open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Thailand - U.S. Relation: a new capacity to bark back

เมื่อ "จิ๋ม พูดได้"

อุทิศให้ ทูตอเมริกัน ประจำประเทศไทย นาง คริสตี เคนนี


To commemorate the great month of July, the American independence on July 4th, and the French revolution, Bastille Day, on July 14th, as the month of liberty and freedom, here is a stand-up comedy dedicated by me, the blogger, to Miss Kristie Kenney, US Ambassador to Thailand, in office Dec.9, 2010 - Nov.6, 2014;

If a Vagina could perform Stand-up and Spoken Word! Kristina Wong

 

Happy Liberty Day!  

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ในยาม ที่เรา เข้าตาจน

-เราจะทำอย่างไรดี?

ปกิณกะชิวิต
แดง ใบเล่


          ใครจะกล้ารับรอง ค้ำประกัน ให้ใครได้ไหมว่า ชีวิตเขาจะไม่มีวันเข้าตาจน?

          ถ้าชีวิตท่านผู้อ่าน เป็นอย่างเช่นชีวิตผู้เขียน คือไม่มีใครสามารถมารับรองให้ผู้เขียนได้ว่า ชีวิตนี้จะไม่มีวันเข้าตาจน  และว่าที่จริงแล้ว ชีวิตผู้เขียนก็เคยเข้าตาจนมาแล้วสองสามครั้ง แต่ละครั้งก็สะบักสะบอม กว่าจะเอาตัวรอดมาได้ จึงพอมีประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่าสู่แบ่งปันกันฟัง

          และบังเอิญว่า เวลานี้ มิตรรักผู้หนึ่งของผู้เขียนกำลังวิกฤต  ซึ่งเขาก็จะมาถ่ายเทความทุกข์ให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ  ผู้เขียนก็พยายามทำหน้าที่เพื่อนที่ดี ช่วยกันไปตามมีตามเกิด เท่าที่สติปัญญาจะอำนวย  อย่างน้อยที่สุดและที่พอทำได้ ก็คือเป็นมิตรที่รับฟังความทุกข์อันหนักหนาสาหัสของเพื่อน ด้วยความเห็นอกเห็นใจ  เพราะนึกถึงยามที่ตัวเองเคยประสบพบขวากหนามมาก่อน

          คนเข้าตาจน เป็นคนที่น่าเห็นใจ เพราะวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้ว เวลาเรากำลังอับจน ก็คือ เรากำลังจนใจ  โห...จนอะไรก็ไม่เท่านี้ คือจนอะไรก็ไม่เท่าจนใจ  มันจะพาลพาให้อะไรต่อมิอะไรพลอยจนลงตามไปด้วย

          เพื่อประโยชน์ของมิตรรักนักอ่านทั้งหลาย ที่อาจกำลังประสบอุปสรรคขั้นอุกฤษฎ์ แบบว่าสุด ๆ  หรือท่านผู้อ่านอาจมีบุคคลที่ท่านมีจิตรักและเมตตา กำลังตกอยู่ในภาวะเช่นนี้  ผู้เขียนมีข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากครูที่มีชื่อเสียงสองท่าน เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา  ท่านหนึ่งสอนในสาขามานุษยวิทยา อีกท่านหนึ่งเป็นครูในโรงเรียนกฎหมาย  ทั้งสองท่านร่วมกันเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ซึ่งมีผู้อ่านหลายล้านคนทั่วโลก แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ประมาณยี่สิบภาษา  ผู้เขียนขอนำความคิดข้อหนึ่งของท่าน ที่ปรากฏเป็นส่วนเล็ก ๆ ในหนังสือเล่มนั้น มาปรับแล้วเรียบเรียงเขียนเสียใหม่ เสนอท่านผู้อ่านดังนี้.....

          ในยามที่เราตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือสถานการณ์บังคับ ปัญหาเรื่องการเอาตัวรอด ดูจะเป็นประเด็นใหญ่โตสำหรับเรา  โดยธรรมชาติแล้วทั้งจิตใจและร่างกายเราจะเพ่งอยู่กับเรื่องนี้  อีกนัยหนึ่งเราจะอยู่ในโหมดศิลปะการป้องกันตัว มวยไทย ยูโด กังฟู ฯลฯ

          ยามยากเช่นนี้ ท่านว่าเราคิดคำนึงอยู่สองประการ ไม่มากเรื่อง คือ
         
          ประการที่หนึ่ง. เอาตัวรอดอย่างบอบช้ำน้อยที่สุด
          ประการที่สอง. ใช้เครื่องไม้เครื่องมือและฝีมือที่มีอยู่ ช่วยทำให้การเอาตัวรอดนั้น เป็นไปในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ให้มากเท่าที่จะทำได้

หนึ่ง. เอาตัวรอด อย่างบอบช้ำน้อยที่สุด คืออย่างไร?


          จะขอยกอุทาหรณ์สองเรื่องเป็นตัวอย่างประกอบการเขียน คือ กรณีกลัวพลาดรถไฟ กับ กรณีเซ้งแผงขายของตลาดนัดปากน้ำ

          กรณีกลัวพลาดรถไฟ  สมมติว่า ผู้เขียนจะนั่งรถไฟจากสถานีไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกลับบ้าน โดยลงรถที่สถานีหลังสวน จังหวัดชุมพร  เส้นทางนั้นจะมีขบวนรถไฟธรรมดาสายหาดใหญ่-ชุมพร แล่นผ่านในเวลากลางวัน เป็นรถไฟฟรี หยุดรับผู้โดยสารและจะออกจากสถานีไชยาเวลา 14.00 น.



                                     
         สมมติว่า วันนั้นผู้เขียนมีกิจธุระต่อเนื่องอยู่ที่บ้านญาติในเมืองไชยา  เพื่อจะได้ไม่ลืมตัวจนพลาดรถไฟ จึงตั้งนาฬิกาปลุกที่โทรศัพท์มือถือ ให้ปลุกเตือนก่อนเวลารถไฟออกเล็กน้อย ให้พอที่จะมีเวลาเดินจากบ้านญาติ มาถึงสถานีรถไฟทันเวลา  ประมาณว่าต้องใช้เวลาเดิน 15 นาที เพราะฉะนั้น ตั้งเวลาปลุกเตือนไว้ที่เวลา 13.45 น.
           

                                                       

         เวลา 13.45 น. จึงเป็นเวลา “เส้นตาย” หรือ “ราคาขาดตัว” ที่ผู้เขียนจะต้องลุกขึ้นเดินจากบ้านญาติมาสถานีรถไฟ  การกำหนดเวลาเป็น “เส้นตายไว้เช่นนี้ เป็นวิธีที่จะเอาตัวเองให้รอด ในสถานการณ์นั้น (คือ สถานการณ์ที่มีสิทธิจะพลาดรถไฟกลับบ้าน)

          กรณี เซ้งแผงขายของตลาดนัดปากน้ำ  สมมติว่าท่านผู้อ่านต้องการจะเซ้งแผงขายของในตลาดนัดปากน้ำ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดนัดขายดี  เจ้าของแผง ๆ หนึ่งเขาประกาศจะเซ้งแผงในราคาปีละ 50,000 บาท  ส่วนท่านผู้อ่านได้กำหนดนึกไว้ในใจล่วงหน้าแล้วว่า จะขอต่อราคาและจะไม่จ่ายราคาเกิน 45,000 บาท ขาดตัว!


                                                        
                                     
                     

          ราคา 45,000 บาท ก็อาจถือได้ว่าเป็น “เส้นตาย” หรือ “ราคาขาดตัว” ที่ท่านผู้อ่านจะตกลงเซ้งแผงขายของแผงนั้น สูงกว่านั้นท่านจะไม่ตกลงด้วย

          ตัวอย่างทั้งสองตัวอย่างอาจหน่อมแน้ม เมื่อเทียบกับวิกฤตในชีวิตจริงของเราท่านบางท่าน  ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องธุรกิจหรือเรื่องชีวิต หรือมั่วปนกันอยู่ทั้งสองเรื่อง ก็อาจเป็นไปได้  อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนจะช่วยทำให้เห็นหลักการกระจ่างขึ้น   

วิสัชนา.....


          การที่เรามีเส้นตาย ราคาขาดตัว เงื่อนไขขั้นที่สุดที่เราจะยอมรับได้ เอาไว้ล่วงหน้า  จะทำให้เราเกิดความมั่นใจและมั่นคง ไม่ไขว้เขวในระหว่างการหาทางรอด  เพราะในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ถ้าเราไม่มีจุดยึด ปราศจากจุดยืน ไม่รู้ว่าเราควรลุกจากบ้านญาติเวลาเท่าไรดี หรือไม่รู้ว่าระหว่างเจรจากับเจ้าของแผง เราจะยอมเขาได้ในราคาเท่าไรแน่  เป็นไปได้ว่าเราอาจพลาดรถไฟกลับบ้าน หรือพลาดท่าไปรับเซ้งแผงในราคาที่ทำให้เราเสียใจภายหลัง

          เส้นตาย หรือราคาขาดตัว หรือเงื่อนไขสุด ๆ ที่เราจะรับได้ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ นิยมใช้กันมากในฐานะเครื่องมือแห่งการเอาตัวรอดชนิดหนึ่งในสถานะการณ์คับขัน

          แต่ปรมาจารย์ ผู้รู้ กูรู ครูทั้งสองท่าน ที่ได้กล่าวอ้างให้ท่านผู้อ่านได้ทราบแต่ต้นบทความชิ้นนี้  ท่านกลับเห็นว่า.....

          เป็นวิธีการที่ ผิด!


ครูท่านแจงสี่เบี้ยให้ฟัง
ว่าผิดอย่างไร

          การพยายามเอาตัวรอดด้วยการขีดเส้นตาย หรือ กำหนดราคาขาดตัว ไว้ล่วงหน้า เช่น จะลุกจากบ้านญาติเวลา 13.45 น. เพื่อจะได้ทันขึ้นรถไฟขบวนหาดใหญ่-ชุมพรกลับบ้าน หรือตั้งใจจะยอมรับราคาแผงในตลาดนัดปากน้ำ ที่ราคาขาดตัวไม่เกิน 45,000 บาท เพื่อเอาไว้ทำมาหากิน  ครูท่านบอกว่า ไม่ใช่วิธีเอาตัวรอดที่ดี

          ท่านแจงสี่เบี้ย (ที่จริงสาม) ให้ฟังว่า เหตุใดความคิดชนิดนั้น จึงเป็นอันตราย หรืออย่างน้อยก็ไม่ส่งเสริมการเอาตัวรอดของเรา  ข้อเสียของเส้นตายกับราคาขาดตัว คือ.....

1)   มันคอยปิดกั้น จำกัดขอบเขตการเรียนรู้ระหว่างที่เรากำลังอยู่ในเหตุการณ์ ขณะที่เรากำลังหาทางออก โดยที่สถานการณ์จริงวางในอยู่สิ่งแวดล้อมอันกว้าง และจะวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ  เส้นตาย/ราคาขาดตัวมีลักษณะเป็นจุดยืนชนิดตายตัว กระดุกกระดิกไม่ได้  เราจึงมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่อาจเกิดมีขึ้น ในลำดับต่อ  ๆ มาในสถานการณ์นั้น หรือในสิ่งแวดล้อมที่สถานการณ์นั้นตั้งอยู่  สภาพจิตของเราได้กลายเป็นสภาพจิตชนิดปิดหูปิดตา(เพื่อให้มันสอดรับกับความตายตัวของ เส้นตาย/ราคาขาดตัว  เราจะไม่ยอมรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่ดูท่าทางจะมากระทบต่อเส้นตาย/ราคาขาดตัวของเรา หรือทำท่าจะมาโยกคลอน เขยื้อน เลื่อนเส้นตาย/ราคาขาดตัว อันเราได้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า และเรารักดังดวงใจ เช่น เจ้าของเดิมบอกว่า จะขยายอายุการทำมาหากินกับแผงให้แก่เรา จากปกติหนึ่งปี เป็นปีสามเดือน หรือข่าวด่วนที่ว่ารถไฟขบวนหาดใหญ่-ชุมพรวันนั้นอาจจะเสียเวลา เป็นต้น

2)   มันไม่ส่งเสริมจินตนาการใหม่ ๆ เช่น จิตใจนึกถึงแต่เส้นตายที่เวลา 13.45 น. ก่อนที่ผู้เขียนจะลุกมาจากบ้านญาติ ก็ไม่ได้คิดที่จะกดมือถือโทรศัพท์ถามสถานีรถไฟ หรือคอลล์เซ็นเตอร์ของการรถไฟ(เบอร์ 1690) ดูสักนิดว่า วันนี้รถขบวนดังกล่าวจะเข้าสถานีไชยากี่โมง เป็นต้น  หรือสำหรับกรณีเซ้งแผงของท่านผู้อ่าน ท่านก็ไม่ได้รับฟังเหตุการณ์ที่กำลังวิวัฒนาการไป คือทำเลที่ตั้งแผงที่เราจะเซ้งนั้น ปรากฏว่าแผงข้างเคียงเปลี่ยนเจ้าของใหม่ เราจะโดนกระหนาบ ถูกรมไอน้ำมันร้อน จากกระทะใหญ่ของแผงทอดมันปลา-ทางซ้ายที่จะมาใหม่ กับแผงทอดกล้วยแขก-ทางขวาที่กำลังจะมาติด ๆ กัน  โดยที่เราจะขายขนมเค้ก เป็นต้น  หากการณ์เปลี่ยนไปเป็นโดนหนีบด้วยกระทะของทอดใหญ่เบ้อเร่อ ทั้งซ้ายและขวา บางที ที่ราคาเซ้ง 40,000 บาท เราก็อาจจะคิดหนัก.....ด้วยซ้ำ         
               
3)   ท่านบอกว่า เส้นตาย/ราคาขาดตัว มันมักจะถูกกำหนดไว้ “เว่อร์เกินไป” เสมอ หมายความตรงนี้ว่า เว่อร์ไปในทางที่จะทำให้ตัวเองเอาตัวรอดชัวร์ ๆ เช่น ตั้งเวลาลุกจากบ้านญาติไว้ที่ 13.45 น. ให้เวลาเดินมาสถานีรถไฟถึง 15 นาที (เวลาที่รถไฟออกจากสถานี คือ 14.00 น.)  ทั้ง ๆ ที่ จริง ๆ แล้วบ้านญาติอยู่ใกล้สถานี เดินเพียง 3 นาทีก็ถึง  หรือราคาเซ้งแผงใกล้เคียง ที่เขาเพิ่งจะเซ้งกันในราคา 42,000 บาท ก็มีให้เห็น  แต่เรานึกในใจว่า ขอชัวร์ ๆ ตั้งราคาขอเซ้งสูงไว้เป็น 45,000 บาท ดีกว่า  ครูท่านสรุปว่า เวลาเส้นตาย(ที่ 13.45 น.) กับราคาขาดตัวเสนอเซ้งแผง(ที่ 45,000 บาท)  มันมักจะมีแนวโน้มถูกกำหนดไว้ “เว่อร์เกินไป” เสมอ  เส้นตาย กับ ราคาขาดตัว จึงเป็นเทคนิคที่มักทำให้เราเสียประโยชน์ในสถานการณ์วิกฤต

          หลังจากที่ ได้ฟังผู้รู้ท่านแจงสี่เบี้ย (ที่จริงสาม) เรียบร้อยแล้ว  เราก็อาจนึกสงสัยตามกาลามสูตร  เพราะว่าเรามันชาวบ้านหมู่บ้านกาลามะ  คือเราชักสงสัยว่า แล้วทางเลือกที่จะมาทดแทนความคิด “เส้นตาย” กับความคิด “ราคาขาดตัว” มีมั๊ยล่ะ?  ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี  แล้วที่ดีนั้นเป็นอย่างไร?         


ถ้าเส้นตาย กับราคาขาดตัว ยังไม่ดีพอ
แล้วอะไรดี?

ครูท่านบอกว่า ใจเย็น ๆ น้อง ใจเย็น ๆ ให้ลองใคร่ครวญดูให้ดี  เวลาที่เราขีดเส้นตายก็ดี หรือกำหนดราคาขาดตัวก็ดี  จริง ๆ แล้วเรากำลังหาทางเอาตัวรอดเรื่องอะไรกันแน่?  จริง ๆ แล้วปัญหาของเรา คือ 1) เราดิ้นรนจะไปสถานีรถไฟให้ทันรถขบวน 14.00 น.  หรือว่าเราดิ้นรนเพื่อจะได้กลับบ้านในบ่ายวันนี้?  หรือกรณีที่ 2) เราดิ้นรนจะเซ้งแผงที่เขาประกาศขายราคา 50,000 บาท หรือว่าเราดิ้นรนจะหาทางทำมาหากิน?

เพราะฉะนั้น เราต้องเล่นเกม ตั้งคำถามปฐมภูมิ ซึ่งมีว่า กรณีที่ 1) เพื่อที่จะกลับบ้านบ่ายวันนี้ นอกจากรถไฟขบวน 14.00 น. แล้ว  ยังมีรถไฟขบวนอื่น หรือยานพาหนะชนิดอื่น อีกหรือไม่?  กรณีที่ 2) เพื่อที่จะทำมาหากิน นอกจากจะเซ้งแผงในตลาดนัดปากน้ำ ที่เขาประกาศราคาเซ้ง 50,000 บาท แล้ว  เรายังจะมีทางเลือกในการทำมาหากินอย่างอื่น อะไรบ้าง?

คำถามปฐมภูมิ  จะย้อนกลับไปที่ต้นตอ คือรถไฟขบวน 14.00 น. กับแผงที่เขาตั้งราคาเซ้ง 50,000 น. แล้วจะย้อนไกลไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่ง

การที่เราไม่ได้เตรียมคำตอบต่อคำถามปฐมภูมิ  ทำให้ในระหว่างดิ้นรนจะเอาตัวรอด  เราอาจกลายเป็นคนไร้ความมั่นคงทางจิตใจ ประหวั่นพรั่นพรึง เป๋อ ๆ ป๋า ๆ เบ๋อ ๆ บ๋า ๆ และอาจถึงขั้น เฟอะ ๆ ฟะ ๆ

บางที เราอาจนึกว่าเรารู้คำตอบเลา ๆ อยู่แล้วล่ะว่า กรณีที่ 1) ถ้าไม่ทันรถขบวน 14.00 น. ก็ยังมีขบวนอื่นอีกหลายขบวนที่จะตามมา  หรือ กรณีที่ 2) ถ้าพลาดโอกาสไม่ได้เซ้งแผงตลาดนัดปากน้ำ ก็ยังมีแผงตลาดนัดอื่น หรือมีวิธีทำมาหากินแบบอื่นอีกอึดตะปือนัง(เยอะแยะ)

ความรู้เลา ๆ และเบลอ ๆ เพราะไม่ได้เตรียมคำตอบจริงจังแน่ชัดเอาไว้  มีสิทธิทำให้เรากลายเป็น ”พวกโลกสวย” คือ คิดว่าชีวิตฉันยังมีโอกาสอีกเยอะแยะ  แต่ก็ไม่สามารถจะระบุออกมาได้แม้แต่สักหนึ่งโอกาส ว่าคือโอกาสอะไร  เพียงแต่ปากพูดแบบรู้เลา ๆ เบลอ ๆ ว่า       ”เยอะแยะ” 

จะอย่างไรก็ดี โอกาสเยอะแยะที่ว่าตน “มี” อยู่นั้น จริง ๆ แล้วในที่สุดเราก็จะต้องเลือกเอาไว้ เพียงโอกาสเดียว เช่น เราคงไม่สามารถนั่งรถไฟกลับบ้านพร้อม ๆ กันทีเดียวสองขบวน  หรือนั่งรถไฟขบวนหนึ่งกับนั่งรถบ.ข.ส.ระหว่างจังหวัดอีกคันหนึ่ง-นั่งทีเดียวสองยานพาหนะ  ในบรรดาโอกาสมากมายก่ายกองที่เราคิดว่าเรามี ในที่สุดเราก็ต้องเลือกเอาไว้ เพียงหนึ่งเดียว 

แล้วเรารู้แล้วหรือยังว่า หนึ่งเดียวนั้นคืออะไร?

คนอย่างผม รวยซะอย่าง ผมจะอยู่ประเทศไหนก็ได้ – ต่อตัวอย่างนี้ คำถามมีว่า โอเค เราทราบแล้วว่า คนรวย ๆ แน่จริงและเจ๋งอย่างคุณพี่นั้น คุณพี่สามารถเข้าไปอยู่ได้เยอะแยะประเทศมากเลย  แต่ในที่สุด คุณพี่ก็จะอยู่แค่ประเทศเดียวเอง  ขอถามว่า ประเทศหนึ่งเดียวนั้น คือ ประเทศอะไร?  คุณพี่รู้ชื่อประเทศนั้นแล้วยัง?  นี่คือปัญหาของคนรวยผู้มากโอกาส และโลกสวยเกินไป

แต่ในทางกลับกัน การที่เราไม่ได้เตรียมตอบต่อคำถามปฐมภูมิเอาไว้เลย  ก็มีสิทธิที่จะทำให้เรากลายเป็น“คนโลกซวย” ได้  คือมองไม่เห็นทางออกอื่น มันมืดมนอนธการ พาลพาให้ท้อแท้ว่า ฉันอับจนหมดหนทาง ชีวิตถึงทางตันแล้ว อะไรประมาณนั้น  จึงต้องยึดมั่นถือมั่นอยู่แต่กับรถไฟเที่ยว 14.00 น. หรือแผงตลาดนัดปากน้ำที่ประกาศเซ้งที่ราคา 50,000 บาท


บรมครูท่านให้เหตุผลว่า การได้พยายามตอบคำถามปฐมภูมิ แล้วคิดอ่านหาทางออก แล้วเลือกสำรองไว้สักหนึ่งทาง  จะช่วยให้การดิ้นรนของเราในสถานการณ์วิกฤตใด ๆ ก็ดี เช่น การหาประเทศอยู่อาศัย เป็นต้น ดูดีขึ้น ผ่อนคลายขึ้น เครียดเกร็งน้อยลง โรคมะเร็งหยุดขยายตัว และชีวิตจะมีความสุขพอสมควร  ถึงแม้ว่า ในที่สุดแล้ว เราก็อาจไปกับรถไฟขบวน 14.00 น.  หรือชนะการประมูลเซ้งแผงตลาดนัดปากน้ำ ที่เขาประกาศเซ้งราคา 50,000 บาท  แต่กระบวนการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จะไม่ทุกข์ทรมานจนเกินไปและมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราได้เตรียมคำตอบต่อคำถามปฐมภูมิไว้แล้ว  พูดอีกแบบว่า เรารู้ชัด ๆ แล้วว่า ทางเลือกหนึ่งทางในกรณีที่เราพลาดท่าเสียที คืออะไร



ร้านหนังสือ โมลลาต์ เมืองบอร์โดส์ ฝรั่งเศส 
ที่ผู้เขียนพบหนังสือฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ของอาจารย์ทั้งสองท่าน


            กรณีการหาประเทศอยู่อาศัย ถ้าเรารู้ชัด ๆ แล้วว่าทางเลือกของเราคือ ประเทศกัวคารานิ  การเจรจาหาทางเอาตัวรอด ขอเซ้งที่อยู่อาศัยในประเทศโกรม็อนเตเนของเรา ก็จะไม่เครียดจัดเกินไป และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ไม่โดนฟันเละ ก็จะมีอยู่เสมอ

เป็นอันว่า วิสัชนาสาธกจบลงไปแล้วหนึ่งประเด็นใหญ่ คือข้อ หนึ่ง. เอาตัวรอด อย่างบอบช้ำน้อยที่สุด คืออย่างไร?  ยังมีข้อคิดคำนึงอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้การเอาตัวรอดของเราโสภาสถาพร ซึ่งจะได้นำเสนอในลำดับถัดไป คือ ประการที่สอง. ใช้เครื่องไม้เครื่องมือและฝีมือที่มีอยู่ ช่วยทำให้การเอาตัวรอดนั้น เป็นไปในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ให้มากเท่าที่จะทำได้

ข้อคิดประการแรก เป็นเรื่องของการปัองปัดภยันตราย  แต่ข้อคิดประการที่สองเป็นเรื่องของความสมประโยชน์ 

แต่อาจารย์ท่านก้าวโลดไปอีกขั้นหนึ่ง ท่านไม่ต้องการเพียงแต่จะให้เรารอดปากเหยี่ยวปากกามาได้แบบไร้รอยขีดข่วน หรือมีแผลเป็นแต่มีน้อยที่สุด  ท่านไม่ได้ต้องการเพียงเท่านั้น ท่านยังปรารถนาจะให้เราได้รับประโยชน์จากการเอาตัวรอดของเราด้วย

โห จารย์เล็งผลเลิศขนาดนั้น มันจะเป็นไปได้ รื้อ จารย์ ?

แขกขายหม้อ ที่สถานีรถไฟบอมเบย์
--ตัวอย่างของอำนาจแท้จริง ในสถานการณ์วิกฤต

          เมื่อผู้เขียนพบหนังสือฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส อันเป็นภาษาในชีวิตประจำวันของผู้เขียนในเวลานั้น วางโชว์อยู่ในกระจกหน้าร้าน โมลลาต์ ดังภาพข้างบน  เวลานั้นก็หาได้รู้ไม่ว่าใครเป็นคนเขียน  แต่ก็รู้สึกสนใจหนังสือ จึงเข้าไปซื้อมาเล่มหนึ่ง  ครั้นได้อ่าน ก็รู้สึกจับจิตจับใจโดยตลอด แต่ที่มาสะดุดหยุดอยู่และจำได้ไม่ลืม ก็คือตัวอย่างเรื่องแขกขายหม้อ ที่สถานีรถไฟในประเทศอินเดีย 

          เรื่องราวมีว่า.....นักท่องเที่ยว ผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง ต้องการจะซื้อหม้อทองเหลืองในราคาถูก ๆ จากแขกขายหม้อ ผู้ยากจน-และจ๋อย ที่เดินขายหม้ออยู่ที่สถานีรถไฟบอมเบย์

          แขกขายหม้อ ผู้ยากจน-และจ๋อย รู้จักตลาดหม้อเป็นอย่างดี  เขารู้ว่าถ้าขายหม้อใบนั้นให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง คนนั้นไม่ได้  เขาก็จะสามารถขายแก่นักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ได้ไม่ยาก  นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่ค้าขายมานาน เขาจึงมีประสบการณ์หยั่งรู้ด้วยว่า จะขายหม้อใบนั้นให้กับนักท่องเที่ยวคนอื่น ได้ในราคาประมาณเท่าใด

          กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนักท่องเที่ยว ผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง ซึ่งอยากได้หม้อใบนั้นในราคาถูก ๆ  กรณีนี้ถ้าเรามองอย่างฉาบฉวย เราอาจคิดว่านักท่องเที่ยวผู้นั้นมี “อำนาจ”  แต่ที่จริงแล้วในสถานการณ์นั้น เขาจะมีอำนาจได้จริง ก็ต่อเมื่อเขามีทางเลือกปฐมภูมิ รองรับอยู่แล้วว่าเขาจะหาซื้อหาหม้อลักษณะเดียวกัน ได้จากผู้ขายคนอื่นคนไหน ในราคาถูกสักเท่าไร  แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ารถไฟจะจอดอยู่ที่สถานีไม่นาน  ปัจจัยระยะเวลายิ่งมาทำให้สถานการณ์บีบรัดขึ้นอีก  กรณีนี้เราคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่า นักท่องเที่ยว ผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง มีโอกาสพลาดที่จะซื้อหม้อใบนั้นในราคาถูกดังหวัง  หรือถ้าซื้อได้ก็คงจะต้องซื้อในราคาแพงผิดปกติ  หมายความว่า นักท่องเที่ยวผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง คงจะต้องพลาดท่าเสียที แพ้ทาง แก่แขกขายหม้อ ผู้ยากจน-และจ๋อย

          ตัวอย่างชักน่าสนใจ ชวนติดตาม.....

          ความร่ำรวยมหาศาลของนักท่องเที่ยว ผู้ร่ำรวย-และเจ๋ง ไม่ได้มาทำให้เขามีอำนาจขึ้นได้ในสถานการณ์เฉพาะกิจสถานการณ์นั้น  คือ ไม่สามารถช่วยให้เขาซื้อหม้อได้ในราคาถูกตามที่ตั้งใจไว้  ยิ่งถ้าแขกขายหม้อรู้ว่า เขาเป็นนักท่องเที่ยวผู้ร่ำรวยมหาศาลและเจ๋งมาก ๆ ด้วยแล้ว รับรองว่าแขกฟันเละ  เพราะรูปลักษณ์สไตล์รวยมากเจ๋งมาก มันท้าทายความสามารถของแขก  เหมือนกับคุณพี่ผู้ร่ำรวยวินาศสันตะโร-และแน่จริง ตามตัวอย่างก่อนหน้านี้ของเรา  ถ้าคุณพี่แกไม่ได้อยู่ในประเทศกัวนิคารา หรือโกรมอนเตเน  แต่ปรากฏว่าคุณพี่ไปอยู่กับแขก  พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ทีหลังคุณพี่อย่ามาเล่าให้ผมฟังนะว่า คุณพี่โดนแขกฟันเละแค่ไหนอย่างไร ผมยิ่งเป็นคนใจอ่อน ขี้สงสารคนอยู่ด้วย

          อยากเป็นแขกจังเลย  ทำอย่างไรเรา ผู้ยากจน-และจ๋อย จึงจะสามารถมีกำลังอำนาจได้อย่างแขกขายหม้อ  มีเคล็ดลับอะไรที่จะช่วยเราได้บ้างไหม?

แสวงหา-และค้นพบ คำตอบปฐมภูมิ

          ถ้าพลาดจากนักท่องเที่ยวรายนั้น แขกขายหม้อรู้ดีว่าเขาจะขายหม้อกับนักท่องเที่ยวรายต่อไปได้ และจะขายได้ในราคาเท่าไร  ถ้าผู้เขียนพลาดรถไฟขบวน 14.00 น. หรือถ้าท่านผู้อ่านพลาดการเซ้งแผงตลาดปากน้ำ  เราจะมีทางสำรองอย่างอื่นบ้างไหม?  ไหนบอกมาชัด ๆ อย่าอมพะนำ อย่าพูดเบลอ ๆ

          คำตอบปฐมภูมิตามความคิดเรา ไม่ใช่ทางเลือกธรรมดาอย่างที่คนชอบพูดกัน  แต่คำตอบปฐมภูมิจะได้แก่ คำตอบอันเป็นทางเลือกที่ชัดเจน เป็นทางสำรองจริง ๆ เป็นรูปธรรม ว่า ถ้าเราพลาดพลั้งในสถานการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์คับขัน หรือสถานการณ์ลำเค็ญ อันเรากำลังเผชิญอยู่ เช่น จีบคนที่ใจรักใจปองคนนั้นไม่ได้ หรือพลาดงานที่สมัครไว้ หรือพลาดเงินก้อนโตที่หวังว่าจะได้  ทางเลือกที่แน่นอนชัดอันสำรองไว้เป็นรูปธรรม คืออะไร

          ซึ่งผู้รู้ท่านว่า คำตอบปฐมภูมินั้น ถ้าเราไม่ลงมือค้นคว้าแสวงหา ก็จะยากอยู่นะที่จะเป็นอัศจรรย์ ประจักษ์แก่ตาขึ้นเอง  อย่างน้อย ๆ เราก็ต้องเสกเป่ามันจึงจะเกิด  เราจะได้พบกับทางเลือกแท้จริง-ชนิดไม่อิงนิยาย อันเป็นคำตอบต่อคำถามปฐมภูมิ ได้ด้วยปฏิบัติการสามประการ คือ

          1) สืบค้น ค้นหา หรือสร้างขึ้นมา.  สมมติว่าสมัครสอบตำรวจและสอบไปแล้ว เขาจะประกาศผลสอบสิ้นเดือนนี้  ถ้าเกิดพลาดสอบไม่ผ่าน จะมีงานร.ป.ภ. ที่ไหนให้ทำบ้าง?  หรือจะมีงานรับจ้างกรีดยางหรือตัดปาล์มที่ไหน?  หรือจะไปเป็นลูกเรือประมง  หรือว่าจะรับสอนภาษาบาลีตามบ้าน?  หรือขายของตลาดนัดไหน?  หรืออื่น ๆ เช่น ติวและช่วยทำรายงานให้ลูกประธานอบต.ที่ชื่อ ไข่นุ้ย ซึ่งกำลังเรียนก.ศ.น. ระดับม.6  หรือเราจะเตรียมตัวสอบเข้าเป็นสจ๊วตหรือแอร์โฮสเตส หรือขับแท้กซี่ หรือวิ่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น

          2) พบแล้ว ลองพัฒนาให้ดูดียิ่งขึ้น.  ในบรรดาทางหลากหลายที่น่าจะเข้าข่ายคำตอบปฐมภูมิได้ ท่านให้คัดที่ดูดีออกมาสักสองสามทาง  แล้วลองพัฒนามันดู  ดูซิว่าทางนั้น ๆ จะมีอนาคตไหม เช่น ถ้าเลือกทางจะไปสอบเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ก็ต้องลองพัฒนาโอกาสนั่งฟิตภาษา กิริยามารยาท รวมทั้งการฟิตร่างกาย เป็นต้น  ถ้าปรากฏว่าตัวเราน้ำหนักเกินส่วนไปยี่สิบกิโลกรัม คงจะลดลงมาไม่ทันวันสอบ ก็ควรที่จะเลิกคิด  หันไปพัฒนาโอกาสติวลูกประธานอบต. เตรียมสอบกศน. ระดับม.6 แทน  ซึ่งก็ต้องเริ่มติดต่อเสนอบริการทางวิชาการดังกล่าว รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อการติว เช่น แบตโน้ตบุคที่เสื่อมอยู่ เราก็ต้องไปหาแบตลูกใหม่มาเปลี่ยน
  
          3) ในที่สุดเลือกไว้หนึ่งทาง.  เมื่อได้ลองพัฒนาตกแต่งทางเลือกดูดีสองสามทาง ที่ได้คัดมาจากทางออกหลาย ๆ ทาง และได้ลองพัฒนาดูเป็นการเบื้องต้นแล้ว  ท่านว่าในที่สุดให้เลือกเอาไว้ทางเดียว เป็นคำตอบปฐมภูมิแท้จริง  เทคนิคนี้สำคัญมาก ๆ เลย คือ คนเราต้องมีทางสำรองอันแท้จริง  เมื่อนั้นความมั่นใจและมั่นคงในการดำเนินชีวิตจึงจะเกิด นะจ๊ะ

          ครั้งหนึ่ง ไม่นานนักมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสนั่งเครื่องบินลุฟฮันซาจากเมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมัน มามัทราส(เชนไน)ในอินเดีย เพื่อจะต่อเครื่องไปเมืองบังคะลอร์ อันเป็นศูนย์กลางไอทีของอินเดีย  ขออภัยท่านผู้อ่านบางท่านถ้าต้องอ่านซ้ำ เพราะว่าอาจเคยเล่าไว้แล้วในที่อื่น - แต่ก็เล่ากันคนละประเด็น  ประเด็นที่จะเล่าครั้งนี้ คือ ผู้โดยสารที่นั่งติดกับผู้เขียนเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ เขาจะไปมัทราส เขามีธุรกิจ เอ้าซอสซิ่ง อยู่ที่นั่น  เรานั่งสนทนากันด้วยความเพลิดเพลิน เพราะคุยถูกคอ ประกอบกับเที่ยวบินเที่ยวนั้นเป็นเที่ยวบินกลางวัน  แต่โดยส่วนมากเขาจะเป็นคนพูดเสียมากกว่า  ส่วนผู้เขียนเป็นคนฟัง-พูดแต่พอหอมปากหอมคอ

          เราสนทนากันเรื่อง bedrock ในชีวิตคน  คำว่า bedrock นั้น แม้ผู้เขียนจะเคยได้ยินมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ  เพิ่งจะมาสนใจละเอียดก็เมื่อเพื่อนผู้โดยสารท่านนั้นสาธยายให้ฟัง  คำ ๆ นี้ในพจนานุกรมแปลไว้ว่า 1) หินแผ่นใหญ่ใต้ดินอันเป็นที่ตั้งวางของชั้นดินผิวพื้น  2) หลักการอันเป็นที่ตั้งวางของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น บางคนเชื่อว่าครอบครัว คือ bedrock ของสังคม เป็นต้น

          สำหรับผู้เขียนแล้ว bedrock ชนิดหนึ่งในชีวิตคน ก็คือ การมีคำตอบต่อคำถามปฐมภูมิในสถานการณ์ชีวิต ที่เป็นสถานการณ์สำคัญ

          กรณีของเรา ครั้นได้ทำตามสามขั้นตอนข้างต้น  ท่านว่า เราจึงจะได้พบกับทางเลือกที่เป็นทางสำรองแท้จริงหนึ่งทาง  แล้วเมื่อนั้น เราก็จะวัดเทียบการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดของเรา เข้ากับทางสำรองแท้จริง - อันเราได้พบแล้วนั้น  หากทางรอดอันกำลังต่อสู้กัน ไม่ได้มาตรฐานพอจะเทียบได้กับทางสำรองแท้จริง เราจะสู้ไปทำไม - เสียเวลาเปล่า เปลืองตัวเปลืองใจไม่เข้าท่า หันไปใช้ทางสำรองแท้จริงเสียเลย จะไม่ดีกว่าหรือ?

          แต่ ในทางปฏิบัติ ท่านว่าการมีทางอันสำรองไว้เป็นคำตอบปฐมภูมิ  ไม่ได้ทำให้เราเลิกต่อสู้  แต่กลับจะทำให้เราเอาตัวรอดได้อย่างใจเย็น มั่นคง งดงาม ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่กระดี๊กระด๊า ไม่กะเปิ้ปกะป้าป ไม่แสดงออกกระจอกงอกง่อย  จนในที่สุดแล้ว การต่อสู้ของเราก็มักจะลุล่วงไปด้วยดี บรรลุผลสำเร็จดังหวัง เช่น ผู้เขียนก็จะไปทันรถไฟ และท่านผู้อ่านก็จะประสบผลสำเร็จในการเซ้งแผง

          เคล็ดลับของแขกขายหม้อ ก็คือ เขารู้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ถ้าพลาดจากนักท่องเที่ยวคนนั้น เขาก็จะขายของให้กับนักท่องเที่ยวคนอื่นได้อยู่ดี และจะขายได้ในราคาเท่าไร  ทางเลือกที่เป็นทางสำรองซึ่งดูดีจริงสำหรับผู้เขียน ก็คือ เช่นบังเอิญว่า ญาติกำลังจะขับรถยนตร์จากไชยาเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งต้องผ่านอำเภอหลังสวน ผู้เขียนสามารถอาศัยไปกับเขาได้  หรือทางสำรองแท้จริงของท่านผู้อ่าน คือบังเอิญว่า ท่านขายของเก่าได้พอดี หรือได้งานเจ๋ง มาก ทำให้ท่านยังไม่ต้องคิดเรื่องการทำมาหากินด้วยลำแข้ง เป็นต้น

          ช้าก่อน อย่ามองโลกสวยเกินไป เดี๋ยวจะซวย 

          ท่านว่า ถ้าเรามีคำตอบปฐมภูมิแท้จริงของเราได้  แต่หากสถานการณ์วิกฤตมีสองฝักสองฝ่าย อย่าลืมนะว่า อีกฝ่ายหนึ่งเขาก็อาจมีคำตอบปฐมภูมิของเขาได้เหมือนกัน  คนมีปัญญาจะไม่ประมาทคนด้วยกัน  จึงเป็นหน้าที่เราที่จะต้องศึกษาดูว่า คำตอบต่อคำถามปฐมภูมิอันเป็นทางเลือกที่สำรองไว้แท้จริงของฝ่ายเขา คืออะไร? 

          เช่น บางที ฝ่ายตรงข้ามของเราอาจเป็นพวกโลกสวย “เกินไป” ก็เป็นได้  กล่าวคือ คำตอบต่อคำถามปฐมภูมิของเขา พร่ามัวไม่ชัดเจน มันเบลอ ๆ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะจับต้องได้ เช่น นึกว่าตัวเองรวยซะอย่าง จะไปอยู่ประเทศไหน ๆ ก็ได้ เป็นต้น  แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ยังไม่มีประเทศจะอยู่ เป็นต้น  แต่ก็จะประมาทกันไม่ได้ เขาอาจมีประเทศอยู่ เป็นคำตอบปฐมภูมิเป็นรูปธรรมแล้วว่า จะไปอยู่ประเทศแขก เช่น ประเทศอินเดีย เป็นต้น ก็เป็นได้ 

          เป็นหน้าที่ฝ่ายเรา จะต้องศึกษาให้รู้ว่า คำตอบปฐมภูมิของฝ่ายเขาคืออะไร  ความรู้ประเด็นนี้จะช่วยในการเอาตัวรอดของเรา  ถ้าทางเลือกของเขายังพร่ามัว เช่น เขารู้แค่ว่า ถ้าประเทศจีนไม่ให้อยู่ ก็จะไปอยู่กับประเทศแขก  เราก็น่าจะบอกเตือนให้เขารู้ว่า ถ้าจะพูดถึงแขกต้องพูดกันให้ชัด ๆ แขกมีเยอะนะ หลายเผ่าพันธุ์  คุณกำลังพูดถึงแขกอะไร คุณต้องรู้จักชื่อ  แขกมั่ว ๆ ทั่วไปมีอยู่แขกเดียวคือ แขกตี้  ซึ่งก็คงจะไม่ใช่แขกที่คุณต้องการ  สรุปก็คือ การที่ได้ล่วงรู้คำตอบปฐมภูมิของฝ่ายตรงข้าม ช่วยเราได้ในระหว่างการต่อสู้

          ที่จริง บทความเรื่องนี้จบลงแต่เพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรจะต้องเขียนต่อให้ฟั่นเฟือนและฟั่นเฝือ  อย่างไรก็ดีมีโบนัสสั้น ๆ เป็นโปรโมชั่น สำหรับแฟนพันธุ์แท้ ไม่ว่าจะแฟนใหม่หรือแฟนเก่า  เกี่ยวกับกรณีพิเศษที่ว่า ถ้าคนโลกสวยจริง – เจอกับ - โลกสวยจริง  อีกนัยหนึ่ง ถ้าคนเจ๋งจริง - เจอ - เจ๋งจริง อะไรจะเกิดขึ้น?

          ฝ่ายหนึ่งร้องว่า “สำหรับพวกกู คุกตะรางเรื่องเล็ก!”  และอีกฝ่ายหนึ่งตอบว่า “เจอกันได้นะ อย่าดีแต่ปาก กูให้มึงเหนี่ยวก่อนเลย”

เมื่อโลกสวยจริง เจอกับโลกสวยจริง
-อะไรจะเกิด?

          กรณีเจ้าของแผงตลาดปากน้ำ ต้องการเซ้งแผงในราคา 50,000 บาท  เจอกับท่านผู้อ่านผู้ต้องการจะเซ้งแผงนั้นในราคาไม่เกิน 45,000 บาท 

          แต่บังเอิญว่า ทั้งคู่โลกสวยจริง.....บังเอิญว่าท่านขายสวนทุเรียนได้พอดี หรือได้งานเจ๋งมาก ทำให้ยังไม่ต้องคิดเรื่องการทำมาหากินด้วยลำแข้ง  ส่วนทางฝ่ายเจ้าของแผงเล่า ก็บังเอิญว่า ญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดสดแห่งหนึ่ง ถึงแก่กรรม ยกมรดกตลาดทั้งตลาดให้กับเขา เขาจึงไม่สนใจเรื่องจะเซ้งแผงหรือไม่เซ้งแผงอีกต่อไป

          ทั้งสองฝ่าย ต่างก็มีคำตอบปฐมภูมิแก่ชีวิต ที่ยอดเยี่ยมกระเทียงดอง กว่าเรื่องเซ้งแผงหรือไม่เซ้งแผง  กรณีเช่นนี้ - ต่างฝ่ายต่างก็จะผละจากกัน เลิกเจรจา หรือ “ต่อสู้” กัน เรื่องแผง  ต่างฝ่ายต่างก็จะผินหน้า ไปในทิศทางใหม่ ที่สดใสกว่าเก่า ของแต่ละคน แบบเจ๋งใครเจ๋งมัน

          เมื่อโลกสวยจริง มาเจอกับโลกสวยจริง  ต่างฝ่ายต่างจะเลิกกัดกัน แต่จะผละจากกันโดยปราศจากการกินแหนงแคลงใจ จะไม่หมางใจกัน  เลิกแล้วต่อกันด้วยมิตรไมตรี  ต่างฝ่ายต่างอวยชัยให้พรแก่กันและกัน บ๊ายบาย โชคดีนะเพื่อน...

          ที่มนุษย์เราเป็นปัญหากันอยู่ ก็อาจจะเป็นเพราะ โลกของทั้งสองฝ่าย หรือโลกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้สวยจริง
  



-จบครับ

25 กันยายน 58