โดย แดง ใบเล่
ผู้วิจารณ์ คิดจะเขียนเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง บ้านทรายทอง มาพักหนึ่งแล้ว แต่รุ่นพี่ผู้เป็นที่เคารพนับถือ ขอร้องไว้ เธอบอกว่า “นี่เธอ ชั้นขอร้องเถอะ เธออย่าเพิ่งเขียนเรื่องนี้ได้มั๊ย” ซึ่งผู้วิจารณ์ก็โอนอ่อนผ่อนตาม บัดนี้ ได้เวลาที่จะเขียนถึงนวนิยายเรื่องนั้น ตามความตั้งใจที่มีมานาน คิดได้ก็เขียนเลย ไม่บอกให้เธอทราบ เกรงว่า จะมาขอร้องไม่ให้เขียนอีก
อย่างไรก็ดี ครั้นเวลาล่วงเลยมา ความคิดความอ่านก็เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเห็นว่า มีคนพูดถึงกันมากแล้วเรื่อง บ้านทรายทอง จึงจะเปลี่ยนมาเขียนเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องที่ต่อเนื่องกัน คือ เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ จะดีกว่าเยอะเลย ซึ่งในโลกหนังสือ มีผู้พูดถึงกันน้อย กว่าเรื่อง บ้านทรายทอง หรือถ้าจะพูดถึง ก็มักจะกล่าวรวมอยู่ใน บ้านทรายทอง ผู้วิจารณ์เห็นว่า เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ เน้นตัวนางเอกชัด ๆ ในวัยผู้ใหญ่แล้ว ผิดกับเรื่องบ้านทรายทอง ที่ตัวนางเอกยังอยู่ระหว่างก่อรูปบุคลิกตัวเอง และนิสัยใจคอก็ยังคงแฝงความเป็น เด็กหญิงไว้เปีย สวมกางเกงขาสั้นน่ารัก ๆ แบบนักเรียนโรงเรียนแม่ชีฝรั่ง บางครั้งก็ออกอาการเฮี้ยว แบบเด็กสาวรุ่น ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่าง กับบุคลิกในวัยผู้ใหญ่ของ “พจมาน” ในเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ ผู้วิจารณ์สบโอกาส ที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จากวิกฤตการณ์อสังหาฯในประเทศสหรัฐอเมริกา ขอถือโอกาสนี้ เขียนถึงนวนิยาย “อสังหาฯอมตะ” ของไทย เรื่องพจมาน สว่างวงศ์ ที่ต่อเนื่องมาจาก บ้านทรายทอง
ซึ่งในบทแรกของนวนิยาย พจมาน สว่างวงศ์ ก็ได้เชื่อมประสานกับนวนิยายอสังหาฯ บ้านทรายทอง อย่างสมบูรณ์ โดยที่ในบทแรกนี้ พจมาน กำลังจะต้องหัดเซ็นชื่อ ด้วยนามสกุลใหม่ จากสกุลเดิม “พินิตนันท์” มาใช้นามสกุลใหม่ว่า “สว่างวงศ์” เธอกำลังจะได้เป็นเจ้าของ “คุณชายภราดาพัฒน์ระพี” ทั้งนี้โดยที่ เธอได้เป็นเจ้าของอสังหาฯชิ้นงาม นามว่า “บ้านทรายทอง” ไว้แล้ว ชีวิตเธอกลับตาลปัตร คล้ายพนักงานทำความสะอาด เดินดันไม้ถูพื้น อยู่ในอาคารศูนย์การค้า ได้กลายเป็นเจ้าของห้างเสียเอง สถานการณ์ชีวิต ช่างพลิกผัน จากร้ายกลายเป็นดี อย่างน่าอิจฉาอะไรเช่นนั้น คล้ายกับพลิกจากสถานการณ์เศรษฐกิจชนิด “วิกฤต”อสังหาฯ กลายเป็นสถานการณ์ชนิด “บูม”อสังหาฯ
อสังหาฯชิ้นงาม เป็นฉากหลังให้กับชีวิตของ พจมาน สว่างวงศ์ โดยท่านผู้ประพันธ์ ก.สุรางคนางค์ ท่านช่างวางชิ้นอสังหาฯ ไว้ได้โดดเด่น ในนวนิยายของท่าน ทำให้หลาย ๆ คน นึกถึงนวนิยายอสังหาฯของ เจน ออสเตน นักเขียนนวนิยายอสังหาฯอมตะ ชาวอังกฤษ ถ้าเราลองเคาะเน็ต ชมหน้าปกนวนิยายอังกฤษย้อนยุค ที่ยังพิมพ์ใหม่ไม่ยอมหยุด และขายทางอะเมซอน.ดอท.คอม เราจะเห็นภาพหน้าปก เป็นรูปพระเอกนางเอก ในเครื่องแต่งกายตามสูตรต้นตำหรับ ฉากหลังจะเป็นภาพอสังหาฯปราสาท หรืออสังหาฯคฤหาสน์ หลังงาม วางอยู่ในบริบทชนบทอังกฤษ และเนื้อเรื่อง ก็จะเกี่ยวข้องกับอสังหาฯหลังงาม ๆ นักเขียนสตรีทั้งสองท่านนี้ นอกจากจะใช้ภาษาตนได้ดีเลิศ และมีศิลปะการเขียนสูงแล้ว ทั้งสองท่าน ยังลิขิตให้ชีวิตพระเอกนางเอก เกาะเกี่ยวอยู่กับอสังหาฯ คล้าย ๆ กันอีกด้วย
วิจารณ์แบบ สงวนจุดเหมือนไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้ จะแสวงจุดต่าง บ้าง
กำเนิดเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกิดกิจการรถไฟในประเทศอังกฤษ รถไฟได้รั้งแผ่นดินชนบททั้งผืน ให้ขยับร่นเข้ามาใกล้กรุงลอนดอนยิ่งขึ้น ทำให้การมี “บ้านชนบท” หรือ “country house” ที่เคยเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง ที่ต้องเดินทางด้วยรถม้า โขยกเขยกไปเป็นวันเป็นคืน เผลอ ๆ อาจโดนโจรป่า โรบิน ฮูด ปล้นเอาอีก อภิสิทธิ์นี้ ได้เลื่อนลงมาสู่ชนชั้นกลาง หรือกลางค่อนข้างสูง ท่านคนชั้นกลางสามารถนั่งรถไฟ ไป country house สบาย ๆ เพียงครึ่งค่อนวัน ก็ถึงแล้ว และดูเหมือนว่า สังคมอังกฤษได้ริเริ่มธรรมเนียม เรื่องการมีบ้านชนบท ให้กับกลุ่มคนชนชั้นกลางค่อนข้างสูงทั้งหลาย ซึ่งแฟชั่นนี้ ก็แพร่หลายไปทั่วทุกแห่งหน ที่วัฒนธรรมอังกฤษ แผ่ไปถึง
Property หรือ อสังหาฯ ในนวนิยายของเจน ออสเตน ก็จะมีชื่อเรียกขาน เช่นเดียวกับที่อสังหาฯของพจมาน มีนามว่า “บ้านทรายทอง” หรืออสังหาฯย่านบางกะปิ ชื่อ “บ้านคลายกังวล” ของนักการเมืองผู้เป็นคุณพ่อของ ศิรินาถ ซึ่งท่านเจ้าของบ้าน กังวลใจมาก ๆ เพราะต้องคดีเกี่ยวกับการเมือง ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่า เจน ออสเตน จะเน้นทั้งบ้านและที่ดิน ในสไตล์ “Land and House” เช่นอสังหาฯ ชื่อ Norland Park estate ในเรื่อง Sense and Sensibility ที่ละม้ายแม้นเรื่องบ้านทรายทอง และเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์
ส่วนพระเอกนางเอกของ เจน ออสเตน ก็จะมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับ “Property” ที่เป็นคฤหาสน์หลังงาม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนงาม ในบริบทอันวิเวกของชนบทอังกฤษ เช่นอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ คฤหาสน์หรือปราสาท Pemberley ในเรื่อง Pride and Prejudice เป็นต้น ถือได้ว่าเป็น Land and House สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แฟลตเอื้ออาทร นะเฮีย ภูมิทัศน์ของ Property เจริญหูเจริญตา เสียจนกระทั่งผู้ประพันธ์เขียน “ขาย” ฉากที่มองเห็นจากหน้าต่างอสังหาฯ คือว่า เธอบรรยายฉากดังกล่าวนั้นเกี่ยวพันกับตัวละคร ผู้อ่านจึงพลอยจินตนาการ เห็นภาพจากหน้าต่างอสังหาฯในนวนิยายของเธอ ซึ่งช่างงามแบบชนบทอังกฤษ และผ่อนคลาย หายเครียดดีจังเลย ครับเฮีย
ตรงนี้ คือ จุดต่าง...เพราะว่า เราจะไม่พบเห็นภาพเช่นนั้น จากหน้าต่างบ้านทรายทองของพจมาน! แล้วถ้าอย่างนั้น เรามองเห็นอะไร จากหน้าต่างบ้านทรายทอง หรือ
นวนิยายอสังหาฯของ ก.สุรางคนางค์ มีแต่จะชวนผู้อ่าน ให้มองจากด้านนอก เข้าไปชื่นชมความ “เด่นเป็นสง่า” ของตัวบ้าน
ถ้าจะมีฉากที่มองออกจากตัวบ้านบ้าง ก็จะแลไปไม่ไกลเกินกว่าประตูบ้าน และไกลสุดที่มองจากหน้าต่าง (หนังสือพจมาน สว่างวงศ์ บท 35 ตอนท้าย) ก็จะเห็น “ตึกขวาง” อาคารอีกหลังหนึ่ง ภายในบริเวณบ้านทรายทอง นวนิยายอสังหาฯทั้งเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ และ บ้านทรายทอง นี้ จะ “ขาย” ฉากภายในบ้าน และในบริเวณบ้านเท่านั้น เช่น ฉากแขกเหรื่อ ที่มางานแต่งงานระหว่างพจมานกับภราดาพัฒน์ระพี พากันตื่นเต้น กับความใหญ่โตโอ่โถงภายในบ้าน หรือฉากที่พจมาน ต้อนรับนายนิเวศน์ ผู้เป็นน้องเขย ในห้องรับแขกเล็ก (บท 33 ตอนกลาง ๆ) ท่านผู้เขียนเอ่ยถึง “...บ้านทรายทองอันโอ่โถงใหญ่โต” หรือฉากในบท 28 ตอนต้น เมื่อท่านหญิงวิมลสุดา(ท่านอ้อม) เสด็จขึ้นบนบ้าน ท่านยัง “...ชำเลืองแลไปทั่ว เพื่อสังเกตความโอ่โถงของบ้านทรายทอง เป็นครั้งแรกที่ได้เสด็จขึ้นมาข้างบน ใหญ่โต ซับซ้อนวิจิตรรพิสดารและไม่ทราบว่ากี่ห้อง ท่านถอนพระทัยยาว...”
อาการชื่มชมเหล่านี้ ดูราวกับ ศาสนิกผู้ศรัทธาแก่กล้า ตื่นตลึงกับโถงใหญ่ ภายในโบสถ์กอธิค ก็มิปาน นวนิยายอสังหาฯ ของ ก.สุรางคนางค์ ไม่ได้”ขาย” ฉากภูมิทัศน์ และวิสัยทัศน์ ที่แลเห็น ทะลุทัศนวิสัยม่านหมอก ออกไปจาก หน้าต่างคฤหาสน์ อย่างนวนิยายอสังหาฯ
ของ เจน ออสเตน
ข้อมูลจาก นวนิยายเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ อันเป็นนวนิยายอสังหาฯ ต่อเนื่องกับเรื่อง บ้านทรายทอง ตอนหนึ่ง กล่าวว่า “...หม่อมน่ะ นอกจากบ้านทรายทองแล้ว มีแต่ที่นาไกล ๆ “ ซึ่งก็แปลกันชัด ๆ ตรง ๆ ได้เลยว่า “Land” กับ “House” ของหม่อม มันแยกกันอยู่ โดยที่ Land ไม่เหมาะอย่างยิ่ง ที่จะนำ House ไปตั้ง คะเนดูคล้าย ๆ กับว่า Land มันอยู่ไกลสุดกู่ หนูก็ชุม รูแย้เพียบ อาจมีรังงูเห่า และอาจแถมน้ำท่วมอีกต่างหาก บรื๊อ สยอง
“พจมานแต่งงานเพื่อเงินหรือเปล่า” เป็นข้อหนึ่งของปริศนาอักษรไขว้ ของนวนิยายเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ ที่ตั้งโจทย์ ไขว้ก่ายกันไว้ แต่บทต้น ๆ ปริศนาข้อแรกนี้ ปรากฏอยู่ในบทสนทนาของเพื่อน ๆ ของ “คุณพจ” ตั้งแต่บทแรกเลยทีเดียว ส่วนปริศนาอีกข้อหนึ่ง ก็คือ “คุณชายภราดาพัฒน์ระพีแต่งงานเพื่ออสังหาฯชิ้นงาม หรือไม่” ปัญหาข้อหลังนี้ อยู่ในบทสนทนาของญาติสนิทคุณชายด้วยซ้ำ เช่น จากปากของน้าสาวแท้ ๆ ของเขาเอง เป็นต้น
สรุป เป็นประเด็นเด็ด ได้ว่า 1) นางเอกถูกกล่าวหา ว่า แต่งงานเพื่อ Cash-flow
2) พระเอกก็โดนตั้งข้อสงสัย ว่า แต่งงานเพื่อให้ Balance Sheet ดูดี
แล้วเราจะมาดูกัน ว่า มันยังงัยกันแน่ เพราะเราเป็น พวกส.ท.ร. (คือ เสือกแมร่ง ทุกเรื่อง อยู่แล้ว)
“เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์ ทั้งวังเขาชังนัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว” นั่นคือคติโบราณ แต่บทประพันธ์ของ ก.สุรางคนางค์ เป็นเรื่องราวยุคประชาธิปไตย ซึ่งรูปแบบของคู่กรรมประเภท “สิน กับ ศักดิ์” เปลี่ยนไป กลายรูปมาในแบบของคนรุ่นใหม่ ทันสมัย กล่าวคือ มาในแบบ "Property กับ Cash-flow" อันที่จริง ประเด็นนี้ ก็ไม่ได้มีใคร “ส.ท.ร.” ชงประเด็น สร้างกระแส กุข่าว ขึ้นมาตามอำเภอใจ คุณชายภราดาพัฒน์ระพี ท่านว่าของท่าน ไว้เองด้วยซ้ำ ทั้งนี้โดยมี “พจนีย์” นางมารร้ายตัวดี ผู้มาทำให้ประเด็นชีวิตที่คลุมเครือของตัวละคร กลับกลายเป็นขาวขึ้นเด่นชัดขึ้น คุณชายเอ่ยไว้เอง ในบท 13 ของหนังสือเรื่องพจมาน สว่างวงศ์ ว่า “... ถ้าหากจะมัวคิดว่า เธอมีแต่บ้าน ฉันมีแต่เงิน เธอกับฉัน ก็ยังมิใช่นามสกุลเดียวกัน อย่างที่เราได้เป็นอยู่” แปลเป็นภาษาสามัญ ว่า ยังไม่ได้เป็น ผัวเมีย กันจริงขาวขึ้น เด่นชัดขึ้น จริงมั๊ยล่ะ อย่างว่า...การที่ “คุณพจ” หรือพจมาน เด็กหญิงผู้หดหู่เศร้าซึม มีฐานะคล้าย ๆ พนักงานบริษัทรับถูพื้นห้าง ได้รับมรดกเป็น Property หลังงาม อย่างบ้านทรายทอง ชีวิตเธอจะต้องประสบกับ “วิกฤตอสังหาฯ” อย่างแน่นอน เพราะไม่ปรากฏว่า เธอมีแหล่งรายได้อะไรมาจากไหน ถ้าจะให้ชีวิตดำเนินไปราบรื่นจริง ๆ ระดับนี้ ต้องเป็นเจ้าของตลาดสักตลาดหนึ่ง พอให้ได้เก็บค่าเช่าแผง มาบำรุงคฤหาสน์ เพราะฉะนั้น การได้รับมรดกอสังหาฯ บ้านทรายทอง มานั้น พจมานน่าจะต้องเป็นทุกข์ เสียยิ่งกว่าตุ๊ก ๆ ถูกหวย ตุ๊ก ๆ ถูกหวยยังมีความสุขอยู่ได้นานหลายเดือน กว่าที่เงินรางวัลหวยจะหมด แต่“คุณพจ” เธอรับมรดกอสังหาฯ มาเป็นภาระแก่ชีวิตแท้ ๆ เลย เฉพาะแต่ค่าน้ำค่าไฟเดือนแรกจะเอาที่ไหนมาจ่าย ผู้คนเกาะอาศัยกันอยู่เต็มบ้าน...ซึ่งสมัยก่อนโน้น พวกเกาะอาศัยเหล่านี้ เขาเรียกว่าข้าทาสบริวาร สมัยหลัง ๆ นี้นิยมเรียกว่า “พวกชาวเกาะ” (จะต้องไล่ให้ไปขูดมะพร้าว คั้นกะทิใส่กล่องขาย ซะให้เข็ด ชาวเกาะ! ไปขูดมะพร้าวไป๊)
จะกล่าวถึง ฝ่ายข้างคุณชายบ้าง คุณแม่ของคุณชาย มีความคิดจิตใจ และ ความประพฤติร้ายกาจ อาฆาตมาดร้าย บ๊ะ คนอะไรจะเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น...แต่ก็เป็นไปแล้ว พับผ่า! คือว่า เธอทั้ง bad และเธอทั้ง evil (สองทุระลักษณะนี้ คือ bad กับ evil ล้วนตรงกันข้ามกับ “good” แต่ตรงข้ามอย่างต่างนัยยะกัน) ในงานมงคลสมรสของลูก เธอยังกล่าวอาฆาตลูกตัวเอง ส่วนข้างฝ่ายพี่น้องผู้หญิงของคุณชาย อันได้แก่พวกหญิงเล็ก หญิงกลาง หญิงใหญ่ และหญิงยักษ์ทั้งหลาย(size XL) ก็มีนิสัยไม่ดีมากกว่านิสัยดี กู๊ดบ้างแบดบ้างอีวิลบ้าง แต่แบดกับอีวิลซะมาก คุณชายแกอยู่ในแมนชั่นหลังมหึมาแต่อ้อนแต่ออก นึกว่า ตัวเองเป็นเจ้าของบ้าน อยู่มาวันหนึ่ง ราวกับเกิดธรณีวิบัติ ฐานะพลิกผัน จะต้องเปลี่ยนฐานข้อมูลสำเนาทะเบียนบ้าน จากเจ้าบ้านกลายเป็นคนอาศัยเขาอยู่ หม่อมแม่น่ะ นอกจากบ้านทรายทองแล้ว มีแต่ที่นาไกล ๆ คือว่า Land มันอยู่ไกลสุดกู่ หนูก็ชุม รูแย้เพียบ อาจมีรังงูเห่า และอาจแถมน้ำท่วมอีกต่างหาก บรื๊อ สยอง! ลองรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา นึกว่าตัวเราเอง เป็นคุณชายในสถานการณ์เช่นนั้นบ้าง จะให้เราทำอย่างไร
Solution สมภารกินไก่วัด คือ อ็อฟชันอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล อ็อฟชันหนึ่ง
สามัญมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีใครอยากจะย้ายออกไปจาก comfort zone ของตัวเองหรอก คุณชายภราดาพัฒน์ระพี ก็เช่นเดียวกัน โธ่...บ้านเคยอยู่อู่เคยนอนสบาย ๆ อย่าว่าแต่จะเป็นอสังหาฯระดับ “Property” เลย เรือกสวนไร่นา แม้สักกระแบะมือหนึ่ง คนยังรัก คือว่า ชีวิตคนมัน grounded อยู่กับที่ทาง ความเป็นเจ้าไม่มีศาล “ฉันอยู่ที่ไหนก็ได้” แล้วดันมีความสุข เป็นข้อยกเว้น ที่ยกขึ้นปลอบใจ ตอแหลกับตัวเองเสียมากกว่า วิญญาณที่ทุกข์ระทม และต้องคำสาป ก็คือ วิญญาณพเนจร ก็เพราะตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เรื่อยมา ชีวิตคนมักจะ grounded อยู่กับที่ดิน จึงเป็นเหตุให้เกิดการทำสวนครัว(gardening)ขึ้นมา แล้วในที่สุด gardening ก็นำไปสู่ “agriculture” แล้วการเกษตรหรือ agriculture นั้น ก็สร้างผลิตผลเหลือกินเหลือใช้ ช่วยให้เกิดอู่อารยธรรม แล้วภายหลังจึงเกิดเป็น “ชาติ” ขึ้นมา ความเป็นชาตินี้ ต้องมีที่ดินเป็นองค์ประกอบสำคัญนะจะบอกให้ ระยะหลังนี้ ถึงได้ไม่มี “ชาติมอญ” งัย มีแต่ “คนในวัฒนธรรมมอญ” เพราะว่า คนมอญไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเองโดยอิสระลำพัง ทั้งหมดนี้ จำขี้ปากเขามาเล่าต่อ นะครับ ไม่ได้ตรัสรู้เอง
ก็เมื่อกรรมสิทธิ์ จะเปลี่ยนมือ แม้จะยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ กันอย่างเป็นทางการก็ตาม นิติกรรมมันก็สมบูรณ์ อยู่ในความรู้สึกของกันและกัน บ้านทรายทอง ต้องเป็นของ พจมาน เพราะนี่เป็นนิยายทุกอย่างมัน สมจริงอยู่ในความรู้สึก ไม่จำเป็นต้อง เป็นจริงตามตัวบทกฎหมายหมวดหนี้ มาตรา 195 วรรค 2 แต่นั่นแหละ แล้วใครบอกว่า พจมาน ซื่อบื้อไม่รู้กฎบัตรกฎหมาย น้อยไปซะล่ะ ลองอ่านฉากในห้องสมุด ที่พจนีย์ ผู้เป็นน้องสาว มาขอแบ่งสมบัติดูแล้วกัน พจมานพูดว่า “หยุดก่อน หยุด พจนีย์ น้องไม่รู้ความจริง ใครบอกเธอ ว่า บ้านนี้เป็นของคุณพ่อ...” แล้วต่อมาพจมานย้ำอีกว่า “ไม่มีพินัยกรรม ไม่มีหลักฐาน เธอเป็นเด็กมาทีหลัง ไม่รู้อะไรชัดเจน ไม่ควรพูด” สุดยอดเลย พจมาน! เธอศีรษะแพทย์(หัวหมอ) มาตั้งแต่เมื่อไรคะ? เธอยังเชี่ยวชาญประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 369 และ 370 เรื่อง สัญญาต่างตอบแทน อย่างชนิดหาที่ติเธอยากอีกด้วยค่ะ เธอกล่าวกับนายนิเวศน์น้องเขย ว่า “...คุณต้องการเงิน คุณก็ได้เงิน ส่วนดิฉันรักน้อง ลูกพ่อเดียวแม่เดียวกัน อยากให้แกสบาย ไม่มีอะไรรบกวน ดิฉันก็ได้รับแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่มีบุญคุณอะไร ติดค้างอยู่อีก”
เกี่ยวกับผลกระทบ เรื่องกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ ที่จะก่อสถานการณ์อันไม่มั่นคง ด้านชีวิตและเศรษฐกิจ อันมีสิทธินำไปสู่ “วิกฤตอสังหาฯ” ในอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับคุณชายภราดาฯนั้น ท่านหญิงวิมลสุดา(ท่านอ้อม) ผู้เป็นเพื่อนพจมาน ได้สรุปไว้ชัดเจน ในบทสนทนาระหว่าง ท่านหญิงกับหม่อมแม่ ในบท 19 ตอนกลาง ๆ เธอบอกหม่อมแม่ว่า เธอเกลียดคุณชายภราดาพัฒน์ระพี
“...เกลียดคุณภราดาเป็นคนที่สาม ในฐานะที่มาแต่งงานกับคนรักของเรา แล้วไม่เชิดชูเกียรติยศ ปล่อยให้แม่ของตัว ทำได้ตามชอบใจ ฮึ! หญิงรู้นี่นา ลองไม่ได้พจมาน บ้านก็ไม่มีให้ชูคอ บ้านทรายทองเป็นของพจมาน พวกนี้แหละโกงเอาไว้”
OMG! สุด ๆ เลยเจ๊...
ดังนั้น หากว่าการที่พจมาน รับมรดกอสังหาฯมานั้น ได้กลายเป็นภาระแก่ชีวิตเธอโดยแท้ แต่สำหรับคุณชายภราดาเล่า การที่อสังหาฯ ชิ้นไพรม์ บนถนนวิทยุชิ้นนี้ หลุดมือไป ก็ย่อมมีสิทธิจะสร้างภาระหนักแก่ชีวิตคุณชายได้เช่นกัน ตัวละครทั้งคู่ ได้ใช้ชีวิตตลอดหนังสือเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ ทั้งเล่ม เพื่อพิสูจน์ให้โลกรู้ ว่าได้แต่งงานกันเพราะความรัก มิใช่ด้วยวิกฤตอสังหาฯเป็นเหตุ ซึ่งผู้วิจารณ์(ผู้เขียนบทความนี้)เห็นว่า การพิสูจน์ดังกล่าวนั้น ยังไม่ประจักษ์แจ้งพอ หัวเด็ดตีนขาด ยังไม่ขอเชื่อ!
ท่านผู้อ่านนิตยสาร เอ็มบีเอ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อ่านที่เฉลียวฉลาดกลุ่มหนึ่ง ในเมืองไทยปัจจุบัน จะว่าอย่างไรครับ? ผู้วิจารณ์ยังเห็นต่อไปอีกว่า นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ หนักอยู่แต่กับเรื่อง “การเมืองในบ้าน”(in-house politics) สมควรอ่านควบคู่ไปกับ The Prince ของ แมคเคียเวลลี เป็นเหมาะที่สุด ตัวละครเอกและตัวละครสำคัญ ๆ ไม่เห็นจะมีใคร มีความรัก ให้แก่กันและกันเลยแม้แต่น้อย เว้นแต่...มีข้อยกเว้นอยู่กรณีเดียวเท่านั้น ที่มาบรรเทา ไม่ให้เรามองนวนิยายทั้งสองเรื่อง ในแง่ร้ายสุดขั้ว
เพราะมีรักหนึ่ง ที่เป็นรักแท้ ใสบริสุทธิ์ สดชื่นนิรันดร์ และชั่วฟ้าดินสลาย
รักเดียวนั้น ได้มาช่วยให้เรา ยังฟังเพลงรัก เช่น เพลง Parlez-moi d’amour. ได้ไพเราะเหมือนเดิม
รักนั้น ก็คือ รักของนกุล ที่มีต่อพจมาน!
ใครจะเถียง มั๊ยเนี่ยะ-เถียงได้ นะครับ
-----------------------------------------------------------------------------------
คลิกที่นี่ อ่าน วิจารณ์พจมาน ตอน 2/2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น