1) ที่ย่างกุ้ง –พระธาตุชะเวดากอง (ชะเว แปลว่า ทอง) –สุวรรณเจดีย์ หรือสุวรรณธาตุ เทียบได้กับ ธาตุพนม หรือธาตุเมืองนคร(ศรีฯ) เรียกว่าธาตุหรือพระธาตุ เพราะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
บนลานเจดีย์ ศาลาตามทิศต่าง ๆ รอบ ๆ พระเจดีย์ มีประวัติและความเฮี้ยนผิดกัน จะนั่งสวดมนตร์อธิษฐานที่ศาลาไหน ต้องสอบถามว่าศาลานั้นเฮี้ยนด้านใด ตรงกับที่เราปรารถนาหรือไม่ หรือประวัติถูกใจเราไหม บนบานอธิษฐานผิดศาลา เสียเวลาเปล่า พระพุทธรูปหลวงพ่อในศาลาต่าง ๆ ก็มักจะศักดิ์สิทธิ์ “เฉพาะทาง”
2) ลานกว้างรอบพระเจดีย์ ปูด้วยหินเรียบ เวลาบ่ายแผ่นหินเหล่านั้นจะร้อนระอุ และเนื่องจากเขาให้ถอดรองเท้าก่อนขึ้นบนลานพระธาตุ ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์เวลาย่างเท้าเดินรอบพระธาตุช่วงบ่าย จะร้อนระอุฝ่าเท้า ต้องเดินกะย่องกะแย่งบนแผ่นหินร้อนจัด ราวกับเดินลุยไฟนรก ทั้ง ๆ ที่กำลังเดินอยู่บนสวรรค์
ผู้มีประสบการณ์บนลานพระเจดีย์มาก่อนแล้ว หรือมีคนบอกเล่า จะเดินกลางลานแดดเปรี้ยง ๆ แต่ผ่าตีนเย็นสบาย เพราะมีทางเดินเป็นแผ่นหินชนิดหนึ่ง ปูเป็นแนวทางเดินไม่กว้างนัก อยู่ประมาณช่วงกลาง ๆ ลาน ถ้ารู้จักเิดินบนแผ่นหินนั้น จะเย็นตีน เพราะอะไร? ไปดูแล้วจะรู้เอง...
3) ฉัตรยอดเจดีย์ พม่าเรียกฉัตรว่า “ถิ” มีการปฏิรูปบูชาครั้งใหญ่ในรัชกาล พระเจ้ามังระสินพยูชิน(สินพยูชิน=พระเจ้าช้างเผือก) หรือพระเจ้ามังระช้างเผือก ผู้ตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง ก็เลยได้ไตเติ้ล “สินพยูชิน” ข่าวลือมีว่า อัญมณีมีค่าที่ประดับฉัตรยอดพระเจดีย์ ได้ไปจากอยุธยา คนแพร่ข่าวลือกระซิบมาว่า ไม่ได้ชี้แนะ ให้เอาไม้สอยมะม่วงคันยาว ๆ ติดตัวไปด้วย เพื่อสอยอัญมณีคืนมา
4) กษัตริย์มอญองค์หนึ่ง มีนามผูกพันกับพระเจดีย์มากกว่าราชาองค์อื่น ๆ เธอคือ พระนางเจ้าท้าว หรือชื่อมอญว่า พระนางแสจาโป เป็นควีนอะลิซาเบธของมอญ คือกษัตริย์หญิง
เธอสร้างลานกว้างรอบองค์เจดีย์ บูรณะปฏิสังขรณ์อะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง-จำไม่ได้ พระนางแสจาโปไม่มีบุตร แต่ได้อุปการะเณรน้อยเป็นลูก และยกย่องใหญ่โต คนมอญไม่เคารพนับถือเณรลูกเลี้ยงเพราะไม่ใช่เจ้า เธอจึงแก้เกม ด้วยการให้คนไปลากท่อนซุงยักษ์ ที่พาดเป็นสะพานข้ามห้วยอยู่ชานเมืองหงสาวดี-หงสาวดีคือเมืองหลวงของมอญ ไม่ใช่พม่า แล้วให้สลักท่อนซุงเป็นพระพุทธรูป ปรากฏว่าเฮี้ยนจัด ผู้คนบูชากราบไหว้กันอื้อ จึงได้กลายเป็นเครื่องอ้างอิงเป็นอุทธาหรณ์ว่า คนดี-อยู่ที่เนื้อนาบุญไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก ท่อนซุงที่ชาวบ้านเดินเหยียบย่ำอยู่ประจำ ก็กลายเป็นพระพุทธรูปน่าเคารพนับถือได้ ทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้าบุญและกรรมแห่งตน –เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
และต่อมาเณรน้อย ก็ได้เป็นกษัตริย์มอญสืบต่อจากพระนางเจ้าท้าว ทรงพระนามว่า “พระเจ้าธรรมเจดีย์” อนุรักษ์บูชาพระธาตุชะเวดากอง สืบต่อมา เรื่องนี้ ปรากฎอยู่ในพงศาวดารมอญ ที่แปลเป็นภาษาไทยมานานนม-จนนมยาน ชื่อ “ราชาธิราช” อยู่ประมาณช่วงปลาย ๆ
5) ที่ย่างกุ้ง อย่าลืมแวะชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อันเป็นที่ตั้งแสดง พระที่นั่งสิงห์ ที่เคยตั้งอยู่ในท้องพระโรงกรุงมัณฑะเลย์ ครั้นอังกฤษมายึดเมืองและล้มเจ้าพม่า ได้ขะโมยพระที่นั่งสิงห์ ไปไว้ที่บริติช มิวเซียม ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้เอง อังกฤษได้คืนพระที่นั่งสิงห์ อันเป็นสัญญลักษณ์ของเจ้าพม่า คืนให้แก่พม่า ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งตั้งแสดงของอื่น ๆ ที่น่าสนใจสำหรับผู้มาเยือน ไม่รู้เหมือนกันว่า พระที่นั่งนั้นยังเก็บไว้ที่ย่างกุ้ง หรือว่าย้ายไปไว้ที่เมืองหลวงใหม่ กรุง เนพ พยี ดอ
ทุกวันนี้ พม่านับถืออดีตกษัตริย์เป็นหลักอยู่สามองค์ คือ
1_พระเจ้าอโนรธา แห่งกรุงพุกาม เมืองหลวงเก่าแก่ของพม่า ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนกลาง ตรงคุ้งน้ำซึ่งกว้างขวาง ล่างลงมาจากเมืองมัณฑะเลย์ น้ำอิระวดีค่อนข้างใสไม่ใช่สีโคลน เพราะได้น้ำมาจากหิมะละลาย จากเขาสูงทางเหนือของพม่า ซึ่งมีหิมะปกคลุม
อโนรธาเป็นผู้ตีเมืองหลวงเก่าของมอญ ชื่อกรุงสุธรรมวดี ภาษาชาวบ้านเรียกเมืองสะเทิม อยู่ใกล้เมาะตะมะปัจจุบัน เมื่อประมาณพ.ศ.1600 ก่อนกรุงสุโขทัยประมาณ 100 กว่าปี และทำให้มอญกลายเป็นชาติเล็กตั้งแต่นั้นมา
2_บุเรงนอง หรือพระเจ้าบุเรงนองช้างเผือก หรือบุเรงนองสินพยูชิน ที่พม่านั้นผู้นำที่มาตีเมืองไทยแตก จะได้ไตเติ้ล “พระเจ้าช้างเผือก”(สินพยูชิน) บุเรงนองนั่งบัลลังก์กรุงหงสาวดี เมืองหลวงใหม่ของมอญที่พม่าราชวงศ์ตองอู ตีแตกในยุคหลัง ประมาณยุคพระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร(ตะเบงชะเวตี้)
3_พระเจ้าอะลองพญา ต้นราชวงศ์คองบอง หรือที่ไทยเรียกราชวงศ์อะลองพญา มาตีเมืองไทยไม่แตก แต่ตัวเองโดนปืนใหญ่ระเบิดใส่ตัวตาย ต่อมา มังระราชบุตร เป็นกษัตริย์สืบมา ส่งแม่ทัพผู้สามารถสองคน เนเมียวสีหบดีกับมังมหานรธา มาล้อมกรุงศรีอยุธยาโดยศึกษายุทธศาสตร์-strategy-จากการอ่านชาดกเรื่องพระศรีมโหสถ มังระไม่ได้มาเอง จึงใช้วิธีเล่นเกมด้วย “วีดีโอ คอนเฟอเร้นต์”–พูดเล่น-ที่จริงใช้การสื่อสารด้วยม้าเร็ว ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน เดินทางไป-มาจากค่ายพม่าที่บ้านสีกุก ชานกรุงศรีอยุธยา ไปถึง กรุงรัตนะปุระอังวะ
ปัจจุบันนี้ กษัตริย์สามองค์นี้ อโนรธา-บุเรงนอง-อะลองพญา ทางการพม่าสร้างอนุสาวรีย์ใหญ่โต เยือนเรียงกันเป็นเงาตะคุ่มทั้งสามองค์ ที่เมืองหลวงใหม่ของพม่า กรุง เนพ พยี ดอ (แปลว่า ราชธานี)
6) ถ้าได้ไป หงสาวดี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่างกุ้ง พระธาตุมุตาว-ชะเว โม ดอ เจดีย์ใหญ่ใกล้เคียงกับชะเวดากอง ที่ย่างกุ้ง พระธาตุ(เจดีย์)องค์นี้มีอยู่ตั้งแต่สมัยพระนเรศวร ถูกจับไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีเมื่อพ.ศ.2107 อายุเก้าขวบ และมีชีวิตอยู่ไม่ไกลจากเงาของพระธาตุสูงใหญ่องค์นี้ประมาณหกปี จึงได้กลับเมืองไทย มาอยู่ที่วังจันทร์เกษม วังหน้าของกรุงศรีอยุธยา ภาพพระเจดีย์ ชะเว โม ดอ สูงเทียมฟ้า น่าจะเป็นภาพประทับภาพหนึ่งสำหรับเด็กอายุเก้าขวบ ที่พลัดบ้านพลัดเมืองมา จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่ในภายหลัง พระนเรศวรฯ ได้สร้างเจดีย์สูงที่วัดใหญ่ไชยมงคล นอกกรุงศรีอยุธยา เป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงสุดในกรุงศรีฯสมัยนั้น
7) เมืองพุกาม เคยไปมาสองครั้ง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมนุษย์แห่งหนึ่ง พื้นที่ 62 ตารางกิโลเมตร มีเจดีย์สองพันองค์-โดยประมาณ สุดยอดของวัฒนธรรมพม่า ในทุกๆมิติ แต่นั่นแหละ พม่าเรียนแทบทุกเรื่องจากมอญโบราณ... ไม่เหมือนไทยที่เรียนการเมืองจากเขมร แต่เรียนกฎหมายจากมอญ ส่วนการค้าการขาย ทำมาหากินสุจริต เรียนจากจีนแต้จิ๋ว ส่วนการโกงกินเรียนจากคนจีนแคะ สำหรับข้าวมันไก่เรียนจากคนไหหลำ ส่วนตำราพิชัยสงครามสามก๊กเรียนจากจีนฮกเกี้ยน คำจีนในสามก๊กภาคภาษาไทยนั้น เป็นคำจีนฮกเกี้ยนทั้งหมดนะครับ-โปรดทราบ ฮ่า ๆ ๆ คนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนคือผมงัย มีเชื้อสายมาเลย์ด้วย ฮ่า ๆ ๆ ใครจะมาซี้ซั้วด่าแขกก็ไม่ได้นะ บอกไว้ก่อน...
เราควรศึกษาไปก่อนพอสมควร จึงจะไปแล้วคุ้ม หรือไม่ก็เดินไปอ่านไป หรือไม่ก็ให้ไปหลาย ๆ ครั้ง เช่น ผมไปกว่าสิบครั้ง เป็นต้น ฝีมือเรียงอิฐที่นั่นน่าจะเป็นหนึ่งในโลก ทั้งโลกโบราณและโลกปัจจุบัน ไม่มีที่ไหนจะเสมอเขาได้ เรียบสนิทติดกันไม่มีช่องว่าง เจดีย์สัพพัญญู นักท่องเที่ยวชอบปีนขึ้นไปนั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน เหนือคุ้งน้ำอิระวดี ซึ่งกว้างขวางปานทะเลสาป
ที่ตลาดชุมชนใหม่พุกาม นอกบริเวณโบราณสถาน เช้า ๆ มีปลาเฆ่ขายนะ ปลาเฆ่แบบที่มีในแม่น้ำโขงเด้ะเลย ภาษาอีสานเรียก “ปลาแข้” เนื้อปลาสดสีเหลืองอ๋อยเหมือนทาขมิ้น ต้มสุกแล้วจะไม่มีสี ตอนที่พวกเราไปเที่ยวพุกามครั้งที่สอง เรานั่งเรือไปในแม่น้ำอิระวดี แล้วเราซื้อปลาเฆ่สด ๆ ทั้งตัวจากชาวประมงน้ำจืดกลางแม่น้ำ ตัวหนึ่งยาวสักวาหนึ่งเห็นจะได้ แล้วเราก็ช่วยกันแบกมายังที่พักบนฝั่ง แล้วเราบอกพ่อครัวว่า ช่วยทอดมาให้เรากินทุกวัน วันละมื้อ ส่วนหัวกับส่วนหางเรายกให้คนครัวไป
มีเรื่องจะนำทาง เป็นมัคคุเทศสมัครเล่น ผิด ๆ ถูก ๆ เท่านี้ก่อนครับ-ขอบคุณที่ใช้บริการ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น