปิแยร์ท่านเป็นนักปฏิวัติ หรือ เรฟ-โวล-ลู-ซิ-ย็อน-แนร์(révolutionnaire)  ท่านไม่ใช่นักปรัชญา หรือ ฟิ-โล-ซอฟ(philosophe)  เพราะฉะนั้น เราจะไปคาดหวังศาสนปรัชญา ที่เป็นระเบียบระบบ เขียนไว้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นเล่มหรือเป็นตะกร้า(ปิฎก) หาได้ไม่

ผู้เขียนเพียรค้นงานต้นฉบับเกี่ยวกับเรื่อง ตัวตนยิ่งโหญ่  ของ โรเบสปิแยร์ เอง ที่ชัดเจนก็พบอยู่สองที่เท่านั้น  คือ 1) อยู่ในคำปราศัยของ โรเบสปิแยร์ ในงานเฉลิมฉลอง ตัวตนยิ่งใหญ่  จัดขึ้นบริเวณที่ตั้งหอไอเฟลในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1794  กับ 2) ปรากฏอยู่ในพ.ร.ก.เกี่ยวกับศาสนาแห่งชาติศาสนาใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1794  เรื่องพ.ร.ก.นั้นได้เสนอต้นฉบับและแปลไว้ห้ามาตราแล้ว  ต่อไปนี้ จะเสนอเนื้อหาคำปราศัย ซึ่งเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่จะทำความเข้าใจกับศาสนาใหม่ของเขา จากปากของเขาเอง  ไม่ได้ลอกมาจากที่คนอื่นตีความ  เพราะไม่อยากเห็นบทความชิ้นนี้  เป็นสินค้ามือสองจากตลาดโรงเกลือ ชายแดนด้านเขมร

คำปราศัยวันนั้น มีเพียงหกย่อหน้า  นี่คือย่อหน้าแรก... 
Français républicains, il est enfin arrivé ce jour à jamais fortuné que le peuple français consacre à l'Etre-Suprême! Jamais le monde qu'il a créé ne lui offrit un spectacle aussi digne de ses regards. Il a vu régner sur la terre la tyrannie, le crime et l'imposture: il voit dans ce moment une nation entière aux prises avec tous les oppresseurs du genre humain, suspendre le cours de ses travaux héroïques pour élever sa pensée et ses voeux vers le grand Etre qui lui donna la mission de les entreprendre et la force de les exécuter!

คำแปล
ชาวฝรั่งเศสผู้เป็นสาธารณรัฐชน  วันเวลาอันโชคดีหาที่เทียบไม่ได้ของพวกท่านมาถึงแล้ว  เมื่อปวงชนชาวฝรั่งเศสอุทิศตนต่อ ตัวตนยิ่งใหญ่!  ไม่เคยเลยที่โลกอันท่าน(ตัวตนยิ่งใหญ่)สร้างขึ้นไว้ จะสนองคุณท่านด้วยงานเฉลิมฉลองอันสมเกียรติระดับนี้  ท่านได้เคยเห็นทรราชครองโลกมาแล้ว ได้เห็นอาชญากรรม และการรับสมอ้าง  ณ บัดนี้ ท่านก็เห็นประเทศชาติทั้งชาติ ถูกจองล้างจองผลาญด้วยผู้กดขี่ที่เป็นมนุษย์  จนต้องชะลองานอันเป็นวีรกรรม  เพื่อหันความคิดและจิตสำนึกไปที่ ตัวตนยิ่งใหญ่  ผู้ได้มอบภารกิจให้กระทำ และพละกำลังเพื่อลงมือ!   
[ขออภัย สัปดาห์นี้มีปัญญาทำได้แค่นี้ เพราะว่ายุ่งๆอยู่ ขอต่อให้จบสัปดาห์หน้าครับ]



วิจารณ์ –

โรเบสปิแยร์ กล่าวว่า ชาวฝรั่งเศสผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ ประสบโชคดีอย่างไม่เคยพบมาก่อน เพราะได้มีโอกาสอุทิศตนต่อ ตัวตนยิ่งใหญ่ ในวันนี้  ได้จัดงานเฉลิมฉลองสนองคุณตัวตนยิ่งใหญ่อย่างสมเกียรติ  ตัวตนยิ่งใหญ่เป็นผู้มอบภารกิจให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันสร้างชาติ  และให้กำลังใจ

ผู้เขียนมีความเห็นสั้นๆว่า  เท่ากับโรเบสปิแยร์ได้นำศาสนาพระเจ้าองค์เดียวของตน มารับใช้กิจกรรมทางการเมือง  จะเป็นคล้ายๆลัทธิบูชิโดของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือเปล่า ก็ไม่อาจจะทราบได้เพราะไม่รู้เรื่องบูชิโด  แต่การวิจารณ์เช่นนี้นั้น มิใช่กำลังประณาม เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของโรเบสปิแยร์ เป็นการกระทำทำนองนั้นเท่านั้น  ไม่ได้ตัดสินว่า ดีหรือเลว

แต่ถ้า เรานำหลักศาสนาพระเจ้าองค์เดียว ตามแนวคิดของท่านผู้รู้อิสลามิกที่ผู้เขียนเคารพนับถือ นูร์โชลิช มาดยิด อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปารามาดินา กรุงจาการ์ตา อินโดเนเซีย  ดังได้แถลงไว้ในตอนก่อน เข้ามาจับประเด็นและปรับใช้  เราก็จะเห็นได้ว่า พระเจ้าองค์เดียวของโรเบสปิแยร์ คงไม่ใคร่จะเข้าท่าสักเท่าใด  เพราะกลายเป็น เด็กรับใช้  ของนักการเมืองไปแล้ว

ต้นฉบับ คำปราศัยของโรเบสปิแยร์ ย่อหน้าที่สอง
2) N'est-ce pas lui dont la main immortelle, en gravant dans le coeur de l'homme le code de la justice et de l'égalité, y traça la sentence de mort des tyrans? N'est-ce pas lui qui, dès le commencement des temps, décréta la république, et mit à l'ordre du jour, pour tous les siècles et pour tous les peuples, la liberté, la bonne foi et la justice?
คำแปล—
ก็มิใช่หัตถ์อมตะของตัวตนยิ่งใหญ่ดอกหรือ  ที่ได้สลักกฎเรื่องความยุติธรรมและความเสมอภาคไว้ในหัวใจมนุษย์  และได้จำหลักรอยคำพิพากษาประหารชีวิตทรราชเอาไว้?  มิใช่ตัวตนยิ่งใหญ่ดอกหรือ ที่ตั้งแต่เริ่มกำเนิดโลก ก็ได้กำหนดการจัดตั้งสาธารณรัฐเอาไว้แล้ว และได้บรรจุวาระเรื่องเสรีภาพ เรื่องปากตรงกับใจ และความยุติธรรม เอาไว้ประจำทุกศตวรรษ เพื่อทุกเผ่าพันธุ์มนุษย์?

วิจารณ์—
แม้จะไม่ได้โตขึ้นมากับเกม ซูโดกุ  แต่ว่าตั้งแต่เด็ก โรเบสปิแยร์ โตมากับเรื่องพระเจ้าสร้างโลกของศาสนาโรมันคาธอลิค  ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับภาษาฝรั่งเศสที่โรเบสปิแยร์อ่านมาตั้งแต่เด็ก  เพราะเขาไม่ได้ผลาญเวลาไปกับเกม ซูโดกุ  เล่าเรื่องพระเจ้าสร้างโลก โดยเริ่มเรื่องไว้ว่า
Au commencement, Dieu créa le ciel et la terre. Or, la terre était alors Informe et vide. Les ténèbres couvraient l'abîme, et l'Esprit de Dieu planait au-dessus des eaux. Et Dieu dit alors :- Que la lumière soit ! Et la lumière futa.
คำแปล- ตะแรกเลย พระเจ้าสร้างฟ้ากับดิน  โดยที่แผ่นดินนั้นยังเบี้ยวๆและว่างเปล่า  ความมืดมนอนธการครอบงำหุบเหว และพระจิตแห่งพระเจ้าก็ลอยอยู่เหนือแผ่นน้ำ  แล้วพระเจ้าก็ตรัสว่า “ขอให้มีแสงสว่าง!  แล้วแสงสว่างก็เกิดมีขึ้นมา

จะมีก็แต่คนสติไม่ดีเท่านั้นกระมัง  ที่เมื่อทราบทั้งสองเรื่อง คือ 1)ทราบเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในพระคัมภีร์ กับ 2)ทราบคำปราศัยของโรเบสปิแยร์ตามย่อหน้าที่สอง  แล้วไม่ยอมเชื่อว่า โรเบสปิแยร์ลอกเลียนพระคัมภีร์มาร่างคำปราศัย  นั่นคือข้อวิจารณ์เล็กๆของผู้เขียนประเด็นหนึ่ง

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งจะเกี่ยวกับ  สิ่งที่ตัวตนยิ่งใหญ่ของโรเบสปิแยร์ได้สร้างขึ้น ตามย่อหน้าที่สอง เรียงตามลำดับที่โรเบสปิแยร์กล่าวถึง คือ 1.ความยุติธรรม 2.ความเสมอภาค 3.การประหารชีวิตทรราช  4.การจัดตั้งสาธารณรัฐ 5.เสรีภาพ 6.ปากตรงกับใจ และ 7.ความยุติธรรม-เขากล่าวถึงซ้ำอีกครั้ง  ยกเว้นเรื่องการประหารชีวิตทรราช กับ การจัดตั้งสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องการเมือง  นอกนั้นล้วนเป็น “คุณธรรมทางแพ่ง” ที่โรเบสปิแยร์ต้องการ  ซึ่งผู้เขียนเองและท่านผู้อ่านหลายๆท่าน ผู้อยู่ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ แม้จะไม่ทุกท่าน ก็คงจะไม่คัดค้านโรเบสปิแยร์ เกี่ยวกับหลักศิลธรรมทางแพ่งเหล่านั้น  เราคงเห็นด้วยกับเขาว่า ความยุติธรรมก็ดี ความเสมอภาคก็ดี เสรีภาพก็ดี และปากตรงกับใจก็ดี  ล้วนเป็นหลักศิลธรรมทางแพ่งที่ทรงคุณค่า    

เห็นด้วยแล้ว จะยังวิจารณ์อะไรอีกเล่า-เกี่ยวกับประเด็นนี้? 

จะขออภิปรายนิดเดียวว่า ทุกวันนี้ เรามีพัฒนาการด้านปรัชญาการเมือง ก้าวหน้าไปมาก  ดังกรณีเป็นอุทธาหรณ์ก็คือ คำบรรยายปรัชญาของ ศ.ไมเคิล แซนเดล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ซึ่งได้กลายเป็นคำบรรยายที่โด่งดังทั่วโลก มีการแปลหรือการสรุปบทบรรยายไว้ มากมายหลายภาษา  เพราะฉะนั้น ศิลธรรมทางแพ่งทั้งหลายเหล่านั้น มีรากฐานหรือ“ความชอบธรรม” ที่พัฒนาขึ้นมารองรับแข็งแรง  ผิดกับยุคสมัยของโรเบสปิแยร์  และโดยเฉพาะตัวโรเบสปิแยร์เอง ผู้ที่หาความชอบธรรมให้กับหลักศิลธรรมทางแพ่งเหล่านั้น  ด้วยการ “อ้าง” ตัวตนยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียวโดยไม่แสดงเหตุผล 

คือ อ้างว่าตัวตนยิ่งใหญ่ประสงค์...หรือตัวตนยิ่งใหญ่จารึกศิลธรรมทางแพ่งเหล่านั้นไว้ในใจคน  คนมีวิจารณญาณ-หมายถึงคนที่รู้จักคิดเชิงวิจารณญาณ เช่น ผู้เขียนเอง และท่านผู้อ่านทุกๆท่าน เป็นต้น  เราต้องการเหตุผลมากกว่านั้น  พูดกะเราแค่นั้น-เราไม่เชื่อหรอก  ได้ยินแล้วเราง่วงนอน  แบบว่าเลี่ยนอ่ะ-ขอต้นหอมกะมัสตาดได้มั๊ย  สำหรับมัสตาดขอเป็น  la moutarde de Dijon=มัสตาดเมืองดิฌ็ง ซึ่งฉุนขึ้นจมูกแก้เลี่ยนได้ดี     

การวิจารณ์ จะทำพอหอมปากหอมคอ เพียงเท่านี้  แต่เพื่อความยุติธรรมต่อโรเบสปิแยร์ ได้โพสต์คำปราศรัยของเขาครบถ้วนบริบูรณ์ โดยไม่ตัดทอน บิดเบือน เสกสรรปั้นแต่ง  ต่อท้ายบทความนี้-อยู่ในภาคคอมเมนต์ เรียบร้อยแล้ว


จุดจบของท่านนักปฏิวัติใหญ่-โรเบสปิแยร์  : ซึ่งเป็นจุดจบของ ตัวตนยิ่งใหญ่ พร้อมๆกันไปด้วย

เมื่อคณะปฏิวัติคนละมุ้ง ที่ไม่ใช่มุ้งจาโกแบ็ง เห็นว่าโรเบสปิแยร์ทำท่าจะเป็น ตัวอันตราย  ซึ่งกำลังแว้งจะหันมากัดพวกตน  ความกระหายเลือดของเขา หรือจะประสาทกินก็ไม่ทราบ  เขาเหมือนคนประสาทหลอน เห็นพวกปฏิวัติคนละมุ้งเป็นศัตรูไปหมด  หลังจากที่ตัดหัวคนมานับพันในช่วงเถลิงอำนาจ  เขาเริ่มมองไม่เห็นทางออกที่จะปรองดองหรือสมานฉันท์ ในหมู่ชาวคณะปฏิวัติด้วยกัน  เขาเห็นอยู่ทางเดียว คือ ต้องตัดหัว 

ถึงขั้นนี้ พวกปฏิวัติคนละมุ้งก็ยึดอำนาจ จับโรเบสปิแยร์และคนใกล้ชิด เช่น น้องชายที่ชื่อ โอกุส  และคนสนิท ผู้เป็นที่ี่่รัก ของโรเบสปิแยร์ ที่ชื่อ แซ็งต์-จุสต์ ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี และเป็นคน วัยรุ่นที่สุดในคณะปฏิวัติที่เป็นคนดัง  คนเหล่านี้รวมกับคนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง ถูกคุมตัวไว้หนึ่งคืน ที่ชั้นบนของตึกเทศบาลนครปารีสหลังเก่า-แต่ก็ตั้งอยู่ ณ ที่เดียวกับอาคารหลังปัจจุบัน  ในวันรุ่งขึ้น พวกปฏิวัติมุ้งโรเบสปิแยร์ จำนวน 21 คน รวมทั้งน้องชายของเขา และ คู่เกย์ แซ็งต์-จุสต์  ถูกนำไปตัดหัว วันที่ 10 เดือนแธมิโดร์ ปีปฏิวัติที่ 2  เวลาใกล้เที่ยง ที่ี ปลาส เดอ ลา ก็องกอร์ด ในปัจจุบัน  ทั้งนี้โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมด้วยการพิจารณาของศาล 

แซ็งต์-จุสต์ ถูกนำตัวขึ้นตะแลงแกงตัดหัวก่อนโรเบสปิแยร์  เขาจะใช้ระบบบัตรคิวระบบใด ผู้เขียนไม่อาจจะทราบได้  แซ็ง-จุสต์ไม่สะทกสะท้านกับการถูกประหาร  มีบันทึกเล่าว่า แม้ขณะกำลังยืนอยู่บนยกพื้น ที่ตั้งเครื่องกิโยติน แซ็งต์-จุสต์ ยังคงกวาดสายตาอย่างทระนง มองหน้าฝูงชนที่มาชมมรณกาลของเขา  อย่างไรก็ดี ขณะเมื่อแซ็งต์-จุสต์ ถูกคุมตัวเดินผ่านหน้าโรเบสปิแยร์  ซึ่งเราต้องยอมรับว่าคนคู่นี้เขารักกัน นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสน้อยคนในปัจจุบัน ที่จะปฏิเสธความจริงข้อนี้  ระหว่างนั้น แซ็งต์-จุสต์หันมามองหน้า โรเบสปิแยร์ แล้วกล่าวคำอำลาว่า อะ ดิ เยอ (Adieu)

คำอำลาคำนี้ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ  แต่มีคำตรงกัน อยู่ในภาษาสเปนว่า อะ ดิ โอ้ส”(A Dios)  ซึ่งหมายความทำนองว่า แล้วแต่พระเจ้า  ทุกวันนี้ คำอำลาคำนี้ ไม่นิยมพูดกันทั้งในเวอร์ชันฝรั่งเศสและเวอร์ชันสเปน  เพราะเป็นคำอำลาที่ เศร้า เกินไป  คล้ายๆกับลาแล้วลาลับ-อะไรประมาณนั้น

อีกสองวันถัดมา พวกของโรเบสปิแยร์ ถูกจับไปตัดหัวตายตกตามกันอีก 71 คน  ตัวตนยิ่งใหญ่ ของโรเบสปิแยร์ ไม่สามารถช่วยอะไรคนเหล่านั้นได้เลย  ลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่ ตายไปพร้อมกับโรเบสปิแยร์  แต่มาตายสนิทอย่างเป็นทางการในยุคนะโปเลียน  เมื่อวันที่ 18 เดือนแจมินาล ปีปฏิวัติที่สิบ  ตามเนื้อความในกฎหมายเกี่ยวกับศาสนา ที่นะโปเลียนให้ตราขึ้น ที่เรียกว่า Le corps legislatif le 18 Germinal an X

แต่ นักประวัติศาสตร์และนักเทวะวิทยาปัจจุบัน ยังคงมีคนสนใจศึกษาเรื่องลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่  เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ปี 2550/2007 มีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ใช้ชื่อเรื่องว่า  “L’ immortalité de l’âme dans la conception religieuse de Maximilien Robespierre : L’ influence des idées leibniziennes sur le culte de l’Etre suprême de 1794.”

ผู้เขียนเพียงดูผ่านตาคร่าวๆ ไม่ได้ศึกษาละเอียด  จึงพูดอะไรมากไม่ได้  แต่ประเมินเค้าของเอกสารจากรายละเอียดสารบัญ เห็นว่า น่าจะเป็นเอกสารที่น่าศึกษา สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ ลัทธิตัวตนยิ่งใหญ่ เช่น ท่านผู้ที่ใช้นามในเฟสบุคว่า “Jan Sanmuang” เป็นต้น  วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกฉบับนี้ ทำเสนอต่อคณะเทวะวิทยาโปรเตสแต้นต์ มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก พ.ศ.2550 ( Université de Strasbourg II (Marc Bloch)  Faculté de Théologie protestante 2007 )

คำคัดที่พิมพ์จั่วหน้าวิทยานิพนธ์ไว้  ท่านผู้ทำวิทยานิพนธ์ได้เลือกใช้คำคัด ที่สรรมาจากคำพูดของ แซงต์-จุุสต์  ซึ่งแสดงความ "แรง" ของอารมณ์คนหนุ่มของเขา ไ้ด้เป็นอย่างดี   ชวนให้นึกถึงงานของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา เมื่อเธอยังสาวกว่าวันนี้  ความว่า

« Je méprise la poussière qui me compose et qui vous parle. On pourra la persécuter et faire mourir cette poussière. Mais je défie qu’on m’arrache cette vie indépendante que je me suis donnée dans les siècles et dans les cieux. »

Louis-Antoine-Léon de Saint-Just (1767-1794)

คำแปล-
ข้าพเจ้า นึกหมิ่นธุลีดินอันกอรปเข้าเป็นตัวตนของข้าพเจ้า ที่กำลังพูดอยู่กับท่านในบัดนี้  ท่านอาจสังหารธุลีดินนี้เสียให้ตายได้  แต่ข้าพเจ้าขอท้า ให้มาเอาชีวิต อันเป็นชีิวิตอิสระชีวิตนี้ของข้าพเจ้า  ไม่ว่าจะในศตวรรษไหน และใต้ฟ้าใดๆ
                                                      หลุยส์-อังตวน-เลอ็ง เดอ แซ็งต์-จุสต์



-จบ- และขอบคุณ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

2 ความคิดเห็น:

  1. ท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ถามว่า—“ในยุคนั้น อำนาจบริหารจริงๆแล้ว มันอยู่ตรงไหน...”

    ตอบ--ถ้า “ยุคนั้น” หมายถึงระยะเวลา = 21 กันยายน 1792 – 6 ตุลาคม 1795 อำนาจการปกครองและการบริหาร โดยประมาณ จะเป็นดังนี้ครับ

    1) สภานิติบัญญัติ เรียกชื่อว่า la Convention nationale ประชาชนน้อยกว่า 10% ของประชาชนฝรั่งเศสทั้งหมด เลือกผู้แทนเข้ามาอยู่ใน La Convention nationale (และเพศชายเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน)

    2) รัฐบาล หรืออำนาจบริหาร อยู่ที่ “คณะกรรมการสาธารณชนพ้นภัย” เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Le Comité de salut public ถือได้ว่าเป็น “รัฐบาลคณะปฏิวัติ” รัฐบาลแรกของฝรั่งเศส

    3) ต่อมา “รัฐบาล” เปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการสาธารณชนพ้นภัย” เป็น “คณะกรรมการใหญ่แห่งปีปฏิวัติปีที่สอง”(Le Grand Comité de l’an II) มีอำนาจบริหารอยู่ระหว่าง กันยายน 1793 – กรกฎาคม 1794 ผู้มีอิทธิฤทธิ์ในคณะนี้คือ โรเบสปิแยร์ กับคู่เกย์ของท่าน คือ แซงต์-จุสต์

    4) “ศาลปฏิวัติ” ภาษาฝรั่งเศสเรียก Le Tribunal révolutionnaire ซึ่งมีอำนาจล้นพ้น จัดการกับการกระทำที่มีลักษณะ “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ” “บ่อนทำลายเสรีภาพ เสมอภาค เอกภาพ บูรณภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสาธารณรัฐ ความมั่นคงภายในและภายนอก ฯลฯ ฯลฯ” คล้ายๆ กรมสืบสวนพิจารณาคดีพิเศษ คือเป็น “une juridiction criminelle extraordinaire” ไม่ใช่ “ศาล” ที่ไต่สวนพิจารณาคดีธรรมดาทั่วไป

    5) อำนาจปืนที่คอย back-up อำนาจทางการเมืองทั้งหลายข้างบนนั้น คือ กองกำลังติดอาวุธในปารีส ที่คณะปฏิวัติได้สร้างขึ้นใหม่ ไม่ได้อิงตำรวจทหารเดิม

    ทั้งหมดนั้น เป็นความเข้าใจจากการศึกษาของผู้เขียนเอง ไม่ได้ลอกมาจากไหน อาจเข้าใจไม่เหมือนท่านอื่นๆก็ได้-หรืออาจเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเรื่องที่ซับซ้อน สับสน และโกลาหลอลหม่านมาก อำนาจทางการเมืองเปลี่ยนขั้วบ่อยมาก

    --pricha/dev

    ตอบลบ
  2. เพื่อความยุติธรรม ต่อโรเบสปิแยร์ ขอเผยแพร่คำปราศัยแสดงหลักธรรม ตัวตนยิ่งใหญ่ ของเขาโดยสมบูรณ์ ดังนี้

    Maximilien Robespierre (1758-1794), Premier discours de Robespierre, président de la convention nationale, au peuple réuni pour la fête à l'Etre-Suprême, le 20 prairial an II de la république française (8 juin 1794)

    1) Français républicains, il est enfin arrivé ce jour à jamais fortuné que le peuple français consacre à l'Etre-Suprême! Jamais le monde qu'il a créé ne lui offrit un spectacle aussi digne de ses regards. Il a vu régner sur la terre la tyrannie, le crime et l'imposture: il voit dans ce moment une nation entière aux prises avec tous les oppresseurs du genre humain, suspendre le cours de ses travaux héroïques pour élever sa pensée et ses voeux vers le grand Etre qui lui donna la mission de les entreprendre et la force de les exécuter!

    2) N'est-ce pas lui dont la main immortelle, en gravant dans le coeur de l'homme le code de la justice et de l'égalité, y traça la sentence de mort des tyrans? N'est-ce pas lui qui, dès le commencement des temps, décréta la république, et mit à l'ordre du jour, pour tous les siècles et pour tous les peuples, la liberté, la bonne foi et la justice?

    3) Il n'a point créé les rois pour dévorer l'espèce humaine; il n'a point créé les prêtres pour nous atteler comme de vils animaux au char des rois, et pour donner au monde l'exemple de la bassesse, de l'orgueil, de la perfidie, de l'avarice, de la débauche et du mensonge; mais il a créé l'univers pour publier sa puissance; il a créé les hommes pour s'aider, pour s'aimer mutuellement, et pour arriver au bonheur par la route de la vertu.

    4) C'est lui qui plaça dans le sein de l'oppresseur triomphant le remords et l'épouvante, et dans le coeur de l'innocent opprimé le calme et la fierté; c'est lui qui force l'homme juste à haïr le méchant, et le méchant à respecter l'homme juste, c'est lui qui orna de pudeur le front de la beauté pour l'embellir encore; c'est lui qui fait palpiter les entrailles maternelles de tendresse et de joie; c'est lai qui baigne de larmes délicieuses les yeux du fils pressé contre le sein de sa mère; c'est lui qui fait taire les passions les plus impérieuses et les plus tendres devant l'amour sublime de la patrie; c'est lui qui a couvert la nature de charmes, de richesses et de majesté. Tout ce qui est bon est son ouvrage, ou c'est lui-même: le mal appartient à l'homme dépravé qui opprime ou qui laisse opprimer ses semblables.

    5) L'auteur de la nature avait lié tous les mortels par une chaîne immense d'amour et de félicité: périssent les tyrans qui ont osé la briser!

    6) Français républicains, c'est à vous de purifier la terre qu'ils ont souillée, et d'y rappeler la justice qu'ils en ont bannie! La liberté et la vertu sont sorties ensemble du sein de la Divinité: l'une ne peut séjourner sans l'autre parmi les hommes. Peuple généreux, veux-tu triompher de tous tes ennemis? Pratique la justice, et rends à la Divinité le seul culte digne d'elle. Peuple, livrons-nous aujourd'hui sous ses auspices aux transports d'une pure allégresse! Demain, nous combattrons encore les vices et les tyrans; nous donnerons au monde l'exemple des vertus républicaines, et ce sera l'honorer encore!

    ผู้เผยแพร่-pricha email: pricha123@yahoo.com

    ตอบลบ