open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เล่าเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศกรีก

--ไว้เป็นอุทาหรณ์ สำหรับเมืองไทย


แดง ใบเล่
บทความเศรษฐกิจ


          สุภาพสตรีบางคน ตั้งปณิธานว่า จะไม่ยอมอ่านบทความเศรษฐกิจ-ธุรกิจ เพราะคนเขียน ๆ ไม่รู้เรื่อง  ด้วยเหตุนั้นสไตล์ของบทความบทนี้ ประสงค์จะทำให้ปณิธานของพวกเธอ ล่มสลาย.....

          เราได้ยินข่าวอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจประเทศกรีก  แต่ผู้เขียนจับประเด็นไม่ได้ว่า จริง ๆ แล้วมันเรื่องราวอะไรกันแน่ และมีความเป็นมาอย่างไร?  หรือว่าท่านผู้อ่านพอจะทราบเค้าเรื่องเงื่อนงำ ว่าเป็นอย่างไร?     

          บทความชิ้นนี้ค้นคว้าเขียนขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะบรรจุเป็นภาคผนวกอยู่ในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ชื่อ “เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์”  ฉบับปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ.2558  ซึ่งผู้เขียนโพสต์ไว้กับกิจการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของ บริษัท ซีเอ็ดฯ  

          บทความ “ลำดับเหตุการณ์ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ประเทศกรีก” ใจความว่า.....




ข้อมูลพื้นฐาน

          เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น เกี่ยวกับประเทศกรีก ซึ่งผู้เขียนได้เคยแบกเป้ไปทัศนาจรมากับมิตรสหายมาสองสามครั้ง  โดยที่ครั้งหนึ่งนั้น เคยชวนกันเดินดุ่ย ๆ ทำเป็นไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เดินออกจากกลางกรุงเอเธนส์ไปขึ้นเขา อันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารเพ็นเธน็อน 

          สหายชุดนั้นเราเคยเดินขึ้นภูหลวง จังหวัดเลย ด้วยกันมาก่อน  โดยเดินขึ้นจากตีนเขา  ภูหลวง ในเวลาเช้าประมาณแปดนาฬิกา  เดินเรื่อย ๆ เหนื่อยนัก พักหน่อย หนึ่งวันเต็ม ๆ ขึ้นถึงบนยอดภูราวย่ำค่ำ  โดยที่ไม่ได้พกน้ำไปกินเลย มีแต่กล่องข้าวคนละกล่อง  สำหรับน้ำเราหากินเอาตามแหล่งน้ำธรรมชาติบนภู เช่น ขุดเอาตามแอ่งทรายท้องธารในถ้ำบ้าง กินน้ำตามห้วยเล็ก ๆ บ้าง ฯลฯ  เพราะฉะนั้น สำหรับพวกเราแล้ว การเดินจากกลางกรุงเอเธนส์ ไปขึ้นเขาเพื่อชมมหาวิหารเพ็นเธน็อน เป็นเรื่องจิบจ้อยมาก ใช้เวลาเดินเพียงประมาณสองชั่วโมง 

          สำหรับผู้เขียน-สมัยที่ยังเป็นนักเรียนในฝรั่งเศส ก่อนจะมาเดินขึ้นภูหลวง ก็เคยมีประสบการณ์เดินขึ้นภูเขาแอลป์ ชายแดนฝรั่งเศส-สวิส กับกลุ่มเพื่อนนักเรียนชาวฝรั่งเศสสี่ห้าคนมาก่อน  เราเดินขึ้นจากตีนเขาด้านเมืองเกรอะโนบ ในประเทศฝรั่งเศส ขึ้นไปกางเต้นท์นอนบนยอดที่ชื่อ Col de Pra –ท่านผู้อ่านสามารถร่วมประสบการณ์แบบเสมือนจริง ได้ด้วยการเคาะชมภาพ Col de Pra ได้ที่กูเกิ้ล  เราเริ่มออกเดินขึ้นเขาเวลาห้าโมงเย็น ขึ้นไปถึงริมทะเลสาปเล็ก ๆ บนเขา อันเป็นที่กางเต้นท์นอน เวลาประมาณเที่ยงคืน  ซึ่งท่านสามารถเห็นภาพทะเลสาปนั้นได้ที่กูเกิ้ล  อากาศเย็นยะเยือก ดาวเต็มฟ้า-และฟ้าก็ดูต่ำราวกับจะเอื้อมมือไปเด็ดดาวลงมาได้  เรากินอาหารค่ำอันประกอบด้วย ขนมปังฝรั่งเศส(บาแก็ต) ใส้กรอกชนิดแห้ง เนยแข็ง และเหล่าไวน์-กินจากปากขวด แบบเวียนขวดดื่มกันรอบวง  นึกถึงแล้วยังน้ำลายสอ แต่นั่นแหละ อาหารสามัญอย่างนั้นมันต้องเดินขึ้นไปกินบนภูเขาแอลป์ จึงจะอร่อยเป็นพิเศษ.....

          สไตล์การเขียนย่อหน้าด้านบน เป็นสไตล์เขียนชนิดที่เพื่อนฝูงชาวกรุงเทพฯบางคน ขนานนามว่า สไตล์ “โม้เพื่อชาติ”  ปกติผู้เขียนจะเป็นคนซื่อ ๆ และตัวเองก็ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ  ก็เลยไม่ทราบเหมือนกันว่า ที่เขาพูดนั้นหมายความว่าอะไร  อ้อ-มีเกร็ดเล็ก ๆ จะเล่าเกี่ยวกับประเทศกรีกอีกเรื่องหนึ่ง  ครั้งหนึ่งเคยไปที่นั่นในหน้าร้อนของเขา ประมาณเดือนกรกฎาคม  ไปกับมิตรสหายอีกกลุ่มหนึ่ง คนละกลุ่มกันกับพวกที่เคยพากันไปขึ้นเขาเพ็นเธน็อน ปรากฏว่าอากาศที่กรุงเอเธนส์ร้อนฉิบหายเลย ร้อนจนนอนไม่หลับ  บนที่นอนในเกสต์เฮาส์ที่พัก พอเอนหลังลงนอนมันร้อนผะผ่าว จนต้องสะดุ้งผงะขึ้นมา ร้อนขนาดนั้น-คิดดู  สรุปแล้วเวลานอนต้องนอนตะแคง มันจะร้อนน้อยลงหน่อยนึง ถึงได้หลับตาลง


          ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศกรีก
          ข้อมูลใกล้ปีวิกฤตการณ์ พ.ศ.2550 (เทียบกับข้อมูลไทย ปีเดียวกัน)

          ประชากร – 10 ล้านคน (ไทย- 64 ล้านคน)
          อยู่ในเมือง – 60% (ไทย – 30%)

          แรงงานภาคเกษตร 10% ภาคอุตสาหกรรม 20% ภาคบริการ 70%
(ไทย: แรงงานภาคเกษตร 50% ภาคอุตสาหกรรม 14% ภาคบริการ 35%)

          พื้นที่ 1 แสน 3 หมื่น ตร.กม. (ไทย 5 แสน ตร.กม.)

ผลิตผลเกษตรกรรม: ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ บีทรูท-ใช้ทำน้ำตาล มะกอก-ใช้ทำน้ำมันพืช  (ไทย: ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มนำมัน ข้าวโพด อ้อย มะพร้าว ถั่วเหลือง)

          ประมง: ปริมาณจับปลาปีละ 190,000 เมตริกตัน (ไทย: 4,018,000 เมตริกตัน)

ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม: ท่องเที่ยว อาหารและยาสูบ ทอผ้า เคมี โลหะ เหมืองแร่ น้ำมัน (ไทย: ท่องเที่ยว ทอผ้าและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ยาสูบ ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์)

          ผลิตไฟฟ้า: 55.5 พันล้านกิโลวัตต์ (ไทย: 121.7 พันล้านกิโลวัตต์)

การบิน-ระยะทางรวมของการโดยสาร(passenger-miles): 5.3 พันล้านไมล์
(ไทย: 30 พันล้านไมล์)

          การศึกษาภาคบังคับ: อายุ 6-14 ปี (ไทย: 6-14 ปี)

          งบประมาณทหาร: 4.5 พันล้านดอลลาร์ กำลังพล: 164,000 คน
(ไทย: 2 พันล้านดอลลาร์ กำลังพล: 300,000 คน)

          การเงิน/การคลัง:

          -งบประมาณแผ่นดิน 103 พันล้านดอลลาร์ (ไทย 32 พันล้านดอลลาร์)     
         
          -นำเข้า 48.2 พันล้านดอลลาร์ ส่งออก 18.5 พันล้านดอลลาร์
(ไทย: นำเข้า 107 พันล้านดอลลาร์  ส่งออก 105.8 พันล้านดอลลาร์)  

          -รายได้จากการท่องเที่ยว: 12.7 พันล้านดอลลาร์ (ไทย: 10 พันล้านดอลลาร์)
         
          -สำรองเงินตราต่างประเทศ 354 ล้านดอลลาร์ (ไทย 35.47 พันล้านดอลลาร์)

อ่านลายแทง จากตัวเลข

ประเทศกรีกมีพลเมืองน้อยกว่าไทยประมาณหกเท่าตัว คือ คนไทยหกคนเท่ากับคนกรีกหนึ่งคน  แต่ว่าคนกรีกอยู่อาศัยในเขตชุมชนเมืองมากกว่าคนไทย คนไทยเจ็ดคนในสิบคนอยู่ในชนบท-เช่นผู้เขียนเป็นต้น  คนกรีกอยู่ในชนบทเพียงสี่คนในสิบคน  คนทำงานชาวกรีกเจ็ดในสิบทำงานกับภาคบริการ ขณะที่มีคนงานไทยเพียงสามคนครึ่งอยู่ในภาคบริการ  คนงานกรีกเพียงหนึ่งในสิบคนหากินกับภาคเกษตร แต่คนงานไทยห้าในสิบคนอยู่กินกับภาคเกษตร-เช่นผู้เขียนเป็นต้น

ผลิตผลเกษตรของกรีกส่วนมากเป็นธัญพืชกับมะกอก(สำหรับทำน้ำมันพืช)  ผลผลิตเกษตรของไทยกระจายมากชนิดกว่าของกรีก คือนอกจากธัญพืช(ข้าว)แล้ว น้ำมันพืชของไทยจะมาจากปาล์มน้ำมันกับมะพร้าว มีมันสำปะหลังเพิ่มเข้ามาในส่วนที่จะนำไปทำอาหารสัตว์ นอกจากนั้นยังมียางพารากับถั่วเหลือง  ส่วนพืชทำน้ำตาลของกรีกคือบีทรูท ของไทยคืออ้อยกับมะพร้าว นี่เรายังไม่พูดถึงผักและผลไม้

สำหรับการประมง ประเทศกรีกที่มีเกาะจำนวนมาก แต่กลับจับปลาได้น้อยกว่าไทยมาก จับปลาเพียงร้อยละห้าของที่ไทยจับได้  กรีกจับปลาปีละสองแสนตัน  ไทยปีละสี่ล้านตัน

อุตสาหกรรมของกรีกมีน้อยชนิดกว่า ส่วนอุตสาหกรรมไทยโดดเด่นกว่าตรงที่มีอุตสาหกรรมเบา(light industry)ที่พัฒนาไปเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นกอบเป็นกำ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ กับ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ กรีกไม่มีอุตสาหกรรมเหล่านั้น

กองทัพกรีกเล็กกว่าไทยหนึ่งเท่าตัว(แง่กำลังพล)  แต่ใช้งบประมาณมากกว่าไทย กว่าสองเท่าตัว

          บทวิเคราะห์ลายแทง ให้ดูตัวเลขเฉพาะหมวด การเงิน-การคลัง  ประเด็นแรก. พบว่าการบริหาร “รัฐ”กรีก ใช้เงินมากกว่าการบริหาร “รัฐ”ไทย ถึงกว่าสามเท่าตัว งบประมาณแผ่นดินของกรีก 103 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ของไทย 32 พันล้านดอลลาร์  คิดแบบบ้าน ๆ ได้ว่าบ้านกรีกเป็นเรือนหลังเล็ก คนอยู่กันน้อยคน น้อยกว่าที่บ้านไทยถึงหกเท่า คือบ้านกรีกมีคนอยู่สองสามคน ในขณะที่บ้านไทยหลังเบ้อเร้อมีคนอยู่ราวสิบสองสิบสามคน แต่บ้านกรีกใช้เงินวันละประมาณ 103 บาท ขณะที่บ้านไทยใช้เงินวันละ 32 บาท

          ประเด็นที่สอง. บ้านกรีกซื้อของเข้าบ้านวันละ 48.2 บาท ขณะที่ขายออกไปได้วันละ 18.5 บาท ขาดดุลวันละ 48.2 = 18.5 = 29.7 บาท  อย่างไรก็ดี มีนักท่องเที่ยวแวะมาซื้อของในบ้านอีกวันละ 12.7 บาท ช่วยให้การขาดดุล(หรือขาดทุน)ลดลงเหลือขาดทุนวันละ 29.7 – 12.7 = 7 บาท

          บ้านไทยซื้อของเข้าบ้านวันละ 107  นำของออกไปขายได้เงินเข้าบ้านวันละ 105.8 ทำให้ขาดดุล(หรือขาดทุน)วันละ 107 – 105.8 = 1.2 บาท  อย่างไรก็ดี มีนักท่องเที่ยวแวะมาซื้อของในบ้านวันละ 10 บาท ช่วยให้บ้านไทยอยู่กันแบบได้กำไรวันละ 10 – 1.2 = 8.8 บาท

          ประเด็นที่สาม. บ้านกรีกมีเงินฝากธนาคาร(สำรองเงินตราต่างประเทศ)อยู่ 354 บาท  บ้านไทยมี  เงินฝากธนาคาร 35,470 บาท

          สรุปว่า ภายในอีกประมาณ 50 วัน(354 / 7 = 50.6) บ้านกรีกจะผลาญเงินฝากธนาคารจนหมด  ในขณะที่อีก 50 วัน บ้านไทยจะมีเงินฝากธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 35,470 + (50 X 8.8 = 440) = 35,910 บาท  ข้อมูลนี้ส่อว่า อีกไม่นานบ้านกรีกจะต้องกู้เขามากิน!


ความรู้เบื้องต้นเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศกรีก 

          จะขอเล่าสรุปแล้วกันว่า ประเทศ “นครรัฐกรีก” ของโสคราติส เพลโต อะริสโตเติล ตายไปนมนานมาแล้ว  จะเหลืออยู่ก็เฉพาะในความจำของคนเท่านั้น  เพลโต อะริสโตเติล รวมทั้งอะเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นคนยุคประมาณสามร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช  ซึ่งแม้แต่เมื่อเริ่มต้นคริสต์ศักราช  ดินแดนกรีกก็ตกอยู่อาแก่ณาจักรโรมันมานานแล้ว(ตั้งแต่ 146 BC)  กรีกโบราณมีสภาพเป็น “ของโบราณ” มาตั้งแต่ยุคโรมันรุ่งรืองโน่น  ใช่ว่าจะมามีสภาพ “โบราณ” กันในยุคสมัยของเรา--ซะเมื่อไหร่ 

          เมื่อแบ่งโรมันเป็นโรมันตะวันตกกับโรมันตะวันออก – ในยุคหลังคริสตกาล(ประมาณค.ศ.285) กรีกก็ตกอยู่แก่โรมันตะวันออก อันเป็นดินแดนที่ผู้ปกครองพูดละติน แต่ประชาชนพูดกรีก กระทั่งถึงค.ศ.620 เปลี่ยนภาษาราชการของโรมันตะวันออก จึงได้เปลี่ยนจากละตินเป็นภาษากรีก  โรมันตะวันออกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ปัจจุบันคือ เมืองอิสตันบูลของตุรกี  ครั้นกรุงโรมถูกอนารยชน-ชนเผ่าเยอรมันตีแตก ปีค.ศ.410  กรีกก็ยังอยู่กับอาณาโรมันตะวันออก ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอาณาจักรไบแซนไทน์ สืบมา 

          กระทั่ง ไบแซนไทน์ตกแก่แขกเตอร์ก ปีค.ศ.1453(วันที่ 29 พฤษภาคม) กรีกก็ขึ้นอยู่กับเตอร์ก--  แขกเตอร์กปกครองกรีกอยู่ประมาณสี่ร้อยปีจนกระทั่งย่างเข้าโลกสมัยใหม่ เมื่ออาณาจักรโอโตมาน(แขกเตอร์ก)ผู้เป็นเจ้าตำหรับการปกครองระบอบ “สุลต่าน”(คล้าย ๆ การปกครองสมัยอยุธยา ที่มีสมุหกลาโหม สมุหนายก เจ้าประเทศราช และหัวเมืองต่าง ๆ)ล่มสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรีกจึงได้จัดตั้งประเทศชาติอย่างสมัยใหม่ขึ้นมาปกครองตนเอง  หลังจากที่เป็นเมืองขึ้นนานาชาติมานานสองพันปี.....นับว่า นานมากครับพี่

          ประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครองของกรีก ที่อยู่ในความทรงจำของสังคมกรีกสมัยใหม่ จึงล้วนแต่เป็นประสบการณ์ของการที่เคยอยู่กับแขกเตอร์กมาสี่ร้อยปี – ไม่ใช่ประสบการณ์จากยุคเพลโต อะริสโตเติล  ซึ่งอนิจจังวัตตะสังขารา ที่กรีกสมัยใหม่ก็เพิ่งจะมา “ค้นพบเพลโต อะริสโตเติลกันใหม่” พร้อม ๆ กับยุโรปตะวันตก  ทั้งนี้โดยผ่านมาทางนักวิชาการมุสลิม ที่ได้อนุรักษ์ความรู้ความคิดเหล่านั้นไว้ในภาษาอาระบิค  แล้วมาแปลจากอาระบิคเป็นละตินกันในภายหลัง ประมาณค.ศ.1000 เห็นจะได้ โดยมีศูนย์การแปลอยู่ที่เมืองโกโดบา ในสเปน - ยุคที่นับถือศาสนาอิสลาม  

          เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครองของชาวกรีกยุคใหม่ จึงเป็นประสบการณ์จากการเคยเป็นแว่นแคว้นภายใต้อำนาจโอโตมาน เอ็มไพร์(แขกเตอร์ก)ถึงสี่ร้อยปี  ซึ่งพูดก็พูดเถอะ – เป็นประสบการณ์ “ติดลบ” และฝังอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองของกรีกสมัยใหม่ มากกว่าปรัชญาเพลโต อะริสโตเติล ซะอีก  ใจเย็น ๆ ครับกำลังจะลากเข้าประเด็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” แล้วล่ะ

          “รัฏฐะ” หรือ “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” ในจิตใต้สำนึกของคนกรีก  จึงได้แก่อำนาจการปกครองของอาณาจักรโอโตมาน ที่คอยบังคับขับไสชาวกรีก  คนกรีกไม่มีจิตสำนึกเรื่องการเสียภาษีอากรบำรุงชาติบ้านเมือง  เพราะภาษีอากรสำหรับพวกเขา คือการรีดนาทาเร้นจากศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรโอโตมาน  การหลีกเลี่ยงและหนีภาษีเป็นวัฒนธรรมแห่งการอยู่รอดในอาณาจักรโอโตมาน สำหรับคนกรีก   

          ตำแหน่งราชการเป็นตำแหน่งที่ซื้อขาย ”เซ้ง” กันได้ ขึ้นอยู่กับการหาส่วยส่งแขกเตอร์ก และแม้ปัจจุบันนี้นักการเมืองกรีกก็ใช้ตำแหน่งราชการเป็นเครื่องล่อหาเสียง เช่น พวกแกเลือกฉันนะ แล้วเดี๋ยวฉันจะพาลูกแกเข้าทำงานอบต. หรือถ้าพรรคเราได้รับการเลือกตั้ง เราจะสร้างตำแหน่งงานอบต.นับพันนับหมื่นตำแหน่งทั่วประเทศกรีก อะไรประมาณนั้น เป็นต้น 

          การให้ “ซองขาว” แก่ข้าราชการ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ข้าราชการเป็นคนของสุลต่านโอโตมาน 
         
          กลุ่มชนชั้นนักการเมืองทั้งหลาย-แม้ในสมัยหลัง ๆ นี้  ก็ไม่สามารถสร้างศรัทธาแก่คนกรีกได้  เพราะประชาชนเห็นว่า เป็นกลุ่มคนจำพวกที่หาโอกาสเพื่อฉวยเข้าสวมตำแหน่งระดับสูง เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว พวกเขาไม่ได้เห็นแก่ประชาชน  พวกเขาไม่ผิดจากข้าราชการปกครองที่อาณาจักรโอโตมานส่งมาปกครองชาวกรีก 

          ผู้รู้ฝรั่งเศสผู้หนึ่งสรุปไว้ดีแล้วว่า : กรีกเป็นประเทศชาติที่ใหญ่ยิ่ง แต่เป็นรัฐที่อ่อนแอ (a great nation, but a weak state)  รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีช่องโหว่รูรั่วมหาศาล ผู้รู้ท่านสรุปว่า รัฏฐะที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ ถือว่าเป็น รัฏฐะที่อ่อนแอ(a weak state)  และปริศนาที่น่าสนใจในเวลานี้ ก็คือ เอ้ะ-ประเทศสมาชิกเล็ก ๆ ประเทศหนึ่ง มีขีดความสามารถที่จะลากยุโรปทั้งทวีป ลงเหวได้อย่างไรกัน


ลำดับเหตุการณ์ วิกฤตเศรษฐกิจ กรีก

          พ.ศ.2517 คณะรัฐบาลเผด็จการทหารของกรีก ซึ่งอยู่มานานและไม่มีใครสนับสนุนอีกแล้ว ฉลาดพอที่จะรู้ตัวว่าตนสมควรจะลงจากอำนาจ  ซึ่งความฉลาดชนิดนี้-ค่อนข้างหายาก  รัฐบาลเผด็จการทหารผ่องถ่ายอำนาจให้พลเรือน  ผู้นำการเมืองฝ่ายพลเมืองของกรีกสมัยนั้น  ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส  ถูกกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิญให้กลับมาจัดตั้งรัฐบาล โดยที่พวกทหารยินยอมหลีกทางให้

          ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมอซิเออร์ วาลเลรี จิสการ์ด เดสแต็ง ให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนของกรีกซึ่งเป็นสหายของท่านประธานาธิบดี ที่ลี้ภัยในฝรั่งเศส ยืมเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส กลับไปกรุงเอเธนส์

          เมื่อฝ่ายพลเรือนของกรีกจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ  วาลเลรี จิสการ์ด เดสแต็ง เดินทางไปเยือนกรีกอย่างเป็นทางการ  ฝรั่งเศสได้หน้าว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่กรีก  และทำตัวเป็น “พี่เอื้อย” ให้กับกรีกนับแต่นั้นมา  ระหว่างเดินทางไปเยือนกรีก วาลเลรี จิสการ์ด เดสแต็ง กล่าวปราศรัยเป็นภาษากรีก  และมีเป้าประสงค์ที่จะลากกรีกเข้าเป็นสมาชิก “ตลาดร่วมยุโรป” หรือ “ประชาคมยุโรป” หรือ EEC หรือบางทีก็เรียกว่า EC  ซึ่งเป็นชื่อของ สหภาพยุโรป ในเวลานั้น

          พ.ศ.2524 ด้วยการเดินเรื่องสนับสนุนจากฝรั่งเศส กรีกได้เข้าเป็นสมาชิก ตลาดร่วมยุโรป หรือ ประชาคมยุโรป หรือ EEC-European Economic Communities  หรือบางทีเรียก EC-European Community  กรีกเป็นประเทศสมาชิกลำดับสิบ ก่อนสเปนและโปรตุเกสห้าปี         จิสการ์ด เดสแต็ง เคยให้เหตุผลกับประชาคมยุโรปทำนองว่า เราจะปล่อยให้กรีกซึ่งเป็นอู่อารยธรรมตะวันตก อยู่นอกประชาคมฯได้อย่างไรกัน

          ผู้นำในประชาคมยุโรป จากประเทศยุโรปทางเหนือผู้หนึ่ง เคยปรารภว่า พวกนี้-หมายถึง กรีก สเปน และโปรตุเกส ซึ่งเป็นยุโรปใต้-พวกเขาปลูกแต่มะกอก  ประเทศนั้นผลิตน้ำมันมะกอกเท่านั้นตัน ประเทศนี้ผลิตน้ำมันมะกอกเท่านี้ตัน  แล้วเราจะทำอย่างไรกับน้ำมันมะกอกเป็นตัน ๆ ของพวกเขาดี?   

          สรุปว่า กรีกตีตั๋ว เพลโต-อะริสโตเติล เข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป ในขณะที่ประเทศอื่นต้องตีตั๋วเศรษฐกิจเข้ามา  สมาชิกภาพในประชาคมยุโรปสำหรับกรีกนั้น ยิ่งกว่าถูกแจ้คพ็อต  เพราะกรีกได้โอกาส-และเล็งอยู่แล้ว-ที่จะปรับระนาบความเป็นอยู่ ยกระดับเศรษฐกิจ ให้ได้ระดับเดียวกับยุโรปตะวันตก  กรีกใช้โอกาสจากสมาชิกภาพ ขอความช่วยเหลือทางการเงินในปริมาณ จัดหนัก จากประชาคมยุโรป

          มีวงเล็บเล็ก ๆ จากนาย มิเชล วังเดิง อะบีล กรรมการชาวฝรั่งเศสในตลาดร่วมยุโรประหว่างพ.ศ.2516-2526 เล่าว่า ในการสมัครเป็นสมาชิกฯของกรีก กรีกจะต้องโชว์ตัวเลขเศรษฐกิจที่เข้าเกณฑ์  ผู้แทนกรีกนำตัวเลขมาเสนอชุดหนึ่งซึ่งคณะกรรมการฯเห็นว่ายังใช้ไม่ได้  ผู้แทนกรีกกลับมาในเดือนต่อมา พร้อมกับตัวเลขชุดใหม่ที่ “เข้าเกณฑ์”  มิเชล วังเดิง อะบีล แสดงความเห็นว่า “เหมือนทำเล่น ๆ”

กรีก ถูกหวยยูโร

          เมื่อได้เป็นสมาชิกแล้ว และได้รับเงินช่วยเหลือแบบจัดเต็ม ๆ แล้ว  โครงการณ์เม็กกะโปรเจ็คเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในประเทศกรีก  ทั้งถนนหนทาง รถไฟ รถใต้ดิน ท่าอากาศยาน ฯลฯ ในระยะนั้นเงินอุดหนุนจากประชาคมยุโรปมีจำนวนประมาณร้อยละสิบ ของงบประมาณแผ่นดินกรีก

          ทั้งนี้ โดยที่ผู้นำในประชาคมฯผู้หนึ่ง นาย ฌัง-โคลด จุงแกร์ นายกรัฐมนตรีประเทศลักเซ็มเบอร์ก แสดงความเห็นว่า การคอรัปชันของนักการเมืองกรีก ละม้ายแม้นประเทศอัฟริกา หรือละติน อเมริกา

          พ.ศ.2535 ประชาคมยุโรปตกลงเซ็นสัญญามาสตริค กำหนดว่าในอนาคตอันไม่ไกลจากเวลานั้น ประชาคมยุโรปจะใช้เงินตราร่วมกัน และยุบเลิกเงินตราของแต่ละชาติ 

          พ.ศ.2539 ในการประชุมเตรียมการเพื่อใช้เงินตราร่วมกันของประชาคมยุโรป ในประเทศอิตาลี  กรีกสร้างสีสันในการประชุมครั้งนั้น ด้วยการเสนอว่าธนบัตรเงินตราร่วมของประชาคมยุโรปจะต้องมีอักขระภาษากรีก  รมต.คลังของเยอรมันกล่าวแก่รมต.คลังที่มาประชุมว่า ถึงอย่างไรเศรษฐกิจกรีกก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าร่วม “ยูโร โซน” – หมายถึงชมรมสมาชิกตลาดร่วมยุโรปประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรง ที่จะรวมตัวกันใช้เงินตราสกุลเดียวกัน 

          พ.ศ.2541 เริ่มใช้เงินยูโร ในชมรมประเทศประชาคมยุโรปที่เศรษฐกิจพร้อมแล้ว กรีกยังเป็นสมาชิกประชาคมฯที่อยู่นอกโซนเงินตราร่วม  อย่างไรก็ดี ธนบัตรยูโรฉบับแรกปรากฏว่ามีอักษรกรีกอยู่บนธนบัตรแล้ว

          ที่จริง เศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ไม่ได้เข้าเกณฑ์ที่จะเข้าไปอยู่ใน โซน ยูโร  แต่ด้วย “ความคิดสร้างสรรค์-มหัศจรรย์ด้านการบัญชี”  รัฐบาลฝรั่งเศสยุคนั้น(ประธานาธิบดี จีราค) แต่งบัญชีให้เงินก้อนใหญ่ในกิจการวิสาหกิจ ฟร้อง เทเลคอม มาช่วยหนุนใด้ตัวเลขทางการเงินของฝรั่งเศส ผ่านเข้าเกณฑ์แบบเฉียดฉิว...ซึ่งช่วยให้กรีกได้ไอเดีย

          ความคิดที่กรีกได้มาจากศิลปะการบัญชีของฝรั่งเศสก็คือ เอาเข้าจริง ๆ การที่กรีกจะได้เข้าเป็นสมาชิกในโซนยูโรกับเขาบ้างนั้น-ไม่ได้ยาก อย่างที่นึก

          กรีกเร่งรัดปรับปรุงเศรษฐกิจ(เฉพาะเชิงตัวเลข)เป็นการใหญ่ ระหว่างพ.ศ.2541-2542-2543 การขาดดุลงบประมาณของกรีกลดลงอย่างฮวบฮาบ ต่อเนื่อง และอย่างท่าทางจะยั่งยืน  ผู้นำระดับสูงในสหภาพยุโรปออกมาสรรเสริญกรีกว่า เป็น “เสือ” เศรษฐกิจตัวใหม่ของยุโรป 

          แต่ไม่มีใครไปรื้อดูว่า ตลอดเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วกรีกไม่สามารถปรับปรุงพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานยุโรป ดัชนีสำคัญที่ประจักษ์แก่ตาก็คือตัวเลขการเก็บภาษี  รัฐบาลกรีกไม่สามารถบริหารการภาษีอากรได้  ภาษีอากรรั่วไหลเป็นปริมาณมาก  รัฐฐะที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นรัฐฐะที่ป่วยไข้

          ที่สำคัญคือ การที่กรีกจะเข้าเป็นสมาชิกวงในของประชาคมยุโรป ที่เรียกว่า Euro Area หรืออย่างไม่เป็นทางการเรียกว่า Euro Zone เขตเงินยูโร (มีหลายชื่ออีกแล้ว)  ตัวเลขเศรษฐกิจของกรีกจะต้องได้มาตรฐานตามสัญญามาสตริช หรือ the Maastricht Convergeance Criteria เช่น จะต้องมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณ ไม่สูงเกิน 3% ของรายได้รวมของชาติ(GDP)  ตัวเลขหนี้สินของชาติจะต้องไม่เกิน 60% ของ GDP  แต่ตัวเลขนี้ของกรีกสูงถึง 126.4%

          กรีกมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตัวเลขสวยงามที่เสนอออกหน้าเพื่อขอเป็นสมาชิกเงินยูโร จึงเป็นเหมือนการแต่งตัวเจ้าสาว ที่จะสวยเฉพาะวันแต่งงาน  แต่ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายธนาคารชาติของประชาคมฯ(คล้ายธนาคารแห่งประเทศไทย)  ก็ไม่กล้าหาญพอที่จะชี้ว่าเศรษฐกิจของกรีก เป็นเศรษฐกิจที่ป่วยไข้และอ่อนแอ  ยกเว้น ธนาคารชาติเยอรมัน ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า ยังไม่ควรรับกรีกเข้าเป็นสมาชิกเงินตราร่วม หรือสมาชิก ยูโร โซน

เป็นการตัดสินใจ ทางการเมือง

          อย่างไรก็ดี การตัดสินใจทางการเมืองอยู่ที่เบอร์ลิน ไม่ได้อยู่ที่แฟรงเฟิร์ต(เมืองที่ตั้งธนาคารกลางยุโรป)  และการตัดสินใจทางการเมืองนั้น ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีสิทธิที่จะมีลักษณะ “เหนือจริง” ได้ในบางครั้ง  กรีกเป็นอู่อารยธรรมยุโรปและเป็นผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย เราจะปล่อยให้กรีกยืนอยู่ที่ขอบสนามได้อย่างไร

          พ.ศ.2545(วันที่ 1 มกราคม) กรีกได้เข้าเป็นสมาชิกเงินตราร่วม หรือยูโร โซน  งานนี้กรีกถอนหายใจเฮือกใหญ่ สบายแล้วเรา เราถูกหวยยูโรด้วยเงินยูโรกรีกจะกู้เงินเท่าไรก็ได้ด้วยเงื่อนไขง่าย ๆ กรีกมีเครดิตทางการเงินเสมอด้วยประเทศสมาชิกกลุ่มเงินยูโร ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมัน เป็นต้น  เครดิตของกรีกกับเยอรมันเท่ากันในตลาดเงินกู้ 

          ประเทศชาติและประชาชนชาวกรีก ชีวิตมีเครดิต!  คนกรีกใช้เงินกันอย่างสนุกมือ สินค้าฟุ่มเฟือยจากฝรั่งเศส รถยนต์เยอรมันราคาแพง ไหลเข้าประเทศกรีก  ด้วยเงินกู้ราคาถูกและหากู้ได้ง่าย ชาวกรีกออกเที่ยวและซื้อหาอสังหาริมทรัพย์  ในช่วงเวลาไม่กี่ปีเงินเดือนข้าราชการกรีกเพิ่มขึ้น 150% ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันเงินเดือนข้าราชการเยอรมันเพิ่มเพียง 20% 

          พ.ศ.2547(วันที่ 4 กรกฏาคม) ที่สนาม เอสตาดิโอ ดา ลูซ(Estadio da Luz) หรือสนามแห่งแสงสว่าง กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ท่ามกลางอาการตกตะลึงของทุกคน นายแองเจโล ชาริสเตอาส ยิงประตูให้กรีกได้เป็นแช้มป์บอลยุโรป ในนาทีที่ 57 

          และปีนั้นเอง กรีกก็เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค หลังจากที่ได้เคยเป็นเจ้าภาพมาครั้งหนึ่งเมื่อร้อยกว่าไปที่แล้ว คือเมื่อพ.ศ.2439  กรีกทำท่าราวกับกำลังจะเป็น “เสือตัวใหม่” ของยุโรปจริง ๆ (จะคล้าย ๆ กับที่เมืองไทย เคยทำท่าจะเป็น “เสือตัวที่ห้า” ก่อนที่จะเกิดอาการซุปเปอร์เจ็กอั๊ก กลายเป็น “สุนัขบ้าตัวที่หนึ่ง” ไปเมื่อพ.ศ.2540  รึเปล่าก็ไม่รู้?) 

          เมอซิเออร์ ฌัง-ปิแอร์ ราฟาแร็ง นายกรมต.ฝรั่งเศส ระหว่างค.ศ.2002-2005 วิเคราะห์กรณีกรีกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคว่า ฝรั่งเศสเคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคแข่งกับอังกฤษ-แล้วแพ้  อดีตนายกฝรั่งเศสผู้นั้นนึกยินดีอยู่ในใจ เพราะตามที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของฝรั่งเศสแล้ว ตนเห็นว่า ฝรั่งเศสไม่พร้อมด้านการเงิน ที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในเวลานั้น  ครั้นมาหวนคิดว่า ถ้าฝรั่งเศสยังมีปัญหาด้านการเงินที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค  แล้วเศรษฐกิจของกรีก ซึ่งอ่อนแอกว่า จะจัดการแข่งขันโอลิมปิคได้อย่างไร?  น่าสงสัย?

          ต้นปี 2547 สำนักงานยูโรสแตท(EuroStat) หน่วยงานของสหภาพยุโรป ตั้งอยู่ในประเทศลักเซ็มเบอร์ก มีหน้าที่กำกับดูแลตัวเลขสถิติของประเทศสมาชิก  เริ่มจับได้ว่า กรีกโกงตัวเลข...จำเป็นต้องตรวจสอบตัวเลขของกรีก อย่างละเอียด 

          พ.ศ.2547(วันที่ 29 กันยายน) วิทยุฝรั่งเศส รายงานผ่าหมาก ว่า “นอกจากกรีกจะเป็นแช้มป์บอลยูโรแล้ว  กรีกยังเป็นแช้มป์ยุโรป ด้านการฉ้อฉลทางบัญชีอีกด้วย!

          ฌัง-โคลด ตริเชต์ อดีตผู้ว่าฯธนากลางยุโรป(พ.ศ.2546-2554) หน่วยงานกำกับตัวเลขด้านการเงินของประเทศสมาชิก กล่าวว่า จุดน่าสงสัยเริ่มจากค่าใช้จ่ายด้านการทหารของกรีก ซึ่งมีปริมาณสูงมาก กรีกอ้างว่าต้องการเสริมกำลังกองทัพไว้ยันกับตุรกี  กองทัพกรีกซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก เช่น เรือดำน้ำ และฝูงบิน เป็นต้น  กองทัพกรีกมีงบประมาณทหารสูงสุดในยุโรป  และยังมีค่าใช้จ่ายด้านการทหารอีกนับล้าน ๆ ยูโร ที่ไม่ปรากฏในงบประมาณ

          ยกตัวอย่างเช่น กรีกซื้อฝูงบินมิราจ จากฝรั่งเศสจำนวน 50 ลำ โดยไม่ลงบัญชีไว้ในงบประมาณ  จะลงบัญชีต่อเมื่อฝรั่งเศสได้ส่งมอบเครื่องบินมิราจลำสุดท้ายแล้ว  เป็นต้น

          สำนักงานยูโรสแตท ได้รายงานความประหลาดมหัศจรรย์ของการบัญชีและการงบประมาณของกรีก ต่อคณะกรรมการยุโรปที่กรุงบรัซเซลส์  แต่ข้าราชการยุโรปที่นั่นก็โยนเรื่องไปมาระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ  ทางด้านธนาคารกลางของยุโรปซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการยุโรปอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็ไม่ว่ากล่าวอะไรแก่รัฐบาลกรีก  ทั้งนี้-มีเหตุผล เนื่องจากรองผู้ว่าฯธนาคารกลางยุโรป เป็นอดีตผู้ว่าฯธนาคารชาติกรีกมาก่อน  และเขาน่าจะเป็นบุคคลระดับแนวหน้า ที่จะทราบเรื่องการแต่งบัญชีของกรีก  สมัยที่กรีกฉ้อฉลตัวเลขเพื่อให้ได้เกณฑ์ข้อกำหนดของประชาคมยุโรป เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯธนาคารชาติกรีก

ระหว่างเทพอะธีนาเทวาธิราช กับ โกลแมน แซคส์

          ปีพ.ศ.2547 เทพอะธีนาเทวาธิราช เทพผู้พิทักษ์กรุงเอเธนส์ ยังคงคุ้มครองประเทศกรีก  เรื่องการแต่งตัวเลขของกรีก เงียบหายเข้ากลีบเมฆ.....

         แต่เพื่อให้แน่นอนยิ่งขึ้น รัฐบาลกรีกสมัยนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ  หันไปหาธุรกิจการเงินซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในย่านการเงินกรุงลอนดอน หรือที่เรียกว่าย่าน เดอะ ซิตี้  เพื่อหา “ตัวช่วย” มาช่วยแต่งบัญชีให้แนบเนียนยิ่งขึ้น  จะได้ไม่ต้องรบกวนเทพอะธีนาเทวาธิราชมากเกินไป กลัวเทพจะพิโรธ  นายเจเรียน แอนเดอร์สัน อดีตนักค้าหลักทรัพย์ที่ เดอะ ซิตี้ สรุปการทำมาหากินของคนในย่านธุรกิจอันมีชื่อเสียงก้องโลกย่านนั้น ไว้ว่า

          “You don’t go into the City to do the world some good. You go there to make money as quickly as possible. In fact, this means lying, cheating, stealing that’s what you do.” –Geriant Anderson

          แปล: “เราไม่ได้ไปทำงานในย่าน เดอะ ซิตี้ เพื่อหาทางทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่านี้  เราไปย่าน เดอะ ซิตี้ เพื่อหาเงินให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้  ว่ากันจริง ๆ วิธีทำก็คือ ตอแหล คดโกง ลักขโมย”

          นายเจเรียน แอนเดอร์สัน ผู้นี้แต่เดิมแกเป็นฮิปปี้ เที่ยวเดินขายลูกปัดหรืออะไรประมาณนั้น อยู่ที่ชายหาดซึ่งมีฝรั่งมาเที่ยวในประเทศอินเดีย  ต่อมาพี่ชายของแกซึ่งมีเส้นอยู่ในย่าน เดอะ ซิตี้ บอกแกว่า ให้มาทำงานหาเงิน ใส่สูทผูกเน็คไทเสียให้เรียบร้อย ภายในสี่ห้าปีจะมีสิทธิมีเงินเก็บถึงราว ๆ สามหรือสี่แสนปอนด์  หลังจากนั้นเอ็งจะไปขายลูกปัดที่หาดไหนในโลก ก็เชิญตามสบาย..... 

          ต่อข้อเสนอนี้ นายแอนเดอร์สัน กล่าวว่า คิดแล้วไม่เลว-ไม่น่าเกลียดหรอก  พอดีกับที่เวลานั้นธุรกิจเดินขายลูกปัดหรืออะไรประมาณนั้นของเขา ที่ชายหาดในประเทศอินเดีย กำลังซบเซา  เขาจึงมาทำงานที่ เดอะ ซิตี้  โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า P/E ratio และ Yield คืออะไร  ครั้นถึงปีพ.ศ.2547 เขามีรายได้สามแสนดอลลาร์ต่อปี บวกกับโบนัสอีกปีละเจ็ดแสนดอลลาร์
         
          บริษัท โกลแมน แซคส์ (Goldman Sachs) เป็นธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในย่าน เดอะ ซิตี้ มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสถาบัน หรือรัฐบาลประเทศต่าง ๆ (มีสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทยด้วย) ได้กลายเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับประเทศกรีก

          หนังสือพิมพ์ เลอม็งด์ ของฝรั่งเศสพาดหัวเมื่อ 09.03.2012(พ.ศ.2555) ว่า “โกลแมน แซคส์ถูกแจ้คพ็อท 600 ล้าน” นายนิค ดันบาร์ และนางเอลิซา มาร์ตินุซซี ผู้สื่อข่าว/นักหนังสือพิมพ์ประจำสำนักงานข่าวธุรกิจ Bloomberg เป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลมาเปิดเผย  ซึ่งเงินจำนวนนั้นก็คือเงินรายได้ของบริษัทฯ จากงานแต่งบัญชีหนี้ระดับชาติให้กรีก เพื่อให้ตัวเลขดูดีไม่น่ากลัว  เครื่องมือทางการเงินที่ถูกนำมาใช้ เป็น “แอป” ทางการเงินชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Currency Swaps  ผู้รู้บางท่านเห็นว่า ประเทศกรีกกำลังเซ็นสัญญากับ “ซาตาน” (-หมายถึง บริษัท โกลแมน แซคส์)

          พ.ศ.2551 เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ หรือ สินเชื่อเอื้ออาทร อันมีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา เช่น  ปล่อยเงินกู้ซื้อบ้านให้แก่คนขอทานที่ทำเลหากินไม่ใช่ทำเลทอง เป็นต้น  วิกฤตนั้นส่งผลกระทบทั่วโลก  เป็นเหตุให้หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ พระราชินีเอลิซาเบธที่สองของอังกฤษ เสด็จเยือน London School of Economics เป็นครั้งแรก  แล้วตรัสถามอย่างสุภาพว่า (ก็ในเมื่อทุกคนก็ฉลาด ๆ กันทั้งนั้น) ทำไมไม่มีใครรู้ล่วงหน้ากันบ้างเลยหรือ?  ซึ่งผู้รู้ระดับอาจารย์ตอบว่า It’s a failure of imagination.

          พ.ศ.2552(วันที่ 17 กุมภาพันธ์) รองประธานคณะกรรมการยุโรป ออกมาสรรเสริญประเทศกรีก ว่าเลอเลิศวิเศษ สามารถปรับปรุงเศรษฐกิจ ให้ดีขึ้นและดีวันดีคืน ดีขึ้นกว่าประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วยซ้ำ-ถ้าว่ากันแบบถัวเฉลี่ย

          แต่ ทูตอเมริกันประจำกรุงเอเธนส์ในเวลานั้น ไม่เห็นด้วย...ส่งโทรเลขไปกรุงวอชิงตัน ว่า  “Rather than preparing for the worst, the Greek government seems to be hoping for the best, preparing for the best…and ignoring the rest.”

          เวลาล่วงไปหกเดือน กรีกเปลี่ยนรัฐบาล รมต.คลังคนใหม่ชื่อ Georges PAPACONSTANTINOU ตัดสินใจพูดความจริงในที่ประชุมรมต.คลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป  เฉพาะข้อมูลด้านการคลัง-เขาบอกว่า ตัวเลขอัตราขาดดุลงบประมาณของกรีก สูงกว่าสองเท่าตัวของตัวเลขที่เคยรายงานมา คือไม่ใช่ 6% แต่เป็น 13%(เข้าใจว่า เมื่อเทียบกับ GDP?)

          ความจริงก็คือ คลังไม่มีเงิน กรีกมีหนี้มหาศาล และการขาดดุลงบประมาณทะลุเกณฑ์พิกัดของสหภาพยุโรป  กรีกลวงโลกไม่ได้อีกต่อไป  วิกฤตการณ์สินเชื่อเอื้ออาทรของสหรัฐฯมีผลกระทบรอบโลก อุตสาหกรรมสำคัญของกรีกได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการเดินเรือ รายได้ของสองอุตสาหกรรมนี้ของประเทศกรีก ได้รับผลกระทบโดยตรง จากวิกฤตการณ์สินเชื่อเอื้ออาทรในสหรัฐฯ รายได้ลดลงทันที 15% ในปีพ.ศ.2552

          ผลในชีวิตจริงในประเทศกรีกก็คือ เงินเดือนคนหดหาย-ทันที  คนว่างงานทันที 30% เกิดความวุ่นวายในสังคม  ระบบการบริหารราชการแผ่นดินของกรีกเป็นจำอวด-ใช้ไม่ได้ ไม่ work  แต่ถ้าสหภาพยุโรปไม่ช่วยอุ้มกรีก สหภาพยุโรปก็อาจจะต้องฉิบหายไปกับกรีก คือ แตกกระสานซ่านเซ็น ตัวใครตัวมัน จะเกิดผลร้ายทางเศรษฐกิจต่อยุโรป และต่อโลก  เนื่องจากทุกอย่างมันพันกันหมด  แม้แต่การจะไล่กรีกออกไปจากสหภาพยุโรปก็มี “ต้นทุน” ของการไล่ออกไป  และต้นทุนของการไล่ออก ดูเหมือนจะสูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษากรีกเอาไว้แล้วพยายามเยียวยากันไป

          ปัญหานี้ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจบางท่านลงความเห็นว่า เป็นวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของยุโรป นับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

          สำหรับบริษัท โกลแมน แซคส์ นั้น ในปีพ.ศ.2553 ถูกคดีกลฉ้อฉล(fraud)ในสหรัฐอเมริกา  ผู้กล่าวหาคือ คณะกรรมการหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์ ของสหรัฐฯ(U.S. Securities and Exchange Commission-SEC) เป็นกรณีฉ้อฉลในการค้าหลักทรัพย์ที่เกี่ยวพันกับสินเชื่อเอื้ออาทร(sub-prime) แล้วโกลแมน แซคส์  ก็โดนแจ้คพ็อต ถูกศาลสหรัฐฯพิพากษาว่า ผิดจริง และถูกปรับเป็นเงิน 550 ล้านดอลลาร์ (คดีพิพากษาเมื่อ 15 กรกฏาคม 2553)
         
          และนิยายเรื่องนี้ยังไม่จบ  อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 (ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนเสียงพอเพียงที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้) จะมีผลต่อวิกฤตการณ์เงินยูโรและกรีกต่อไป  ถึงแม้ว่าอังกฤษจะไม่ได้เป็นสมาชิกเงินยูโร-ยูโร แอเรีย หรือยูโร โซน ก็ตาม  แต่ว่าอังกฤษก็เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป  วิกฤตการณ์เงินยูโรย่อมกระทบอังกฤษโดยตรง  พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษซึ่งได้ปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ จนดูไกล ๆ แทบจะดูคล้าย ๆ “พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส” ไปแล้วนั้น  แจ้งเตือนมาล่วงหน้าแล้วว่าพวกเขามีไอเดียใหม่ ๆ จะขอเจรจากับสหภาพยุโรป.....ซึ่งทางฝ่ายภาคพื้นยุโรป พวกที่ไม่ค่อยจะชอบพวกแองโกล-แซกซอน(อังกฤษ-อเมริกัน) เช่น นายกรัฐมนตรีลักเซ็มเบิร์ก เป็นอาทิ  ก็ตั้งป้อมรอรับ 

          จะอย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในโลกสมัยนี้นั้น  ผู้รู้หลาย ๆ คน เช่น มาดามคริสเตียน ลาการ์ด อดีตรมต.คลังฝรั่งเศสและเป็นผู้ว่าฯไอเอ็มเอฟอยู่ในปัจจุบัน  ต่างก็เห็นพ้องกันว่าได้กลายเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้  วิกฤตเศรษฐกิจจะมาเป็นระลอก ๆ เหมือนระลอกคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง  จะมีทั้งคลื่นเล็ก คลื่นใหญ่ และคลื่นสุนามิ

          อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
          -และขอบคุณที่อ่าน ผู้เขียน(ผู้เรียบเรียงเขียน)หวังว่า ข้อเขียนเรื่องนี้คงจะช่วยให้ความกระจ่างแก่จิตใจท่านได้บ้าง ไม่มากก็น้อย เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เราท่านทั้งหลาย ยังจะได้เจออีก



-------------------------------------------------------------
หมายเหตุ – บทความสั้น ชุดปกิณกะชีวิต ตั้งว่าจะเขียนเดือนละบทสองบท อาจพลาดพลั้งผิดนัดบ้าง โปรดอภัย จะโพสต์เผยแพร่ตลอดปี 2558 ครับ ที่หน้าบล็อก www.pricha123.blogspot.com
อ่านแล้ว ชอบ/ไม่ชอบ โปรดแชร์ลิงก์ให้เพื่อนฝูง ขอบคุณมาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น