---------------------------------------------------
คำคัดเด็ด
ประจำตอนนี้
อาจารย์รอลส์
อภิปรายเรื่องหนี้การบ้านการเมืองว่า ถ้าใครคนหนึ่งสมัครเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง
หรือสมัครเป็นทหาร ก็แปลว่าเขากระทำโดยสมัครใจ(เจตนายินยอม)
หนี้การเมืองหรือหนี้หมู่คณะ จึงเกิดขึ้นได้โดยความยินยอมดังกล่าว แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อาจารย์รอลส์เห็นว่า
ไม่มีหนี้การเมืองหรือหนี้สังคม เพราะไม่ใช่พันธะผูกพันโดยตรงของเขาและไม่รู้ว่าใครมาก่อหนี้เข้าไว้ เว้นเสียแต่ว่า ประชาชนผู้นั้นสมัครใจที่จะรับภาระหนี้ชนิดนี้เอง และการรับภาระหนี้ความภักดีต่อชาติ บ้านเมือง
สังคม กลุ่ม พวก เผ่าพงศ์วงวานดังกล่าวนั้น
ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นอันเป็นสากล หรือสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม
----------------------------------------------------
ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่?
Episode 11 part 2
ในส่วนที่สองนี้ ศ.แซนเดล ตั้งประเด็นว่า
ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่? และได้นำนักศึกษาอภิปรายให้เหตุผล
เรื่องหนี้(หรือพันธะกรณี)แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ หรือหนี้ต่อชุมชน เช่น ในประเด็นที่ว่า เราเป็นหนี้เพื่อนร่วมชาติมากกว่าที่จะเป็นหนี้เพื่อนมนุษย์
หรือคนชาติอื่นหรือไม่?
ลักษณะชาตินิยมเป็นคุณค่า/คุณงามความดีอย่างหนึ่ง หรือว่าชาตินิยมเป็นการแสดงความเดียดฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน?
นักศึกษาคนหนึ่ง
นายพัททริค อภิปรายไว้ในครั้งก่อนทำนองว่า หากเรามีหนี้ชุมชน แล้วถ้ามีกรณีเป็นทำนองว่า
คนเรามีชีวิตสังกัดชุมชนหลายลักษณะในคราวเดียว เช่น เราเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนั้น
เป็นศิษย์หลวงพ่อนี่ นั่นโน่น เป็นคนหมู่บ้านนี้ บางโน้น มาบนู้น หรือหุบเขาโน้น เป็นคนนามสกุลนี้
เป็นชาวเกย์ชาวเลสเบี้ยน สังกัดกลุ่มเลดี้บอย คนแปลงเพศ ฯลฯ จะเป็นไปได้ไหมว่า หนี้ชุมชนต่างชุมชน ที่เราเป็นสมาชิกอยู่นั้น
จะขัดแย้งกันเอง?
แนวต้าน
ค้ดค้านเรื่องหนี้ชุมชน อีกแนวหนึ่ง ก็คือ ตัวอย่างเรื่องนักบินฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่ไม่ยอมบินไปทิ้งระเบิดหมู่บ้านตัวเอง กับเรื่องอิสราเอลช่วยชาวยิวเอธิโอเปีย ระหว่างเกิดภาวะอดอยากในประเทศนั้น
แต่ไม่ได้ช่วยคนเอธิโอเปียกลุ่มอื่น
การคัดค้านหนี้ชุมชนแนวที่สองนี้ ให้เหตุผลว่า เรื่องของหนี้ชุมชนลักษณะนี้
เป็นเรื่องของความรู้สึก ความผูกพันทางอารมณ์ เป็นเรื่องของ emotion ไม่ใช่ obligation จึงไม่ใช่หนี้หรือพันธะทางศิลธรรมอย่างแท้จริง
อีกแนวหนึ่ง
ที่คัดค้านหนี้ชาตินิยม หรือหนี้ประเภทรักชาติยิ่งชีพ อ้างเหตุผลว่าความชาตินิยม เป็นหนี้แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวหรือหนี้ความเป็นสมาชิก
ที่อุบัติขึ้นมาโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าตัว (an obligation of
solidarity and membership BEYOND consent) หนี้ชาตินิยมลักษณะนี้ ถูกคัดค้าน
แต่ทั้งนี้
ก็โดยยอมรับว่า คนเราย่อมมีหนี้ต่อชุมชน บ้านเมือง เผ่าพงศ์ วงวาน ที่เราอยู่อาศัยหรือสังกัด แต่มองว่าหนี้ชนิดนี้ ที่จริงแล้ว ก็เป็นความคิดเสรีนิยม
และไปกันได้กับความคิดแนวเสรีนิยม
เพราะความยินยอมจะโดยนัย โดยแจ้งชัด หรือโดยต่างตอบแทน จะเป็นความคิดเสรีนิยมเช่นเสรีนิยมของคานต์
ที่เห็นว่าหนี้ชุมชนนั้นเกิดขึ้นได้จากความยินยอม(เกิดโดยเจตนา) ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความภักดีต่อชุมชน
สังคม ชาติบ้านเมือง เผ่าพงศ์วงวาน
ดังนั้น แนวคิดเรื่องความภักดีโดยไม่ได้เจตนา(เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม) จึงเป็นแนวคิด
ที่ไม่จำเป็นจะต้องสอดเข้ามาอธิบายประเด็นนี้
อาจารย์รอลส์
อภิปรายเรื่องหนี้บ้านเมืองว่า ถ้าใครคนหนึ่งสมัครเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง
หรือสมัครเป็นทหาร ก็แปลว่า เขากระทำโดยสมัครใจ(มีเจตนายินยอม)
หนี้การเมืองหรือหนี้หมู่คณะ จึงเกิดขึ้นได้โดยความยินยอมดังกล่าวนั้น แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อาจารย์รอลส์เห็นว่า พวกเขาไม่มีหนี้การเมืองหรือหนี้สังคม
เพราะไม่ใช่พันธะผูกพันโดยตรงของเขา และไม่รู้ว่าใครมาก่อหนี้เข้าไว้ เว้นเสียแต่ว่า ประชาชนผู้นั้นสมัครใจ ที่จะรับภาระหนี้ชนิดนี้เอง และการรับภาระหนี้ความภักดีต่อชาติ บ้านเมือง
สังคม กลุ่ม พวก เผ่าพงศ์วงวานดังกล่าวนั้น
ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นอันเป็นสากล หรือสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม
ความคิดคัดค้านหนี้ความภักดี
มีอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือ มีผู้ค้านว่า หนี้ความภักดีที่จริงเป็นการแสดงออกซึ่ง ความเห็นแก่ตัวแบบกลุ่ม(collective
selfishness) จึงเกิดปริศนาขึ้นมาค้านว่า
ความเห็นแก่ตัว สมควรได้รับการให้เกียรติ
ถือเป็นข้อศิลธรรม ละหรือ? จะไม่ใช่การแบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กันละหรือ?
ศ.แซนเดล
จัดกลุ่มอภิปรายกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมาในห้องเรียน
กลุ่มหนึ่งสนับสนุน/เห็นด้วยกับความภักดีต่อชุมชน หรือหนี้ชุมชน อีกกลุ่มหนึ่งคัดค้าน
พวกที่เห็นด้วยกับหนี้ความภักดี/หนี้ชุมชน
อภิปรายว่า ความรักชาติ/รักพวก/รักชุมชน ไม่ต้องมีความยินยอม เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ
ตัวตนของคน ความรักชาติ-ไม่ถือว่าเป็นความอยุติธรรมต่อชาติอื่น
ความรักบิดามารดาของเรา-ไม่ถือว่าเป็นความอยุติธรรมต่อบิดามารดาผู้อื่น และเราไม่ได้ “เลือก” บิดามารดา เช่นเดียวกับที่
เราไม่ได้ “เลือก” ชาติกำเนิด
นักศึกษาชื่อ
เอ เจ กุมาร์ เห็นว่า ฉันเป็นหนี้ครอบครัวฉัน มากกว่า ที่ฉันเป็นหนี้ชุมชน
ฉันเป็นหนี้ชาติบ้านเมือง มากกว่า เป็นหนี้มนุษย์ชาติทั่วไป
เพราะว่าชาติบ้านเมืองมีส่วนอย่างสำคัญใน ความเป็นตัวตนของฉัน การที่ฉันรักชาติบ้านเมืองไม่ได้แปลว่า
ฉันมีจิตใจลำเอียงต่อชาติอื่น ฉันใดก็ฉันนั้น การที่ฉันรักพ่อแม่ก็ไม่ได้แปลว่า ฉันเป็นคนใจลำเอียง
ต่อบิดามารดาผู้อื่น
นักศึกษาอีกคนหนึ่ง
มีความเห็นแย้ง ว่า ถ้าเขาเกิดเป็นพลเมืองเยอรมันนาซี เมื่อแปดสิบปีที่แล้ว และเขาก็ได้รับประโยชน์จากการกระทำของนาซี แต่เขาก็ไม่เห็นว่า เขาจะต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนี้พวกนาซี
แต่ประการใด
นักศึกษาหญิงผู้หนึ่ง
ลุกขึ้นอภิปราย(เวลาวีดีโอ 34:54)ว่า เธอเห็นว่า เราจะพูดได้ว่าเรามีหนี้สังคม
ด้วยเหตุผลเรื่อง ต่างตอบแทน (หรือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน) “reciprocity”
ก็เพราะว่า เรามีส่วนร่วมในสังคม ด้วยการเสียภาษีอากร
ด้วยการไปลงคะแนนเสียง
เพราะฉะนั้นเราก็พูดได้ว่าเรามีหนี้สังคม
แต่ถ้าเกินไปกว่านี้ เธอไม่เห็นว่าจะมีอะไรอาจมาผูกพันเป็นพันธะกรณีได้ เพราะเพียงแต่เราเป็นสมาชิกอยู่ในสังคมอย่างเดียว
ไม่อาจกล่าวได้ว่าเราเป็นหนี้อะไรต่อสังคมนั้น หากว่าสังคมให้อะไรต่อเรา เช่น
ปกป้องคุ้มครองเรา ให้ความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต
อย่างนี้ก็บอกได้ว่าเราเป็นหนี้สังคม แต่เราก็จะไม่เป็นหนี้สังคมเกินไปจากที่เรา
“ให้” (หรือเรียกว่า “มีส่วนร่วม”) กับสังคม
นักศึกษาชาย
ชื่อเป็นภาษาสเปนว่า ราอูล(ภาษาอังกฤษ ก็คือ ราฟ) ลุกขึ้นอภิปรายที่เวลา 35:24
ว่า เราคงไม่อาจยื่นเช็คศิลธรรมเปล่า(blank check) ให้สังคมนำไปเขียนตามใจ
แต่ถ้าเราสละพื้นที่ ไม่ยอมมีส่วนร่วมกับชีวิตสังคม -ไม่มีความรับผิดชอบทางสังคม
เมื่อนั้น ก็เท่ากับเราได้ยื่นเช็คเปล่าให้สังคม
เช่นเราเห็นว่า การอภิปรายเรื่องชาตินิยมไม่สำคัญ
เพราะชาตินิยมเป็นสิ่งชั่วร้าย คิดเสียอย่างนั้นแล้ว
เราก็ถอยหนีไป คนอื่นที่อาจมีความคิดสุดโต่ง
จะเข้ามาแทนที่ ในพื้นที่อันเราควรจะได้ยืนอยู่ แล้วเขาก็อาจหาทางบีบบังคับสังคม/ชุมชน
ศ.แซนเดล
เสนอความเห็นว่า ประเด็นการอภิปราย น่าจะคมขึ้นได้ ถ้าได้เห็นตัวอย่างกรณีที่ความภักดีต่อส่วนย่อย
ต้องเผชิญหน้า กับศิลธรรมส่วนรวม แล้วในที่สุดความภักดีต่อส่วนย่อย มีน้ำหนักมากกว่า
ศิลธรรมส่วนรวม(สิ่งที่ส่วนรวมเห็นว่า “ดี”)
ซึ่งนักศึกษาผู้หนึ่งลุกขึ้นยกตัวอย่างว่า
ถ้าตนรู้ว่ารูมเมท-เพื่อนร่วมห้องในหอพัก-ของตนโกงการบ้าน ตนก็จะไม่ฟ้องเพื่อน ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ความคิดนี้มีเพื่อนนักศึกษาลุกขึ้นมาสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า
การรายงานความผิดของรูมเมท เท่ากับได้ใช้ข้อมูลภายใน insight information ไปทำร้ายเขา-ซึ่งไม่ยุติธรรม--มีนักศึกษาแสดงความเห็นประเด็นนี้กันหลายคน
ศ.แซนเดล
ยกตัวอย่างนักการเมืองรัฐแมสซาชูเซตส์ นายบิลลี่ บัลเจอร์
ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาแห่งรัฐ และตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมีพี่ชายเป็นอันธพาลระดับหัวหน้าแก้ง พี่ชายถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรมหลายคดี เมื่อนายบิลลี่ บัลเจอร์
ถูกอัยการเชิญไปสอบปากคำต่อหน้าคณะลูกขุน นายบิลลี่
ปฏิเสธไม่ยอมบอกว่า พี่ชายอยู่ที่ไหน
อัยการถามว่า คุณบิลลี่ บัลเจอร์ คุณภักดีต่อพี่ชายคุณ
มากกว่าประชาชนชาวรัฐแมสซาชูเซตส์ทั้งมวลหรือ?
นายบิลลี่ ตอบว่า ผมไม่ได้คิดในแนวนั้น เพียงแต่ผมมีความรักภักดีต่อพี่ชายจริง
ผมเป็นห่วงเป็นใยเขา และผมไม่มีพันธะทีจะนำใครที่ไหน ไปจับพี่ชายผม
ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ได้แก่ กรณีของนายพลโรเบิร์ต อี. ลี ซึ่งปฏิเสธเมื่อประธานาธิบดีลิงคอล์น เสนอให้เขาเป็นแม่ทัพของกองทัพฝ่ายเหนือ
ขณะที่สงครามกลางเมืองอเมริกันกำลังก่อหวอด ทั้ง ๆ
ที่เขาไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวของมลรัฐฝ่ายใต้ อันเป็นฝ่ายบ้านเกิดของเขา (ครั้นสงครามเกิดขึ้นแล้ว-เขากลับไปเป็นแม่ทัพให้กับฝ่ายใต้
ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายใต้ แยกตัวออกไปจากสหรัฐฯ)
สรุปว่า ระหว่างความภักดีต่อส่วนเล็กกับส่วนใหญ่ การอภิปรายในห้องเรียนยังหาหลักการเป็นที่ยุติไม่ได้ว่า
ภักดีต่อส่วนเล็กอันเฉพาะเจาะจง ดีกว่าส่วนใหญ่อันเป็นสากล
หรือส่วนใหญ่ดีกว่าส่วนเล็ก หรือว่าน่าจะมีหลักการอื่นมาตัดสินเรื่องนี้
แทนที่จะยึดหลักเรื่องของขนาด(เล็ก/ใหญ่)
ศ.แซนเดล
ชวนให้พวกเรามองหานัยยะอันเนื่องด้วยความยุติธรรม
จากการอภิปรายในชั้นเรียนครั้งนี้
ความกังวลลึก ๆ ที่แฝงอยู่ ได้แก่
การอ้างเหตุผลที่ดูเหมือนว่าจะหาหลักแห่งความยุติธรรมไม่พบ หมายความว่า ความยุติธรรมที่แปลกแยกไปจากอุดมการณ์ของชุมชน
ดูเหมือนว่า จะเป็นไปไม่ได้
ถ้าหากว่า เหตุผลของพวกชุมชนนิยมถูกสมมติว่า
เราสามารถพักเรื่องสิทธิกันไว้ได้ก่อนเวลาที่สิทธิต้องแข่งกับอุดมการณ์สังคม สมมติว่า
สิทธิกับอุดมการณ์ของสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน(แปลว่า สิ่งที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์สังคม
ไม่ใช่ “สิทธิ”) ฉะนี้แล้ว
ก็แปลว่าความยุติธรรมเป็นเพียง “เด็กสร้าง” หรือ “เด็กในคาถา” ของจารีตประเพณี ความยุติธรรมต้องขึ้นอยู่กับค่านิยม
หรือเรื่องที่สังคมในขณะนั้นให้คุณค่า
ตามครรลองดังกล่าว ศ.แซนเดล อ้างข้อเขียนของ ไมเคิล วอลสเตอร์ ที่บ่งไว้ชัดแจ้ง
ดังนี้
“ความยุติธรรม
มีลักษณะสัมพัทธ์ และขึ้นอยู่กับนัยยะของสังคม
สังคมใดจะยุติธรรมได้
ก็ต่อเมื่อชีวิตที่เป็นรูปธรรมในสังคมนั้น
ดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม
อันสอดคล้องกับ
ความเข้าใจร่วม
ของสมาชิกทั้งหลาย”
--ไมเคิล
วอลเซอร์
“Justice
is relative to social meanings.
A
given society is just if its substantive
life
is lived in a certain way, in a way
that
is faithful to the shared
understandings
of the members.”
--Michael Walzer
ศ.แซนเดล ตีความ ความคิดของอาจารย์ ไมเคิล วอลเซอร์ ว่า
ก็ในเมื่อเราไม่สามารถหาหลักยุติธรรม ที่เป็นอิสระจากครรลองคลองธรรมที่สังคมในบัดนั้นเห็นว่าดี เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากความยุติธรรมอันสอดคล้องกับความภักดี หรือความซื่อสัตย์ต่อความเห็น ต่อการให้คุณค่า
ต่อค่านิยม หรือต่อจารีตประเพณีในเวลานั้นของสังคม/ชุมชน แต่ศ.แซนเดล ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า
เพียงเท่านั้นพอแล้วหรือ ในการคิดคำนึงถึงความยุติธรรมของเรา?
ศ.แซนเดล ขอให้เราลองพิจารณาคลิปสั้น ๆ จากสารคดีที่สร้างสมัยทศวรรษ 1950s
เกี่ยวกับความเห็นของชาวภาคใต้(ของสหรัฐฯ) ผู้ศรัทธาจารีตประเพณีการแบ่งแยกผิว และมีความภักดีต่อจารีตประเพณีดังกล่าว ข้อความในวีดีโอ ความว่า
“.....แผ่นดินนี้
ประกอบด้วยความสำนึกอันต่างกันสองสำนึก
คือสำนึกของคนผิวขาว
กับสำนึกของคนผิวสี และฉันก็มีชีวิตอยู่
ใกล้ชิดกับทั้งสองสำนึก บัดนี้ เขาบอกฉันว่า พวกเราต้องเปลี่ยนแปลง
ความคิดความอ่านเสียใหม่ การเปลี่ยนความคิดดังกล่าวมาไวกว่าที่
ฉันคาดมาก ฉันถูกบังคับให้ตัดสินใจตามแนวคิดใหม่
ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับ
ฉัน มันยากกับฉันและยากกับคนใต้ทุกคน”
“…..this
land is composed of two different conscience,
a
white conscience and a colored conscience, and I’ve lived
close
to them all my life. But I’m told now that we must
change.
This change is coming faster than I’ve expected. And
I’m
required to make decision on the basis of a new way of
thinking,
and it’s difficult. It’s difficult for me and it’s difficult
for
all southerners.”
ศ.แซนเดล ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า
เราไม่อาจนำความยุติธรรมไปผูกไว้กับความภักดีหรือความซื่อสัตย์ต่อค่านิยม
หรือจารีตประเพณีในสังคม อย่างนั้นหรือ?
หรือว่า
วีดีโอดังกล่าว แสดงให้เราเห็นว่า เรายังพอมีทางที่จะผูกความยุติธรรมเข้ากับค่านิยมหรือจารีตประเพณี?
-------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 11/12 part 2 ความภักดี
เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่?
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 11 เชิญตามลิงก์ครับ