โดย แดง ใบเล่
เกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลป์นั้น
ผู้รู้ชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ถ้าเราอยากได้ยินได้ฟังอะไรที่ งี่ ๆ เง่า
ๆ โง่ ๆ แล้วละก้อ ให้ลองเดินเกร่เลียบ ๆ เคียง ๆ เข้าไปเงี่ยหูฟังกลุ่มคนที่กำลังยืนแสดงความคิดเห็น
วิพากษ์วิจารณ์งานศิลป์สักชิ้นหนึ่งในหอศิลป์ ดูเถิด จะไม่ผิดหวังหรอก
ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์บางคน
รวมทั้งศิลปินตลกเดี่ยวไมโครโฟนฝรั่งเศส เช่น โกลุช(ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ออกมาพื้นเสีย
วิพากษ์วิจารณ์นักวิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น โกลุช – Coluch เคยวิจารณ์นักวิจารณ์ไว้ว่า
"La critique est un parasite de la société qui n'a aucune influence !
Les critiques sont de vieux imbéciles, incapables de faire un autre métier
alors que la majorité des artistes sur le retour pourraient très bien devenir
critiques !" [Coluche] Extrait du journal France-Soir - 1977
แปล:
“การวิจารณ์เป็นกาฝากสังคม ซึ่งไร้ผลใด ๆ! นักวิจารณ์คือคนแก่งี่เง่า
ที่ไม่มีความสามารถจะประกอบอาชีพอื่น และขณะเดียวกันศิลปินที่ฝีมือถดถอยส่วนมาก
ก็อาจกลายเป็นนักวิจารณ์ได้!” [โกลุช] คัดจาก นสพ.
ฟร็องซัวร์ – 1977 (หมายเหตุของผู้แปล: หนังสือพิมพ์ ฟร็องซัวร์
เป็นหนังสือฝ่ายขวาในฝรั่งเศส)
ผู้เขียนได้สร้างงานวิจารณ์ไว้จำนวนหนึ่ง
ไม่มากนัก สักสี่ห้าชิ้น แถมงานของตัวเองก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นเดียวกัน ใช่ว่าจะดีแต่ติผู้อื่น ส่วนตัวเองไม่เคยโดนมั่งเลย หามิได้-มิใช่เช่นนั้นครับ
แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า
ถึงแม้การวิพากษ์วิจารณ์จะงี่ ๆ เง่า ๆ โง่ ๆ วัว ๆ ควาย ๆ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น การวิจารณ์บทกวี ของคุณสมยศ
พฤกษาเกษมสุข ของผู้เขียน-เชิญตามลิงก์
http://pricha123.blogspot.com/2013/05/thai-poetry-critique-of-poem-by.html การวิจารณ์ก็ยังจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่
คู่กับงานสร้างสรรค์ทุกชนิด เพราะงานเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาให้คนใช้
ให้คนชม ผู้ใช้หรือผู้ชมย่อมได้รับความสะเทือนอารมณ์
หรือผลกระทบทางอารมณ์จากชิ้นงาน ไม่มากก็น้อย
เขาก็ย่อมจะมีความคิดเห็น ติชม หรือมีความคิดเห็นชอบหรือไม่ชอบต่องานชิ้นนั้น ยกเว้นเราจะสร้างงานเก็บไว้ดูอยู่คนเดียว เช่น ถ้าเป็นคนเขียนหนังสือ
ก็จะเขียนเฉพาะแต่ไดอารี(อนุทิน) เขียนแล้ววางไว้ในลิ้นชักลั่นกุญแจ
หรือเขียนโพสต์อินเตอร์เนตแต่มีการเข้ารหัสแข็งแรง
คำว่า “สะเทือนอารมณ์”
ในที่นี้ใช้ตามความหมายภาษาเทคนิค ที่เกี่ยวกับผลกระทบของงานศิลป์หรืองานสร้างสรรค์
ที่มีต่อจิตใจมนุษย์ ท่านว่า “ศิลป์”
มีผลทำให้เกิดความรู้สึก(อารมณ์)บางอย่างขึ้นมาในจิตใจผู้ได้ทัศนา เช่น รัก ชอบ
เกลียด อิจฉา หมั่นใส้ เศร้าโศก สมเภท ฯลฯ
ในแง่ของวรรณศิลป์ - หรือการใช้ภาษาอย่างวิจิตร อะริสโตเติล-อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล
สอนไว้ว่า ถ้าเราใช้ภาษาสไตล์ Logos ก็คือ ให้เหตุผลบริสุทธิ์
ไม่เน้นอารมณ์ แต่เน้นความสมเหตุสมผล
ถ้าเราใช้ภาษาแบบ Ethos ก็คืออ้างความน่าเชื่อถือ นี่ก็ไม่ได้เน้นอารมณ์ แต่ถ้าเราใช้ภาษาสไตล์ Pathos นี่สิ เราเร้าอารมณ์ผู้ฟัง
จะเป็นอารมณ์ใด ๆ ก็ดี งานศิลป์เข้าข่ายประเภทสุดท้ายคือสร้างขึ้นเพื่อให้กระทบอารมณ์มนุษย์
ทำให้มนุษย์เกิดอาการสะเทือนในอารมณ์
เพราะฉะนั้น คำว่า “สะเทือนอารมณ์” ในที่นี้ ก็จะหมายถึง Pathos โดยไม่ได้จำเพาะว่าจะชวนกันไปอยู่ที่ศาลาคนโศกอย่างเดียว
ซะเมื่อไหร่
โดยทั่วไป
เท่าที่ผู้เขียนพอจะมีประสบการณ์อยู่บ้างไม่มากนัก
พบว่าสังคมฝรั่งเศสค่อนข้างให้ความสำคัญกับการวิจารณ์อย่างมีเหตุผล หรือที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ เธอขนานนามว่า มี
“จิตวิพากษ์แบบตะวันตก” –โปรดอ่านบทวิจารณ์ของผู้เขียน ที่มีต่องานเรื่อง ความเป็นไทย
สัญญลักษณ์แห่งความดักดาน ของคุณมุกหอม วงศ์เทศ ตามลิงก์ครับ http://pricha123.blogspot.com/2012/11/blog-post_30.html
ภาษาฝรั่งเศส
เรียกจิตใจที่รู้จักคิดอ่านวิจารณ์ว่า l’esprit critique หรือบางท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
critical thinking ซึ่งในที่สุดแล้วก็หมายถึง
จิตที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล
จึงโยงย้อนศรกลับไปได้ว่า จิตที่คิดวิจารณ์ก็คือจิตที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล อันเป็นจิตใจที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ชาวบ้านหมู่บ้านกาลามะ ควรที่จะมี
อันเป็นประเด็นที่มาของ กาลามสูตร
ซึ่งเด็ก ๆ ที่อายุสิบแปด ไม่ควรสับสนปนเปกับ กามสูตร
อันเป็นสูตรของทางฝั่งฮินดูท่าน
คนละสูตรกัน แต่เจ๋งทั้งสองสูตรแหละเพื่อน
ผู้เขียนเชื่อว่า
การวิจารณ์มันส่อและเผยถึงตัวผู้วิจารณ์ มากกว่าที่จะกระทบงานศิลป์ที่กำลังถูกวิจารณ์ เวลาเราวิจารณ์งานอะไรก็ดี เรากำลังแบะตัวเราเองอ้าซ่า เสี่ยงต่อวิจารณญานของสาธารณชน
เราจะต้องรับเต็ม ๆ ยิ่งกว่าชิ้นงานที่ถูกเราวิจารณ์เสียอีก
งานที่กำลังถูกวิจารณ์
มีสภาพคล้ายกับภาพเขียนอยู่ในกรอบกระจก
ส่วนบทวิจารณ์ของเราก็คือเงาของตัวเราเองที่ปรากฏซ้อนอยู่กับงานในกระจกนั้น พิจารณาแง่นี้จะเห็นว่า ตัวงานก็ดี
ตัวเจ้าของงานก็ดี ไม่ได้โดนกระทำอยู่โดยลำพัง
ตัวผู้วิจารณ์ก็กำลังกระทำต่อตัวเองด้วย
ถ้ามองให้ดี ผู้วิจารณ์อาจมีสิทธิรับผลกระทบไปมากกว่า
เพราะฉะนั้น
ตัวเจ้าของงานจึงน่าที่จะอ่านบทวิจารณ์งานของตัวเอง อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ผู้เขียนถือตัวว่าเป็นคนมีครู
ไม่ได้ตรัสรู้ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเอง ความนับถือครูนั้นอาจเป็นเพราะมีพื้นฐานเดิมมาจากวงดนตรีไทย
เคยครอบครูดนตรีมาก่อน
ก่อนที่จะเริ่มหัดเขียนหนังสือ และอาจจะเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจ
หรืออย่างน้อยก็จากความสำนึกตระหนักว่าตัวเองเกิดมาเป็นคนไร้พรสวรรค์
ชีวิตนี้จะต้องอยู่กับ “พรแสวง” อย่างเดียวเท่านั้น ก็เลยเชื่อคำครูที่สอนไว้ว่า เราควรสนองรับ – respond
กับคำวิจารณ์อย่างไร ซึ่งครูของผู้เขียนท่านก็สอนดังที่ได้ถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ
ตามความในสองสามย่อหน้าบน
ซึ่งการสนองรับ
– response นั้น ครูบอกว่า แตกต่างจากการมีปฏิกิริยา – reaction
ท่านยกตัวอย่างเรื่องหยูกยา(โอสถ)ว่า
การที่คนมี response ต่อตัวยาเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหมอให้ยาแล้ว
ร่างกายเราเกิดปฏิกิริยากับโอสถขนานนั้น ก็แปลว่าไม่ดี หมอจะสั่งเปลี่ยนยา
เมื่องานของตัวเองถูกวิจารณ์
แต่แรกผู้เขียนก็มี reaction รู้สึกไม่พอใจเฉกตามประสามนุษย์ปุถุชน แต่ต่อมาเมื่อนึกถึงคำครู จึงเปลี่ยนมามี response และต่อมาอีกเมื่อจิตใจสุขุมขึ้น
ก็แทบจะกราบ แล้วถอดรหัสเป็นสัญญาณดิจิทัล ลิ่วละล่องท่องห้วงนภากาศ และห้วงอวกาศ(ผ่านดาวเทียม)
ตลอดจนมุดลงรูท่อเล็ก ๆ ที่เล็กกว่ารูเข็มในใยแก้วนำแสง(ไฟเบอร์ อ็อปติค) ไปขอบคุณท่านผู้วิจารณ์
แม้ท่านจะไม่รับความเคารพก็ไม่ว่าท่าน
บางกรณี
บทวิจารณ์ของท่านผู้วิจารณ์ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
ผู้เขียนก็จะไปขุดออกมาจากรูท่อใยแก้วนำแสง ห้วงอวกาศ และห้วงนภากาศ นำมาเผยแพร่ต่อให้อีกทางหนึ่ง เพราะว่าการวิจารณ์นั้นท่านผู้วิจารณ์ไม่ได้อะไรสักกี่มากน้อย
ผู้รับประโยชน์มากคือเจ้าของงาน ซึ่งในกรณีงานของผู้เขียนเอง ผู้รับประโยชน์เต็มที่ได้แก่ผู้เขียน ผู้เขียนจึงสำนึกบุญคุณท่านผู้วิจารณ์ เนื่องจากท่านมาโปรด ช่วยทำให้เราดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้น คำพระท่านว่า “เจริญ” เช่น เจริญภาวนา
เจริญสมาธิ เจริญหู เจริญตา เจริญใจ และในท้ายที่สุดก็ เจริญสติปัญญา คือ
สติปัญญาพัฒนาขึ้น
จะกระนั้นก็ดี
การวิจารณ์แม้จะเป็นคุณอนันต์ต่อสาธารณชน และเป็นคุณแก่ผู้สร้างผลงาน แต่งานวิจารณ์ก็เหมือนกับงานอื่น ๆ ทั้งหลาย ที่ทำเข้าท่ามากก็มีไม่น้อย
ที่ทำแล้วเข้าท่าน้อยก็มีมาก และที่ “บ้อท่า” ไปเลยก็อึดตะปือนัง ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นธรรมดาโลก ที่จะมีทั้งเจริญขึ้นและเจริญลง
รำโนราห์ ที่ถูกคุณเพชร มาร์ วิจารณ์
https://www.youtube.com/watch?v=agpumfdyyyw
ที่เวลาวีดีโอ 11:00 คุณเพชร มาร์ วิจารณ์การตีกลองของน้องโชกุน ว่า “เกือบไม่ทันทุกครั้งเลย”
และที่เวลาวีดีโอ 10:20 คุณเพชร มาร์ ก็กำลังแสดงโวหาร เปรียบเทียบการร้องโนราห์กับแรพ
สำหรับการวิจารณ์ติชมรำโนราห์
ตามวิดีโอที่ยกขึ้นสาธกนั้น โปรดคลิกชมวีดีโอเริ่มที่เวลา 10:28 ซึ่งผู้แสดงที่เป็นเด็ก กำลังโดนวิพากษ์วิจารณ์ติชม จากคุณเพชร มาร์ ท่านขึ้นชื่อในวงการวิจารณ์ศิลปะการแสดง
– performing art - ว่าท่านจะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
ดีท่านก็บอกว่า-ดี ไม่ดีท่านก็จะบอกว่า-ไม่ดี
อย่างไรก็ดี
เกี่ยวกับการวิจารณ์เด็ก ผู้เป็น“ครูเสมือน” หรือ virtual guru ของผู้เขียนชื่อ Joseph Joubert ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเมื่อหลายศตวรรษก่อน ท่านเคยกล่าวถึงนักวิจารณ์ผลงานของเด็ก
ๆ เอาไว้ว่า
“Les enfants ont plus besoin de modèles
que de critiques.”
Joseph
Joubert
แปลเอาความ
แบบมีสีสัน: “พวกเด็ก ๆ มันอยากได้ตัวอย่าง มากกว่า คำวิจารณ์ ทำไมไม่ทำตัวอย่างให้มันดูล่ะ”
ที่เวลาวีดีโอ
11:00 คุณเพชร มาร์ วิจารณ์การตีกลองของน้องโชกุน ว่า “เกือบไม่ทันทุกครั้งเลย” คุณเพชร
มาร์ คงจะทราบนะครับว่า เรื่องศิลปะเป็นเรื่องที่เข้มงวดและไม่ประนีประนอม ไม่มีการยอมความในวงการนี้
เพราะฉะนั้น คำว่า “เกือบ” จึงเป็นคำที่ว่างเปล่าความหมายในวงการศิลป์ การร้องเพลงที่ “เกือบไพเราะ” ไม่มีหรอก
มีแต่เพราะหรือไม่เพราะ
ภาพเขียนที่เกือบน่าดูไม่มีหรอก มีแต่น่าดูหรือไม่น่าดู รูปปั้นที่เกือบเข้าท่าไม่มีหรอก มีแต่เข้าท่าหรือไม่เข้าท่า ฉันใดก็ฉันนั้น การตีกลองที่เกือบไม่ทันทุกครั้งเลย
จึงหมายความว่า “ทันทุกครั้ง”
และในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น
คือเด็กตีกลอง ทันทุกครั้ง
จากข้อมูลเท่าที่ค้นได้ ผู้เขียนเชื่อว่า คุณเพชร มาร์
เป็นคนในโลกแองโกลโฟน(คนพูดอังกฤษ) ไม่ใช่ชาวฟร็องโกโฟน(คนพูดฝรั่งเศส) ผู้เขียนจึงนึกสงสัยว่า คุณเพชร มาร์
ไม่รู้สึกระแวงใจตัวเองบ้างเลยหรือว่าคำวิจารณ์ประเด็นนี้ของคุณ เป็น petty
minded criticism ภาษาแต้จิ๋วท่านว่าเป็นการติแบบคน
“ต๋าติ๊”
และที่เวลาวีดีโอ 10:20 คุณเพชร มาร์ ก็กำลังแสดงโวหาร เปรียบเทียบการร้องโนราห์กับแรพ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ถึงแม้คุณเพชร มาร์ จะกำลังแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา แต่คุณเพชร มาร์ ก็กำลังเทียบเคียง สิ่งที่ตัวเองไม่รู้รส
เข้ากับ สิ่งที่ตัวเองไม่รู้เรื่องดีพอ
แล้วเวลาคนเราสาธยายสิ่งที่ตัวเองไม่รู้รส
เช่นสมมติว่า บรรยายรสชาติของเนยแพะ หรือคั่วกลิ้งเนื้อค่าง หรือแกงใบยี่หร่ากับปลากระเบนเคี่ยวจนเนื้อกรุบ
ๆ เป็นต้น แล้วสาธกยกขึ้นเทียบกับเรื่องที่ตนไม่รู้เรื่อง
เช่นสมมติว่า เทียบกับบทกวีประเภทซ็อนเน็ต หรือ บทเพลงบอกเพลงนาของชาวใต้ เป็นต้น ถึงแม้ว่าการสาธยายดังกล่าว กับ การสาธกดังที่ว่านั้น
จะได้กระทำลงอย่างตรงไปตรงมา แต่ความตรงไปตรงมาชนิดนี้
จะยังมีคุณค่าอะไรเหลืออยู่อีกหรือ ก็ในเมื่อมันเข้ารกเข้าพง เข้าป่าไปตั้งแต่ต้นแล้วอ่ะ
(-ภาษาใต้พูดว่า มันออกไหนโจ้)
ได้โปรดเถอะ คุณเพชร มาร์ จะไม่กรุณาต่อพวกเรา ด้วยการรู้จักที่จะหุบ
ๆ ซะบ้างเลยหรือเนี้ยะ
หรือว่าทั้งหมดนั้น
ผู้วิจารณ์เขียนไปด้วยความสำคัญผิดในสาระสำคัญ แท้จริง สาระสำคัญก็คือ คุณเพชร มาร์
ท่านกำลังเล่นเกมรายการ The Weakest Link?
--บ๊ายบาย
สัพเพสัตตา อะเวราโหนตุ
---------------------------------------------------------------
คลิกที่นี่เพื่ออ่าน วิจารณ์คุณเพชร มาร์ (ต่อ)
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านบทวิจารณ์ บทอื่น ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น