ประตูลิฟต์เปิดออกที่ชั้น
7 อาคารหมอพร โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อันเป็นชั้นที่ถูกจัดไว้เป็นพื้นที่พักของผู้ป่วยสามัญ(ชาย)ทั้งชั้น
จัดไว้เป็นห้องโถงโล่งตลอด หมายความว่าไม่มีผู้ป่วยที่อยู่ห้องพิเศษอยู่บนชั้นนี้
ผู้เขียนจะมาพักรอการผ่าตัดในวันพรุ่งนี้ (วันหนึ่งตอนปลายเดือนเมษายน 2562) และจะนอนพักฟื้นดูอาการหลังการผ่าตัดอยู่ที่นั่น
ในฐานะผู้ป่วยสามัญกับเขาผู้หนึ่ง ผู้เขียนใช้สิทธิการรักษาพยาบาลตามระบบประกันสังคม
อันเป็นระบบที่ประสงค์อยากให้มีขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งผู้เขียนยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อน ๆ นักศึกษารุ่นเดียวกันหลายคน เป็นพยานได้
เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมาก
ห้องโถงที่พักรองรับได้ไม่พอ เตียงผู้ป่วยจึงต้องล้นออกมาอยู่หน้าลิฟต์ ซึ่งมีเตียงผู้ป่วยวางอยู่แปดเตียง
เรื่องความหนาแน่นของโรงพยาบาลหลวงแห่งนี้นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินมาก่อน และไม่รู้สึกประหลาดใจแต่ประการใด
เมื่อได้มาเห็นกับตา
ข้อเขียนเรื่องนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์
ที่ได้ประสบพบเห็นด้วยตนเอง รับรู้ด้วยอายตนะทั้งหก หูตาจมูกลิ้นกายใจ
ได้พยายามที่จะไม่เจือสมความชอบ-ไม่ชอบ ความเห็นว่าดี-เห็นว่าไม่ดี อันเป็นความเห็นส่วนตัว
แต่กระนั้น ผู้เขียนก็เป็นสามัญมนุษย์ ปุถุชนคนธรรมดา
ไม่ใช่พระโสดาบัน อคติคงจะมีปนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ต้องขออภัยท่านที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า
ผู้เขียนเดินตามช่องว่างระหว่างเตียงผู้ป่วยหน้าลิฟต์
เพื่อเลี้ยวเข้าห้องโถงที่พักผู้ป่วย อันเป็นพื้นที่หลักของชั้นนั้น ซึ่งมีที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กันไว้เฉพาะ
หลังจากยื่นเอกสารแล้วพยาบาลหรือบุคลากรในกลุ่มพยาบาลคนหนึ่ง
นำผู้เขียนออกจากห้องโถงที่มีผู้ป่วยนอนอยู่เต็ม กลับออกมายังเตียงว่างหน้าลิฟต์เตียงหนึ่ง
เธอตบมือลงกับที่นอนแล้วบอกผู้เขียนว่า “อยู่ข้างนอกนี่แหละ สบายดี”
ผู้เขียนรับปากว่า
“ครับ ๆ ขอบคุณครับ” แล้วจัดแจงเก็บเป้เข้าไว้ในตู้เล็กที่ข้างหัวเตียงผู้ป่วย
เปลี่ยนเสื้อผ้ามาสวมเสื้อผ้าโรงพยาบาล รื้ออุปกรณ์ในเป้ที่เตรียมมา มี แท็บเล็ต(เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก)
สายชาร์จแท็บเล็ตและชาร์จโทรศัพท์ สบู่ยาสีฟัน เป็นอาทิ
ออกมาวางไว้บนโต๊ะข้างเตียง ซึ่งมีถาดที่มีโถน้ำดื่มกับแก้วปลาสติคของโรงพยาบาล
วางไว้ให้
จัดแจงแล้วเสร็จผู้เขียนก็ขึ้นเอนหลังลงนอน
มองไปเตียงซ้ายมือเห็นผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก จึงถามมารดาที่เฝ้าไข้
ทราบว่าอยู่ชั้นประถมสาม ขวามือเป็นผู้ใหญ่ทักทายแล้วได้ความว่า มาผ่าใส้ติ่ง
ช่วงนั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อย แดดส่องผ่านหน้าต่างกระจก สาดลงบนเตียงผู้เขียนพอดี
อบอุ่นครับอบอุ่น ได้รับความอบอุ่นอย่างแรง จากแสงแดดปักษ์ใต้ ยามบ่ายเดือนเมษายน ก็ลองคิดดูแล้วกัน
แต่โดยสรุปก็รู้สึกสบายดีทุกอย่าง ตามที่พยาบาลบอก ไม่มีอะไรจะต้องบ่น
คุณบ่นพระอาทิตย์ได้หรือ นี่แนะดวงตะวันหรี่แสงลงหน่อยเด่ะ - บ่นได้หรือ?
มองไปด้านเหนือศีรษะ(เขียนคำนี้เพื่อเลี่ยงคำว่า
หัวนอน เพราะ หัวนอน ในภาษาใต้หมายถึง ทิศใต้) ซึ่งเป็นทิศตะวันตก -
ความประโยคก่อนซับซ้อนนะ มันมีคำว่า เหนือ คำว่า ตะวันตก ทั้งนี้โดยแฝงคำว่า หัวนอน กับคำว่า ทิศใต้
อยู่ด้วย
คงจะมีแต่คนรู้ภาษาใต้เท่านั้นที่เขียนประโยคนั้นได้
ซึ่งมีทิศแฝงอยู่ถึงสามทิศ อ่านแล้วมีสิทธิงงฉิบหายเลย
ไม่รู้ว่ากำลังจะชี้ไปทิศไหน – ทาง ปละตก
ภาษาใต้แปลว่า ทิศตะวันตก จะแลเห็นทิวเขายาวเหยียดเป็นพืดโดยตลอด ในแนวเหนือ-ใต้
ทิวเขานั้นแม้จะอยู่ไกลมาก แต่ก็แลเห็นได้ว่าซ้อนเหลื่อมกันอย่างสลับซับซ้อน
ไม่ได้มีทิวเดียว สันเขาอันทอดทาบขอบฟ้ายาวเหยียดไร้ช่องว่างนั้น
คือที่กั้นแดนระหว่างจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง และเป็นขุนเขาอันเป็นแกนของคาบสมุทร์
ที่ตั้งของภาคใต้ของประเทศไทย
สรุปได้ว่า นอนอยู่หน้าลิฟต์
วิวดีครับวิวดี ซึ่งญาติโยมที่นอนครางฮือ ๆ ร่วมร้อยชีวิตอยู่ด้านใน
ในห้องโถงโรงนอนของคนไข้สามัญ ล้วนแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้ชมวิวงาม ๆ อย่างนั้น -
เสียใจด้วยนะพวก คนเรามันวาสนาไม่เท่ากัน ที่วาสนาดีก็มี ที่วาสนาไม่ค่อยจะดีก็มี
[ยังมีต่อ.....]
แต่เวลาจะเข้าห้องน้ำ
ผู้เขียนต้องเดินเข้าไปในห้องโถงโรงนอน เดินไปตามทางที่ใช้แบ่งเขต
ระหว่างเขตที่กันไว้เป็นสำนักงานแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ อยู่ทางซ้ายมือ
กับเขตผู้ป่วยอยู่ทางขวามือ พื้นที่สำหรับคนไข้แบ่งเป็นล็อค ๆ
จัดล็อคตามสภาพอาการป่วยไข้ เช่น ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยกึ่งหนัก ผู้ป่วยเฝ้าระวัง
เป็นต้น ชื่อเหล่านี้ผู้เขียนอาจจำไม่ได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในแต่ละล็อค
มีเตียงผู้ป่วยวางเป็นแถว ล็อคละสองแถว มีช่องทางเดินและเพื่อการพยาบาลอยู่ตรงกลาง
สรุปว่า ทางเดินไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ปลายสุดนั้น ด้านซ้ายมือเป็นเขตที่ทำการของเจ้าหน้าที่
ด้านขวามือแบ่งแดนพื้นที่ผู้ป่วยไว้เป็นล็อค ๆ
เวลาเดินไปเข้าห้องน้ำ
ผู้เขียนจะเดินอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว สายตาเหลือบลงมองพื้นทางเดิน
จะไม่พยายามมองเข้าไปตามล็อคที่วางเตียงคนไข้ เพราะไม่อยากรู้ อยากดู อยากเห็นอะไรที่นั่น
เพราะคิดว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ไม่อยากจะดูหรอก
ตัวเองก็เป็นผู้ป่วยคนหนึ่งเหมือนกัน อย่างไรก็ดี
บางทีก็อดไม่ได้ที่สายตาจะเหลือบแลไปในนั้น แต่ก็สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้
ไม่ให้สายตาโฟกัสลงบนใบหน้าผู้ใดเลย ไม่ต้องการจะจดจำหน้าใครทั้งนั้น
เรื่องนี้สามารถทำสำเร็จ จนบัดนี้นึกหน้าเพื่อนผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ออกเลยสักคน
แม้แต่สภาพของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้โฟกัสไปเห็น
ยกเว้นรายเดียวที่อยู่ริมทางเดิน รายนี้อดไม่ได้ที่จะต้องมอง และ.....โฟกัส
ครั้งแรก
ผู้เขียนแปลกใจว่า ทำไมคนไข้บนเตียงนั้นตัวสั้นเพียงครึ่งที่นอน
เป็นคนไข้เด็กหรืออย่างไร กวาดสายตาดูผาด ๆ ไม่ใช่เด็ก ลักษณะเป็นผู้ใหญ่ แต่สงสัยว่าทำไมตัวสั้นแค่ครึ่งเตียง
ปรากฏว่า เขาถูกตัดขาทั้งสองข้าง เข้าใจว่าน่าจะถูกตัดเลยหัวเข่าขึ้นมา
ตัวทั้งตัวจึงดูเสมือนเหลือครึ่งเดียว – เฉพาะร่างกายท่อนบน
ผู้เขียนทำตามัวให้แลไม่เห็นหน้าเขา จึงจำหน้าเขาไม่ได้ และประมาณอายุไม่ถูก
เรื่องการใช้ห้องน้ำนั้น
ในวันต่อมาผู้เขียนได้รู้ว่าตอนเช้าการจราจรหนาแน่น ต้องยืนรอห้องว่าง
จึงพยายามเลี่ยงเวลาดังกล่าว ด้วยการไปให้เช้าขึ้นหรือรอให้สายหน่อย
ก็ได้ใช้ห้องน้ำที่โล่งและว่าง
ห้องน้ำของเขาแบ่งเป็นห้องอาบน้ำอย่างเดียวสองหรือสามห้อง
เป็นห้องส้วมอีกสองหรือสามห้อง กับมีบริเวณอ่างล้างหน้าติดกับผนังด้านหนึ่ง
ห้องทั้งห้องใหญ่โตกว้างขวาง ไม่ได้คับแคบน่าอึดอัดแต่ประการใดเลย
กลับมาที่เตียงผู้ป่วย
อันเป็นที่สถิตของตัวเอง ในโลกอันกว้างใหญ่ของผู้ป่วยสามัญ
ซึ่งกินเนื้อที่ชั้นเจ็ดทั้งชั้น ผู้เขียนรื้อเอาสายหูฟังมาเสียบเข้ากับเครื่องแท็บเล็ต
เพื่อไม่ให้เสียงดังออกไปรบกวนผู้ป่วยคนอื่น เครื่องคอมฯชนิดแท็บเล็ตนั้น
หนังตะลุงน้องเดียว(ตาบอด)ซึ่งเป็นหนังดังที่สุดในภาคใต้ทุกวันนี้
เคยนำมาเรียกล้อเป็นสำเนียงภาษาใต้ว่าเครื่อง ถับ-แหล็ด ซึ่งสร้างความตลกขบขันแก่ผู้ชม
เพราะมีความหมายแปลได้ว่า นั่งทับลูกอัณฑะของตัวเอง
เครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดนั่งทับลูกอัณฑะของตัวเอง
หรือเครื่องถับ-แหล็ดเครื่องนี้ - มิตรที่แสนดีที่กรุงเทพฯ คุณสุรพล-คุณอภิรดี
ตันตราภรณ์ ให้กะตังไปซื้อ พร้อมกับให้เงินซื้อแล็บท็อปเครื่องหนึ่งด้วย ที่จริงขอไปว่า
ขอเครื่องคอมฯวางตักชนิดมือสองสักเครื่องหนึ่งเถอะ ท่านก็ดุเอาว่า ไม่ต้องหรอก
- ไปซื้อเครื่องใหม่เลยดีกว่า ขอขอบพระคุณทั้งสองท่าน
[ยังมีต่อ.....]
ผู้เขียนเตรียมตัวมานอนโรงพยาบาล
ด้วยการเสาะหาสะสม รายการยูทูบและพ็อดคาสต์สองสามประเภทที่ชอบชมและฟัง เก็บไว้ในเม็มมอรีการ์ดของแท็บเล็ต
งานนี้ทำล่วงหน้าหลายวัน เช่นหารายการประเภทสุขภาพกายและใจ รายการเกี่ยวกับวรรณกรรมและชีวิต
ตลอดจนรายการประเภท “self-help” ที่ฟังแล้วชอบ
หลวงวิจิตรวาทการ เป็นคนแรกที่นำงานประเภท
“self-help”
แบบตะวันตก เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ทุกวันนี้นั้นบรรดาบรมครู “self-help”
ทั้งหลายในตะวันตก ซึ่งส่วนมากอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในฝรั่งเศสก็พอมีบ้าง
ท่านจะมีเว็บไซด์หรือช่องยูทูบ เผยแพร่วีดีโอฟรี หรือให้ดาวน์โหลดโดยต้องจ่ายสตางค์
ราชาของครู “selp-help”ในสหรัฐฯ คือนายโทนี โรบิน ถึงแม้ผู้เขียนจะฟังครูคนนี้แล้วไม่ติดใจ
แต่ก็ทึ่งในความมีชื่อเสียงของแก กะประมาณเอาเองว่าแกน่าจะสร้างทรัพย์สินจากงานนี้
ขึ้นมาได้นับร้อยล้านดอลลาร์ หรืออาจจะเป็นพันล้านดอลลาร์ก็ได้ใครจะรู้
เพราะเคยได้ฟังอาจารย์ “self-help” คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของ
นายโทนี โรบิน เปิดเผยว่า ตนหาเงินจากงานนี้ได้สามสิบห้าล้านดอลลาร์
อาจารย์ด้านนี้ที่ผู้เขียนชอบใจ
เป็นคนอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย คนหนุ่มหัวล้านเหน่ง แม้เคยคิดจะเลิกฟังแกหลายหนแล้ว
เพราะเห็นว่าบางทีแกงี่เง่า ประสาท เพี้ยน ๆ เสียสติ ซึ่งตัวแกเองก็ยอมรับว่าตนเป็นอย่างนั้น
แต่ผู้เขียนก็ยังคงเสพติด เลิกฟังไม่สำเร็จ ครั้นจะมาเข้าโรงพยาบาลก็ได้โหลดรายการของแกนับสิบ
ๆ รายการไว้ในแท็บเล็ต ท่านใดสนใจงานเชิง self-help ของอาจารย์ลีโอ
ผู้นี้ คลิกเยือนเว็บของท่านได้ที่ Actualized.org
รายการเกี่ยวกับวรรณกรรมและชีวิต
โหลดมาจากเว็บของสถานีวิทยุบีบีซี - คือรายการ World
Book Club และจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด - คือรายการ the
Entitled Opinion และจากแหล่งอื่น ๆ ส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพ ก็โหลดรายการเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพประจำตัว
และเรื่องการอยู่ดีกินดี(well-being)โดยทั่วไป ตลอดจนรายการช่วยทำสมาธิ
กับเทดทอล์คอันโด่งดังทั่วโลก ที่มีแผนกสุขภาพเป็นภาษาอังกฤษอยู่ใน iTunes ชื่อ TEDtalk Health ซึ่งน่าฟัง
และมีเวอร์ชันฝรั่งเศสด้วย ชื่อ TEDtalk Santé
นอนฟังแท็บเล็ตเพลิน ๆ
สาวที่มาเฝ้าไข้คุณพ่ออยู่เตียงข้าง ๆ เอ่ยถามผู้เขียนว่า น้า ๆ คนเฝ้าไข้ อยู่ไหนอ่ะ?
ดูสิ - เธอไม่สนใจคนไข้
เธอกลับสนใจคนเฝ้าไข้ อันหมายถึงผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งทางโรงพยาบาลอนุญาตให้มานอนเฝ้าไข้ได้รายละหนึ่งคน
ผู้เขียนไม่ได้ขอร้องให้ใครมาอยู่เป็นเพื่อน เพราะเห็นว่าสำหรับงานนี้ยังพึ่งตัวเองได้อยู่
ถ้าเป็นกรณีผ่าตัดใหญ่ประเภท “งานเข้า” ก็เคยให้ญาติมาเฝ้า
ผู้เขียนได้ตอบกลับไปว่า
คนเฝ้าไข้ไม่มีหรอกครับ นอนเฝ้าตัวเอง!
เธออึ้งไปครู่หนึ่ง
แล้วพูดเป็นทำนองชมเปาะ ว่า เก่งนะ
ผู้เขียนไม่รับหรือปฏิเสธ
ปล่อยการสนทนาทิ้งค้างไว้แค่นั้น - ให้เป็นปริศนา
สุดแล้วแต่คู่สนทนาจะคิดเอาเองว่า เก่ง-ไม่เก่ง
จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจสามารถอะไรเลย
เพราะเวลาจำเป็นจริง ๆ ก็จะร้องโอดโอยให้คนช่วยมั่วหมด และการสร้างปริศนาครั้งนี้ก็ไม่ได้ต้องการโอ่อย่างแยบยลเพื่อ
อวดเก่ง เพียงแต่ประสงค์จะ กวนตีน
คู่สนทนาเล่นนิดหน่อย แก้เซ็ง เท่านั้นเอง – ตามนิสัยหรือความเคยชิน
(โปรดอย่าใช้คำว่า สันดาน กับผู้เขียนนะครับ ขออภัย - ประเดี๋ยวท่านจะหยาบโดยไม่ได้ตั้งใจ)
[ยังมีต่อ.....]
พื้นที่หน้าลิฟต์ น่าจะเป็นบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุด
เกือบจะร้อยทั้งร้อยของผู้คนที่มีกิจธุระบนชั้นผู้ป่วยสามัญเนื่องจากการผ่าตัดชั้นนี้
ซึ่งมีอยู่นับร้อยเตียง จะต้องเดินเข้าออกจากลิฟต์ซึ่งเป็นลิฟต์คู่ ผู้เขียนได้นอนแลเห็นเป็นสักขีพยาน
ต่อเหตุการณ์นานาชนิด ซึ่งผู้ป่วยที่นอนอยู่ด้านใน ไม่มีโอกาสจะได้พบเห็น เพราะว่าพวกเขาวาสนาน้อยดังกล่าวแล้ว
เริ่มตั้งแต่เช้า ก็จะได้ยินเสียงประกาศทางเครื่องกระจายเสียง
อันเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญภายในโรงพยาบาล เช่น ประกาศเปิดเพลงชาติ(ปลุกใจผู้ป่วย?)
ประกาศขอให้เจ้าของรถทะเบียนนั้นทะเบียนนี้ ไปเลื่อนรถออกจากพื้นที่หวงห้าม ประกาศขอความร่วมมืออย่าซื้ออาหารที่มีผู้แอบนำเข้ามาขายบนอาคาร
ซึ่งอาจเป็นอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ประกาศห้ามคนเข้ามาขายของในโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ฝ่ายบริหารโรงพยาบาลช่างหาผู้ประกาศมาได้
ชนิดที่เสียงนุ่มนวล ชวนให้น่าเชื่อฟังเป็นอย่างดี
ผู้เขียนเห็นคนลักลอบเข้ามาขายอาหาร
เธอเปิดประตูลิฟต์ออกมา พร้อมกับตะกร้าปลาสติคชนิดก้นลึก
บรรจุของได้มากแต่แลดูเล็กไม่ใหญ่เกะกะ เธอปักหลักอยู่หน้าลิฟต์ ไม่ได้เดินเร่เพ่นพ่านไปไหน
ผู้คนทั้งหลายที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคำประกาศของโรงพยาบาล เช่น
พวกคนเฝ้าไข้หรือผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก พากันไปรุมซื้ออาหารที่นั่น
คนขายของจะขายหมดภายในเวลารวดเร็ว และหายตัวไปอย่างลึกลับ ไม่ทันได้ดู
ไม่รู้ว่าหายไปไหน อย่างไร
ผู้เขียนสงสัยใคร่รู้กิจกรรมลึกลับดังกล่าวนั้น
จึงตัดสินใจเข้าไปสังเกตการณ์ใกล้ชิด ซึ่งท่านผู้อ่านผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย
อาจคิดว่า คงจะเป็นเพราะผู้เขียนเห็นว่าตลาดผู้ป่วยสามัญ บนชั้นเจ็ดโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ประกอบด้วยคนจำนวนมากรวมอยู่ในที่เดียวกัน เป็น niche ด้านการตลาด
ที่สามารถจะสร้างยอดขายได้ภายในพริบตา ผู้เขียนถึงได้อยากรู้ภาคปฏิบัติที่แท้จริง เผื่อว่าเมื่อหายป่วยไข้แล้ว
จะดอดกลับเข้ามาทำมาหากินกับเขาบ้าง เช่น หิ้วตะกร้ามาขายหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ
เป็นต้น
มิใช่เช่นนั้น โปรดอย่ามองโลกแง่ร้ายเกินไป
ผู้เขียนสงสัยตามจริตเสือกอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรอื่น ดังนั้น
เช้าวันหนี่งขณะที่คนกำลังมะรุมมะตุ้มอยู่กับแม่ค้าหน้าลิฟต์ ผู้เขียนก็พยุงตัวลุกจากเตียงผู้ป่วยที่นอนอยู่
เดินเข้าไปขอมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน พบว่าอาหารที่เขานำมาขายมีหลายชนิดและห่อมาเรียบร้อย
เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดแบบชาวใต้ ที่ผัดด้วยน้ำพริกแกง คล้ายน้ำพริกแกงขนมจีน -
ซึ่งแม่ผู้เขียนก็ชอบผัด นอกนั้นก็มีข้าวผัดกะเพรา หรือข้าวไข่เจียว เป็นอาทิ
กับมีขนมค่อม(ขนมใส่ใส้) และข้าวเหนียวหน้าไข่(ข้าวเหนียวหน้าสังขยา) และอื่น ๆ
เขาขายในราคาย่อมเยา อาหารห่อละยี่สิบบาท
ส่วนขนมขายสิบบาท ผู้เขียนซื้อข้าวผัดกะเพราะห่อหนึ่ง กับซื้อข้าวเหนียวหน้าไข่(สังขยา)
แม่ค้าถามผู้เขียนอย่างมืออาชีพและห่วงใยว่า เพิ่งผ่าตัดมาหรือเปล่า
ถ้าเพิ่งผ่าตัดกินเหนียว(ข้าวเหนียว)ไม่ได้นะ.....ซึ่งผู้เขียนก็ตอแหลตอบไปว่า
ยังไม่ได้ผ่าหรอก ซึ่งแม่ค้าก็เชื่อ ก็เลยขายข้าวเหนียวหน้าสังขยาให้ กินอร่อยมาก
- ภาษาใต้ว่า กิ่น หร้อย - กิ่น หร้อย
กลับมานั่งที่เตียงผู้ป่วย
ผู้เขียนค่อย ๆ แกะห่อข้าวผัดกะเพราออกมากิน เนื้อสัตว์ที่ผัดกะเพราเขาใส่ไว้ในถุงปลาสติคเล็ก
ๆ วางอยู่บนข้าวสวย ผู้เขียนบรรจงเทผัดกะเพราที่ว่านั่นออกจากถุงปลาสติคเล็ก
ราดลงบนข้าวสวย กิจกรรมนี้นั่งทำอยู่โดดเดี่ยวลำพังที่เตียงผู้ป่วย
ไม่พูดไม่จากับใครเพราะไม่มีใครจะพูดด้วย
เนื้อสัตว์ที่เขามาผัดกะเพรา
ดูไม่ออกว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด หมูไก่หรือวัวควาย หรือลิงค่างบ่างชะนี
ถ้าเป็นเนื้อค่างบางคนอาจนึกรังเกียจ - ไม่กิน ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นลิงที่ดูคล้ายคนมากที่สุดในป่าภาคใต้
น้าเคยผัดเนื้อค่างมาให้ผู้เขียนกิน เนื้อมันจะมีสีออกหม่น ๆ ดำ ๆ ผู้เขียนไม่รังเกียจที่จะกินเนื้อค่าง
ท่านผู้อ่านที่มองโลกในแง่ร้ายบางท่าน อาจสรุปความต่อเอาเองตามอำเภอใจว่า
ผู้เขียนน่าจะมีรสนิยมในการบริโภค เข้าข่ายมนุษย์กินคน
เพื่อนคนหนึ่ง
นิ้วมือซ้ายด้วนหมดสี่นิ้ว เหลือแต่หัวแม่มือ เพราะโดนใบมีดอุตสาหกรรมตัดขาด
เขาเล่าให้ฟังว่า สมัยที่มือยังดีอยู่ เขาเคยเข้าป่ายิงค่างตัวหนึ่งตกต้นไม้ แต่มันยังไม่ตาย
เขากับสหายที่เที่ยวป่าด้วยกัน ช่วยกันจับค่างตัวนั้นมัดมือมัดตีนเข้ากับไม้ที่ตัดมาทำคานหาม
พวกเขาหาบค่างออกจากป่า ระหว่างทางในป่า มือข้างหนึ่งของค่างตัวนั้นหลุดจากคานหาม และปัดป่ายออกไปฉวย
และพยายามจะดึงรั้งยึดเถาวัลย์กับกิ่งไม้ข้างทางมาตลอด มันคงจะไม่อยากออกจากป่าซึ่งก็คือบ้านของมัน
เพื่อนผู้เขียนเล่าว่าเขากำลังเหนื่อย และรู้สึกรำคาญกับการพยายามยึดฉวยกิ่งไม้ข้างทางของค่างตัวนั้นมาก
เขาจึงเกิดโมหะจริต และด้วยแรงบันดาลโทสะ เงื้อมีดพร้าประจำตัว ฟันมือค่างสุดแรงจนมือค่างขาด
ต่อมาภายหลัง
เขาไปทำงานในโรงเลื่อยจักร ซึ่งมีใบเลื่อยอุตสาหกรรมที่หมุนติ้ว
วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ ใบมีดอุตสาหกรรมที่โรงเลื่อย
ตัดนิ้วมือซ้ายของเขาขาดไปสี่นิ้ว เขาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่ใบเลื่อยจักรกำลังหั่นนิ้วมือ
แวบแรกในบัดเดี๋ยวนั้น เขาหวนนึกถึงค่างตัวนั้น.....
[ยังมีต่อ.....]