open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

MEDITATION โครงการ เขียนหนังสือ เกี่ยวกับการทำสมาธิ (ตอน 2) ปราณ-ลมแห่งชีวิต


ตอน ๒ ปราณ...ลมแห่งชีวิต



ก็เพราะเธอคือลมหายใจ
เธอคือทุกสิ่ง
จะให้ทิ้งอะไร  ก็ยอมทุกอย่าง

จากเพลง ลมหายใจ
ศิลปิน - บอย โกสิยพงษ์




ตามคัมภีร์พระเวท
ลมปราณ หรือลมแห่งชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ 
ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนไม่อาจที่จะเอื้อม กล่าวถึงได้โดยสมบูรณ์ 
เพียงแต่จะจับเรื่องของ ปราณ  ในฐานะลมหายใจของคนเท่าที่ค้นคว้าได้
มาเรียบเรียง แบ่งปัน กับท่านผู้อ่าน 

ลมหายใจเป็นเรื่องสำคัญ ที่เรา—คนสมัยใหม่ทุกคน
จะต้องคิดอ่านแก้ไขปรับปรุง
เพื่อตนเอง 

ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลเล็ก ๆ ที่ใครเลยจะปฏิเสธได้  ว่า 

ไม่มีใคร จะหายใจแทนเราได้..... 


การรู้จักที่จะจัดการเรื่อง ปราณ  เขียนด้วยอักขระเทวะนาครี ว่า प्राण   ทำได้ไม่ยากนัก  การรู้จักหายใจเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพกายและใจ  เพื่อการเล่นกีฬา  เพื่อการร้องเพลง เพื่อการพักผ่อน เพื่อคลายเครียด เป็นทักษะชนิดหนึ่งที่จะเกิดได้ก็ด้วยการฝึกฝน
การรู้จักหายใจ เพื่อให้เกิดสติ เป็น “ทักษะ” มิใช่เป็น “ความรู้” 

เราใช้ความเพียรเพียงเล็กน้อย ด้วยการหายใจอย่างมีสติ  แต่ผลของความเพียรเล็กน้อยนั้น จะช่วยประคองชีวิตส่วนตนให้ดีขึ้นสุดจะประมาณ  จนในที่สุดแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ผู้ที่เรายังห่วงใยผูกพัน กล่าวคือ ตัวเราจะได้ไม่ต้องเป็นภาระแก่เขาเกินไป  และยังจะเป็นตัวอย่างให้คนใกล้เคียงได้ด้วย  ถือได้ว่าเป็นการลงทุนลงแรงส่วนบุคคล ที่คุ้มค่าในศตวรรษที่ 21 นี้ 

ถ้าจะเปรียบว่า น้ำทั้งมวล อยู่ในเมฆในฝน 
เป็นละอองอยู่ในอากาศ เป็นห้วงมหานทีในพระสมุทร์ 
ไหลอยู่ในแม่น้ำลำคลอง และตามสายน้ำแร่ใต้ดิน 
แฝงอยู่กับสรรพสิ่งทั้งหลาย
 
ปราณ ที่เรากล่าวถึงนี้  ก็จะได้แก่น้ำแก้วที่เรากำลังจะดื่ม 
หรือน้ำแร่ขวดที่เราเหน็บไว้กับเป้  ระหว่างเดินทาง 
ว่ากันตามครรลอง โบราณศรัทธาแล้ว 
ปราณ ก็คือ ส่วนหนึ่งของพลังจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลพ้นประมาณ 
ที่อยู่ในรูปลมหายใจเล็ก ๆ ของเราท่านทั้งหลาย  ผู้เป็นเจ้าของชีวิต

สิ้นแล้วลมปราณ  สำนวนพูดนี้มีความหมายตรงตัวว่า ตายแล้ว  จะยังมีโวหารใดชี้ความสำคัญของ ปราณ(प्राण)  ยิ่งไปกว่าคำพูดประโยคเล็ก ๆ ประโยคนี้อีกเล่า?


ลมหายใจ  ในแง่วิทยาศาสตร์

ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  และในหลักสูตรโรงเรียนแพทย์ทั่วโลก  วิชา General Cardiovascular/Respiratory มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง เกี่ยวข้องกับการหายใจ  วิชานี้จะเป็นวิชาหลักวิชาหนึ่งของหลักสูตรปีแรก ๆ  แต่เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องวิชาการเกินไปสำหรับเราท่านทั้งหลาย  เกินขีดความสามารถของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้  อย่างไรก็ดีผู้เรียบเรียงจะเสนอเรื่อง ลมหายใจ อย่างวิทยาศาสตร์  ด้วยการป้ายพู่กันอย่างหยาบ ๆ ไปบนผืนผ้าใบ(broad strokes)  เพียงเท่าที่เราท่านทั้งหลายน่าจะรู้และสังวรไว้บ้าง  เพื่อปูพื้นไปสู่การฝึกฝนปฏิบัติการหายใจตามแบบของเรา  โดยเรา เพื่อเรา และของเรา 

นั่นนะซี การหายใจโดยเรา หายใจเพื่อเรา และการหายใจของเรา

ลมหายใจ  เป็นเนื้อหาสำคัญของระบบการหายใจ(respiratory system)ที่มีศูนย์กลางอยู่ในทรวงอก อันได้แก่ ปอดทั้งสองข้าง  ระบบนี้เริ่มมาจากส่วนหัวของคน คือ เริ่มมาจากจมูกและปากผ่านทางลำคอลงสู่ปอด  ซึ่งอยู่ในกล่องกระดูกซี่โครงหรือทรวงอก  เพื่อความชัดเจน เราจะแบ่งการพิจารณาทั้งตัวระบบการหายใจและภาคการแสดงผลของระบบการหายใจ ออกเป็นสองนัยยะ คือ นัยยะของเนื้อตัวร่างกาย กับ นัยยะของจิตใจ  ทั้งนี้โดยจะเสนอการพิจารณาเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งสองนัยยะ

เชื้อเพลิงที่จะมาก่อพลังงานให้ร่างกายได้ใช้สอย  เราได้มาจากอาหารที่รับประทาน  โดยที่เซลส์ทั้งหลายในกายคน  จะนำเคมีธาตุต่าง ๆ ในอาหารออกมาใช้ กระบวนการนี้ก่อให้เกิดพลังงานก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เกิดของเสีย เป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์  กระบวนการซึมซับสารอาหารของเซลส์ มีชื่อเรียกกันทางวิทยาศาสตร์ว่า “metabolism” ซึ่งต้องการอ็อกซิเจนมาร่วมปฏิบัติการด้วย 

เมื่อเราหายใจเข้าไปในปอด  อ็อกซิเจนจะถูกดูดซึมเข้าไปในเลือด  ขณะเดียวกันคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในเลือด  ก็จะถูกถ่ายเทออกจากเลือดไว้ในปอด--เพื่อการหายใจออกทิ้ง  เลือดใหม่รุ่มรวยด้วยอ็อกซิเจน  จะเวียนไปยังหัวใจ  เพื่อปั้มส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  เพื่อนำไปใช้ในการกระบวนการ “metabolism” ต่อไป  โปรดพิจารณาภาพระบบการหายใจของคน


ที่มา -  http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/5e/Respiratory_system_complete_en.svg


ศัพท์ภาษาอังกฤษ:  diaphragm = กระบังลม

นอกจากปอดแล้ว  อวัยวะสำคัญของระบบการหายใจได้แก่ กระบังลม หรือที่ภาษาอังกฤษในภาพเรียกว่า diaphragm   ดังที่เขียนระบุไว้ตอนล่าง ในภาพด้านซ้ายมือของท่านผู้อ่าน  คำว่า ได-อะ-แฟรม นี้ผู้เขียนหัดสะกดอักขระตั้งหลายครั้งกว่าจะจำได้และเขียนถูก  เพราะนอกจากจะมีตัวพยัญชนะ p-h-r ควบกันอยู่ทั้งสามตัวแล้ว  ยังมีตัวสะกดซ้อนตัวสะกด g-m อีกสองตัวอีกต่างหาก

กระบังลม  หรือ ไดอะแฟรม เป็นกล้ามเนื้อที่รองรับปอดเอาไว้  อยู่ในทรวงอกส่วนล่างก่อนถึงช่องท้อง(ดังในภาพ)  จะถือว่า ไดอะแฟรม คืออวัยวะภายในที่แบ่งส่วนทรวงอกออกจากส่วนช่องท้องก็ได้  กล้ามเนื้อกระบังลมมีรูปร่างคล้ายฝาชียอดป้าน ที่ครอบอยู่บนช่องท้อง  ทำหน้าที่หลักในการหายใจเพราะมีปอดตั้งอยู่ข้างบน  ไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร  กล่าวคือ  กระบังลมช่วยดึงลมจากภายนอกเข้ามาในปอด  และช่วยขับดันลมจากปอดกลับออกไปภายนอก  ถ้าเทียบกับรถจักรยาน กระบังลมคือเครื่องสูบลม  ส่วนปอดคือล้อรถอันเป็นภาชนะที่รองรับลม  กระบังลมจึงมีความสำคัญต่อระบบการหายใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปอดเลย  ท่านผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์แนะนำว่า  ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องลมเข้าลมออก(ยุบหนอพองหนอ)เพียงประเด็นเดียว  ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบังลมจะสำคัญกว่าความเข้าใจเรื่องปอดด้วยซ้ำ  เพราะว่าลม เข้า-ออก ได้ด้วยกระบังลม  ไม่ใช่ เข้า-ออก ได้เพราะปอด 

ทางกลของกระบังลม  เป็นอย่างไร?

ในด้าน mechanics หรือทางกลนั้น  แหล่งที่ใช้ค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้บางแหล่งระบุว่า  คนหลายคน (ซึ่งในความเป็นจริงก็จะรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย) ยังไม่เข้าใจการทำงานของกระบังลม  คิดว่าการหายใจเข้าหายใจออกเป็นการยุบตัวพองตัวของปอด  ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด  เพราะว่ากระบังลมต่างหากที่ทำให้ลมเข้าและลมออกจากร่างกายมนุษย์  โดยมีลักษณะการทำงานในทางกล ดังได้ค้นคว้ามาเรียบเรียงเสนอท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

เมื่อกล้ามเนื้อกระบังลมแบนลง  และเคลื่อนตัวลงไปทางช่องท้องเล็กน้อย  ประมาณ 1 เซ็นติเมตรเท่านั้นไม่ได้มากมายอะไร  จะทำให้ปอดขยายตัว  และขณะเดียวกันท้องก็ป่องขึ้น  ดึงลมจากภายนอกเข้ามา  เป็นการ หายใจเข้า  เมื่อกล้ามเนื้อกระบังลมเลิกแบนและเคลื่อนตัวขึ้นมาในทรวงอกเล็กน้อยประมาณ 1 เซ็นติเมตร  จะทำให้ปอดแฟบลง(และขณะเดียวกันท้องก็ยุบลงด้วย)  บีบลมออกไป  เป็นการ หายใจออก

กล้ามเนื้อกระบังลม  เป็นกล้ามเนื้อไม่กี่อย่างในกายคนที่สามารถทำหน้าที่ได้สองระบบ  คือ  ทำงานระบบอัตโนมัติ  ทำโดยที่คนเราไม่รู้ตัวก็ได้  เช่น  เวลาที่เรากำลังนอนหลับ  กระบังลมก็ยังทำงานเพื่อการหายใจเข้าออกได้  หรือเมื่อเราตื่นอยู่  เรานึกอยากจะบังคับให้มันทำงานก็ได้  เช่น  เวลานักร้องจะเป็นคุณบอย โกสิยพงษ์  หรือนักร้องในอดีตเช่น  คุณทูล ทองใจ  หรือคุณลูซิอาโน ปาวาร็อตติ(Luciano Pavarotti)กำลังซ้อมเสียง  หรือกำลังร้องเพลงอันไพเราะ  ท่านเหล่านั้นก็สามารถที่จะบังคับการทำงานของกระบังลมได้  เป็นต้น  หรือแม้ขณะที่โยคีหรือผู้กำลังฝึกลมปราณ  โยคีหรือผู้กำหนดลมหายใจนั้น  ก็สามารถบังคับการทำงานของกระบังลมได้อีกเหมือนกัน  หรือแม้กระทั่งเวลาที่นักกีฬาโอลิมปิคหรือนักกีฬาอาชีพอย่าง  ไทเกอร์ วูด  กำลังฝึกซ้อม  ครูฝึกสมัยใหม่บางคนในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ  ท่านก็จะให้นักกีฬาฝึกซ้อมการหายใจลึก  ด้วยการบังคับกระบังลมด้วย 

แต่ยังไม่มีใครแต่งเพลงเกี่ยวกับ mechanics หรือการกระทำเชิงกลของกระบังลมให้ศิลปินขับร้องเพราะว่าคงจะแต่งเพลงให้โรแมนติคได้ยาก  หรือท่านผู้อ่านจะลองคิดแต่งดูเล่น ๆ ?

ก็เพราะอวิชชา  ในเรื่องวิทยาศาสตร์

ว่าแล้วมั๊ยล่ะ  ก็ด้วยอวิชชาเชิงวิทยาศาสตร์  ทั้ง ๆ ที่เราท่านทั้งหลายก็เคยเรียนฟิสิคส์กับชีววิทยากันมาแล้วมากบ้างน้อยบ้าง  ผู้คนจำนวนมากผู้ขึ้นชื่อว่ามีการศึกษา  ใช่ว่าจะเป็นจับกังหรือ slumdogs ด้อยการศึกษา  กลับพากันหายใจตื้น ๆ กับปอดส่วนบนเท่านั้น  ไม่ได้หายใจลึกลงไปยังปอดส่วนกลาง  หรือลึกถึงปอดส่วนล่าง  ที่วางอยู่บนกระบังลมนั้นเลย

กายวิภาคของมนุษย์เมื่อถูกนำมาใช้ในการหายใจ ขาเข้า  แบ่งออกได้สามภาคคือ 

ภาคที่หนึ่ง ปฏิบัติการเชิงกลของกระบังลมซึ่งจะเคลื่อนที่ลง  ทำให้ช่องท้องขยายตัว(พุงป่อง)  ดึงลมลงสู่ ปอดส่วนล่าง

ภาคที่สอง ปฏิบัติขยายตัวของกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง(intercostals muscles)  ดึงลมเข้าสู่ ปอดส่วนกลาง 

ภาคที่สาม  ปฏิบัติการยกตัวขึ้นของกระดูกไหปลาร้า(collar bones)  ดึงลมเข้าสู่ ปอดส่วนบน



 
 











ที่มา -- https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiiodXSbiWIr-fcIMX_iMS41XQvu0GuuOp0hux3y094V54pIbBYUqFfd59wEhnJdaM_uVR2Z8jJXT9Gs43Aqq5_PnzC7SGQMz3PtY3AmT2wsP73jM0_woTEBpEW3LDXnEdDFEdaAR8Jk9Y/s1600/DSCN9304.JPG


ก็เพราะอวิชชาในเรื่องวิทยาศาสตร์...เราจึงหายใจไม่เต็มปอด  หรือที่พูดกันว่า หายใจไม่ทั่วท้อง

คนทั่วไปในเวลาปกติ  จะหายใจตื้น ๆ แค่ปอดส่วนบน  จะหายใจลึกก็เฉพาะเวลากลุ้มใจแล้วถอนหายใจออกมาเท่านั้น  การ หายใจไม่ทั่วท้อง เป็นสำนวนโวหาร  ส่วนการ หายใจไม่เต็มปอด เป็นข้อความจริงทางวิทยาศาสตร์  การได้หายใจเต็มปอด  หรือพูดตามสำนวนว่าหายใจทั่วท้อง  จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์  เชิงวิทยาศาสตร์  แก่ร่างกายเรา  อย่างไรบ้าง?
                  
คุณประโยชน์ประการที่ 1. เปิดโอกาสให้ร่างกายได้กำจัดของเสียในรูปก๊าซและไอน้ำ  ซึ่งเกิดจากกระบวนการ metabolism หรือการซึมซับธาตุอาหารของเซลส์  ก๊าซเสียที่เกิดขึ้นคือคาร์บอนไดอ็อกไซด์กับไอน้ำ  จะถูกการหายใจขาออก  ขับออกไปเสียจากร่างกาย

คุณประโยชน์ประการที่ 2. การหายใจเต็มปอดจะลำเลียงอ็อกซิเจนป้อนให้แก่เซลส์ทั้งหลายในกายคนได้อย่างพอเพียง  เพราะว่า  การที่เซลส์มีอ็อกซิเจนใช้ไม่เพียงพอนั้น  ทำให้กระบวนการ metabolism หรือการซึมซับสกัดธาตุอาหารเป็นไปไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ธาตุอาหารก็ดี  แร่ธาตุที่จำเป็นก็ดี  ตลอดจนวิตามินต่าง ๆ ก็จะสูญเปล่าไปมาก  ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่สมประโยชน์ 

แล้ว ด้านจิตใจ ล่ะ?  การหายใจทั่วท้อง(หายใจเต็มปอด)หรือหายใจลึก(deep breathing)  ประกอบคุณงามความดีอะไรบ้าง  แก่จิตใจคนเรา?

1.    ช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น  จิตใจแจ่มใส  คิดอ่านได้อย่างกระจ่างสว่างแจ้ง

2.    เผชิญหน้ากับปัญหา  หรือปมปริศนาที่ซับซ้อน  ได้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ  ไม่เกิดโรคเครียดจัด  หรือออกอาการประสาทรับประทานและเส้นเสียเป็นอาจิณ 

3.    มีบูรณาการด้านอารมณ์  ไม่วูบวาบวู่วาม  ไม่ปากไว  ปากกับใจมีดุลภาพ  รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ดีขึ้น  อนึ่ง  ใจสามารถประวิงการทำงานของปากเอาไว้ได้

4.    จิตใจควบคุมการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น  สั่งการประสานงานอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน  เช่น  เมื่อปากยิ้มตาก็จะยิ้มด้วย  ไม่ใช่ยิ้มแต่ปาก  ส่วนตาค้างแข็งทื่อคล้ายผีกระสือ  เป็นต้น

พิลึกไปเปล่า  ไม่พูดถึงปอดมั่งเลย?

                   ในการหายใจเข้าและหายใจออกนั้น  กล่าวอย่างตวัดพู่กันแบบหยาบ ๆ (broad strokes)แล้ว  จะเห็นได้ว่าปอดทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำตั้งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ออกแรงช่วยในการดึงลมเข้าหรือขับดันลมออก  แต่กล้ามเนื้อกระบังลมก็ดี  กล้ามเนื้อชายโครง  และกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงก็ดี  การยกตัวของกระดูกไหปลาร้าก็ดี  เหล่านี้ต่างหากที่คอยช่วย  ยก  ดึง  ดัน  บีบ  และยืดขยายปอด  ทำให้ลมถูกขับออกจากปอด  หรือลมถูกสูบเข้ามาในปอด

                   อ้าว...แล้วจริง ๆ แล้วปอดทำหน้าที่อะไร?  หน้าที่หลักของปอดเกี่ยวกับระบบหายใจก็คือ  เป็นที่สำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซดี(อ็อกซิเจน)กับก๊าซเสีย(คาร์บอนไดอ็อกไซด์)  ทั้งนี้โดยที่เวลาเราหายใจเข้าอากาศที่เข้าไปในปอดนั้น  กล่าวโดยคร่าว ๆ จะประกอบด้วยไนโตรเจนราว 78% อ็อกซิเจนราว 21% ที่เหลือเป็นก๊าซอื่น ๆ  อ็อกซิเจนจะถูกสกัดผ่านผนังถุงลมเล็ก ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนในปอดเข้าไปสู่เลือด  ส่วนก๊าซเสียก็จะออกจากเลือดเข้ามาในปอด  และหายใจออกทิ้งไป    


สรุป กิริยาหายใจเข้า  หายใจออก

                   สำหรับมนุษย์ผู้มีโครงสร้างอวัยวะเป็นปกติ

                   กิริยาหายใจเข้า   การหายใจเข้า ตามปกติ นั้นถูกกำกับการแสดงโดยการเคลื่อนไหวของกระบังลม  เมื่อกระบังลมแบนลงพร้อมกับเลื่อนตัวลงไปทางช่องท้อง(เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 เซนติเมตรเศษ)  ทำให้ท้องป่อง  กระบังลมดึงอากาศจากภายนอกเข้าปอด   

                   กิริยาหายใจออก  กระบังลมสปริงตัวกลับที่เดิม  ตามปกติ  นั้นไม่ต้องไปบังคับอะไรเลย  กระบังลมสปริงตัวกลับเองและลมจะถูกขับออกมาเอง  ซึ่งนอกจากลมเสียจะถูกขับออกมาแล้วยังมีไอน้ำออกมาด้วย  เพราะฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นการฝึกร้องเพลง  หรือฝึกโยคะของโยคี  และฝึกทักษะการหายใจของนักปฏิบัติการผ่อนลมทั้งหลาย  ให้จำไว้เลยว่า  การหายใจออกคือหัวใจ 

ท่านผู้อ่านคงไม่เคยได้ยินนักร้องท่านใด  เปล่งเสียงอันไพเราะของท่านในช่วงหายใจเข้า  ใช่เปล่าครับ?  ท่านทำเสียงไพเราะเสนาะโสตกันเฉพาะตอนลมขาออกเท่านั้นเพราะฉะนั้น  การรู้จักที่จะบังคับลมขาออกให้ได้ดังใจปรารถนา  จึงเป็นหัวใจของการขับร้อง  ทำนองเดียวกันสำหรับโยคีที่ฝึกหายใจมาดีถึงขั้นสูงแล้ว  ท่านเล่ากันว่าโยคีตนนั้น  จะสามารถผ่อนลมหายใจออกมาได้  แม้นำขนนกไปวางใต้จมูก  ขนนกก็จะไม่กระดิก  ส่วนเราท่านทั้งหลายผู้ประสงค์จะฝึกทักษะการผ่อนลมหายใจเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม  โปรดสังเกตว่า  อาการคลายเครียดก็ดี  อาการผ่อนคลายก็ดี  อาการสุขสบายก็ดี  เกิดในช่วงเวลาที่ลมหายใจออกจากร่างกายเรา  ไม่เชื่อลองทำดูเดี๋ยวนี้เลย  หายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นไว้ชั่วขณะ  ก่อนที่จะปล่อยลมออกมา  พลางทำเสียงว่า ฮ่า...  (สบายมั๊ยล่ะ?)  

                   กิริยาเดียวกันมีหลายชื่อ  เมื่อเราหายใจลึกดึงลมเข้าปอดส่วนลึกที่สุด  แทนที่จะหายใจตื้น ๆ กับปอดส่วนบน  ทั้งนี้โดยที่เราใช้กระบังลมช่วยหายใจอย่างเต็มที่  แทนที่จะหายใจด้วยการขยายซี่โครงอย่างเดียว  การหายใจแบบนี้มีหลายชื่อ  เช่น หายใจด้วยกระบังลม(Diaphragmatic breathing)  หายใจด้วยกล้ามหน้าท้อง(abdominal breathing)  หายใจด้วยท้อง(belly breathing)  หรือหายใจลึก(deep breathing)



ภาคลงมือทำ
สำหรับ บทลมหายใจ  เชิงวิทยาศาสตร์

          สมมติว่าท่านเป็นผู้มีโครงสร้างอวัยวะและร่างกายเป็นปกติ  ขอให้ท่านฝึกหายใจ
เชิงวิทยาศาสตร์  ดังนี้

          1. นอนหงายราบกับพื้น  นอนแบบสบาย ๆ  บนแผ่นรองออกกำลังกาย(exercise mat)
หรือแผ่นรองฝึกโยคะ หรือแผ่นรองออกกำลังกาย หรือบนเสื่อธรรมดา  หรือบนกระดานพื้นบ้าน  ทั้งนี้โดยที่ท่านไม่เกร็งเนื้อตัวส่วนใด  ปล่อยตัวตามสบายจริง ๆ

2. วางฝ่ามือขวาลงบนหน้าท้อง  ระหว่างสะดือกับชายโครง  (หรือจะใช้มือซ้ายก็ได้)

3. วางฝ่ามือซ้ายบนหน้าอก  ใต้กระดูกไหปลาร้า (หรือจะใช้มือขวาก็ได้)

4. หายใจออก  โดยที่ครั้งแรกนี้อาจเกร็งกล้ามหน้าท้องช่วยดึงกระบังลมลงมา  เพื่อขับลมออกจากปอดให้หมด  หลังจากนั้นให้หายใจตามธรรมดาธรรมชาติ  อย่าเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดมาช่วยหายใจเป็นอันขาด
          
5. ให้นึกถึงภาพเด็กทารกที่กำลังนอนหงายหลับอยู่  และทารกนั้นจะหายใจระรวยช้า ๆ  เมื่อนึกเห็นภาพทารกดังกล่าวได้ชัดเจนดีแล้ว  ก็ให้หายใจเลียนแบบเด็กทารกนั้นต่อไป  โดยไม่คิดอะไร

6. ต่อมา  เริ่มใช้สติเข้าจับ  รับรู้กิริยาหายใจของตัวเอง  ทั้งนี้โดย ไม่เพ่ง สติมากเกินไปจนเกิดอาการเครียด และไปเกร็งกล้ามเนื้อในระบบการหายใจ(respiratory system muscles)  ให้ใช้สติเข้าจับพอให้รู้สึกตัว ว่าเวลาหายใจเข้า ท้องจะป่องออก  ดันฝ่ามือข้างที่วางอยู่ระหว่างสะดือกับชายโครงให้ขยับน้อย ๆ ลอยสูงขึ้น  และเวลาหายใจออกฝ่ามือนั้นก็จะลดลงมา  เพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน (เวลานี้เราไม่สนใจฝ่ามือที่วางใต้ไหปลาร้า)

7. โปรดระลึกทราบอีกครั้งหนึ่งว่า  ประเด็น 1- 6 นั้น เป็นวิทยาศาสตร์ที่ประจักษ์ได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องเข้าห้องแลบปฏิบัติการ  และไม่จำเป็นจะต้องอ้างอิงคัมภีร์ของศาสนาใด

8. การยุบการพองเล็กน้อยของหน้าท้อง  ที่ท่านรับรู้ได้จากการขยับขึ้นลงของฝ่ามือข้างที่วางอยู่ระหว่างสะดือกับชายโครงนั้น  ลักษณะการหายใจตามปกติธรรมดาเป็นธรรมชาติในท่านี้เมื่อท่านหายใจหลาย ๆ ครั้งเข้า  จะสอนให้ท่านประจักษ์เองว่า  เวลาหายใจเข้ากระบังลมอันเป็นกล้ามเนื้อที่เรามองไม่เห็น  อยู่เหนือช่องท้องและอยู่ใต้ปอด  มัน เลื่อนลง (เลื่อนเพียงเล็กน้อยประมาณ 1 เซนติเมตร)ทำให้ท้องป่อง  ส่วนเวลาเราหายใจออกกล้ามเนื้อกระบังลมนี้โดยที่ไม่ต้องออกแรง  มันสปริงตัวกลับเอง  คือ  เลื่อนตัวกลับขึ้นบน(เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 เซนติเมตร)  ถ้ารับรู้ประเด็นนี้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ  ไม่ซีเรียสนักหรอก

9. ทำไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกสบายเนื้อสบายตัว  สบายกายสบายใจ  ทำนานเท่าใดก็ได้จนกว่าจะเบื่อและเลิกไปเอง  แต่จะให้ดีควรกำหนดเวลาฝึกฝน  เช่น  สามนาที  ห้านาที  หรือนานกว่านั้นตามอัธยาศัย

10. ฝึกทักษะการหายใจของนักปฏิบัติการผ่อนลมทั้งหลาย  ให้จำไว้เลยว่า  การหายใจออกคือหัวใจ 

ท่านผู้อ่านคงไม่เคยได้ยินนักร้องท่านใด  เปล่งเสียงอันไพเราะของท่านในช่วงหายใจเข้า  ใช่เปล่าครับ?  ท่านทำเสียงไพเราะเสนาะโสตกันเฉพาะตอนลมขาออกเท่านั้น เพราะฉะนั้น  การรู้จักที่จะบังคับลมขาออกให้ได้ดังใจปรารถนา  จึงเป็นหัวใจของการขับร้อง  ทำนองเดียวกันสำหรับโยคีที่ฝึกหายใจมาดีถึงขั้นสูงแล้ว  ท่านเล่ากันว่าโยคีตนนั้น  จะสามารถผ่อน ลมหายใจออก มาได้  แม้นำขนนกไปวางใต้จมูก  ขนนกก็จะไม่กระดิก


จบ ตอน2
โพสต์ เมื่อ วันที่ 2 ตุลาคม 2557

            ตอน 1  โอมมม.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น